fbpx

นอนห้องเช่า เข้าเซเว่นฯ เล่นมือถือ: ลูกคอบริโภคในเพลงลูกทุ่งไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 (ตอนจบ)

ท่ามกลางความเจ็บปวดและบอบช้ำเพราะพิษวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 คงไม่มีใครคาดคิดว่าเพลง ‘รักน้องพร’ ของนักร้องลูกทุ่งแมวเก้าชีวิต สดใส รุ่งโพธิ์ทอง จะโด่งดังราวกับพลุแตก และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของวงการเพลงลูกทุ่งไทยในฐานะสื่อวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องบำบัด (therapy) อาการโหยหาอดีตของคนในสังคมไทย และนำพาความรู้สึกของพ่อแม่พี่น้องคนไทยกลับบ้านนอกคอกนาจากความบอบช้ำในเมืองกรุง[1]

วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ไม่เพียงแต่ส่งผลทำให้วงการเพลงลูกทุ่งไทยในช่วงต้นทศวรรษ 2540 กลับมาคึกคักเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการกำเนิดนักร้องลูกทุ่งรุ่นใหม่ (new generation) หลังผ่านความซบเซามาในช่วงทศวรรษ 2530 ความน่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาไปที่ภาพลักษณ์ของกลุ่มนักร้องเพลงลูกทุ่งไทยในช่วงเวลาดังกล่าว จะพบว่า สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มกว้างๆ สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนักร้องเพลงลูกทุ่งที่มีภาพลักษณ์แบบปกติทั่วไป ซึ่งผู้เขียน (อิทธิเดช เพชรบ้านนา) ขออนุญาตเรียกนักร้องกลุ่มนี้ว่า ‘กลุ่มธรรมเนียมประเพณี’ โดยจะเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมาจากทศวรรษก่อนหรือเป็นนักร้องใหม่ที่ก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 2540 ซึ่งภาพลักษณ์และวิธีการร้องของนักร้องกลุ่มนี้จะมีขนบเอกลักษณ์ในทางลูกทุ่งชัดเจน โดยเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะให้ภาพสังคมหรือวิถีชีวิตผู้คนในสังคมต่างจังหวัด ภาพของประเพณีวัฒนธรรม หรือภาพความรักของชายหนุ่มหญิงสาว เช่น สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, เสรี รุ่งสว่าง, สายัณห์ นิรันดร, ไชยา มิตรชัย, เกษม คมสันต์, เอกราช สุวรรณภูมิ, ยุ้ย ญาติเยอะ, คัฑลียา มารศรี, ฝน ธนสุนธร เป็นต้น ซึ่งนักร้องกลุ่มนี้จะสังกัดอยู่กับค่ายเพลงดังในยุคนั้นอย่าง ชัวร์ออดิโอ, โฟร์เอส (ไทยแลนด์), ท็อปไลน์มิวสิค, บ๊อกซิ่งซาวด์, ไร้ท์มิวสิค, แกรมมี่โกลด์ และ นพพร ซิลเวอร์โกลด์

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ถูกสร้างหรือมีความตั้งใจจะนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นผู้ใช้แรงงาน โดยภาพลักษณ์การแต่งกายและเนื้อหาในเพลงดังของนักร้องกลุ่มนี้ จะเป็นภาพของชายหนุ่มหญิงสาวจากต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้าง เป็นลูกจ้าง เป็นหนุ่มโรงงานหรือสาวโรงงาน ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตเรียกนักร้องกลุ่มนี้ว่า ‘กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ นำโดยนักร้องดังอย่าง ไมค์ ภิรมย์พร, มนต์แคน แก่นคูณ, ไผ่ พงศธร, ต่าย อรทัย และ ตั๊กแตน ชลดา โดยน่าสังเกตว่า นักร้องในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะสังกัดบริษัท แกรมมี่โกลด์ จำกัด ที่มี กริช ทอมมัส เป็นผู้ดูแล และมี ครูสลา คุณวุฒิ เป็นแม่ทัพใหญ่ในการทำเพลง

