fbpx

ญี่ปุ่นกับเงินซุกมุ้งใน LDP ที่กำลังเป็นกรณีอื้อฉาวใหม่ทางการเมือง

เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินการเมืองในพรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือพรรค LDP ที่แดงขึ้นมาในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ดูจะตอกย้ำทัศนะฝังแน่น (stereotype) อย่างหนึ่งซึ่งมักพบในวาทกรรมที่นำเสนอเรื่องราวในสังคมญี่ปุ่น นั่นคือภาพลักษณ์ที่ว่าภายใต้ฉากหน้าอันสมบูณ์แบบและได้มาตรฐาน มีโลกอีกด้านอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนและเสื่อมทรามดำเนินอยู่ และวันดีคืนดีโลกด้านนี้อาจถูกเปิดเผยออกมาเป็นข่าวอื้อฉาวต่อสาธารณชน

กรณีเงินการเมืองที่สมาชิกรัฐสภาของพรรค LDP จำนวนมากมีส่วนพัวพัน ขนาดที่ทำให้แกนนำในรัฐบาลหลายคนต้องลงจากตำแหน่งเมื่อปลายปีที่แล้ว และทำให้ฐานความชอบธรรมของนายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ ง่อนแง่นเข้าไปอีก ที่สำคัญยังทำให้มีการสลายกลุ่มก๊กหรือมุ้งการเมือง (派閥 / habatsu หรือ faction ในภาษาอังกฤษ) ใน LDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ้งใหญ่สุดซึ่งเคยนำโดยอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ และมีสมาชิกในสังกัดเกือบร้อยคน ได้เผยให้เห็นด้านมืดใน LDP ที่ดำรงอยู่คู่ขนานมากับระบบกฎเกณฑ์ที่รับประกันความโปร่งใสในทางการเมือง

เหตุการณ์นี้ยิ่งขับเน้น stereotype ที่พบได้ตามงานวิเคราะห์การเมืองและการต่างประเทศของญี่ปุ่นซึ่งมักสะท้อนให้เห็นความพิเศษ พร้อมไปกับความน่าฉงนในการเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะของชนชาตินี้ โดยมองพฤติกรรมที่ว่าประกอบด้วย ‘เบื้องหน้า’ สำหรับเสนอแก่ผู้ชม (建前/ tatemae) และ ‘เบื้องหลัง’ ที่เก็บงำความจริงไว้ (本音/ honne) ซึ่งอาจเป็นเรื่องตรงข้ามและไม่น่าพิสมัยเสียเท่าไหร่

แนวคิด tatemae – honne ยังมักถูกใช้อธิบายความยุ่งยากในการเข้าใจ ‘ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล’ ของผู้คนญี่ปุ่นด้วย ในแง่ที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะทลายกำแพงแห่งแบบแผนพฤติกรรม ความเกรงใจ และมารยาทเพื่อเข้าไปรับรู้ความคิดในจิตใจได้ ปัญหานี้ทำให้คนต่างถิ่นที่ไม่คุ้นชินกับสังคมและ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ประสบกับระยะห่าง ความงงงวย และรู้สึกว่ายากที่จะสนิทสนมกับคนญี่ปุ่นได้ เช่นเดียวกับวงการเมือง ธุรกิจ และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ‘ฉาบหน้า’ ความเป็นชาติชั้นนำอาจไม่ได้ฉายความจริงให้เราเห็นทั้งหมด

ภายใต้ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้ซ่อนปัญหาที่หมักหมมมานานจนเกิดเป็นวิถีปฏิบัติอีกด้านที่ซ้อนทับกับโลกเบื้องหน้า ภาพลักษณ์นี้จึงไม่ใช่แค่ stereotype แต่มีส่วนจริงไม่น้อย โดยยิ่งเมื่อนำไปมองกับเรื่องอื้อฉาวก่อนหน้านี้อย่างกรณีการเปิดโปงว่าสมาชิก LDP มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มศาสนา Unification Church หรือข่าวที่บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นปิดบังความบกพร่องและปัญหาในเทคโนโลยีของตนมานานหลายทศวรรษ จนส่งผลเสียเป็นวงกว้างไม่เฉพาะในญี่ปุ่นแต่ลามไปถึงชาติอื่นที่พึ่งพิงเทคโนโลยีญี่ปุ่นด้วย

