fbpx

“ถ้ามาทำแบบนี้ที่ฝรั่งเศส…” ว่าด้วยสหภาพแรงงานการศึกษา ภายใต้ระบบการศึกษาที่รวมศูนย์อำนาจ

ภาพปกโดย ALAIN JOCARD / AFP

ระบบการศึกษาฝรั่งเศสถือว่ามีการรวมศูนย์อย่างสูงและมีความผูกพันกับหลักการการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมมาอย่างยาวนาน สหภาพแรงงานครูฝรั่งเศสพยายามขวางการปฏิรูปของรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดคือการต่อสู้กับรัฐบาลที่พยายามปฏิรูประบบเงินบำนาญ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความมั่นคงของแรงงานทั้งประเทศ ไม่เฉพาะในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว ฝรั่งเศส ปัจจุบันมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 68,042,591 คน[1] และ GDP อยู่ที่ 2,635.92 พันล้านดอลลาร์[2] GDP ต่อหัวที่ 55,492.60 ดอลลาร์[3]

การศึกษารวมศูนย์เพื่อป้องกันสาธารณรัฐและจัดรัฐสวัสดิการ

ในมิติทางประวัติศาสตร์แล้ว สหภาพแรงงานครูเกิดขึ้นในช่วงที่ฝรั่งเศสมีระบบโรงเรียนแบบรวมศูนย์ คือระหว่างช่วงสาธารณรัฐที่ 3 (ราว ค.ศ. 1870-1940) แก่นของการรวมศูนย์นั้นเกิดจากการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ทางศาสนาในท้องถิ่น ข้อถกเถียงในสมัยนั้นตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าการรวมศูนย์นั้นมีเพื่อรับประกันคุณภาพที่เท่ากันทั่วประเทศ และเป็นการป้องกันอิทธิพลทางศาสนาที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นในอาณาบริเวณต่างๆ ดังนั้นรัฐรวมศูนย์แบบฝรั่งเศสจึงดูเป็นพลังที่ก้าวหน้าและเป็นเหตุเป็นผล ขณะที่โรงเรียนนั้นถูกตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไม่ใช่การสอนแบบศาสนา เป็นกลางเพื่อที่จะรับรองความเป็นธรรมและโอกาสอันเท่าเทียม[4]  

โรงเรียนมัธยมสำหรับชนชั้นสูงขณะแรกเริ่มถือว่าขาดแคลน การศึกษาถูกมองว่าเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากรัฐสวัสดิการ อันเป็นมรดกมาจากนโยบายที่กำหนดจากส่วนกลาง โรงเรียนในฝรั่งเศสส่วนมากได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ ครูทั้งประถมและมัธยมถูกจ้างโดยรัฐบาลกลาง ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (Ministère de l’Éducation Nationale: MEN) เป็นผู้ว่าจ้างที่ใหญ่ที่สุด และยังถือว่าเป็นโครงสร้างระบบราชการที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อิทธิพลของรัฐยังเอื้อมไปถึงโรงเรียนเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนคาทอลิก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา พวกเขาจะอยู่ภายใต้สมาคมที่ควบคุมโดยรัฐ และได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐ อันที่จริงสหภาพแรงงานครูหลักแห่งหนึ่งได้ถูกรวมภาคเอกชนเข้าไปสู่ระบบการศึกษาสาธารณะ[5]

รัฐบาลพยายามควบคุมหลักสูตร การฝึกหัดครู และการจัดอัตรากำลังอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เนื้อเรื่องของสหภาพแรงงานครูเป็นการต่อสู้กันเบื้องหลังเหล่านั้น เป็นเรื่องราวของการเคลื่อนไหวโดยมียุทธศาสตร์ล้อมรอบรัฐบาลกลางที่ปารีส สหภาพแรงงานแรกที่บังเกิดคือ สหภาพแรงงานครูประถมศึกษา ในนาม Fédération nationale des syndicats d’instituteurs หรือ สหพันธ์สหภาพแรงงานครูแห่งชาติ ที่ก่อตั้งในปี 1905 และร่วมเป็นพันธมิตรกับสหภาพแรงงาน CGT (Confédération générale du travail หรือสมาพันธ์แรงงานสามัญ) ในปี 1930 ส่วน FGE (Fédération Générale de l’Enseignement หรือ สหพันธ์สามัญแห่งการศึกษา) ถูกจัดตั้งภายใน CGT[6]

ขณะที่ครูประถมร่วมกับ SNI (Syndicat National des Instituteurs หรือ สหภาพแรงงานครูแห่งชาติ) ครูมัธยมได้จัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งบุคลากรการสอนระดับมัธยม (Syndicat des personnels de l’enseignment secondaire) ภูมิทัศน์ของเหล่าสหภาพแรงงานมักจะอยู่ในความเกี่ยวเนื่องกับฝ่ายซ้ายที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์[7]

ห้วงเผด็จการวิชี่และหลังสงครามโลก

กระนั้นระบอบเผด็จการวิชี่ (Régime de Vichy) ที่มีอำนาจนาซีหนุนหลัง ได้ทำลายล้างสหภาพแรงงานครูด้วยการห้ามดำเนินกิจกรรม เช่นเดียวกับรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ทั้งหลายที่การรวมตัวกันของแรงงานและการมีวาระทางการเมืองไม่เป็นที่พึงประสงค์ในมุมมองของผู้กุมอำนาจรัฐ

