fbpx
ถึงเวลาเพิ่มอายุเกษียณ แก้จนยามแก่ สร้างระบบบำนาญยั่งยืน?

ถึงเวลาเพิ่มอายุเกษียณ แก้จนยามแก่ สร้างระบบบำนาญยั่งยืน?

‘บำนาญ’ เป็นประเด็นนโยบายที่อยู่ในบทสนทนาของสังคมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา การเพิ่ม ‘มูลค่าเงิน’ เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าแทบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อเสนอเรือธงของหลายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งพฤษภาคม 2023

ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว (สิงหาคม 2023) การเปลี่ยนเกณฑ์การจ่ายเบี้ยดังกล่าวก็ชวนหลายคนถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่า ‘ใคร’ ควรมีสิทธิรับสวัสดิการนี้บ้าง?[1]

คำถามข้อหนึ่งที่ยังไม่มีที่ทางในบทสนทนามากนัก คือ ‘เราควรมีสิทธิรับบำนาญเมื่ออายุเท่าไร?’ ‘เราควรเกษียณเมื่ออายุเท่าไร?’ ‘ควรเพิ่มจาก 60 ปี หรือ 55 ปี ดังที่คุ้นเคยกันหรือไม่?’

บางคนอาจมองว่า คำถามดังกล่าวมิได้สำคัญนักในประเทศที่จ่ายบำนาญสำหรับคนทั่วไปน้อยนิดราวกับเงินทอน แต่แท้จริงแล้ว คำถามดังกล่าวสำคัญยิ่งต่อการคิดปฏิรูป-วางรากฐานระบบบำนาญประชาชนให้ทุกคนเข้าถึงได้ เพียงพอ และมั่นคง สามารถป้องกันความเสี่ยงยากจนยามชราอย่างยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์ทางประชากร ซึ่งเรากำลังอายุยืนขึ้น และคนวัยทำงานแต่ละคนต้องรับผิดชอบดูแลคนวัยเกษียณจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในโอกาสวันทำงานวันสุดท้ายของลูกจ้างภาครัฐที่เกษียณในปีนี้ 101 PUB ชวนย้อนมองว่าอายุเกษียณ 60 ปี-55 ปี อยู่กับคนไทยมานานแค่ไหน และสถานการณ์ทางประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างไรตลอดช่วงเวลานั้น พร้อมทั้งสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มอายุเกษียณ เพื่อร่วมกันขบคิดว่า ‘ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะเพิ่มอายุเกษียณ?’

อายุเกษียณคงที่ แม้คนไทยอายุยืนขึ้น 36 ปี ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

อายุเกษียณคงที่ แม้คนไทยอายุยืนขึ้น 36 ปี ตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

‘อายุเกษียณ’ ในบทวิเคราะห์นี้ หมายถึง อายุปกติที่เริ่มมีสิทธิรับบำนาญ[2] ซึ่งไทยกำหนดไว้ที่ 60 ปี และ 55 ปี แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา

อายุเกษียณ 60 ปีกำหนดขึ้นครั้งแรกเป็นอายุเกษียณของข้าราชการเมื่อปี 1951[3] จากนั้น บำนาญอื่นที่พัฒนาขึ้นภายหลัง ก็ยึดอายุข้างต้นเป็นอายุเกษียณตามกันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (1997) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (2005) กองทุนการออมแห่งชาติ (2011) และค่าชดเชย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (2017)[4]

ส่วนอายุเกษียณ 55 ปีเริ่มใช้ในระบบประกันสังคมตั้งแต่ปี 1999 ต่อมายังใช้กับการรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีผ่านกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF (2001)[5] และเป็นอายุเกษียณมาตรฐานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2015)[6] ด้วย