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์นักร้องจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ ‘จุดร่วม’ ในเนื้อหาสาระสำคัญของเพลงลูกทุ่งไทยในยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 คือการไม่ปรากฏภาพความตึงเครียดระหว่างภาวะความเป็นเมืองกับชนบทได้อย่างเทียบเท่าเพลงลูกทุ่งไทยในช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 โดยเฉพาะกลวิธีการอุปลักษณ์ (Metaphor) สินค้าอุปโภคบริโภคในฐานะภาพแทนความเป็นเมืองกับชนบท ดังที่เคยปรากฏผ่านภาพของยานพาหนะอย่าง เกวียน ไอ้ทุย รถไถ รถเก๋ง[2] ซึ่งก็อาจจะเนื่องด้วยเพราะวัฒนธรรมการบริโภคนิยมได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นหรือดำรงอยู่ในสภาวะแบบ ‘ของมันต้องมี’ ในวิถีชีวิตของผู้คนทั้งในเมืองและชนบท

YouTube video

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเพลงลูกทุ่งไทยด้วยแว่นตาแนวคิดบริโภคนิยม ก็เป็นเรื่องชวนน่าสังเกตประการหนึ่งว่า แม้บริบทสังคมไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะได้กลายเป็นอุดมการณ์หลักในหลายภาคส่วน ในขณะที่ระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคนิยมมีภาพลักษณ์เป็น ‘ผู้ร้าย’ แต่เนื้อหาในเพลงลูกทุ่งบางส่วนกลับไม่คล้อยไปตามวาทศิลป์ที่นิยมปรากฏในเอกสาร/หลักฐานทางราชการมากนัก กล่าวคือ เพลงลูกทุ่งไทยบางส่วนยังคงสะท้อนภาพของวัฒนธรรมการบริโภคนิยม และเมื่อเปรียบเทียบโดยรวมแล้ว เพลงลูกทุ่งไทยในช่วงทศวรรษ 2540 กลับมี ‘จิตวิญญาณบริโภคนิยม’ (spirit of consumerism) อย่างเต็มเปี่ยม ตัวอย่างเช่น สองเพลงดังของ ยุ้ย ญาติเยอะ อย่างเพลง ‘สาวสันกำแพง’ (2541) ที่ให้ภาพหญิงสาวชาวเหนือ ซึ่งแม้จะอยู่ต่างจังหวัดแต่ก็อยู่ภายใต้กระแสวัฒนธรรมการบริโภคสินค้า ดังที่บอกว่า “วันใดปิ๊กมาอ้ายอย่าลืมเน้อ ซื้อกางเกงยีนส์แรงเลอร์ ฝากน้องบ้างหนา” และ “วันใดปิ๊กมาอ้ายอย่าลืมหลง ซื้อเสื้อยกทรงวาโก้ฝากน้องบ้างเน้อ” ในขณะที่อีกเพลงดังอย่าง ‘หนูช๊อบชอบ’ ก็ให้ภาพวัฒนธรรมการบริโภคนิยมอย่างชัดเจน ดังที่ร้องว่า “ป๋าขาไปเที่ยวกันไหม ภูเก็ตเชียงใหม่ หนูช๊อบชอบ สร้อยแหวนนาฬิกาข้อมือ โทรศัพท์มือถือ ล่ะหนูช๊อบชอบ รถเก๋งบีเอ็มดับบลิว ขับโฉบวิ่งฉิวล่ะหนูช๊อบชอบ ป๋าขาอยากได้คอนโด อยู่แบบไฮโซ ละหนูช๊อบชอบ”

‘เซเว่น อีเลฟเว่น’

เป็นไปได้ว่า ผลจากพิษเศรษฐกิจทำให้เนื้อหาในเพลงลูกทุ่งไทยช่วงทศวรรษ 2540 มีสองลักษณะสำคัญคือ ในขณะที่เพลงลูกทุ่งไทยบางส่วนได้พาผู้คนกลับไปท้องไร่ท้องนา แต่เพลงลูกทุ่งไทยอีกส่วนก็สะท้อนว่าสังคมไทยมีความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ในแง่ระบบเศรษฐกิจ และก็คงจะยังกลับไปมีวิถีชีวิตการเกษตรแบบยังชีพตามอุดมคติไม่ได้เสียแล้ว ตัวอย่างเช่น ผลงานเพลงของนักร้องฉายา ‘สุภาพบุรุษลูกทุ่ง’ อย่าง รุ่ง สุริยา ซึ่งมีชื่อเสียงในนาม ‘ดุษฎี ดอกรัก’ มาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ก่อนจะมาโด่งดังกับเพลง ‘วอนพ่อตากสิน’ (2540)  ‘รักจริงให้ติงนัง’ (2541) และ ‘รักหนีที่เซเว่น’ (2542) ซึ่งในเพลงหลังนี้ร้องว่า “ความรักของพี่ เกิดที่ เซเว่น อีเลฟเว่น โอ้แม่เนื้อเย็น จงเห็นใจพี่ พี่รอคนโก้ไม่โผล่สักที หรือว่าคนดีของพี่ไม่มา กินน้ำเป๊ปซี่ คอยที่เซเว่น อีเลฟเว่น แต่เช้าจรดเย็น ยังไม่เห็นหน้า บิ๊กไบต์หลายดุ้น จนอุ่นอุรา แล้วไยขวัญตา ไม่มาสักที”

