fbpx

คิชิดะเยือนสหรัฐฯ: พลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หรือเพียงอ่อนไหวในปีผลัดผู้นำ

ภาพปกโดย ANDREW HARNIKGETTY/ AFP

เหตุการณ์สำคัญในการต่างประเทศญี่ปุ่นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ คงไม่มีเรื่องใดใหญ่ไปกว่าการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ ในฐานะแขกอย่างเป็นทางการ (state visit) เมื่อวันที่ 10-12 เมษายนที่ผ่านมา ภาพการพบปะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ปรากฏผ่านสื่อและการแสดงสุนทรพจน์ต่อหน้ารัฐสภาของสหรัฐฯ ทำหน้าที่เชิงสัญลักษณ์อย่างดีในการช่วยยืนยันว่าความเป็นพันธมิตรของทั้งสองยังคงแนบชิดสนิทกันเพียงใด

การเน้นย้ำความแข็งแกร่งของพันธมิตรนี้ยังหวังผลเชิงจิตวิทยาต่อการพิจารณาและคำนวนยุทธศาสตร์ทั้งฝั่งมิตรและศัตรูทั่วกัน ท่ามกลางบรรยากาศโลกอันระอุด้วยความขัดแย้งหลายแนวหน้า ยิ่งเมื่อทั้งสองประเทศมองพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ว่าเป็นแกนหลักในการธำรงระเบียบและเสถียรภาพของเอเชียและอินโด-แปซิฟิกด้วยแล้ว การแสดงให้โลกเห็นว่ามหาอำนาจทั้งสองยังคงยืนหยัดเคียงคู่กันเพื่อดูแลปัดป้องระเบียบจากภัยคุกคามย่อมมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากความมุ่งหวังดังกล่าวแล้ว การเยือนของคิชิดะ ยังมีความสำคัญเมื่อคำนึงถึงเงื่อนเวลาในการเมืองของสหรัฐฯ นั่นคือการเลือกตั้งผู้นำที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความแน่นอนที่เป็นอยู่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อาจได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกรอบ และคงไล่รื้อสัมพันธภาพที่สหรัฐฯ สั่งสมมากับมิตรประเทศต่างๆ ตลอดจนบทบาทของตนบนเวทีโลก นั่นอาจยิ่งทำให้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่ปั่นป่วนอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก

ขณะที่ในญี่ปุ่น ก็มีกำหนดการเลือกหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) แกนนำรัฐบาลปลายเดือนกันยายนปีนี้ มีเสียงคาดการณ์ไม่น้อยว่านายกฯ คิชิดะ ไม่น่าจะได้ไปต่อในยามที่พรรคต้องการตัวเลือกใหม่เพื่อปิดฉากบรรยากาศมืดมัวที่ดำเนินมา สืบเนื่องจากกรณีอื้อฉาวใน LDP หลายระลอกและเพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนที่ลดน้อยถอยลงภายใต้การบริหารงานของนายกฯ คิชิดะ ข้อกังวลจึงเกิดขึ้นว่าผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่จะนำพารัฐนาวาฝ่าคลื่นลมแปรปรวนไปได้โดยไม่อัปปางอย่างไร

ข้อเขียนนี้มุ่งมองความคืบหน้าล่าสุดอันเป็นผลจากการเยือนสหรัฐฯ ของนายกฯ ญี่ปุ่น ซึ่งสองผู้นำต่างเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่าถือเป็น ‘หน้าประวัติศาสตร์ใหม่’ ในระบบพันธมิตร ในบรรดาข้อตกลงต่างๆ ซึ่งมองเป็นการ ‘ยกระดับ’ (upgrade) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงร่วมกัน มีประเด็นเด่นที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับญี่ปุ่นคือการเน้นย้ำความเป็น ‘หุ้นส่วนระดับโลก’ (global partner) ซึ่งสะท้อนบทบาทเชิงรุกของญี่ปุ่นที่เห็นชัดยิ่งขึ้นมาพักใหญ่แล้ว