หลังจากที่ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยหลังสงครามโลก FGE ได้เปลี่ยนเป็น FEN (Fédération de l’éducation nationale หรือ สหพันธ์การศึกษาแห่งชาติ) ขณะที่สหภาพแรงงานครูมัธยมจำนวนมากจัดกลุ่มใหม่และจัดตั้ง SNES (Syndicat national des enseignements de second degré หรือ สหภาพแรงงานแห่งชาติแห่งมัธยมศึกษา) ภายใต้ FEN เคียงข้างกับ SNES กลุ่มที่โดดเด่นและทำงานภายใน FEN คือ กลุ่ม SNI ยุคหลังสงครามเป็นช่วงที่สหภาพทั้งหลายวางยุทธศาสตร์ใหม่ ในฐานะสมาพันธ์ที่เป็นอิสระ FEN ประกอบด้วยกลุ่มครู 45 กลุ่มที่มาจากหลายส่วน โดยผ่านการโน้มน้าวจากฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมระดับ college (ขั้นต่ำ) และระดับ Lycee (ขั้นสูง) รวมไปถึงมหาวิทยาลัย[8]

FEN เป็นภาพสะท้อนความหลากหลายของฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส สมาพันธ์ดังกล่าวประกอบด้วยกระแสอุดมการณ์หลักถึง 3 กลุ่ม กลุ่มใหญ่ที่สุดเรียกว่า autonomes ซึ่งต่อมาจะเข้าร่วมกับพรรคสังคมนิยมมากขึ้น หลังจากปี 1971 ได้เรียกตัวเองว่า ‘Unité, Indépendence et Démocratie’ (เอกภาพ อิสรภาพ และประชาธิปไตย) กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม ‘Unité et Action’ (เอกภาพและปฏิบัติการ) ซึ่งร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งยังรวมเอากลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เข้าไว้ด้วย กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มซ้ายจัด ‘École émancipée’ (กลุ่มโรงเรียนปลดแอก) จุดหมายของขบวนการโรงเรียนเหล่านี้คือทำให้โรงเรียนมีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยมีฐานที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมและเป็นปึกแผ่น เพื่อให้แน่ใจว่าคนหนุ่มสาวจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ในปลายทศวรรษ 1960 Unité et Action สามารถเข้าไปควบคุมสองสหภาพแรงงานใหญ่นั่นคือ SNES และ SNEP (Syndicat national de l’éducation physique หรือ สหภาพแรงงานแห่งชาติแห่งพลศึกษา) [9]

ส่วน SGEN (Syndicat Général de l’Éducation Nationale หรือ สหภาพสามัญแห่งการศึกษาแห่งชาติ) ไม่ได้ร่วมกับโครงสร้างสหพันธ์แต่อยู่ภายใต้สหภาพแรงงาน CFDT (Confédération française démocratique du travail หรือสมาพันธ์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสแห่งแรงงาน) หลังจากการก่อตั้งในปี 1937 ในเบื้องต้น SGEN ได้ค่อยๆ มองตัวเองในฐานะนักปฏิรูปและนักสร้างนวัตกรรมการสอน และยังเป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยในระบบการศึกษาอย่างชัดแจ้ง คล้ายกับ FEN เครือข่ายของ SGEN นั้นสัมพันธ์กับพรรคสังคมนิยม ดังนั้นสหภาพแรงงานครูฝรั่งเศสทั้งหลายจึงแข่งขันกันโดยประเพณีที่จะกลายเป็นที่ปรึกษาหลักในการกำหนดนโยบายของฝ่ายสังคมนิยมฝรั่งเศส[10]

ทศวรรษ 1990 การต่อสู้กับนโยบายปฏิรูปการศึกษา

FEN ถูกรื้อโครงสร้างช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่ SNES และ SNEP ถูกกีดกันออกจากสหพันธ์เนื่องจากไม่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า federal pact หรือสนธิสัญญาของสหพันธ์ ขณะเดียวกันนักกิจกรรมจากกลุ่ม Unité et Action ก็ออกไปจาก FEN เพื่อไปตั้ง FSU (Fédération Syndicale Unitaire หรือ สหพันธ์สามัคคีสหภาพแรงงาน) ซึ่งไปร่วมกับ SNES และกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นกลุ่มที่เหลืออยู่ใน FEN จึงออกไปตั้งกลุ่มการศึกษา UNSA (Union nationale des syndicats autonomes หรือสหภาพแห่งชาติแห่งสหภาพแรงงานอิสระ) อันจะกลายเป็นสหภาพแรงงานสามัญอันปราศจากการกีดกันสมาชิกครู

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของฝ่ายซ้ายไม่ได้อ่อนแอลงภายใต้การสับเปลี่ยนองค์กรเช่นนี้ กลางทศวรรษ 1990 ฝ่ายซ้ายที่กระตือรือร้นละทิ้งสหภาพแรงงานของตน จัดตั้ง SUD Éducation (Solitaires, Unitaires, Démocratiques หรือ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นปึกแผ่น, สามัคคี และประชาธิปไตย) ที่ประกอบด้วยครูฝ่ายซ้ายและนักเรียน นักศึกษาผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงต่อการยกเลิกการควบคุมการศึกษาโดยรัฐ และการแปรรูปเป็นเอกชน[11]

ภายหลังการเปลี่ยนรูปองค์กรในช่วงทศวรรษ 1990 การดำเนินการของเหล่าสหภาพแรงงานกลับยกระดับสูงขึ้นและการให้ความสนใจเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายตั้งแต่ยุค FEN ยังดำเนินต่อ ขณะที่สมาชิกสหภาพแรงงานครูที่เคยเพิ่มสูงเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษ 1970 กลับลดลงเหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษ 1990 แม้จำนวนสมาชิกจะลดลงเหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ในทศวรรษ 2000 แต่การดำเนินการของสหภาพแรงงานครูยังคงสูงกว่าภาพรวมของสหภาพแรงงานทั้งฝรั่งเศส