แม้อายุเกษียณจะถูกแช่แข็งไว้ระดับเดิม แต่คนไทยมีอายุยืนขึ้นถึง 36 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอายุขัยคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 43 ปีในปี 1950 เป็น 79 ปีในปี 2021 องค์การสหประชาชาติยังคาดการณ์ว่า อายุขัยนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 85 ปีภายในปี 2050 ก่อนจะพุ่งแตะระดับ 90 ปีภายในปี 2090[7]

หมายความว่า คนไทยกำลังมีชีวิตหลังเกษียณยาวนานขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 1950 คนส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเสียชีวิตก่อนถึงอายุเกษียณ 17 ปี แต่ในปี 2021 คนมีชีวิตหลังเกษียณราว 19-24 ปี หากอายุเกษียณยังอยู่ ณ ระดับปัจจุบันต่อไป ช่วงเวลาดังกล่าวก็จะขยายเป็น 25-30 ปีในปี 2050 และ 30-35 ปีในปี 2090[8] – อาจมากกว่าระยะเวลาทำงานตลอดชีวิตของใครหลายคนเสียด้วยซ้ำ

การที่คนที่เรารักจะมีชีวิตอยู่กับเราได้นานนับว่าน่ายินดี และสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ แต่ถ้าต้องอยู่อย่างไร้งาน-ไร้รายได้นานขึ้น คนวัยเกษียณก็เสี่ยงมีบำนาญและเงินออมไม่เพียงพอต่อการยังชีพจนวาระสุดท้ายมากขึ้น ประสบปัญหาความยากจนยามชรายิ่งขึ้น และถูกพรากคุณภาพชีวิตและความอยู่ดีมีสุขช่วงบั้นปลายไป

คนวัยทำงาน 100 คน ‘แบก’ คนวัยเกษียณ 83 คน ใน 27 ปีข้างหน้า …หนูไหวเหรอ?

แน่นอนว่าไม่ควรมีใครถูกปล่อยให้ผจญความเสี่ยงยากจนยามชราโดยลำพัง เพราะความเสี่ยงนี้มิได้เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคล อย่างความเกียจคร้าน สุรุ่ยสุร่าย หรือขาดการอดออมและวางแผนเสมอไป แต่ประเทศนี้กดขี่ขูดรีดไม่ให้คนส่วนใหญ่มีรายได้จากการทำงานพอเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ และขาดสวัสดิการบำนาญที่คุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนตามสิทธิและศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ เราจึงควรคาดหวังให้รัฐจัดบำนาญแก่ประชาชนอย่างถ้วนทั่ว เพียงพอ และมั่นคงเพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว หากคิดแบบอนุรักษนิยมสักหน่อย ครอบครัวและชุมชนก็ควรมีหน้าที่เลี้ยงดูผู้หลักผู้ใหญ่มิให้ลำบาก

อย่างไรก็ตาม คนวัยทำงานมีแนวโน้มจะสนับสนุนรายได้ให้คนวัยเกษียณอย่างเพียงพอได้ยากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะผ่านการจ่ายภาษี-ประกันสังคมเป็นบำนาญ หรือผ่านการจ่ายเงินเลี้ยงดูกันในครอบครัว เนื่องจากประชากรวัยเกษียณเพิ่มขึ้นเร็วกว่าประชากรวัยทำงานมาก คนทำงานแต่ละคนจึงต้องรับผิดชอบ ‘แบก’ คนวัยเกษียณเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น