ทั้งยังจะโยงให้เห็นว่าความพยายามทำนองนี้มีมาก่อนท่ามกลางบริบทใกล้เคียงกัน คือช่วงการผลัดเปลี่ยนผู้นำสหรัฐฯ ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อ 8 ปีก่อน (ค.ศ. 2016) โดยจะเห็นได้ถึงความเคลื่อนไหวที่คล้ายกันอันเป็นผลจากความกังวลใจถึงอนาคตของระบบพันธมิตรและความแน่วแน่ของสองมหาอำนาจในการป้องปราม ยับยั้ง และสนองตอบต่อสภาวะไม่พึงประสงค์ด้านความมั่นคงในโลก

การเยือนอย่างเป็นทางการของผู้นำญี่ปุ่นในรอบ 10 ปี

การเยือนของนายกฯ ญี่ปุ่นครั้งนี้ถูกตระเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดีโดยเจ้าหน้าที่ของสองฝ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อผู้นำได้พบกันซึ่งหน้าจะสามารถประกาศความตกลงหัวข้อใหม่ๆ ให้สาธารณชนเห็นถึงความสัมพันธ์อันผลิดอกออกผลและพัฒนาไปในทางที่แนบแน่นและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับคำพูดของคิชิดะที่ว่าโลกกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนผันทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งต้องการพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ และสอดรับกับคำพูดของไบเดนที่ว่าการเยือนครั้งนี้มีนัยสำคัญเชิงประวัติศาสตร์

แม้ว่าผู้นำทั้งสองได้พบและหารือกันหลายคราวในเวทีต่างๆ นับแต่คิชิดะขึ้นเป็นผู้นำปลายปี 2021 เมื่อปีที่แล้วไบเดนและคิชิดะก็ได้พบกันระหว่างการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ การประชุมสุดยอดไตรภาคีร่วมกับเกาหลีใต้ที่แคมป์เดวิด หรือระหว่างการประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโก แต่ในครั้งนี้มีนัยสำคัญยิ่งกว่าเนื่องจากคิชิดะเยือนในฐานะอาคันตุกะของผู้นำสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ (state visit) ซึ่งสหรัฐฯ ให้การต้อนรับขับสู้ด้วยพิธีการต่างๆ อย่างสมเกียรติ

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ช่วยตอกย้ำสถานะการเป็นมิตรประเทศที่มีความสำคัญต่อกัน ยิ่งเมื่อมองว่าการเยือนสหรัฐฯ ด้วยเงื่อนไขการเชิญลักษณะนี้เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว คือปี 2015 สมัยนายกฯ ชินโซ อาเบะ จึงอาจมองเป็นสิ่งสะท้อนการคลี่คลายอุปสรรคต่างๆ และความคืบหน้าในความสัมพันธ์ นอกจากคำมั่นและข้อตกลงใหม่ๆ แล้ว กำหนดการพ่วงอย่างการประชุมสุดยอดไตรภาคีกับผู้นำฟิลิปปินส์ และการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสก็เป็นสิ่งชี้ให้เห็นพัฒนาการของระบบพันธมิตร

มีประเด็นหลากหลายที่น่าหยิบยกมาวิเคราะห์ เราอาจเริ่มด้วยข้อความที่น่าสนใจในเนื้อหาสุนทรพจน์ของคิชิดะ ที่กล่าวถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในการช่วยฟื้นฟูชาติต่างๆ รวมทั้งญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ 79 ปีก่อนจนทำให้ลืมตาอ้าปากได้ในที่สุด อันที่จริงแล้ววาทกรรมว่าด้วยการสำนึก ‘บุญคุณ’ ของสหรัฐฯ ถูกเน้นย้ำมาในสังคมตั้งแต่ญี่ปุ่นฟื้นตัวจนกลายเป็นชาติชั้นนำขึ้นมา และแม้จะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ญี่ปุ่นก็ยึดถือทัศนะและวาทกรรมนี้มาตลอด

ญี่ปุ่นผู้ยืนหยัดสนับสนุนบทบาทสหรัฐฯ

ข้อความดังกล่าวอาจสะท้อนความนอบน้อมถ่อมตนของญี่ปุ่นผู้ที่เคยก่อสงคราม หรือไม่ก็ความตระหนักถึงการต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใด วาทกรรมนี้กลายเป็นหลักเหตุผลให้ญี่ปุ่นประนีประนอมเข้าหาสหรัฐฯ ในการลดแรงเสียดทานจากปัญหาดุลการค้าช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งปัจจุบันเราอาจชินกับคำว่า ‘สงครามการค้า’ (trade war) ที่เห็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ความคิดที่ว่าญี่ปุ่นเจริญมาได้ด้วย ‘สาธารณะประโยชน์’ ที่สหรัฐฯ จัดสรรให้ส่งผลให้ญี่ปุ่นตอบรับข้อเรียกร้องอย่างโอนอ่อนผ่อนตามมากกว่าตั้งตนขึ้นปะทะจนเป็นสงครามการค้าที่บานปลาย

