fbpx

สหภาพแรงงานการศึกษาในญี่ปุ่น: รุ่งโรจน์ แตกแยก และเสื่อมถอย พลังที่อยู่คนละฝั่งกับรัฐบาล

ญี่ปุ่น เป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม และกลายเป็นมหาอำนาจทางการทหารก่อนจะย่อยยับไปกับสงครามโลกครั้งที่ 2 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์จนกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาของเอเชียอยู่ช่วงหนึ่ง สหภาพแรงงานการศึกษาเองก็มีบทบาทอย่างน่าสนใจต่อสังคมญี่ปุ่นหลังควันสงครามจางลง

กำเนิดสหภาพแรงงานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ปี 1947 สหภาพแรงงานท้องถิ่นได้จัดตั้งองค์กรระดับชาติในนามสหภาพแรงงานครูญี่ปุ่น (Japan Teachers Union: JTU) ในเบื้องต้น สหภาพฯ ได้รับการสนับสนุนจากครูธรรมดา แต่ก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย สหภาพแรงงานถูกปิดประตูจากอำนาจศูนย์กลาง แต่กลับสามารถหยุดยั้งการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นภัยคุกคามต่อพวกเขาได้ จนกระทั่งเผชิญกับความเสื่อมถอยของจำนวนสมาชิกอย่างเรื้อรังในระดับท้องถิ่น สถานการณ์ยิ่งแย่ไปกว่าเดิมเมื่อเจอปัญหาความแตกแยกในปี 1989 และการพังทลายของพันธมิตรหลักในรัฐสภาอย่างพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นในทศวรรษ 1990[1]

สหภาพแรงงานครูในญี่ปุ่นมีอยู่ 3 ระดับ ไล่เรียงตั้งแต่ระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ทุกวันนี้มีน้อยมากที่ครูทั้งโรงเรียนจะเป็นสมาชิกสหภาพ บางครั้ง 2-3 สหภาพแรงงานก็ปฏิบัติการอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน เนื่องจากครูมีการย้ายโรงเรียนอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน ซึ่งมักจะย้ายในทุก 5 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี กลุ่มที่โรงเรียนเป็นฐานจึงถูกจัดการผ่านสหภาพแรงงานในระดับจังหวัด

ความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานถือว่าแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด บางจังหวัดที่ไม่มีสหภาพแรงงานอยู่เลย แต่ก็มีเพียงจำนวนน้อย ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของระบบญี่ปุ่นคือสหภาพแรงงานอนุญาตให้จัดตั้งในระดับจังหวัดเท่านั้น ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอ เพราะความสามารถในการตัดสินใจและการปฏิรูปเงื่อนไขการจ้างงานมักมาจากการตัดสินในเมืองหลวงอย่างโตเกียว ซึ่งเป็นระดับที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับคำปรึกษา

อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะนัดหยุดงานหรือการเจรจาต่อรองรวม (collective bargaining) แต่สหภาพแรงงานครูก็ยังได้รับการชดเชยเนื่องจากการขาดช่องทางเชื่อมต่อกับอำนาจกลางโดยยุทธศาสตร์ในระดับท้องถิ่น ดังนั้น พวกเขาจึงสามารถไม่ให้ความร่วมมือได้หากไม่เห็นด้วย ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติมักจะไม่เต็มใจสนับสนุนนโยบายของสหภาพแรงงาน เพราะเกรงว่าจะทำให้การจัดการศึกษามีความยุ่งเหยิงในพื้นที่เช่นนี้ กระนั้น การสร้างฉันทามติร่วมกันของสังคมญี่ปุ่นต่างอยู่ในมือของสหภาพแรงงาน และข้าราชการผู้ที่หวังจะรักษาสถานะของตน[2]

เหตุการณ์สำคัญของสหภาพแรงงานครูในญี่ปุ่นเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1947 ด้วยการก่อรูปของสหภาพแรงงานครูญี่ปุ่น (JTU) ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามจะสร้างสมาคมครูที่เป็นอิสระมากตั้งแต่ก่อนสงครามโลกแต่ถูกทำลายโดยรัฐแบบจักรพรรดิไปเสียก่อน การสร้างสหภาพแรงงานแบบมวลชนให้เกิดขึ้นได้จริงต้องรอหลังปี 1945 เมื่อมีการลบล้างกฎหมายที่บีบบังคับพลเมือง และมีการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจแบบเสรีนิยมอเมริกัน รัฐธรรมนูญใหม่ได้เคลื่อนย้ายอำนาจอธิปไตยจากจักรพรรดิไปสู่ประชาชน จึงทำให้พลเมืองเท่ากันภายใต้กฎหมาย กฎหมายพื้นฐานด้านการศึกษาก็ออกมาในช่วงดังกล่าว ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันของโอกาส เคารพในความเป็นปัจเจกและสนับสนุนพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย[3]

การเติบโตของสหภาพฯ อย่างรวดเร็วนำมาซึ่งความประหลาดใจให้กับทุกคน ภายในไม่กี่สัปดาห์ของฤดูร้อนปี 1947 จำนวนครูกว่า 80% ได้เข้าร่วมกับสหภาพฯ การประชุมใหญ่ครั้งแรกของ JTU ได้นำเสนอนิยามของเป้าหมายสหภาพฯ ใหม่ บางเป้าหมายใส่ใจโดยตรงกับความต้องการของครูและครอบครัวที่ได้รับความสูญเสียจากสงคราม สหภาพฯ ได้เรียกร้องให้มีการซ่อมแซมโรงเรียนและบ้านที่ถูกทำลาย เช่นเดียวกับการจัดตั้งค่าจ้างเพื่อดำรงชีพของครูทั้งหลาย นี่คือเป้าหมายที่สำเร็จอย่างรวดเร็ว ส่วนเป้าหมายอื่นที่ได้รับการตัดสินใจหลังปี 1947 คือการต่อต้านลัทธิทหาร การสร้างความร่วมมือกับสหภาพแรงงานประเภทอื่น และการสนับสนุนสิทธิสตรี จุดเริ่มต้นความเป็นผู้นำของ JTU นำไปสู่วิสัยทัศน์ “กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอันสุดขั้วที่กดดันรัฐบาลไม่เพียงแต่เรื่องการศึกษา แต่รวมถึงปัญหาในประเทศและนโยบายต่างประเทศด้วย” [4]