FSU กลายเป็นสหพันธ์ที่มีอิทธิพลเหนือสหภาพแรงงานครูแบบที่ FEN เคยเป็นมา โดยมีสมาชิกราว 50 เปอร์เซ็นต์ รวมได้ประมาณ 163,000 คน ส่วน SGEN มีสมาชิกราว 10 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกสหภาพแรงงานครู แม้ว่าจะลดลงทีละน้อย ยังมีสหภาพแรงงานครูเอกชนในนาม FEP (Fédération de l’enseignement privé หรือ สหพันธ์การศึกษาเอกชน) ที่มีสมาชิกเป็นแรงงานด้านการศึกษาที่ถูกจัดตั้งราว 40,000 คน อัตราเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานมีราว 7.5 เปอร์เซ็นต์ที่ถือว่าน้อยกว่า สหภาพแรงงานการศึกษาของรัฐ และอยู่ในค่าเฉลี่ยของสหภาพแรงงานทั่วไปในฝรั่งเศส แม้ว่าจำนวนสมาชิกจะลดลง การปรากฏของสหภาพแรงงานครูของรัฐยังร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานที่กระตือรือร้นในด้านการศึกษาอย่าง CFDT ผู้มีส่วนร่วมกับพันธมิตรที่ผันผวนกับสหภาพแรงงานโดยเฉพาะด้านการศึกษา ในหลายปีที่ผ่านมาสหภาพแรงงานครูเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ซึ่งนำมาสู่การรวมพลังของฝ่ายซ้ายที่กว้างขวางขึ้น[12]

ว่ากันว่าสหภาพแรงงานครูมักจะทำงานคู่ไปกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แบบพรรค Democrat ของสหรัฐอเมริกา สหภาพแรงงานครูฝรั่งเศสยังมีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูง มีผู้เสนอว่าสหภาพแรงงานครูในพรรคสังคมนิยมเป็นการแสดงออกอย่างเกินจริงในทศวรรษ 1970 พรรคสังคมนิยมมีจุดหมายที่จะกีดกันขบวนการคอมมิวนิสต์โดยการเชื่อมกับ FEN ทำให้ครูเริ่มทรงอิทธิพลในพรรคมากขึ้น แต่หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเมื่อพรรคสังคมนิยมอยู่ภายใต้ฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์ (François Mitterrand) FEN กลับสูญเสียสมาชิกไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นอิทธิพลของพวกเขาในพรรคจึงลดลงไปด้วย และพรรคก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซง

เมื่อ FEN พังทลายลงในทศวรรษ 1990 เรายังสามารถกล่าวถึงอุดมการณ์กว้างๆ ระหว่าง สหภาพแรงงานครูหลักๆ อย่าง FSU, UNSA และ SGEN กับนักสังคมนิยมฝรั่งเศส ผู้ที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์ในการผลักดันการลงทุนภาครัฐ ในการขยายการศึกษาภาครัฐ ในความเป็นพรรคขวากลางของซาโกซี่ (Nicolas Sarkozy) ที่จะลดขนาดองค์กรครู และกระจายอำนาจการจัดการการศึกษาซึ่งทำให้สหภาพแรงงานครูกลับไปจับมือกับพรรคสังคมนิยมอีกครั้ง[13]

การวางนโยบายของฝรั่งเศสมีลักษณะสั่งการจากบนลงล่างและมีลำดับชั้น ซึ่งปรากฏอยู่ในการแบ่งส่วนทางสังคมอย่างด้านศาสนา อุดมการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้รัฐมีอำนาจเหนือกลุ่มผลประโยชน์ที่แตกแยกย่อยเหล่านี้ ดังนั้นนโยบายการศึกษาจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะตกอยู่ภายใต้รูปแบบการวางนโยบายเช่นนี้ด้วย อย่างไรก็ตา นโยบายการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นั้นมีความสัมพันธ์ที่เป็น ‘sectoral- corporatist’ (องค์กรที่แบ่งตามเซกเตอร์) อย่างสูง ที่มุ่งเดินตามตรรกะของพวกเขาเอง แทนที่จะยอมให้รัฐครอบงำ สหภาพแรงงานด้านการศึกษาได้สร้างระบบของการแลกเปลี่ยนเชิงสถาบันกับรัฐมนตรีที่นิยามได้ว่าเป็น ‘competitive union co-management’ (ผู้จัดการร่วมของสหภาพคู่แข่ง) แห่งการวางนโยบายทางการศึกษา มีความพยายามที่ทำให้การศึกษาเป็นประชาธิปไตย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ยอมให้สหภาพแรงงานครูมีบทบาทในฐานะกลไกการตัดสินใจ[14]

พื้นที่การต่อรองของสหภาพแรงงานครู

สหภาพแรงงานครูเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจผ่าน 2 ช่องทาง นั่นคือ Commissions administratives paritaires (CAP หรือคณะกรรมาธิการบริหารร่วม) และ Commissions techniques paritaires (CTP หรือคณะกรรมาธิการเชิงเทคนิคร่วม) อันเป็นพื้นที่สำหรับการต่อรองร่วมของแรงงานภาครัฐ (collective public sector bargaining) ตัวแทนจะมาจากฝ่ายรัฐและการเลือกตั้งจากองค์กรครู ต่างไปจากสหรัฐอเมริกาที่สหภาพแรงงานครูจะใช้อำนาจต่อรองในการเลือกตั้ง ฝรั่งเศสจะโฟกัสไปที่ élections professionelle หรือการเลือกตั้งทางวิชาชีพซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะเข้าไปร่วมกับ CAP หรือ CTP ซึ่งพวกเขาจะเข้าไปเจรจาต่อรองในประเด็นต่างๆ ของวิชาชีพ สิ่งสำคัญที่สุดคือคณะกรรมการเหล่านี้เป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นบุคลากร เช่น การโยกย้ายเจ้าหน้าที่และการบำรุงรักษาโรงเรียน สิ่งเหล่านี้ทำให้สหภาพแรงงานครูมีอำนาจต่อรองสูงในวิชาชีพและการบริหารจัดการทรัพยากร ดังนั้นทางกระทรวงจึงจัดเตรียมแพลตฟอร์มให้ครูเพื่อการควบคุมวิชาชีพของตน[15]