ภาพร้านเซเว่นฯ เป๊ปซี่ และบิ๊กไบต์ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของไอ้หนุ่มลูกทุ่งในวัฒนธรรมบริโภคนิยม จากที่เคยรำพึงรำพันถึงกระท่อมปลายนา ต้นไทร ท้องนา ปลาช่อน ฯลฯ แต่มาบัดนี้ ร้านสะดวกซื้ออย่าง ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนทั้งในเมืองและชนบท โดยข้อวิเคราะห์นี้ถูกรองรับด้วยตัวเลขการเจริญเติบโตของร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่เป็นประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมการบริโภคนิยม จากประวัติเริ่มต้นที่เปิดสาขาแรกในเมืองไทย ณ สาขาพัฒน์พงษ์ ในปี 2532 ทว่า เพียงสิบปีต่อมาก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 1,000 สาขา และอีกราวสิบปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 สาขา ในปี 2552[3]

เป็นจังหวะที่น่าสนใจว่า ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ กำลังเจริญเติบโตในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็เป็นช่วงเวลาที่วิกฤตเศรษฐกิจได้ทุเลาลงและค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงราวปี 2544 – 2545 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการเดินทางของแรงงานจากต่างจังหวัดมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองทั้งแรงงานกลุ่มเก่าและแรงงานรุ่นใหม่ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาวะการจ้างงานของไทยในปี 2544 ปรับตัวดีขึ้น กำลังแรงงานมีการขยายตัวถึงร้อยละ 3 จากปีก่อน และมีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม[4] ขณะที่ในปี 2545 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ตลาดแรงงานของไทยมีอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 97.2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจ้างงานเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่ง ขายปลีก ยานพาหนะ และของใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน[5]

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงกลางทศวรรษ 2540 สอดคล้องไปกับการปรากฏภาพนักร้องลูกทุ่ง ‘กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ ที่ถูกนำเสนอภาพลักษณ์ให้ราวกับเป็น ‘ร่างทรง’ คนต่างจังหวัดที่เดินทางจากบ้านนอกเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตัวอย่างเช่น นักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ อย่าง ไมค์ ภิรมย์พร ที่โด่งดังมากับเพลง ‘ยาใจคนจน’ ในช่วงปลายปี 2541 และตอกย้ำกระแสด้วยเพลงดังที่ตามมาอย่างเพลง ‘ขายแรงแต่งนาง’ ‘เหนื่อยไหมคนดี’ ‘ขอคนรู้ใจ’ และ ‘นักสู้ ม.3’

YouTube video

เช่นเดียวกับนักร้องดังเจ้าของสถิติแชมป์ยอดวิวยูทูบไทยสูงที่สุดสามปีซ้อน (2563 – 2565) อย่าง มนต์แคน แก่นคูน ที่แม้จะเป็นนักร้องออกผลงานเพลงมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2430 แต่ชื่อเสียงกลับไม่เป็นที่โด่งดังมากนัก กระทั่งเมื่อ มนต์แคน ได้ย้ายมาสังกัดค่ายแกรมมี่ โกลด์ และนำเสนอภาพลักษณ์ในการเป็นแรงงานพลัดถิ่นกับผลงานเพลงสร้างชื่อ ‘ยังคอยที่ซอยเดิม’ (2548) ซึ่งนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ มนต์แคน มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ในเพลง ‘ยังคอยที่ซอยเดิม’ ยังปรากฏภาพ ร้านเซเว่นฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพวิถีชีวิตแรงงานในเมืองกรุง ดังที่ มนต์แคน ร้องว่า “ห้องเช่าน้อยน้อย ปากซอยมีร้านเซเว่น เลิกงานตอนเย็น ก่อนเคยเป็นเหมือนดังวิมาน สุขตามประสาคนบ้านทุ่งเข้ากรุงเจอกัน”