ข้อเขียนนี้มุ่งสนใจปัญหาเงินการเมืองที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวกระทบทั้งต่อพรรค LDP และรัฐบาลนายกฯ คิชิดะในขณะนี้ โดยจะพิจารณาที่มาของปัญหาโยงกับแบบแผนการเมืองเรื่องมุ้งใน LDP และดูว่าผลพวงของกรณีนี้ก่อให้เกิดอะไรตามมา ตลอดจนความพยายามจัดการปัญหา สิ่งที่น่าจับตาคือบรรทัดฐานของสังคมญี่ปุ่นที่แม้อาจมีด้านมืดแฝงเร้นอยู่ในหลายวงการ แต่เมื่อเรื่องเหม็นเน่าถูกเปิดเผยออกมาแล้ว ระบบและวัฒนธรรมในสังคมนี้ไม่ปล่อยให้ปัญหาเงียบหายไปเฉยๆ

กรณีเบียดบังเงินการเมืองเรื่องอื้อฉาวระลอกใหม่ใน LDP

กรณีอื้อฉาวครั้งนี้ที่โยงใยหลายฝ่ายใน LDP อาจเปรียบได้กับคลื่นสึนามิลูกใหญ่อีกระลอกที่กระหน่ำใส่เรือลำผุของรัฐบาลคิชิดะ ซึ่งที่ผ่านมามีคะแนนนิยมลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย บางผลสำรวจในบางช่วงเวลาคะแนนตกต่ำลงกว่าร้อยละ 20 ขณะที่ความไม่พอใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเป็นเพราะกรณีอื้อฉาวทางการเมืองไม่ว่าเรื่องที่ สส. LDP จำนวนมากมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มศาสนาที่รีดไถเงินผู้คน กอปรกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายเกี่ยวกับการลดและเพิ่มภาษีที่ยังดูไม่ชัดเจนและไม่น่าเชื่อถือ

เมื่อปลายปีที่แล้ว สำนักงานอัยการกรุงโตเกียวพบว่ากลุ่มการเมืองใน LDP โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ้งใหญ่สุดซึ่งก่อนหน้านี้มีอดีตนายกฯ อาเบะ เป็นหัวหน้าและมีสมาชิกสภา (อันหมายรวมถึงทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ) ในสังกัดถึง 99 คน กระทำผิดกฎหมายควบคุมเงินการเมือง (Political Fund Control Law) โดยปกปิดหรือละเลยการแจ้งยอดรายได้บางส่วนจากกิจกรรมระดมทุน เงินส่วนนี้ที่สื่อเรียกติดปากว่า ‘เงินทุจริต’ (裏金/ uragane หรือ slush fund) ซึ่งคาดว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคิดรวมได้ราว 500-1,000 ล้านเยน ถูกแจกจ่ายให้สมาชิกหลายคนในมุ้งซึ่งก็ไม่ได้รายงานเงินส่วนนี้ในบัญชีรายรับของตน

เนื่องจากมุ้งอาเบะเป็นมุ้งใหญ่ที่สุดและทรงอิทธิพลในพรรค ทำให้สมาชิกหลายคนในสังกัดดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ในคณะรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารพรรค ข่าวอื้อฉาวนี้จึงส่งผลให้เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้นำหลายคนในรัฐบาลพร้อมหน้ากันลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดฐานที่ไม่ได้แจ้งบัญชีเงินที่ได้รับจากมุ้งอย่างถูกต้อง น่าตกใจเมื่อนักการเมืองเหล่านี้ยอมรับว่าได้กระทำการดังกล่าวต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

ในหมู่ผู้ที่ประกาศลาออกมี ฮิโรคะซึ มัทสึโนะ ประธานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ยะสึโตชิ นิชิมุระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม, จุนจิ ซุซุกิ รัฐมนตรีมหาดไทย, อิจิโร่ มิยะชิตะ รัฐมนตรีเกษตร รวมทั้ง โคอิจิ ฮางิอุดะ ประธานกรรมการนโยบายของพรรค ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งระดับสูงและเป็นสมาชิกสภาในสังกัดมุ้งการเมืองใหญ่ที่สุดหรือมุ้งอาเบะ ซึ่งมีชื่อทางการว่า Seiwa Sesaku Kenkyukai หรือ ‘เซวะคัย’

ซ้ำร้ายกลุ่มการเมืองใน LDP ที่ตกที่นั่งลำบากจากการเปิดโปงครั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเซวะคัยเพียงมุ้งเดียว แต่ยังสืบสวนพบการกระทำผิดลักษณะเดียวกันในกลุ่มการเมืองของนายกฯ คิชิดะ ซึ่งมีชื่อทางการว่า Kochi Sesaku Kenkyukai หรือ ‘โคจิคัย’ (ใหญ่เป็นอันดับ 4) และกลุ่มของ โตชิฮิโระ นิคัย อดีตเลขาธิการพรรคในสมัยอาเบะ ที่มีชื่อทางการของกลุ่มว่า ‘ชิซุอิคัย’ (ใหญ่เป็นอันดับ 5) ด้วย

