fbpx
ครูเปลี่ยน ศิษย์จึงเปลี่ยน : บทเรียนล้ำค่าจากโรงเรียนที่ถูกลืม

ครูเปลี่ยน ศิษย์จึงเปลี่ยน : บทเรียนล้ำค่าจากโรงเรียนที่ถูกลืม

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

1 –

อาคารเรียนไม้ 2 ชั้นนั้นเคลือบด้วยสีฟ้าซีด บ่งบอกอายุอานาม ผ่านแดดฝนหลายฤดูกาล

แต่ในห้องเรียนกลับสดใสไปด้วยความตื่นรู้ เด็กนักเรียนชายหญิงเพียงสิบกว่าคนทั้ง ป.3 และ ป.4 เรียนรวมกันเพราะมีครูเพียงคนเดียว

นี่เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีใครอยากให้เป็น

น้องเตย หรือ ด.ญ.จิตราภรณ์ จุลทะกอง ชั้น ป.4 โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กำลังร่วมกิจกรรมบอดี้สแกนกับเพื่อนๆ โดยมีครูปุ๊ก ครูประจำชั้นของพวกเธอนำการบอดี้สแกนให้เด็กๆ

บอดี้สแกนเป็นวิธีการหนึ่งในวิชาจิตศึกษาที่โรงเรียนบึงสว่างฯ เพิ่งนำมาใช้สอนควบคู่บูรณาการไปกับการสอนวิชาอื่นๆ ด้วย

ด.ญ.จิตราภรณ์ จุลทะกอง
ด.ญ.จิตราภรณ์ จุลทะกอง

เด็กๆ นอนบนพื้นไม้ล้อมวงกันเป็นรูปวงกลม บางคนนอนตะแคง บางคนนอนท่าอาสนะ บางคนนอนเอามือทาบอก ไม่มีใครผิด เพราะทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจฟังครูปุ๊กเล่านิทาน

เตยเองก็นอนหลับตาพริ้มเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น เธอเล่าว่า “พวกเราจะนอนกันประมาณ 10-15 นาที แต่ไม่หลับจริง แค่หลับตาเฉยๆ เพื่อฟังครูเล่านิทานให้ฟัง แล้วเรามีหน้าที่คิดเรื่องตาม พอนิทานจบ ครูจะถามทีละคนว่าคิดยังไงกับเรื่องที่ได้ฟัง เราต้องมีเรื่องที่คิดไว้ของตัวเองเพื่อแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ”

พอกิจกรรมบอดี้สแกนเสร็จ ราวๆ บ่ายสองโมงครึ่ง เด็กๆ ชั้น ป.3-ป.4 จะลงมาเล่นกีฬาที่สนาม เตยชอบเล่นวอลเลย์บอล เธอเป็นมือเสิร์ฟของทีม

เตยเป็นเด็กผู้หญิงค่อนข้างตัวเล็ก แต่คล่องแคล่วกว่าเพื่อนชายตัวใหญ่หลายคน ระหว่างที่พวกเธอลงมาจากห้องเรียน แดดบ่ายไม่ร้อนเกินไป เงาของเด็กๆ ทอดยาวลงบนพื้นสมส่วนกับร่างกายพวกเขา และนั่นก็กลายเป็นอีกกิจกรรมจินตนาการนอกรอบที่พวกเขาเล่นกันสนุกสนาน คือ ไล่เหยียบเงาเพื่อน

เตยเกิดที่กรุงเทพฯ เพราะครอบครัวทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้ต้องเข้าเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่นั่น ก่อนจะย้ายกลับมาบ้านปู่บ้านย่าที่ครอบครัวยึดอาชีพทำนาใน อ.กมลาไสย และเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 2 ที่โรงเรียนบึงสว่างฯ

เธอเป็นลูกคนกลาง พี่ของเธอเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ ส่วนเธอกับน้องเรียนที่เดียวกัน

กิจกรรมนิทานสอนใจที่ครูของเตยเล่าให้ฟังแต่ละครั้ง และต่อด้วยการจินตนาการเป็นงานศิลปะลงบนแผ่นกระดาษขนาดเอสี่