การกล่าวถึงคุณูปการที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ที่มีต่อทั้งญี่ปุ่นและระเบียบโลกยังช่วยย้ำให้สมาชิกสภาตระหนักถึงบทบาทนำและ ‘ความใจกว้าง’ ของสหรัฐฯ อันเป็นเสาหลักปกปักค้ำจุนกฎเกณฑ์สากลให้ดำรงอยู่ได้มาตลอด ยิ่งในยามหัวเลี้ยวหัวต่อที่การเมืองภายในสหรัฐฯ อาจกระทบต่อนโยบายที่เป็นมา สำหรับญี่ปุ่น ในฐานะชาติที่มีศักยภาพระดับรองและรู้ดีถึงความจำเป็นที่ต้องมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำโลกเสรี ได้กำหนดจุดยืนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970-1980 ว่าจะเป็นชาติที่คอยเกื้อหนุนบทบาทของสหรัฐฯ (supportive role) ไม่ใช่ผู้ท้าชิงที่จะขึ้นเป็นใหญ่ครองระเบียบเสียเอง

ถึงกระนั้น ญี่ปุ่นก็ไม่อาจแปลงคำมั่นที่จะให้การสนับสนุนสหรัฐฯ เป็นการปฏิบัติจริงได้ ระบบพันธมิตรยังคงกำหนดหน้าที่รับผิดชอบให้สหรัฐฯ คุ้มกันญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่ฝ่ายหลังดูแลแค่การป้องกันตนเอง ‘ระดับต่ำสุด’ เรื่อยมา ซึ่งห่างไกลจากบทบาทใน ‘ยุทธศาสตร์โลก’ อย่างที่สัญญาไว้ นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นเผชิญข้อจำกัดทางกฎหมาย ทัศนคติเกลียดกลัวทหารที่แพร่หลายในสังคม อีกทั้งจุดยืนเลี่ยงบทบาทที่เกี่ยวกับการใช้กำลังก็เป็นสิ่งที่สลัดทิ้งได้ยาก

ดังนั้นการแถลงข่าวร่วมของผู้นำที่ทำเนียบขาวระหว่างการเยือนของคิชิดะว่าทั้งสองฝ่ายจะเดินหน้ากระชับความเป็น ‘หุ้นส่วนระดับโลก’ (global partner) จึงเป็นอีกครั้งที่เห็นคำมั่นดังกล่าวปรากฏขึ้น แต่ในครั้งนี้ญี่ปุ่นดูจะมีข้อสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมน่าเชื่อถือกว่าแต่ก่อน จากผลงานที่สร้างและสั่งสมในช่วงไม่นานมานี้อันเกิดจากการผ่อนปรนข้อจำกัดทางทหารและการดำเนินนโยบายเชิงรุก (proactive) ชัดเจนขึ้นเพื่อร่วมรับมือวิกฤตความมั่นคงและสันติภาพระหว่างประเทศนับตั้งแต่ขึ้นทศวรรษ 2020 เป็นต้นมา

อย่างที่เห็นท่าทีที่แน่วแน่มากขึ้นในวิกฤตยูเครน และช่องแคบไต้หวัน นอกจากญี่ปุ่นจะลดท่าทีลังเลใจและไม่รอช้าในการกำหนดจุดยืน ตลอดจนมาตรการต่างๆ แล้ว ยังทำตนเป็นแนวหน้ากระตุ้นชาติอื่นๆ ให้เกิดการตระหนักถึงปัญหา ทั้งยังมีข้อริเริ่มใหม่ๆ ด้านความมั่นคงในแถบอินโดแปซิฟิก อย่างการสานสัมพันธ์กับหลายชาติโดยไม่จำกัดแค่พันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐฯ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นด้วยความตระหนักว่าการระดมกำลังจากหลายฝ่าย และการแสดงความเป็นเอกภาพมีส่วนยับยั้งวิกฤตไม่ให้ลุกลาม

