fbpx

อย่าให้ทฤษฎีเป็นนายเรา

ในชั้นเรียนเมื่อวันก่อน นิสิตชวนคนสอนคุยเกี่ยวกับหัวข้อที่เขาสนใจศึกษาค้นคว้าอยู่ตอนนี้ นิสิตเล่าให้ฟังว่ากำลังสนใจติดตามเรื่องผู้ลี้ภัยเพื่อเตรียมประเด็นสำหรับทำวิทยานิพนธ์ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่ว่าจะศึกษากลุ่มไหนหรือมีแง่มุมไหนที่น่าทำในการเป็นวิทยานิพนธ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) ตอนที่คุยกัน UNRWA ที่ดูแลปัญหาผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์กำลังเป็นประเด็นอยู่ในข่าวต่างประเทศ คนสอนเลยว่าในสาขา IR ที่เราทำได้แน่ๆ ด้านหนึ่งคือตัดเข้าไปศึกษาเรื่องผู้ลี้ภัยที่อยู่ในการทำงานขององค์การระหว่างประเทศ เช่น UNRWA หรือ UNHCR โดยอาจหากรอบมาศึกษาเปรียบเทียบดูความแตกต่างของอาณัติกับสมรรถนะการทำงานขององค์การเหล่านี้ ซึ่งผลิตข้อมูลเปิดเผยออกมาให้ใช้ศึกษาได้มาก แต่สมัยนี้หัวข้อการทำงานขององค์การระหว่างประเทศ หรือการใช้อำนาจอิทธิพลของตัวแสดงในกรอบขององค์การระหว่างประเทศมีคนสนใจศึกษาทำเป็นวิทยานิพนธ์ไม่มากนัก จะเป็นเพราะองค์การระหว่างประเทศไม่สู้มีบทบาทความสำเร็จที่สามารถดึงความสนใจใครๆ ได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ เคยสัมภาษณ์นิสิตใหม่ให้บอกชื่อเลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน หลายคนก็ยังอ้ำๆ อึ้งๆ 

แต่ถ้าหากอยากใช้เวลาในขั้นต้นนี้สำรวจก่อนตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง ควรหาเครื่องมือมาช่วยคิดและจัดประเด็นจากปัญหาผู้ลี้ภัยที่ในสภาพจริงมีเรื่องราวซับซ้อน และในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกันอยู่มาก พอแนะนำอย่างนั้น เลยต้องหาตัวอย่างมาประกอบ เลือกแนวคิดที่ Robert W. Cox วาดความสัมพันธ์ต่อกันไว้ในรูปสามเหลี่ยมระหว่าง world orders – forms of state – social forces มาเป็นตัวอย่างของอุปกรณ์ช่วยคิดดังว่า ที่อาจพาเราตัดเข้าหาความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัย แล้วดูความสัมพันธ์ระหว่างส่วนทั้ง 3 ตามกรอบของค็อกซ์ ที่ส่งผลต่อปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาของผู้ลี้ภัย หรือสำหรับบางฝ่ายคือปัญหาจากผู้ลี้ภัย ก็จะจัดส่วนที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาน่าอธิบายและควรมีการอธิบายออกมาศึกษาได้อย่างเป็นระบบดีขึ้น

คนสอนบอกนิสิตด้วยว่า มิใช่ว่าให้ต้องคิดตามตัวอย่างที่ว่ามานี้ เป็นแต่ใช้แสดงให้เห็นว่า ประโยชน์อย่างหนึ่งของแนวความคิดทฤษฎีในทางปฏิบัติอยู่ตรงที่นำมาใช้เป็นอุปกรณ์พาเราตัดเข้าหาความเป็นจริงที่ใครๆ ก็รู้ว่ามีความหลากหลาย มีรากฐานของปัญหาชุมนุมทบซ้อนกันอยู่หลายด้าน มีอันตรายกระทบต่อสวัสดิภาวะของผู้ที่ต้องหาทางลี้ภัยหลายแบบ ขณะเดียวกันก็มีหลักการ บรรทัดฐาน กฏเกณฑ์กติกาและสถาบันเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่ทำงานได้ผลต่างกันในแต่ละพื้นที่ และมีอำนาจเหนือผู้ลี้ภัยซ้อนอยู่หลายต่อหลายชั้น เมื่อเป็นอย่างนั้น ถ้าหากไม่มีอุปกรณ์มาช่วยเราตัดประเด็นเข้าสู่การมองปัญหาและจัดแง่มุมที่น่าคิดน่าตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ออกมาพิจารณา ก็ยากที่จะจัดการเชื่อมโยงความหมายจากข้อมูลมากมายขึ้นมาตั้งสภาพปัญหาและโจทย์วิจัย ตลอดจนจัดทางวิเคราะห์สำหรับการตอบโจทย์ที่ตั้งขึ้น เพราะเรื่องราวต่างๆ จะพัลวันสัมพันธ์กันไปหมด จับเข้าตรงเรื่องหรือปัญหาส่วนไหน ส่วนนั้นก็พาขยายต่อออกไปได้ในหลายทิศหลายทาง ซึ่งถ้าจะให้คลุมการเห็นรอบด้านแบบนั้นได้ทั้งหมด คงต้องใช้วิธีเล่าแบบมหากาพย์ที่ได้ระดับฤษีวยาสมาเป็นผู้เล่า แล้วมองหาว่าใครที่พร้อมเป็นผู้จดบันทึก  

