fbpx

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

หากว่าปีก่อน School Town King (2020) หนังสารคดีสำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พาคนดูลัดเลาะไปพบเจอบาดแผลและแง่มุมของเด็กนักเรียนกับระบบการศึกษาไทยของ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และทีมงาน Eyedropper Fill เวลานี้มันก็ได้ขยับขยายเส้นทางการสำรวจมายังกลุ่มเยาวชน ให้พวกเขาได้พูดเรื่องราวที่อยากพูดและได้ประสบพบเจอมาด้วยตัวเองผ่านโครงการ ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 

และพวกเขาได้ถม ‘ช่องว่าง’ นั้นด้วยคำตอบที่แหลมคมผ่านสายตาของเยาวชนผู้ถูกละเลยความเห็นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องการเดินขบวนประท้วงในรั้วการศึกษาจนนำมาสู่การปะทะคะคานกับผู้บริหาร, พื้นที่เล็กๆ ของเด็กกิจกรรมท่ามกลางการแวดล้อมของโลกวิชาการ, การท้องในวัยเรียนกับสังคมที่จับจ้องมาด้วยสายตาตัดสิน และการเรียนออนไลน์ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างบาดแผลแก่เยาวชนในเวลานี้

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

‘ทุบกะลาตาสว่าง’ หนังสือก็ต้องอ่าน เผด็จการก็ต้องก่อม็อบไล่!

เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจจัดม็อบ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในปัญหาที่พวกเขามองเห็น เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดหลากหลายความคิด หลากหลายคำถาม หลากหลายคำวิจารณ์ จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ม็อบทุบกะลาตาสว่าง’

25 กันยายน 2563 กลุ่ม ‘บอดินไม่อินเผด็จการ’ กลุ่มนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จัดม็อบ ‘ทุบกะลาตาสว่าง’ ในรั้วโรงเรียนเพื่อตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียมตลอดจนสิทธิอันควรจะพึงมีของนักเรียน นำมาสู่การต่อรองกันในเชิงอำนาจระหว่างนักเรียนกับผู้บริหาร เมื่อโรงเรียนออกประกาศปิดเรียนในวันที่จะมีม็อบ

การคัดง้าง ต่อรองนี้อยู่ภายใต้สายตาของ ปุยฝ้าย-จรรยาพร เข็มแก้ว, ปาร์ค-ธีรภัทร์ พุฒนอก และบอส-นราวิชญ์ กีรตินันทปรีชา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี และขยับขยายกลายเป็นหนังสารคดีสั้นที่บันทึกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ

ปุยฝ้าย-จรรยาพร เล่าว่าภายหลังจากได้โจทย์เรื่องการศึกษาก็นึกถึงกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ ซึ่งคือกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่เคลื่อนไหวประเด็นปัญหาการศึกษาและสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่ปี 2563 โดยพยายามติดต่อเพื่อไปทำสารคดีแต่ติดขัดเรื่องการดำเนินงาน ปาร์ค-ธีรภัทร์จึงเสนอว่า ทำไมไม่ลองทำสารคดีกลุ่มในโรงเรียนบดินทรเดชาที่เรียกร้องประเด็นนี้เช่นกัน อย่างกลุ่ม ‘บอดินไม่อินเผด็จการ’ 

“ตอนนั้นในโรงเรียนมีกลุ่มบอดินไม่อินเผด็จการ เป็นกลุ่มที่พูดเรื่องการศึกษาและเรียกร้องประเด็นต่างๆ เราเลยลองติดต่อไปแล้วก็พบว่าทำสารคดีได้” ปุยฝ้าย-จรรยาพรเล่า “เราโฟกัสไปที่ม็อบหนึ่งที่กลุ่มนี้เป็นคนจัด ตอนที่เขาจัดม็อบนี้ก็ยังเป็นเด็ก ม. 6 บดินทรเดชาอยู่นี่แหละ แล้วมันเป็นม็อบที่ค่อนข้างได้รับความสนใจ เราเลยอยากรู้ว่าเบื้องหลังเป็นยังไง เลยลองไปถามเล่นๆ ว่าการจัดม็อบเป็นยังไง 

