fbpx

จาก ‘รักน้องพร’ สู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’: บ้าน ป่าปูน และสถานบันเทิง ในพัฒนาการเพลง ‘ลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘สตริงลูกทุ่ง’ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

*หมายเหตุ – บทความนี้ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากการสนทนาว่าด้วยประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่งกับ ‘แครส-อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ (ศรแครส ศรรังสิต) ด้วยไมตรีจิตต่อกันในหลายวาระ หลายโอกาส ทั้งในห้องกระจกติดแอร์ บนรถตู้สาธารณะ บนรถร่วมบริการ (รถเมล์) ไปจนถึงที่ร้านข้าวต้มในวันที่ท้องฟ้ายังคงไม่ผ่องอำไพ รวมไปถึงการสนทนาในอารมณ์โหยหาอดีตกันมาอย่างยาวนานกับปองคุณ จารุพันธ์ เพื่อนผู้เป็นดั่งสารานุกรม (encyclopedia) ของวงการเพลงสตริงไทยในทศวรรษ 2540


หลังสิ้นยุคทองของเพลงลูกทุ่งไทยในช่วงทศวรรษ 2510-2520 วงการเพลงลูกทุ่งไทยก็เข้าสู่ช่วงซบเซา เมื่ออิทธิพลของเพลงสตริง เพลงร็อก และนักร้องวัยรุ่นกลายเป็นกระแสความบันเทิงทางวัฒนธรรมในยุคสมัยที่ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น ‘เสือตัวที่ 5’ ของเอเชีย

ในช่วงทศวรรษ 2530 เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตตราที่สูงเป็นอย่างมาก ภาคอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตของเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผนวกกับกระแสโลกาภิวัตน์[1] ทำให้วัฒนธรรมความบันเทิงแบบตะวันตกกลายเป็นแม่แบบของกระแสวัฒนธรรมนิยมในสังคมไทย สองค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งยุคอย่างจีเอ็มเอ็มแกรมมี่และอาร์เอสโปรโมชัน ต่างแข่งขันและเร่งผลิตนักร้องวัยรุ่นเอาใจแฟนเพลง ราวกับการบรรจุปลาแมกเคอเรลลงไปแหวกว่ายในซอสมะเขือเทศของโรงงานผลิตปลากระป๋อง

ขณะที่เพลงสตริงกำลังรุ่งเรืองเป็นที่นิยม เพลงลูกทุ่งไทยกลับอยู่ในอาการโคม่า จนทำให้คนในวงการเพลงลูกทุ่งต้องพยายามอนุรักษ์และรักษาเพลงลูกทุ่งไทยด้วยการจัดงาน ‘กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย’ อย่างยิ่งใหญ่จำนวนสองครั้ง ในปี 2532 และ 2534 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรเพื่อ ‘เป็นมิ่งเป็นขวัญและกำลังใจ’[2] ให้แก่คนลูกทุ่งทั้งสองครั้ง

แม้ในปี 2535 กระแสความดังแบบป่าล้อมเมืองของเพลง ‘สมศรี 1992’ จากยิ่งยง ยอดบัวงาม และความสำเร็จในอัลบั้ม ‘หัวแก้วหัวแหวน’ ของก๊อต-จักรพรรณ์ อาบครบุรี รวมถึงกระแสความนิยมจากละครทีวี ‘มนต์รักลูกทุ่ง’ ทางช่อง 7 สี ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 จะพอทำให้วงการเพลงลูกทุ่งกลับมาคึกคักได้บ้าง แต่เมื่อประเมินเป็นยุคสมัยแล้วกล่าวได้ว่า ทศวรรษ 2530 คือช่วงขาลงของวงการเพลงลูกทุ่งไทยอย่างแท้จริง

บ้าน: เพลงลูกทุ่งไทยในอาการ ‘โหยหาอดีต’ จากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

ก่อนปฏิทินเวลาจะเดินหน้าเข้าสู่ปี 2540 หลายคนเชื่อว่าชะตากรรมของเพลงลูกทุ่งไทยคล้ายกับคนป่วยที่รอวันเดินทางเข้าสู่เตาเผาในงานฌาปนกิจ แต่แล้วการเกิดขึ้นของวิกฤตเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ได้เปลี่ยนอนาคตชีวิตของผู้คนในสังคมไทยไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง จนทำให้ต้อง ‘ตกงาน’ และจำใจต้องเดินทางกลับบ้านนอกภูมิลำเนา