หากประเมินว่าร้านเซเว่นฯ ซึ่งถูกเรียกและจัดประเภทว่าเป็น ‘ร้านสะดวกซื้อ’ คือฐานสำคัญในการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปที่มีการผลิตครั้งละเป็นจำนวนมาก (Mass production) เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม ฯลฯ และมีสินค้าอุปโภคบริโภคแทบจะทุกสรรพสิ่งไว้จัดจำหน่าย ร้านเซเว่นฯ ในเพลงลูกทุ่งก็ย่อมแสดงให้เห็นถึง ‘จิตวิญญาณบริโภคนิยม’ ที่เข้ามาอยู่ในอณูชีวิตของผู้คนในสังคมทุกระดับ ดังที่ในเพลง ‘ก็ยังคิดถึง’ (2550) ของนักร้องลูกทุ่งสาว จั๊กจั่น วันวิสา สะท้อนให้เห็นความเข้าใจทั่วไปในสังคมว่า ร้านเซเว่นฯ ขายสินค้าแทบจะทุกสรรพสิ่ง โดยนำมาเปรียบเปรยเพื่อสรรเสริญยกย่องความดีของชายหนุ่มที่กำลังคบกันอยู่ว่า “คนดีอย่างเธอที่เป็น เซเว่นฯ ไม่มีให้ซื้อ”

ในแง่หนึ่ง ร้านเซเว่นฯ ในเพลงลูกทุ่งไทยจึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในตลาดการบริโภคสินค้าประเภท Mass production ดังนั้น วัฒนธรรมการบริโภค จึงมิได้เป็นเพียงแต่เรื่องของชนชั้นนำหรือชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะวัฒนธรรมการบริโภคนิยมยังสัมพันธ์ไปกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานหรือ ‘ชนชั้นแรงงาน’ สัมพันธ์ไปกับระบบเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตของเมือง สังคมโรงงานอุตสาหกรรม และภาวะการย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการบริโภคก็อาจแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้นไปในคราวเดียวกัน ดังจะพบได้ชัดเจนเลยว่า เนื้อหาในเพลงของนักร้อง ‘กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ ในช่วงทศวรรษ 2540 ไม่ว่าจะเป็น ไมค์ ภิรมย์พร มนต์แคน แก่นคูณ ต่าย อรทัย หรือ ตั๊กแตน ชลดา นักร้องเหล่านี้ล้วนมีบทเพลงที่เล่าให้ผู้ฟังรับรู้ว่า เมื่อครั้งเข้ามาทำงานเสี่ยงโชคชะตาในกรุงเทพฯ พวกเขาได้อาศัยนอนอยู่ในเคหสถานที่เรียกว่า ‘ห้องเช่า’

‘ห้องเช่า’

ก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้งจะมาเยือน ‘บ้าน’ ถือเป็นความใฝ่ฝันของชนชั้นกลางในเมืองสำหรับเป็นสถานที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบ้านจัดสรรในเมือง/ชานเมือง เป็นพื้นที่ในการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกและคุณค่าแห่งวัฒนธรรมการบริโภคของชนชั้นกลาง[6] ซึ่งตลาดสินค้าวัสดุอุปกรณ์สำหรับตกแต่งบ้านหรือนิตยสารอย่าง ‘บ้านและสวน’ ก็ยิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นเร้าความใฝ่ฝันและจิตวิญญาณแห่งการบริโภคของชนชั้นกลาง ในขณะที่ห้องแถวและห้องเช่ากลับเป็นสิ่งที่แทบจะมิได้รับการกล่าวถึงมากนักในนิตยสารบ้านและสวน[7] ซึ่งแตกต่างออกไปจากเพลงลูกทุ่งไทยหลังวิกฤต้มยำกุ้ง 2540 เพราะบ้านจัดสรรในเมือง/ชานเมืองสำหรับกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานคือฝันที่ไม่กล้าฝัน เนื่องจากบ้านที่แท้จริงในความรู้สึกของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ คือ บ้านที่อยู่ต่างจังหวัด