พอคุยกันแล้ว นิสิตอยากรู้วิธีการว่านักทฤษฎีอย่างค็อกซ์หรือวอลทซ์ หรือใครต่อใครใน IR พวกเขาที่ผลิตโมเดล ผลิตกรอบการวิเคราะห์มาให้พวกเราใช้ เขาหากรอบแนวความคิดแบบนี้ออกมาอย่างไร ตอบให้นิสิตฟังตามที่เข้าใจว่า ส่วนหนึ่งเขาคิดต่อทางกันมา ต่อทางแบบหนึ่งคือต่อทางในส่วนที่เป็นการรับอิทธิพลความคิดที่มีอยู่ก่อนแล้วนำมาขยายผลต่อ เช่น ในตัวอย่างที่ยกมา กรอบแนวคิดของค็อกซ์ได้รับอิทธิพลมาจากงานของ Antonio Gramsci แนวคิดอย่าง hegemony ที่ค็อกซ์ใช้ในทฤษฎีของเขา ใช้ในความหมายของกรัมชีซึ่งแตกต่างจากความหมาย hegemony ที่อยู่ในทฤษฎี hegemonic stability theory ของฝ่ายทฤษฎี IR กระแสหลัก นักทฤษฎี IR แต่ละคนต่างเลือกต่อสายกับขนบความคิดแตกต่างกันไปได้มากไม่มีจำกัด และจากความรู้หลายสาขาวิชา โดยเทียบเคียงสิ่งที่เห็นว่าเข้าท่าและคัดสรรออกมาสร้างแนวคิดประกอบเป็นความสัมพันธ์ส่วนต่างๆ ในกรอบทฤษฎีที่เขาหรือเธอสร้างขึ้นสำหรับการศึกษาโลกในมิติที่เรียกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าง Kenneth N. Waltz สร้าง power structure ขึ้นมาใช้จัด polarity สามแบบในกรอบทฤษฎีของเขา ก็อาศัยเทียบเคียงการทำงานของ power structure กับการแข่งขันของบริษัทในตลาดจากเศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นต้น

การต่อทางความคิดอีกแบบหนึ่งคือการต่อแบบเสนอความแตกต่างระหว่างกรอบแนวคิดทฤษฎีที่เขาหรือเธอที่เป็นนักทฤษฎีได้เสนอออกมา ว่าแตกต่างตรงไหนกับงานของใครอื่นที่มีอยู่ก่อนหน้า และงานของใครอื่นที่มีอยู่ก่อนหน้า ที่ใครๆ มักนำมาเป็นตัวเทียบ ก็คืองานทฤษฎีที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มกระแสหลักนี่เอง งานของวอลทซ์หรืองานของ Hans J. Morgenthau จึงเป็นงานที่ใครๆ ใน IR นิยมเอามาตั้งวางไว้ ไม่ใช่เพื่อไหว้ครู (แม้คนสอนเห็นว่าน่าตั้งโต๊ะหมู่พานพุ่มไหว้ท่านเหล่านี้อยู่เหมือนกัน) แต่ใช้เป็นจุดเทียบเพื่อแสดงให้เห็นว่าส่วนที่เขาหรือเธอเสนอกรอบแนวคิดทฤษฎีออกมาใหม่นี้ แตกต่างจากงานของวอลทซ์หรือมอร์เก็นธาวขนาดไหน คนอ่านเห็นแล้วก็สามารถประเมินพิกัดความคิดในทางทฤษฎีของงานนั้นได้ และเทียบเคียงกับงานทฤษฎีของคนอื่นๆ ต่อไปได้อีก 