ก่อนที่จะสำรวจว่าเรื่องอื้อฉาวระลอกนี้มีสาเหตุจากอะไร อยากเสนอภาพ ‘การเมืองเรื่องมุ้ง’ ของ LDP ในภาพใหญ่ว่ามีความเป็นมาอย่างไรและมีบทบาทหน้าที่อะไรถึงได้กลายเป็นแบบแผนและสถาบันภายในพรรคเรื่อยมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับปัญหาเงินการเมืองที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้

บทบาทหน้าที่ของมุ้งการเมืองใน LDP

มุ้งการเมือง หรือ faction เป็นเครื่องมือจัดการอิทธิพลและเกมการต่อรองทางการเมืองระหว่างสมาชิกของพรรค LDP ซึ่งครองอำนาจบริหารประเทศมาเป็นเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่ นับแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา

พรรค LDP ถือกำเนิดในปี 1955 จากการรวมตัวของสองพรรคอนุรักษนิยมใหญ่ ได้แก่ พรรคประชาธิปไตย นำโดย อิจิโร่ ฮะโตยะมะ และพรรคเสรีนิยม นำโดย ชิเงรุ โยชิดะ โดยสองพรรคนี้มีจุดยืนร่วมกันที่จะทัดทานอิทธิพลของกลุ่มฝ่ายซ้าย อันได้แก่พรรคสังคมนิยมซึ่งถือเป็นพรรคใหญ่ที่มีบทบาทมากในเวลานั้น จากการรวมตัวกันนี้ทำให้เกิดการเกาะกลุ่มพันธมิตรและฝักฝ่ายบนจุดยืนและสายสัมพันธ์ที่แตกต่างกันของสมาชิกภายในพรรค มุ้งใน LDP ค่อยๆ กลายเป็นสถาบันที่เหนียวแน่นและเป็นสิ่งจำเป็นต่อสมาชิกในเวลาต่อมา

แม้ LDP จะผูกขาดอำนาจรัฐแบบที่มีเพียงไม่กี่ครั้งและไม่กี่ช่วงปีที่พรรคการเมืองอื่นแทรกขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ ซึ่งก็สะท้อนความอ่อนแอของพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ในการเมืองญี่ปุ่น แต่การมีมุ้งใน LDP ก็ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจจากภายใน คอยตรวจสอบและกดดันซึ่งกัน รวมทั้งทำให้เกิดพลวัตทางนโยบายด้วย เพราะนอกจากการจับกลุ่มก๊กบนเงื่อนไขของสายสัมพันธ์แล้ว มุ้งยังวิวัฒน์จากการเกาะกลุ่มของผู้ที่สนใจสนับสนุนวาระหรือนโยบายในแนวทางเดียวกันอีกด้วย

จะเห็นได้ว่ามุ้งที่ก่อตัวขึ้นหลังปี 1955 และทำงานมาถึงตอนนี้ ส่วนหนึ่งมีจุดตั้งต้นจากความเห็นพ้องเชิงแนวคิดนโยบายหรืออุดมการณ์ ดังสะท้อนจากชื่อมุ้งอย่างที่ได้เอ่ยถึงมาบ้างข้างต้น มักจะประกอบด้วยคำว่า ‘คณะศึกษา’ (研究会 / kenkyukai) ซึ่งสื่อถึงเป้าประสงค์ของการตั้งกลุ่มขึ้นศึกษาแนวนโยบายบางอย่างเพื่อผลักดันไปสู่ระดับรัฐบาล

กลุ่มการเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่จนบัดนี้คือกลุ่ม โคจิคัย ของนายกฯ คิชิดะ ซึ่งเขารับบทบาทเป็นหัวหน้ากลุ่มมาจนปลายปีที่แล้ว ก่อนลงจากตำแหน่งเพราะถูกกดดันและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากลูกพรรคหลายคนที่มองว่าเป็นการผิดธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ จะยังคงเป็นหัวหน้ามุ้งในสังกัดของตน นี่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมใน LDP และการเล่นเกมการเมืองแบบต่อสู้แข่งขันระหว่างกันมากกว่าความเป็นเอกภาพภายในพรรค

นอกจากการเป็นกลุ่มหนุนนโยบาย (policy caucus) แล้ว มุ้งยังมีบทบาทสำคัญเป็นแหล่งที่มาของทุนสำหรับกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและหล่อเลี้ยงฐานเสียงของสมาชิกสภา จำนวนสมาชิกที่เข้าไปนั่งในรัฐสภามีส่วนสำคัญอีกต่อหนึ่งในการจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลและกรรมการบริหารพรรคให้แก่คนในสังกัด มุ้งใหญ่จึงมีอิทธิพลต่อเกมการเมืองภายในพรรคที่มีผลต่อการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทุกๆ 3 ปี ซึ่งในยามที่ LDP เป็นรัฐบาลก็ถือเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศไปด้วยโดยปริยาย