กระนั้น บ้านต่างจังหวัดกลับกลายเป็นสถานที่ที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานจำเป็นต้องพลัดพลากจากมา ทำให้สถานที่อยู่อาศัยราคาถูกและประหยัดอย่าง ‘ห้องเช่า’ จึงคือตัวเลือกเดียวในความจริงของชีวิต และกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่อาศัยและหลับนอนในเมืองกรุง ซึ่งก็สะท้อนผ่านบทเพลงของนักร้อง ‘กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ อย่างเพลง ‘เรือนหอห้องเช่า’ (2544) ของ ไมค์ ภิรมย์พร ที่สะท้อนให้เห็นภาพของความยากลำบากในการปลูกเรือนหอ (บ้าน) สักหลัง ดังที่ร้องว่า “รับปากไปขอแต่เรือนหอยังเป็นห้องเช่า ว่าที่เจ้าสาวทนอยู่ชั่วคราวได้ไหม” และ “เฝ้าจัดห้องน้อย เพื่อเตรียมคอยรับนางร่วมห้อง ข้างฝายังหมองต้องเอาภาพวิวแปะฝา เครื่องครัวไม่มีพี่เลยซื้อแค่เตากับกา เผื่อหิวขึ้นมาบะหมี่ซองรองท้องประทัง” หรือในเพลงดังอย่าง ‘เดาใจฟ้า’ (2547) ไมค์ ภิรมย์พร ก็รำพึงรำพันว่า “ผู้ชายปอน ๆ นอนห้องเช่ารักเจ้าด้วยใจ แทบไม่เห็นความเป็นไปได้ แต่ใจก็ดันทุรัง”

ไม่เพียงแต่ ไมค์ ภิรมย์พร ดังจะเห็นไปแล้วว่า มนต์แคน แก่นคูน ก็อาศัยอยู่ใน ‘ห้องเช่า’ ดังเพลง “ยังคอยที่ซอยเดิม” เช่นเดียวกับนักร้องลูกทุ่งสาวเจ้าของฉายา ‘ราชินีสาวดอกหญ้า’ อย่าง ต่าย อรทัย ก็อาศัยอยู่ห้องเช่าเช่นกัน ดังเพลง ‘นอนฟังเสียงฝน’ (2547) ที่ต่ายเล่าว่า “เหว่ว้าแทบน้ำตาหล่น นอนฟังเสียงฝน รินหล่นหลังคาเบาเบา เดียวดายอยู่ในห้องเช่า คึดฮอดบ้านเฮา ที่จำจากมา” รวมไปถึงนักร้องสาวอย่าง ตั๊กแตน ชลดา ที่ในยุคแรกเมื่อครั้งเข้าวงการเพลงลูกทุ่ง ตั๊กแตนก็นอนห้องเช่า ดังเพลง ‘หนาวแสงนีออน’ (2549) ที่ร้องว่า “อยู่ห้องเช่ากินข้าวริมทาง ทำงานรับจ้างได้ตังค์นิดหน่อย” และเพลง ‘อย่าเปิดเพลงนั้น’ (2549) ที่ร้องว่า “หมุนคลื่นเหงาเหงา อยู่ในห้องเช่า เจอเพลงเก่าเก่า ที่เธอเคยมอบให้ฉัน”

YouTube video

เมื่อเปรียบเทียบภาพห้องเช่าในเพลงลูกทุ่ง กับ บ้าน ในเพลง Home (2542) ของ ธีร์ ไชยเดช ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าเป็นภาพตัวแทนที่อยู่อาศัยของชนชั้นกลาง (ในเมือง) ก็จะเห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้นของวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าประเภทที่อยู่อาศัย ดังที่เพลง Home ของ ธีร์ ไชยเดช ได้บรรยายถึงสรรพสิ่งของในความเป็นบ้านว่า “ดอกไม้ ประตู แจกัน ดินทราย ต้นไม้ใหญ่ แก้วน้ำ จานชาม บันได โคมไฟที่สวยงาม ขอบรั้วและริมทางเดิน ต้นหญ้าอยู่ในสนาม” ขณะที่ห้องเช่าในเพลงลูกทุ่งกลับมักถูกใช้หรือผูกโยงเข้ากับวลีอย่าง ปอนๆ น้อยๆ หรือเหงาๆ

แม้บ้านและห้องเช่าจะเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต แต่สรรพสิ่งที่อยู่ภายในหรือรายล้อมบ้าน/ห้องเช่า กลับเต็มไปด้วยวัตถุสินค้าอุปโภคบริโภคที่สะท้อนคุณค่า ค่านิยม และอารมณ์ความรู้สึก อันแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคและความแตกต่างของสภาพวิถีชีวิตกลุ่มคนต่างๆ ในเมือง

หากบ้าน คือความใฝ่ฝันของชนชั้นกลางและเป็นหมุดหมายการเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตจากสังคมแบบเดิมไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ห้องเช่าก็คือภาพของกระจกอีกด้านในวันที่สังคมไทยเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าห้องเช่าและคนที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าในเพลงลูกทุ่ง คือภาพชีวิตผู้คนต่างจังหวัดที่เข้ามาใช้แรงงานทำมาหากินในกรุงเทพฯ ในฐานะประชากรแฝง และในวัฒนธรรมการบริโภคอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากชนชั้นกลางในเมือง ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ภาพของห้องเช่าในเพลงลูกทุ่งไทยจึงถือเป็นหลักฐานในการทำความเข้าใจและรับรู้สึกถึงอารมณ์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯ ที่เป็นเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ หลายแสนหลายล้านตัวที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2540 เช่นกัน