“พอเขาเล่าให้ฟังก็รู้สึกว่ามีจุดหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจ คือโรงเรียนเอารถน้ำมาปิดประตูไว้ไม่ให้คนเข้า เขารู้อยู่แล้วว่ายังไงโรงเรียนก็ไม่ให้จัดม็อบในโรงเรียนแน่นอน แต่เขาต้องการให้สังคมสนใจเรื่องนี้ เลยประกาศออกไปว่า ยังไงก็จะจัดที่โรงเรียน แม้รู้อยู่แล้วว่าโรงเรียนไม่ให้จัดก็จะจัด ผู้บริหารเลยมีเอารถมาปิดกั้น เราเลยคิดว่าตรงนี้แหละที่น่าสนใจเลยทำเรื่องนี้ขึ้นมา”

หากมองลึกไปยังระบบการศึกษา พวกเขาต่างเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ปาร์ค-ธีรภัทร์บอกว่าแม้เขาจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่างๆ แต่เขาเห็นว่าหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนของประเทศไทยนั้นมีปัญหามาก “มันบีบให้คนเหมือนกันมากเกินไป ทั้งที่จริงๆ คนเรามันหลากหลายกว่านี้ ผมเรียนสายวิทย์-คณิตนะ แต่ชอบทำงานประเภทนี้ เลยสงสัยว่าทำไมมันโดนปิดกั้น มันมีทางหลากหลายให้เด็กตั้งมากมาย เด็กก็ไม่เหมือนกัน” 

บอส-นราวิชญ์เสริมว่าสำหรับเขา หลักสูตรการเรียนบีบเค้นนักเรียนเกินไป เห็นได้จากการออกข้อสอบที่ยากเกินไปทำให้เด็กต้องขวนขวายไปเรียนพิเศษจนไม่มีเวลาได้ไปทำกิจกรรมอื่นหรือไม่มีเวลาไปศึกษาสิ่งที่ตัวเองชอบ “มันไม่ควรเป็นการเรียน 8 ชั่วโมงแล้วกลับบ้านไปทำการบ้าน ตื่นตีห้าในอีกวันเพื่อมาโรงเรียน ผมว่ามันไม่โอเค” เขาว่า ทั้งยังขยายความถึงกฎระเบียบยิบย่อยที่เขาเห็นว่าควรปรับแก้อย่างทรงผม 

ในทางกลับกัน ปุยฝ้าย-จรรยาพร มีปัญหาเรื่องกฎระเบียบที่ล้าหลัง เช่น ถูกเพ่งเรื่องกระโปรงนักเรียนว่าสั้นเกินไปจนถูกครูสั่งให้คุกเข่าเพื่อตรวจสอบว่าชายกระโปรงยาวพ้นเข่าหรือไม่ (ซึ่งเมื่อเธอทำตามที่ครูสั่งก็พบว่าชายกระโปรงยาวคลุมเข่าตามกฎ)

สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘กะลา’ ถูกนำมาใช้เป็นสัญญะบางอย่างที่อาจนำไปตีความได้ล้านแปด และสำหรับบอส-นราวิชญ์ เขาคิดว่ากะลาคือวิธีคิดของคนที่มีอายุแล้วไม่ยอมปรับตัวรับสิ่งใหม่ๆ “ผมว่าเขาควรปรับวิธีคิดให้ทันยุคสมัย เพราะทุกวันนี้เหมือนคนอื่นเขาขับรถกันหมดแล้ว แต่วิธีคิดเขายังอยู่ที่การปั่นจักรยานอยู่เลย”

ปาร์ค-ธีรภัทร์ขยายประเด็นนี้ว่า “มันก็เกือบทุกอย่างเลยนะ กฎ ระบบ หลักสูตร โลกพัฒนาเร็วขึ้นเรื่อยๆ CPU สองปีนี้แรงขึ้นกว่าเดิมไม่รู้กี่เท่า ทำไมเรื่องแบบนี้ที่เรียนกันมาเป็นสิบๆ มันเหมือนเดิมเป๊ะเลย”

ฟากปุยฝ้าย-จรรยาพรเสริมว่า สำหรับเธอ ‘กะลา’ คือสภาวะของอำนาจนิยมที่คนรุ่นก่อนหน้าได้รับการปลูกฝังมา “วิธีคิดก็เป็นส่วนสำคัญ แล้วก็สิ่งที่เขาถูกปลูกฝังก็สำคัญด้วยเหมือนกัน เขาอาจจะมองว่าการที่อายุมากกว่าหรือการมีอำนาจมากกว่าทำให้เขาจะทำอะไรกับผู้น้อยก็ได้ มันเป็นช่องโหว่ที่เรารู้สึกไม่โอเคเลย” เธอว่า “ทั้งโรงเรียนกับสังคมจริงมันมีความเป็นอำนาจนิยมเหมือนกัน คือคนที่เป็นใหญ่กว่ามีอำนาจมากกว่าคนที่ด้อยกว่า เหมือนเด็กนักเรียนคือคนธรรมดาทั่วไปที่ถูกคนข้างบนควบคุมหรือทำอะไรกับเราก็ได้ จับเราไปทำโน่นทำนี่หรือแปรอักษรก็ได้ ทั้งที่เราไม่ได้อินด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้คะแนน เหมือนโลกข้างนอกนั่นแหละว่าถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เขาก็จะเอากฎหมายมาอ้าง เพราะเขามีทุกวิธีที่จะทำให้เราดูเป็นคนร้ายได้ โดยที่ไม่เคยมองในมุมเราด้วยซ้ำไป” 