ในห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง สื่อวัฒนธรรมความบันเทิงกลายเป็นทางออกของอารมณ์ความรู้สึก และเป็นเครื่อง ‘บำบัด’ ขจัดทุกข์โศกของผู้คนในสังคมไทย ดังปรากฏว่าภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งประสบความสำเร็จอย่างเป็นประวัติการณ์ภายใต้การแสดงอาการ ‘โหยหาอดีต’ [3]  ซึ่งอาการโหยหาอดีตเพื่อบำบัดฟื้นฟูจิตใจไม่ปรากฏแต่เพียงในสื่อภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังปรากฏในสื่อวัฒนธรรมความบันเทิงอย่างเพลงลูกทุ่งไทยด้วยเช่นกัน

“โออออ โอ้โอละเน้อ เออเอ่อน้องพร”

เสียงร้องจากลูกคอราวสิบแปดชั้นของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง นักร้องลูกทุ่งชื่อดังที่เคยมีชื่อเสียงมาจากผลงานเพลง ‘รักจางที่บางปะกง’ ตั้งแต่ปี 2517 กลับมาโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง จนทำให้เขาได้รับฉายา ‘นักร้องลูกทุ่งแมว 9 ชีวิต’ จากกระแสความนิยมของเพลง ‘รักน้องพร’ ในปี 2540

สดใส รุ่งโพธิ์ทอง ซึ่งในขณะนั้นต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเป็นนักร้องตามคาเฟ่ เล่าว่าที่จริงแล้วเขาและทีมงานตกลงกันว่าจะให้เพลง ‘น้ำตา สจ.’ เป็นเพลงโปรโมตของอัลบั้ม เพื่อให้เข้ากับบริบทชีวิตของตนเอง ที่สอบตกในการลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เมื่อปี 2538 แต่ทว่าเมื่ออัลบั้มเพลงถูกส่งไปยังคลื่นวิทยุต่างจังหวัด ปรากฏว่าเพลง ‘รักน้องพร’ กลับได้รับความนิยมเป็นกระแสโด่งดังในคลื่นวิทยุต่างจังหวัดและกลับเข้ามาดังในเมืองกรุง จนถึงขนาดที่ว่าทำให้คลื่นวิทยุเพลงลูกทุ่งแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต้องเปิดเพลง ‘รักน้องพร’ แบบ ‘เช้า สาย บ่าย เย็น’[4]

เพลง รักน้องพร ดัดแปลงทำนองมาจากเพลงลาวกระทบ ขณะที่ในด้านคำร้อง เป็นการเล่าถึงความรักของชายหนุ่มที่หลงรักหญิงสาวต่างจังหวัดจนถึงขนาดที่ว่า “ใจเอ๋ยใจ ไม่รู้เป็นไง อยากไปแต่บ้านพร”  

จากบทเพลงทำให้ทราบได้ว่า ชายหนุ่มในบทเพลงรักน้องพรต้องเป็นคนต่างจังหวัดที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคการเกษตรอย่างแน่นอน เพราะเขาบรรยายถึงความสามารถของตนเองว่า “จะช่วยหุงข้าวผ่าฟืน พี่ทำนาก็เก่ง แถมร้องเพลงก็เป็น อากาศเย็นๆ จะร้องกล่อมพรทั้งคืน” ซึ่งการบรรยายสรรพคุณเช่นนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะเนื้อหาเพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่ในยุคก่อนหน้า มักเล่าถึงอาการน้อยเนื้อต่ำใจของชายหนุ่มบ้านนอกในทักษะอาชีพทางด้านเกษตรกรรมของตนที่ไม่สามารถสู้อำนาจเงินของหนุ่มเมืองกรุงได้ แต่ทว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่พาคนต่างจังหวัดกลับบ้านนี้เองทำให้ทักษะอาชีพทางการเกษตรกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญอีกครั้งในการเอาชีวิตรอดและดำเนินชีวิต

หัวใจสำคัญของเพลงรักน้องพร คือการให้ภาพของ ‘การกลับบ้าน’ และสร้างจินตภาพความเป็นชุมชนในชนบท/ต่างจังหวัด ที่ผู้คนยังคงอาศัยอยู่กันด้วยวิถีทางการเกษตรภายใต้ระบบครอบครัว ดังจะพบว่าเนื้อหาของเพลงมิได้กล่าวถึงความรักในแบบปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ความรักยังต้องรวมไปถึงคนอื่นๆ ในระบบครอบครัวอย่าง ‘แม่’ ที่จะต้อง “จะซื้อหมากซื้อพลู ซื้อเนื้อซื้อหมู ไปฝากแม่พร” และ ‘พ่อ’ ที่ต้องถามก่อนว่า “ชอบทานเหล้าไหมเอ่ย หากชอบลูกเขย จะหิ้วไปฝากท่านสักแกลลอน”

การล่มสลายของสังคมเมืองจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ภาพของการกลับบ้านและภาพสังคมชนบทในเพลงรักน้องพร เป็นการปลอบประโลมและช่วยบำบัดอาการโหยหาอดีตอันสวยงามของคนไทยในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นการสร้างจินตภาพต่อการเดินทางกลับสู่บ้านนอกของผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงว่าการกลับไปทำไร่ ทำนา อยู่ที่บ้านกับครอบครัวนั้น คือสิ่งพักพิงสุดท้ายในห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ของสังคมไทย และยังเป็นจินตภาพแห่ง ‘ความเป็นไทย’ ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาไว้และใช้ต่อสู้กับเจ้าจักรวรรดิทางเศรษฐกิจตะวันตกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ‘IMF’ ในขณะนั้น

ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ความเป็นไทยในสื่อวัฒนธรรมความบันเทิงถูกขับเน้นไปพร้อมๆ กับการที่รัฐบาลไทยในขณะนั้นสร้างคำขวัญรณรงค์ให้คนไทย ‘กินของไทย ใช้ของไทย เที่ยวเมืองไทย ร่วมใจประหยัด’ และมีข้อมูลว่าปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวแนวคิดอนุรักษนิยมบางกลุ่มในขณะนั้น มีความพยายามสร้างขบวนการ ‘ชาตินิยมใหม่’ เพราะเห็นว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และหวนหาถึงระบบคุณค่าของชุมชนในแบบสังคมชนบท[5]

กระแสความเป็นไทยในวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลทำให้วงการเพลงลูกทุ่งไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ดังปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าวมีศิลปินนักร้องเพลงลูกทุ่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เช่น ไชยา มิตรชัย พระเอกลิเกชื่อดัง เจ้าของผลงานเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยอย่าง ‘กระทงหลงทาง’ กุ้ง-สุธิราช วงศ์เทวัญกับผลงานสร้างชื่อในเพลง ‘ขอเป็นพระเอกในหัวใจเธอ’ อาภาพร นครสวรรค์กับเพลง ‘เลิกแล้วค่ะ’ มนต์สิทธิ์ คำสร้อยกับเพลง ‘จดหมายผิดซอง’ ดำรง วงศ์ทองกับเพลง ‘โปรดพิจารณา’ รุ่ง สุริยากับเพลง ‘วอนพ่อตากสิน’ ไมค์ ภิรมย์พรกับผลงานเพลง ‘ยาใจคนจน’ และนักร้องสาวศิริพร อำไพพงษ์ที่กลับมาโด่งดังอีกครั้งกับเพลง ‘ปริญญาใจ’

ไม่เพียงเท่านั้น ปรากฏการณ์ ‘ฝรั่งร้องลูกทุ่ง’ ของโจนัส แอนเดอร์สัน และ คริสตี้ กิ๊บสัน ในช่วงปี 2543-2544 ยิ่งตอกย้ำกระแสการยกย่องเชิดชูความเป็นไทย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นทั้งการปลอบประโลม บำบัด และกล่อมความรู้สึกตนเองว่า ความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยคือสิ่งอันดีงาม มีสุนทรียะ ละเมียดละไม และมีความสวยงาม จนถึงขนาดที่ว่าแม้แต่ชาวต่างชาติ (ฝรั่ง) ยังต้องหลงใหล วัฒนธรรมความเป็นไทยจึงควรค่าแก่การยกย่องนับถือมากกว่าวัฒนธรรมตะวันตกที่มีแต่ความหยาบโลน ลามก และไม่สุภาพ

นอกจากนี้ กระแสความคึกคักของวงการเพลงลูกทุ่งยังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของ ‘สถานีวิทยุลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม.’ ในช่วงปี 2540 โดยการก่อตั้งของวิทยา ศุภพรโอภาส ซึ่งกลายเป็นสถานีวิทยุยอดนิยมถึง 5 ปีซ้อน ทำให้ในปี 2545 วิทยาร่วมมือกับค่ายสหมงคลฟิล์มสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม’ โดยนำเอาบรรดาศิลปินนักร้องเพลงลูกทุ่งมาสวมบทบาทเป็นนักแสดง ผลปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก[6] ขณะที่ในทาง ‘จอแก้ว’ อย่างโทรทัศน์ ก็ปรากฏละครและนักร้องเพลงลูกทุ่งสวมบทบาทเป็นทั้งพระเอก นางเอก ตัวตลกในละครทีวีอย่างไม่ขาดสาย รวมไปถึงรายการทีวีเพลงลูกทุ่งหลายรายการก็ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงในต่างจังหวัด เช่น  ‘เวทีไทย’ ‘ชุมทางเสียงทอง’ และ ‘ซอยบุปผาสวรรค์’

ป่าปูน: ปรากฏการณ์ดอกหญ้าในป่าปูนในเพลงลูกทุ่งหลังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว

เข้าสู่ช่วงปี 2543 วิกฤตเศรษฐกิจของไทยก็เริ่มทุเลาลงและค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วงปี 2544-2545 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้กลุ่มศิลปินนักร้องและเนื้อหาในเพลงลูกทุ่งมีความแตกต่างออกไปจากในช่วงต้นทศวรรษ 2540 โดยเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ที่ได้รับกระแสความนิยมจะกล่าวถึงเรื่องราวของคนต่างจังหวัดที่ต้องจากบ้านนอกมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อเข้ามาหางานทำ

ตัวอย่างอันชัดเจนที่สุดของเพลงลูกทุ่งที่แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยช่วงกลางทศวรรษ 2540 คือเรื่องราวของหญิงสาวต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางมุ่งหน้าเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อมาทำงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ดังเช่น ภาพของนักร้องสาวต่าย อรทัย ในผลงานเพลงดัง ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ในปี 2545 ที่ร้องขึ้นต้นบอกแฟนเพลงว่า “หัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนส์เก่าเก่า ใส่เสื้อตัวร้อยเก้าเก้า กอดกระเป๋าใบเดียวติดกาย กราบลาแม่พ่อ หลังจากเรียนจบ ม.ปลาย ลาทุ่งดอกคูณไสว มาอาศัยชายคาป่าปูน”

จากความสำเร็จของเพลง ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ และเพลง ‘โทรหาแหน่เด้อ’ จากอัลบั้มแรก รวมไปถึงผลงานเพลงดังในอัลบั้มต่อมาอย่าง ‘ขอใจกันหนาว’ และ ‘กินข้าวหรือยัง’ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของนักร้องสาวต่าย อรทัยเปรียบเสมือนตัวแทนหรือร่างประทับของหญิงสาวต่างจังหวัดในฐานะ ‘ดอกหญ้า’ ที่เข้ามาทำงานและเผชิญชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เปรียบเสมือน ‘ป่าปูน’ จนทำให้ต่าย อรทัยได้รับฉายาในวงการเพลงลูกทุ่งว่าคือ ‘ราชินีดอกหญ้า’

ไม่เพียงเท่านั้น ปรากฏการณ์หญิงสาวต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ ยังเป็นภาพลักษณ์แรกๆ ของนักร้องสาวอย่างตั๊กแตน ชลดา ที่เริ่มมีชื่อเสียงมาจากผลงานเพลง ‘ขอจองในใจ’ จากการประกวดรายการ First Stage Show ซึ่งเธอเปิดตัวอัลบั้มแรกด้วยผลงานเพลง ‘หนาวแสงนีออน’ ที่ให้ภาพของหญิงสาวต่างจังหวัดที่เข้ามาแสวงหาเสี่ยงโชคชะตาและเผชิญชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนักร้องสาวตาคมอย่างบิว กัลยาณี กับผลงานเพลงสร้างชื่ออย่าง ‘สาวรามฯ ยามเย็น’ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ก็ยังคงยืนยันถึงภาพปรากฏการณ์ดังกล่าว[7]

และไม่เพียงแต่นักร้องสาว การเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ ยังปรากฏในเนื้อหาเพลงลูกทุ่งของศิลปินนักร้องชาย โดยเฉพาะจากนักร้องเจ้าของฉายา ‘ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ อย่างไมค์ ภิรมย์พร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง ‘ยาใจคนจน’ ในช่วงปลายปี 2541 รวมทั้งการออกผลงานเพลงที่ให้ภาพของชายหนุ่มต่างจังหวัดที่เข้ามา ‘ขายแรงงาน’ ในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นเพลง ‘ขายแรงแต่งนาง’ ‘เหนื่อยไหมคนดี’ ‘ขอคนรู้ใจ’ และ ‘นักสู้ ม.3’

นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นก็คือภาพในมิวสิกวิดีโอ (music video) ที่ไมค์มักจะแต่งตัวด้วยชุดเสื้อยืดสีดำ กางเกงยีน โดยมีผ้าขนหนูสีขาวพาดไว้ที่คอ จนกลายเป็นอัตลักษณ์การแต่งตัวอันโดดเด่นของไมค์ตลอดช่วงทศวรรษ 2540 และทำให้ไมค์กลายเป็นร่างประทับหรือภาพตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานผู้ชายต่างจังหวัดในเมืองกรุง

