fbpx

ลูกคอสะอื้น : ไอ้ทุย รถไถ และเพลงลูกทุ่งไทยในวัฒนธรรมบริโภคนิยม (ตอน 1)

“คนรักจากลาตอนชะตาของพี่ตกต่ำ กลับบ้านตอนค่ำ เห็นเพียงห้องเปล่าใจหาย…”

เสียงร้องเพลงคาราโอเกะของลุงข้างบ้านซึ่งหายตัวไปราวสองวัน หลังตัดสินใจเดินเท้าลัดทุ่งนาออกจากบ้านตอนตีสองเพราะน้อยใจเมีย แม้จะผ่านมาเนิ่นนานหลายปีแต่ยังประทับในดวงจิตความทรงจำของผู้เขียนอย่างมิรู้ลืม ไม่เพียงแต่อารมณ์เพลงที่กลั่นมาจากก้นบึ้งของหัวใจ ณ วินาที ผู้เขียนได้ตื่นรู้ว่าเพลงลูกทุ่งไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในอณูชีวิต และมีสถานะเป็นเครื่องบำบัด (therapy) ความขมขื่นแห่งรสชาติชีวิตของใครหลายๆ คนในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปเพลงลูกทุ่งไทยกลับมีภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม กล่าวคือ หากไม่เป็นภาพท้องทุ่งนาที่เขียวขจี วิถีชีวิตในชนบท ก็คงเป็นภาพความยากจนข้นแค้นของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในเมืองหลวง นอกจากนี้ หากท่านผู้อ่านเป็นแฟนรายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง บ่อยครั้ง ไม่เพียงแต่จะได้สดับรับฟังเพลงลูกทุ่งเท่านั้น แต่ยังได้รับรู้เรื่องราวแห่งความกตัญญูรู้คุณ คติการเคารพครูบาอาจารย์ การต่อสู้ดิ้นรน ความอดทนพยายาม และหลายครั้งก็เห็นหยดน้ำตาของผู้เข้าประกวดที่ร่วงไหลรินราวกับฝนแรกหลังฤดูร้อนได้พัดผ่าน

เทียบกับแนวเพลงอื่น ๆ อย่าง ป๊อบ ร็อค แร็พ หรือ ฮิปฮอป ภาพลักษณ์เพลงลูกทุ่งไทยจึงดูเป็นอะไรที่ไม่ทันสมัยหรือไม่สมัยใหม่ ทว่า ในบรรดาแนวเพลงที่ถือเป็น ‘วัฒนธรรมประชานิยม’ (pop culture) ทั้งหมด เพลงลูกทุ่งไทยกลับมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เคียงคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานมากที่สุด จนมีผู้กล่าวอยู่เสมอว่า ‘เพลงลูกทุ่งไม่มีวันตาย’

การไม่มีวันตายหรืออย่างน้อยตอนนี้ก็ยังไม่ตายของเพลงลูกทุ่ง ทำให้ความเข้าใจเรื่องภาพลักษณ์ความไม่ทันสมัยของเพลงลูกทุ่งเป็นเรื่องที่ผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างมาก เพราะเพลงลูกทุ่งไม่ใช่เนื้อไก่ที่แช่ในช่องฟิตตู้เย็น ไม่ใช่ปลาหมึกที่แช่ฟอร์มาลีน แต่เพลงลูกทุ่งคือวัฒนธรรมชีวิตที่บันทึกการเดินทางของสังคมไทย มากไปกว่านั้น เพลงลูกทุ่งคือหลักฐานและเครื่องมือชี้วัดภาวะความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณา ‘ลูกคอ’ เพลงลูกทุ่งด้วยแนวคิดวัฒนธรรมบริโภคนิยม (consumerism)