Side Project พื้นที่เล็กๆ ของเด็กกิจกรรม

เมื่อห้องเรียนไม่ได้มีพื้นที่ให้กับคนทุกคน วงดุริยางค์โรงเรียนจึงเป็นเหมือนสถานที่เล็กๆ แห่งการหลีกหนีและสร้างโอกาส

Side Project สารคดีจาก ปิ๊ง-กรภัทร์ จีระดิษฐ์ จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสิงห์สมุทร จับจ้องไปยังวงดุริยางค์ของโรงเรียนที่ชวนให้ตั้งคำถามถึง ‘พื้นที่’ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในการฝึกในห้องซ้อมเล็กๆ ตลอดจนพื้นที่ในการแสดงออกของโรงเรียนที่มุ่งเน้นด้านวิชาการมากกว่างานกิจกรรม

“ผมมองหาว่าในโรงเรียนมีอะไรบ้างที่เป็นปัญหา ผมเป็นเด็กกิจกรรม ต้องออกไปถ่ายรูปต่างๆ ซึ่งทุกครั้งก็จะพบปัญหาคือต้องรบกับครูกว่าจะออกไปถ่ายรูปได้ เพราะครูบางวิชาเขาก็เพ่งเล็งว่าเอาคาบเขาไปถ่ายรูปอีกแล้ว (หัวเราะ) แต่ครูบางวิชาเขาก็เข้าใจนะครับ”

ปิ๊ง-กรภัทร์ อธิบายคร่าวๆ ว่าสาเหตุที่ทำให้เขากลายเป็นตากล้องของเพื่อนๆ คือความหลงใหลในงานหนังสั้น ก่อนหน้านี้เขาเคยถ่ายหนังสั้นมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ยังผลให้เขาได้อยู่หลังเลนส์กล้องบ่อยกว่าใครและกลายเป็นการฝึกถ่ายรูปไปในตัว ขณะที่ต้องเจอความยากลำบากของการขออนุญาตครูเพื่อออกไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนก็ถูกสำทับด้วยวิธีคิดว่า “ควรเอาเรื่องเรียนเป็นหลัก” ผลักให้เขาตั้งคำถามถึง ‘พื้นที่ในโรงเรียน’ และพบว่าพื้นที่ที่ดีที่สุดในการสำรวจประเด็นนี้คือ ‘วงดุริยางค์’ ของโรงเรียน

“ผมคิดว่าวงดุริยางค์โรงเรียนมีองค์ประกอบเรื่องพื้นที่ที่น่าสนใจมาก ก็เลยโทรศัพท์คุยกับครูเบส (ปรากะวิน ดาวกระจ่าง) ที่คุมวงซึ่งทำให้ได้เห็นประเด็นบางอย่างที่สำคัญสำหรับเด็กไทยมากๆ อย่างนักเรียนที่อยู่ในวงดุริยางค์ก็ต้องขออนุญาตครูยามเย็นตอนจะมาซ้อมเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าเรื่องนี้คล้ายกันกับตัวเอง เพราะต่างอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนที่มีความวิชาการจ๋าๆ มาก เด็กจึงต้องดิ้นรนหาพื้นที่ของตัวเอง วงดุริยางค์ก็เลยเป็นการรวมตัวกันของคนที่พยายามดิ้นรนหาพื้นที่ให้ตัวเองในโรงเรียนแห่งนี้”