ขณะที่ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 วงการเพลงลูกทุ่งก็ปรากฏชื่อของนักร้องหนุ่มอีสานรูปหล่ออย่าง ไผ่ พงศธร กับผลงานเปิดตัวในเพลง “ฝนรินในเมืองหลวง” ที่ให้ภาพหนุ่มอีสานพลัดถิ่นในห้วงอารมณ์คิดถึงบ้านจากการจำเป็นต้องเข้ามารับจ้างทำงานในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับนักร้องชื่อดังในปัจจุบันอย่าง มนต์แคน แก่นคูน ที่แม้จะมีผลงานเพลงมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2430 แต่ก็ไม่เป็นที่โด่งดังมากนัก จนในช่วงปลายทศวรรษ 2540 เมื่อ มนต์แคน ได้ย้ายมาสังกัดค่ายแกรมมี่ โกลด์ จึงทำให้เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากผลงานเพลง “ยังคอยที่ซอยเดิม” ที่ให้ภาพชีวิตความรักของหนุ่มสาวต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ
ดังร้องว่า “ห้องเช่าน้อยน้อยปากซอยมีร้านเซเว่น เลิกงานตอนเย็น ก่อนเคยเป็นเหมือนดังวิมาน สุขตามประสาคนบ้านทุ่งเข้ากรุงเจอกัน”

ภาพแรงงานต่างจังหวัดที่จากบ้านมาขายแรงงานในกรุงเทพฯ ของเพลงลูกทุ่งในช่วงกลางทศวรรษ 2540 จึงคือกระจกสะท้อนภาพสังคมเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้กรุงเทพฯ และเมืองปริมณฑลที่เป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม ได้กลับมาเป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ทำให้แม้แรงงานต่างจังหวัดหญิงชายจะคิดถึงบ้านเพียงใด แต่บัดนี้เมืองหรือ ‘ป่าปูน’ ได้กลับมาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นภายใต้โลกของระบบทุนนิยม

ความฝัน ความหวัง และความอดทนจึงเป็นเนื้อหาสำคัญของเพลงในเพลงลูกทุ่งช่วงกลางและปลายทศวรรษ 2540 โดยน่าสังเกตว่าคำร้อง การออกเสียง และพื้นเพภูมิลำเนากลุ่มของนักร้องที่ให้ภาพของแรงงานต่างจังหวัดในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักเป็นพี่น้องชาวภาคอีสาน จึงทำให้มีการเรียกเพลงลูกทุ่งสไตล์ดังกล่าวว่า ‘เพลงลูกทุ่งอีสาน’ มากกว่าจะเป็น ‘เพลงลูกทุ่งไทย’ ดังที่นิยมเรียกกันในช่วงต้นทศวรรษ 2540

สถานบันเทิง: กระแสเพลง ‘สตริงลูกทุ่ง’ และบทเพลง ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’ กับบริบทสังคมไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2540

ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจของวงการเพลงลูกทุ่งในทศวรรษ 2540 คือกระแสความนิยมของเพลง ‘สตริงลูกทุ่ง’ ซึ่งเป็นลูกผสมที่เกิดขึ้นระหว่างกระแสความนิยมของเพลงลูกทุ่งกับเพลงสตริง กล่าวคือ แม้เดิมเพลงลูกทุ่งจะมีการผสมดนตรีสตริงเข้าไปให้มีความทันสมัยมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2520 โดยเฉพาะจากผลงานเพลงของ ‘ราชินีลูกทุ่ง’ พุ่มพวง ดวงจันทร์ แต่ตามความรู้สึกทั่วไปก็ยังคงมองว่าตัวเพลงและตัวพุ่มพวงก็ยังคงจัดอยู่ในหมวดของวงการลูกทุ่ง ขณะที่ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 แม้จะมีนักร้องเพลงสตริงอย่างก๊อต จักรพรรณ์ และอ๊อด-โอภาส ทศพร ที่เปลี่ยนแนวการร้องและออกอัลบั้มเพลงในแนวลูกทุ่ง แต่ก็ยังดูเหมือนว่าผลงานเพลงดังกล่าวยังไม่สามารถฉีกออกจากกรอบเพลงลูกทุ่งได้

ทว่าเพลง ‘สัญญาเมื่อสายัณห์’ ของนักร้องเพลงสตริงอย่างไท ธนาวุฒิ ในปี 2542 ที่นำเอาเพลงดังของสัญญา พรนารายณ์ กลับมาทำดนตรีใหม่ในลักษณะดนตรีร็อกผสมผสานกับวิธีการร้องแบบเพลงลูกทุ่ง โดยมีการเพิ่มท่อนร้องเสียงเมโลดี้อันเป็นเอกลักษณ์ลงไปในว่า “ชัดเชา ดัดเชา ดัดเชา ดัดเชา ดาดัด ชัด ชาดัดเชา ดาดัด ชัด ชาดัดเชา” ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างออกไป เพราะเพลง ‘สัญญาเมื่อสายัณห์’ ของ ไท ธนาวุฒิ ได้รับความนิยมทั้งในคลื่นวิทยุและรายการเพลงลูกทุ่ง และเพลงสตริง