‘โทรศัพท์มือถือ’

ก่อนโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในทุกระดับชั้นดังเช่นปัจจุบัน ในช่วงเวลาหนึ่ง โทรศัพท์มือถือ ถือเป็นสินค้าที่เป็นภาพตัวแทนของชนชั้นกลางในเมือง ดังปรากฏในเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ 2535’ ที่กลุ่มผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งต่างมีโทรศัพท์มือถือไว้ติดต่อข่าวสารและใช้ประสานงานกันในการชุมนุมจนมีการนิยามและปรากฏเรียกกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ‘ม็อบมือถือ’[8]

ทว่า สำหรับกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานและคนต่างจังหวัดในช่วงทศวรรษ 2530 โทรศัพท์มือถือถือเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพง เนื่องจากในเวลานั้นโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มีราคาสูงประมาณหลักหมื่นขึ้นไป ซึ่งหากใครมีโทรศัพท์มือถือแม้ว่าจะเป็นรุ่นกระดูกหมาก็จะถูกมองว่าเป็นคนมีเงิน โก้หรู และทันสมัย

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 2540 โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นสินค้าที่พี่น้องผู้ใช้แรงงานและคนต่างจังหวัดสามารถจับต้องเป็นเจ้าของได้ ทั้งด้วยปัจจัยในด้านราคาที่ลดเหลือเพียงประมาณหลักพัน รวมไปถึงธุรกิจการสื่อสารเทคโนโลยีได้เจริญเติบโตและกลายเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ ดังเห็นได้จากอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยผู้หนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทยจากการเป็นผู้ก่อตั้งและเจ้าของธุรกิจบริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในช่วงทศวรรษ 2530 – ต้นทวรรษ 2540

จากภาพแทนของชนชั้นกลาง โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นสินค้าที่กระจายทั่วไปอยู่ในมือของกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานในเมืองอย่างน้อยตั้งแต่ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ดังปรากฏผ่านบทเพลงลูกทุ่งของนักร้อง’กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ เช่น ไมค์ ภิรมย์พร ที่มีเพลงดังที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถืออย่างเพลง ‘รอสายใจสั่งมา’ (2550) ในขณะที่นักร้องอย่าง ไผ่ พงศธร ซึ่งเปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 1 ฝนรินในเมืองหลวง (2548) ก็มีเพลงดังอย่าง ‘คิดฮอดวันละหน่อย’ ที่ร้องว่า “คิดฮอดกันวันละน้อย ทยอยโทรเติมแรงใจ ให้อ้ายยังคงยิ้มได้ ยามเหนื่อยล้าใจทุกครา” ก่อนต่อมาจะตอกย้ำกระแสความดังในอัลบั้มชุดที่ 2 คำสัญญาของหนุ่มบ้านนอก (2550) ด้วยเพลงดังอย่าง ‘เบอร์โทรนี้มีแฟนหรือยัง’ ที่ร้องว่า “เจ้าของเบอร์นี้มีแฟนหรือยัง อยากถามทุกครั้ง ที่เธอกดเบอร์มาหา”

อย่างไรก็ดี นักร้องลูกทุ่งขวัญใจผู้ใช้แรงงานที่น่าจะเสียเงินค่าบัตรเติมเงินโทรศัพท์มากที่สุดเห็นจะได้แก่ ต่าย อรทัย เพราะเพลงดังในช่วงทศวรรษ 2540 ของนักร้องลูกทุ่งสาวผู้นี้ล้วนปรากฏว่าเธอใช้โทรศัพท์เป็นประจำ นับตั้งแต่อัลบั้มสร้างชื่อชุดที่ 1 ดอกหญ้าในป่าปูน (2545) ที่มีเพลงดังอย่าง ‘โทรหาแหน่เด๊อ’ ที่ต่ายร้องว่า “โทรหาแหน่เด๊อ จำเบอร์โทรน้องได้บ่ น้องจะเฝ้ารอ อ้ายโทรหาเวลาเลิกงาน” ซึ่งโทรศัพท์มือถือจากที่เคยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้กลายมาสู่สินค้าจำเป็น ดังที่ ต่าย ร้องในท่อนฮุคของเพลงด้วยเสียงเอื้อนแบบลูกคออีสานอย่างไพเราะว่า “เบอร์เก่าเวลาเดิม ช่วยเติมเสียงให้ได้ยิน เป็นวิตามิน สร้างภูมิคุ้มกันความเหงา บ่ได้ฟังเสียงคือจั่ง บ่ได้กินข้าว คึดฮอดบวกกับความเหงา นั่งเฝ้ามือถือคือบ้า”