นัยยะการเป็นหุ้นส่วนระดับโลก

เป้าประสงค์ในการป้องปรามพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้ม ‘การใช้กำลังปรับเปลี่ยนสภาพการณ์ที่เป็นอยู่’ (change the status quo by force) กลายมาเป็นจุดสนใจหลักที่ผลักดันญี่ปุ่นให้ดำเนินท่าทีเชิงรุก โดยเชื่อว่าเหตุการณ์และพลวัตไม่ว่าที่ใดในโลกมีส่วนป้อนเข้าสู่กระบวนการคาดคะเนและวางยุทธศาสตร์ของชาติในแถบเอเชียนี้ และมีส่วนสั่นคลอนดุลอำนาจอันละเอียดอ่อนซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ทรงตัวต่อไป หรือไม่ก็ทวีความตึงเครียดมากขึ้น

‘หุ้นส่วนระดับโลก’ ในที่นี้จึงมีนัยว่าวิกฤตในฟากฝั่งยุโรปต้องการตัวแสดง ทรัพยากร และแสนยานุภาพจากชาติในเอเชีย ในทางกลับกันความมั่นคงในอินโด-แปซิฟิกก็จำเป็นต้องอาศัยบทบาทของสหรัฐฯ และชาติยุโรปเข้ามาร่วมดูแล ดังที่คิชิดะเน้นย้ำว่า “ความมั่นคงของยุโรปและเอเชียไม่อาจมองแยกจากกันได้” ความเป็นไปในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ยูเครนและเอกภาพขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มีผลกระทบกับเอเชียตะวันออกที่มีจีน ช่องแคบไต้หวัน และน่านน้ำรายล้อมเป็นจุดสนใจหลักในยุทธศาสตร์

สหรัฐฯ เป็นแกนกลางที่สามารถผูกโยงพันธมิตรทางทหารในยุโรปกับเอเชียให้ร่วมจัดการปัญหาที่ส่งผลสะเทือนระดับโลกได้ด้วยสายสัมพันธ์กับชาติยุโรปในกรอบพหุภาคีอย่าง NATO และโครงข่ายพันธมิตรแบบทวิภาคีฟากฝั่งเอเชียที่เชื่อมกันแบบ ‘แกนและซี่ล้อ’ (hub & spoke) ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในส่วน ‘แกน’ ซึ่งหมายถึงพันธมิตรหลักที่เอื้อให้สหรัฐฯ คงบทบาทและสรรพกำลังอยู่ในพื้นที่นี้ได้ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และไทย ก็ ‘เคย’ ทำหน้าที่นี้ จากการให้สหรัฐฯ มาวางกำลังในดินแดนและสนธิสัญญาความมั่นคงระหว่างกัน

ขณะที่ ‘ส่วนซี่ล้อ’ คือความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับชาติที่มีความสำคัญและความเหนียวแน่นทางยุทธศาสตร์รองลงไป ส่วนไหนคือแกนและซี่ล้อในระบบนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งคงที่ตายตัว อย่างกรณีไทยเวลานี้ก็ยากจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นแกน ขณะที่ฟิลิปปินส์หลังยุคสงครามเย็นก็ยุติการให้สหรัฐฯ ใช้พื้นที่วางกำลัง (1992) ไต้หวันจากที่เป็นซี่ล้อน่าจะเรียกได้ว่าขึ้นมาเป็นส่วนแกนแล้วในตอนนี้ รวมถึงเวียดนามที่กำลังมีความสำคัญขึ้นมาด้วยข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ เมื่อปีทึ่แล้ว

ท่ามกลางความเลื่อนไหลในเครือข่ายแกนและซี่ล้อของชาติต่างๆ ดูเหมือนญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางมาอย่างต่อเนื่องและยืนยาวผ่านร้อนผ่านหนาวจากยุคสงครามเย็นมากระทั่งยุคใหม่ที่จีนกลายมาเป็นความกังวลร่วม การเชิญผู้นำญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ร่วมประชุมสุดยอดของ NATO เมื่อปีที่แล้ว และการประชุมสามฝ่าย (trilateral dialogue) ที่แคมป์เดวิดในเดือนสิงหาคม ชี้ถึงการย้ำความสำคัญของ ‘ส่วนแกน’ ดั้งเดิมในบริบทความมั่นคงยุคใหม่ ทั้งยังผูกมัดส่วนแกนในเอเชียเข้าไว้ด้วยกันในแบบไตรภาคี และเชื่อมแกนนี้อีกทีกับแกนพันธมิตรยุโรป