อย่างไรก็ดี ความตั้งใจแรกของปิ๊ง-กรภัทร์จะเข้าไปสำรวจตรวจหาสถานะของครูเบสซึ่งเป็นครูคุมวง ต่อประเด็นการคุมวงดนตรีตลอดจนงานอื่นๆ ของอาชีพครูที่นอกเหนือไปจากการเรียนการสอนเด็ก แต่กลับพบว่า ยิ่งได้คุย ได้สนทนาและเข้าไปอยู่ด้วยกับกับเหล่าสมาชิกวงดนตรี ประเด็นของเขาก็ขยับตามไปด้วยอย่างน่าสนใจ “งานสารคดีมันไม่เหมือนหนังฟิกชัน (fiction) ที่เขียนบทแล้วไปถ่ายหน้ากอง แต่มันคือการเอาคำถามที่ยึดโยงกับโครงสร้างของหนังไปถามผู้คน ดังนั้น แต่ละวันเลยไม่รู้จะได้อะไรกลับมาบ้าง” เขาเล่า “บางวันก็ได้มาเกินคาด บางวันก็ได้มาไม่ถึงเป้าที่ตั้งใจตั้งไว้ ซึ่งก็ทำให้ประเด็นค่อยๆ เปลี่ยนไปตามข้อมูลที่เราได้รับมา 

“อย่างตอนแรก เราตั้งใจจะสำรวจเรื่องการกดทับในอาชีพครูเพราะอาชีพนี้งานเอกสารเยอะมากเลยอยากรู้ว่างานเอกสารนี้กดทับครูเขาจนไม่เป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน แต่พอไปสัมภาษณ์ก็รู้สึกว่า มันก็อาจไม่ได้กดทับกันขนาดนั้น เลยค่อยๆ ถามถึงประเด็นอื่น เรื่องอื่น ซึ่งทำให้เราเอามาใช้ในหนังได้”

สิ่งสำคัญคือ เขาพบว่าวงดุริยางค์และสถานที่ฝึกซ้อมก็สะท้อนภาวะเรื่องพื้นที่ซึ่งเป็นประเด็นตั้งต้นที่เขาสนใจ “วงดุริยางค์ตั้งอยู่ที่ชั้นบนของตึกพยาบาลตึกเล็กๆ ขณะที่โรงเรียนก็มีพื้นที่กว้างขวางเหลือเฟือ สมาชิกวงบอกว่าวงนี้-พื้นที่แห่งนี้คือครอบครัวเขา เป็นพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ทั้งที่อยู่ในห้องเล็กๆ เท่านั้น” ปิ๊ง-กรภัทร์เล่า “ตัวผมเองก็เป็นเด็กกิจกรรม ก็พยายามดื้อ สร้างพื้นที่ให้ตัวเองมาโดยตลอด แต่กับเพื่อนรอบตัวบางคน เขามีความสามารถมากๆ แต่โรงเรียนไม่มีพื้นที่ให้เขาได้โชว์ความสามารถนั้นเลย ผมมีเพื่อนที่เก่งคอมพิวเตอร์และเรื่องไอทีมาก แต่ไม่มีใครรู้เลย โรงเรียนก็ไม่รู้ 

“โรงเรียนอาจจะบอกว่าให้การสนับสนุนเด็ก แต่ก็ไม่พอจะรองรับเด็กทุกคน แล้วก็ไปให้พื้นที่เรื่องวิชาการสูงมากๆ อย่างที่เห็นคือ ทุกปีก็จะมีการเอาคะแนน O-Net ของเด็กๆ มาวัดแข่งกันในภูมิภาค ซึ่งโรงเรียนของผมก็อยู่ลำดับที่ 6 มาตลอด โรงเรียนก็พยายามกวดวิชาต่างๆ เพื่อให้คะแนนเด็กสูงขึ้น ลำดับในการแข่งขันจะได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งพอทำให้เด็กแข่งขันเอาคะแนนอย่างเดียว โรงเรียนจึงไม่มองเห็นเด็กเลย”

สำหรับเขา การศึกษาในอุดมคติที่อยากเห็นคือ หากบุคลากรทุกคนทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะครูหรือผู้บริหารหรือคนคิดหลักสูตร เขาก็เชื่อว่าจะทำให้การศึกษานั้นพัฒนาได้ “ครูมีหน้าที่สอนเด็ก ก็ต้องมีความฝันและความต้องการให้เด็กได้รับความรู้ ไม่ต้องมาดูงานเอกงานหรืองานประเมินต่างๆ โรงเรียนเองก็ควรสนับสนุนเด็กมากกว่าทำทุกอย่างเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน และกลับมาดูว่าเด็กต้องการอะไร มีพื้นที่ให้พวกเขาหรือไม่”

‘Believe ความเชื่อสีชมพู’ รักแรก-ท้องแรกในวัยเรียน เมื่อวิชาเพศศึกษาไม่ตอบปัญหาอะไร