ในปี 1950 คนวัยทำงาน (อายุ 20-59 ปี) 100 คนแบกคนวัยเกษียณอายุ 60 ปีขึ้นไปเฉลี่ย 12 คน ข้อมูลล่าสุดในปี 2021 พบว่าคนวัยทำงานจำนวนเดียวกันต้องแบกคนวัยเกษียณ 37 คน หรือกว่าสามเท่าของเมื่อ 7 ทศวรรษก่อนหน้า อัตราส่วนข้างต้นกำลังจะพุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 83 คนในปี 2050 และ 113 คนในปี 2090[9] อย่าลืมด้วยว่า ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากคนวัยทำงานเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การเพิ่มอายุเกษียณ – ชะลอการจ่ายบำนาญ เพื่อโน้มน้าวให้คนทำงานนานขึ้น – จะช่วยให้อัตราการแบกคนวัยเกษียณเพิ่มขึ้นช้าลง ป้องกันไม่ให้คนวัยทำงานต้อง ‘แบกกันจนหลังหัก’ ไปเสียก่อน ข้อเสนอนี้จึงอาจเป็นทางออกในการเสริมสร้างรากฐานของระบบบำนาญประชาชน และลดความเสี่ยงยากจนยามชราอย่างยั่งยืน

คนอายุ 60 ปียังสุขภาพดีต่อไป 18 ปี แต่การเพิ่มอายุเกษียณอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ-ยากจนข้ามรุ่น

คนอายุ 60 ปียังสุขภาพดีต่อไป 18 ปี แต่การเพิ่มอายุเกษียณอาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ-ยากจนข้ามรุ่น

หลักการสำคัญในการเพิ่มอายุเกษียณคือต้อง ‘ไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน’ และ ‘เป็นธรรม’ สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม อายุเกษียณใหม่พึงเป็นอายุที่คนยังทำงานไหว-มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะได้ค่าจ้างมาเติมเต็มสิทธิการอยู่รอด กินอิ่ม นอนหลับ และใช้ชีวิตอย่างผาสุกโดยถ้วนหน้า การทำงานในช่วงอายุนั้นต้องไม่บั่นทอนสุขภาพจนเกินไป อีกทั้งอายุเกษียณใหม่ยังควรเหลือเวลาให้ผู้สูงวัยได้พักผ่อนในบั้นปลายตามสมควร[10]

ภายใต้หลักการข้างต้น การเพิ่มอายุเกษียณของไทยขึ้นจาก 60 ปี และ 55 ปีนับว่า ‘เป็นไปได้’ เพราะคนไทยอายุ 60 ปียังมีสุขภาพแข็งแรง-ทำงานได้ต่อไปอีกถึง 18 ปีโดยเฉลี่ย ตามประมาณการขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2019[11] ขณะที่ในปัจจุบัน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 37.1% ก็ยังทำงาน-หางานอยู่[12]

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอายุเกษียณอาจส่งผลต่อแรงงานแต่ละระดับทักษะและอาชีพต่างกัน จึงอาจซ้ำเติม ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคม ผลการศึกษาในเนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย เยอรมนี และอีกหลายประเทศเห็นตรงกันว่า กลุ่มแรงงานที่มีการศึกษา ทักษะ และค่าจ้างเดิมสูง จะวางแผนและมีโอกาสได้ทำงานต่อมากกว่า จึงเสี่ยงยากจนยามชราลดลง ตรงข้ามกับกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งงานที่ทำมักต้องใช้แรงกาย คนวัยสังขารร่วงโรยจึงไม่ค่อยอยากทำและไม่ถูกจ้างต่อ การจ่ายบำนาญช้าจึงจะยิ่งทำให้พวกเขาเสี่ยงยากจนมากขึ้น[13]

ความเหลื่อมล้ำยังปรากฏในมิติสุขภาพ เนื่องจากการทำงานทักษะสูงในยามชราช่วยให้ร่างกายและจิตใจ “แอคทีฟ” ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพระยะยาว แต่ยังขาดข้อสรุปจากงานวิจัยที่ชัดเจน[14] ในทางกลับกัน การทำงานทักษะต่ำมักบั่นทอนสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ยิ่งเสื่อมโทรมเร็วขึ้น ผลการประเมินในสหราชอาณาจักรพบว่า การเพิ่มอายุเกษียณทำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงสุขภาพสูงขึ้น 13.5-32.6%[15]