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจบสงครามโลกคือการเปลี่ยนรูปแบบ จากที่เคยเป็นพลังสนับสนุนทหารและสนับสนุนจักรพรรดิ ก็กลายเป็นผู้รักสันติ สโลแกนที่เป็นลายเซ็นของสหภาพแรงงานแบบใหม่คือการติดป้ายตามงานประชุมระดับชาติว่า “Never send our children to the battlefield again!” ผู้นำ JTU ในช่วงต้นๆ เป็นผลผลิตจากวิทยาลัยครูยุคก่อนสงครามที่เน้นการฝึกวินัยและการสั่งสอนอย่างสูง เมื่อเริ่มสอน พวกเขาส่งเสริมให้เด็กชายทั้งหลายร่วมรบในสงครามด้วยความมุ่งมั่นและความรักชาติ แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม เด็กๆ ไม่สามารถกลับมาได้อย่างปลอดภัย พวกเขาต่างรู้สึกโกรธและรู้สึกผิดที่พวกเขามีบทบาทสำคัญในการส่งพวกเขาไปสู่ความตาย พวกเขาจึงยอมรับการปฏิรูปอย่างจริงใจภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1945-1952

การทำลายกองทัพของจักรพรรดิ และการปรับรูปองค์กรสร้างครู จะเป็นการทำให้ความผิดพลาดอันนำไปสู่หายนะแบบเดิมไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต นี่คือเหตุผลว่าทำให้ครูธรรมดาสามัญที่เคยเชื่อฟังรัฐบาลเผด็จการจึงพร้อมที่จะเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน[5]

การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและสหภาพแรงงานภายใต้ระบบ 1955

สหภาพแรงงานครูในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยมักจะสร้างพันธมิตรร่วมกับสหภาพแรงงานอื่นและพรรคการเมืองเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์และแบ่งปันเป้าหมายร่วมกัน ในกรณีของญี่ปุ่น สหภาพแรงงานได้แยกออกมาจากอิทธิพลที่อยู่บนระเบียงแห่งอำนาจในช่วงหลังสงคราม ปี 1955-1993 ญี่ปุ่นถูกปกครองด้วยพรรคการเมืองเดียว คือ Liberal Democratic Party (LDP: พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย) ซึ่งมีอุดมการณ์แบบพรรคอนุรักษนิยมที่มักเน้นการหาฉันทมติร่วมและนโยบายเชิงปฏิบัติคล้ายกับพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ หรือพรรครีพับลิกันในอเมริกา พวกเขาจึงมีนโยบายที่เผชิญหน้ากับสหภาพแรงงาน

‘ระบบ 1955’ (1955 system) เป็นชื่อที่ใช้เรียกปีที่ LDP เริ่มจัดตั้ง ส่วนพรรคใหญ่อันดับสองคือ Japan Socialist Party (JSP: พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น) ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพแรงงาน JTU ก็เป็นหนึ่งในนั้น การพยายามขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงาน ทำให้สหภาพฯ ต้องเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองด้วย 2 เหตุผล ประการแรก JTU หาทางปกป้องผลประโยชน์สิทธิ์ของสหภาพแรงงานทั้งหมดจากการโจมตีโดยรัฐบาล LDP ประการต่อมา พลังแห่งการศึกษาฝ่ายก้าวหน้าที่หาทางปกป้องแนวการศึกษาในช่วงอเมริกันยึดครองไม่ให้ถูกเปลี่ยนไปเป็นอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมในอดีต ทำให้เกิดการพัฒนาพันธะที่เข้มแข็งกับ JSP แม้ว่ากฎหมายจะห้ามกิจกรรมทางการเมืองของครู แต่ JTU และ JSP ก็ร่วมมือกันในระดับท้องถิ่นแบบเลี่ยงกฎหมายโดยการใช้องค์กรแนวร่วมและการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ นั่นคือให้ครูที่เกษียณแล้วเป็นผู้เดินเกม ในความเป็นจริง JTU เป็นองค์กรที่รวมเสียงโหวตที่สำคัญที่สุดของ JSP ในทางกลับกัน JTU แทบจะเป็นผู้เขียนตำแหน่งนโยบายการศึกษาให้กับ JSP และพึ่งพาสมาชิกสภาที่เป็นสมาชิก JSP เพื่อต่อต้านกฎหมายที่สหภาพแรงงานไม่พอใจ[6]

แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากพรรคสังคมนิยม แต่ JTU มีบทบาทในการกำหนดนโยบายการศึกษาโดยตรงน้อยมาก เนื่องจาก ประการแรก JSP ถูกควบคุมไม่ให้มีตำแหน่งโดย LDP จนถึงปี 1993 ประการที่สอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิเสธที่จะเชิญตัวแทนจาก JTU ไปสู่กรรมาธิการหรือผู้ร่างนโยบายการศึกษาใดๆ ธรรมชาติของระบบการศึกษาที่รวมศูนย์สร้างความหงุดหงิดให้กับสหภาพแรงงานระดับชาติเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม JTU สามารถปิดกั้นการปฏิรูปที่เชื่อว่าจะส่งผลต่อผลประโยชน์ของพวกเขา

สุดท้าย JTU และพันธมิตรได้โน้มน้าวสมาชิกในรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลว่ ถ้าพวกเขาผ่านนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยม จะกลายเป็นนั่งร้านที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาล ในทศวรรษ 1970 นโยบายการทดลองงานสำหรับครูใหม่ถูกตีตกเพราะเหตุผลดังกล่าว มากไปกว่าในระดับโรงเรียน การรวมตัวอย่างเข้มแข็งโดยสหภาพแรงงานระดับท้องถิ่นขนาดใหญ่ได้ต้านทานการปฏิรูปไว้ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ตัวอย่างสำคัญคือการต่อต้านของสหภาพแรงงานต่อแผนการจัดเรตติ้งประสิทธิภาพการทำงานในช่วงปี 1957-1959 แม้ JTU ไม่สามารถป้องกันแผนที่จะนำมาใช้ได้ แต่พวกเขาประสบความสำเร็จในการทำให้มันไร้ความหมายในโรงเรียน JTU จึงประสบความสำเร็จในการต้านการปฏิรูป แต่ก็ไร้ความสามารถในการปฏิรูปในแนวทางของตนเองเช่นกัน นำมาสู่สถานการณ์ของคู่ขัดแย้งในนโยบายการศึกษาญี่ปุ่นในช่วงนี้ไปจนถึงทศวรรษ 1980[7]