นิสิตถามตรงนี้ว่า งานกระแสหลักกับงานกระแสอื่นๆ จัดจำแนกความต่างกันตรงไหนแน่ว่าอะไรเป็นกระแสหลัก และอะไรเป็นกระแสอื่น คนสอนซึ่งไม่ชอบอยู่ในกระแสตอบนิสิตตามความเข้าใจว่า การแบ่งกันแบบนี้บางทีมาจากความเข้าใจที่จัดขึ้นมาจากการอภิปรายใหญ่ๆ ที่พอชวนกันกระโจนเข้าไปสู้กันในสนามทางปัญญา มันก็เกิดการแบ่งพวกขึ้นมา แบ่งแล้วก็ต้องมีชื่อให้แก่แต่ละฝ่าย ก็ต้องหาคำมาเรียกให้รู้พวกเรา-พวกเขา เช่น ในการอภิปรายครั้งใหญ่ที่มีคนนับกันว่าเป็นรอบที่ 2 ในสาขา IR ก็มีการแบ่งระหว่างฝ่าย traditionalism กับพวก scientism ขึ้นมา ถามว่าคนที่ถูกจัดป้ายชื่อเรียกพวกเรียกกลุ่มแบบนี้ เขาพอใจไหม ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พอใจ หรือไม่ได้เรียกตัวเองอย่างนั้นแต่ทีแรก แต่เมื่อหมู่คณะแวดวงวิชาการพากันรับเอามาใช้แล้ว Hedley Bull ก็กลายเป็นฝ่าย traditionalism ไป หรือวอลทซ์เป็นต้นธาตุของ neorealism ไปก็โดยเหตุหมู่เหล่าชาว IR พากันยึดถือเชื่อใช้กันแบบนี้

แต่ถ้าจะแบ่งกันให้เกิดความเข้าใจในทางทฤษฎีได้ดีขึ้น ก็แบ่งได้ และเป็นวิธีที่นักทฤษฎีทั้งหลายเขาใช้สังเกตพิกัดกันและกันในทางปฏิบัติด้วย นั่นคือการพิจารณาฐานคิดที่นักทฤษฎีแต่ละคนใช้พิจารณาความจริง และทางสร้างความรู้กับเกณฑ์จัดอะไรว่าเป็นความรู้ในทฤษฎีของแต่ละคน หรือพูดให้ขลังขึ้นมาหน่อยก็คือเราต้องรู้วิธี (และเห็นข้อจำกัดในวิธี) ที่นักทฤษฎีใช้สร้างหรือปรุงแนวคิดขึ้นมาศึกษาสภาวะความเป็นจริงในโลกของการเมืองระหว่างประเทศ ที่มี concrete reality หลายแบบซ้อนกันอยู่ ทำให้คนสร้างทฤษฎีต้องตัดสินใจว่าสนใจความเป็นจริงแบบไหน

เป็นต้นว่า ความเป็นจริงบางอย่างไม่ขึ้นอยู่กับผู้สังเกต จะมีใครสังเกตหรือไม่มี มันก็เป็นไปอย่างนั้นตามเหตุปัจจัยที่มากระทบ เช่น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร แต่ความเป็นจริงบางอย่างจะเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปรไปตามการรับรู้ของผู้สังเกต และผู้ที่รู้ว่ามีคนไม่มากก็น้อยกำลังสังเกตเขาหรือเธออยู่ ว่าพากันมองอะไรในสิ่งที่เห็น และเห็นในความหมายอย่างไร  ความเป็นจริงบางอย่างมีสภาวะดำรงอยู่อย่างเป็นวัตถุวิสัย หรือมีลักษณะทางวัตถุกายภาพให้สังเกตได้จากภายนอก ให้ใช้เครื่องมือและวิธีนับวิธีวัดที่ให้ผลตรวจสอบได้แน่ชัด แต่ความเป็นจริงอีกหลายอย่างเป็นสภาวะทางความคิดความรู้สึกที่อยู่ภายในตัวบุคคลที่ต้องอาศัยการตีความค้นหาความหมายที่พาเห็นพาสัมผัสความคิดจิตใจ หรือเป็นความเป็นจริงที่อยู่ภายนอกตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่ดำรงอยู่และก่อการส่งผลขึ้นมาได้จากการที่คนในสังคมร่วมกันยึดถือเชื่อใช้คาดหวังในแบบแผนการปฏิบัติจากกันและกัน วางข้อห้ามข้อพึงปฏิบัติทางสังคมและมีแนวทางจัดการกับคนที่ละเมิดฝ่าฝืนไว้ และในการปฏิบัติตามกติกาก็ดีหรือการฝ่าฝืนข้อห้ามข้อเหนี่ยวรั้งทางสังคมก็ดีก็เป็นการผลิตความเป็นจริงทางสังคมขึ้นมาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ความเป็นจริงยังอยู่ในรูปของข้อกำหนดที่องค์กรสถาบันแต่ละแห่งวางไว้เป็นการเฉพาะสำหรับกำหนดสถานะ บทบาท อำนาจหน้าที่ ตลอดจนแบบแผนในการปฏิบัติให้แก่บุคคลที่อยู่ในองค์กรนั้นหรือเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในนามขององค์กรสถาบันนั้น

ในความเป็นจริงที่มีลักษณะต่างๆ กันนี้ การจำแนกทฤษฎี เราจึงดูกันที่ว่าทฤษฎีของใครเลือกความเป็นจริงแบบไหนส่วนไหนออกมาสร้างความรู้ และในทฤษฎีนั้นเป็นทฤษฎีที่มุ่งเสนอการอธิบายแสดงเหตุไปหาผลที่วัดได้นับได้คาดการณ์ได้ในความแน่นอนประมาณไหน หรือเป็นทฤษฎีเสนอการตีความ ค้นหาความหมายที่อยู่ในความคิดจิตใจของบุคคล ในความเข้าใจร่วมกันของสังคม หรือเป็นงานเสนอการวิพากษ์ที่นำความเป็นจริงแบบไหนออกมาแสดงให้เห็นการทำงานของอำนาจ ของอคติ ของการครอบงำ เพื่อมุ่งปลดปล่อยอะไรและจะพากันและกันไปสู่ทางไหนต่อ   

ดังนั้น คนสนใจศึกษางานทางทฤษฎีต้องสังเกตวิธีที่นักทฤษฎีเลือกดึงบางส่วนจาก concrete reality ไม่ว่าจะเป็น concrete objects หรือ concrete subjects ว่าเขาดึงความเป็นจริงแบบไหนออกมาพิจารณา และดูผลลัพธ์จากกระบวนการที่มีคนเรียกว่าเป็นการเปลี่ยน concrete-in-reality มาเป็น concrete-in-thought ของนักทฤษฎีผู้นั้น ว่าได้ผลออกมาอย่างไรในการเสนอความเข้าใจลักษณะความเป็นจริง (บางส่วน) ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ เห็นเงื่อนไขสภาวะที่ทำงานอยู่ในความเป็นจริงส่วนนั้นได้อย่างแจ่มชัด ไม่มีส่วนใดที่ขัดแย้งกันเองภายใน และมีข้อเสนอที่เปิดทางให้คนอื่นๆ สามารถใช้ความคิดทดสอบ ตรวจสอบ หรือประเมินวินิจฉัยด้วยวิธีการอันเหมาะสมในการที่จะรับหรือปฏิเสธ ที่จะเห็นแย้งหรือยืนยันข้อเสนอส่วนใด โดยมีความรู้อันเป็นที่ยอมรับได้เป็นเป้าหมายร่วมกัน

นิสิตที่อ่านงานของวอลทซ์มาแล้ว คงเห็นว่าในบทแรกของ Theory of International Politics  เขาแยกว่าทฤษฎีต่างจากและเป็นคนละส่วนกับความเป็นจริง ทฤษฎีเป็นผลผลิตทางความคิดและเป็นอุปกรณ์ของความคิดสำหรับใช้ทำความเข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ที่ปรากฏในโลกความเป็นจริง ไม่มีทางจะสร้างทฤษฎีมาอธิบายความสัมพันธ์ในโลก โดยไม่ละความเป็นจริงบางส่วนหรือหลายส่วนไว้ข้างนอกทฤษฎี  ในจุดนี้ นิสิตอีกคนตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า แม้วอลทซ์บอกว่าทฤษฎีเป็นคนละส่วนกับความเป็นจริง แต่เมื่อเราเอาทฤษฎีมาใช้ทำงานกับความเป็นจริง เช่น คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความเข้าใจการทำงานของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในโลกการเมืองระหว่างประเทศตามที่ทฤษฎีเสนอ แล้ววางแผนและดำเนินการไปตามการคาดการณ์ ก็เท่ากับว่าทฤษฎีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกความเป็นจริงแล้วใช่ไหม ในแง่นี้จะมาแยกระหว่างทฤษฎีกับความเป็นจริงยากอยู่ แยกได้หรือเปล่า

คนสอนเลยนึกถึงเมอร์ตัน ความเข้าใจโลกจากทฤษฎีพาก่อให้เกิดความคาดหวังบางอย่างในใจคนจำนวนมาก การกระทำที่ตามมาจากความคาดหวังแบบนั้นเลยทำให้สิ่งที่ทฤษฎีคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น ในที่สุดก็เลยเกิดขึ้นมาตามนั้นจริงๆ  Robert K. Merton ให้ชื่อปรากฏการณ์ที่ทฤษฎีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกความเป็นจริงในลักษณะที่การคาดการณ์ของทฤษฎีอาจจะผิด แต่เมื่อมีคนคาดหวังไปตามการคาดการณ์และตัดสินใจกระทำการตามความคาดหวังนั้นเป็นจำนวนมาก จนสิ่งที่ทฤษฎีทายไว้เป็นจริงขึ้นมาในที่สุดว่า self-fulfilling prophecy โลกความเป็นจริงทางวัตถุทางสังคมที่เราออกไปเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กับโลกความคิด อันเป็นที่มาและเป็นที่ไปของแนวคิดและทฤษฎี จึงมีทางพัวพันระหว่างกันได้อีกมากมายหลายแบบ

ดังนั้น การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับความเป็นจริงว่าแยกจากกันตรงไหน ทำงานส่งผลต่อกัน หรือว่าเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกันและกันขึ้นมาอย่างไร เป็นส่วนที่คนศึกษาโลกด้วยเครื่องมือทางทฤษฎีต้องรู้จักสังเกต ทั้งแนวคิดที่ทฤษฎีใช้ วิธีการที่นำแนวคิดและทฤษฎีมาใช้ และตัวคนที่ใช้แนวคิดทฤษฎี ให้ดีๆ ว่าทั้งแนวคิด ทฤษฎี วิธีการ และตัวเองกำลังเข้าไปพัวพันกับความเป็นจริงแบบไหน หรือกับความเป็นจริงในระดับไหน

อย่างน้อยที่สุด คนสร้างทฤษฎีและคนนำทฤษฎีมาใช้ต้องรู้จักแยกแนวคิดที่ใช้ให้เหมาะกับระดับความเป็นจริงที่กำลังพิจารณา แต่ก่อนจะอภิปรายเรื่องนี้กันต่อ คนสอนถามคนเรียนว่า แล้ววอลทซ์บอกไหมว่าวิธีละความเป็นจริงหลายส่วนไว้ข้างนอกทฤษฎี แล้วดึงแต่เฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญมาพิจารณาเพื่อสร้างทฤษฎีออกมานั้น ทำกันแบบไหน

นิสิตที่อ่านวอลทซ์มาแล้วจากชั้นเรียนอื่นรายงานว่า ในการสร้างทฤษฎีมาอธิบาย ต้องเข้าใจก่อนว่า อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นการอธิบาย วอลทซ์มองว่าการอธิบายเรื่องใดไม่ใช่การพิจารณาเรื่องที่ต้องการอธิบายอย่างโดดๆ แต่ต้องได้ความเข้าใจก่อนว่า เรื่องนั้นมันเกิดขึ้นหรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบใหญ่ ที่มีลักษณะ มีองค์ประกอบ และมีความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบของระบบที่ทำงานส่งผลต่อกันอยู่แบบไหน ต่อเมื่อเข้าใจหลักจัดความสัมพันธ์ภายในระบบ เข้าใจการทำงานของระบบและการส่งผลที่เกิดขึ้นแล้ว จึงจะได้ทางสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ที่ผู้ศึกษาต้องการรู้ได้ ซึ่งในบริบทนี้ วอลทซ์ยกมติของ Werner Heisenberg มาสนับสนุน ส่วนฝ่ายไฮเซินแบร์กเองบอกว่าเขาได้ความคิดนี้มาจาก Wolfgang Pauli อีกที :

‘Understanding’ probably means nothing more than having whatever ideas and concepts are needed to recognize that a great many different phenomena are part of a coherent whole.

เมื่อวอลทซ์มองว่าจะได้การอธิบายเรื่องใดมา ก็จากการเข้าใจการทำงานของระบบหรือ ‘coherent whole’ ที่เรื่องนั้นเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในระบบนั้น ทฤษฎีจึงเป็นข้อเสนอที่ได้มาจากการแยกระบบส่วนนั้นออกมาพิจารณา เขาเปรียบเทียบการสร้างทฤษฎีว่าเป็นเหมือนภาพที่มีขอบเขตชัดเจนที่นักทฤษฎีวาดขึ้นมาจากการตรึกนึกคิด — “a picture, mentally formed, of a bounded realm or domain of activity” ที่นักทฤษฎีจะคัดเลือกแต่เฉพาะบางสิ่งจาก “infinite materials of any realm [that] can be organized in endlessly different ways” ที่เขาเห็นว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญเข้ามาในภาพ และจัดแต่ละส่วนที่คัดเลือกเข้ามาวางในตำแหน่งแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงกันและสัมพันธ์กัน โดยประกอบกับฐานคิดที่ทฤษฎีวางไว้เป็น basic assumptions อย่างในทฤษฎีของวอลทซ์ เขาจัดรัฐเข้ามาเป็นหน่วยพื้นฐานของระบบระหว่างประเทศ จัดตำแหน่งรัฐต่อรัฐตามหลักการอธิปไตย และวางฐานคิดเป็น basic assumption ไว้ว่า ในระบบระหว่างประเทศที่เป็นอนาธิปไตย แต่ละรัฐจะถือความอยู่รอดเป็นเป้าหมายพื้นฐานก่อนสิ่งอื่นใด ทุกรัฐต่างมุ่งแสวงหาสิ่งที่จะมาเป็นหลักประกันความอยู่รอดของตน แน่นอนว่ารัฐมีความปรารถนาในด้านอื่นๆ ใน concrete reality อีกมาก แต่วอลทซ์เลือกตั้งข้ออนุมานทางทฤษฎีเกี่ยวกับเป้าหมายของรัฐในเรื่องความอยู่รอดเป็นพื้นฐานเพียงเรื่องเดียว ดังที่เขาบอกว่ามันเป็น “radical simplification made for the sake of constructing a theory” ในแง่นี้ การสร้างทฤษฎีจึงเป็นการแยกโลกของความเป็นจริงโดยตัดเพียงบางส่วนออกมาพิจารณา และทอนความสัมพันธ์ซับซ้อนตามที่เป็นอยู่ในโลกของความเป็นจริงให้เหลือองค์ประกอบสำคัญเพียงไม่กี่อย่าง เพื่อที่จะแสดงความสัมพันธ์ในส่วนนั้นและการทำงานส่งผลของมันออกมาได้อย่างชัดเจน

วอลทซ์สรุปกระบวนการในส่วนนี้ว่า “To isolate a realm is a precondition to developing a theory that will explain what goes on within it.”  ต่อจาก isolation กระบวนการสำคัญในการสร้างทฤษฎีผ่าน simplification of reality ได้แก่

  • abstraction: วอลทซ์ให้ความหมายสั้นๆ ว่าคือการดึงลักษณะบางอย่างออกมาพิจารณาเพื่อให้ได้ความเข้าใจชัดขึ้น
  • aggregation: วอลทซ์ว่าได้แก่การนำสิ่งต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามความมุ่งหมายของทฤษฎี
  • idealization: คือการสร้างตัวแบบในทางทฤษฎีขึ้นมาให้เห็นว่าถ้าสิ่งต่างๆ ที่ประกอบกันอยู่ทำงานสัมพันธ์กันสมบูรณ์แบบจะได้ผลออกมาเป็นแบบไหน (หรือมีเพดานจำกัดอยู่ที่ไหน) เพื่อนำไปใช้เป็นแนวเทียบกับความเป็นจริงตามที่เกิดขึ้นในแต่ละกรณี   

จากแนวทาง simplification ในทางทฤษฎี ขั้นต่อไปคือขยับไปพิจารณาผลที่ได้ออกมาจากกระบวนการดังกล่าว คือแนวคิดทางทฤษฎี (theoretical notions or terms) ที่ถูกจัดความหมายออกมาจากกระบวนการ isolation/ abstraction/ aggregation/ idealization ในส่วนนี้ วอลทซ์ให้คำเตือนว่า คำทางทฤษฎีที่เห็นว่าเหมือนกัน หรือเป็นคำๆ เดียวกัน เช่น อำนาจ โครงสร้าง ระบบ เสถียรภาพ ฯลฯ แต่เมื่อมาจากทฤษฎีต่างกัน คำเหล่านี้ย่อมผ่านกระบวนการ abstraction และ aggregation มาไม่เหมือนกัน คำทางทฤษฎีเหล่านี้ นอกจากมีนัยเกินกว่าความหมายตามที่เข้าใจทั่วไปแล้ว ยังมีความหมายในแต่ละทฤษฎีไม่เหมือนกันทีเดียว เขาจึงเตือนคนอ่านด้วยคำของ Thomas Kuhn ว่า เมื่อคน 2 คนใช้ทฤษฎีต่างกันมาอธิบายเรื่องเดียวกัน “We cannot say with any assurance that the two men even see the same thing, possess the same data, but identify or interpret it differently.”

คนสอนบอกคนเรียนว่า เมื่อถึงตอนนี้ เราก็คงได้เหตุผลที่ดีพอแล้วสำหรับการหันมาใส่ใจกระบวนการได้มาซึ่งทฤษฎีที่ตั้งต้นที่ isolation และ abstraction ว่าในทางทฤษฎีเขาทำกันแบบไหน และในฐานะคนศึกษาทฤษฎี หรือเป็นคนใช้แนวคิดที่ทฤษฎีเสนอออกมา เราควรติดตามผลที่ได้ออกมาจาก abstraction หรือจาก aggregation และ idealization อย่างไรที่จะรักษาความรู้ตัวของเราต่อแนวคิดที่เราเอามาใช้ แนวคิดที่เราได้จากทฤษฎี จากนักคิด จากนักปรัชญารุ่นก่อนๆ หรือจากครูบาอาจารย์ที่กำลังสอนเราอยู่หน้าชั้นในเวลานี้ ว่าแนวคิดทฤษฎีเหล่านั้นกำลังพาไปรู้ไปเห็นอะไร เห็นแบบไหน รู้แบบไหน หรือมันกำลังคืบคลานเข้ามาก่อรูปฝังรอยความคิดของเราให้คิดไปกับมัน ให้คิดตามมันไปอย่างไรแน่ และมันทำได้แค่ไหน การรู้กระบวนวิธีเกี่ยวกับ simplification of reality ผ่าน abstraction aggregation หรือ idealization ในทางทฤษฎี ทำให้เราพอจะมีอุปกรณ์ป้องกันตัวที่ดีสำหรับการอยู่ท่ามกลาง ‘sapere aude‘ ของสมัยใหม่ แม้ว่ากระบวนศึกษาด้วยการทำโลกให้ง่ายขึ้น กับการเข้าใจได้อย่างง่ายๆ เป็นคนละส่วนที่บางทีอยู่ห่างจากกันมาก ก็ไม่ควรทิ้งความพยายาม 

แนะนำนิสิตในชั้นเรียนว่าถ้าใครสนใจวิธีติดตาม abstraction อันเป็นต้นทางของกระบวนการสร้างทฤษฎีตามที่วอลทซ์เสนอ อาจเริ่มต้นที่ Dance of the Dialectic: Steps in Marx’s Method ของ Bertell Ollman คนสอนเองก็ได้ความเข้าใจเกี่ยวกับ abstraction ทางทฤษฎีมาจากคำอธิบายของออลแมนอีกเล่มหนึ่งที่ให้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์ และอภิปรายเกี่ยวกับ abstraction ให้ความเข้าใจแก่คนแรกเรียนได้ดีคืองานของ Andrew Sayer, Method in Social Science: A Realist การอภิปรายของนักวิชาการทั้งสองเสนอให้เราพิจารณาคำอันเป็นที่มาของ abstraction คือ abstrahere อันมีความหมายว่า to draw away (ab/ abs = away + trahere = to draw) เมื่อรากศัพท์ของ abstraction เป็นอย่างนี้ นักวิชาการที่อธิบายเรื่อง abstraction อย่าง Sayer จึงเตือนให้ระลึกว่า เมื่อเราใช้ผลลัพธ์ที่ได้มาจากกระบวนการ abstraction คือแนวคิดทางทฤษฎี เราพึงคำนึงว่า แนวคิดทางทฤษฎีที่เราใช้อยู่นั้น เป็นผลจากการที่บางสิ่งถูกดึงออกมาพิจารณาจากสิ่งที่เคยประชุมรวมกันอยู่เป็นก้อนใหญ่ และเมื่อเราจะคิดต่อออกไปโดยใช้แนวคิดที่ได้จากกระบวนการ abstraction นั้นกลับไปพิจารณาสภาวะความเป็นจริง หรือใช้แนวคิดดังกล่าวนำเสนอความเป็นจริง เราต้องไม่ลืมความเป็นจริงที่ว่า แนวคิดที่เราใช้อยู่นั้น มันได้มาจากการ drawing away or abstract from “the many other aspects which together constitute concrete objects such as people, economics, nations, institutions, activities and so on.” ซึ่งคำเหล่านี้ก็เป็น abstraction จากสภาวะเป็นอยู่คือในโลกทางสังคมด้วยเหมือนกัน abstraction จึงทำให้เราเห็นสภาวะตามที่มันแสดงได้ชัด แต่มันยังมีสภาวะอื่นๆ และจาก abstraction ในแบบอื่นๆ ที่เป็นไปได้อีกมากในสิ่งที่เรากำลังจับขึ้นมาศึกษาทำความเข้าใจ

ในแง่นี้ ฝ่ายมาร์กซิสต์จึงตั้งข้อวิจารณ์บรรดา abstractions ของพวกทุนนิยมเสมอว่า ช่างเป็น abstractions ที่ฉายอะไรๆ ให้เห็นชัดจริง แต่ชัดในทางที่พาให้เห็นแยกส่วนออกจากกันในสิ่งที่ความจริงแล้วมีความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันอย่างยิ่ง ฝ่ายทุนนิยมใช้ abstractions มาบังหรือกันไม่ให้เห็นว่า การดำรงอยู่และสืบต่อมาได้ของสิ่งหนึ่ง เช่น ทุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ผลกำไร แท้ที่จริงแล้วเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ทางสังคมภายใต้สภาวะและเงื่อนไขแบบไหน และส่งผลอย่างไรต่อแต่ละฝ่ายที่ประกอบกันอยู่ในการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าเราจะเป็นมาร์กซิสต์ฝ่ายซ้าย หรือสมัครใจอยู่ฝ่ายทุนนิยมเสรีนิยมฝ่ายขวา ข้อวิพากษ์ข้างต้นให้ข้อคำนึงแก่เราว่า คำถามสำคัญเมื่อต้องตรึกเกี่ยวกับลักษณะหรือความสัมพันธ์ในสิ่งที่ถูกดึงออกมาพิจารณา (หรือคำถามที่ควรตรึกเมื่อนำผลของ abstraction ที่เป็นแนวคิดใดมาใช้ก็ตาม) คือ ลักษณะหรือความสัมพันธ์ตามที่เห็นใน abstraction นั้น ถ้าจะเกิดขึ้นได้ จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอะไร หรือต้องมีอะไรเป็นปัจจัยที่ดำรงอยู่ก่อน มันจึงเกิดขึ้นมาและดำรงคงตัวอยู่ได้ และถ้ามันไม่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง มันต้องอิงอาศัยอะไรบ้าง และในการอิงอาศัยนั้นเป็นไปในรูปการณ์แบบไหน การเป็นอยู่คือของสิ่งที่เราดึงออกมาพิจารณา สัมพันธ์กับการมีและไม่มี สัมพันธ์กับการทำและไม่ทำของสิ่งนั้นในแง่ใดบ้าง ที่เราเห็นว่าน่าสนใจและควรแก่การสังเกต

ตั้งต้นที่ค็อกซ์ผ่านมาทางวอลทซ์จนมาจบด้วยความคิดจากฝ่ายวิพากษ์ก็พอดีหมดเวลาเรียน คนสอนสรุปปิดท้ายการสัมมนาว่า กระบวนการได้มาซึ่งทฤษฎีเป็นกระบวนวิธีอันพึงรู้สำหรับนักศึกษาที่มุ่งเป็น ‘self-conscious thinkers’ ไม่ใช่เรียนตามคำบอกของคนสอน หรือเชื่อฟังแนวทางที่วางไว้โดยครูอาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือ การเรียนอย่างนั้นไม่มีทางไปไกลเกินเงาของอาจารย์

คนสอนยกมติของ C. Wright Mills ซึ่งเป็นผู้ใช้คำ self-conscious thinker มาลงท้าย เขาบอกว่า “ต่อเมื่อสามารถใช้งาน ‘ทฤษฎี’ และ ‘วิธีศึกษา’ ได้อย่างเป็นนายแล้ว จึงถือว่าเป็นนักคิดที่มีความรู้ตัวขึ้นมาได้ นั่นคือเป็นผู้ที่ตระหนักชัดเสมอในเรื่องที่กำลังทำอยู่ว่ามันมาจากฐานคิดอะไร และอะไรคือนัยสัมพันธ์ที่ต่อจากมันออกไป แต่ถ้าปล่อยให้ ‘วิธีศึกษา’ หรือ ‘ทฤษฎี’ เป็นนายใช้งานเรา นั่นเรียกว่ายังถูกกันไว้จากการทำงาน นั่นคือจากความพยายามจะค้นพบบางสิ่งในโลกที่กำลังเป็นไป”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save