การเพิ่มอายุเกษียณยังตอกย้ำปัญหาความยากจนข้ามรุ่น เพราะในขณะที่คนหนุ่มสาวทั่วไปได้ลดภาระภาษี เงินสมทบ และค่าใช้จ่ายจุนเจือคนวัยเกษียณ ลูกหลานของคนแก่ที่มีทักษะและรายได้ต่ำกลับต้องแบกรับภาระดูแลพวกเขาเพิ่มขึ้น

ท้ายที่สุด นโยบายนี้อาจส่งผลให้คนหนุ่มสาวหางานยากและว่างงานมากขึ้น หลังการเพิ่มอายุเกษียณในอิตาลีเมื่อปี 2011 นายจ้างซึ่งต้องจ้างลูกจ้างวัยเกษียณจำนวน 5 คน นานขึ้น 1 ปี จะลดการจ้างลูกจ้างรุ่นใหม่ลง 1 คน[16] อย่างไรก็ดี งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผลกระทบลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น ในระยะยาว ตลาดแรงงานจะปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขอายุเกษียณใหม่[17] และการเปลี่ยนแปลงอัตราการมีงานทำของคนแก่และคนหนุ่มสาวมักมีทิศทางสอดคล้องกัน – เพิ่มก็เพิ่มด้วยกัน ลดก็ลดด้วยกัน[18]

2 ทางเลือก × 4 เงื่อนไขนโยบายเพิ่มอายุเกษียณ

2 ทางเลือก × 4 เงื่อนไขนโยบายเพิ่มอายุเกษียณ

101 PUB เห็นว่าการเพิ่มอายุเกษียณอาจเป็นนโยบายที่จำเป็นต่อการพัฒนาระบบบำนาญ และลดความเสี่ยงยากจนยามชราในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์ทางประชากรที่อายุขัยและอัตราส่วนคนวัยเกษียณต่อคนวัยทำงานเพิ่มขึ้น แต่ต้องออกแบบและดำเนินมาตรการคู่ขนาน มิให้ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ยากจนข้ามรุ่น

การเพิ่มอายุเกษียณอาจดำเนินการได้ใน 2 แนวทาง ทางเลือกแรกคือเพิ่มอายุเกษียณสำหรับ ‘ทุกคน-ทุกระบบบำนาญ’ วิธีนี้จำเป็นต้องขยับขึ้นเพียง ‘เล็กน้อย’ เช่น เพิ่มเป็น 62 ปี เพื่อป้องกันผลกระทบต่อแรงงานทักษะต่ำ แต่เท่ากับว่าจะชะลอการพุ่งทะยานของอัตราการแบกคนวัยเกษียณได้น้อย การขึ้นแบบกรุบกริบยังก่อให้เกิดแรงสะเทือนต่ำ กระตุ้นแรงงานให้วางแผนทำงานนานขึ้น-รับบำนาญช้าลงได้จำกัด เมื่อประกอบกัน จึงอาจบรรเทาความเสี่ยงยากจนยามชราลงไม่มากนัก

อีกทางเลือกคือเพิ่มอายุเกษียณ ‘เฉพาะอาชีพทักษะสูง’ หรือ ‘เฉพาะระบบบำนาญที่แรงงานทักษะต่ำพึ่งพาน้อย’ เช่น เพิ่มเป็น 66 ปี แต่คงอายุเกษียณสำหรับอาชีพและระบบบำนาญอื่นไว้ที่ 60 ปี ทางเลือกนี้จะยิ่งจำกัดผลกระทบต่อแรงงานทักษะต่ำ หากนำไปใช้กว้างขวางพอ ก็น่าจะชะลออัตราการแบกได้มากกว่า ในปัจจุบัน หลายอาชีพก็มีอายุเกษียณสูงกว่าปกติคล้ายกับที่กล่าวมาอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่เป็นอายุมาตรฐาน คือมิได้บังคับใช้กับทุกคน หรือให้ค่อยๆ ขยายอายุปีต่อปี