เส้นทางการแตกตัวของ JTU สู่ Zenkyo

จุดพีกของ JTU อยู่ในปี 1958 ที่ครูกว่า 86% ทั่วญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิก จากนั้นจำนวนสมาชิกก็ค่อยๆ ลดลงจนถึงปี 1985 พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ประกาศว่าสมาชิกลดต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรก เหตุผลหลักมาจากการที่ครูใหม่ไม่มีความสนใจที่จะร่วมกับสหภาพแรงงาน ผู้นำสหภาพฯ กล่าวโทษการอบรมสั่งสอนของรัฐบาลให้ต่อต้านสหภาพแรงงานระหว่างการฝึกหัดครู แต่มันก็เป็นที่ชัดเจนว่า ภาพลักษณ์ของ JTU ในฐานะองค์กรทางการเมืองเกี่ยวข้องการกับเผชิญหน้ากับผู้มีอำนาจอย่างยาวนานสร้างความแปลกแยกจากคนรุ่นหลังที่ไม่มีความทรงจำในครั้งสงครามที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการชาตินิยมสุดขั้ว ขณะที่ Central Executive Council (สภาผู้บริหารกลาง) ได้ตระหนักถึงปัญหาที่ตามมาจากประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง จึงพยายามหาทางยุติแนวทางดังกล่าว แต่ก็เป็นที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พวกเขาเป็นผู้ทรยศ เพราะจะกลายเป็นการยอมจำนนต่อศัตรู[8]

การจัดตั้ง Japanese Trade Union Council (Rengo: สภาสหภาพแรงงานญี่ปุ่น) ซึ่งถือว่าเป็นปีกขวาของสมาพันธ์แรงงานภาครัฐที่มีอยู่แล้วอย่าง General Council of Japanese Trade Unions (Sohyo: สภาสามัญแห่งสหภาพแรงงานญี่ปุ่น) จึงเป็นการกระตุ้นความสงสัยของนักสหภาพแรงงานปีกซ้าย[9] ว่าอาจจะสร้างปัญหาขึ้นได้ ที่ผ่านมาการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายระดับชาติที่กระทำโดยสภาบริหารกลางของ JTU ไม่ได้เชื่อมโยงกับอำนาจของสหภาพในระดับจังหวัดเลย เมื่อพวกเขาตัดสินใจจะร่วมกับ Rengo พวกเขาจึงถูกต่อต้านโดยสมาชิกจำนวนหนึ่งในสาม

แทนที่จะเข้าร่วมกับ Rengo พวกเขาได้จัดตั้งองค์กระดับชาติใหม่ชื่อว่า All Japan Council of Teachers and Staff Unions (Zenkyo: สหภาพแรงงานสภาครูและเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นทั้งมวล) ซึ่งอยู่ภายใต้ National Labour Union Alliance (Zenroren: พันธมิตรสหภาพแรงงานแห่งชาติ) องค์กรใหม่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น นำไปสู่ทางเลือกของสมาชิก JTU ระดับท้องถิ่นที่เลือกว่าจะอยู่กับ JTU ต่อไปเพื่อร่วมกับ Rengo หรือจะแยกออกไปอยู่กับ Zenkyo เพื่อร่วมกับ Zenroren นอกจากนั้น ในระดับจังหวัดยังมีการสร้างองค์กรคู่ขนานหลังจากแพ้โหวตในจังหวัด ทำให้สหภาพแรงงานระดับจังหวัดที่สนับสนุน JTU ได้อ้างจำนวนสมาชิกว่ามีถึง 460,000 คน ขณะที่ Zenkyo อ้างว่าตนก็มี 210,000 คน นอกจากนั้นยังมีจังหวัดอื่นๆที่แยกตัวออกมาจากขั้วทั้งสอง[10]

JTU และยุทธศาสตร์ใหม่ของการประนีประนอม

หลังจากการแตกแยกของ JTU นโยบายในระดับชาติได้ละเลยการเผชิญหน้ากับศัตรู จนกระทั่งปี 1989 ได้นำไปสู่นโยบายการประนีประนอมกับรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการมากขึ้น พวกเขาจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดพิมพ์การทบทวนโครงสร้างการศึกษาและเหตุผลการดำรงอยู่ กรรมการนี้มีชื่อว่า Twenty First Century Vision Committee (คณะกรรมการวิสัยทัศน์ศตวรรษที่ 21) ได้เสนอรายงานในปี 1995[11] รายงานดังกล่าวได้เสนอให้มีการหาฉันทมติระดับชาติในด้านการศึกษา โดยประกาศว่าการศึกษาขณะนั้นรวมศูนย์มากเกินไปและท้องถิ่นควรได้รับการยกระดับภายใต้ระบบผู้ตรวจการการศึกษาท้องถิ่น JTU ยังใช้โอกาสนี้โจมตีจุดยืนของ Zenkyo ที่ต่อต้านการปฏิรูปทั้งหมด รายงาน JTU ไม่ปรากฏสำนวนโวหารแบบฝ่ายซ้ายเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนอีกแล้ว สิ่งนี้สะท้อนว่าภาวะผู้นำและโวหารทางอุดมการณ์แบบหลังสงครามโลกไม่ส่งผลต่อวิชาชีพครูอีกต่อไป ดังที่มีผู้บันทึกไว้ในปี 1989 ว่าครูใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีทัศนคติเป็นลบต่อนโยบายการศึกษาของกระทรวงแล้ว และเห็นว่ามีเหตุผลน้อยมากที่ JTU จะต่อต้านกระทรวง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นหรือมีแรงจูงใจของพวกเขาที่จะร่วมกับสหภาพแรงงานและจ่ายค่าธรรมเนียมให้[12]