Believe…ความเชื่อสีชมพู (22.51 นาที) โดย ทีม หลานสมเด็จย่า
ใครๆ ก็บอกไว้ว่าน้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือไปขวาง “Sex” ในวัยเรียนก็เช่นกัน วัยรุ่นทุกคนล้วนยากที่จะหยุดความต้องการแห่งวัยได้ เช่นเธอ 3 คน “ตังเม กิฟท์ และวิวิว” แม้จุดเริ่มต้นของพวกเธอจะมาจากการมี “เซ็กส์ในวัยเรียน” เหมือนกัน แต่ผลลัพธ์ที่ต้องเผชิญล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทุกประสบการณ์ล้วนสอนให้รู้ว่าอย่าใช้เพียงความเชื่อในการตัดสิน ร่วมสัมผัสความจริงในมุมที่ไม่มีใครรู้ไปกับเรา …

“ถ้าผมถามพี่ สมัยพี่เรียนเพศศึกษาเหมือนสมัยผมไหมล่ะ”

เป็นหนึ่งในคำถามจากทีมหลานสมเด็จย่า โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ ลพบุรี ที่เราคิดว่าน่าสนใจ ทั้งยังให้ภาพรวมของสารคดี ‘Believe ความเชื่อสีชมพู’ เล่าเรื่องปัญหาการท้องในวัยเรียนได้อย่างเฉียบคม 

‘Believe ความเชื่อสีชมพู’ ตั้งต้นจากคำถามเรียบง่ายถึงความเชื่อที่ว่า “ถ้าท้องก็ต้องออกจากระบบการศึกษา” อันนำมาสู่ปัญหาการทำแท้งเถื่อนหรือปัญหาเรื่องสุขภาวะทางจิตใจและร่างกายของคนเป็นแม่ที่ต้องแบกรับความตึงเครียดต่างๆ ประเด็นที่พวกเขาถามคือ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ทางออกของการท้องในวัยเรียนเป็นอย่างไร รากของปัญหาอยู่ที่ไหน ตลอดจนว่า แล้วเอาเข้าจริง ปัจจุบันนี้สังคมมีแนวโน้มมองการท้องในวัยเรียนอย่างไรบ้าง

ฮาร์ต-ณพจรัฐ โชคกาญจนา บอกว่าที่เลือกทำประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ทั้งยังเป็นเรื่องที่เขาเคยเห็นคนที่ประสบปัญหามาก่อน จึงหยิบเอาปัญหาเหล่านี้มาทำเป็นหนัง เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนที่ท้องในวัยเรียนซึ่งไม่มีโอกาสได้พูดหรือแสดงออก

จิว-ธนัท คำโตนด ขยายความว่า ตอนแรกพวกเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าควรทำเรื่องอะไรดี จนนึกถึงเพื่อนที่ประสบปัญหาเรื่องท้องในวัยเรียน “เราเลยลองคิดกันเล่นๆ ถามกันว่าลองทำหนังสั้นเรื่องปัญหาห้องในวัยเรียนกันดูไหม” 

และการสำรวจประเด็นนี้ทำให้พวกเขาค้นพบแง่มุมบางอย่างเกี่ยวกับปัญหาการตั้งท้องในวัยเรียน ไม่ว่าจะเรื่องสังคมหรือการศึกษา “ส่วนใหญ่คนจะมองเด็กที่ท้องว่าเป็นปัญหาสังคมและอาจจะมองในเชิงดูถูกกัน”

“แต่ก็ไม่ทุกกรณีนะครับ” ฮาร์ต-ณพจรัฐเสริม “อย่างกรณีที่เราเจอก็ต่างจากที่เราคาดการณ์ไว้ เพราะทุกคนยื่นมือมาช่วยคนที่ตั้งท้องในวัยเรียน หรืออย่างครอบครัวที่พร้อมเขาก็ตั้งใจดูแลและสนับสนุนในทุกทาง ซึ่งบางทีมันต่างจากมุมมองที่เราเคยเห็นในอดีต”

“ก่อนหน้านี้ การท้องในวัยเรียนเป็นเรื่องที่สังคมมองว่าคอขาดบาดตาย” จิว-ธนัทกล่าว “เคยดูในหนังเก่าๆ แต่ก่อนเขาตีตรากันว่าคนท้องในวัยเรียนเป็นจุดด่างของสังคม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน ความคิดคนก็เปลี่ยน”

