fbpx

ไทรบไท สู่ไทยรบลาว: สงครามชาติพันธุ์เคียงโศกนาฏกรรม ขุนช้าง-ขุนแผน-วันทอง-ลาวทอง

ไทยรบพม่า เป็นชื่อหนังสือคลาสสิกเล่มสำคัญของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย กำเนิดหนังสือเล่มนี้ช่วยตอกย้ำโครงเรื่องประวัติศาสตร์แห่งชาติที่วางอยู่บนฐานสงครามได้เป็นอย่างดี ภายในเนื้อหาไม่ซับซ้อนมี ‘เรา’ คือ คนไทย และมี ‘เขา’ คือ พม่าที่เป็นศัตรู ชื่อหนังสือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Our Wars with the Burmese[1] ก็ให้เซนส์ที่ไม่อ้อมค้อม

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงความแพรวพราวของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์ในการเขียนพระราชพงศาวดารที่ให้ความสำคัญของสงครามกับพม่า พร้อมทั้งการโจมตีราชวงศ์บ้านพลูหลวง การล่มสลายของมหานครที่ยิ่งใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาก็เนื่องมาจากพม่า ดังนั้น สงครามไทยกับพม่าจึงเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่ถูกใช้สร้างเป็นแม่บทประวัติศาสตร์แห่งชาติ จึงไม่แปลกนักความรุนแรงในสงครามอื่นจะไม่ถูกเลือก

ผลพวงมาจากแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยมทำให้เรารู้สึก ‘เป็นอื่น’ กับคนในกลุ่มวัฒนธรรมที่พูดภาษาไท หรือไท-ลาว หรือไทกะได น้อยกว่าที่เคยเป็นมาเมื่อเทียบกับหลายร้อยปีก่อน นั่นหมายถึง สำนึกของคนไทยในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงคนที่พูดคำเมือง ลาว ไทใหญ่ ไทลื้อ ไทดำ ฯลฯ จะไม่รู้สึกแปลกแยกนัก เมื่อเทียบกลุ่มคนที่พูดภาษาเขมร มลายู ฯลฯ

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์เมื่อย้อนหลังกลับไปร้อยปีก่อนขึ้นไป ความเป็นไทที่ไม่ใช่วัฒนธรรมของไท-สยาม ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง นั้นมีความ ‘เป็นอื่น’ อย่างสูงในรูปแบบของความเป็น ‘ลาว’ 

บทความนี้จะชวนสนทนามิติของความตึงเครียดทางวัฒนธรรมผ่านสงคราม ‘ไทรบไท’ ที่ต่อมาจะถูกนิยามให้กลายเป็น ‘ไทยรบลาว’ อันปรากฏทั้งในพระราชพงศาวดารและวรรณกรรมยอดนิยมอย่างขุนช้างขุนแผน


1

เชียงใหม่-สุโขทัย-อยุธยา ความสัมพันธ์สามเส้าของรัฐพูดภาษาไท บนลุ่มน้ำเจ้าพระยา


ช่วงพุทธศตวรรษ 20 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ทั้งเชียงใหม่และอยุธยาต่างก็อยู่ในช่วงของการขยายอำนาจทางการเมือง ชนชั้นนำเชียงใหม่หลังจากที่สร้างที่มั่นทางตอนเหนือได้อย่างมั่นคงก็มุ่งขยายอิทธิพลลงใต้ ขณะที่ชนชั้นอยุธยาเมื่อเถลิงอำนาจเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เอาชนะเขมรทางตะวันออกได้สำเร็จ ก็ขยับกองทัพขึ้นทางเหนือ นั่นทำให้เส้นทางของทั้งคู่มาบรรจบกันในเวลาต่อมา

ระหว่างทั้งสอง ยังมีรัฐที่อยู่ระหว่างกลางนั่นคือ สุโขทัย …ใช่แล้ว สุโขทัยที่เรียกกันมาว่าเป็นราชธานีแห่งแรก จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ก็แล้วแต่ ในยุคนี้ชนชั้นนำสุโขทัยตกที่นั่งลำบาก สุ่มเสี่ยงจะ ‘เสียดินแดน’ ให้กับทั้งสองมหาอำนาจจากเหนือและใต้ ท่ามกลางความเสื่อมอำนาจของสุโขทัย ผู้ทรงอำนาจในรัฐแห่งอรุณรุ่งก็พยายามเล่นการเมืองโดยพยายามสร้างเส้นสายทางการเมืองไว้ทั้งกับล้านนาและอยุธยา แต่จากข้อมูลที่มี เหมือนสุโขทัยจะใกล้ชิดกับเชียงใหม่มากกว่าในช่วงแรก