YouTube video

เช่นเดียวกับอัลบั้มชุดที่ 2 ขอใจกันหนาว (2547) ต่าย อรทัย ก็ยังคงใช้โทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังในเพลงดังอย่าง ‘กินข้าวหรือยัง’ ที่ต่ายร้องถามว่า “กินข้าวแล้วยัง กำลังเฮ็ดหยังน้ออ้าย คึดฮอดหลายหลาย หัวใจให้โทรมาถาม” ซึ่งการใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับต่ายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างมากเพราะ “ใช้บัตรเติมเงิน ให้กลายเป็นบัตรเติมใจ” ก่อนสุดท้ายต่ายจะขอวางสายไปก่อน เพราะ “บัตรเติมใจ น้องใกล้หมดตังค์ เอาไว้มื้อใด๋ว่าง ว่าง ค่อยมานั่งกินข้าวนำกัน”

นอกจากนี้ ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 ยังมีเพลงดังที่เกี่ยวข้องกับการใช้โทรศัพท์มือถืออย่าง ‘โชว์เบอร์ไม่โชว์ใจ’ (2546) ของ ดวงจันทร์ สุวรรณี ที่ร้องว่า “เห็นแต่เบอร์โชว์ คนโทร ไม่รู้อยู่ไหน หน้าจอมือถือสั่นใจยามใจ พี่บ่าวโทรมา” รวมไปถึงคนที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบจากวัฒนธรรมการบริโภคโทรศัพท์มือถือไปเต็มๆ อย่างเพลง ‘นั่งเฝ้าเขาจีบ’ (2546) ของ เอกพล มนต์ตระการ ที่ร้องว่า “ไผโทรมาน้อ คือเว้านำเขาม่วนแท้ จั่งแม่นบ่แคร์ อ้ายคนนั่งเฝ้าจ่อข่อ ยิ้มใส่มือถือ ทั้งจ๋าทั้งอือดัดเสียงเอียงคอ คุยนานงานหยังกะด้อ อ้ายนั่งรอน้องบ่เห็นใจ”

กล่าวได้ว่า ภาพของโทรศัพท์มือถือที่ปรากฏในเพลงลูกทุ่งช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2540 มีจำนวนมากมายหลายบทเพลง ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าอย่างโทรศัพท์มือถือที่ได้กระจายสู่มือของกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานและคนต่างจังหวัด จากสินค้าที่เคยเป็นภาพตัวแทนของชนชั้นกลาง เพียงประมาณสิบปีต่อมาโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นสินค้าของทุกกลุ่มระดับชั้น จากสินค้าฟุ่มเฟือยได้มาสู่สินค้าจำเป็นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนในวัฒนธรรมการบริโภคนิยม ดังที่เพลง ‘โทรศัพท์เมียถือ’ (2547) ของวง ร๊อคแสลง ถึงกับเล่าบรรยายว่า “ผู้ชายกะถือ ผู้หญิงกะถือ กะเทยกะถือ ผู้บ่าวผู้สาวกะถือ ผู้เฒ่ากะซื้อ เด็กน้อยกะหา” และ “เปิดฟังเพลงไหน พ้อแต่มือถือเหมิดปี แฟนเพลงกะขอดีดี” กลายเป็นเพลงฮิต ติดชาร์ตเมืองไทย เอกพลว่า “ไผโทรมาน้อคือเว้าม่วนหลาย ส่วนน้องต่าย อรทัย มีเรื่องเว้านำ โทรหาแหน่เด้อ เณรน้อยกะมี หลวงพี่กะมี หลวงพ่อกะมี นายกรัฐมนตรี ตาสาตาสีกะมีมือถือ”