พลวัตใหม่ใน ‘ระบบแกนและซี่ล้อ’ ของเอเชีย

ปัจจุบันอาจเรียกเครือข่ายที่ขยายจากกรอบพันธมิตรในยุโรปและเอเชียนี้ว่า ‘กลุ่มชาติที่ถือค่านิยมเดียวกัน’ (like-minded countries) เพื่อต่อกรกับแนวโน้มการรวมกลุ่มของฝ่ายตรงข้ามอย่าง จีน รัสเซีย และเกาหลีเหนือ ความเคลื่อนไหวอีกด้านที่แหวกไปจากระบบแกนและซี่ล้อดั้งเดิม แต่ก็ถือได้ว่าการต่อยอดจากระบบนี้คือการ ‘สร้างเครือข่ายระหว่างซี่ล้อ’ (network among spokes) โดยน่าสังเกตว่าญี่ปุ่นตื่นตัวอย่างยิ่งในแนวหน้านี้

อย่างเช่นที่เราเห็นการให้ความช่วยเหลือชาติในอาเซียนกลุ่มที่มีข้อพิพาทน่านน้ำกับจีน โดยให้เครื่องไม้เครื่องมือเพื่อเสริมศักยภาพการจัดการความมั่นคงทางทะเล (maritime security) ผ่านข้อตกลงอย่าง ‘การถ่ายโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับป้องกันประเทศ’ และ ‘ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ’ (Official Security Assistance / OSA) ซึ่งญี่ปุ่นเพิ่งประกาศใช้ในปีที่แล้ว แยกจากกรอบ ‘ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา’ (Official Development Assistance / ODA) อันเป็นเครื่องมือสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชาติเพื่อนบ้านมาแต่เก่าก่อน

สำหรับความพยายามอื่นนอกพื้นที่อาเซียน การขยายความร่วมมือและข้อตกลงด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นกับบางชาติใหญ่ในยุโรปอย่างอังกฤษและอิตาลี หรือในภูมิภาคเอเชียอย่างออสเตรเลียและอินเดีย ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการประสานและกระชับ ‘เครือข่ายในหมู่ซี่ล้อ’ ซึ่งช่วยเสริมทัพกรอบพันธมิตรดั้งเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนกลาง และช่วยทำให้กลไกป้องปรามการกระทำอันบุ่มบ่ามไม่พึงประสงค์มีความเข้มแข็ง ดูน่าเกรงขามยิ่งขึ้น

ระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของคิชิดะครั้งนี้ ความพยายามดังกล่าวก็ปรากฏชัดทั้งในกำหนดการและข้อถกแถลงระหว่างพันธมิตร ไบเดนต้อนรับผู้นำฟิลิปปินส์ที่เดินทางเยือนในจังหวะไล่เลี่ยกัน ทำให้เกิดภาพการหารือ ‘ไตรภาคี’ กรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ในยามที่ฝ่ายหลังสุดต้องการแรงหนุนอย่างมากในการรับมือกลยุทธ์รังควานด้วยกำลังของจีนบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นบริเวณน่านน้ำที่ฟิลิปินส์อ้างสิทธิ์

ฝั่งสหรัฐฯ ยังหว่านล้อมญี่ปุ่นให้เข้าร่วมเครือข่ายไตรภาคีอีกกรอบที่ตนได้ฟูมฟักมาพักหนึ่ง นั่นคือ AUKUS ที่สหรัฐฯ กับอังกฤษตั้งใจจัดหาศักยภาพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย ทั้งสามชาติดูจะมองเห็นโอกาสที่มากกว่าเป้าหมายตั้งต้นนี้ และกำลังขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและยุทโธปกรณ์ไปสู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีควอนตัม และอาวุธเหนือเสียง (hypersonic weapon) โดยเรียกความริเริ่มนี้ว่า Pillar II ซึ่งญี่ปุ่นอาจเข้าร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีได้