ความสัมพันธ์ของสุโขทัยกับเชียงใหม่ เห็นได้จากการเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างกัน อิทธิพลของการวางผังเมืองของสุโขทัยที่มีต่อเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่คล้ายคลึงกับสุโขทัย ยังไม่นับว่าการอิทธิพลทางพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ตั้งแต่ลัทธิคำสอนและงานศิลปะสถาปัตยกรรม ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือเจดีย์ทรงระฆังคว่ำที่วัดสวนดอก และบางคนอาจเคยผ่านตาภาพเก่าก่อนบูรณะใหญ่ เจดีย์บริวารที่วัดสวนดอกองค์หนึ่งมีรูปแบบเป็นเจดีย์ดอกบัวตูมอันเป็นรูปแบบสำคัญของสถาปัตยกรรมสุโขทัย อักษรฝักขามที่ใช้ในจารึกหินตามวัดต่างๆ ก็ปฏิเสธมิได้ว่าอิทธิพลอักขระแบบสุโขทัย

ความสัมพันธ์ของชนชั้นนำล้านนากับสุโขทัยแสดงเห็นได้ชัดที่สุดคือ พญาไสลือไท กษัตริย์สุโขทัยเคยช่วยท้าวยี่กุมกามรบกับพญาสามฝั่งแกนเพื่อชิงบัลลังก์หลังจากพญาแสนเมืองมาสวรรคต แต่ก็ไม่สำเร็จ มีงานวิชาการบางชิ้นเสนออย่างกล้าหาญว่า พญาไสลือไทเป็นโอรสคนที่สี่ของพญาแสนเมืองมากษัตริย์เชียงใหม่เลยทีเดียว[2] ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าสุโขทัยเองก็พยายามเข้าไปมีอำนาจการเมืองในเชียงใหม่เช่นกัน

เมื่อหันไปมองทางฝั่งอยุธยา ชนชั้นนำสายราชวงศ์สุพรรณภูมิได้ผูกสัมพันธ์ทางการเมืองผ่านการแต่งงานกับฝั่งสุโขทัย นั่นคือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับพระราชเทวีที่เป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 (บางแห่งว่า 3 พญาไสลือไท) แห่งสุโขทัยที่ต่อมาจะให้กำเนิดโอรสคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ[3] กษัตริย์อยุธยาผู้ยิ่งใหญ่ในอนาคต

การขยายอำนาจของทั้งสองรัฐ ทำให้สุโขทัยกลายเป็นรัฐกันชนระหว่างเชียงใหม่และอยุธยาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง


2

เชลียง-เชียงชื่น สงครามแย่งเมืองระหว่างเชียงใหม่-อยุธยา


พ.ศ. 1914 เป็นอย่างช้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพ่องั่ว) แห่งอยุธยา ได้ขยายอำนาจขึ้นไปยึดครองเมืองทางตอนเหนือ[4] จากภัยคุกคามและแรงกดดันดังกล่าวทำให้หัวเมืองอย่างชากังราว (กำแพงเพชร), เชลียง (ศรีสัชนาลัย) และสุโขทัยได้พยายามจะขอความช่วยเหลือล้านนา แต่ก็ไม่สำเร็จ หลังจากพญาไสลือไท กษัตริย์สุโขทัยสวรรคต สมเด็จพระนครินทราธิราชได้ยกทัพมาพร้อมแสดงอำนาจเหนือสุโขทัยสยบพระยาบาลเมือง (หรือบรมปาล) กษัตริย์สุโขทัยให้อยู่ในอำนาจในปี 1962[5] สุโขทัยจึงเปลี่ยนจากอรุณรุ่งกลางดินแดนอัสดงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐกันชนระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่อีกต่อไป

ทางฝั่งเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าติโลกราชขึ้นครองราชย์ด้วยการรัฐประหารพ่อของตน ก็ขยายอำนาจจนสามารถยึดครองน่าน หัวเมืองฝั่งตะวันออกได้ในปี 1991 อีก 3 ปีต่อมาพระยายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแควได้เข้ามาสวามิภักดิ์ พร้อมทั้งกวาดต้อนคนจากเมืองเชลียงให้ไปเข้าร่วมกับทัพเชียงใหม่[6] ในปีเดียวกันยังได้เมืองชากังราวอีกด้วย[7] ขณะนั้นกษัตริย์ฝั่งอยุธยาก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เยาวรุ่นเชื้อสายอยุธยา-สุโขทัย ว่ากันว่าพระเจ้าติโลกราชแก่กว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึง 22 ปี เมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดน่านได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เพิ่งครองราชย์มีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น[8] การต่อสู้กันระหว่างสองกษัตริย์ยังมีนัยทางรุ่นด้วย

เรารู้กันดีว่าในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้จัดระบบการปกครองใหม่ที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจมากยิ่งขึ้น พระองค์ยังปรับปรุงเมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็นพิษณุโลก ตามขนบแบบเขมรที่เรียกชื่อนครวัดว่าพิษณุโลก สร้างสมศูนย์อำนาจทางตอนเหนือ และปักหมุดจุดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นแทนสุโขทัย

ใจกลางสำคัญของความขัดแย้งนี้คือ ดินแดนเมืองเชลียง หัวเมืองสำคัญที่เป็นรอยต่อระหว่างอำนาจของเชียงใหม่และอยุธยาบนลุ่มแม่น้ำยม การครอบครองพื้นที่นี้ทั้งยังหมายถึงศักยภาพในการควบคุมที่ราบกว้างใหญ่ที่ไม่ไกลจากสุโขทัย เมื่อเชียงใหม่สามารถยึดครองเชลียงได้ ทั้งยังได้ไพร่พลจากเมืองเชลียงเป็นกำลัง และเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็น ‘เชียงชื่น’[9] ทำให้เชียงใหม่ถือไพ่ที่เหนือกว่าอยุธยาอย่างแท้จริง

ความพร้อมดังกล่าวทำให้ปีต่อมากษัตริย์เชียงใหม่จึงยกทัพไปตีพิษณุโลกและชากังราวด้วยคำแนะนำของพระยาเชลียง สถานการณ์หัวเมืองตอนเหนือสำหรับอยุธยาที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอยู่เฉยไมได้ต้องย้ายไปประจำการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปี 2006 และมอบหมายให้พระราชโอรสครองอยุธยาแทน[10]

การรบมิได้ใช้กำลังทหารเท่านั้น เรายังพบการชิงไหวชิงพริบด้วยกลยุทธ์อื่น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตัดสินใจบวชที่วัดจุฬามณีและส่งทูตไปขอบิณฑบาตเมืองเชลียงคืนจากพระเจ้าติโลกราช เมื่อปี 2008 ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ออกผนวชเพื่อบิณฑบาตขอเมืองสองแควคืนมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งอยุธยามาก่อน[11] แต่กลยุทธ์ดังกล่าวไม่ได้ผลกับพระเจ้าติโลกราช

ฝ่ายอยุธยาไม่ยอมแพ้ที่จะเอาเชลียงกลับมา สงครามชิงเมืองเชลียงยืดเยื้อเป็นสิบปี กว่าจะจบลงก็ต้องรอให้ถึงปี 2017 ขณะนั้นพระเจ้าติโลกราชอายุมากถึง 65 ปีแล้ว ศึกครั้งนั้นอยุธยาเอาชนะได้ด้วยความสั่นคลอนทางอำนาจภายในเชียงใหม่และเชียงชื่น เมื่อพระเจ้าติโลกราชกษัตริย์เฒ่าผู้หวาดระแวงหมื่นด้งเจ้าเมืองเชลียงว่าจะทรยศ จึงเรียกให้เข้าเฝ้าและกำจัดทิ้งในที่สุด การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และเชียงชื่นเลวร้ายลง และคงส่งผลต่อการบริหารปกครองด้วย ทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าภรรยาของหมื่นด้งผู้ครองเมืองเชียงชื่นได้แปรพักตร์ส่งผลต่อความพ่ายแพ้ต่ออยุธยาในที่สุด[12]  

ศึกนี้จึงเป็นภาพตัวแทนสำคัญในมหาสงครามยุคแรกอันเกิดจากการเผชิญหน้าของอำนาจทางการเมืองและความตายของคนในกลุ่มตระกูลภาษาไท


3

ขุนช้าง-ขุนแผน-วันทอง-ลาวทอง วรรณกรรมรักสามเศร้าบนไฟสงครามที่เหยียดลาว


ก่อนจะไปถึงวรรณกรรมอมตะ ขอเสียเวลาผู้อ่านมาอยู่กับ ลิลิตยวนพ่าย หรือ ยวนพ่ายโคลงดั้น[13]เสียก่อน ชิ้นนี้เป็นวรรณกรรมที่ประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการของอยุธยาที่มีต่อเชียงใหม่-ล้านนา สันนิษฐานว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ช่วงปี 2017-2019 หรือไม่ก็สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (2032-2072)[14] ซึ่งเป็นพระราชโอรส คู่กับวรรณกรรมนี้คือ ลิลิตเตลงพ่าย ที่แต่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้ว่าจะเตลงจะหมายถึง มอญ แต่ศึกในวรรณกรรมนี้คือ ไทยรบพม่า พระนเรศวรฆ่าพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี ส่วนลิลิตยวนพ่ายนั้นยกย่องชัยชนะของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อพระเจ้าติโลกราช

เนื้อหาได้จัดวางสถานภาพของกษัตริย์อยุธยาร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถทั้งนามธรรมและรูปธรรม สงครามกับล้านนาจบลงด้วยการยืดคืนเมืองเชลียงได้สำเร็จ ด้วยภาษาโบราณและถ้อยคำที่เข้าถึงได้ยาก จึงมีลักษณะเป็นวรรณกรรมเชิงพิธีกรรมที่ใช้สรรเสริญและสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้กับกษัตริย์ และในอีกด้านหนึ่ง คือ สัญลักษณ์ของอำนาจอยุธยาที่มีต่อรัฐทางตอนเหนือ จนทำให้ชายแดนกับล้านนามีความมั่นคงมากขึ้น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนือ[15] โดยสัญลักษณ์แล้วลิลิตยวนพ่ายจึงเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติที่มีฉากสงครามอยู่เบื้องหลังที่มีโครงเรื่องสำคัญก็คือ การทำสงครามกับศัตรูอย่างพวกไทยวน ขนบนี้ชนชั้นนำรัตนโกสินทร์ได้นำมาใช้กับชัยชนะต่อพม่าในลิลิตตะเลงพ่าย

ที่น่าแปลกคือ ในวรรณกรรมยอดนิยมอย่างขุนช้างขุนแผนที่คาดเดากันว่าน่าจะแต่งในสมัยอยุธยาและมีการผลิตซ้ำเรื่อยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ กลับไม่ปรากฏศึกกับพม่า หรือการกล่าวถึงพม่าในฐานะศัตรูของราชอาณาจักรอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่สงครามช้างเผือกกับสมเด็จพระจักรพรรดิ เมื่อปี 2106-2107 และสงครามที่เรียกกันในสมัยหลังว่าเป็นการเสียกรุงครั้งที่ 1 ปี 2112[16] ล้วนสั่นคลอนความมั่นคงทางการเมืองและเป็นศึกที่ใหญ่หลวง

ปริศนาว่านิยายยอดนิยมเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นสิ่งที่วงการวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ยังไม่ได้คำตอบอันเป็นที่น่าพอใจนัก ความเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตีความจากตัวบทขุนช้างขุนแผนว่า น่าจะมีกำเนิดในช่วงศักราช 147 เทียบได้กับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ช่วงปี 2034-2072 อันเป็นสิ่งที่มักเชื่อตามๆ กันมา แต่ก็มีผู้ชี้ว่า ศักราชดังกล่าวอาจสื่อความหมายเพียง ‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว’ ขณะที่คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตรเห็นว่า น่าจะอยู่ในช่วงสมเด็จพระนเรศวรในพุทธศตวรรษที่ 22 มากกว่า[17] ตัวบทยังมีการแต่งเพิ่มเติมหรือปรับสำนวนในยุครัตนโกสินทร์ด้วย เชื่อกันว่าบท ‘กำเนิดพลายงาม’ เป็นสำนวนของมหากวีสุนทรภู่

แต่จะกำเนิดในยุคใดก็แล้วแต่ เราไม่สามารถปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มี (ศัตรูที่เป็น) ‘พม่า’ ในขุนช้างขุนแผน ไทยจึงไม่ได้รบพม่าตามชื่อหนังสือ ‘ไทยรบพม่า’ สงครามที่เกิดขึ้นกลับมีศัตรูอย่างไท-ยวน เชียงใหม่ ในขุนช้างขุนแผนจึงไม่ใช่โครงเรื่องแบบไทยรบพม่า แต่เป็น ‘ไทรบไท’ เสียมากกว่า (อนึ่ง พบว่ามีขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย ที่เรื่องอยู่ในยุคลูก-หลานของขุนแผนไปแล้ว มีกล่าวถึงเมืองหงสาอยู่ แต่ก็มิได้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญกับอยุธยาเท่ากับเชียงใหม่[18])

ที่น่าสังเกตก็คือ โครงเรื่องบางส่วนของขุนช้างขุนแผนในพล็อตการชิงตัวเจ้าหญิง มีส่วนคล้ายคลึงกับประวัติศาสตร์ช่วงสงครามอยุธยา-พม่า ในพุทธศตวรรษที่ 22 เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้าล้านช้างได้ทูลขอสมเด็จพระเทพกษัตรี พระราชธิดากษัตริย์อยุธยาเพื่อแต่งงานสร้างพันธมิตรทางการเมืองในปี 2107 แต่ระหว่างทางได้ถูกพระเจ้าหงสาส่งกองทัพมาชิงตัวไป[19] การชิงตัวเจ้าหญิงได้ปรากฏในขุนช้างขุนแผนเช่นกัน แต่ตัวละครมีการสลับกัน ก็คือ เจ้าหญิงล้านช้างถูกชิงตัวไปโดยกองทัพเชียงใหม่[20] ดูจากตารางที่ 1 จะเห็นภาพชัดขึ้น

ตารางที่ 1 แสดงการเทียบเคียงระหว่างข้อสนเทศทางประวัติศาสตร์กับขุนช้างขุนแผน

เป็นไปได้ว่าท้องเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้นมาจากอิทธิพลของความทรงจำว่าด้วยการทำสงครามกับเชียงใหม่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในช่วงสมรภูมิเชลียง-เชียงชื่นนั่นเอง การเป็นศัตรูระหว่างกันหลายสิบปี ที่ลงเอยด้วยชัยชนะของอยุธยา และอิทธิพลของเชียงใหม่ที่ลดลงเรื่อยๆ น่าจะทำให้อยุธยาเหยียดหยามอีกฝั่งให้ต่ำต้อยกว่ามากขึ้นไปอีก

คำว่า ‘ลาว’ แรกปรากฏในลิลิตยวนพ่าย ต่อมายังพบในการแปลโคลงนิราศหริภุญชัย สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เอกสารอยุธยาในปี 2297 ใช้คำว่า ‘แมนลาว’ [21] ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ลาวกลายเป็นคำที่ถูกเหยียดและดูถูกเมื่อใด แต่คำว่า ‘ลาว’ ในขุนช้างขุนแผน ถูกเลือกให้เป็นชื่อตัวละครสำคัญผู้เปลี่ยนเส้นของเรื่อง นั่นคือ ‘ลาวทอง’

การปรากฏของตัวละครเจ้าปัญหานี้อาจตีความได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมของเรื่อง เมื่อขุนแผนไปได้ลาวทองมาจากการไปตีเมืองจอมทอง เชียงใหม่ แล้วนายแคว้นแห่งจอมทองมอบให้เป็นเมียขุนแผนเพื่อประกันความปลอดภัยของครอบครัว ขุนแผนกลับจากสงครามเข้าบ้านไปพร้อมเมียใหม่ ทำให้วันทองไม่พอใจและด่าลาวทองและขุนแผนอย่างสาดเสียเทเสียจนทำให้ขุนแผนลุแก่โทสะจนเกือบจะฆ่าวันทอง ในที่สุดจึงตีจากวันทองไปอยู่กาญจนบุรี วันทองน้อยใจจะผูกคอตาย และสุดท้ายก็ได้เสียเป็นเมียขุนช้าง

ถ้อยคำที่วันทองด่าลาวทองเมื่อแรกพบ เป็นภาพตัวแทนของการเหยียดหยามให้เห็นว่า ‘ลาว’ เป็นชาติพันธุ์ที่ต่ำชั้น ชั่วช้าและไร้อารยธรรม เห็นได้จาก “ชีชะถ้อยคำอีลาวดอน แง่งอนไม่น้อยร้อยภาษา” “ทุดอีลาวชาวป่าขึ้นหน้าลอย แต่จะต่อยเอาเลือดลงล้างตีน”[22] “นี่อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา อีกิ้งก่ากบจะตบมัน” “ได้แต่เพียงอีลาวกาลีเมือง” [23]

นอกจากลาวทองแล้ว สะใภ้จากหัวเมืองลาวในรุ่นหลังๆ ก็มักจะถูกเหมารวมเช่นกันว่าเป็นหญิงเจ้าปัญหา ความขัดแย้งสามเส้าแบบเดิมที่เคยเป็นระหว่าง สองชาย-หนึ่งหญิง แบบขุนช้าง-ขุนแผน-วันทอง เมื่อจบลงที่ความตายของวันทอง ก็ได้เปลี่ยนเป็นความขัดแย้งของหนึ่งชาย-สองหญิง นั่นคือคู่ศรีมาลา-สร้อยฟ้า (พระราชธิดากษัตริย์เชียงใหม่) เมียพระไวย จากที่เคยมีขุนช้างเป็นตัวละครอัปลักษณ์ที่คอยแย่งตัวนาง ภาคต่อของเรื่องนี้ได้พลิกมาเป็น ตัวละครหญิงร้ายที่คอยแย่งชิงพระเอก

ตารางที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ของตัวละครสำคัญในขุนช้างขุนแผน

ไม่เพียงจริตอากัปกิริยาหึงหวงอย่างเกินงาม หญิงลาวเหล่านี้ยังใช้คุณไสยทำเสน่ห์ อันเป็นเรื่องที่ผู้หญิงดีๆ ในเรื่องไม่ทำกัน และการทำเช่นนั้นได้จะต้องพึ่งพาผู้มีอาคมทำเสน่ห์ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกจากผู้มีฤทธิ์จากหัวเมืองลาวอีกนั่นเอง ตัวละครเสริมพลังที่ว่าได้แก่ เถรขวาดเป็นผู้ช่วยสร้อยฟ้า เถรขวาดผู้นี้นอกจากจะมีอาคม สามารถแปลงร่างเป็นจระเข้ได้แล้วยังมีลูกศิษย์ที่ชื่อเถรจิ๋วผู้รับบทตัวร้ายสืบทอดต่อมา ดูการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตัวละคร 2 รุ่นได้จากตารางที่ 2

สำหรับชาวลาวที่ถูกมองว่าเป็น ‘คนนอก’ แล้ว กระทั่งพระภิกษุก็ยังมีภาพลักษณ์ของผู้ร้าย แม้ในเรื่องเราจะเห็นขุนแผน พระไวยใช้เวทย์มนต์ต่างๆ นานา แต่ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นอวิชชาเท่ากับฝ่ายลาวที่เป็นผู้ใช้อย่างผิดๆ

การเย้ยหยันดูถูกแสดงให้เห็นอย่างถึงที่สุดตรงที่แต่งให้พระเจ้าเชียงอินทร์ กษัตริย์เชียงใหม่ผู้แพ้สงครามอย่างน่าละอาย คือ ถูกขุนแผนบุกไปถึงห้องนอนแล้วจับตัว โดยที่ไม่มีทหารสักคนที่สามารถช่วยเหลือ ต้องวิงวอนร้องขอชีวิตนายทหารอยุธยาแบบไม่มีขัตติยะมานะ แล้วถูกส่งไปอยุธยาในฐานะเชลยเพื่อไปเข้าเฝ้าพระพันวสา ไม่เพียงเท่านั้น กษัตริย์เชียงใหม่ยังถูกบีบให้ยกสร้อยฟ้า พระราชธิดา ให้ไปแต่งงานกับพระไวยที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์อีกด้วย[24]

หลังจากศึกที่ปราบพระเจ้าเชียงอินทร์ อยุธยาก็ยังรบเชียงใหม่อีกหลายครั้งในขุนช้างขุนแผนภาคปลาย อันเป็นการตอกย้ำความเป็นศัตรูกับเชียงใหม่-ล้านนาในวรรณกรรมยอดนิยมที่มีการผลิตซ้ำมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์


4

ไทรบไท สงครามเชียงตุง กับ พันธมิตรชาวลาวผู้น่าดูถูกเหยียดหยาม


ตั้งแต่กรุงธนบุรีเป็นต้นมา หัวเมืองล้านนาได้เลือกสร้างพันธมิตรทางการเมืองใหม่กับทางใต้ เพื่อหนีอิทธิพลเดิมจากพม่า สถานภาพของการเป็นประเทศราชของสยาม ได้ทำให้เห็นความเป็นอื่นในจินตนาการขุนช้างขุนแผน กลายเป็นความรับรู้ตามประสบการณ์มากยิ่งขึ้น สงครามเชียงตุงในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อหวังพิชิตดินแดนที่สยามไม่เคยครอบครองก็เป็นหนึ่งในสมรภูมิ ‘ไทรบไท’ เมื่อสยามเกณฑ์ทัพเพื่อไปรบกับชาวไทเขิน ไทใหญ่ในเขตที่ราบสูงฉาน

ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว เชียงตุง-เชียงใหม่และหัวเมืองตอนเหนือมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย ถือว่าชนชั้นนำล้านนานั้นมีความใกล้ชิดในเชิงเครือญาติและการค้าขายมากกว่ากับอยุธยา ดังนั้นการทำสงครามเชียงตุงเมื่อปี 2395 ที่สยามเกณฑ์เจ้าเมืองในเขตล้านนาเพื่อไปทำสงคราม จึงเหมือนบังคับให้พวกเขาทำสงครามกับเครือญาตินั่นเอง ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ชนชั้นนำล้านนาจึงไม่กระตือรือร้นเหมือนกับรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่อยากครอบครองดินแดนในอุดมคติ

การศึกดังกล่าวทำให้ชนชั้นนำสยามสัมพันธ์กับเจ้านายล้านนาโดยตรง ความไม่พอใจในการร่วมรบได้แสดงออกมาเป็นคำบริภาษถึงความเป็นลาวที่น่าเหยียดหยาม นั่นคือ “…พวกลาวเมืองหลวงพระบาง เมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เหล่านี้ ติดแต่ทำมาหากินสบายอยู่แล้วก็เป็นสุข ไม่พอใจจะคิดทำศึกสงคราม”, “นิไสยลาวมากไปด้วยความเกียจคร้านโดยธรรมดาประเพณีบ้านเมือง”, “…ด้วยนิไสยสันดานลาวมีอยู่ 3 อย่าง เปนแต่อยากได้ของเขา ไม่อยากเสียของให้แก่ใคร กับเกียจคร้านเท่านั้น เหมือนกันตั้งแต่เมืองเชียงใหม่ตลอดไปทุกบ้านทุกเมืองไม่เหมือนชาติภาษาอื่นๆ ที่จะต่ำช้าเหมือนภาษาลาวไม่มี ไม่รักชาติ ไม่รักสกุล” [25]

ว่ากันแรงเสียเบอร์นี้ คงไม่ต้องอธิบายให้มากความว่าความเป็นลาวนั้นต่ำต้อยเพียงใด


5

ทิ้งท้าย ไทรบไท ประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้จดจำ แต่ปิดไม่มิดในวรรณกรรมยอดนิยม ไทยรบลาว


ความอิหลักอิเหลื่อของความเป็นไทและลาว เกิดขึ้นมาจากการนิยามความเป็นลาวที่ชนชั้นนำ

อยุธยาเป็นผู้ริเริ่ม อันเป็นจุดที่แยกความเป็นไท(ยวน) ออกไป ความเป็นลาวจึงถูกผลิตซ้ำขึ้นมา ในฐานะคู่ตรงข้ามกับความเป็นไทที่มีความต่ำต้อยกว่า

ในสมัยอาณานิคมเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อราชสำนักกรุงเทพฯ ต้องการจะผนวกดินแดนทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และดินแดนสองฝั่งโขงที่เคยนิยามไว้ว่าเป็นคนอื่นในนามของ ‘ลาว’ ไม่ว่าจะลาวพุงดำ หรือลาวพุงขาว แต่เพื่อการอ้างสิทธิ์ทางการเมือง คนเหล่านั้นก็ต้องถูกทำความเข้าใจขึ้นใหม่ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับคนไทย-สยาม แม้กระทั่งชื่อมณฑลที่เคยตั้งต้นด้วยลาว ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ เช่น มณฑลลาวเฉียง เป็น มณฑลพายัพ การเล่าประวัติศาสตร์ผ่านสงครามกับคนที่ต้องการจะนับเป็นพวกเดียวกันคงมิเป็นประโยชน์เท่าใดนัก

ประวัติศาสตร์แบบ ‘ไทรบไท’ จึงเป็นการสร้างความทรงจำที่ไม่อาจเปิดเผย เพราะแสดงให้เห็นถึงการลดคุณค่า มากกว่าประวัติศาสตร์แม่บทแห่งชาติที่ต้องการพลังที่เป็นเอกภาพมากกว่า

ก็น่าสงสัยว่า พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เมื่อถวายตัวเป็นพระชายาในร้อยกว่าปีก่อน จะอยู่ในสถานะแบบใดในสายตาของเจ้ากรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์กระซิบที่เล่าผ่านกันมาว่า เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีถวายงานอยู่ในราชสำนัก ตำหนักที่อาศัยได้ถูกเรียกว่า ‘ตำหนักเจ้าลาว’ และบางครั้งก็มีเสียงตะโกนเพื่อเสียดสีให้ได้ยินว่า “เหม็นปลาร้า” [26] น่าสนใจว่าในวังเขาอ่านขุนช้างขุนแผนกันหรือไม่ ถ้าอ่านเขาอ่านกันอย่างไร นิยามความเป็นลาวแบบไหน ลาวทองกับดารารัศมีถูกนำมาเปรียบกันหรือไม่

เมื่อศัตรูตัวฉกาจของอยุธยาในขุนช้างขุนแผนไม่ใช่พม่า และลาวผู้ต้อยต่ำในนี้ก็ไม่ได้หมายถึงลาวล้านช้างมากไปกว่าลาวล้านนา ขุนช้างขุนแผน จึงเป็นวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นถึงสำนึกที่หลงเหลืออยู่ประวัติศาสตร์สงคราม-วัฒนธรรมระหว่างคนในตระกูลภาษาไทด้วยกันที่อยู่บนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียม

ละคร ‘วันทอง’ ที่ออกอากาศในปี 2564 ได้แสดงนัยว่าต้องการจะคืนความเป็นธรรมให้กับตัวละครหญิงที่ถูกมองว่าสองใจ เพลงประกอบละครมีท่อนที่ร้องว่า “ใครจะอยากเป็นคนไม่ดี” ก็เรียกร้องให้ผู้ชมเห็นถึงความลำบากใจของวันทอง สำหรับบทความ ‘ไทรบไท’ ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นถึงการตีความตัวละครไทยวน-ล้านนาว่าถูกทำให้เป็นตัวร้าย นางอิจฉา และคนผู้ไร้ความสามารถ เพราะการตีตราทางชาติพันธุ์มากกว่าจะเป็นลักษณะนิสัยที่ตัวบุคคล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของประวัติศาสตร์ การเขียนประวัติศาสตร์ และการแต่งนิยายที่อิงบนอคติทางประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าคิดว่าจะเป็นอย่างไร ถ้ามีละครหรือนิยายที่ในชื่อว่า ‘ลาวทอง’ ภายใต้การตีความใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมสมัย


[1] Damrong Rajanubhab, Our Wars with the Burmese : Thai Burmese Conflict 1539-1767 (Bangkok: White Lotus, 2001).

[2] เฉลิมวุฒิได้ตีความจากชื่อของบุตร พญาแสนเมืองมา คนที่สี่คือ ท้าวไส ที่นับเป็นลำดับสี่ตามธรรมเนียมไทที่นับและเรียกลูกคนโตว่าอ้าย ยี่ สาม สี่ (หรือไส) งั่ว ลก ฯลฯ เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี, ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559), หน้า 58-70.

[3] มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554), หน้า 73.

[4] วชิรญาณ. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.

[5] เพิ่งอ้าง

[6] สมเกียรติ วันทะนะ, “โลกการเมืองในยวนพ่ายโคลงดั้น”, วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 40 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2561) : 198. แต่หลักฐานฝั่งอยุธยาจะไม่เล่าว่าเสียเมืองให้กับเชียงใหม่

[7] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4

[8] สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน : 196-197, 199-200.

[9] เพิ่งอ้าง

[10] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4

[11] รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “ศาสนาและการเมืองที่วัดจุฬามณี ที่พิษณุโลก การเลียนแบบปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี?”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. (20 มกราคม 2563).

[12] สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน : 183.

[13] ‘ลิลิตยวนพ่าย’. วชิรญาณ.

[14] สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน : 200-202.

[15] สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน : 184.

[16] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4

[17] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, บรรณาธิการ, ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2556), หน้า 611, 617.

[18] ขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงเชื้อ ชลธารวินิจฉัย (เชื้อ ชลานุเคราะห์) ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส, 10 มกราคม 2509.

[19] อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 4

[20] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, บรรณาธิการ, ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2556), หน้า 358-491. อย่างไรก็ตาม เพ็ญสุภา สุขคตะได้ตั้งข้อสังเกตว่า ธิดากษัตริย์ล้านช้างนั้นปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ช่วงใดกันแน่ เธอสันนิษฐานว่าอาจอยู่ในช่วงสมเด็จพระนารายณ์ที่ได้รับนางกุสาวดี ธิดาเจ้าเชียงใหม่มาแล้วยกให้พระเพทราชา หรือไม่ก็สมัยพระเพทราชาที่กษัตริย์ล้านช้างถวายธิดาให้กับกษัตริย์ แต่ออกหลวงสรศักดิ์ (พระเจ้าเสือในอนาคต) ช่วงชิงไปเป็นสนมเสียก่อน ในบทความนี้จะให้น้ำหนักกับช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 มากกว่าพุทธศตวรรษที่ 23 ดูใน เพ็ญสุภา สุขคตะ. “เมื่อพลายงาม “คบซ้อน” สร้อยฟ้า-ศรีมาลา”, มติชนสุดสัปดาห์. (24 กุมภาพันธ์ 2562).

[21] เตือนใจ ชัยศิลป์, ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครองสยาม พ.ศ.2437-2476 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2536, หน้า 32-34.

[22] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 196.

[23] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 197.

[24] คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 358-491.

[25] เตือนใจ ชัยศิลป์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 67-69.

[26] ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง, เพ็ชรลานนา เล่ม 1 (เชียงใหม่ : ผู้จัดการภาคเหนือ, 2538), หน้า 27.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save