กระแสความดังของเพลง ‘สัญญาเมื่อสายัณห์’ เวอร์ชันไท ธนาวุฒิ เกิดขึ้นในบริบทกระแสอาการโหยหาอดีตของสังคมไทยอย่างมิต้องสงสัย โดยมีการออกแบบดนตรีและวิธีการร้องให้มีเอกลักษณ์แบบแนวเพลงสตริงร่วมสมัย จนอาจกล่าวได้ว่าเพลง ‘สัญญาเมื่อสายัณห์’ ของ ไท ธนาวุฒิ คือปรากฏการณ์แรกๆ ในการเชื่อมโลกเก่าแห่งคืนวันอันชื่นสุขเข้ากับโลกใหม่ในยุควิกฤตต้มยำกุ้งจนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว

ความสำเร็จของเพลง ‘สัญญาเมื่อสายัณห์’ นับเป็นพลุดอกแรกๆ ของกระแสนิยมในแนวเพลงแบบ ‘สตริงลูกทุ่ง’ เพราะไม่นานหลังจากนั้น ไท ธนาวุฒิก็หันมาออกอัลบั้มในสไตล์เพลงลูกทุ่งอย่างเต็มตัวในชื่อ ‘ลูกคอไท’ ในช่วงกลางทศวรรษ 2540 โดยเป็นการนำเอาเพลงลูกทุ่งเก่ามาเรียบเรียงดนตรีใหม่ให้ร่วมสมัย โดยมีเพลงอย่าง ‘น้ำตาลาไทร’ ที่ได้รับกระแสความ เช่นเดียวกับอี๊ด วงฟลาย นักร้องวงร็อกชื่อดังก็เปลี่ยนแนวมาออกอัลบั้มเดี่ยวในชื่อชุด ‘อี๊ด นอกรอบ’ โดยนำเพลงลูกทุ่งเก่าซึ่งเคยเป็นที่นิยมคุ้นหูมาเรียบเรียงดนตรีใหม่ ขณะที่ในปี 2545 ป้าง-นครินทร์ กิ่งศักดิ์ นักร้องเพลงสตริงชื่อดังก็ปล่อยผลงานเพลง ‘แก้วตาขาร็อค’ จากอัลบั้ม ‘หัวโบราณ’ ซึ่งเพลงแก้วตาขาร็อคมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเพลงที่แต่งทั้งคำร้องและทำนองขึ้นมาใหม่ในสไตล์ดนตรีบัลลาดร็อก (Ballad Rock) สลับผสมกับกลิ่นไอดนตรีและการเอื้อนร้องแบบเพลงลูกทุ่ง

แก้วตาขาร็อคเป็นเพลงที่ให้จินตภาพถึงความอาลัยอาวรณ์ของชายหนุ่มต่างจังหวัดที่มีต่อหญิงสาวบ้านนอกที่ตนรัก เนื่องจากเมื่อหญิงสาวได้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าไม่ยอมกลับบ้านนอก เพราะ “แว่วๆ ข่าวมาว่าเจ้าหลงไฟ แสงสีและศิวิไล เจ้าไปเที่ยวแทบทุกที่ เข้าผับเข้าบาร์งานการก็ลาทั้งปี ไปหลงดูวงดนตรีเล่นเพลงร็อคที่ชอบใจ”

ผับ บาร์ และสถานบันเทิง ถือเป็นสัญลักษณ์และการอุปลักษณ์ถึงกรุงเทพฯ ในเพลงลูกทุ่งมาอย่างเนิ่นนาน โดยส่วนใหญ่ของเนื้อหาเพลงลูกทุ่งในช่วงทศวรรษ 2510-2530 มักสร้างภาพความเข้าใจต่อสถานบันเทิงของกรุงเทพฯ ในฐานะสิ่งยั่วยวน การหลอกลวง ความชั่วร้าย และกิเลสตัณหา พร้อมๆ กันนั้นก็ตักเตือนหญิงสาวไปด้วยว่าผลของการเข้าไปหลงแสงสีในเมืองกรุงมักจะกลับมาด้วยความชอกช้ำและเลวร้าย[8] ซึ่งเพลงแก้วตาขาร็อคก็ยังยืนยันมโนภาพดังกล่าว ด้วยการเปรียบเพลงร็อคที่นิยมร้องเล่นกันในสถานบันเทิงว่า “ฟังคำพี่หนาพี่เตือนแก้วตาจากใจ ว่าขาร็อคอันตราย ส่วนใหญ่มีเมียหลายคน”

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2547 ได้ปรากฏเพลง ‘สตริงลูกทุ่ง’ ที่ได้รับความนิยมทั้งในคลื่นวิทยุเพลงลูกทุ่งและคลื่นวิทยุเพลงสตริงในแถบต่างจังหวัดเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องราวในเนื้อหาของเพลงเกิดขึ้น ณ สถานบันเทิงแห่งหนึ่ง โดยที่มิได้กล่าวถึงกรุงเทพหรือเมืองกรุงเลย อันได้แก่เพลง ‘รักแท้ในคืนหลอกหลวง’ ของวง Hyper