พวกเขายกตัวอย่างกรณีของหญิงสาวที่ตั้งท้องในเวลาเรียน สิ่งแรกที่เธอทำคือการไปปรึกษาคุณครูที่ปรึกษาก่อนใครอื่น และพบผลลัพธ์ชวนอบอุ่นใจเมื่อคุณครูให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะซื้ออุปกรณ์ตรวจครรภ์มาให้ตรวจอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ทั้งให้ความรู้ คำปรึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทุกทางเท่าที่จะทำได้

“ในหนังของเราก็น่าสนใจที่เราพบว่า ไม่มีกรณีไหนเลยที่ถูกสังคมและคนรอบข้างตีตราว่าการตั้งท้องในวัยเรียนเป็นสิ่งผิด” จิว-ธนัทกล่าว “อาจมีแค่เล็กๆ น้อยๆ เหมือนโดนคนข้างบ้านพูดถึง แต่ว่าคนใกล้ตัว คนในครอบครัว เพื่อนและครู ให้การสนับสนุนทุกอย่าง ช่วยหาทางออก มันดีมากเลยนะที่ได้เห็นอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นสมัยก่อน ถ้าโดนตั้งแง่ โดนสังคมรังเกียจ ผมว่าเผลอๆ อาจทำให้คนท้องคิดสั้นไปก็ได้”

ทั้งนี้ หากว่าเป้าประสงค์ของทั้งสามคือการเป็นกระบอกเสียงให้แก่คนที่ท้องในวัยเรียนแล้วไม่มีโอกาสได้พูด การทำหนังสั้นเรื่องนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว เพราะพวกเขาพบว่า ซับเจ็กต์หรือคนที่พวกเขาไปสัมภาษณ์ในหนังนั้นกระตือรือร้นจะเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังเพื่อให้คนอื่นได้รับรู้ ดรีม-อธิชา วลสันเทียะบอกว่า “อาจเป็นความโชคดีด้วยที่พวกเขายินดีจะถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ให้พวกเราฟัง เรามีเพื่อนที่มีลูก ตั้งท้อง ซึ่งก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละคน บางคนเขาก็เรียนต่อ บางคนก็เลิกเรียนแล้วไปทำงานเลย 

“แต่สำหรับเรา เราก็รู้สึกว่าการท้องแบบนี้เป็นเรื่องปกตินะ ไม่ใช่แบบเมื่อก่อนที่ท้องแล้วเราไม่สามารถกลับมาเรียนได้อีกแล้ว เรายังมีการศึกษาได้อยู่นะ แล้วสังคมก็ไม่ได้รังเกียจอะไรคนที่ท้องในวัยเรียนแล้วด้วย ให้โอกาสกันมากด้วย”

‘Believe ความเชื่อสีชมพู’ พยายามพาคนดูไปสำรวจแง่มุมของการศึกษา ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสัมพันธ์ที่เป็นรากสำคัญที่ทำให้เกิดการท้องในวัยเรียน “ส่วนใหญ่คนที่เราไปสัมภาษณ์เขาบอกว่าที่ตั้งท้องนี่มาจากรักแรก ครั้งแรกเสมอ” จิว-ธนัทว่า “พวกเขาจึงไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ ป้องกันไม่ถูก ป้องกันไม่ทันก็เลยพลาดไป

“ผมคิดว่าการมีแฟนในวัยเรียนนั้นมีได้ แล้วแทนที่ผู้ใหญ่จะห้ามไม่ให้มีแฟน ก็ควรสอนความรู้เรื่องต่างๆ ให้เด็กเถอะ เพราะส่วนใหญ่ที่ไปถามมา มีน้อยคนมากที่จะรู้เรื่องการป้องกันระหว่างการมีเพศสัมพันธ์จากห้องเรียน (ยิ้ม) ส่วนใหญ่ได้ความรู้จากอินเทอร์เน็ตกันมากกว่า หรือบางคนนี่คลอดลูกแล้วถึงเพิ่งรู้ว่าโรงพยาบาลเขามีฝังยาคุมให้ฟรีนะ”

ดรีม-อธิชาสรุปภาพรวมของปัญหานี้คร่าวๆ ว่า ด้านหนึ่งมาจากการที่วิชาเพศศึกษาในโรงเรียนสอนแต่ตัวหนังสือ “เขาไม่ได้ลงลึกรายละเอียดอะไรเลย เหมือนมองว่าถ้าลงรายละเอียดไปแล้วจะทะลึ่ง อนาจาร ทั้งที่มันเป็นเรื่องสำคัญและควรพูดได้แล้ว”