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาโครงสร้างเงินเดือนครูที่ไม่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 1990 และการปรับเงินเดือนก็ต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อ ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็พยายามที่จะลดขนาดของจำนวนบุคลากรภาครัฐ แม้ว่าสหภาพแรงงานครูจะไม่สามารถเรียกร้องเงินเดือนให้สูงขึ้น แต่ก็สามารถควบคุมกันเอง ซึ่งนำมาสู่ขอบเขตที่พร่าเลือนระหว่างความเป็นข้าราชการ (civil service) กับ กลุ่มผลประโยชน์ผู้เป็นครู[16]

นอกจากนี้ องค์กรผู้ปกครองในฝรั่งเศสยังเริ่มได้ช้าและอ่อนแอกว่าในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา องค์กรที่ใหญ่ที่สุดคือ Fédération des Conseils de Parents d’Élèves – (FCPE หรือ Federation of Parents’ Councils หรือสหพันธ์สภาผู้ปกครอง) ก็ถูกตั้งขึ้นโดยสหภาพแรงงานครู SNI ในปี 1951 เพื่อจัดวางตำแหน่งและเพื่อสร้างพันธมิตรร่วมกับเหล่าผู้ปกครอง แม้แต่สถาบันที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ปกครองและนักเรียนอย่าง Conseil national de l’éducation หรือ National Education Council หรือสภาการศึกษาแห่งชาติ ก็ยังสะท้อนบุคลิกภาพของการปรากฏตัวของสหภาพแรงานครูอย่างเข้มแข็ง ทำให้เหลือพื้นที่น้อยมากสำหรับความเป็นอิสระของผู้ปกครอง[17]

หลากสหภาพแรงงานฯ แต่ทรงพลังในการต่อกรกับรัฐบาล

แม้จะเต็มไปด้วยสหภาพที่หลากหลาย แทนที่จะถูกแบ่งแยกและปกครองโดยรัฐ แต่สหภาพแรงงานครูนั้นมีศักยภาพที่จะจัดการวางยุทธศาสตร์ได้อย่างดี โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ ‘concerted policy blocking’ (การบล็อกการออกนโยบาย) การขวางไม่ให้รัฐบาลเสนอนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ โดยเฉพาะนโยบายการปฏิรูป เมื่อต้องเผชิญหน้ากับพรรครัฐบาลแนวขวากลาง พวกเขาจับมือกันและมองข้ามความแตกต่างกันเพื่อสู้กับนโยบายของรัฐ พลวัตทางการเมืองของสหภาพแรงงานครูจึงขับดันผ่านความกลัวว่าจะมีกลุ่มสหภาพอื่นเข้ามาครอบงำทั้งหมด[18] ความไม่ไว้วางใจระหว่างกันภายใต้การแข่งขันทางการต่อรองผลประโยชน์กลายเป็นแรงผลักดันในการต่อสู้กับรัฐ ในตรรกะเดียวกัน ตำแหน่ง professeurs  (ครูในระดับมัธยม) และ instituteurs (ครูในระดับประถม) ทั้งคู่อยู่ใน FSU แต่ก็พยายามควบคุมทรัพยากรรัฐเพื่อตอบสนองการทำงานของตน[19]

การบล็อกนโยบายของรัฐบาล มีพื้นฐาน 3 ประการ

ประการแรก คือ สหภาพล้วนแสดงออกว่าต่อต้านนโยบายรัฐที่คุกคามอภิสิทธิ์ทางวิชาชีพและอุดมการณ์ ยังไม่นับถึงอุดมการณ์ที่พวกเขายึดกุมกับหลักการที่ว่า การศึกษาคือพื้นที่สาธารณะที่ถูกสร้างขึ้นด้วยหลักสาธารณรัฐที่แบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้นความพยายามที่จะย้ายอำนาจการตัดสินใจไปยังระดับท้องถิ่นหรือโรงเรียนจึงถูกขัดขวางจากสหภาพ นอกจากนั้นยังมีความกลัวของการลดทอนความเป็นชาติ (denationalization) ของการศึกษาและการสูญเสียสถานะข้าราชการ

ประการที่สอง เนื่องจากการเป็นเครื่องมือของรัฐ (ที่ช่วยควบคุมวิชาชีพ) พวกเขาใช้สิทธิ์ veto นโยบายของรัฐผ่านคณะกรรมาธิการ

ประการที่สาม การรวมศูนย์อำนาจเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงาน นั่นทำให้การวางนโยบายทางการศึกษากลายเป็นกิจการที่ต้องมีการเจรจาต่อรองสูง ในระบบกระจายอำนาจที่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ใช่ผู้กระทำการทางการเมืองที่เป็นแนวร่วม แต่สหภาพแรงงานครูในฝรั่งเศสกลับมีพื้นที่การเมืองระดับชาติในการเข้าถึงสื่อและทำให้พวกเขาได้รับความเห็นใจที่สอดคล้องกับต้องการของพวกเขา[20]

‘วัฒนธรรมการนัดหยุดงาน’ อำนาจต่อรองที่สร้างขึ้นบนความเสียสละของส่วนรวม

ในเมื่อสามารถดุลอำนาจกับรัฐได้ ไฉนสหภาพแรงงานจึงมักนัดหยุดงาน?