เพลงรักแท้ในคืนหลอกหลวงกล่าวถึงชายหนุ่มที่ตกหลุมรักหญิงสาวแปลกหน้าในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แม้เนื้อหาของเพลงจะยังคงให้ภาพของสถานบันเทิงผูกโยงเข้ากับ ‘คืนหลอกลวง’ ‘ความรักชั่วคราว’ และ ‘สัมพันธ์ชั่วคืน’ แต่ทว่าไม่มีส่วนใดเลยที่จะกล่าวถึงว่าผู้คนและสถานบันเทิงดังกล่าวคือภาพในกรุงเทพฯ

ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ความพร่าเลือนของที่ตั้งสถานบันเทิงในเพลง ‘รักแท้ในคืนหลอกหลวง’ อาจมีความน่าสนใจเมื่อพิจารณาว่าเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในคลื่นวิทยุเพลงในต่างจังหวัด ซึ่งหากจะวิเคราะห์ตีความในเชิงบริบท ก็มีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ของเพลงรักแท้ในคืนหลอกหลวงสัมพันธ์ไปกับพัฒนาการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2540

ปฏิเสธมิได้ว่าเพลงลูกทุ่งสัมพันธ์ไปกับมิติสังคมการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ซึ่งสำหรับบริบทการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2540 นับตั้งแต่การชนะการเลือกตั้งในปี 2544 รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น ไม่เพียงแต่จะประกาศและโฆษณาว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่จะทำให้ประเทศไทยยกระดับเป็นสมาชิกของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มโออีซีดี (OECD) ซึ่งน่าสังเกตว่า หลายโครงการ/นโยบายของรัฐบาลนั้น พันตำรวจโททักษิณมุ่งเน้นไปที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคชนบท เช่น ‘โครงการปลดหนี้ให้เกษตรกร’ ‘กองทุนหมู่บ้านละล้าน’ ‘โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค’ ในขณะที่ด้านการบริหารปกครองบ้านเมือง ก็มีการปฏิรูประบบราชการ รวมทั้งมีการเสนอแนวทางการบริหารปกครองจังหวัดแบบ ‘ผู้ว่าซีอีโอ’ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ส่งเสริมความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

นโยบายแบบประชานิยมส่งผลต่อกระแสความนิยมในตัวพันตำรวจโททักษิณเป็นอย่างสูง ดังปรากฏผ่านสองเพลงลูกทุ่งดังในช่วงกลางทศวรรษ 2540 อย่าง ‘หนุ่มราชภัฏ’ ของดำรง วงศ์ทอง ที่ร้องขึ้นต้นว่า “รวยเหมือนทักษิณ จะซื้อเครื่องบินไอพ่น ขับเวียนวนเที่ยวยลนางฟ้า” และเพลง ‘สะใภ้นายก’ ของหลิว อาจารียา ที่ถึงขนาดฝันไปว่าจะได้เป็นสะใภ้นายกฯ โดยเนื้อหาของเพลงได้กล่าวถึงความร่ำรวยและบารมีทางการเมืองของพันตำรวจโททักษิณในขณะนั้นว่า “คุณโอ๊ครูปหล่อละพ่อรวยคนนั้น” และ “ขันหมากเขาแห่มายิ่งใหญ่ คุณหญิงคุณนายหละเดินกันให้ควั่ก ป๋าเหนาะ เสธ.หนั่น ท่านกร ท่านมาอวยพร ให้รักกันมากๆ”

ในทางสังคม นโยบายและโครงการในลักษณะแบบประชานิยมของรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ทำให้ระบบทุนนิยมขยายตัวไปยังต่างจังหวัดและกลุ่มอาชีพเกษตรกรที่เป็นกำลังผลิตหลักในภาคชนบท เกษตรกรหลายรายเปลี่ยนสถานะจากแบบกึ่งพึ่งตนเองไปเป็นเกษตรกรนายทุน เพราะมีแหล่งเงินกู้ที่เข้าถึงง่ายจากภาครัฐและได้รับการสนับสนุนตลาดค้าขาย[9] เป็นผลทำให้ชาวนาชาวไร่จำนวนไม่น้อยเมื่อมีเงินเหลือเก็บมากพอก็จะนิยมจะออกรถจักรยานยนตร์หรือ ‘รถมอเตอร์ไซค์’ ให้ลูกหลานได้ขับขี่ไปเรียนและไปเที่ยว