ระบบการเลือกตั้งอันเป็นปัจจัยส่งเสริมวัฒนธรรมมุ้ง

ก่อนการปฏิรูประบบการเลือกตั้งช่วงต้นทศวรรษ 1990 มุ้งเคยมีความสำคัญมากภายใต้การเลือกตั้งระบบเก่าที่ใช้วิธีแบ่งเขต ‘แบบมีผู้แทนเขตละหลายคน’ (multi-member district) ทำให้ในหนึ่งเขต ผู้สมัครจาก LDP ไม่เพียงต้องชิงคะแนนเสียงกับผู้สมัครจากพรรคอื่นเท่านั้น แต่อาจต้องแข่งกับผู้สมัครพรรคเดียวกันเองที่ลงเลือกตั้งในเขตเดียวกัน บริบทนี้ทำให้การแข่งขันหาเสียงและรักษาฐานเสียงหรือหัวคะแนนในเขต (後援会/ kouenkai) เป็นไปอย่างดุเดือด ซึ่งนำมาสู่การต้องใช้เงินมหาศาลในการต่อสู้ช่วงชิงคะแนนโดยเฉพาะกับผู้สมัครของ LDP ด้วยกัน

การแข่งขันในระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ไม่เพียงทำให้การหาทุนสำหรับดำเนินกิจกรรมการเมืองเป็นเรื่องสำคัญจนถูกมองว่าก่อให้เกิดกรณีคอร์รัปชันหลายครั้งและปัญหา ‘การเมืองที่ใช้เงินเป็นปัจจัยหลัก’ (money politics) แต่ยังเป็นบริบทที่เกื้อหนุนการแบ่งกลุ่มใน LDP เพื่อเป็นฐานสนับสนุนผู้สมัครมุ้งของตนแข่งขันกับมุ้งอื่น โดยเป็นทั้งฐานทางการเงิน ผ่านการช่วยกันระดมทุน และฐานส่งผู้มีอำนาจของกลุ่มขึ้นดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ข้อเสียอีกประการของระบบเลือกตั้งแบบนี้คือการแข่งขันหาเสียงที่ยึดตัวบุคคลมากกว่าให้ความสำคัญกับจุดยืนเชิงนโยบาย

แต่แม้จะมีการปฏิรูปแนวการเลือกตั้งนับจากปี 1994 เป็นต้นมา สถาบันมุ้งใน LDP ก็ยังคงสืบต่อมรดกจากรุ่นสู่รุ่นโดยปรับบทบาทให้สอดรับกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่หรือแบบ ‘เขตเดียวเบอร์เดียว’ (single member district) ที่หนึ่งเขตมีผู้แทนได้เพียงคนเดียว ทำให้หมดปัญหาการชิงพื้นที่กันเองของ สส. ในพรรค แต่มุ้งก็ยังคงทำหน้าที่ระดมทุนสำหรับกิจกรรมการเมืองของสมาชิกในสังกัดและดำเนินเกมถ่วงดุลอำนาจในหมู่ผู้มีอิทธิพลในพรรค และยังคงเป็นฐานการส่งผู้นำกลุ่มขึ้นดำรงตำแหน่งใหญ่ๆ ในรัฐบาล

ยกตัวอย่าง เช่น การได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคของคิชิดะเมื่อปลายปี 2021 ที่ทำให้เขาได้เป็นนายกฯ มาจนถึงตอนนี้ แม้เขาจะไม่ใช่ตัวเต็งในสายตาผู้สังเกตการณ์และสาธารณชนมาแต่ต้น แถมยังเป็นผู้นำมุ้งขนาดกลางๆ ในพรรค (แม้จะเป็นมุ้งเก่าแก่ที่สุดในเวลานี้ก็ตาม) แต่การเมืองใน LDP โดยเฉพาะแรงหนุนจากมุ้งอื่นๆ ตลอดจนแนวนโยบายที่พอถูไถไปกันได้กับมุ้งใหญ่สุดของอาเบะ ทำให้เขาได้รับคะแนนจากสมาชิกข้างมากในพรรคจนสามารถขึ้นเป็นผู้นำได้