เพลงลูกทุ่งในฐานะเครื่องบำบัด (therapy) อารมณ์ทางประวัติศาสตร์

เมื่อพิจารณาประวัติเพลงลูกทุ่งไทยด้วยแว่นตาแนวคิดบริโภคนิยมโดยใช้มิติทางประวัติศาสตร์ จะพบความน่าสนใจว่า มากไปกว่าการทำหน้าที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกอารมณ์และความรู้สึกของยุคสมัย เพลงลูกทุ่งยังทำหน้าที่เป็นเครื่องบำบัด (therapy) ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมไทย นับตั้งแต่ในยุคแรกที่เพลงลูกทุ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องบำบัดให้แก่ไอ้หนุ่มลูกทุ่งไทยในชนบทต่างจังหวัดที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคนิยม แม้ต่อมาสังคมไทยจะประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 จนปรับเปลี่ยนอุดมการณ์หลักในการพัฒนาประเทศ ทว่า ในความเป็นจริงอีกด้าน จากการสำรวจและวิเคราะห์เพลงลูกทุ่งซึ่งมิใช่หลักฐานประเภททางการ/ราชการโดยตรง กล่าวคือ ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ หรือแผนปฏิบัติราชการฯ เพลงลูกทุ่งไทยในฐานะวัฒนธรรมแบบราษฎร์ ได้สะท้อนให้เห็นว่า จะอย่างไรก็ตามเนื้อในของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยก็มีเคลื่อนไปในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยม

นอนห้องเช่า เข้าเซเว่นฯ เล่นมือถือ ในเพลงลูกทุ่งไทยจึงคือภาพสะท้อนวัฒนธรรมการบริโภคของกลุ่มพี่น้องผู้ใช้แรงงานในช่วงทศวรรษ 2540 หรือในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จากเพลงลูกทุ่งไทยที่เคยทำหน้าที่เป็นเครื่องบำบัด (therapy) ให้แก่ ‘มนุษย์ลูกทุ่ง’ ต่ออารมณ์และความรู้สึกแห่งความพ่ายแพ้ต่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยมในช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 อีกราวสองทศวรรษต่อมา แม้จะเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา แต่เพลงลูกทุ่งไทย โดยเฉพาะของนักร้อง ‘กลุ่มขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ กลับแสดงให้เห็นว่า เพลงลูกทุ่งได้กลับกลายเป็นเครื่องบำบัดอารมณ์และความรู้สึกให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่จำต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ หรือเป็นเครื่องบำบัดให้แก่ ‘มนุษย์แรงงาน’ ในเมืองกรุงฯ เพื่อก้มหน้าก้มตาทำงานรับใช้เจ้านายในโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยม และวัฒนธรรมการบริโภคนิยม ต่อไปอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น.


[1] โปรดดูประเด็นนี้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร,จาก ‘รักน้องพร’ สู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’: บ้าน ป่าปูน และสถานบันเทิง ในพัฒนาการเพลง ‘ลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘สตริงลูกทุ่ง’ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540, https://www.the101.world/thai-country-music-in-2540s/ และดูประวัติเพลงรักน้องพร ได้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ‘รักน้องพร’ เพลงฮิต ‘สดใส รุ่งโพธิ์ทอง’ ว่ากันว่าเพลงเดียวสร้างตึกได้ทั้งหลัง, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.thepeople.co/culture/music/53107#google_vignette

[2] ดูประเด็นนี้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ลูกคอสะอื้น : ไอ้ทุย รถไถ และเพลงลูกทุ่งไทยในวัฒนธรรมบริโภคนิยม (ตอน 1), เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/capitalism-in-thai-country-songs-part-1/

[3] ปดิวลดา บวรศักดิ์, เปิดเส้นทาง ‘เซเว่น อีเลฟเว่น’ ร้านสะดวกซื้อเล็ก ๆ ที่พัฒน์พงษ์ สู่ 10,000 กว่าสาขาทั่วประเทศ, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.silpa-mag.com/history/article_114646

[4] ธนาคารแห่งประเทศไทย, รายงานเศรษฐกิจและการเงิน ปี 2544, (เมษายน, 2545), 2.8.1

[5] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สรุปสถานการณ์สังคมไทย พ.ศ. 2545, 3

[6] ดู ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ สายชล สัตยานุรักษ์, บ้านและ(ความ)สวย : ความงามของชนชั้นกลางกับความเปลี่ยนแปลงการจัดการพื้นที่บริเวณบ้านทศวรรษ 2520-2540, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ 17, ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2564), 31-70.

[7] ดู ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์, ลอกคราบความฝัน บ้านและครอบครัวสุขสันต์ของชนชั้นกลางไทย กับ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/nattaphong-sakulleaw-interview/

[8] ดู เอนก เหล่าธรรมทัศน์, ม็อบมือถือ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2536).

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save