การยกระดับพันธมิตรด้านความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ

ประเด็นสำคัญที่ไบเดน-คิชิดะอาจเคลมได้ว่าเป็นความก้าวหน้า ‘ครั้งประวัติศาสตร์’ ในกรอบพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จากการเยือนล่าสุดนี้คือความตกลงที่จะยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยสหรัฐฯ จะส่งผู้บัญชาการระดับ 4 ดาวที่มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการไปประจำที่ญี่ปุ่น แทนที่ผู้บัญชาการระดับ 3 ดาวซึ่งมีอำนาจจำกัด นี่บ่งบอกการสลัดทัศนะที่สหรัฐฯ มองญี่ปุ่นตลอดมาว่ามัวแต่ลังเลใจในเรื่องยุทธศาสตร์ และการหันมายอมรับความทัดเทียมในบทบาทและเจตจำนงของญี่ปุ่นที่จะดูแลระเบียบร่วมกันมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวนี้สอดรับกับการปฏิรูปด้านกลาโหมในญี่ปุ่นที่มุ่งยกระดับยุทธวิธีและปฏิบัติการ เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่กำลังทวีความไม่แน่นอนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ภายใต้ ‘แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคง’ ปี 2022 รัฐบาลประกาศจะเพิ่มค่าใช้จ่ายกลาโหมขึ้นเป็นร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในเวลา 5 ปี และจัดหา ‘ศักยภาพโจมตีโต้กลับ’ ซึ่งก็ได้ตกลงจัดซื้อขีปนาววุธร่อนโทมาฮอว์กจากสหรัฐฯ ไปแล้ว ญี่ปุ่นมีแผนจัดตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการร่วม’ (joint command headquarters) ของกองกำลังป้องกันตนเองเพื่อประสานปฏิบัติการแบบข้ามมิติ (cross-domain operation) ขึ้นด้วย

ปลายปีที่แล้วญี่ปุ่นยังปลดล็อกเรื่อง ‘การส่งออกอาวุธ’ อันมีผลเอื้อต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกด้วย แม้ญี่ปุ่นผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทีละเล็กละน้อยในหลายจังหวะเวลาจนสามารถส่งออก ‘ชิ้นส่วนหรืออะไหล่’ ของยุทโธปกรณ์ให้ต่างชาติได้แล้ว แต่ล่าสุดรัฐบาลตัดสินใจให้ส่งออก ‘อาวุธผลิตสำเร็จ’ ให้กับชาติเจ้าของสิทธิบัตรได้ เริ่มต้นจากสหรัฐฯ โดยจะส่งออกระบบป้องกันทางอากาศแพทริออตให้เป็นการชิมลาง หลายฝ่ายมองว่าอาวุธเหล่านี้ช่วยทดแทนส่วนที่สหรัฐฯ ส่งไปให้ยูเครน นับเป็นการดึงญี่ปุ่นเข้าร่วมการให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครนทางอ้อมผ่านสหรัฐฯ

ความก้าวหน้าในความเปราะบาง ?

แม้ทั้งหมดนี้จะแสดงถึงความสำเร็จและความคืบหน้าก้าวใหญ่รายล้อมภาพการเยือนสหรัฐฯ ของคิชิดะ แต่นั่นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความอ่อนไหวเปราะบางและเมฆทะมึนที่จ่ออยู่แนวเส้นขอบฟ้าเป็นปัจจัยเบื้องหลังฉากการแสดงให้โลกเห็นถึงความเหนียวแน่นของพันธมิตร นอกจากสถานการณ์ปั่นป่วนหลายจุดในโลกยังไม่มีทีท่าคลี่คลายไปง่ายๆ การเมืองภายในของสหรัฐฯ ในปีแห่งการเลือกตั้งเช่นนี้ก็มีแต่จะสร้างความวิตกและสภาวะไม่แน่นอนในความสัมพันธ์และสถานการณ์โลก