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายคู่ขนานอย่างน้อย 4 เรื่อง เพื่อให้การเพิ่มอายุเกษียณสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีและไม่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย

  1. สร้างสวัสดิการพัฒนาทักษะแรงงานตลอดชีวิต: ให้แรงงานสูงอายุยังมีทักษะเพียงพอจะทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างระหว่างแรงงานทักษะสูง-ต่ำ[19]
  2. ห้ามกำหนดอายุสูงสุดที่สมัครงานได้: ให้แรงงานสูงอายุมีโอกาสได้รับพิจารณาเข้าทำงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
  3. ให้นายจ้างภาครัฐปรับสภาพการจ้างได้ยืดหยุ่น: กำหนดตำแหน่งหน้าที่ เวลาทำงาน และค่าตอบแทนของลูกจ้าง ให้เหมาะสมกับขีดความสามารถของลูกจ้าง รวมถึงเอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
  4. ยกระดับเงินประกันการว่างงานให้เพียงพอ-ทั่วถึง: เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ในระหว่างที่แรงงานสูงอายุไม่มีงานทำ[20]

ส่งท้าย

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีแผนจะเพิ่มอายุเกษียณประกันสังคมเป็น 60 ปี และข้าราชการทั่วไปเป็น 63-65 ปี แต่ถูกพับไปในช่วงวิกฤตโควิด บัดนี้ อาจถึงเวลาที่สังคมไทยต้องหยิบยกเรื่องอายุเกษียณกลับมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะต้องไม่ลืมว่ากระบวนการเพิ่มอายุดังกล่าวมัก (และควร) ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงใช้เวลาอีกนาน กว่าจะเพิ่มถึงเป้าหมาย และเห็นผลลัพธ์เต็มที่

หลายคนอาจมองว่าข้อเสนอเพิ่มอายุเกษียณช่างโหดร้าย แค่ที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้ก็เหนื่อยแทบตาย อยากเกษียณได้วันนี้พรุ่งนี้เลยด้วยซ้ำ

แต่ข้อเสนออันน่ากระอักกระอ่วนนี้ อาจจำเป็นต่อการสร้างระบบบำนาญและลดความเสี่ยงยากจนยามชราของทุกคนอย่างยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์ที่ประชากรอายุยืนขึ้น แถมคนวัยทำงานยังต้องแบกความรับผิดชอบดูแลคนวัยเกษียณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงกระนั้น การเพิ่มอายุเกษียณก็ต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการมีความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งออกแบบและดำเนินมาตรการคู่ขนาน มิให้นโยบายนี้ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่น