การประชุมใหญ่ของ JTU ในปี 1995 เกิดขึ้นหลังจากที่สมาชิกฝ่ายซ้ายไปร่วมกับ Zenkyo ทำให้เกิดการโต้เถียงอย่างร้อนแรงเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และผลกระทบทางแทคติกที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอในรายงานดังกล่าว มีเสียงห่วงใยว่าสหภาพฯ ได้ละทิ้งหลักการพื้นฐาน ในท้ายสุด ผู้พยายามสร้างความทันสมัยให้กับสหภาพก็พบหนทางและวางตำแหน่งสหภาพแรงงานให้อยู่ตรงกันข้ามและไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใน 5 ประการก็คือ[13]

ประการแรก ท่าทีต่อแนวทางปฏิบัติในการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ทบทวนหลักสูตรระดับชาติทุก 10 ปี)

ประการที่ 2 บทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะผู้จัดการโรงเรียน

ประการที่ 3 ระบบการคัดเลือกครูแบบใหม่

ประการที่ 4 ความรับผิดชอบแบบใหม่ของครูที่เรียกว่า ระบบ ‘shunin’ ซึ่งยอมให้ครูบางคนได้รับเงินพิเศษจากความรับผิดชอบพิเศษ

ประการที่ 5 การบังคับให้ชักธงชาติและร้องเพลงชาติในพิธีช่วงเปิดและจบการศึกษา

ปฏิเสธมิได้ว่า นโยบายไม่ร่วมกับ 4 ประการแรกของสหภาพฯ ทำให้การเปลี่ยนระบบการศึกษาเป็นไปได้ยาก แม้ว่าในข้อเท็จจริงการต่อต้านมาจากความหลากหลาย โรงเรียนสู่โรงเรียน จังหวัดสู่จังหวัด แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า นโยบายของสหภาพที่ขัดขวางอยู่ทำให้การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาเป็นไปอย่างเชื่องช้า

ก่อนปี 1995 ความเข้มข้นของอุดมการณ์ที่ต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและ JTU ในระดับชาติหมายถึงความพยายามใหม่ใดๆ จากกระทรวงที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมครู การจัดการโรงเรียน หรือการจัดรูปความรับผิดชอบของครูมักจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสหภาพฯ อย่างรวดเร็ว เนื่องจากศักยภาพของรัฐในการต่อต้านรัฐนั้นมีอยู่

หลังจากเกิดการแตกแยกในปี 1989 Zenkyo ก็ได้จัดประชุมแห่งชาติแยกออกมาต่างหาก ในการประชุมเช่นนี้ ครูเรือนพันมาพบปะกันในช่วงเวลา 3 วันเพื่อถกเถียงในประเด็นที่เป็นไปได้ ซึ่งส่งผลต่อครูในฐานะนักวิชาชีพและนักการศึกษา โดยมักเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการสอนและการจัดการปัญหาที่ร้ายแรง เช่น การกลั่นแกล้งและความรุนแรงในโรงเรียน แม้ในระดับจังหวัดและเมืองก็มีกิจกรรมในระดับท้องถิ่น สหภาพแรงงานจึงเป็นองค์กรเดียวที่สนับสนุนกิจกรรมในระดับดังกล่าวที่นำพาครูจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาพบปะกันเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพในการสอน ความเสี่ยงที่ชัดเจนคือ ผู้นำ JTU นำทางสหภาพฯ ไปสู่ทิศทางการประนีประนอม จะทำให้กระทรวงอาจจะปฏิเสธการเข้าไปเจรจาต่อรองที่มีความหมายและยังคงสร้างนโยบายโดยปราศจาการถกเถียงนัยแฝงเร้นกับครูและผู้แทน ซึ่งในมุมมองเชิงวิพากษ์แล้ว จะทำให้สหภาพแรงงานไม่จำเป็นต่อไป[14]

Zenkyo และความต่อเนื่องของยุทธศาสตร์การเผชิญหน้า

หลังจากการแตกแยกใน JTU ปี 1989 Zenkyo ได้รักษาอัตลักษณ์ความเป็นปีกซ้ายในฐานะสหภาพที่มีสำนึกทางชนชั้นซึ่งเป็นผู้สืบทอดสหภาพแรงงานครูที่มีอุดมการณ์ต่อสู้หลังสงครามโลก และได้มีการประณามการหันหลังกลับของ JTU ที่ถูกมองว่าเป็นการยอมแพ้ต่อศัตรู

ในปี 1995  Zenkyo ได้ผลักดันนโยบายที่จับต้องได้ในนาม ‘ร่างกฎบัตรสิทธิแห่งครูและเจ้าหน้าที่’ ที่ตีพิมพ์ในปี 1995 มีใจความของข้อเสนอว่าสิทธิ์ของพวกเขาจะไม่ถูกแทรกแซงจากเบื้องบน กฎบัตรยังได้ย้ำถึงขนบความห่วงใยต่อครูและต่อความอันตรายของการควบคุมการศึกษาแบบเผด็จการแบบที่เคยเป็นมา ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของสหภาพหลังสงครามโลก นโยบายคัดค้านการควบคุมจากส่วนกลางทำให้กลไกของสหภาพในระดับจังหวัด เทศบาล และระดับโรงเรียนมีฐานสมาชิกเหนียวแน่นและมีความเข้มแข็งขึ้นด้วย[15]

Zenkyo และสาขาย่อยในจังหวัดไม่ได้สนับสนุนพรรค Japan Communist Party (JCP: พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น) หรือผู้สมัครพรรค พวกเขาเป็นสมาชิก Zenroren ที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคดังกล่าวเช่นกัน แต่การทำงานคู่ขนานเสริมแรงกันถือว่ามีความเข้มแข็ง อาจกล่าวได้ว่า JTU ได้เน้นเรื่องวิชาชีพ ประเด็นการศึกษา และลอกคราบเนื้อหาทางการเมืองออกไป แต่ Zenkyo ถือเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์เดิม ที่เห็นได้ชัดคือพวกเขายังต่อต้านฐานทัพอเมริกันที่โอกินาว่าอยู่[16]