Students Voice เรียนออนไลน์ กายออนเบด เป็นนักเรียนยุคโควิด-19 มันไม่ง่าย

Students voice (30.01 นาที) โดย ทีม 100TAKE
เรื่องราวของเด็กนักเรียนหลากหลายคนที่มาเล่าเรื่องราวปัญหาที่ตัวเองได้พบเจอในสถานการณ์การเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ผ่านมุมมองของพวกเขา และมุมมองของคุณครูผู้สอนที่พวกเขาพูดถึงกัน

ภายใต้ขวบปีของการเรียนออนไลน์ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นอีกบาดแผลใหญ่ของนักเรียน ผู้ปกครองและครู 100TAKE ทีมคนทำหนังจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานีและโรงเรียนอุดมศึกษารังสิต จับจ้องไปยังปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยความสนใจ

นาโต้-ปฐวีพล เคลือบมาศ ที่เป็นเสมือนหัวเรือสำคัญของโปรเจ็กต์ เล่าที่มาของ Student Voice ว่ามาจากสภาวะที่นักเรียนต้องเรียนออนไลน์เพราะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเขาเห็นว่าเมื่อเริ่มปีการศึกษา 2564 นั้นเป็นการเรียนออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ขณะที่ปีการศึกษา 2563 ยังมีสภาวะ ‘กึ่งการเรียนออนไลน์’ คือให้นักเรียนเข้าโรงเรียนสลับกลุ่มกันเพื่อลดความแออัด เขาจึงอยากสำรวจแง่มุมต่างๆ ของนักเรียนต่อประเด็นนี้ว่านักเรียนเรียนเข้าใจหรือไม่ พบเจอปัญหาอะไร 

“ในระดับผิวเผินที่หลายคนคิดอย่าง เมื่อเรียนออนไลน์ เราก็นอนเรียนได้ กินขนมระหว่างเรียนได้ เอาเข้าจริงมันมีอะไรลึกไปกว่านั้นไหม เราจึงไปสัมภาษณ์เด็กนักเรียนและครูผู้สอน เช่น เด็กบอกว่าครูคนนี้สอนไม่ดี เราเลยไปลองคุยว่าทำไมเป็นแบบนั้น เขาเจอปัญหาอะไร หรือคุณครูที่เด็กชอบ ก็ไปคุยว่าทำไมชอบ สอนอย่างไร แล้วเราค่อยมาสรุปปัญหาภาพรวมว่าสุดท้ายต้นตอของการเรียนออนไลน์นั้นเกิดขึ้นที่ไหนแน่” นาโต้-ปฐวีพลอธิบาย

ทั้งนี้ การที่เขากระโจนเข้าไปสำรวจประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์ก็พบว่า ปัญหาใหญ่ๆ คือนักเรียนไม่เข้าใจสื่อการสอนของครู “ผมว่ามันน่าจะคล้ายๆ generation gap คุณครูยุคคุณป้า-คุณยาย พอมาสอนออนไลน์แล้วต้องปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาก็อาจจะพยายามในวิธีของเขาแหละ แต่เด็กอาจไม่เข้าใจและรับความรู้ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งผมว่าเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับซับเจ็กต์ที่เป็นคุณครูของผมด้วย” นาโต้-ปฐวีพลกล่าวและเสริมว่า กระบวนการถ่ายทำก็ซับซ้อนไม่น้อย เนื่องจากทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์ จึงถ่ายภาพยาก ตัวเขากับ ดิน-แผ่นดิน ทาแดง ทำหน้าที่เป็นคนสัมภาษณ์ โดยใช้วิธีหาเด็กนักเรียนที่สะดวกให้สัมภาษณ์ในสถานที่บางแห่งได้ ไม่ว่าจะสถานที่ของทางทีมงานหรือในบ้านนักเรียน 

“ในเด็กกลุ่มนี้ เราคุยกันแบบเจอหน้า ถามคำถามต่างๆ ที่อัดอั้นอยู่ในใจเขาหรือคำถามที่ผู้ใหญ่อยากรู้ แล้วบันทึกกิริยาท่าทาง บริบทต่างๆ ไว้เป็นฟุตเตจเพิ่มเติม กับอีกส่วนคือเด็กที่ไม่สามารถออกจากบ้านมาหาเราได้ ก็จะใช้วิธีการอัดสัมภาษณ์ทางโปรแกรม Zoom แล้วใช้เสียงของเขาเล่าเรื่องแทน ส่วนภาพก็มาจากฟุตเตจเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาพูด เช่น ตารางเรียน ชุดนักเรียน สไลด์ที่ครูสอน เป็นต้น ส่วนฟากคุณครู เขามาทำงานที่โรงเรียนอยู่แล้วเราจึงขอถ่ายทำเขาได้เลย”