ทำไมเด็กหญิงชอบวาดรูป ชอบฟังนิทานเป็นชีวิตจิตใจ เวลาไปแข่งวิชาศิลปะกับโรงเรียนอื่น เธอว่าได้ที่ 2 ขณะที่การสอบในโรงเรียน ตั้งแต่ ป.2 แล้วที่เตยสอบได้ที่ 1 เรื่อยมา

2 –

 

ใช่ว่าใครก็ตามจะเป็นเด็กเรียนเก่งทันทีโดยธรรมชาติ ถ้าไม่ผ่านการขัดเกลาและฝึกฝน เส้นทางการเรียนรู้ของเตยก็เช่นกัน

ก่อนหน้าที่จะสอบได้ที่ 1 ติดต่อกันมา 3 ปี ตั้งแต่ ป.2-ป.4 เธอเคยเรียนช้าเข้าขั้นไม่เอาไหนมาก่อน จนกระทั่งวิชาจิตศึกษาได้พาเธอเปลี่ยนไป เติบโตและมีสมาธิมากขึ้น

ครูประจำของเธอชั้นเล่าก่อนที่โรงเรียนจะเอานวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่มาใช้ว่า เด็กๆ ที่นี่ส่วนมากไม่ชอบเรียนหนังสือ

“ไม่ชอบเรียนเพราะเขารู้ว่ามันยาก เขียนไม่ได้ สะกดไม่ถูก พอมีการเรียนจิตศึกษา ถ้าบอกให้พวกเขาทำงาน แม้ว่าเขาจะคุยเล่นกันไปด้วย แต่ทุกคนจะตั้งใจทำงานของตัวเอง ถ้าเป็นเมื่อก่อนคือจะเดินวนทั่วห้อง เล่น กวนเพื่อน ไม่มีสมาธิทำงานของตัวเอง”

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

ครูปุ๊กบอกอีกว่า เดี๋ยวนี้เด็กๆ นิ่งขึ้นมาก มีสมาธิดี แต่ละสัปดาห์เราจะนั่งล้อมวงกัน ยกตัวอย่างวันจันทร์ เป็นการเรียนเชื่อมโยงสาระหลัก เพื่อทบทวนกันว่าสัปดาห์ที่แล้วเราได้เรียนรู้เรื่องอะไรไปบ้าง และแต่ละคนได้อะไรบ้างจากกิจกรรมที่ทำกัน

ส่วนวันอังคาร จะทำกิจกรรมเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ครูจะให้นักเรียนไปหาอะไรก็ได้ที่อยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่โรงเรียน เช่น ใบไม้

“แต่ละคนจะเลือกใบไม้มาไม่เหมือนกัน แล้วครูจะให้พวกเขาจินตนาการต่อจากใบไม้เดิมว่าสามารถประยุกต์เป็นอะไรได้บ้าง ด้วยการวาดเขียนแต่งแต้มลงไป

“บางคนก็ใส่หูให้ใบไม้ บางคนโดยเฉพาะผู้ชายก็ต่อเป็นรถ พอวันพุธเด็กจะได้ร้องเพลง มีครูเล่นดนตรีไปด้วย”

นวัตกรรมการเรียนการสอนเริ่มที่โรงเรียนได้เพียง 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา ซึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเตย ครูปุ๊กเล่าว่า เมื่อก่อนเตยเป็นเด็กมีปัญหา ช่วงที่เธออยู่ ป.3 ชอบเอาของเพื่อนไป ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เด็กอธิบายกับครูว่าที่ทำลงไปนั้นรู้ตัวเสมอ แต่หยุดตัวเองไม่ได้ อีกทั้งเมื่อก่อนก็ไม่ค่อยอยากมาโรงเรียน จะชอบไปแอบที่โอ่งน้ำ พอขึ้น ป.4 ได้เรียนจิตศึกษา พฤติกรรมที่ว่ามาไม่เป็นอีกเลย แถมยังสอบได้ที่ 1 อีกด้วย

ครูปุ๊กเล่าย้อนไปที่กิจกรรมบอดี้สแกนว่า ถ้าดูเผินๆ จะเหมือนนอนหลับทั่วไป แต่จริงๆ แล้วเป็นการนอนทบทวนความคิดจิตใจตัวเอง ใคร่ครวญว่าตัวเราเป็นอย่างไร ตั้งแต่หัวจรดเท้า