สหภาพแรงงานครูมักเข้าร่วมการนัดหยุดงานทั่วไป และการนัดหยุดงานของเหล่ามหาวิทยาลัย ในปี 2009 มีการนัดหยุดงานถึง 8 ครั้ง มีแรงจูงใจจากพื้นฐานของพวกเขาที่ระดับเงินเดือนต่ำกว่าในประเทศอื่น แต่ละกลุ่มต้องการเรียกร้องอภิสิทธิ์ที่จะได้เข้าไปอยู่ในกลไกรัฐและกรรมการบริหารใน CAP และ CTP และการแข่งขันของสหภาพแรงงานที่มีอยู่หลายเฉดทางการเมือง การนัดหยุดงานจึงเป็นการแสดงพลังเพื่อช่วงชิงทรัพยากรจากภาครัฐ ตัวอย่างเช่น SGEN ผู้สนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา หากปฏิเสธการนัดหยุดงานร่วมกับสหภาพแรงงานฝ่ายซ้าย พวกเขาเกรงว่าพลังจากฝ่ายซ้ายจะช่วงชิงการนำด้านปฏิรูปไปเสีย นอกจากนั้น การนัดหยุดงานยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความชอบธรรมของผู้นำองค์กรสหภาพแรงงาน บางแห่งยังมีการตีพิมพ์รายชื่อสมาชิกผู้ไม่ได้เข้าร่วมหยุดงานเพื่อทำให้อับอาย[21]

การนัดหยุดงานไม่ได้เกิดขึ้นหลังการดำเนินการของรัฐบาล แต่มักจะเป็น ‘แทคติก’ ที่ใช้ระหว่างการเจรจา ที่เหล่าสหภาพแรงงานทั้งหลายจะร่วมมือกันเพื่อนัดหยุดงานซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับรัฐ จึงทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับรัฐบาลที่จะแบ่งแยกระหว่างสหภาพแรงงานที่แม้จะเป็นคู่แข่งกัน[22]

สหภาพแรงงานครูในฝรั่งเศสมีอิทธิพลอย่างสูงต่อระบบการศึกษา ประการแรก สหภาพฯ มีความคงเส้นคงวาในความเป็นเอกภาพ แม้จะมีความหลากหลาย ปฏิบัติการของพวกเขามีเป้าหมายที่จะขยายอำนาจและการรักษาโมเดลการศึกษารวมศูนย์และความเป็นข้าราชการ ในทางกลับกันก็ปฏิเสธการกระจายอำนาจ ประการที่สอง อำนาจของสหภาพฯ มีผลในด้านการรักษาสภาพการงานที่ดีภายใต้ระบบการศึกษาแบบราชการที่ขยายตัวตลอดเวลา ครูสามารถรักษาเป้าหมายทางนโยบาย แม้จะส่งผลต่อเงินเดือนที่อยู่ในอัตราที่ต่ำได้[23]

Plan Langevin-Wallon (1947) เป็นพิมพ์เขียวของการออกแบบ colleges ที่เกิดจากการต่อรองกับสหภาพอย่าง SNU และ SNES (สหภาพครูประถม และมัธยมภายใต้ FEN) โดยให้มีระบบการศึกษาต่อเนื่องจากชั้นประถมเป็น 2 ส่วนนั่นคือ collèges d’enseignement general (college of general education หรือวิทยาลัยสามัญศึกษา) และ collèges d’enseignement technique (college of technical education หรือวิทยาลัยเทคนิค) อันเป็นจุดที่จะเชื่อมต่อไปยัง lycées ในขั้นมัธยมปลาย แผนนี้มีเป้าหมายที่จะสร้างโครงสร้างการศึกษาแบบผสม เหมือนที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา และต้องการสร้างระบบการศึกษาภาคบังคับที่ฟรี ไปจนถึงอายุในวัยเรียนมหาวิทยาลัยโดยสร้างวิทยาลัยให้เป็นสถาบันในระดับมัธยมต้น[24]

แผนนี้ได้รับความเห็นชอบจากสหภาพฯ เนื่องจากเห็นไปในทิศทางเดียวกับอุดมคติที่แกนหลักว่าด้วยความเป็นธรรมทางการศึกษาและการวางมาตรฐานกลาง แต่ก็มีความขัดแย้งบางประการ ประการแรก ไม่ชัดนักว่า college จะเป็นเพียงส่วนขยายของโรงเรียนประถม หรือนับเป็นจุดเริ่มต้นของมัธยม ขณะที่ SNI และ SNES เห็นด้วยกับการผนวกเข้ากับรูปแบบโรงเรียนแบบเดิม นอกจากนั้นยังมีข้อพิพาทตอนที่นักเรียนจะเลือกสายตามความถนัด และการประเมินความถนัด ขณะที่แผนดังกล่าวปฏิเสธแนวคิดการคัดเลือกตามฐานความถนัด ส่วน SNI และ SNES เห็นว่าควรมีการคัดเลือก กระนั้น SNES ที่กำลังถูกควบรวมก็ถูกบังคับให้ยอมรับนโยบายรัฐ[25]

ในปี 1975 มีการออกกฎหมาย ‘Haby law’ ที่มุ่งสร้าง college สำหรับคนหนุ่มสาวฝรั่งเศสที่อายุไม่เกิน 16 ปี จากนั้นก็ไม่มีแรงต้านจากสหภาพอีก เนื่องจากโครงสร้างนี้ยังคงการรวมศูนย์อำนาจของรูปแบบการศึกษาของมัธยมต้นอยู่ บางทีระบบเช่นนี้ทำให้อำนาจยังอยู่ในมือเหล่าครูประถมอยู่ นักเรียนจากระดับประถมที่เข้าสู่มัธยมต้นก็ยังใช้ครูคนเดิม โปรแกรมเดิม และวิธีการสอนแบบเดิม และยังสร้างโอกาสให้พวกเขาเคลื่อนย้ายไปสู่ครูระดับมัธยมปลาย (professeurs) อีกด้วย หรือกล่าวได้ว่า college กลายเป็นแหล่งสร้างงานโดยไม่ต้องเพิ่มครูขึ้นมาใหม่ในองค์กร[26]