มิตรรักนักเพลงคงทราบกันดีว่า เพลงลูกทุ่งไทยสัมพันธ์กับมิติด้านเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม และประเด็นความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบทอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ในยุคก่อกำเนิด (พ.ศ. 2507) จนถึงปัจจุบัน[1] ข้อชวนสังเกตประการหนึ่งคือ แม้จะมีเพลงลูกทุ่งที่บรรยายถึงทิวทัศน์ท้องไร่ท้องนา สภาพสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทตามภาพลักษณ์เพลงลูกทุ่งที่เข้าใจกันทั่วไป แต่ก็น่าสังเกตว่า เพลงดังจำนวนไม่น้อยในช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคทองของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ได้มีการกล่าวถึง ‘วัตถุสินค้า’ ที่มิใช่เพียงแต่ในความหมายของการเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในฐานะภาพแทน (representation) ความเป็นชนบทและความเป็นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภท ‘ยานพาหนะ’

จากบทความเรื่อง ‘บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกลฯ’ ผู้เขียน (อิทธิเดช เพชรบ้านนา) วิเคราะห์ให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษ 2500 -2510 ส่งผลให้หญิงสาวชนบทเดินทางออกจากท้องไร่ท้องนามุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวง จนทำให้ไอ้หนุ่มลูกทุ่งในชนบทต่างรำพันคร่ำครวญหา ตัวอย่างเช่น ในเพลง ‘จักรยานคนจน’ ต้นฉบับของ ชวนชัย ฉิมพะวงศ์ ผู้ซึ่งเปลี่ยนชื่อให้นักร้องหนุ่ม ยอดรัก ลูกพิจิตร กลายเป็นนักร้องดัง ‘ยอดรัก สลักใจ’ พร้อมกับมอบผลงานเพลง ‘จักรยานคนจน’ ให้ ยอดรัก ขับร้องจนโด่งดัง ได้บอกกับหญิงสาวที่ตนรักไปพร้อมมิตรรักแฟนเพลงว่า “คนจนอย่างพี่ ไม่มีเงินเป็นอำนาจ จะไปสามารถบังคับสะกดจิตใจ คนสวยของพี่จึงคิดจะมีรักใหม่ ไปนั่งท้ายมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่เมดอินเจแปน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่เมดอินเจแปน” คือภาพแทนของความเป็นเมืองหรือความเป็นสมัยใหม่ ในขณะที่ภาพแทนของชนบทก็คือ “จักรยานของพี่ ราคาไม่กี่ร้อยบาท” ที่ “ต้องใช้ขาปั่น รถพี่มันถึงจะแล่น ไม่เหมือนรถเครื่องต่างแดน ยิ่งเร่งยิ่งแล่นเพราะใช้น้ำมัน”

YouTube video

การอุปลักษณ์ (Metaphor) สินค้าประเภทยานพาหนะในฐานะภาพแทนของเมือง/ชนบท คือการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมการบริโภคนิยมที่ส่งผลต่อเมืองและชนบท เพราะอำนาจของสินค้าอย่างมอเตอร์ไซค์สัญชาติญี่ปุ่นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมไทย ดังที่มีเรื่องเล่าว่า ย้อนกลับไปในพ.ศ. 2502 มีนักมานุษยวิทยาต่างชาติชื่อ ไมเคิล มอร์มัน (Michael Moreman) เดินทางมาศึกษาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา โดยเขาต้องใช้เวลาถึงสองวันครึ่งเพื่อ ‘ขี่ม้า’ เข้าไปยังหมู่บ้านที่ทำการศึกษา แต่เมื่อมอร์มันเดินทางกลับเข้าไปหมู่บ้านดังกล่าวอีกครั้งในพ.ศ. 2530 เขากลับใช้เวลาเพียง 90 นาทีเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้การเดินทางดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ ถนนลาดยาง และรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติญี่ปุ่น[2] 

นอกจากนี้ “มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่เมดอินเจแปน” ยังสามารถอธิบายได้ด้วยมิติประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ดังข้อมูลในงานศึกษาของ คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ที่กล่าวถึงอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไทยว่า

“บริษัทญี่ปุ่นเริ่มประกอบรถจักรยานยนต์ที่เมืองไทยเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาทำการผลิตด้วย ครั้นปี 2518 ยอดขายสูงถึงปีละ 1 แสน 5 หมื่นคัน ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาเร็วขึ้น คนงานอพยพส่งเงินกลับบ้านสม่ำเสมอขึ้น ยอดขายรถจักรยานยนต์ก็ยิ่งเพิ่มสูงเป็น 2 ล้านคันต่อปีก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ. 2540 ส่วนใหญ่ขายให้ชาวบ้านต่างจังหวัดนั่นเอง พ.ศ. 2538 พบว่าครัวเรือนชนบท 3 ใน 5 มีรถจักรยานยนต์ใช้ ดังนั้น ‘รถจักรยานยนต์’ จึงเป็นการปฏิวัติการขนส่งสำหรับชนบทไทยเลยทีเดียว”[3]