“แรกๆ ก็มีเด็กหลับบ้าง แต่เราอธิบายพวกเขาว่า ให้ระลึกอยู่เสมอว่าตัวเราเกิดมาอยู่บนโลกนี้มีเวลาเหลืออยู่กี่วัน มีเวลาไม่มาก วันนี้เราทำประโยชน์อะไรบ้าง ระหว่างทำดีกับทำไม่ดี อะไรเยอะกว่ากัน

“ระหว่างที่เด็กนอน เราก็อธิบายไปแบบนี้ คนที่เคยซนๆ มาตั้งแต่เช้า เขาจะสำนึกโดยอัตโนมัติ พอช่วงบ่ายเขาจะตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะเราไม่ได้ต่อว่าเขา เราให้กำลังใจว่าคนเราถ้ารู้ตัวก็ปรับเปลี่ยนได้”

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

3 –

เด็กทุกคนมีความฝัน แม้ผ่านช่วงวัยเด็กไป หลายคนก็หวนระลึกถึงความฝันตัวเอง หรืออาจจะฝันใหม่ มองไปข้างหน้า

เตยบอกว่าเธอฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ และจะสอนด้วยการใช้ศิลปะไปด้วย เพราะเธอชอบวาดรูป

“หนูไม่ชอบภาษาอังกฤษ เพราะยังอ่านไม่ออก ยังพูดไม่เป็น แต่ตอนนี้หนูท่องสูตรคูณได้ถึงสูตรที่ 12 แล้ว”

ให้สอนตอนนี้เลยสอนได้ไหม เตยบอกด้วยรอยยิ้มว่า “สอนไม่ได้ เพราะยังไม่โตพอ ยังคิดไม่ได้ ต้องท่องสูตรคูณให้ได้เยอะกว่านี้ก่อน”

แม้เธอจะเอ่ยปากบอกว่าเป็นลูกหลานชาวนา แต่ขณะเดียวกันเธอก็กล้าจะบอกว่ายังไม่เคยช่วยที่บ้านทำนา

ในวัยแห่งการเรียนรู้ เตยบอกว่าการเรียนจิตศึกษาทำให้เธอเรียนเก่งขึ้น แต่ก่อนนั้นยังไม่ค่อยรู้อะไร พอเรียนจิตศึกษาทำให้เธอได้คิดเยอะขึ้น ใคร่ครวญมากขึ้น และทำให้ชอบเขียนไดอารีมากขึ้น

เธอเขียนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนเวลาธรรมดาหลังเลิกเรียน เธอจะกลับไปบ้านแล้วโพสต์เฟซบุ๊กบอกคิดถึงเพื่อนๆ แทน

นอกจากเรื่องเรียน เตยชอบฟังนิทาน โดยเฉพาะเรื่องผีกระสือ ผีกระหัง แต่ถ้าให้เลือกเป็นผีสักชนิด เธอเลือกผีจีน เพราะกระโดดได้ และไม่น่าเกลียดเหมือนผีกระหัง

ถ้าไม่ได้เรียนจิตศึกษาจะเป็นอย่างไร เตยนิ่งคิด ทอดสายตาออกไปยังที่โล่ง ก่อนจะตอบว่า ก็คงไม่มีสมอง

“สมองมีไว้คิด มีไว้สั่งให้แขนขาร่างกายขยับได้”

ถ้าไม่มีสมองจะเป็นอย่างไร เตยเงียบนิ่งกับคำถามอยู่สักพัก ก่อนจะตอบชัดถ้อยชัดคำว่า “ก็ตาย หรือโง่ ร่างกายก็ขยับไม่ได้ คิดอะไรไม่ออก คุยกับเพื่อนไม่ได้ หนูชอบตัวเองที่มีความคิด” เตยบอก

หลังโรงเรียนบึงสว่างฯ มีแปลงผักคะน้า และผักกาดที่เด็กๆ และครูร่วมกันปลูก เย็นนี้พวกเขาตกลงร่วมกันว่าจะตัดผักส่วนหนึ่งไปขายให้ชาวบ้าน สร้างรายได้ให้โรงเรียน

“ชาวบ้านได้กินผักปลอดสารพิษ” เธอบอกพลางเดินนำเข้าไปที่แปลงผัก

เตยกับเพื่อนๆ ลากสายยางมารดน้ำผักที่ร่วมลงแรงเพาะปลูก แสงแดดอ่อนๆ ต้องกับละอองน้ำ เปล่งสะท้อนแดดระยิบระยับ