มีความเป็นไปได้ว่าวัฒนธรรมการเที่ยวของเหล่าบรรดาวัยรุ่นต่างจังหวัดในยามค่ำคืนช่วงทศวรรษ 2540 มิใช่งานวัด งานประเพณี อีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็น ‘สถานบันเทิง’ อย่าง ผับ บาร์ และร้านเหล้าที่มีการเติบโตขยายตัวเป็นอย่างมากจากการมุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว

จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี แสดงให้เห็นว่าในปี 2546 มีสถานประกอบธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 1,179,313 แห่ง ปรากฏว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 25.5) ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางความเจริญของธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ กลับมีสัดส่วนใกล้เคียงกับภาคใต้รองลงมา ขณะที่สถานประกอบธุรกิจฯ ในปริมณฑล มีสัดส่วนต่ำที่สุด คือประมาณร้อยละ 8.5[10]

จากการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจสถานบันเทิงในต่างจังหวัดส่งให้หลายจังหวัดกลายเป็นเมืองที่ยามค่ำคืนเต็มไปด้วย ผับ บาร์ ร้านเหล้า และนักท่องเที่ยว ทำให้สภาวะ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกจังหวัด ไม่จำกัดเพียงเฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

ออกมาคืนนี้ฉันไม่ได้ตั้งใจมาเที่ยว

ตลอดช่วงระยะเวลาสิบปีของทศวรรษ 2540 พัฒนาการ ‘เพลงลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘เพลงสตริงลูกทุ่ง’ นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะความรักจากเพลง ‘รักน้องพร’ ที่เกิดขึ้น ณ บ้านนอกต่างจังหวัดในห้วงยามความพ่ายแพ้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้ผันแปรมาสู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’ ณ สถานบันเทิงในยามค่ำคืน

เมื่อมองสังคมไทยย้อนกลับไปในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งผ่านพัฒนาการเพลงลูกทุ่ง ทำให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สังคมไทยในช่วงทศวรรษ 2540 ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องเผชิญทั้งความผิดหวัง ความเจ็บปวด การโหยหาอดีต และการเดินทางกลับบ้าน ได้เห็นถึงปรากฏการณ์ ‘ดอกหญ้าในป่าปูน’ ของหญิงสาวต่างจังหวัดที่เดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ และการเข้ามาขายแรงงานของพี่น้องกรรมกรต่างจังหวัดภายหลังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว จนในท้ายที่สุดได้เห็นปรากฏการณ์ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’ ในบริบทที่กระแสนิยมทางการเมืองของรัฐบาลและอัตตาความเติบโตของเศรษฐกิจไทยกำลังทะยานสูงขึ้นราวกับบั้งไฟพญานาค

อย่างไรก็ตาม เพียงช่วงเวลาไม่นานก่อนปฏิทินเวลาจะเดินหน้าเข้าสู่ทศวรรษ 2550 ก็เกิดการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งการรัฐประหารในคืนดังกล่าวจะถือเป็น ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’ หรือไม่ก็ตาม แต่ผลจากการรัฐประหารดังกล่าวก็ทำให้การเมือง สังคม เศรษฐกิจ และพัฒนาการของเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนไปเป็นอีกยุคสมัยหนึ่งที่แตกต่างออกไปจากช่วงทศวรรษ 2540


[1] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559), 277.

[2] เจนภพ จบกระบวนวรรณ, ใน https://www.facebook.com/131078776961675/posts/1144853775584165/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565.

[3] สามารถดูประเด็นนี้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, จาก “โหยหา” ถึง “โมโห”: อ่านอาการสังคม ในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540-2546), วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์,  ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561), 171–219.

[4] ดู “สดใส รุ่งโพธิ์ทอง l ลูกทุ่งตัวจริง l วิทยา ศุภพรโอภาส”, เข้าถึงใน https://www.youtube.com
/watch?v=kTwk-zX_PvQ,  เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565.

[5] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, 322.

[6] เปิดประวัติ วิทยา ศุภพรโอภาส ดีเจแหบสเน่ห์ ผู้ปลุกปั้น “ลูกทุ่งเอฟ.เอ็ม.”, ใน https://www.
thansettakij.com/general-news/522043, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 4 มกราคม 2566.

[7] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน พันธการต์ ทานนท์, “พัฒนาการของภาพผู้หญิงชนบทพลัดถิ่นในเพลงลูกทุ่ง”, วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม – ธันวาคม, 2561).

[8] ดู อิทธิเดช พระเพ็ชร, “บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล: ปฏิสัมพันธ์ อำนาจนำ และการต่อรองระหว่างเมืองกับชนบท ในเพลงลูกทุ่งไทย”, https://www.the101.world/folk-song-urban-rural-relations/, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่
4 มกราคม 2566.

[9] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, 365-367.

[10] สรุปข้อมูลการสำรวจธุรกิจทางการค้าและธุรกิจทางการบริการ พ.ศ. 2547, (กรุงเทพฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2547).

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save