ผลประโยชน์ของครูและบทบาทสหภาพแรงานที่คลุมเครือในญี่ปุ่น

การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสหภาพแรงงานครูในแต่ละประเทศพบว่า มักจะมีฟังก์ชั่นที่คล้ายกันในการเป็นตัวแทนแรงงานประเภทอื่นๆ ด้วย การศึกษาเมื่อปี 1992 ใน 14 ประเทศ พบว่า ครูได้ร่วมสหภาพเพื่อร่วมช่วงชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างขาดแคลน ครูส่วนใหญ่ทำงานในภาครัฐและต้องการสหภาพฯ ในการต่อสู้เพื่อส่วนแบ่งด้านค่าใช้จ่ายภาคการศึกษาและกฎหมายที่เป็นธรรม พวกเขาจึงคาดหวังผู้นำที่จะเป็นตัวแทนผู้ต่อรองผลประโยชน์ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การเรียกร้องในประเทศต่างๆ จะทำผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองร่วม (collective bargaining)[17]

แต่สหภาพแรงงานในญี่ปุ่นไม่ได้ต่อรองในลักษณะเดียวกัน ครูในญี่ปุ่นจะถูกจ้างโดยคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นเป็นหลัก พวกเขาจึงเป็นพนักงานระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ได้รับสิทธิ์ในการสไตรก์ เช่นเดียวกับการเจรจาต่อรองร่วม สิทธิ์ดังกล่าวถูกพรากไปจากแรงงานภาครัฐในปี 1948 หลังจากพวกเขาได้รับประชาธิปไตยแบบหลังสงคราม ซึ่งเกิดจากการแทรกแซงของดักลาส แมคอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) เบื้องแรกเขาต้องการสนับสนุนกิจกรรมแรงงานเพื่อต่อต้านรัฐบาลปีกขวา แต่หลังจากนั้นเขาและผู้มีอำนาจในวอชิงตันได้กังวลใจต่อสหภาพแรงงานที่เกรี้ยวกราด เช่นเดียวกับการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในญี่ปุ่นและส่วนอื่นๆ ของเอเชีย จึงเปลี่ยนกฎหมายเพื่อทำให้สิทธิ์ดังกล่าวถูกยกเลิก หลังการจากไปของสหรัฐอเมริกา อนุรักษนิยมผู้ปกครองญี่ปุ่นก็ยังคงขังสิทธิ์ดังกล่าวไว้ มีผู้วิเคราะห์ว่าทัศนคติแบบการอุปถัมภ์และขนบเดิมของระบบราชการนั้นไม่จำเป็นสำหรับการเจรจาต่อรองร่วมใดๆ[18]

ในระดับชาติ กระทรวงศึกษาธิการปฏิเสธที่จะเจรจาโดยตรงกับผู้นำสหภาพตั้งแต่ปี 1948 กระทรวงเพียงยอมรับการดำรงอยู่ของสหภาพฯ ในระดับท้องถิ่นอย่างระดับจังหวัด เพราะครูได้รับการว่าจ้าง (ครูจะใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น หากจะย้ายจะต้องสอบไปยังที่แห่งใหม่) รัฐบาลญี่ปุ่นมีอิทธิพลอย่างสูงในการจ่ายเงินเดือนและกำหนดสภาพการจ้างงานในระดับท้องถิ่น เพราะเป็นผู้อุดหนุนเงินเดือนครูกว่าครึ่ง และยังเป็นผู้กำหนดจำนวนครูที่แต่ละจังหวัดจะจ้างได้ เงินเดือนครูที่อยู่บนฐานของความอาวุโสยังถูกตั้งมาจากระดับชาติ การที่กระทรวงปฏิเสธจะต่อรองหรือแม้กระทั่งประชุมกับ JTU หรือองค์กรครูอื่น นั่นหมายความว่า พวกเขาตัดการพูดจาโดยตรงเกี่ยวเงินเดือนและเงื่อนไขการจ้างงาน ความพยายามที่จะอุทธรณ์ต่อ International Labour Organisation (ILO: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) เพื่อที่จะแก้ไขการปฏิเสธสิทธิ์ของสหภาพฯ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยอ้างว่าญี่ปุ่นมีระบบกฎหมายเป็นของตนเอง[19]

เหตุผลหนึ่งในการเสื่อมถอยของสมาชิกสหภาพอย่างเรื้อรังหลังจากจุดพีกในทศวรรษ 1950 คือ ความรับรู้ โดยเฉพาะจากผู้เข้าสู่วิชาชีพใหม่ๆ เพราะไม่สามารถเป็นตัวแทนเรียกร้องผลประโยชน์ให้พวกเขาได้ ก่อนการแตกแยกในปี 1989 มีผู้เขียนว่า ครูส่วนใหญ่ไม่เชื่ออีกต่อไปว่าผลประโยชน์ที่เขาได้รับจากสหภาพจะคุ้มค่ากับค่าธรรมเนียมที่เขาจ่ายไป ครูรุ่นใหม่ผู้ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อวาระทางการเมือง ไม่เห็นความจำเป็นในการเป็นสมาชิกสหภาพด้วยเหตุผลของผลประโยชน์ส่วนตน หลังปี 1989 ครูใหม่มีทางเลือกว่าจะอยู่ในองค์กรใด Zenkyo ได้เรียกร้องให้เข้าร่วมด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ ส่วน JTU อันเป็นสหภาพแรงงานกระแสหลักได้ให้คำมั่นว่าจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าในการต่อรองกับรัฐบาล หากไม่มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้ สมาชิกสามารถเลือกจะไม่สนับสนุนในฐานะผู้จ่ายเงินได้[20]