References
1 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน: เหตุผลเชิงคุณค่าของบำนาญ กับการปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ,” 101 Public Policy Think Tank, 31 สิงหาคม 2023, https://101pub.org/moral-grounds-for-right-to-pension/ (เข้าถึงเมื่อ 28 กันยายน 2023); ฉัตร คำแสง, “ถ้วนหน้า vs คัดกรอง: มุมมองทางการคลังต่อการจัดสรรเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ,” The101.world, 18 สิงหาคม 2023, https://www.the101.world/fiscal-view-old-age-allowance/ (เข้าถึงเมื่อ 28 กันยายน 2023).
2 อายุเกษียณในความหมายนี้ (statutory retirement age หรือ normal age of eligibility to pension) แตกต่างจากอายุที่ประชากรหยุดทำงานจริง (effective retirement age) แต่มักเปลี่ยนแปลงอย่างสอดคล้องกัน
3 พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 [1951].
4 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 [2017] รับรองให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย อย่างไรก็ดี แม้ก่อนหน้านั้นจะไม่มีบทบัญญัติรับรองชัดเจน แต่ศาลฎีกาก็เคยพิพากษาตามหลักการข้างต้น เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2544, 4732/2557, และ 9978/2557; ดูเพิ่มเติม: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 การเกษียณอายุตามมาตรา 118/1,” กองนิติการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ธันวาคม 2017, https://legal.labour.go.th/attachments/article/232/KM002.pdf (เข้าถึงเมื่อ 28 กันยายน 2023).
5 ผู้ลงทุนใน RMF อาจขายกองทุนก่อนอายุครบ 55 ปีได้ แต่มีมาตรการลงโทษ
6 ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 ต่อมา พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 [2015] กำหนดให้อายุเกษียณเป็นไปตามข้อบังคับของแต่ละกองทุน หรือ 55 ปีบริบูรณ์
7 ข้อมูลจาก United Nations (2022).
8 101 PUB คำนวณจากข้อมูล United Nations (2022).
9 101 PUB คำนวณจากข้อมูล United Nations (2022).
10 วรดร เลิศรัตน์, “บำนาญเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน.”
11 ข้อมูลจาก World Health Organization (2020).
12 ข้อมูลภา​​วะการทำ​งานของประชากร ไตรมาส 2/2023 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2023).
13 ดูตัวอย่างผลการศึกษา เช่น เนเธอร์แลนด์: Andries de Grip, Didier Fouarge, and Raymond Montizaan, “How Sensitive are Individual Retirement Expectations to Raising the Retirement Age?,” De Economist 161, April 2013, 225-251; ออสเตรีย: Stefan Staubli and Josef Zweimüller, “Does raising the early retirement age increase employment of older workers?,” Journal of Public Economics 108, December 2013, 17-32; เยอรมนี: Michela Coppola and Christina Benita Wilke, “At What Age Do You Expect to Retire? Retirement Expectations and Increases in the Statutory Retirement Age,” Fiscal Studies: The Journal of Applied Public Economics 35 (2), June 2014, 165-188; ประเทศยุโรป 12 ประเทศ: Moritz Hess, “Rising Preferred Retirement Age in Europe: Are Europe’s Future Pensioners Adapting to Pension System Reforms?,” Journal of Aging & Social Policy 29 (3), May-June 2017, 245-261.
14 Patrick Pilipiec, Wim Groot, and Milena Pavlova, “The Effect of an Increase of the Retirement Age on the Health, Well-Being, and Labor Force Participation of Older Workers: a Systematic Literature Review,” Journal of Population Ageing 14, 2021, 287.
15 Paul Bellaby, “Can they carry on working? Later retirement, health, and social inequality in an aging population,” International Journal of Health Services 36 (1), 2006, 1–23; cited in: ibid.
16 Tito Boeri, Pietro Garibaldi, and Espen R. Moen, A Clash of Generations? Increase in Retirement Age and Labor Demand for Youth [CEPR Discussion Paper No. DP11422] (2016), abstract.
17 James Banks, Richard Blundell, Antoine Bozio, and Carl Emmerson, Releasing jobs for the young? Early retirement and youth unemployment in the United Kingdom [IFS Working Paper W10/02] (London: Institute for Fiscal Studies, 2008), 3.
18 Ibid., 24; René Böheim, “The Effect of Early Retirement Schemes on Youth Employment,” IZA World of Labor, June 2014, https://wol.iza.org/uploads/articles/70/pdfs/effect-of-early-retirement-schemes-on-youth-employment.pdf (accessed September 28, 2023).
19 ดูเพิ่มเติม: ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์, “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่,” The101.world, 12 มีนาคม 2023, https://www.the101.world/incomprehensive-upskill-policies/ (เข้าถึงเมื่อ 28 กันยายน 2023).
20 ดูเพิ่มเติม: วรดร เลิศรัตน์, “ตกงานต้องไม่ตกอับ: ยกระดับ ‘เงินประกันการว่างงาน’ สร้างชีวิตมั่นคงในโลกผันผวน,” The101.world, 10 เมษายน 2023, https://www.the101.world/unemployment-insurance-reform/ (เข้าถึงเมื่อ 28 กันยายน 2023).

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save