โดยเฉพาะเมื่อผู้ท้าดวลกับไบเดนในการช่วงชิงคะแนนเสียงคืออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้ตั้งข้อกังขามาตลอดต่อบทบาทและความใจกว้างของสหรัฐฯ ที่แบกรับภาระการปกป้องระเบียบและพันธมิตร ความเป็นไปได้ที่เขาจะกลับมาเป็นผู้นำสร้างความอกสั่นขวัญเสียและการตระเตรียมรับสถานการณ์จากหลายฝ่าย การเยือนของคิชิดะก็มีนัยของการเตรียมรับคลื่นยักษ์ที่กำลังก่อตัว แต่ก็ไม่แน่ว่านายกฯ ญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญกับความปั่นป่วนครั้งใหม่จะเป็นคนเดิมหรือไม่ ซึ่งการเลือกหัวหน้าพรรค LDP ปีนี้ก็จะเป็นตัวตัดสินผู้นำรัฐบาลฝั่งญี่ปุ่น

สื่อส่วนใหญ่ย้ำเตือนความทรงจำว่าการเยือนในฐานะแขกทางการเช่นที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ มีมาก่อนหน้าครั้งนายกฯ อาเบะ (ผู้ล่วงลับ) เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว นั่นคือปี 2015 ซึ่งเป็นปีก่อนประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะหมดวาระ (2009-2016) สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสอันเป็นที่จดจำของผู้นำญี่ปุ่นมีขึ้นท่ามกลางบริบทที่รัฐบาลอาเบะมีข้อริเริ่มใหม่ๆ ในยุทธศาสตร์ความมั่นคง เพื่อแสดงให้พันธมิตรได้ตระหนักว่าญี่ปุ่นเห็นคุณค่าและความสำคัญต่อสหรัฐฯ แค่ไหน และยินดีเป็นฝ่ายรุกเข้าหาเพื่อกระชับไมตรีให้โลกและศัตรูได้เห็น

ในปีท้ายสุดที่โอบาม่ากำลังจะหมดวาระ เรายังเห็นความพยายาม ซึ่งเมื่อมองเทียบกับการเยือนของคิชิดะล่าสุดนี้ ดูจะเป็นเหมือน ‘เดจาวู’ โดยครั้งนั้นมีการจัดแจงถึงขนาดให้โอบาม่าเดินทางไปเยือนอนุสรณ์สถานรำลึกการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า และอาเบะ ก็ตอบแทนด้วยการเยือนเพิร์ลฮาร์เบอร์ อันเป็นสมรภูมิเริ่มต้นของสงครามแปซิฟิก โดยทั้งสองเหตุการณ์นี้ถือเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในความสัมพันธ์

แต่ภาพดังกล่าวก็เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการผลัดเปลี่ยนผู้นำและการส่งไม้ต่อจากรัฐบาลโอบาม่าที่หลายคนประเมินว่า ‘เหนื่อยล้าอ่อนแรง’ ต่อการแสดงบทบาทผู้นำโลก ทั้งยังด้อยความแน่วแน่เด็ดขาดอย่างในวิกฤตซีเรีย (2012) และไครเมีย (2014) ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ที่ขึ้นมาก็พยายามโละรื้อทุกธรรมเนียมปฏิบัติในยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐฯ หันไปญาติดีกับรัสเซียและเกาหลีเหนือ แม้จะปฏิบัติต่อจีนเยี่ยงศัตรูตัวฉกาจชัดเจนมากขึ้นสมัยที่เขาเป็นผู้นำก็ตาม

ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะประคองพันธมิตรให้ยังคงทำงานอยู่ได้ระหว่างรัฐบาลทรัมป์ แต่ก็สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียกลไกป้องปรามเมื่อสหรัฐฯ ละเลยที่จะแสดงความแน่วแน่ในการคุ้มครองพันธมิตรอย่างแต่ก่อน เวลานี้ที่จีนทวีความทะเยอทะยานมากขึ้น พร้อมกับแสนยานุภาพที่เข้มแข็งขึ้น ในขณะที่พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ ต้องกระจายความสนใจและทรัพยากรไปจัดการวิกฤตในที่ต่างๆ ของโลก การป้องปรามผ่านการส่งสัญญาณให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองภายในเช่นนี้ จึงเป็นเงื่อนเวลาที่ทั้งจำเป็นและคงไม่มีจังหวะไหนเหมาะไปกว่านี้สำหรับพันธมิตรทั้งสองที่จะย้ำให้เห็นว่าพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ จะยังคงเป็นเสาหลักค้ำจุนระเบียบโลกที่แข็งแกร่งต่อไป

แหล่งอ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save