ถึงแม้ในตอนแรกคิชิดะจะเผชิญข้อกังขาว่าจะเป็นนายกฯ ได้ครบวาระไหม แต่เวลา 2 ปีกว่าที่เขายืนหยัดฝ่าเรื่องอื้อฉาวของ LDP โดยยังไม่สละตำแหน่งไปเสียก่อน ก็ทำให้เขากลายเป็นนายกฯ ที่อยู่ในเก้าอี้นานเป็นอันดับที่ 10 ในบรรดานายกฯ ญี่ปุ่นทั้งหมด 64 คนนับจากมีระบบคณะรัฐมนตรีขึ้นในสมัยเมจิ นี่สะท้อนให้เห็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ส่วนใหญ่ที่ค่อนข้างสั้น ถึงกระนั้นคิชิดะก็ใกล้ครบวาระการเป็นหัวหน้าพรรค 3 ปีเต็มที หากเขาไม่ชิงลาออกเพราะกรณีอื้อฉาวล่าสุดนี้ก่อน เขาก็คงต้องเผชิญกับการเมืองในพรรคในการชิงตำแหน่งหัวหน้าอีกสมัยในเดือนกันยายนปีนี้

สถานการณ์ปัจจุบันของสถาบันมุ้งใน LDP

ในส่วนนี้อยากให้รายละเอียดเกี่ยวกับมุ้งใน LDP อีกสักหน่อย จวบจนปลายปีที่แล้วก่อนการขุดคุ้ยเรื่องเงินทุจริต สมาชิกสภาในพรรคทั้งหมด 376 คน ส่วนใหญ่แล้วสังกัดมุ้งใดมุ้งหนึ่งในทั้งหมด 6 มุ้ง มีเพียง 77 คน ที่ไม่สังกัดมุ้งใด (無派閥 / muhabatsu) เดิมที LDP มีทั้งหมด 7 มุ้ง แต่ปลายปี 2021 ชิเงรุ อิชิบะ อดีตเลขาธิการพรรค ผู้มักออกมาวิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อจนได้รับความนิยม ได้สลายมุ้งของเขาที่ตั้งขึ้นปี 2015 (สมาชิก 12 คน ณ ตอนยุบ) หลังจากไม่อาจบรรลุเป้าที่จะส่งเขาขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคมาหลายรอบ เหลือเป็นกลุ่มแบบไม่เป็นทางการเพื่อศึกษาและผลักดันนโยบายร่วมกัน

ณ สิ้นปี 2023 มุ้งทั้ง 6 ในพรรคซึ่งสื่อญี่ปุ่นมักเรียกชื่อตามหัวหน้ามุ้ง เรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็กได้ดังนี้

  1. มุ้งอาเบะ สมาชิก 99 คน เคยนำโดยอดีตนายกฯ อาเบะก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหาร จากนั้นกลุ่มใช้ระบบคณะผู้นำร่วมบริหารจัดการงานของมุ้งเรื่อยมา
  2. มุ้ง (ทาโร่) อะโซ ผู้เป็นรองหัวหน้าพรรค มีสมาชิก 56 คน
  3. มุ้ง (โตชิมิทสึ) โมเตงิ เลขาฯ พรรคคนปัจจุบัน มีสมาชิก 53 คน
  4. มุ้งคิชิดะ นายกฯ คนปัจจุบัน มีสมาชิก 46 คน
  5. มุ้ง (โตชิฮิโระ) นิคัย อดีตเลขาฯ พรรคสมัยอาเบะ มีสมาชิก 40 คน
  6. มุ้ง (ฮิโรชิ) โมริยะมะ มีสมาชิก 8 คน มุ้งเล็กสุดนี้เดิมมี โนบุเทรุ อิชิฮะระ อดีตเลขาฯ พรรคเป็นหัวหน้าแต่เมื่อเขาแพ้เลือกตั้งปลายปี 2021 มุ้งนี้จึงให้โมริยะมะเป็นผู้นำต่อ

มุ้งคิชิดะ หรือ Kochikai เป็นมุ้งเก่าแก่ที่สุดตั้งขึ้นโดยนายกฯ ฮะยะโตะ อิเคดะ เมื่อต้นทศวรรษ 1960 โดยมีจุดเด่นคือการหันทิศทางนโยบายที่เน้นความมั่นคงของรัฐบาลชุดก่อนหน้ามาเน้นเศรษฐกิจเป็นหลัก กลุ่มนี้จึงมีภาพลักษณ์ ‘สายพิราบ’ (dovish) ใฝ่สันติในการต่างประเทศ ตรงกันข้ามกับมุ้งอาเบะ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นปรับนโยบายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านกลาโหม มุ้งอาเบะซึ่งตั้งขึ้นโดยนายกฯ ทาเคโอะ ฟุคุดะ ปลายทศวรรษ 1970 มีเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อปัดกวาดการเมืองให้สะอาดผุดผ่องจากปัญหาทุจริตที่ LDP เผชิญมา ดังสะท้อนจากชื่อทางการของกลุ่มว่า เซวะ (清和会) หรือ ใสสว่าง