ดังนั้น ไม่ว่าไอ้หนุ่มลูกทุ่งจะร้องคร่ำครวญสักเพียงใด ก็ไม่สามารถหยุดยั้งอำนาจการบริโภคนิยมทั้งในเมืองและสังคมชนบทได้ ซึ่งก็เห็นได้จากในช่วงราวทศวรรษ 2520 นักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายาหนุ่มนาเสียงเด็ด ศรเพชร ศรสุพรรณ ได้ร้องบรรยายถึงสภาพสังคมที่สาวๆ ต่างหันไปนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ในเพลง ‘มอเตอร์ไซต์ทำหล่น’ ว่า “แฟนของใครมอเตอร์ไซค์ทำหล่น หน้ามนสวยสะดุดตา” ขณะที่ช่วงทศวรรษ 2530 นักร้องสาวอย่าง สุนารี ราชสีมา ก็บอกกับหนุ่มๆ ว่า “นั่งมอเตอร์ไซด์นุ่งสั้น เรื่องของฉันมันไม่ใช่เรื่องของใคร” จากเพลง ‘มอเตอร์ไซค์นุ่งสั้น’

หากจะกล่าวว่า เพลงลูกทุ่งไทยที่กล่าวถึงสินค้าประเภทยานพาหนะในช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 คือภาพสะท้อนความพ่ายแพ้ของไอ้หนุ่มลูกทุ่งต่ออิทธิพลวัฒนธรรมการบริโภคนิยมที่ถาโถมจากเมืองเข้าสู่ชนบทก็คงไม่ผิดนัก เพราะในหลายๆ เพลงดังของนักร้องลูกทุ่งชายช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 ล้วนอยู่ในอาการ ‘ลูกคอสะอื้น’ เนื่องจากอารมณ์ความรู้สึกด้อยกว่าของชนบทที่มีต่อเมืองผ่านการเปรียบเทียบหรืออุปลักษณ์เป็นยานพาหนะ ซึ่งก็มิได้มีแต่รถจักรยานยนต์เท่านั้น แต่ยังมี รถยนต์ หรือ รถเก๋ง ดังเช่นเพลงดัง ‘ไอ้หนุ่มรถไถ’ ของ สายัณห์ สัญญา ที่ร้องว่า “ได้ขี่รถเก๋งฟังเพลงลูกกรุง อย่าลืมลูกทุ่งที่ขับรถไถ” ขณะที่เพลง ‘ปูไข่ไก่หลง’ ของ ชายธง ทรงพล ก็เปรียบคนรวยหรือเมือง และรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ โดยกล่าวประชดหญิงสาว ว่า “กอดกับคนจน หน้ามนเจ้าบ่นว่าเหม็น กอดคนมีขี่เบนซ์ เนื้อเย็นใจเต้นตาโต ชื่นอกชื่นใจ ชื่นใจละผัวใหม่เป็นโก๋ ตกเย็นนั่งเบนซ์โชว์ โก้อย่างนี้ถึงลืมพี่ชาวนา”

เมื่อมีภาพแทนของเมือง ก็ต้องมีภาพแทนของชนบท หากมิตรรักนักเพลงลูกทุ่งคิดว่ารถไถของ สายัณห์ สัญญา คือภาพแทนของชนบทที่น่าสงสารแล้ว เพลงดังอย่าง ‘ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน’ ของ ภูมินทร์ อินทรพันธ์ ยิ่งน่าเศร้าใจกว่า เพราะในขณะที่รถเก๋งถูกอุปลักษณ์เป็นเมือง ยานพาหนะอย่าง ‘เกวียน’ กลับถูกอุปลักษณ์ว่าเป็นชนบท ดังที่เพลงร้องบอกว่า “ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียนบ้านนอก ระวังนะจ๊ะบางกอกจะหลอกพานางเร่ขาย” และก็ยิ่งน่าซุปเปอร์เศร้าขึ้นไปอีก เมื่อเพลงดังอย่าง ‘ไก่นาตาฟาง’ ของ จีระพันธ์ วีระพงษ์ ถึงกับอุปลักษณ์ตัวแทนยานพาหนะของชนบทว่า “ฉันขี่ไอ้ทุยวิ่งลุยท้องนา ฮึ้ย ฮึ้ย ฮึ้ยฮึ้ย”