ต่อต้านการกระจายอำนาจทางการศึกษา

การกระจายอำนาจเป็นมาตรฐานการปฏิบัติในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษมาหลายทศวรรษแล้ว ขณะที่ระบบยุโรปตะวันตกเพิ่งจะรับเอาการวางนโยบายแบบกระจายอำนาจมาใช้เพื่อจะปรับปรุงผลลัพธ์และคุณภาพทางการศึกษา แต่ในฝรั่งเศสความพยายามกระจายอำนาจอาจมีก่อนแห่งอื่น หน่ออ่อนของแนวคิดดังกล่าวย้อนไปถึงการศึกษาของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ในงานศึกษา Les Héritiers (1964) ที่ชี้ให้เห็นว่าระบบการรวมศูนย์อำนาจได้ผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางสังคม ขณะที่รัฐบาลที่กำลังสนับสนุนการรวมศูนย์กลับเปลี่ยนไปสนับสนุนการกระจายอำนาจที่จะสะท้อนการเรียนการสอนในโครงสร้างที่หลากหลายของนักเรียนที่มีความต้องการและทักษะที่ต่างไปในระดับท้องถิ่น[27]

Haby law ไม่เพียงจะสร้าง college ขึ้นมา แต่ยังตั้งเป้าว่าจะโยกย้ายภาระทางการเงินด้านการศึกษาไปยังท้องถิ่นโดยต้องการให้พวกเขามีส่วนร่วมในการให้เงินทุนโรงเรียน กฎหมายกระจายอำนาจปี 1982 และ 1983 ได้สนับสนุนเทรนด์นี้โดยการให้ทุนโรงเรียน ทำให้พวกเขาส่งมอบงบประมาณจำนวนไม่มากนักไปสู่กิจกรรมที่ไม่ใช่หลักสูตรแกนกลาง การปกครองระดับ region รับผิดชอบงบประมาณก่อสร้าง การขยายและซ่อมแซมโรงเรียนระดับมัธยมปลาย (lycées) ขณะที่ระดับ départements รับผิดชอบระดับ colleges การกระจายอำนาจยังถูกเสริมความแข็งแกร่งในกฎหมาย Savary law ในปี 1984 ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของความอิสระในการจัดการศึกษาในด้านการบริหาร การเงินและหลักสูตร[28]

แต่แล้วลิมิตของการกระจายอำนาจก็มาถึง เมื่อสหภาพแรงงานครูปฏิเสธที่จะให้อำนาจท้องถิ่นเข้าควบคุมด้านนโยบาย โดยเฉพาะการมีสถานภาพเป็นข้าราชการในระดับชาติ แนวร่วมสหภาพฯ ยืนกรานว่ารัฐจะต้องรับผิดชอบด้านเนื้อหา การจัดองค์กร และตรวจสอบควบคุมกิจกรรมการศึกษาคล้ายกับการจัดการบริหารบุคคล ส่วนท้องถิ่นทั้งระดับ region และ department ควรรับผิดชอบเพียงการให้ทุนและการลงทุนสิ่งก่อสร้างเท่านั้น[29]

อาจเรียกได้ว่านี่คือ การกระจายอำนาจเทียม แม้ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนจะมีอำนาจตัดสินใจร่วมกับสภา region และสามารถบริหารงบประมาณได้ในทางทฤษฎี แต่อำนาจที่แท้จริงกลับมีจำกัดเพราะถูกแทรกแซงด้วยอิสระการบริหารบุคคลจากส่วนกลาง เนื่องจากงบประมาณหลักของค่าใช้จ่ายโรงเรียนนั้นอยู่ที่ค่าจ้างครูที่ยังอยู่ในมือรัฐบาลกลาง[30]

รัฐบาลพยายามกระจายอำนาจเพื่อที่จะบรรเทาความตึงเครียดด้านงบประมาณแห่งชาติ และต้องการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนความหลากหลายทางการศึกษาผ่านนวัตกรรมท้องถิ่น แผนการกระจายอำนาจของกระทรวงนั้นได้รับแรงหนุนจาก OECD ผู้วิพากษ์การรวมศูนย์อำนาจอย่างเข้มข้นของการศึกษาฝรั่งเศสในปี 1994 โดยเฉพาะการไร้ความอิสระในการสอนและวิธีการสอน รวมไปถึงความไม่ยืดหยุ่นของการบริหารจัดการ ข้อเสนอนั้นเป็นการลดอำนาจกระทรวงและพยายามสร้างกลไกอิสระเพื่อที่จะบริหารการจ้างงาน การทดสอบของโรงเรียนและประเด็นข้าราชการ[31]

สหภาพแรงงานครูจึงทำหน้าที่เป็น ‘ทวารบาล’ ปกป้องไม่ให้เกิดการกระจายอำนาจ พวกเขาทำการต่อต้านอย่างขมขื่น ตัวอย่างที่น่าสนใจว่าด้วยการต่อต้านการกระจายอำนาจ เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2004 การปฏิรูปมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนผ่านการจ้างงานจากข้าราชการที่สังกัดส่วนกลางให้ไปสังกัดท้องถิ่น รวมไปถึงครูด้วย ซึ่งนำไปสู่การประท้วงสาธารณะในวงกว้าง ในองค์กรครูเห็นว่านี่คือการแปรรูปเป็นเอกชนแบบแอบทำทางประตูหลัง ทำให้นายกรัฐมนตรีถูกดดันให้ถอนแผนการปฏิรูป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีเพียงลูกจ้างฝ่ายเทคนิคและฝ่ายสนับสนุนเท่านั้นที่ถูกโยกไปสังกัดท้องถิ่น[32]