แต่ไม่วาย ปัญหาเงินทุจริตและการกระทำผิดรอบนี้ก็มีจุดศูนย์กลางของแรงสั่นสะเทือนอยู่ที่มุ้งอาเบะ แม้จะไม่ใช่มุ้งเดียวที่มีส่วนพัวพันแต่ก็รับบทหนักสุด ต้นเหตุดูจะมาจากแบบแผนการระดมทุนเข้ากลุ่มที่ถือปฏิบัติมาเนิ่นนานและหลุดรอดการตรวจสอบมาตลอด โดยปกติสมาชิกมุ้งจะได้รับมอบหมายให้ขาย ‘บัตรงานเลี้ยง’ เพื่อระดมทุน โดยกำหนดเป้าการขายบัตรตามแต่ตำแหน่งและชั่วโมงบินในสภาที่แตกต่างกันไปของสมาชิก เงินส่วนที่ขายบัตรได้เกินจำนวนเป้าที่กำหนดนำเข้ามุ้ง สมาชิกจำนวนหนึ่งเก็บเป็นของตนเองหรือไม่ก็ได้เป็นค่าตอบแทนจากมุ้ง โดยสื่อเรียกเงินส่วนนี้ว่า ‘เงินตอบแทนใต้โต๊ะ’ (キックバック/kickback)

แรงกระเพื่อมและปฏิกริยาตอบสนอง

การระดมทุนเช่นนี้ไม่ได้ผิดกฎหมายควบคุมเงินการเมืองโดยตรง แต่ปัญหาอยู่ที่ทางกลุ่มไม่ได้รายงานเงินส่วนที่สมาชิกขายบัตรได้เกินกว่าเป้าในบัญชีแจ้งยอดรายได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องรายงานรายรับ-รายจ่ายทางการเมืองเพื่อความโปร่งใส อัยการตรวจพบว่าเหล่าแกนนำในมุ้งผู้มีตำแหน่งสูงในรัฐบาลได้รับเงินตอบแทนโดยไม่มีการแจ้งยอดในบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด โดยอ้างเหตุผลว่าตนไม่ทราบว่าต้องรายงาน หรือได้รับการบอกกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องรายงานค่าตอบแทนดังกล่าว

ที่น่าตกใจไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนเงินส่วนนี้ที่คิดรวมแล้วสูงถึงราว 600 ล้านเยนสำหรับมุ้งอาเบะ โดยแจกจ่ายให้สมาชิกบางคนถึงหลายสิบล้านในช่วง 5 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2018-2022) แต่เป็นเรื่องการกระทำที่ดำเนินต่อเนื่องมานาน อย่างที่ จุนจิ ซุซุกิ รัฐมนตรีมหาดไทยที่ติดร่างแหเรื่องนี้ให้สัมภาษณ์สื่อว่ากลายเป็นธรรมเนียม หรือ ‘วัฒนธรรม’ ที่ถือปฏิบัติของมุ้งไปแล้ว อีกอย่างคือมีรายงานว่าตอนที่มีการปรับคณะผู้นำมุ้งหลังอาเบะถูกลอบสังหารกลางปี 2022 ได้มีเสียงทักท้วงให้ยุติการกระทำดังกล่าวอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่อาจทัดทานวิถีที่ดำเนินมาจนเป็นความเคยชินได้

อีก 2 มุ้งใน LDP ที่อัยการสืบสวนพบความบกพร่องของรายงานยอดเงินการเมืองคือ ‘มุ้งนิคัย’ ซึ่งมีแนวทางระดมเงินด้วยการขายบัตรงานเลี้ยงเช่นกัน และไม่ได้แจ้งยอดรายได้ที่ขายเกินจากเป้าราว 100 ล้านเยนในช่วง 5 ปี (2018-2022) และมุ้งคิชิดะ ซึ่งพบความผิดแบบเดียวกันแต่ในวงเงินต่ำกว่า (20 ล้านเยน) ขณะที่ 2 มุ้งหลังนี้ยังดีที่ได้รายงานวงเงินซึ่งให้ตอบแทนแก่สมาชิก (kickback) ในรูปบัญชีค่าใช้จ่ายของมุ้ง และสมาชิกผู้รับเงินก็รายงานบัญชีรายรับส่วนนี้ของตน แต่มุ้งอาเบะไม่ได้รายงานเงินส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย จึงเป็นที่เพ่งเล็งมากกว่ามุ้งอื่น