YouTube video

แน่นอน รถยนต์ในเพลงลูกทุ่งไทยมิได้เป็นยานพาหนะที่ลอยลงมาจากฟากฟ้า แต่เป็นผล มาจากการพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย) โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ. 2505 ที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับสิทธิพิเศษในการลงทุน ซึ่งส่งผลทำให้นับจาก พ.ศ. 2503 – 2522 มีบริษัทประกอบรถยนต์เกิดขึ้นในไทยถึงสิบบริษัท โดยปรากฏว่าใน พ.ศ. 2518 บริษัทประกอบรถยนต์ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงถึงหกเท่าของยอดขายรถยนต์ในแต่ละปี ในขณะที่เฉพาะพ.ศ. 2515 – 2518 ก็ปรากฏว่า มีบริษัทรถยนต์เกิดขึ้นถึงแปดบริษัท[4]

ตารางที่  1
รายชื่อโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย พ.ศ. 2503 – 2522

ชื่อโรงงานปีที่ก่อตั้งยี่ห้อรถ
โรงประกอบรถธนบุรี2504Mercedes Benz
เอ็ม เอ็ม ซี สิทธิผลมอเตอร์2504Mitsubishi
โตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย)2505Toyota
สยามมอเตอร์ และนิสสัน2505Nissan
ไทยฮีโน่ (จำกัด)2507Hino
ซูซูกิ และ มาสด้า2509Isuzu
โรงประกอบรถบางชัน2513Honda, Opel
โรงประกอบรถ วาย เอ็ม ซี2516BMW, Peugeot
ไทยสวีดิช (จำกัด)2517Volvo, Renault
ไทยรุ่งเรือง2522DAF

อ้างอิงข้อมูลจาก พัชรี สิโรรส, รัฐไทยกับธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์, 8.

จากตารางที่ 1  มิตรรักนักเพลงจะเห็นได้ชัดเจนว่า หากทศวรรษ 2510 – 2520 คือยุคทองของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ช่วงทศวรรษดังกล่าวก็ถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงมิน่าแปลกใจที่ไอ้หนุ่มท้องนาจะคร่ำครวญถึงหญิงสาวที่ทิ้งจักรยาน เกวียน และไอ้ทุย หันไปนั่งรถเก๋ง และรถเบนซ์แต่อย่างใด เพราะเนื้อหาในเพลงลูกทุ่งไทยสัมพันธ์ไปกับบริบทนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ระบบทุนนิยม รวมถึงวัฒนธรรมการบริโภคนิยมในสังคมสมัยใหม่ การมี ‘เมือง’ จึงทำให้มี ‘ทุ่ง’ และการมี ‘ทุ่ง’ ก็สำคัญต่อการมี ‘เมือง’ ซึ่งผู้เขียน (อิทธิเดช เพชรบ้านนา) เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ตามวลีของโฆษกวงดนตรีลูกทุ่งชื่อดัง แสนรัก เมืองโคราช ว่าเป็นสภาวะแบบ ‘บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล’

ยานพาหนะในเพลงลูกทุ่งไทยจึงน่าสนใจ เพราะวัตถุสินค้าในโลกบริโภคนิยมมิได้มีความหมาย เพียงเฉพาะการเป็นภาพแทนตัวตน หรือ กระบวนการสร้างภาพลักษณ์ทางรสนิยมและอัตลักษณ์ทางชนชั้น ดังเช่น กล้องถ่ายรูป เสื้อผ้า อาหาร อาคาร ฯลฯ ตามข้อเสนอในงานศึกษาชนชั้นนำสยามของ เมาริตซิโอ เปเลจจี (Maurizio Peleggi -ผู้เขียนหนังสือ ‘เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง’) [5] เท่านั้น แต่วัตถุสินค้ายังเป็น ‘สนามความหมาย’ ที่ราษฎร ประชาชน หรือมิตรรักนักเพลงลูกทุ่ง ใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘การถูกปะทะ’ จากวัฒนธรรมการบริโภคนิยมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งหากจะพูดให้ชัดกว่านั้นคือจากการสร้างตัวตนของนายทุนและกระฎุมพีกรุงเทพฯ ที่เติบโตในช่วงยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ถึงจอมพล ถนอม กิตติขจร (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย)

มิตรรักนักเพลงลูกทุ่งคงทราบกันดีแล้วว่า ในท้ายที่สุดไอ้หนุ่มลูกทุ่งก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับวัฒนธรรมการบริโภคนิยม เพราะในช่วงทศวรรษ 2520 -2530 ไม่เพียงแต่กระแสเพลงลูกทุ่งที่ต้องหลีกทางให้แก่กระแสเพลงสตริงวัยรุ่นและแฟชั่นสมัยใหม่ แม้แต่นักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ อย่าง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งเคยมีภาพลักษณ์เป็นนักร้องลูกทุ่งสาวชาวนา ก็พลิกโฉมภาพลักษณ์กลายเป็นสาวแฟชั่นทันสมัย พร้อมกับออกผลงานเพลงดัง ‘เงินน่ะมีไหม’ ในพ.ศ. 2532 ที่ร้องบอกคุณพี่ๆ ว่า “เรารักกันชอบกันด้วยใจ ของอะไรก็ไม่ต้องเอามาฝาก…แต่เงินมีไหม เงินน่ะมีไหม”[6]

YouTube video

เกวียน รถไถ และไอ้ทุย จึงเป็นภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเพลงลูกทุ่งไทยช่วงทศวรรษ 2510 – 2520 เท่านั้น เพราะเมื่ออำนาจของการบริโภคนิยมคลอบคลุมทุกพื้นที่ประเทศไทย บรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคยมีสถานะเป็นของฟุ่มเฟือยก็กลายมาสู่ความจำเป็น[7] ดังปรากฏในเพลงแนวเพื่อชีวิตอย่างเพลง ‘ไถ่เธอคืนมา’ ของ ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่แม้พี่ปูจะบอกแฟน ๆ เพลงว่า “ถึงไม่มีทีวี ตู้เย็น ก็ไม่เห็นเป็นไร” แต่พี่น้องครับ สำหรับแฟนๆ เพลงวงคาราบาวแล้ว ในโลกแห่งกระแสการบริโภคนิยม เพลงอย่าง ‘ราชาเงินผ่อน’ พี่แอ๊ด คาราบาว ก็เน้นย้ำบอกกับเราเสมอว่า “ก็อยากจะใช้แต่สิ่งของจําเป็น ทีวี ตู้เย็น จําเป็นต้องใช้ ความสุขเล็กน้อยนี่ว่าจะถอยวีดีโอ มาฉายดูหนังโป๊ที่กลาดเกลื่อนเมืองไทย”[8]

แม้การพลิกโฉมภาพลักษณ์ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในช่วงทศวรรษ 2530 จะส่งผลทำให้เกิดกระแสสำนึก ‘เพลงลูกทุ่งแท้’ ในอุดมคติทั้งในแง่ของวิธีการร้อง ลูกคอ หรือเนื้อหาจินตภาพในเพลงที่ควรจะกล่าวถึงวิถีชีวิตท้องไร่ท้องนาและไอ้ทุย แต่การที่ ‘ราชินีลูกทุ่ง’ อย่าง พุ่มพวง ถามคุณพี่ๆ มิตรรักนักเพลงว่า “เงินน่ะมีไหม” และจากเพลง ‘พี่ไปดูหนูไปด้วย’ ที่พุ่มพวงร้องบอกว่า “หากเมื่อไรไปดู นะพ่อโฉมตรู ให้หนูไปด้วย พี่อย่าลืมชวนหนู ถ้าพี่ไปดู ให้หนูไปด้วย หนูจะใส่ส้นสูงนุ่งทรงสุ่ม เดินแถวแถวสวนลุม ละให้ไอ้หนุ่มงงงวย” และ “หนูจะให้ช่างเขาแต่งใบหน้า แล้วไปซื้อขนตา เอามาใส่ให้สวย” และ “หนูจะให้ช่างเขาเขียนคิ้วโก่ง แล้วไปซื้อยกทรงเอามาใส่ให้สวย” กระแสความนิยมทางแฟชั่น วัฒนธรรมการบริโภคนิยม และความจำเป็นที่ต้องมีสิ่งของ/สินค้าอย่าง รองเท้าส้นสูง ขนตาปลอม และเสื้อยกทรง ของพุ่มพวง ก็เสมือนราวกับเป็นการสิ้นสุดภาพลักษณ์ของไอ้ทุยในฐานะภาพแทนชนบท เพราะนับจากทศวรรษ 2530 – 2540 ไม่เพียงเฉพาะผู้หญิงในภาคชนบทเท่านั้นที่เข้ามาเป็นแรงงานในเมืองหลวง แต่ไอ้หนุ่มลูกทุ่งก็ยังจำเป็นต้องเสี่ยงโชคชะตาเข้ามาหากินในเมืองหลวงด้วยเหมือนกัน ดังปรากฏนักลูกทุ่งชายเจ้าของฉายา ‘ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน’ อย่าง ไมค์ ภิรมย์พร หรือ นักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘หนุ่มตามฝันจากบ้านไกล’ ไผ่ พงศธร โดยวัฒนธรรมการบริโภคในเพลงลูกทุ่งของนักร้องกลุ่มนี้ แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากกลุ่มลูกทุ่งอาการ ‘ลูกคอสะอื้น’ ในช่วงทศวรรศ 2510 – 2520 ซึ่งผู้เขียน (อิทธิเดช เพชรบ้านนา) ขออนุญาตมิตรรักนักเพลง กล่าวถึงประเด็นนี้ในบทความต่อๆ ไป


[1] ดูประเด็นนี้ได้ใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ‘บ้านนอกในกรุง บ้านทุ่งแดนไกล: ปฏิสัมพันธ์ อำนาจนำ และการต่อรองระหว่างเมืองกับชนบท ในเพลงลูกทุ่งไทย’, https://www.the101.world/folk-song-urban-rural-relations/ และ อิทธิเดช พระเพ็ชร,จาก ‘รักน้องพร’ สู่ ‘รักแท้ในคืนหลอกลวง’: บ้าน ป่าปูน และสถานบันเทิง ในพัฒนาการเพลง ‘ลูกทุ่งไทย’ สู่ ‘สตริงลูกทุ่ง’ หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540, https://www.the101.world/thai-country-music-in-2540s/

[2] คริส เบเกอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, พิมพ์ครั้งที่ ๕, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559), 310.

[3] เพิ่งอ้าง, 311

[4] ดู พัชรี สิโรรส, รัฐไทยกับธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์, (กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540), 7-15.

[5] เมาริตซิโอ เปเลจจี เขียน ; วริศา กิตติคุณเสวี แปล, เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง : การก่อร่างภาพลักษณ์สมัยใหม่ของสถาบันกษัตริย์สยาม, (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2556)

[6] ดูการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ใน ปรกเกศ ใจสุวรรณ์, พุ่มพวง ดวงจันทร์กับการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของเพลงลูกทุ่ง (กลางทศวรรษ 2520 -กลางทศวรรษ 2540), วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน, 2565), 92 – 124. และ วิศรุต หล่าสกุล, พุ่มพวง ดวงจันทร์ : ภาพแทนแห่งการปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง จากเพลงภูธรสู่เพลงเชียร์กีฬา, เข้าถึงข้อมูลใน https://mainstand.co.th/th/features/5/article/3413.

[7] ดูแนวคิดเรื่องนี้ได้ใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ปฏิวัติบริโภค : จากสิ่งของฟุ่มเฟือยมาสู่สิ่งจำเป็น, (กรุงเทพฯ: ศยามปัญญา, 2558).

[8] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ว่าด้วยแนวคิดแบบแองโกล-อเมริกัน ถามสั้นๆ ตอบยาวๆ กับ ธเนศ วงศ์ยานนาวา,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ, 2565), 80.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save