การปฏิรูปการศึกษาหนึ่งที่พ่วงมากับการกระจายอำนาจคือ การสอบกลางที่เรียกว่า baccalauréat เพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือ grande école การสอบนี้ทำให้โรงเรียนต้องบริหารการสอบด้วยตัวเอง แต่ก็มีความกังวลว่าครูจะไม่สามารถวางตัวเป็นกลางในการประเมินผลโดยไม่อิงไปกับภูมิหลังทางสังคม ตัวแทนนักเรียนได้ถกเถียงว่า รัฐบาลกลางเท่านั้นที่จะการันตีความเป็นกลางได้ เหล่าครูก็ร่วมนัดหยุดงานทั่วประเทศ พวกเขาก็เห็นเช่นเดียวกันว่า ผลประโยชน์หลักในการรวมศูนย์อำนาจการศึกษากำลังถูกท้าทาย และมองว่าการกระจายอำนาจในการสอบดังกล่าวจะเป็นปัญหาน้ำผึ้งหยดเดียว ที่จะกลายเป็นการลดทอนความเป็นชาติของการศึกษาทั้งระบบ และเป็นแผนการที่จะลดขนาดและกระจายอำนาจระบบราชการลง[33]

การต่อต้านการกระจายอำนาจเป็นการรักษาจารีตของโรงเรียนฝรั่งเศสที่ ‘เป็นกลาง’ และแยกขาดจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ นำมาซึ่งการประท้วงต่อองค์กรท้องถิ่นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออำนาจต่อรองของเขาถูกท้าทาย ดังนั้นรัฐส่วนกลางร่วมกับการจัดการกับสหภาพแรงงานครูได้กลายเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์สาธารณะและเป็นกันชนต่อผลประโยชน์ท้องถิ่นด้านศาสนาและเศรษฐกิจ โดยมีแนวร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานครู สหภาพแรงงาน และเหล่านักเรียน[34]

งานหนักและเงินเดือนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย กับ สวัสดิการของครู

ผลประโยชน์อื่นที่สหภาพแรงงานครูได้ก็คือการได้รับเงินช่วยเหลือเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ส่วนบุคคล เงินเพิ่มเติมหลังเกษียณ (retirement supplements) สวัสดิการด้านจิตเวช (psychiatric care) และเมื่อเทียบกับครูในประเทศอื่น ครูในฝรั่งเศสมีภาระการสอนน้อยกว่า โดยพบว่าครูระดับมัธยมปลายสอน 628 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 656 ชั่วโมง ขณะที่ภาระสอนของครูระดับมัธยมต้นในฝรั่งเศสอยู่ที่ 642 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 401 ชั่วโมง ด้านครูในสหรัฐอเมริกาจะสอนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,051 ชั่วโมง กระนั้นครูระดับประถมของฝรั่งเศสกลับสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD 779 ชั่วโมง แต่ยังต่ำกว่าครูสหรัฐอเมริกาที่ 1,097 ชั่วโมง นอกจากนั้นสัดส่วนนักเรียนต่อครูประถมศึกษาในฝรั่งเศสอยู่ที่ 19 คนต่อครู 1 คน แต่ในระดับมัธยมปลายอยู่ที่ 10 คน เทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ 16 คน และฟินแลนด์ที่ 18 ทำให้ครูมัธยมปลายมีเวลาเตรียมตัวสอน งานธุรการ และการบริหารจัดการการศึกษาผ่านสหภาพแรงงานมากกว่าครูประถมหรือที่อื่นๆ[35]

ที่สำคัญสหภาพแรงงานครูฝรั่งเศสยังต่อต้านการวัดและประเมินผลที่ได้รับอิทธิพลจากการสอบ PISA รัฐเคยพยายามที่จะนำระบบประเมินมาใช้โดยผู้อำนวยการ จนบัดนี้ครูฝรั่งเศสเพียงแค่ถูกประเมินทุกๆ 7 ปีโดยมีสิ่งที่เรียกว่า การตรวจสอบ double notation และศึกษานิเทศก์ระดับภูมิภาค แต่กระบวนการขาดการติดตามและกลไกการควบคุมจึงไม่มีผลมากนัก เพราะการเพิ่มเงินเดือนล้วนอยู่บนเกณฑ์อาวุโส รัฐบาลซาโกซี่พยายามวางระบบใหม่ด้วยการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการทุกๆ 3 เดือน เพื่อประเมินความสามารถที่จะยกระดับความก้าวหน้าของนักเรียน ผลดังกล่าวจะนำมาสู่การคำนวณเงินเดือนต่อมา[36]

สหภาพแรงงานครูโต้เถียงว่านี่คือการลดคุณค่าของวิชาชีพ การแข่งขันด้านเงินเดือนจะนำไปสู่การทำลายทีมเวิร์คของเหล่าครู นำไปสู่การสไตรก์ในเดือนธันวาคม 2011 ด้วยความร่วมมือของสหภาพแรงงานหลักหลายแห่ง ยกเว้น SGEN มีการกล่าวหาว่านี่คือ ความพยายามกลับไปสู่โครงสร้างแบบศักดินาในศตวรรษที่ 19 ด้วยซ้ำ นั่นทำให้รัฐบาลของออล็องด์ (François Hollande) ผู้เป็นพันธมิตรกับเหล่าแรงงานยกเลิกข้อเสนอนี้[37]

กระนั้น การที่ครูกลายเป็นอาชีพที่เป็นอภิสิทธิ์ชนก็มีข้อจำกัด เมื่อเทียบกับประเทศใน OECD ครูฝรั่งเศสล้าหลังกว่าตัวชี้วัดในโรงเรียนอื่นๆ เช่น เงินเดือนครูฝรั่งเศสระดับมัธยมปลายที่มีประสบการณ์ 15 ปีอยู่ที่ 36,154 ดอลลาร์ต่อปี ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 48,000 ดอลลาร์, ครูฟินแลนด์อยู่ที่ 49,237 ดอลลาร์, เยอรมนี 68,619 ดอลลาร์ และค่าเฉลี่ย OECD อยู่ที่ 43,711[38] ครูฝรั่งเศสจึงมีเรทเงินเดือนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่กล่าวมา