ในช่วง 2-3 เดือนที่เรื่องนี้แดงขึ้นมา การเมืองและกฎหมายญี่ปุ่นได้เคลื่อนไหวเพื่อจัดการอะไรไปแล้วบ้าง ดังที่ได้กล่าวมาการแสดงความรับผิดชอบอย่างแรกของ LDP คือการลาออกจากตำแหน่งรัฐบาลเมื่อกลางเดือนธันวาคมของแกนนำที่มีเอี่ยวจากมุ้งอาเบะ ในกลุ่มนี้มีผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญอย่างโฆษกรัฐบาลและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ต่อมาในเดือนมกราคม 3 มุ้งที่พบการกระทำผิดประกาศสลายมุ้งของตนเอง ขณะที่คิชิดะสั่งการให้พรรคศึกษาทบทวนเรื่องการแบ่งมุ้งและกฎเกณฑ์ควบคุมเงินการเมืองในพรรค ถึงกระนั้นมุ้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างมุ้งอะโซ และโมเตงิ ยังคงยืนกรานจะรักษากลุ่มของตนต่อไป

อัยการได้ฟังคำให้การโดยสมัครใจจากสมาชิกหลายคนจากมุ้งอาเบะเพื่อสืบสาวต้นตอปัญหา และได้สั่งฟ้องอดีตเจ้าหน้าที่บัญชีของ 3 มุ้ง ตลอดจนสมาชิกสภาของมุ้งอาเบะบางรายที่ได้รับเงินตอบแทนจำนวนมากโดยปราศจากการแจ้งยอดเงิน ขณะที่ก็ให้มุ้งปรับตัวเลขรายงานบัญชีใหม่ให้ตรงตามความเป็นจริง แม้การดำเนินคดียังคงจำกัดวงอยู่ แต่ LDP ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิรูปการเมือง (political reform headquarters) ขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม และล่าสุดเมื่อต้นเดือนนี้ก็ได้ตั้งคณะตรวจสอบภายในพรรคขึ้นเพื่อสืบสวนปัญหาและได้มีการรายงานข้อมูลออกมาเมื่อไม่นานนี้

ความกว้างและลึกของปัญหา

คณะทำงานเพื่อปฏิรูปการเมืองของ LDP ซึ่งมีสมาชิก 38 คน และเริ่มประชุมกันเมื่อเดือนมกราคม ถูกวิจารณ์โดยทันทีเมื่อพบว่ากรรมการที่มาจากมุ้งอาเบะ 9 ใน 10 คน รวมถึงรักษาการประธานคณะฯ ถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ได้รายงานยอดเงินตอบแทนใต้โต๊ะอย่างถูกต้อง ปลายเดือนมกราคม คณะทำงานชุดนี้ได้มีคำแนะนำออกมาว่าทางพรรคควรเลิกใช้มุ้งเป็นเครื่องมือหาทุนทางการเมือง แต่แทนที่จะเสนอให้สลายระบบมุ้งโดยสิ้นเชิง คณะทำงานมองว่าควรเปลี่ยนบทบาทมุ้งเป็นกลุ่มผลักดันนโยบาย (policy group) แทน และควรจัดสรรตำแหน่งการเมืองให้สมาชิกอย่างทั่วถึงมากกว่ากระจุกอยู่กับสมาชิกมุ้งใดมุ้งหนึ่ง

สำหรับคณะตรวจสอบได้ออกรายงานมาช่วงกลางเดือนนี้ โดยพบว่าพฤติกรรมการรับเงินตอบแทนใต้โต๊ะโดยไม่ได้รายงานในบัญชีอย่างถูกต้องอาจมีมานานกว่าทศวรรษในมุ้งอาเบะ โดยเงินส่วนนี้ถูกใช้ทั้งในทางการเมืองและเรื่องส่วนตัว จากการไต่สวนในพรรคพบด้วยว่ากว่า 30 คนรู้ว่าเงินที่ตนได้รับนั้นเป็นค่าตอบแทนใต้โต๊ะตั้งแต่แรก ส่วนหนึ่งรู้ตัวด้วยว่าไม่ได้รายงานเงินส่วนนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย คณะตรวจสอบยังพบว่าจากสมาชิกสภาของพรรคทั้งหมดราว 380 คน มีอยู่ถึง 85 คน ที่ได้รับเงินตอบแทนจากการระดมทุนโดยไม่ได้แจ้งในบัญชีตามกฎหมาย

พรรคฝ่ายค้านไม่ได้รู้สึกว่าการตรวจสอบกันเองใน LDP ตลอดจนรายงานที่ออกมามีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และได้รวมตัวกดดันให้รัฐสภาเปิดประชุม ‘กรรมาธิการจริยธรรมทางการเมือง’ (Political Ethics Committee) โดยนำสมาชิกที่พัวพันกรณีนี้มาให้การ (hearing) กรรมาธิการนี้ซึ่งมีทั้งของวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ ไม่ได้ประชุมกันเป็นประจำแต่จะทำงานเมื่อมีกรณีความผิดเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งของกรรมาธิการอนุมัติให้มีการเรียกประชุม และแม้จะมีสิทธิเรียกตัวสมาชิกสภามาให้การได้แต่ก็ขึ้นกับความสมัครใจของบุคคลว่าจะกระทำตามหรือไม่ด้วย