ขณะที่มอส-วิกรม ประสพพรพิพัฒน์ เสริมว่า เขารู้สึกว่าปัญหาใหญ่ที่เขาเห็นในกลุ่มนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์คือ สภาพแวดล้อมในการเรียน “ผมยกตัวอย่างนะ บ้านบางคนเป็นร้านขายกับข้าว ร้านขายอาหาร นั่งเรียนออนไลน์อยู่ แม่ก็ตะโกนมาเลย ‘ไปส่งข้าวให้แม่หน่อยลูก!’ (ยิ้ม) นักเรียนนั่งเรียนอยู่ก็ต้องบอกว่า ‘ขออนุญาตไปส่งข้าวให้แม่ก่อนนะครับครู’ (หัวเราะ) หรือบางบ้านมีเด็กเล็ก เรียนๆ อยู่น้องก็วิ่งเข้ามาหา ซึ่งมันก็ไปรบกวนการเรียนด้วย” ทั้งนี้ เขาขยายความว่า ตำแหน่งหน้าที่เขาคือช่างภาพและเกรดสี ซึ่งเขาว่าอย่างหลังนี่ยากเอาเรื่อง เพราะแต่ละสถานที่ก็มีแสงและสีแตกต่างกันไป

ฟาก ดิน-แผ่นดิน เล่าถึงช่วงเวลาก่อนสอบปลายภาคและสอบเก็บวิชา นั่นคือสภาวะที่เรียนแล้วไม่เข้าใจ จับใจความไม่ได้ จึงไม่มีเนื้อหาเอาไปสอบ “อาจารย์ก็สอนแบบไม่ค่อยเต็มที่ ไม่ค่อยใส่ใจนักเรียน เหมือนแค่อัดคลิปให้นักเรียนดูซึ่งไม่เข้าใจเลย แล้วบางเรื่องก็หาคำตอบเองไม่ได้ด้วย เลยรู้สึกว่าการเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ก่อนขึ้นมหาวิทยาลัยนี่ไม่มีความรู้ไปใช้สอบเลย” เขาเล่า

นาโต้-ปฐวีพลขยายความถึงหนังสั้นของเขาว่า ตัวหนังยังพยายามลากไปให้ถึงมายาคติผิวเผินที่คนเข้าใจกันในตอนแรกๆ ว่า การเรียนออนไลน์นั้นดีเพราะไม่ต้องไปเข้าแถวตอนเช้า ไม่ต้องขึ้นรถตู้เพื่อเดินทางไปโรงเรียนไกลๆ แต่เช้า “เหมือนมันจะดีใช่ไหมครับ แต่เราก็ตั้งคำถามต่อว่า ถ้ามันดีแล้วทำไมยังมีปัญหาต่างๆ อย่างที่เราเล่าไปอยู่อีกล่ะ เป็นการตั้งคำถามเพื่อสะท้อนประเด็นต่างๆ

“เสียงของนักเรียนที่เขาพยายามตะเบ็งตะโกนออกมา มันดังมากพอแล้ว และสามารถสื่อสารในเรื่องราวหลายๆ อย่างได้เยอะเลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่จะรับฟังเสียงนั้นได้มากน้อยแค่ไหน จะเปิดใจให้มากแค่ไหนด้วย”

“เด็กพูดกันอยู่ตลอด อยู่ที่ผู้ใหญ่แล้วล่ะว่าเขายอมรับฟัง ยอมปรับเปลี่ยนให้เราหน่อยได้ไหม แล้วมันอาจต้องเป็นการต่างคนต่างปรับเพื่อหาตรงกลางระหว่างครูและเด็ก เพื่อให้ครูสามารถสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เด็กก็เรียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนกัน” มอส-วิกรมว่า

ขณะที่ดิน-แผ่นดิน ปิดท้ายว่า ที่ผ่านมานั้นนักเรียนส่งเสียงเรื่องนี้กันไปมากแล้ว โดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นเหมือนกัน

“มันชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่เราพูดไป เขาแทบไม่รับฟังอะไรเลย”

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) Eyedropper Fill และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save