ผักกำลังโตงามได้เวลาตัดไปทำอาหารพอดี เตยรับมีดสั้นจากเพื่อน ก่อนจะลงมือตัดโคนต้นคะน้าอย่างคล่องแคล่ว

ใคร่ครวญดูอีกที ภาพที่เห็นอาจไม่ใช่แสงแดดต้องละอองน้ำเท่านั้นที่กำลังเปล่งประกาย

4 –

รอยยิ้มสะอาดสะอ้านบนใบหน้าอันอ่อนโยน เมื่ออยู่ท่ามกลางฉากที่รายล้อมด้วยดอกเฟื่องฟ้าม่วงสดและต้นมะนาวที่กำลังออกลูกดก บวกกับลมเย็นฝนอ่อนๆ ยิ่งทำให้ครูจา-จารุวรรณ ภูศรีอ่อน ดูเปล่งประกายความหวังแก่โรงเรียนบ้านส้มโฮง จ.ร้อยเอ็ด

ไม่เพียงแค่ในโรงเรียนด้วยซ้ำ แต่อาจหมายถึงเป็นความหวังของชุมชนละแวกโรงเรียน

อารมณ์ทำนองนี้ไม่ใช่พิสูจน์กันแค่ 1-2 ปี แต่อาจยาวนานกว่านั้น

พื้นเพครูจาเป็นคนร้อยเอ็ดอยู่แล้ว บ้านห่างจากโรงเรียนเพียง 3 กิโลเมตร แต่ความใกล้ไกลระหว่างบ้านกับโรงเรียนไม่ใช่สาระสำคัญ

ครูจา-จารุวรรณ ภูศรีอ่อน
ครูจา-จารุวรรณ ภูศรีอ่อน

ครูจาเริ่มบรรจุครูครั้งแรกในปี 2538 เธอจำวันที่ได้แม่นว่าเป็นวันที่ 10 ตุลาคม เริ่มสอนครั้งแรกที่อุบลราชธานี นาน 1 ปี 7 เดือน และย้ายมาบ้านส้มโฮงในปี 2541

เธอเล่าว่าเมื่อก่อนโรงเรียนมีนักเรียนมากถึง 105 คน แต่มีครูเพียง 6 คน แน่นอน, ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งปัจจุบันมีนักเรียนเหลือ 33 คน ครู 1 คน ผู้อำนวยการ 1 คน อีก 3 คนเป็นครูผู้ช่วย

เทียบกับโรงเรียนหรูในเมือง นักเรียนแค่นี้อาจเพียงห้องเดียวของนักเรียนทั้งหมดด้วยซ้ำ

ครูจาอธิบายสภาพที่เกิดขึ้นเพราะผู้ปกครองเข้าไปหางานในเมือง พอเขามีรายได้เขาก็เอาลูกไปเรียนในเมือง เด็กที่นี่ก็ลดลงเป็นปกติ

“ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เคยเป็นลูกศิษย์เรามาทั้งนั้น” ครูจาหัวเราะอารมณ์ดี

“ตอนมาเริ่มที่นี่ใหม่ๆ ประจำชั้นอนุบาล เด็กดื้อมาก ชอบกัดเพื่อน กัดทุกอย่าง กลับไปบ้านก็กัดคนอื่น ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แล้วก็พูดจาไม่สุภาพ พวกคำอย่าง ‘ปอบ’ ‘ห่า’ จะมีเข้ามาในโรงเรียนตลอด”

ครูจายอมรับว่าใช้เวลากว่า 10 ปี เด็กถึงจะเริ่มเปลี่ยนนิสัยพูดเพราะขึ้น ด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อนอะไร เธออาศัยการขอกับเด็กตรงๆ ว่าอยากให้พูดเพราะๆ

“แรกๆ ก็บังคับ ตี แต่ไม่สำเร็จ ไม่เข้าใจว่าทำไมพูดเพราะๆ กันไม่ได้ พอหมดทางก็เลยขอเฝ้าดูดีกว่า ค่อยๆ พูดกับเขา ดูพัฒนาการว่าดีขึ้นไหม ใช้วิธีถามนักเรียนว่าวันนี้ใครพูดเพราะบ้าง กลายเป็นว่าพวกเขาอยากพูดกันเอง จนเลิกพูดหยาบไป