ความจริงอันน่าลำบากใจสำหรับสหภาพแรงงานครูในญี่ปุ่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ผลประโยชน์ของครูมักจะถูกดูแลโดยองค์ประกอบที่ไม่สัมพันธ์หรือสัมพันธ์น้อยมากกับกิจกรรมของสหภาพ แม้ในช่วงแรกตั้ง สหภาพแรงงานครูจะอยู่อย่างยากลำบาก แต่ในทศวรรษ 1990 พวกเขาอยู่ในหมู่ครูที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุดในโลก โดยมีเงินเดือนมากเป็น 2.4 เท่าของรายได้ต่อหัวของคนในชาติ (national per capita income) นักการเมืองในฝั่งอนุรักษนิยม สนับสนุนการจ่ายเงินครูเพื่อต้องการแรงสนับสนุนในการปฏิรูป ครูจึงมีความสุขอยู่กับการได้รับการจ้างงานที่มั่นคง การไล่ออกก่อนจะเกษียณในอายุ 65 ปี เป็นกรณีที่หายาก ผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ได้มาจากความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานเท่ากับสถานะผู้รับจ้างถาวรของภาครัฐ ยิ่งในชนบท อาชีพครูยังเป็นอาชีพที่น่าสนใจของเหล่าผู้จบการศึกษาวัยหนุ่มสาว[21]

การจ้างงานตลอดชีวิตไม่ได้อยู่ในภาครัฐเท่านั้น ในช่วงความสำเร็จทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1980 ความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมบรรยายได้จากการครอบครองทรัพย์สมบัติ 3 ประการ นั่นคือ การจ้างงานตลอดชีวิต, เงินเดือนตามลำดับอาวุโส และสหภาพแรงงานขององค์กร ในภาคเอกชนก็ได้การจ้างงานจนถึงเกษียณเช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งคือประกันสุขภาพและระบบบำนาญในญี่ปุ่น หากแรงงานชายถูกปลดจากงาน เขาและทั้งครอบครัวจะถูกตัดประกันสุขภาพและบำนาญไปด้วย  และความเป็นไปได้ที่จะหางานใหม่ยังเป็นไปได้ยาก จึงหมายถึงว่าผู้จัดการจะประสบความยากลำบากในการปลดพนักงาน แม้จะไม่มีสหภาพแรงงานกดดันใดๆ หรือสหภาพแรงงานก็เป็นเพียง ‘collaborationist’ หรือนักประสานงานให้ความร่วมมือ (คำที่ฝ่ายซ้ายวิพากษ์) มากกว่าจะสร้างสภาพกดดันต่อรอง ในเวลาต่อมาก็เห็นว่าสิ่งนี้อาจไม่จำเป็น ในปี 2003 มีความพยายามจะลดการควบคุมการที่ผู้ว่าจ้างจะปลดพนักงานประจำ แต่ก็ถูกคัดค้านโดย DPJ และ Rengo พันธมิตรของพวกเขา[22]

ความแตกต่างของญี่ปุ่นกับตะวันตกอีกประการคือธรรมชาติของสัญญาจ้าง ในสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างจะมีรายละเอียดยิบย่อยเพื่อระบุการจ้างงานสำหรับแต่ละบุคคล ในระบบนี้ สหภาพจะมีบทบาทในการช่วยพิจารณาสัญญา ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอำนาจ แต่สัญญาในญี่ปุ่นนั้นข้อความน้อยกว่าและค่อนข้างเป็นสัญญาข้อความทั่วๆ ไปทั้งในภาครัฐและเอกชน ดังนั้นในญี่ปุ่นภาระงานจึงมีลักษณะปลายเปิดด้วยความไม่ชัดเจนในสัญญานั่นเอง การจ้างงานตลอดชีวิตของญี่ปุ่นถูกสันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างตัวพวกเขา ผู้ว่าจ้างและเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นตัวอักษรในสัญญาจึงไม่มีความจำเป็น[23]

ข้อจำกัดของอิทธิพลของ JTU ในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

นอกจากข้อห้ามในการสไตรก์และการเจรจาต่อรองร่วมแล้ว ยังมีข้อห้ามการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองหรือมีส่วนร่วมในฐานะกรรมการผู้บริหารพรรค หรือหัวคะแนนในนั้น นั่นคือ การร่วมรณรงค์หาเสียงให้พรรคการเมืองเพื่อการเลือกตั้ง (ลงรายชื่อหรือบริจาค) หรือแสดงเอกสารเพื่อสนับสนุนหรือปฏิเสธในการเลือกตั้ง ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ JTU จึงรักษาช่องทางสื่อสารของพวกเขาผ่านพันธมิตรทางการเมืองอย่าง JSP และองค์กรแนวร่วมอื่นๆ รวมไปถึงครูที่เกษียณแล้ว แต่ JSP ก็พึ่งพา JTU อย่างหนักเพื่อข้อแนะนำเกี่ยวกับนโยบายการศึกษา

ความล้มเหลวของ JSP ในการขึ้นไปมีอำนาจด้วยตัวเอง หมายความว่า JTU ไม่สามารถจะควบคุมนโยบายหรือออกกฎหมายใดๆ ไปด้วย เมื่อ LDP อยู่ในอำนาจ สหภาพแรงงานครูไม่สามารถพูดถึงนโยบายการศึกษาระดับชาติ และไม่เคยเป็นตัวแทนในฐานะที่ปรึกษาที่รัฐบาลสนับสนุน หรือสภาปรึกษาหารือในนโยบายการศึกษาใหม่เลยด้วย ต่างจากองค์กรครูในประเทศประชาธิปไตยอื่นอย่างฝรั่งเศส[24]

การขัดขวางการปฏิรูปในระดับท้องถิ่นช่วงทศวรรษ 1950-1970 เป็นบทบาททางอ้อมของ JTU เพื่อต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่จะขัดต่อผลประโยชน์ของสหภาพ ในฐานะพลังที่จะสนับสนุนการศึกษาที่เป็นประชาธิปไตยและความเท่าเทียม เมื่อความเข้มแข็งของ JTU ลดลง ความสามารถที่จะปกป้องแนวคิดดังกล่าวก็เสื่อมลงไปด้วย[25]