ล่าสุดฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้เจรจาตกลงกันให้จัดประชุมกรรมาธิการจริยธรรมสำหรับสภาผู้แทนฯ ขึ้นแล้ว และมีกำหนดจะประชุมและเรียกสมาชิก LDP มาให้การในเร็วๆ นี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีที่มีการตั้งกรรมาธิการนี้ขึ้น โดยครั้งสุดท้าย (ปี 2009) เป็นการพิจารณากรณีอื้อฉาวเรื่องเงินการเมืองของยูคิโอะ ฮะโตยะมะ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านในเวลานั้น โดยการผลักดันของฝ่ายรัฐบาล การเรียกประชุมกรรมาธิการจริยธรรมซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยจึงกระตุ้นความสนใจของสาธารณชนเป็นอย่างมากเนื่องจากสะท้อนความร้ายแรงของปัญหาที่ซุกซ่อนไว้

ฝ่ายค้านกับ LDP กำลังต่อรองกันว่าจะให้สมาชิกที่เกี่ยวข้องจำนวนเท่าไหร่และคนใดบ้างเข้าให้การ ซึ่งฝ่ายค้านอาศัยกรอบเวลาที่รัฐบาลต้องผ่านร่างงบประมาณสำหรับปีหน้าในสภาให้ได้ในเดือนมีนาคมนี้ เป็นเงื่อนไขต่อรองกับนายกฯ ให้จำใจส่งลูกพรรคหลายคนเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการ กระบวนการตรวจสอบนี้ ตลอดจนสิ่งที่สมาชิกระดับสูงของ LDP จะเผยออกมาคงส่งผลสะเทือนไม่น้อยต่อตำแหน่งนายกฯ และความนิยมต่อพรรคที่ย่ำแย่มาอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่มีเสียงคาดการณ์ว่าคิชิดะอาจถึงคราต้องลงจากตำแหน่งจริงๆ

LDP อาจยังกุมอำนาจต่อไปได้ท่ามกลางกระแสก่นด่า เนื่องจากการเลือกตั้งผู้แทนตามวาระจะไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปีหน้า (2025) แต่คิชิดะอาจต้องถูกสังเวยระหว่างทางหรือไม่ก็ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคปลายปีนี้ อันเป็นวิธีปรับโฉมของพรรคที่มักทำกันมาแต่อดีตโดยหวังว่าผู้นำคนใหม่จะทำให้ความนิยมกระเตื้องขึ้นบ้าง การยุบสภาตอนนี้คงไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับ LDP นัก แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่เข้มแข็งในสายตาประชาชน แต่ที่นั่งในสภาที่ลดน้อยถอยลงย่อมทำให้รัฐบาลทำงานได้ลำบาก

ความเพลี่ยงพล้ำจนแพ้เลือกตั้งและหลุดจากการเป็นรัฐบาลของ LDP ไม่กี่ครั้งในอดีตล้วนเกิดจากกรณีทุจริตอื้อฉาว หากการเปิดโปงโลกคู่ขนานในพรรครอบล่าสุดที่เผยให้เห็นแบบแผนการทำผิดกฎหมายที่ดำเนินมานานนับทศวรรษนี้ยืดเยื้อและถูกตอกย้ำโดยฝั่งฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่อง หรือสาวให้เห็นปัญหาอื่นๆ ที่แอบแฝงในการเมืองระหว่างมุ้งของ LDP เพิ่มเติมตามมาจนถึงปีหน้า อาจทำให้มติมหาชนหันเหไปหาตัวเลือกทางการเมืองอื่นและอาจส่งผลให้ฝ่ายค้านบางพรรคผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้

สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือการเมืองญี่ปุ่นไม่ปล่อยให้กรณีอื้อฉาวทำนองนี้ซาไปโดยไม่มีการปฏิรูปใหญ่เกิดขึ้น แม้บ่อยครั้งเราจะเห็นข่าวว่าในแต่ละวงการของญี่ปุ่น วันดีคืนดีก็จะมีการเปิดโปงเงื่อนงำการกระทำผิดที่มีมูลมานานซุกอยู่หลังฉากหน้าที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย การจัดการเรื่องเงินมุ้งใน LDP จนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกึ่งกลางทาง จากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอย่างการประกาศยุบมุ้งเก่าแก่ไปจนถึงตั้งกรรมาธิการจริยธรรมขึ้นไต่สวนปมปัญหาล้วนถือเป็นเรื่องใหญ่ในการเมือง ซึ่งก็น่าติดตามต่อไปว่านายกฯ คิชิดะจะแก้ปัญหานี้อย่างไร และจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไปเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาสู่พรรค

แหล่งอ้างอิง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save