“ถ้าไม่อยากเห็นเด็กประถมพูดไม่เพราะ เราต้องไปเริ่มสอนเขาตั้งแต่อนุบาล” ครูจาสรุปบทเรียนแรก

5 –  

 

แน่นอน เด็กเติบโตขึ้นทุกวัน สิ่งเร้ามีเข้ามาทุกวัน แต่เบ้าหลอมย่อมเป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาจะเติบโตไปอย่างไร

อีกปัญหาที่ครูจาพบบ่อยคือ เมื่อก่อนเด็กจะชอบขโมยของเพื่อน บางคนมีดินสอและยางลบอย่างละอัน บางคนมีไม่เต็มแท่ง เห็นของเพื่อนก็อยากได้

“เราจะถามพวกเขาว่าชอบเป็นขโมยไหม ถ้าไม่ชอบก็อย่าทำนะ ถ้าใครเก็บของเพื่อนได้ให้มาประกาศ เมื่อก่อนเด็กเข้าอนุบาลใหม่ๆ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น เพราะไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เขามาจากบ้านที่ไม่มีอะไรเลย พอมาถึงโรงเรียนเห็นของเยอะ ก็อยากได้เป็นธรรมดา”

แต่คุยไปเรื่อยๆ ย้ำไปทุกๆ วัน ก็ต้องเปลี่ยนแปลงกันบ้าง ครูจาบอกว่าจิตสำนึกเด็กจะคิดได้เองว่าถ้าของเขาหายเขาจะได้คืน เช่นเดียวกันถ้าเขาเก็บของคนอื่นได้แล้วไม่เอาไปเป็นของตัวเอง

เรื่องนิสัยก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำไปเลย ก็อาจมองไม่เห็นหน่อปัญหาของการศึกษาจริง และยิ่งมองแยกส่วนไม่ได้

“เด็กที่นี่ส่วนมากยากจน การเรียนแบบเมื่อก่อนเขาไม่สามารถหารายได้เสริมได้เลย แต่พอลองได้เรียน PLC (การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ – professional learning community) เด็กเชื่อมโยงกับอาชีพได้ ทำให้เขาเห็นคุณค่าของการทำงานไปด้วย และมีรายได้ช่วยครอบครัว” ครูจาเล่าพลางชี้ไปที่เด็กๆ กำลังสานกระติบเอาไปขายที่ตลาดชุมชน

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม

– 6 –

 

ยุคสมัยของโซเชียลมีเดียนำการเรียนรู้อย่างไร้ขอบเขตมาสู่คน แต่สภาพที่นักเรียนของครูจาต่างก้มหน้าก้มตามุดลงไปในโลกของตัวเองเพื่อท่องโลกใบใหญ่ในจอสี่เหลี่ยมก็อาจทำให้หลงทิศหลงทางได้

ครูจาบอกว่า นักเรียนของเธอติดโซเชียลและมีพฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนไป

“หลานคนเล่นเกมในมือถือเสร็จก็จะเผลอเล่นแรงๆ กับเพื่อน เด็กรุ่นน้องคนอื่นเห็นก็ทำตาม บางคนแอบดูคลิปโป๊แล้วก็เกิดพฤติกรรมแซวเพื่อนผู้หญิงตามมา”

แม้จะไม่ลุกลามไปถึงขั้นที่ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่อง แต่ครูจาก็ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เธอเริ่มเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และพยายามเรียนรู้เด็กของเธอว่าใช้มือถืออย่างไร

“ถึงขั้นต้องไปซื้อเครื่องรุ่นเดียวกับที่ลูกศิษย์ใช้มาดู เพราะว่าตอนเราไปขอดูเครื่องเขา เขาจะมีวิธีซ่อนคลิปเหล่านั้นไว้ไม่ให้เราหาเจอ แต่พอเรารู้ทันปุ๊บ เราขอเขาว่าถ้าจะเล่นให้ชวนครูเล่นด้วย กลายเป็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงก็หายไป

“การเป็นครูนั้นเด็กจะอยู่เหนือครูไม่เป็นไร แต่ครูต้องทัน ไม่เช่นนั้นเราจะคุมไม่อยู่” ครูจาตกผลึกในบทเรียนโซเชียล