แม้ว่าสหภาพและรัฐบาลจะเผชิญหน้ากันในระดับชาติ แต่ความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องปกติในระดับโรงเรียน แม้ในช่วงที่สหภาพฯ มีอำนาจมากก็ตาม ในหลายพื้นที่ครูที่เป็นทั้งสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกสหภาพสามารถทำงานร่วมกันในฐานะผลประโยชน์ร่วม ในการวิจัยเชิงมานุษยวิทยาชิ้นหนึ่งพบว่า โรงเรียนเป็นจุดโฟกัสของความจงรักภักดีมากกว่าผู้บริหารหรือสหภาพแรงงาน นอกจากนั้น ผู้อำนวยการและรองฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในญี่ปุ่น แต่ความต้องการที่จะสร้างความสงบสุขและร่วมมือกันในโรงเรียนเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ สิ่งนี้ช่วยอธิบายว่า แม้จะมีความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างสหภาพกับรัฐบาลในระดับชาติ แต่ในระดับโรงเรียนกลับไม่เป็นเช่นนั้น[26]

การปฏิรูปการศึกษาและการไร้อิทธิพลของสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 1990

แม้ JTU จะคัดค้านการต่อใบอนุญาตใหม่ทุกสิบปี แต่ก็เป็นผู้สนับสนุนข้อเสนออื่นในนโยบายการศึกษาในทศวรรษ 1990-2000 หนึ่งในประเด็นหลักที่ถกเถียงกันช่วงดังกล่าวคือ ‘การศึกษาแบบ Yutori’ (การศึกษาแบบผ่อนคลาย) ที่มาของแนวคิดนี้คือความเคร่งเครียด กดดัน และตายตัวในระบบการศึกษาเก่า (ช่วงทศวรรษ 1970) นั้นมีมากเกิน ญี่ปุ่นจึงต้องการจะประเมินใหม่ในยุคหลังสงครามเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี การปฏิรูปถูกกำหนดไว้เพื่อลดเนื้อหาและหลักสูตรภาคบังคับ และเพิ่มทางเลือกที่ยืดหยุ่นให้กับครูและนักเรียน ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเปลี่ยนจากการเรียน 6 วันต่อสัปดาห์มาเป็น 5 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2002 มีฉันทมติในการปฏิรูปนี้อย่างกว้างขวางจากหลายพรรคการเมือง สหภาพแรงงานเป็นที่พอใจเนื่องจากวันหยุด 2 วันช่วยลดความเครียดให้กับครูและนักเรียน และ JTU ได้อ้างว่าเป็นผลงานการผลักดันของตนในเอกสารอย่างเป็นทางการ[27]

ในทางปฏิบัติ การปฏิรูปเกี่ยวข้องกับการลดขนาดหลักสูตรภาคบังคับเพื่อจะให้โรงเรียนและครูมีทางเลือกและสามารถสอนได้อย่างยืดหยุ่น หลักสูตรระดับประถมและมัธยมต้นถูกลดลงกว่า 30% ร่วมกับการลดขนาดของบทเรียนในทุกวิชา สื่อมวลชนฝ่ายขวาจำนวนมากชี้ว่านี่คือการทำให้เด็กโง่ลง แม้แต่กระทรวงก็ออกตัวว่าหลักสูตรใหม่เป็นเพียงการทำตามมาตรฐานขั้นต่ำของหลักสูตร ไม่ได้เป็นเนื้อหาของการสอนในโรงเรียน ข้อวิจารณ์ได้ถูกย้ำผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘PISA shock’ ในปี 2004 เมื่อคะแนนเฉลี่ยของเด็กญี่ปุ่นต่ำกว่าหลายประเทศในตารางคะแนนความสามารถในการทดสอบ ทำให้นโยบายนี้ถูกโจมตีจากสื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนและผู้ชื่นชอบการศึกษาที่กลับไปสู่พื้นฐานเดิมได้นำเสนอเรื่องเล่าของการเสื่อมถอยและวิกฤต ผลคือ ‘การพลิกกลับของการปฏิรูป Yutori’ การปฏิรูปหลักสูตรส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2010 ได้ถูกเปลี่ยนกลับ และกลายเป็นหลักสูตรภาคบังคับที่ถูกใช้มาก่อนหน้านั้น 10 กว่าปี หลักสูตรแห่งชาติที่ตายตัวได้กลับมาใช้พร้อมกับแบบเรียนจากส่วนกลางกลายมาเป็นแบบเรียนก่อนปี 2002[28]

ทั้ง JTU และ Zenkyo ต่างสนับสนุนร่างเบื้องต้นของการปฏิรูป Yutori ในทศวรรษ 1990 เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเช่นเดียวกับการให้คุณค่ากับการศึกษา ในทศวรรษ 2000 พวกเขาต่อต้านการย้อนกลับการปฏิรูปแต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงกระทรวงผู้ร่างหลักสูตรแห่งชาติ หรือรัฐบาลที่จะเป็นผู้สั่งการกระทรวงและร่างกฎหมายการศึกษา นั่นหมายถึงพวกเขาถูกลดระดับเหลือเพียงผู้ชมในสนามอำนาจ ในทางตรงกันข้ามกับที่เคยมีการปิดกั้นอำนาจในช่วงระบบ 1955 พวกเขาไร้อำนาจที่จะต่อต้านการปฏิรูปที่พวกเขาไม่พอใจ หรือไม่สามารถสู้ในสิ่งที่พวกเขาเสนอ นักสื่อมวลชนด้านการศึกษาชาวญี่ปุ่นได้อ้างถึงการประเมินของนักวิชาการว่า อิทธิพลของ JTU ในนโยบายแห่งชาติเท่ากับ ‘ศูนย์’ [29]

การปฏิรูปเบื้องต้นที่ล้มเหลวในทศวรรษ 1980 แต่ได้รับความสนใจในทศวรรษ 2000 คือการจัดตั้งระบบมัธยม 6 ปีในโรงเรียนรัฐ นั่นคือ การรวมโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นกับตอนปลายเข้าด้วยกัน บางคนเห็นว่านี่คือการปฏิรูปขนานใหญ่เชิงโครงสร้าง แต่ตามตัวเลขบอกว่าปี 2011 มีเพียง 32 โรงเรียนจากทั่วประเทศที่ปรับเปลี่ยนตามนั้น แต่ยังมีโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 4,768 แห่ง และมัธยมศึกษาตอนต้น 10,057 แห่งที่ยังแบ่งแยกกันอยู่ ทาง JTU และ Zenkyo ก็ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักที่ทำให้เปลี่ยนไม่ได้ อุปสรรคใหญ่ก็คืออำนาจการบริหารจัดการโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ภายใต้เทศบาล ขณะที่มัธยมศึกษาปลายอยู่ภายใต้ อบจ. การรวมทั้งสองระบบต้องการความร่วมมือของทั้งสองระบบที่เป็นท้องถิ่นคนละประเภทซึ่งดูจะปฏิบัติได้ยาก[30]