PISA ข้ออ้างใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา

คะแนน PISA ที่จัดว่าต่ำของนักเรียนฝรั่งเศสที่วัดผลเด็กอายุ 15 ขวบในทักษะการอ่าน คณิตศาสตร์ และความรอบรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำไปสู่การเปรียบเทียบกับประเทศที่คะแนนสูงอย่างฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และแคนาดาซึ่งล้วนเป็นระบบที่การศึกษามีการกระจายอำนาจ และมีอิสระในตัวเอง และไม่ได้มีการจัดสอบแบบรวมศูนย์ อันที่จริงกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศสเคยทำข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ PISA ไว้ว่า คะแนนที่สูงสอดคล้องกับความอิสระของโรงเรียน เช่นเดียวกับนักวิจัยทางการศึกษาชาวฝรั่งเศสว่า คะแนนที่ตกต่ำสอดคล้องกับการขาดความอิสระของโรงเรียนและอิสรภาพในการสอน และยังมีผู้ชี้ให้เห็นว่า ครูที่ตั้งใจสอนและให้ความเอาใจใส่ต่อนักเรียนเจอในฝรั่งเศสน้อยกว่าในประเทศที่พูดอังกฤษ[39]

มีความพยายามปรับปรุงผ่านโครงการต่างๆ เช่น การปฏิรูป ‘lycée à la carte’ ภายใต้รัฐมนตรีที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประเทศผู้ประสบความสำเร็จใน PISA (PISA winners) ในการจัดการเรียนที่ยืดหยุ่น แต่ก็ถูกต่อต้านด้วยการนัดสไตรก์ของครูและสหภาพแรงงานรวมไปถึงนักเรียนอีกด้วย ทำให้การปฏิรูปล้มเหลวในสองประการ ประการแรก คือข้อโต้แย้งว่า การทำให้การศึกษายืดหยุ่นและเป็นอิสระ จะนำไปสู่การลดทอนความเป็นชาติในระบบการศึกษา ประการที่สองคือ องค์กรครูยึดติดกับหลักการเสมอภาคเป็นอุปสรรคใหญ่ ท่ามกลางแผนที่จะยกเลิกงานกว่า 15,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการ และยังแย้งว่าการสอนพิเศษจะสร้างภาระให้นักเรียนและทำลายอุดมคติการศึกษาที่เท่าเทียม[40]

นอกจากคะแนนจะต่ำ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในฝรั่งเศสยังสูงกว่าแห่งอื่นๆ เช่น ระดับ ม.ปลาย อยู่ที่ 9,303 ดอลลาร์ต่อหัว สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ที่ 8,006 ดอลลาร์ ฝรั่งเศสใช้เงิน 2 แสนล้าน (20 billion) มากกว่าเยอรมนี และจ่ายให้ครูสูงกว่า ขณะที่เยอรมนี ค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งเป็นเงินเดือนครู ซึ่งน้อยกว่าหนึ่งในสามที่จ่ายในฝรั่งเศส นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายยังอยู่ที่สิทธิประโยชน์ของครู เช่น บำเหน็จบำนาญ เงินเพิ่มหลังเกษียณ ฯลฯ ทำให้ค่าบริหารจัดการในฝรั่งเศสสูงมาก ในฝรั่งเศสมีองค์การศึกษากว่า 5 หมื่นแห่ง ขณะที่เยอรมนีมีเพียง 28,000 แห่ง ค่าใช้จ่ายนักเรียนเยอรมันอยู่ที่ 6 พันยูโรต่อปี ขณะที่ฝรั่งเศส 7 พันยูโรต่อปี นักเรียนมัธยมเยอรมันอยู่ที่ 8.5 ล้านคน ครู 580,000 คน ฝรั่งเศสนักเรียนม.ปลาย 5.95 ล้านคน มีครู 500,546 คน [41]

ในประเทศที่กระจายอำนาจการศึกษาอย่างเยอรมนี สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ หรือสวีเดนต่างก็มีการให้ทุนที่หลากหลายทั้งจากระดับชาติ ท้องถิ่น ภูมิภาค การเสริมพลังแก่เขตการศึกษาเอกชนและเทศบาล เพื่อบริหารจัดการบนความต้องการและความสามารถทางการเงินด้วยตัวเอง แต่ระบบรวมศูนย์นั้นกีดกันโรงเรียนออกจากการจัดการอย่างอิสระตามที่พวกเขาต้องการ ในฝรั่งเศสน้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายที่มาจากเทศบาล จังหวัด และภูมิภาค ด้วยอำนาจของสหภาพทำให้ระบบการให้ทุนมีอยู่เพียงด้านเดียว[42]

ท่ามกลางกระแสการกระจายอำนาจและการสลายอำนาจของสหภาพแรงงาน ครูฝรั่งเศสต่างต่อสู้และต่อต้านอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ต้องพร้อมใจกันแลกมากับสิทธิ์ประโยชน์ที่ควรจะได้บางประการไปด้วย


[1] Institut national de la statistique et des études économiques. ” Bilan démographique 2022″. Retrived on 14 August 2023 from https://www.insee.fr/fr/statistiques/6686993?sommaire=6686521#titre-bloc-1

[2] IMF. “World Economic Outlook Database “. Retrived on 13 August 2023 from https://rb.gy/3i2ge

[3] World Bank. “GDP per capita, PPP (current international $)”. Retrived on 13 August 2023 from https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.PP.CD

[4] Michael Dobbins, “Teacher Unionism in France: Making Fundamental Reform an Impossible Quest?”, Terry M. Moe and Susanne Wiborg, ed., The comparative politics of education : teachers unions and education systems around the world (Cambridge: Cambridge Press, 2017), pp.87-88

[5] Michael Dobbins, Ibid., p.88

[6] Michael Dobbins, Ibid., p.88

[7] Michael Dobbins, Ibid., pp.88-89

[8] Michael Dobbins, Ibid., p.89

[9] Michael Dobbins, Ibid., p.89

[10] Michael Dobbins, Ibid., p.89

[11] Michael Dobbins, Ibid., p.90

[12] Michael Dobbins, Ibid., p.90

[13] Michael Dobbins, