fbpx

ความน่าจะอ่าน : หนังสือชวนอ่านรับปี 2024 โดยคอลัมนิสต์ 101

ปี 2023 ผ่านพ้น ใครหลายคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นปีแห่งความสับสนอลหม่าน เมื่อมองไปยังสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในระดับโลกและเฉพาะประเทศไทย เราต้องก้าวผ่านการเลือกตั้งที่ผลลัพธ์สุดท้ายคาดเดาไม่ได้ อาศัยในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบมีทุนใหญ่ผูกขาด ค่าครองชีพสูง โรคระบาดวนเวียนรอบตัว ไปจนถึงรับมือกับสงครามทั้งรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส และผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก

แม้ปี 2024 ยังไม่มีวี่แววว่าปัญหาซับซ้อนยุ่งเหยิงต่างๆ จะคลี่คลายลงโดยง่าย แต่ในห้วงเวลาเปิดปีที่เรามีเวลาพักหายใจหายคอกันสักนิด 101 ได้ชวนคอลัมนิสต์กว่า 30 คน มาเลือกหนังสือคนละ 1 เล่ม แนะนำแก่คุณผู้อ่าน เพื่อเติมอาหารให้สมอง หรืออาจเป็นเพื่อนในช่วงเวลาพักผ่อนสงบๆ ก่อนเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกอันวุ่นวายต่อไป

หนังสือแต่ละเล่มจะมีอะไรบ้าง ติดตามได้เลยที่นี่ 



1.พนิน Pnin

วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ เขียน

ปราบดา หยุ่น แปล

สำนักพิมพ์ Lighthouse Publishing

แนะนำโดย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

“รู้ตัวอยู่ว่าเมื่อมีหนังสือของ Nabokov วางตรงหน้า ข้าพเจ้าก็ไม่อาจตั้งตนมาเล่าเรื่องราวอันใดนำเสนอต่อท่านผู้อ่านได้อีก เพราะคนเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเล่าเรื่องที่ไม่อาจไว้วางใจได้ มีความหมาย-มีสถานะพิเศษอยู่ในเรื่องเล่าของเขา ดังนั้น ให้เขาเป็นคนเล่าเรื่องที่ไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องที่มาจากคนเล่าเรื่องที่เชื่อถือแน่นอนไม่ได้ให้ท่านสดับอรรถรสเองจะดีที่สุด ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อสดับแล้ว ตาดูหูฟังของท่านจะจับผัสสะและอารมณ์ที่ความไม่แน่นอนพาเลื่อนไหลเข้ามาประจักษ์แก่ใจได้รสชีวิตถนัดถนี่ทั้งความขันและความขื่นอย่างเต็มที่ดีขึ้น

ขอใช้เรื่องที่ข้าพเจ้าสดับมาอีกทีจากคนที่เคยเรียนกับเขานำมาเล่าเรียกรอยยิ้ม พร้อมกับขยายความรู้จักกับบุคลิกวิธีแบบ Pninian ของ Nabokov ขณะที่เขารับบทบาทเป็นคนสอนวรรณกรรม

ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจไม่ผิด คนแปลผู้สันทัดจัดเจนเป็นนายของภาษาแปล Pnin งานเขียนของ Nabokov เป็นเล่มที่ 2 แล้ว เล่มแรก ท่านผู้อ่านคงทราบว่าเรื่องไหน”


2.เพลงยุทธ์ก้องหล้า เซียนสุราไร้เทียมทาน

โจวมู่หนาน เขียน

เป๋าเป่า แปล

สำนักพิมพ์ ENTER BOOKS

แนะนำโดย สมศักดิ์ จันทวิชชประภา

“แม้อาจจะดูขี้โกงไปหน่อยที่ทาง 101 บอกขอเล่มเดียว แต่ส่งไปเป็นชุดแบบนี้ (แต่จริงๆ ขึ้นเล่ม 1 เล่มเดียวก็เกินพอ) อันที่จริง ในปีนี้อ่านหนังสือที่เป็นเชิงวิชาการหรือหนังสือจริงๆ จังๆ น้อยมาก แม้ปีนี้จะอ่านไปแล้วกว่า 60 เล่ม แค่เกินครึ่งเป็นนิยาย และในบรรดานิยายทั้งหมด เรื่องที่ให้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ ก็คงหนีไม่พ้น ‘เพลงยุทธ์ก้องหล้า เซียนสุราไร้เทียมทาน’

เหตุผลหลักๆ ที่ต้องเป็นเล่มนี้ เพราะมันเป็นนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ที่ถ้าอ่านให้สนุก ก็จะสนุกมาก แต่ถ้าอ่านแล้วคิดตาม มันก็จะเห็นบริบทอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะแง่คิดในเชิงสังคมที่แฝงมา หากใครเคยอ่าน ‘กระบี่เย้ยยุทธจักร’ แนวคิดอาจจะคล้ายๆ กัน แค่เรื่องนี้มัน Real กว่าตรงที่ตัวละครต้องเจอกับความจริงที่ว่า ‘ไม่แคร์ขนาดนั้นไม่ได้หรอก’ สุดท้ายมันก็ต้องเจอกับความจริงลากเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก

อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นภาคต้นของ ‘หมื่นยุทธ์พิชิตหล้าใต้ฟ้าไร้พันธนาการ’ แต่เขียนออกมาทีหลัง ทำให้วิธีการเล่าเรื่อง ไปจนถึงการดำเนินเรื่องและคาแรกเตอร์ตัวละครดีกว่าพอสมควร และทำให้เราเพลิดเพลินกับมันโดยทิ้งความรู้สึกบางอย่างให้เราตอนอ่านจบได้อย่างงดงามทีเดียว”


3. ปีศาจ

เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน 

สำนักพิมพ์ มติชน

แนะนำโดย ประทีป คงสิบ

“เข้ากับสถานการณ์การเมือง+บ้านเมืองในยุคนี้มาก  นับตั้งแต่เกิดพรรคอนาคตใหม่+ม็อบเยาวชนปี 63-64+การเกิดพรรคก้าวไกล  ชนะเลือกตั้งแต่ถูกขัดขวางไม่ให้เป็นรัฐบาล

พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็น ‘ปีศาจกาลเวลา’  ตามหลอกหลอน ‘โลกเก่า’ ที่พยายามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงสู่ ‘โลกใหม่’

ที่ประทับใจมากที่สุด คือ คำพูดของสาย สีมา ตัวเอกของเรื่องที่พูดว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมา หลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

ไม่มีอะไรฉายภาพเหตุการณ์ความขัดแย้ง+ต่อสู้ทางการเมือง ในห้วงปี 2561-ปัจจุบัน  ได้ชัดเจน ลุ่มลึก ไปกว่าคำพูดของสาย สีมา ในนิยายปีศาจ เล่มนี้อีกแล้ว”


4.In Wolf Country: The Power and Politics of Reintroduction 

Jim Yuskavitch เขียน

สำนักพิมพ์ Lyon Press 

แนะนำโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

“รัฐสร้างนโยบายอย่างไร ในความเข้าใจของคนทั่วไป นโยบายรัฐคือผลผลิตจากเจตจำนงของรัฐ อ้างอิงความรู้วิชาการ ประสบการณ์การบริหารราชการแผ่นดินในเรื่องนั้นๆ โดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง หนังสือเรื่อง In Wolf Country: The Power and Politics of Reintroduction ย้ำเตือนเราว่า ในความเป็นจริง นโยบายของรัฐเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องถูกผลักไปทางนั้นที ทางนี้ที หลายครั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นก็ขัดแย้งกันเอง ไม่ได้เป็นเอกภาพ

โดยหนังสือเล่าถึงการพยายามนำเอาหมาป่าสีเทา (Canis lupus) กลับคืนสู่ธรรมชาติในบริเวณอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ในบรรดาสัตว์ป่าในทวีปอเมริกาเหนือ ยากจะหาสัตว์ตัวไหนที่นำมาซึ่งความขัดแย้งได้มากไปกว่าหมาป่า ครั้งหนึ่งพวกมันถูกล่าจนสูญพันธุ์ ตามตรรกะ การนำพวกมันกลับมาควรเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ในความเป็นจริง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีทั้งรัก และเกลียด ตั้งแต่ชาวปศุสัตว์ พราน นักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงมวลชนชาตินิยม ทุกฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงอำนาจในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับหมาป่า ทำให้นโยบายที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งระหว่างความรู้ เหตุผล อารมณ์ และความเชื่อปนเปกันไปหมด 

หนังสือเล่มนี้เตือนเราว่า ความรู้ไม่มีวันเปลี่ยนความเชื่อได้ บ่อยครั้ง ความเชื่อก็ชนะความรู้และความจริง และนโยบายรัฐก็กำหนดไปเช่นนั้น ผู้ที่เชื่อว่าการกำหนดโยบายของฝ่ายราชการประจำเป็นเรื่องของความรู้ความชำนาญไม่ใช่เรื่องการเมืองควรได้อ่านเพื่อทบทวนความเข้าใจของตัวเอง อีกฝ่ายที่ควรอ่านก็น่าจะเป็นนักอนุรักษ์ที่มักอ้างว่าการอนุรักษ์ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะถึงที่สุด การอนุรักษ์ก็คือการเอาชัยชนะทางการเมืองนั่นเอง 

กรณีของหมาป่าชวนนึกถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดสัตว์ป่าสงวนชนิดใหม่ หรือการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ล้วนเป็นการต่อสู้ทางการเมืองทั้งสิ้น”


5.India Is Broken A People Betrayed, Independence to Today

Ashoka Mody เขียน

สำนักพิมพ์ Stanford University Press 

แนะนำโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

“อินเดียได้รับการจับตามากยิ่งขึ้นในวันที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเข้มข้นโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ แต่ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานของอินเดีย กลับมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ มองว่า จริงๆ แล้วอินเดียล้มเหลวในหลายด้าน อันเป็นผลมาจากนโยบายหลายอย่างนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

หากใครที่กำลังมองหาหนังสือสักเล่มที่ส่องทะลุระบบเศรษฐกิจและสังคมอินเดียจากมุมมอง ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ของหนังสือเล่มนี้จะไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวังอย่างแน่นอน เพราะนอกจากหนังสือเล่มนี้จะมีบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจอินเดียที่แตกต่างจากผู้อื่นแล้ว ผู้เขียนยังมีการเสนอแนะแนวทางมากมายเพื่อให้เศรษฐกิจอินเดียกลับมาเข้มแข็งและก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก”


6.หินบนฟ้า ลาวาใต้สมุทร

โตมร ศุขปรีชา เขียน

สำนักพิมพ์ Brown Books

แนะนำโดย นำชัย ชีววิวรรธน์

“คุณโตมรเล่าเรื่องปรากฏการณ์สำคัญทางธรณีวิทยาเรื่องหนึ่งคือ ‘ภูเขาไฟระเบิด’ ผ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวทั้งกายภาพ อารมณ์ความรู้สึก ยาวไปจนถึงข้อเท็จจริงและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นการเล่าเรื่องที่ละเมียดละไมและเป็นมากกว่าการบอกล่าวข้อเท็จจริงแบบ non-fiction pop science ทั่วไป เพราะประสบการณ์การผจญภัยส่วนตัวที่ผสมผสานอยู่คล้ายกับเป็น science fiction แบบลำลอง สะท้อนให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ใหลหลงในเรื่องดังกล่าว เกร็ดประวัติศาสตร์ที่เลือกมาเล่า ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์อย่างพลินีที่ประสบเคราะห์กรรมจาก ‘วิซูเวียส’ หรือกำเนิดของแฟรงเกนสไตน์และจักรยานที่อาจเป็นผลทางอ้อมมาจากภูเขาไฟระเบิด ก็ชวนพิศวงถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อของเรื่องราวในโลกนี้ 

นอกจากนี้ก็ยังมีตำนาน เรื่องเล่าปรัมปราอันเป็นที่มาของคำว่า volcano ที่แปลว่า ภูเขาไฟ ในปัจจุบันและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นหนังสือที่อ่านได้ทั้งเพื่อความรู้และความเริงใจ สามารถอ่านเพื่อให้เห็นความงามของภาษาและเรื่องราว, ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และความเล็กจ้อยของตัวเราเอง”


7.ลูกสาวจากดาววิปลาส

จอมเทียน จันสมรัก เขียน

สำนักพิมพ์ P.S.

แนะนำโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

“นิยายว่าด้วยการเติบโตของเด็กสาวคนหนึ่งในบ้านที่แม่เป็นหญิงบ้า และครอบครัวใหญ่กีดกันแม่กับเธอไว้ท้ายสวน ปฏิบัติต่อเธอเหมือนเด็กเหลือขอ แม่ขังเธอไว้ในบ้านไม่ให้ไปโรงเรียน เธอถูกลูกพี่ลูกน้องข่มขืน รอดชีวิตด้วยการแอบขโมยหนังสืออ่าน จนบ้านถูกรื้อเพราะอยู่แถบทวีวัฒนา แม่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล เธอได้เรียน และพยายามกระเสือกกระสนจนในที่สุดก็ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตายครั้งแล้วครั้งเล่า และฮีดสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีแม่เป็นทั้งหนามแหลมที่ทิ่มแทงและอ้อมกอดเดียวที่คุ้มกัน

ด้วยลีลาแบบที่ทำให้นึกถึงนิยายนักเขียนหญิงหลายๆ คนในเบื้องแรก ค่อยๆ งอกงามขึ้นมาเป็นลีลาเฉพาะตัว ระหว่างการอ่านก็ชวนให้คิดถึง ‘การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา’ ของอรุณวดี อรุณมาศ อ่านเทียบเคียงอาจจะได้รสของการต่อสู้ภายในกับปีศาจชนิดเดียวกันโดยเด็กสาวจากยุคสมัยที่ต่างกัน

ตัวนิยายเป็นทั้งนิยายและบันทึกทัศนคติประจยุคสมัย ที่นักเขียนยุคก่อนหน้าอาจจะไม่มี ไม่กล้าทำ ทั้งการวิพากษ์สถาบันต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งก็ตรงประเด็น และแหลมคม แต่ก็มีหลายครั้งที่ตรงไปตรงมาจนเกือบจะจงใจ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา 

ที่น่าสนใจคือช่วงสุดท้ายของเรื่องเป็นสัดส่วนของความหวัง ในทางหนึ่งมันเป็นตอนจบที่ดีที่ให้ความหวัง แต่ในฐานะรสของวรรณกรรม ก็อาจทำให้พาลรู้สึกว่าบทท้ายๆ เป็นถ้อยแถลงจุดยืนทางการเมืองมากกว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่เข้มข้นเหมือนช่วงต้นๆ แต่ก็เพราะมันเป็นเช่นนั้น มันจึงกลายเป็นบันทึกทางอุดมคติของหนุ่มสาวประจำยุคสมัย ที่ไม่ได้แค่ก้าวออกจากการถูกกดทับ แต่ก้าวออกจากการกดทับเชิงโครงสร้างของความเป็นเรื่องเล่าในฐานะวรรณกรรมด้วย อาจจะยังไม่ลงตัว แต่ก็นับว่าน่าตื่นเต้นมากๆ”


8.มหัศจรรย์เกาหลี: จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจ

Daniel Tudor เขียน

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ แปล

สำนักพิมพ์ Bookscape

แนะนำโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์

“หากมองโดยผิวเผิน เรามักจะเอาตัวเองไปเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายๆ แห่งว่า ประเทศเราเคยดีกว่าเขา ทั้งที่อาจจะจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ เกาหลีใต้ ก็น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น บางคนอาจเห็นว่าเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องสำคัญกว่าเรื่องการเมือง บางคนเห็นตรงกันข้าม ถ้าเอาเกาหลีใต้เป็นตัวตั้ง เราจะเห็นอะไร 

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีบรรษัทข้ามชาติในนามของตนแบบที่ไทยเองก็เคยฝันจะเป็น ‘เสือ’ ในทศวรรษ 1990 แต่ในอีกด้าน เรื่องที่ชวนให้ฮึกเหิมไปกับเกาหลีใต้ก็คือ พวกเขาก็สามารถหลุดบ่วงเผด็จการออกมาได้สำเร็จ เกาหลียังใช้พลังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในนามอุดมการณ์ชาตินิยมที่เรียกร้องความเสียสละและการทำงานอย่างหนักมาตลอดหลายสิบปี

ความจริงอันแสนรันทดของเกาหลีคือ ก่อนหน้านั้นก็ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1910 ผู้รักชาติจำนวนมากพลีชีพเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ความใจสู้นี้ยังปรากฏต่อมาในยุคหลังๆ ต้องรอจนสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ เกาหลีถึงจะเป็นอิสระ แต่กระนั้น เกาหลีก็ยังถูกแบ่งเป็นเหนือใต้ ตามการเมืองระดับโลกที่รู้จักกันดีว่า สงครามเย็น ไม่เพียงความตึงเครียดระหว่างประเทศ ภายในประเทศผู้คนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเองก็ต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลเผด็จการในหลายรูปแบบ

การต่อต้านอำนาจรัฐและความไม่เป็นธรรมอยู่บนฐานค่านิยมขงจื่อที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา แม้จะปกครองด้วยกษัตริย์ แต่ก็เปิดโอกาสการถ่วงดุลอำนาจด้วยการวิพากษ์วิจารณ์โดยขุนนาง ซึ่งรากฐานนี้สร้างราชวงศ์โชซอนมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ตราบจนเกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นอีกราว 500 ปีถัดมา แนวคิดนี้ได้ต่อต้านพุทธศาสนาที่เป็นฐานความเชื่อเดิม ในสายตาของบัณฑิตขงจื่อ พุทธศาสนากลายเป็นฐานอำนาจที่ทำให้วัดและผู้อุปถัมภ์ฉ้อฉลทางอำนาจการเมืองและการทุจริตเกินจะรับไหว

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ตัวแปรความเชื่อที่สาม คือศาสนาคริสต์ เช่นเดียวกับในเอเชียหลายที่ที่ศาสนาจากตะวันตกดูเป็นภัยคุกคามจนเกิดการปราบปรามที่แลกมาด้วยชีวิตของผู้ศรัทธา ระลอกแรกคือคาทอลิก ซึ่งสู้ระลอกที่สองอย่างโปรเตสแตนท์ไม่ได้ โปรเตสแตนท์มีผู้นับถือมากถึงแสนคนในปี 1910 การศึกษา การแพทย์ เป็นกิจการที่มาพร้อมกับหมอสอนศาสนาเหล่านี้ มหาลัยระดับท็อปในปัจจุบันอย่าง ม.ยอนเซ ก็อยู่ในเครือนี้ (คล้าย ม.พายัพ ที่เชียงใหม่ที่สังกัดสายโปรเตสแตนท์)

คนเกาหลีที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมญี่ปุ่นไม่ได้อยู่เฉย มีการต่อต้านและพยายามลอบสังหารผู้สำเร็จราชการญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งแล้วนับถือคริสต์ จึงกลายเป็นภัยต่อเจ้าอาณานิคมอย่างญี่ปุ่น ในด้านหนึ่ง ศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์กลายเป็นฐานในการร่วมกับประชาชนต่อต้านผู้กดขี่ หลังสงครามผู้นับถือโปรเตสแตนท์พุ่งสูงไปที่ 8 แสนในปี 1958 เป็น 2 ล้านในอีกสิบปีต่อมา และเป็น 5 ล้านในอีกยี่สิบปีต่อมา และปัจจุบันมีราว 11 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม จำนวนมากเป็นพวกอนุรักษนิยม จึงไม่แปลกที่จะมีเสรีนิยมแฝงอยู่ในหมู่นักเทศน์และมีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพเยาวชนชาวคริสต์เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการ ในอีกด้านฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีบทบาทสำคัญไปจนถึงการตั้งพรรคการเมืองฝ่ายขวา เรียกได้ว่าศาสนาคริสต์มีบทบาททางการเมืองสูงมาก ว่ากันว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ส่งออกมิชชันนารีเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอเมริกา ในปี 2006 มีกว่า 15,000 คน

เกาหลีใต้ยังถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแนวหน้าของเอเชียที่ใช้เวลาอย่างยาวนานในการต่อสู้และเรียกร้องมาตั้งแต่ประเทศถูกแบ่งเป็น 2 จากสงครามเย็น ความชอบธรรมของเผด็จการถูกวางอยู่บนเงื่อนไขความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงระบบอุปถัมภ์ของบรรษัทแชร์โบลต่างๆ ต้องรอจนถึงปี 1992 เกาหลีถึงจะหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการอันน่ารังเกียจ (โอเคแหละว่า ทุนนิยมบรรษัทและระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงอยู่) 

เอาเข้าจริง การเลือกตั้งก่อนหน้านั้นในปี 1987 ควรจะเป็นการเปลี่ยนผ่านได้ ติดที่เงื่อนไขที่โนแตอู พรรคพวกฝ่ายเผด็จการเอาชนะคะแนนฝ่ายประชาธิปไตยที่แข่งกันเองระหว่างคิมยองซัมและคิมแดจุง

เกาหลีใต้จึงโงหัวขึ้นทางการเมืองเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และค่อยๆ ทะยานเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ตามรอยญี่ปุ่น แต่ดำเนินการนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจเพื่อไล่กวดญี่ปุ่นให้ทันด้วยวัฒนธรรมแบบขงจื่อที่ขยันขันแข็งและอดทน

ฐานเศรษฐกิจของเกาหลีนั้นมีรากฐานการพัฒนาจากอุตสาหกรรมในยุคเผด็จการ  ด้วยแนวคิดชาตินิยมบนศัตรูร่วมอย่างญี่ปุ่น ผลักดันให้ทำงานหนัก 12 ชั่วโมงต่อวันไม่เว้นวันเสาร์ และกดดันจำกัดการถือครองที่ดินและธุรกิจของคนจีนที่มีบทบาทมาก่อนหน้านั้น รัฐยังเข้ามาควบคุมการผลิตสินค้าและการขายทั้งในและนอกประเทศบนเป้าหมายความมั่งคั่งของชาติ การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี1988 อาจเป็นจุดที่ชี้ว่า เกาหลีพร้อมจะเป็นสนามการแข่งขันระดับโลก แม้เกาหลีจะถูกคลื่นยักษ์ซัดจนเศรษฐกิจพังทลายแต่พวกเขาก็กลับมาได้ GDP เกาหลีใต้ในปี 1988 อยู่ที่ 4,500 เหรียญสหรัฐ แต่เมื่อปี 2002 พวกเขาได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดบอลโลกกับประเทศคู่แค้น ขณะนั้น GDP ได้กระโดดไปสู่ 12,000 เหรียญสหรัฐแล้ว

แต่ปรากฏการณ์ ‘ฮัลรยู’ หรือ ‘คลื่นเกาหลี’ ที่เป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมละคร และเพลงป๊อบ ก็เป็นอีกทางรุกคืบหนึ่งบนแผนที่โลกที่เริ่มได้รับความนิยมในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 และแผ่ไปถึงตะวันตกในทศวรรษต่อมา กระแสดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่ม soft power และปลุกปั้นอุตสาหกรรมบันเทิงให้เป็นรายได้ส่งออกแหล่งใหม่ ขนาดหูจิ่นเทา ผู้นำจีนก็ยังติดตาม แดจังกึม เช่นเดียวกับ Winter Sonata รวมไปถึงวงการหนังที่เรารู้จักกันดีอย่าง My Sassy Girl ส่วนเคป๊อบ มาพร้อมกับเรื่องท่าเต้นและทำนองเพลงสไตล์อเมริกัน อย่าง Super Junior หรือ Girl Generation พลังเช่นนี้ช่วยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเพิ่มโอกาสในการรวมประเทศกับเกาหลีเหนือด้วย เมื่อพบว่าคนเกาหลีเหนือเองก็ยังลักลอบนำสื่อละครจากเกาหลีใต้เข้ามาชม

ที่น่าทิ้งท้ายไว้คือ การสมรสข้ามเชื้อชาติในเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นในชนบท ที่เกิดจากชายบ้านนอกผู้สิ้นหวังในการหาเมีย เพราะผู้หญิงเกาหลีไม่ต้องการจะแต่งงานกับชาวนาจนๆ จึงมีหญิงสาวเวียดนาม ฟิลิปปินส์และจีนชนบทเข้ามา (ของไทยก็เห็นได้จากรายการยูทูบเบอร์ชื่อดังช่องหนึ่ง) มันยังก่อให้เกิดธุรกิจนายหน้าหาคู่สมรส มีป้ายโฆษณาในชนบทเกาหลีเป็นภาพสาวเวียดนาม ขณะที่ในประเทศเป้าหมายก็จะขึ้นป้ายโฆษณาความเลิศเลอของเมืองใหญ่อย่างโซล ทั้งที่ปลายทางของพวกเธอคือชนบท

หนังสือเล่มนี้พาให้เราไปสำรวจดินแดนที่ถูกสร้างขึ้นอีกครั้งหลังกลายเป็นซากปรักหักพังและเถ้าถ่านด้วยพลังทางการเมือง อุดมการณ์ชาตินิยม อุตสาหกรรมหนักไปจนถึงพลังทางวัฒนธรรมที่มีอำนาจโน้มน้าวให้คนคล้อยตามได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไปพร้อมกับการทดความคิดเปรียบเทียบในใจกับประเทศของเราได้เป็นอย่างดี”


9.The Political Economy of Populism: An Introduction

Petar Stankov เขียน

สำนักพิมพ์ Routledge

แนะนำโดย เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์

“การที่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในปีนี้ และได้มีนโยบายที่เอาใจประชาชนอยู่หลายประการ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินโครงการ Digital Wallet 10,000 บาทให้กับประชาชนทุกคนที่ผ่านเงื่อนไข ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดประชานิยมที่เอาใจประชาชนโดยไม่คำนึงถึงงบประมาณของประเทศที่ต้องใช้จ่ายกับโครงการนี้อย่างมหาศาล 

ด้วยเหตุนี้เอง ผมอยากนำเสนอหนังสือของ Petar Stankov นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Royal Holloway, University of London เรื่อง ‘The Political Economy of Populism: An Introduction’ ซึ่งนำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่าทำไมผู้นำประชานิยมรวมถึงพรรคการเมืองที่ใช้แนวคิดประชานิยมถึงได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั่วทุกภูมิภาคของโลก

 Stankov ยังได้นำเสนอถึงผลที่ตามมาของการใช้แนวนโยบายแบบประชานิยมซึ่งก่อให้เกิดความชื่นขอบของประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบในขั้นสุดท้ายของการใช้นโยบายประชานิยม โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีหนังสือน้อยเล่มนักที่ได้ศึกษาในประเด็นนี้ 

นอกจากนี้ Stankov ยังได้นำตัวอย่างจากประเทศต่างๆ ที่ใช้แนวคิดประชานิยมมาวิเคราะห์และดูผลลัพธ์ว่าวงจรของการใช้นโยบายประชานิยมท้ายที่สุดจะลงเอยอย่างไร ด้วยเหตุนี้เอง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ Must Read สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประชานิยม รวมถึงนักการเมืองที่นำนโยบายประชานิยมไปใช้ โดยเฉพาะในประเด็นที่นโยบายประชานิยมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเพียงใด”


10.Ethics and Public Policy: A Philosophical Inquiry

Jonathan Wolff เขียน

สำนักพิมพ์ Routledge

แนะนำโดย ตะวัน มานะกุล

“ตั้งต้นจากประสบการณ์ทำงานในโลกนโยบายสาธารณะของผม ‘Ethics and Public Policy’ ชวนผมสำรวจโลกที่คุ้นเคยนี้ผ่านเลนส์ใหม่จากมุมมองปรัชญาเชิงวิเคราะห์ (analytic philosophy) ผมเดาว่าตอน Jonathan Wolff เขียน เขาคงตั้งใจให้งานออกมามีลักษณะเป็นตำราเรียน คือมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นสำคัญในวิชา ไว้เป็นจุดตั้งต้นสำหรับ ‘นักเรียน’ ใหม่

ที่จริงการแนะนำหนังสือเรียนช่วงวันหยุดปีใหม่แบบนี้ดูไม่ค่อยถูกกาละเทศะ (ครับ ผมทราบครับ) อย่างไรก็ตาม ข้อแก้ตัวคือหนังสือเล่มนี้ไม่น่าเบื่อเลย ผู้เขียนสะสมตัวอย่างจากการแลกเปลี่ยนในห้องเรียนและงานในโลกจริง ก่อนนำทั้งหมดมา ‘ปล่อยของ’ เป็นคำถามสุดสนุก บางครั้งพิสดาร เช่นรัฐบาลควรคำนวณจัดสรรงบอย่างไรเพื่อรับมือความเสี่ยงอุกกาบาตชนโลกแตกซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยกว่า 0.0001% ต่อปี? หรือรัฐบาลควรทำตัวเป็น ‘คุณพ่อรู้ดี’ ห้ามคนกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือน้ำอัดลมมากน้อยแค่ไหน เขาคำนวณกันอย่างไร? ฐานคิดมาจากไหน? ได้ข้อตกลงหรือเถียงกันเรื่องไหนกันอยู่บ้าง? 

ประเด็นเหล่านี้ในหนังสือชี้ชวนให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นรูปธรรมและใกล้ตัวกว่าที่คิด เอาเข้าจริงอ่านจบแล้วอาจเห็นด้วยซ้ำ ว่าไม่มีการตัดสินใจระดับสาธารณะในประเด็นหรือขั้นตอนใดที่แยกขาดจากการพิจารณาและชั่งน้ำหนักวิจารณญาณที่ขัดแย้งกัน เพื่อหา ‘ดุลยภาพ’ แห่งความถูกต้อง”


11.Insectopedia 

Hugh Raffles เขียน

สำนักพิมพ์ Vintage

แนะนำโดย ณภัค เสรีรักษ์

“‘นานเท่าที่เราอยู่ที่นี่ พวกมันก็อยู่ที่นี่ด้วย ไม่ว่าที่ไหนที่เราเดินทางไป พวกมันก็เดินทางไปแล้วทั้งนั้น ถึงกระนั้น พวกเราก็ไม่รู้จักพวกมันดีสักเท่าไร แม้แต่พวกที่อยู่ใกล้ชิดกับเรามากๆ พวกที่กินอาหารของเราและนอนร่วมเตียงกับเรา พวกมันเป็นใคร? เจ้าสิ่งมีชีวิตที่แสนจะแตกต่างจากเรา และแตกต่างกันเอง พวกมันทำอะไร? พวกมันสร้างโลกแบบไหน? พวกเราทำอะไรกับมัน? เราจะอยู่ร่วมกับพวกมันอย่างไร? เราจะสามารถอยู่กับพวกมันอย่างแตกต่างออกไปได้อย่างไร?’ 

ในบทเกริ่นนำของ Insectopedia (2011) นักมานุษยวิทยา Hugh Raffles ชักชวนให้เราตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของความสัมพันธ์อันหลากหลายระหว่างมนุษย์กับแมลงนานาชนิด เขาชวนให้เราคิดถึงแมลงสักชนิดหนึ่ง แมลงวัน? แมลงปอ? บัมเบิลบี? ยุง? เต่าทอง? ผีเสื้อ? ฯลฯ สิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกับเราและแตกต่างกันเองอย่างมหาศาล ในหนังสือที่เรียงลำดับบทตามลำดับตัวอักษรในภาษาอังกฤษจาก A ไปจนถึง Z ตามแบบงานเขียนเชิงสารานุกรม มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแมลง (แต่ชื่อบทเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นชื่อแมลง ตัวอย่างชื่อบทเช่น Air, Beauty, Chernobyl, Death, Evolution เป็นต้น) 

Raffles พาผู้อ่านไปพบกับการปรากฏอยู่ของแมลงนานาชนิดในช่วงเวลาและบริบทต่างๆ ของสังคมมนุษย์ ผ่านการกลับไปสืบค้นและสร้างบทสนทนาเชิงประวัติศาสตร์ของความรู้-ภูมิปัญญา ผ่านกรณีเฉพาะต่างๆ ทั้งว่าด้วยประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรีและซาวนด์สเคป ศิลปกรรม วรรณกรรม งานเขียนทางปรัชญา ไปจนถึงงานเชิงชาติพันธุ์วรรณนาของตัวเขาเอง 

ในแง่หนึ่ง Raffles ทำให้เห็นว่าความสงสัยและความพยายามทำความเข้าใจแมลงของมนุษย์ในสังคมต่างๆ ในช่วงเวลาต่างกันไปนั้นสัมพันธ์กับความเป็นไปของสังคมมนุษย์ที่กว้างออกไปกว่าบริบทหนึ่งๆ ในตัวของมันเองอย่างไรบ้าง — เข้มข้น หนักหน่วง ซับซ้อน และตราตรึง สนุกจนวางไม่ลงในแต่ละตอน แต่เมื่ออ่านจบตอนหนึ่งๆ แล้วต้องหยุดพักวางไว้ก่อน!”


12.ปรีดี – พุทธทาส เทอดรัฐธรรมนูญ

ณภัทร ปัญกาญจน์ บรรณาธิการ

สำนักพิมพ์ สุขภาพใจและสถาบันปรีดี พนมยงค์

แนะนำโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์

“สถาบันปรีดีกลับมาดำเนินกิจกรรมอย่างคึกคักนับตั้งแต่ พ.ศ.2563 เมื่อคราวชาตกาล 120 ปีของรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ ตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ความรู้ผ่านทั้งทางออนไลน์ https://pridi.or.th และจัดงานเสวนาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อขยายองค์ความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2566 นี้ เป็นวาระพ้องกันของ 2 กัลยาณมิตรชื่อก้องในสังคมไทย คือ หนึ่ง 123 ปีชาตกาลของคฤหัศถ์เรืองนามฝ่ายอาณาจักร ‘นายปรีดี พนมยงค์’ (รัฐบุรุษอาวุโส พ.ศ.2443-2526) ผู้พลิกแผ่นดินนำประชาธิปไตยหยั่งลงสู่สังคมไทย และ สอง คือ 117 ปีชาตกาลของบรรพชิตนามอุโฆษฝ่ายศาสนจักร ‘พุทธทาสภิกขุ’ (พระธรรมโกศาจารย์  – เงื่อม อินฺทปญฺโญ พ.ศ.2449-2536) ผู้บุกเบิกปรับโฉมพระพุทธศาสนาภายใต้ระบอบใหม่ 

ความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งคู่รังสรรค์ขึ้นเริ่มนับหนึ่งพร้อมกันเมื่อต้น พ.ศ.2475 (สวนโมกข์ตั้งขึ้นก่อนปฏิวัติเพียงไม่ถึง 2 เดือน) เมื่อต่างฝ่ายต่างดำเนินอุดมการณ์คู่ขนานต่างโลกตราบจนได้มาบรรจบพบหน้ากันเมื่อครบ 10 ปีนับจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ธรรมสากัจฉาของทั้งสองท่านนี้ปรากฏการจดบันทึกไว้โดยละเอียดในงานของท่านพุทธทาสภิกขุ และทั้งสองท่านยังคงพอมีปฏิสัมพันธ์กันตราบจนเมื่อพบหน้ากันครั้งสุดท้ายต้น พ.ศ.2490 ฝ่ายหนึ่งต้องเผชิญความอยุติธรรมทางการเมืองจนลี้ภัยออกนอกประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายยังคงยืนหยัดเผยแผ่รูปแบบพุทธศาสนาแนวก้าวหน้าตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต แลภายหลังมรณกาลในวาระ 100 ปีชาตกาลของราษฎรไทยทั้งสองนี้ คือเมื่อ พ.ศ.2543 (ปรีดี) และ พ.ศ.2549 (พุทธทาส) องค์กรระดับโลกโดยยูเนสโกได้ประกาศยกย่องทั้งคู่ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

สถาบันปรีดีร่วมกับหอจดหมายเหตุพุทธทาส และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ได้รวบรวมจัดพิมพ์เอกสารชั้นต้นระหว่างที่บุคคลทั้งสองมีปฏิสัมพันธ์กันเป็นหนังสือชื่อว่า ‘ปรีดี-พุทธทาส เทอดรัฐธรรมนูญ’ หนังสือความหนา 300 หน้าเศษนี้อัดแน่นไปด้วยเอกสารชิ้นใหม่ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ ในรูปแบบบันทึกลายมือบ้าง พิมพ์ดีดบ้างของพุทธทาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดการพบปะกันระหว่าง พ.ศ.2485-2486 สารัตถะสำคัญคือแนวทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาภายใต้ระบอบใหม่ผ่านแนวคิดของทั้งคู่ 

นอกจากนี้ ภายในหนังสือยังนำเสนอต้นฉบับปาฐกถาชิ้นสำคัญของพุทธทาสในวัย 31 เมื่อปี พ.ศ.2481 ที่เทศนาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และสรรเสริญ ‘คณะราษฎร’ อย่างแข็งขันอีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นใหม่ที่ฉายภาพของพุทธทาสภิกขุในระยะเปลี่ยนผ่านอันสำคัญยิ่งของสังคมไทย”


13.Titillating Tales from Northern Thailand

Viggo Brun เขียน

สำนักพิมพ์ White Lotus

แนะนำโดย ปรีดี หงษ์สต้น

“หนังสือรวบรวมและแปลเจี้ยก้อมเป็นภาษาอังกฤษจากการเก็บข้อมูลหลายปี นอกเหนือจากจะทำให้เห็นความธรรมดาของชีวิต ยังทำให้เห็นว่าการแปล โดยเฉพาะคำ หรือเรื่องที่มักถูกห้ามนั้นเป็นสิ่งท้าทายเพียงใด” 


14.ฝนโปรยปรายใต้มงกุฏ

สันติสุข กาญจนประกร เขียน

สำนักพิมพ์ flavorful publishing

แนะนำโดย ‘กัลปพฤกษ์’

“ตอนที่ ‘กัลปพฤกษ์’ ทำหน้าที่เป็นกรรมการคัดเลือกรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ประเทศไทย ประจำปี 2023 นี้ บอกได้เลยว่าเล่มที่อ่านแล้วรู้สึก ‘ตะลึงพรึงเพริด’ มากที่สุดก็คือ ‘ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ’ ของ สันติสุข กาญจนประกร โดยสำนักพิมพ์ flavorful publishing ที่ผ่านเข้ารอบ Longlist ของการประกวดมาได้  

โดยเนื้อหาแล้ว ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ ก็เป็นรวมเรื่องสั้นที่เล่าถึงสถานการณ์การบ้านการเมืองร่วมสมัย วิพากษ์การกระทำของรัฐบาลจากอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย แต่จุดที่ทำให้เรื่องสั้นใน ฝนโปรยปรายใต้มงกุฎ แตกต่างไปจากงานกลุ่มนี้ซึ่งมีเขียนออกมามากมาย คือสำนวนภาษาอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวที่ไม่สามารถอธิบายอะไรได้ ซ่อนเร้นนัยยะและสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้ในถ้อยคำอย่างสวิงสวาย ใช้วรรณศิลป์ในการถ่ายทอดทรรศนะความคิดทางการเมืองอย่างคมคายโดยไม่ฟูมฟาย สัมผัสทุกความโกรธแค้นคับข้องใจได้แม้จะไม่ได้เข้าใจในสารทั้งหมด ว่าแล้วก็ขออนุญาตยกตัวอย่างบทเปิดจากเรื่องสั้น “แม่ม่ายจากตากใบ” ให้ได้ลองสัมผัส ‘รสคำ’ ไม่ธรรมดาของ สันติสุข กาญจนประกร ที่อ่านไปก็จะรู้สึกหลอนไปตลอดทุก ๆ เรื่องในเล่ม!

“. . . คนตาย! ที่นี่มีคนตาย กลางวันและกลางคืน มรณกรรมชวนพะอืดพะอมหล่นจากสูงลิ่วลงกลาดเกลื่อนดั่งถูกเทวดานิสัยเสียถีบร่วง ทั้งลับและเปิดเผยจะแจ้งเต็มตา เราถูกมัดมือเท้าถุงดำคลุมศีรษะ กระเสือกกระสนแกะรอยหาฆาตกรผู้พรางตนในมุมมืด นักฆ่าเลือดเย็นมืออาชีพแถวหน้า เงียบ เหลือเพียงความเงียบนิ่งว้างวาย . . .””


15.คิมเมะ คลีนนิ่ง สะอาดนิ้งไม่ทิ้งรอย

Mitsuru Hattori เขียน

สำนักพิมพ์ Siam Inter Comics

แนะนำโดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

“พออายุมากขึ้น มังงะที่ผู้เขียนสนใจก็ห่างไกลจากเรื่องราวใหญ่โตประเภทเด็กประถมกับคดีฆาตกรรมไม่รู้จบ หรือเหล่าโจรสลัดที่ล่องเรือออกทะเลไปเรื่อย กลับเป็นเรื่องสามัญธรรมดาในชีวิตที่สัมผัสใจได้มากกว่า รวมถึงมังงะชื่อเก๋ ‘คิมเมะ คลีนนิ่ง สะอาดนิ้งไม่ทิ้งรอย’ (Kirei ni shite moraemasu ka) ว่าด้วยหญิงสาวที่เปิดร้านซักแห้งในอาตามิ เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องออนเซ็น ชีวิตประจำวันแต่ละวันของเธอก็วนเวียนไปเรื่อย เปิดร้าน ซักผ้า ส่งผ้า ปิดร้าน แช่ออนเซ็น จบ แต่ความสนุกอยู่ที่ลูกค้าแต่ละคนที่เธอได้พบเจอ ผู้คนในชุมชนที่เธอค่อยๆ สานสัมพันธ์ รวมไปถึงพล็อตรองที่ว่าด้วยความทรงจำสองปีก่อนหน้าของนางเอกได้สูญหายไป ดังนั้นนี่จึงเป็นมังงะเรียบง่าย น่ารัก และมีเรื่องตื่นเต้นให้ลุ้นไปด้วยเล็กน้อย”


16.นอกบท:รวมเรื่องสั้นอันเป็นที่รัก

มนัส จรรยงค์ เขียน

สำนักพิมพ์ แพรว

แนะนำโดย ‘นรา’

“เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 35 เรื่อง (หนาประมาณ 500 กว่าหน้า) เนื่องในวาระ ‘100 ปี มนัส จรรยงค์’ เมื่อ พ.ศ.2550 ผมเคยอ่านตั้งแต่สมัยนั้น ผมจำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าแต่ละเรื่องดีงามน่าสนใจอย่างไร แต่สรุปภาพรวมทั้งหมดสั้นๆ ได้ว่า เป็นหนึ่งในวรรณกรรมไทยที่คู่ควรกับคำว่า world class เป็นที่สุด”


17.The Structure of World History: From Modes of Production to Modes of Exchange

KOJIN KARATANI เขียน

Michael K. Bourdaghs แปล

สำนักพิมพ์ Duke University Press

แนะนำโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“หนังสือเล่มนี้มีชื่อเรื่องและชื่อรองที่ท้าทายและชวนให้ต้องหยิบมาชิมอย่างอดไม่ได้ ชื่อเรื่องเป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์ทั่วไปคงอยากรู้ว่าจนถึงปัจจุบันที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปหลายตลบและรอบแล้ว ยังจะมีโครงสร้างอะไรของประวัติศาสตร์โลกที่ใหม่และตื่นเต้นให้พูดถึงอีกหรือ ยังไม่ต้องพูดถึงผู้เขียนซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นไม่ใช่นักวิชาการระดับโลกแบบตะวันตกที่เป็นเจ้าของและผู้ผลิตความรู้ระดับโลกมาแต่ผู้เดียว 

หลังจากเปิดอ่านบทนำไปไม่กี่หน้าผมก็เปลี่ยนใจและสลัดทิ้งอคติต่อผู้เขียนชาวเอเชียคนนี้ไปได้ เกิดความประทับใจและยกย่องความรู้ในประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะทางปรัชญาและประวัติศาสตร์สังคมที่เขามีอย่างลึกซึ้ง เมื่อหาประวัติเขาจึงถึงบางอ้อเพราะเขาเป็นศาสตราจารย์สอนในมหาวิทยาลัยโตเกียวและเคยร่วมสันนิบาตคอมมิวนิสต์ในญี่ปุ่น รวมทั้งการต่อต้านอิทธิพลอเมริกาในญี่ปุ่น

จึงไม่แปลกใจที่อาจารย์โคจิน คาราตานิ ช่างมีสายตาอันแหลมคมและกว้างไกลยิ่งด้วยการเสนอว่า หนังสือเล่มนี้จะทำการคิดใหม่ในเรื่องประวัติศาสตร์ของการก่อรูปทางสังคม (social formations) โดยพินิจจากทรรศนะของวิถีการแลกเปลี่ยน (modes of exchange) หมายความว่าประวัติศาสตร์โลกในทรรศนะของเขาก็อยู่ที่รูปการณ์ทางสังคมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของรัฐ อำนาจรัฐ ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง อุดมการณ์ ศาสนาและฯลฯ แต่ถ่ายเดียวตามที่เราเคยร่ำเรียนกันมา ใครที่เคยอ่านงานของมาร์กซ์และนักลัทธิมาร์กซ์ก็เดาได้ว่า นี่คือวิธีวิทยาการศึกษาประวัติศาสตร์วัตถุนิยมวิภาษของมาร์กซ์นั่นเอง  

ผู้เขียนรีบอธิบายต่อไปทันทีว่า ที่ผ่านมาการศึกษารูปการณ์ทางสังคมนั้น นักลัทธิมาร์กซ์ศึกษาด้วยการดูเฉพาะที่วิถีการผลิต (modes of production) นั่นคือดูว่าใครยึดครองปัจจัยการผลิต ทำให้วิธีแบบนี้ถูกโจมตีต่อมาว่าเป็น ‘สำนักฐานเศรษฐกิจชี้ขาด’ ในขณะที่เรื่องการเมือง ศาสนาและวัฒนธรรมถูกจัดให้อยู่ในอุดมการณ์โครงสร้างส่วนบน ทรรศนะดังกล่าวจึงแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ 

ทรรศนะแบบนี้เป็นพื้นฐานในสังคมทุนนิยม ผลของการมองแยกส่วนนี้ทำให้เกิดปัญหาในการมองและอธิบายสังคมก่อนทุนนิยม เพราะสังคมเอเชียหรือศักดินาและสังคมชนเผ่าที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการควบคุมทางการเมืองกับการควบคุมทางเศรษฐกิจ แม้ในสังคมทุนนิยมร่วมสมัยก็ตาม การมองว่ารัฐและชาติว่าเป็นเพียงอุดมการณ์ของโครงสร้างส่วนบนนำไปสู่ความยากลำบากในการอธิบายพัฒนาการของสังคมทั้งระบบ เพราะทั้งรัฐและชาติต่างเป็นตัวกระทำของมันเองที่ดำเนินไปด้วยตัวมันเอง นักลัทธิมาร์กซิสต์ที่เชื่อว่ารัฐจะสูญสลายไปตามธรรมชาติเมื่อระบบทุนนิยมถูกทำลายไป จะพบว่าสภาพความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ตอนนี้นักลัทธิมาร์กซ์ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญแก่รัฐและชาติใหม่อีก

ประเด็นที่ผมสนใจมากคือการวิเคราะห์เศรษฐกิจแนวใหม่โดยดูจากวิถีการแลกเปลี่ยน กล่าวคือในประวัติศาสตร์โลกมีอยู่ 4 วิถีของการแลกเปลี่ยน คือ วิถี A ได้แก่การให้ซึ่งกันและกันผ่านระบบของขวัญ วิถี B คือจากอำนาจในการปกครองและการป้องกัน วิถี C คือการแลกเปลี่ยนสินค้า และวิถี D คือครอบคลุมทั้งสามวิถีก่อนหน้านี้ ยอดเยี่ยมมากเพราะนิยามนี้คลุมทุกสังคมในอดีตบุพกาลมาถึงยุคทุนอุตสาหกรรมและดิจิทัลในวันข้างหน้าได้หมด จากนั้นหนังสือเริ่มวิเคราะห์ว่าแต่ละวิถีสร้างอุดมการณ์และรัฐมารองรับวิถีการแลกเปลี่ยนอย่างไร ด้วยการให้ความสำคัญที่การแลกเปลี่ยน เขาจึงมองเห็นฐานะและบทบาทของ ‘ทุนการค้า’ หรือทุนพ่อค้า (merchant capital) ได้อย่างละเอียดและไม่ลดทอนบทบาทมันลงไป เหมือนอย่างนักลัทธิมาร์กซตะวันตกที่ไม่ให้ความสำคัญต่อทุนพ่อค้านี้เลย 

ข้อคิดสุดท้ายจากหนังสือเล่มนี้คือ ทำให้ ‘วิวาะเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากสังคมฟิวดัลมาสู่ทุนนิยม’ (Debate on the Transition from Feudalism to Capitalism) ระหว่างสำนักมอริซ ดอบบ์กับสำนักพอล สวีซี่ ที่โด่งดังครอบงำการศึกษาและวิพากษ์วิธีวิทยาและจุดยืนของพวกนักลัทธิมาร์กซิสต์ในทศวรรษปี 1960 ในอเมริกาและยุโรป ถึงจุดยุติเสียที เพราะทันทีที่เราย้ายจุดยืนจากวิถีการผลิตของมาร์กซ ไปยังวิถีการแลกเปลี่ยนของโคจิน คาราตานิ ความไม่ลงรอยในปัญหาว่าทำไมสังคมไทยถึงไม่เป็นระบบทุนหลังเปิดประเทศให้ตะวันตก หรือแค่มีพ่อค้านายทุนมาทำกิจการในพื้นที่ก็เป็นระบบทุน หรือพอใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยนก็เป็นทุน ก็สามารถอธิบายได้โดยดูที่วิถีการแลกเปลี่ยนแบบไหนที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจการเมืองสยามในตอนนั้นและต่อมา นั่นคือวิถีแบบ A , B ที่ครอบงำเหนือกว่าวิถีแบบ C ที่เป็นต้นแบบของระบบทุนนิยมตะวันตก ถ้ายึดตามหนังสือเล่มนี้ กว่าแบบสุดท้ายนี้จะขึ้นมามีฐานะครอบงำสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปเป็นร่างก็คงตกราวสมัยรัฐบาลสฤษดิ์แล้ว 

ผมจึงยกมือให้กับ The Structure of World History เป็นหนังสือแห่งปีที่ช่วยให้เราเข้าใจและถกเถียงเรื่องระบบทุนนิยมโลกไม่ว่าจะผันผวนอีกกี่ตลบอย่างมีหลักคิด เพราะวิถีการแลกเปลี่ยนก็จะไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว”


18.สู้ดิวะ

กฤตไท ธนสมบัติกุล เขียน

สำนักพิมพ์ KOOB

แนะนำโดย ณัฐกร วิทิตานนท์

““..ชีวิตไม่แน่นอน สุดท้ายเราทุกคนจะต้องตาย จงอยู่กับปัจจุบัน ใช้แต่ละวันให้เหมือนวันสุดท้าย..”

ประโยคข้างต้นมาจากหนังสือ ‘สู้ดิวะ’ หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวของหมอกฤตไท แพทย์หนุ่มวัยเพียง 28 ปี โดยเฉพาะห้วงท้ายของชีวิต ถอดประสบการณ์ตลอดช่วง 6 เดือนหลังรู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย และต้องหาทางรับมือกับมัน

‘สู้ดิวะ’ ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่เขียนโดยผู้ป่วยมะเร็งชนิดไม่มีทางรักษาหาย เคยมีหนังสือทำนองนี้ออกมาแล้วไม่น้อย ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เล่มที่ใกล้เคียงที่สุดคือ When Breath Becomes Air (2016) เขียนโดย Paul Kalanithi ซึ่งก็ทั้งเป็นหมอ ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะลุกลาม และต้องจากไปในยามที่อายุยังน้อยเหมือนกัน ฉบับแปลไทยใช้ชื่อ ‘เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ’ (2559) มีโตมร ศุขปรีชา เป็นผู้แปล

แต่เหตุที่ผมเลือกแนะนำเล่มนี้เป็นเพราะ ‘จังหวะ’ เวลาในชีวิต และรู้สึก ‘ใกล้ชิด’ กับทั้งผู้เขียน (ทั้งๆ ที่ก็ไม่เคยรู้จักกันส่วนตัว) และเรื่องราวในนั้น

‘จังหวะ’ เป็นปีที่มีคนที่ผมรู้จักผูกพันจากไปเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงกลางปีที่มันเกิดขึ้นติดๆ กันจนไม่ทันตั้งตัว รวมถึงท่านอาจารย์นิธิ (7 ส.ค. 66) หลายคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน บางคนรู้ว่าสู้กับมะเร็งมาหลายปี แต่สุดท้ายก็ทัดทานต่ออีกไม่ไหว แน่นอน ทุกงานที่ได้ไปร่วมคืออุทาหรณ์ชีวิต เช่นเดียวกับที่หมอบอกอย่างเรียบง่ายในหนังสือว่า ‘เรามีเวลาจำกัด’ พร้อมชี้ชวนให้ผู้อ่านหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘เหตุผลในการมีชีวิตอยู่’ ของแต่ละคน

ประกอบกับผมเพิ่งได้หนังสือเล่มนี้มาจากในงาน CMU Book Fair ระหว่างที่ทยอยอ่านอยู่นั้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่ปรากฏข่าวหมดกฤตไทจากไปพอดี (5 ธ.ค. 66) เวลาอ่านจึงเหมือนได้เห็นฉากจบที่ไม่มีอยู่ในหนังสือ ต่อให้สู้ยังไง เราทุกคนล้วนมี ‘ความตาย’ รออยู่ปลายทาง จะช้าหรือเร็วแค่นั้น

‘ใกล้ชิด’

ย้อนนึกถึงตอนที่แชร์โพสต์แรกของเพจชื่อเดียวกัน ซึ่งก็เหมือนเพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นานนี้เอง (10 พ.ย. 65) ด้วยความสงสัยอะไรทำให้คนหนุ่มวัย 28 เป็นมะเร็งปอดได้ และหวังว่ากรณีนี้จะไปทำให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองตระหนักถึงปัญหา ‘ฝุ่นควัน’ และจริงจังในการแก้ปัญหานี้ยิ่งขึ้น ปัญหาซึ่งคนเชียงใหม่ และชาวภาคเหนือต้องทนเผชิญมาหลายสิบปี แต่ไม่มีทีท่าจะหมดไปเสียที เหมือนหมอกำลังพูดแทนใจ “เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริง ๆ หรือ”

หมอกฤตไทเขียนถึงตัวเองว่าเป็นชาวเชียงใหม่ และรักเชียงใหม่ และด้วยความที่ทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันก็เลยเข้าใจบางประเด็นที่แกอยากบอก เช่น ควรให้คุณค่ากับคุณภาพการสอนรวมถึงความใส่ใจของอาจารย์มากพอ ๆ กับผลงานทางวิชาการ รวมไปถึงความพยายามอธิบายการออกแบบวิธีการวิจัยที่ใช้ในงานด้านวิทยาคลีนิก ซึ่งมีส่วนคล้ายกับรายวิชาการวิจัยภาคสนามที่ผมกำลังสอนในเทอมนี้

อีกทั้งคุณหมอยังได้สมัครวิ่งรายการ CMU Marathon ในระยะ Fun Run ที่ตัวผมมีส่วนรับผิดชอบ จึงคอยเอาใจช่วยอยากให้หมอมาวิ่งให้ได้

น่าเสียดายที่เรื่องราวในหนังสือสิ้นสุดลงเมื่อหมอกฤตไทเริ่มผ่านเข้าสู่ครึ่งปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งมีอีกหลายเหตุการณ์ดี ๆ เกิดขึ้น เช่นเรื่องงานแต่งงาน

การต่อสู้ของเขาที่เขียนให้เราอ่านคือ พยายามเข้าใจโรคที่ตัวเองเผอิญ และรักษาแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้เวลากับคนรอบข้างอย่างประณีตบรรจง พร้อมทำให้ชีวิตในเวลาที่เหลืออยู่นั้นมีความหมายที่สุด”


19.โคโค่กับนกฟีนิกซ์ที่หายไป

วงเวลา เขียน

สำนักพิมพ์ ภารวี ชีวพันธุศรี

แนะนำโดย กษิดิศ อนันทนาธร

“ ’โคโค่กับนกฟีนิกซ์ที่หายไป’  เป็นหนังสือที่ ‘วงเวลา’ นำปรัชญามาเล่าผ่านวรรณกรรมเยาวชน กับการผจญภัยตามหา ‘นกฟีนิกซ์’ ในโลกแฟนตาซีของเด็กหญิง โดยมีแก่นเรื่อง คือการเดินทางภายในสู่อิสระจากความทุกข์ หรือการตามหา ‘ความสุขที่แท้’ หรือการมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ยึดติดในอดีตหรือกังวลในอนาคต จนตระหนักรู้ว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และไม่มีตัวตนที่แบ่งแยกได้ให้ยึดถือ 

ทั้งนี้ ผู้เขียนใช้ตัวละครที่เป็นสัตว์และใช้สัญลักษณ์ต่างๆ จึงเปิดโอกาสให้ใช้จินตนาการตีความ และยังมีการหยิบยกความเจ็บปวดของคนที่ดำเนินชีวิตต่างจากกระแสหลัก มาตีแผ่เรื่องความแตกต่างหลากหลายในสังคม และสนับสนุนให้คนทำตามความฝันด้วย หากใครกำลังตามหา ‘ความสุข’ บางทีหนังสือเล่มนี้อาจทำให้คุณพบสิ่งนั้น”


20.The Price of Time: The Real Story of Interest

Edward Chancellor เขียน

สำนักพิมพ์ Penguin

แนะนำโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

“ผมขอแนะนำหนังสือ The Price of Time: The Real Story of Interest โดย Edward Chancellor ครับ

ไม่ว่ายุคสมัยไหน ใครๆ ก็ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากภาคธุรกิจและประชาชนจะได้หน้าชื่นตาบานเพราะหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้ได้ในราคาประหยัดแล้ว เหล่านักลงทุนก็ยิ้มรับเพราะอัตราดอกเบี้ยต่ำมักมาพร้อมกับตลาดหุ้นขาขึ้น ส่วนรัฐบาลเองก็สบายใจที่สามารถแบกหนี้สาธารณะต่อได้ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง

ในหนังสือ The Price of Time: The Real Story of Interest พาเราย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอดีตที่สัญญากู้ยืมยังต้องสลักลงบนแผ่นหินมาจนถึงภาวะดอกเบี้ยต่ำหลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ พร้อมกับฉายภาพหายนะครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ‘ต่ำเกินไป’ โดยกล่าวโทษนายธนาคารกลางอย่างถึงพริกถึงขิงว่าสวมหมวกสองใบคือนักดับเพลิงกับมือวางเพลิง หรือก็คือนักแก้วิกฤติที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อ

หลากหลายนักเศรษฐศาสตร์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือเล่มนี้ต่างมองว่าอัตราดอกเบี้ยคือสิ่งจำเป็น และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปย่อมนำไปสู่หายนะ เนื่องจากดอกเบี้ยคือกลไกธรรมชาติที่ทำให้ ‘เงินทุนไหลไปอยู่ในที่ที่ควรจะอยู่’ เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำจนใกล้ศูนย์ เงินทุนจึงต้องไปแสวงหากิจกรรมความเสี่ยงสูงอย่างเหล่าสตาร์ตอัป หล่อเลี้ยงกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่ต่างจากผีดิบ และทำลายการเติบโตของผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจ

นับเป็นหนังสืออีกเล่มที่เปิดหูเปิดตาในยุคที่คนจำนวนมากจงเกลียดจงชังอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจจะสูงอย่างนี้ไปอีกสักพักใหญ่ๆ ครับ”


21.โทษประหารโคล้ด เกอ

วิกเตอร์ อูโก เขียน

พิชญา จิระวรรธนะ แปล

สำนักพิมพ์ อ่าน ๑๐๑ 

แนะนำโดย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“เป็นหนังสือ ปี 1834 ของวิกเตอร์ อูโก ผู้เรียกโทษประหารว่า ‘การกระทำชั้นเลวของกฎหมาย’ และให้ความสำคัญกับศีรษะมนุษย์ (ที่นักอ่านย่อมรู้ดีว่าจะถูกตัดด้วยกิโยติน) เรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้เสมือนหนึ่งจุดประกายให้คิดว่าเราควรจะหรือสามารถทำอะไรกับศีรษะมนุษย์ที่ถูกตัดออกได้บ้าง โคล้ด เกอ เป็นกรรมกรยากไร้ เขาติดคุกห้าปีเพราะลักขโมย ขโมยอะไรไม่ทราบแต่ช่วยให้หญิงสาวและเด็กเล็กที่อยู่ด้วยกันมีขนมปังและไฟผิงไปสามวันในฤดูหนาว

“เมื่อให้มนุษย์ที่มีความคิดคนหนึ่งได้อยู่ท่ามกลางมนุษย์ที่ปราศจากความคิด พอเวลาล่วงไประยะหนึ่ง สมองทึบทั้งหลายจะโคจรอย่างถ่อมตัวด้วยความเทิดทูนไปรอบสมองที่เปล่งประกาย” นี่คือสิ่งที่เกิดกับโคล้ด เกอในเรือนจำ

คราวนี้มาดูผู้คุมนักโทษ อูโกเขียนดังนี้ “เขาเป็นพ่อและสามีที่ดี ซึ่งก็ทำไปตามหน้าที่ ไม่ใช่เพราะเป็นคนดีอะไร กล่าวสั้นๆคือไม่ใช่คนใจร้าย แต่เป็นคนเลว”

“โดยทั่วไปเมื่อเกิดหายนะขึ้นแก่เราไม่ว่าจะเป็นหายนะส่วนรวมหรือส่วนบุคคล หากพิจารณาเศษซากความเสียหายที่กองอยู่บนพื้นดินเพื่อหาว่าหายนะนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จะพบแทบทุกครั้งว่าไอ้กระจอกหัวรั้นคนหนึ่ง ผู้ศรัทธาในตนและหลงตน เป็นผู้ก่อความฉิบหายด้วยความมืดบอด” นี่คือผู้คุมซึ่งอูโกบรรยายว่าเป็นทั้งข้าราชการ และพ่อค้า ใช่ไหม เวลาเราเห็นข่าวความพินาศแต่ละครั้ง ที่จริงแล้วต้องมีใครสักคนเป็นต้นเหตุ

ผู้คุมเห็นความโดดเด่นของโคล้ดเกอจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะ “เป็นความชิงชังของราชาโดยนิตินัยที่มีต่อราชาโดยพฤตินัย และเป็นความเกลียดของผู้นำทางโลกต่อผู้นำทางธรรม” แล้วโคล้ด เกอก็สังหารผู้คุม จากนั้นก็ถูกประหาร 

เป็นโคล้ด เกอเลวทราม หรือ สังคมเลวทราม โทษประหารในฝรั่งเศสมิได้ถูกยกเลิกในชั่วชีวิตของอูโก ที่จริงแล้วอีกนานหลังจากนั้น แต่บทตามว่านวนิยายเรื่องนี้ได้จุดชนวนบางประการ

“ผู้คุมเลว หรือสังคมอนุญาตให้เขาทำ”

ทุกวันนี้เราก็ยังเผชิญข่าวที่ใครบางคนทำผิดแล้วลอยนวลเสมอ คนเลวหรือสังคมเองที่อนุญาตให้เขาทำ แล้วเลือกทำโทษเฉพาะบางคน”


22.00.00 น.

‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียน

สำนักพิมพ์ สมมติ

แนะนำโดย อิทธิเดช พระเพ็ชร

““…บางฅนพยายามจะพูดให้ฅนเชื่อว่าเขาบูชาความจน ในขณะที่ลมหายใจของเขามีกลิ่นสก็อทช์วิสกี้…”

“…ถ้าจะว่าชีวิตมันเป็นความฝันร้าย เราต่างก็ได้ผ่านฝันร้ายกันมาจนคุ้นกับมันเสียแล้ว…”

ในบรรดาสวนหนังสือและตัวอักษรของนักเขียนเจ้าของฉายา ‘พญาอินทรี’ อย่าง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ หนังสือเล่มเล็ก ๆ ในชื่อที่เป็นตัวเลขบอกเวลาของมนุษย์อย่าง ‘00.00 น.’ นอกจากจะเป็นหนังสือที่มีราคาซึ่งนักอ่านทั่วไปสามารถจับต้องได้ เอื้อมถึง ไม่ต้องแปลงร่างเป็นแมลงภู่ผึ้ง แปลงได้จะบินไปคลึงคว้ามาครอบครองแล้ว ‘00.00 น.’ ยังเป็นหนึ่งในขบวนหนังสือที่ให้ความรู้สึกเหมือน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มานั่งเล่าบทสำรวจชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ เมืองที่มีคนเหงามากกว่าเสาไฟฟ้า ไว้อย่างสนุกสนานและจริงใจ

00.00 น. สำหรับบางคนอาจกำลังนอนหลับฝัน สำหรับบางคนอาจกำลังเป็นแมลงเม่าที่ตกหลุมรักกองไฟ

แต่ 00.00 น. สำหรับผู้อ่าน ก็อาจเป็นเหมือนคนแปลกหน้าที่รู้จักกันดี ซึ่งไม่ว่าคุณจะสุข จะทุกข์ จะเศร้า หรือเหงา เราก็เป็นเพื่อนกัน”


23.The Last  Mughal: เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง

William Dalrymple เขียน

สุภัตรา ภูมิประภาส แปล

สำนักพิมพ์ มติชน

แนะนำโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

“เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง: ชะตากรรมกษัตริย์โมกุลองค์สุดท้ายของอินเดีย เป็นหนังสือเล่มโตที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับการล่มสลายของระบอบกษัตริย์และประวัติศาสตร์อินเดียยุคที่ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ที่ให้รายละเอียดเรื่องส่วนตัว ครอบครัวและการปกครองของ จักรพรรดิ บะห์ดูร์  ซาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 (1775-1862) ที่สืบทอดการปกครองในระบอบกษัตริย์ของราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่แต่เพียงในนามเท่านั้น 

ชีวิตบั้นปลายของซาฟาร์ ต้องระเหเร่ร่อน แก่ชรา เจ็บป่วย กลายเป็นนักโทษ ถูกเนรเทศ ก่อนจะจบชีวิตอย่างเงียบๆในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า อาณานิคมชั้นสองของอังกฤษ ร่างของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซึ่งปกครองอินเดียนานถึง 350 ปี ถูกฝังทิ้งไว้อย่างไม่สมพระเกียรติด้วยความจงใจของชาวอังกฤษที่จะไม่ให้ใครพบเห็น เป็นเวลานานกว่าศตวรรษ 

เล่มที่แนะนำนี้เป็นหนังสือแปลความยาว 703 หน้า ซึ่ง สุภัตรา ภูมิประภาส แปลจาก The Last Mughal: The Fall of Delhi 1857 ของ William Dalryple นักเขียนมือรางวัล ซึ่งใช้เวลาหลายปีในการค้นคว้าหลักฐานเอกสารภาษาเปอร์เซียและอูราดู เป็นหมื่นๆชิ้น เพื่อเปิดเรื่องราวของจักรพรรดิ อินเดีย และกรุงเดลีจากมุมมองของชาวอินเดียเอง แทนที่จะใช้ข้อมูลซ้ำซากที่บันทึกโดยชาวอังกฤษเหมือนงานชิ้นอื่นๆ และนั่นคือจุดเด่นอันสำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ เพราะเอกสารไม่เพียงให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตในรั้วในวัง หรือ ค่ายทหาร และชาวอังกฤษเท่านั้น หากแต่ยังพูดถึงสามัญชนทั่วไป ช่างปั้นหม้อ หญิงงามเมือง คนขายของหวาน และคนงานทั่วไป อีกด้วย

ส่วนฝีมือผู้แปลนั้นรับประกันว่าไว้ใจได้ เพราะแม้ผู้ที่อ่านภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วยังรออ่านฉบับแปลเป็นภาษาไทย”


24.มหากาพย์อิเลียด

โฮเมอร์ รจนา เขียน

เวธัส โพธิรามิก แปล

สำนักพิมพ์ ทับหนังสือ

แนะนำโดย ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์

“เหตุผลที่เลือกมหากาพย์อายุหลายพันปีเล่มนี้ เริ่มจากเบียร์โกลเดนเอลฉลอง 120 ปีของยาสึจิโร โอซุ (เมืองไทยไม่มีขายครับ ผมไม่ได้พาดพิงสุรายาเมาใดๆ) ที่ทำให้นึกถึงผู้กำกับญี่ปุ่นคนนี้ขึ้นมา จนตามไปดูหนังของแกอีกครั้งในรอบยี่สิบปี ต่อด้วยการดูหนังคลาสสิกของคนอื่นที่อาจไม่เกี่ยวกัน อย่างฌัค ตาติ (จนเริ่มจำได้ถึงความคลาสสิก หลังจากทิ้งลืมไปเสียนาน บอกตามตรงว่ามันทำให้ลุงรู้สึกเป็นหนุ่ม เหมือนสมัยก่อนที่เราเริ่มชีวิตทางปัญญาด้วยความคลาสสิกก่อน) มันกินใจ 

จากหนังก็ลามมาถึงหนังสือ ‘มหากาพย์อิเลียด’ เรื่องของศึกกรุงทรอยเล่มนี้เป็นเรื่องของวาทะและอารมณ์มากกว่าการรบราฆ่าฟัน ลุงติดใจความเนิบช้า กินลึกถึงความรู้สึกของคน โตๆ กันแล้ว แต่ก็ยังมีความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอหังการ์ไม่ยอมใคร พลุ่งพล่านด้วยความไม่พอใจ หลงใหลภาคภูมิของยอดนักรบ ในแปดร้อยกว่าหน้าของหนังสือเล่มนี้คือวาจาและความรู้สึกที่ฟาดฟันกันหยดติ๋งโดยไม่ต้องมีหอกดาบ  ทำให้รู้ว่ากว่าจะออกมารบทัพจับศึกกัน วีรบุรุษแต่ละคนผ่านสมรภูมิในใจอะไรกันมาบ้าง”


25.พระราชบัญญัติประชามติ พ.ศ.2564

แนะนำโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

“อย่าเพิ่งโวยว่าชวนอ่านอะไรน่าเบื่อนะคะ 

ความคิดที่ชวนอ่าน ‘พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564’ มาจากความหวังที่อยากเห็นคนไทยมีวาสนาได้ออกเสียงประชามติตามมาตรฐานสากล  จะรณรงค์คัดค้าน หรือชักชวนให้เห็นชอบ ก็ทำได้โดยไม่ว้าวุ่นเหมือนที่ผ่านมา เพราะการออกเสียงประชามติเป็นเครื่องมือหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดให้ประชาชนแสดงเจตจำนงและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทน 

ในโอกาสที่คนไทยผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะได้ลงประชามติเพื่อแสดงความประสงค์ว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงชวนอ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนใคร บรรทัดต่อไปคือสปอยเลอร์:

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564  กำหนดให้การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ บัตรลงคะแนนต้องมีช่องทำเครื่องหมาย ‘ไม่แสดงความคิดเห็น’ และ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ  ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

เกร็ดน่ารู้ประกอบการอ่าน

1.ต้นปี 2567 จะมีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ให้รัดกุม และครอบคลุมกว่าเดิม เช่น ให้มีการออกเสียงในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือระดับจังหวัดได้ เปิดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในเรื่องที่เห็นสมควร ให้ลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ได้ สามารถทำพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส./สว หรือ การเลือกตั้งท้องถิ่นได้ และมีเวลาในการลงคะแนนเสียงได้มากกว่า 1 วัน เป็นต้น 

2. การทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 เมื่อทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทั้งสองครั้งไม่ได้ทำภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 กำหนดไว้ ตามลำดับ”


26.The Palace of Dreams

Ismail Kadare เขียน

สำนักพิมพ์ Vintage Classics

แนะนำโดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

“หนังสือเล่มหนึ่งที่ผมชอบและอยากลองแนะนำคือ The Palace of Dreams ผลงานนวนิยายของนักเขียนชาวแอลเบเนียนาม Ismail Kadare ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกสุดขณะโดยสารเครื่องบินลอยลำฝ่าฟองเมฆด้วยความสูงลิบลิ่วเดินทางไปยังจุดหมายคือประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 แล้วผมก็ตระหนักทันทีว่า สำหรับผู้ชื่นชอบการเข้าไปค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์ตามหอจดเหตุต่างๆแล้ว นี่ย่อมมิแคล้วหนังสืออันเย้ายวนให้ลองหลงใหลอรรถรส

เพราะ The Palace of Dreams ในนวนิยายนั้น ก็คงไม่ต่างอะไรไปจากหอจดหมายเหตุต่างๆ ซึ่งผมเองเคยใช้บริการอยู่เนืองๆในชีวิตจริง หากสถานที่ดังกล่าวจัดเก็บเอกสารที่บันทึกเรื่องราวว่าประชาชนนอนหลับฝันถึงอะไรบ้าง ตัวละครเอกมีเหตุให้เข้าไปอ่านเอกสารเพื่อถอดรหัสตีความรายละเอียดและสัญลักษณ์จากความฝันเหล่านั้น

ทว่าเขากลับค้นพบสิ่งไม่ได้คาด… 

ถือเป็นนวนิยายที่อ่านสนุกยิ่ง และผมมักจะรำลึกถึงอยู่เสมอตราบกระทั่งปัจจุบันนี้  อีกทั้งยังชักนำให้ผมสนใจศึกษาถึงประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศแอลเบเนีย”


27.Rewild Yourself: Making Nature More Visible in our Lives

Simon Barnes เขียน

สำนักพิมพ์ Simon & Schuster UK

แนะนำโดย เพชร มโนปวิตร

“ท่ามกลางวิกฤตโลกยุคใหม่ที่รุมเร้า ทักษะหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจที่ทางของเราในโลกอันกว้างใหญ่ อาจเป็นการกลับไปหาคำตอบจากธรรมชาติ หัดสังเกต รับฟังธรรมชาติรอบตัว 

หนังสือเล่มนี้นำเสนอ 23 คาถาในการนำธรรมชาติกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา การ Rewild ตัวเราเองช่วยเตือนให้ตระหนักว่า แท้จริงแล้วโลกธรรมชาติไม่ได้หายไปไหน เราเองต่างหากที่หลงลืมโลกที่อยู่รอบตัวเราตลอดมา 

แม้จะมีบริบทเป็นธรรมชาติของประเทศอังกฤษ แต่เชื่อว่าเป็นทักษะที่สามารถปรับใช้ได้ทุกๆ ที่ ถ้าเป็นหนังสือภาษาไทยที่ใกล้เคียงกันคงเป็น มนุษย์กาญ่า ของพี่อ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้เวลากลับไปหา ฟังเสียง เฝ้ามอง และเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับธรรมชาติ เพื่อชีวิตที่รุ่มรวยและเป็นสุข”


28.เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง

แดนอรัญ แสงทอง เขียน

สำนักพิมพ์ สามัญชน

แนะนำโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวการออกเดินทางไกลแสนไกลของผู้คนที่รักเคารพผูกพันใกล้ชิด หรือเพียงรู้จักผ่านพบทักทายยิ้มแย้มให้กัน ทำให้คิดถึงหนังสือเล่มหนึ่งมากๆๆ จนต้องไปค้นหาในหนังสือที่ทับถมกองใหญ่ หนังสือเล่มบางยังนอนสงบอยู่ที่นั่น

‘เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง’ ของ แดนอรัญ แสงทอง ไม่เพียงทำให้เราได้สัมผัสกับงานเขียนที่ทรงพลังคลุ้มคลั่งจนลมหายใจแทบขาดห้วง แต่ถึงที่สุด ยังกลับมาสงบนิ่งตามความคิดได้

“การได้พบกับสิ่งที่ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์ การต้องพลัดพรากจากสิ่งที่น่ารักใคร่ น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์””


29. 23 Things They Don’t Tell You About Capitalism

Ha-Joon Chang เขียน

สำนักพิมพ์ Penguin Books

แนะนำโดย สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

“ข้อวิเคราะห์ และมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์เกาหลี ที่ดูจะมีผลงานกระตุกความคิดให้ผู้คนตั้งสติกับความเชื่อ และสิ่งที่เห็นว่าด้วยทุนนิยม ที่ทั่วโลกเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เป็นธรรมชาติ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ภายใต้อำนาจของมือที่มองไม่เห็น (the invisible hand) เรียกว่า กลไกตลาด ไม่ได้มาจากการรวบอำนาจการตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง

ในฐานะคนที่สนใจ แต่ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์ และเหมือนพวกเราทุกคนที่ถูกกระทบจากนโยบายสาธารณะสารพัด โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ ที่มีที่มาหรือมักอ้างหรืออิงความเชื่อเรื่องกลไกตลาด ที่เน้นให้รัฐบาลอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ ภาคธุรกิจทำงานมากๆ ข้อโต้แย้ง 23 ข้อในหนังสือเรื่องนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งสำหรับ คนที่อยากมีอำนาจในการกำหนดหรือเสนอแนะนโยบาย ไปจนถึงประชาชนธรรมดา ที่อยากรู้เท่าทัน การตัดสินใจสำคัญๆ ว่ามีที่มาจากความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ยอมเรียนรู้จากของจริงที่เกิดขึ้นแล้ว

คำเตือนก่อนอ่าน  อย่าเชื่อทุกอย่างใน 23 ข้อนี้ แต่อ่านแล้ว คิดเทียบเคียงกับสิ่งที่เห็นและได้ยิน  น่าจะทำให้งอกงามทั้งสติ และปัญญา”


30.Biografi Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen Raja Patani Terakhir

Abdul Malek, Mohd Zamberi เขียน

สำนักพิมพ์ Bangi : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysia

แนะนำโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

“แนะนำหนังสือเรื่อง ‘Biografi Tengku Abdul Kadir Kamaruddeen Raja Patani Terakhir’ (ชีวประวัติเติงกู อับดุล กอเดร์ กามารุดดิน รายาปาตานีองค์สุดท้าย) เขียนโดย Mohd. Zamberi Abdul Malek (โมฮัมมัด ซัมเบอรี อับดุล มาเล็ก) เป็นภาษามลายู ตีพิมพ์ ค.ศ. 2017 โดยสำนักพิมพ์ Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysia ที่รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย 

เติงกู อับดุล กอเดร์ กามารุดดิน หรือ พระยาวิชัตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศ เป็นเจ้าเมืองหรือรายาปาตานีองค์สุดท้ายที่ปกครองปาตานีช่วง ค.ศ.1898-1902 (พ.ศ.2441-2445) ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อสยามถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองปาตานี ถูกจับกุม และนำไปคุขังที่เมืองพิษณุโลก ต่อมาได้รับอภัยโทษ ภายหลังจากนั้นเติงกู อับดุล กอเดร์ กามารุดดิน ได้กลับปาตานีและได้ย้ายไปอยู่ที่รัฐกลันตันจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตที่นั่นเมื่อ ค.ศ.1934 (พ.ศ.2477) 

หนังสือชีวประวัติเติงกู อับดุล กอเดร์ กามารุดดินเล่มนี้ไม่เพียงจะฉายให้เห็นเรื่องรางชีวิตของรายาปาตานีองค์สุดท้ายเท่านั้น แต่จะนำพาผู้อ่านให้ได้เข้าใจประวัติศาสตร์อาณาจักรมลายูปาตานี การล่มสลายของปาตานี จนถึงการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีจากอาณานิคมสยาม จากสายตาของโมฮัมมัด ซัมเบอรี อับดุล มาเล็ก นักวิชาการอิสระที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีมาอย่างยาวนาน 

แนะนำหนังสือเล่มนี้เพราะคิดว่าประวัติศาสตร์ปาตานีไม่ควรถูกผูกขาดการเล่าเรื่องแต่เพียงฝ่ายเดียว และแม้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงเน้นชีวประวัติของบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำ แต่ก็เป็นบุคคลสำคัญที่สยามพยายาม(ทำให้คนไทย)ลืม ผู้แนะนำวาดหวังว่าในอนาคตจะมีคนเรียงร้อยเรื่องของคนธรรมดาสามัญชนในการต่อสู้เพื่อปาตานีออกมาบ้าง”



MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save