ส่วน ‘School choice’ ก็เป็นอีกประเด็นที่ถกเถียงกันในช่วงหลังสงคราม ผู้ปกครองต้องการจะส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นใกล้บ้านและไม่ต้องการส่งไปโรงเรียนเอกชน ปี 1999 กฎหมายได้เปลี่ยนไปโดยอนุญาตให้บอร์ดการศึกษาท้องถิ่นเพิ่มทางเลือกของโรงเรียนเอกชน หนึ่งปีต่อมา Shinagawa ward ในโตเกียวกลายเป็นท้องถิ่นแห่งแรกที่ตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นที่เป็นกึ่งระบบธุรกิจ โครงการนำร่องนี้เป็นที่สนใจทั้งในญี่ปุ่นและผู้วิจารณ์ต่างประเทศ ในปี 2004 การทดลองได้ขยายไปถึง 8.8% ของเทศบาลทั่วประเทศในระดับประถม และ 11.1% ในระดับมัธยมต้น การประเมินช่วงทศวรรษ  2010 พบว่า โรงเรียนมัธยมที่อยู่ในระบบนี้มีผู้เรียนอยู่ถึง 11.5% ของโรงเรียนเทศบาลในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จุดประสงค์นโยบายนี้ก็คือการส่งเสริมการศึกษาให้หลากหลายมากขึ้น นักวิชาการบางคนสรุปว่า มันไม่ใช่ความหลากหลายในการสอนที่ตลาดการศึกษาสร้างขึ้น แต่เป็นข้อเสนอทางการศึกษาที่มีความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ให้ประชากรที่เป็นเป้าหมายยังคงเชื่อมต่อกับปรัชญาการศึกษาประเทศที่เป็นภาพแทนของหลักสูตรและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย[31]

หากทางเลือกถูกเสนอในระดับที่ใหญ่ขึ้น ผู้ปกครองต้องการที่จะเห็นผลการสอบเพื่อตัดสินใจว่าโรงเรียนใดดีกว่ากัน เมื่อเทียบกับประเทศใน OECD แล้ว ญี่ปุ่นได้นำเสนอการสอบระดับชาติเพื่อทดสอบความสามารถของเกรด 6 และ 9 ผลสอบไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่จะแชร์เฉพาะครูและข้าราชการการศึกษาเพื่อที่จะบอกว่า ระดับประถมและมัธยมนั้นคล้ายคลึงกัน แน่นอนว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นทราบดีว่าโรงเรียนไหนดี โรงเรียนไหนแย่ กระทั่งโฆษณาขายบ้านและคอนโดฯ ก็ยังระบุว่าที่แห่งนั้นใกล้กับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นหรือประถมที่มีชื่อเสียงแค่ไหน อย่างไรก็ตาม การตระหนักว่าโรงเรียนหนึ่งดีกว่าโรงเรียนหนึ่งยังเป็นก้าวใหญ่ๆ ที่นักบริหารการศึกษาไม่เต็มใจจะยอมรับ ความอ่อนแอของการต่อต้านของสหภาพแรงงานทำให้มาถึงจุดนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศว่า ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป คณะกรรมการการศึกษาของเมืองอาจจะประกาศผลคะแนนแต่ละโรงเรียนสู่สาธารณะหากต้องการ[32]

ความเสื่อมถอยของสหภาพแรงงานการศึกษาอาจเห็นได้จากการที่สมาชิก JTU ในปี 2012 ลดลงเหลือเพียง 27% ของแรงงานครูทั้งประเทศ และ Zenkyo เหลือเพียง 7% นั่นหมายความว่า กว่า 60% ของครูในปัจจุบันมิได้เป็นสมาชิกสหภาพอีกแล้ว จำนวนสมาชิกที่ต่ำกว่า 10 ล้านในปี 2012 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี JTU ที่มีนโยบายพยายามสร้างความใกล้ชิดกับกระทรวงหลังปี 1995 ถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาด ส่งผลต่อพลังในการต่อต้านของสหภาพที่ตกต่ำ เมื่อเทียบกับพลังของข้าราชการในระดับชาติและท้องถิ่น[33]


[1] Robert W. Aspinall, Ibid., p.192

[2] Robert W. Aspinall, Ibid., p.193

[3] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.193-194

[4] Robert W. Aspinall, Ibid., p.194

[5] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.194-195

[6] Robert W. Aspinall, Ibid., p.195

[7] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.195-196

[8] Robert W. Aspinall, Ibid., p.198

[9] Robert W. Aspinall, Ibid., p.198

[10] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.198-199

[11] Robert W. Aspinall, Ibid., p.199

[12] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.199-200

[13] Robert W. Aspinall, Ibid., p.200

[14] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.201-202

[15] Robert W. Aspinall, Ibid., p.204

[16] Robert W. Aspinall, Ibid., p.204

[17] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.204-205

[18] Robert W. Aspinall, Ibid., p.205

[19] Robert W. Aspinall, Ibid., p.205

[20] Robert W. Aspinall, Ibid., p.206

[21] Robert W. Aspinall, Ibid., p.206

[22] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.206-207

[23] Robert W. Aspinall, Ibid., p.207

[24] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.207-208

[25] Robert W. Aspinall, Ibid., p.208

[26] Robert W. Aspinall, Ibid., p.208

[27] Robert W. Aspinall, Ibid., p.209

[28] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.209-210

[29] Robert W. Aspinall, Ibid., p.210

[30] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.210-211

[31] Robert W. Aspinall, Ibid., p.211

[32] Robert W. Aspinall, Ibid., pp.211-212

[33] Robert W. Aspinall, Ibid., p.212

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save