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม

– 7 –

ดูเหมือนว่าลำพังการใช้การพูดคุยอย่างเดียวดูเหมือนจะง่าย แต่ปัญหาใหม่ๆ ก็เข้ามาเสมอ ยุคสมัยไม่หยุดนิ่ง และบางครั้งก็เคลื่อนที่เร็วโดยไม่รู้ตัว

เครื่องมือในการแก้ปัญหาของครูไม่ใช่ไม่มี ครูจาบอกว่านโยบายการศึกษานั้นพอเปลี่ยนรัฐมนตรีที นโยบายก็เปลี่ยนที ปัญหารากเลยไม่ถูกแก้

ปี 2557 ครูจาได้ไปเห็นวิธีสอนบูรณาการจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือจากนโยบายที่กระทรวงศึกษาฯ มอบให้

“ทั้งจิตศึกษา PBL BBL PLC ถือเป็นสิ่งใหม่ เราเอามาลองใช้ดูก็เห็นเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น เช่น เรื่องการอ่าน เราลองเอาสีเข้ามาใช้แยกสระ แยกวรรณยุกต์ และตัวอักษร มันทำให้เขามีสมาธิและจำได้เร็ว”

ที่สำคัญคือครูต้องพูดต้องอธิบายเสมอ ครูจาว่าสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเด็กช่วงวัย ป.1-ป.2 เขายังปฏิบัติไม่ได้ พัฒนาการของเด็กวัยนี้อยู่ที่การถามและคำอธิบาย ถ้าครูไม่อยากพูด เด็กจะไม่มีพัฒนาการ

“นึกถึงพ่อแม่ที่เจอลูกถามโน่นถามนี่บ่อยๆ นั่นเป็นพัฒนาการสำคัญทางสมองเด็ก แต่พ่อแม่หลายคนกลับรำคาญที่ถูกลูกถาม

“อีกอย่าง เวลาเราสอนเด็กว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ทำไมไม่ทำแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เรารู้อยู่คนเดียว แต่เด็กไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นต้องแลกเปลี่ยนกัน”

ผ่านชีวิตครูมา 20 ปี ครูจายอมรับว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการถามเด็กแล้วเด็กไม่รู้เรื่อง เหมือนที่สอนไปทั้งหมดว่างเปล่า ทำให้ครูร้อนรุ่มอยากเอาชนะ

“แต่นั่นเป็นความคาดหวังของครูเอง การใช้จิตศึกษาทำให้สบายใจขึ้น สอนง่ายขึ้น เรากลับมาที่เรื่องพื้นฐาน เช่น การอ่านออกเขียนได้ ช่วยเหลือตัวเองได้และมีสมาธิ เท่านี้ก็ภาคภูมิใจแล้ว”

– 8 –

ดอกเฟื่องฟ้าบานสะพรั่ง แล้วก็เหี่ยวเฉาร่วงโรย ชีวิตของครูบ้านนอกอย่างครูจาใช่ว่าราบรื่นเบิกบานตลอดเวลา

“2 ปีที่ผ่านมาลุยงานหนัก เครียดจนตัวเองป่วยเป็นเนื้องอกต้องไปผ่าตัด เพิ่งพักฟื้นดีขึ้นได้ไม่นาน ความป่วยไข้ทำให้เราปล่อยวางและใจเย็นลง

“หลายปีก่อนเคยขอย้ายตัวเอง เพราะเหนื่อยเกิน สู้มาเท่าไหร่ๆ แต่เด็กก็ยังน้อยลงๆ แต่เดี๋ยวนี้พอได้ยินผู้ปกครองมาบอกว่าลูกของเขาเปลี่ยนไปเยอะ พูดเพราะขึ้น มีสมาธิขึ้น และจะไม่ย้ายลูกไปไหนจนกว่าโรงเรียนจะเลิกสอน ได้ยินแบบนี้จากที่เหนื่อยๆ ก็มีกำลังใจ”

ป้ายไม้สีซีดที่หน้าโรงเรียนของเธอมีข้อความว่า “สอนศิษย์ให้เป็นคน คือเกียรติยศของคนเป็นครู” เป็นข้อความของสุรสีห์ ผาธรรม ผู้กำกับหนังเรื่องครูบ้านนอก จดจารไว้

นี่อาจเป็นหมุดหมายในใจครูจา ไม่ลบเลือน

โรงเรียนบึงสว่างวิทยาคม


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save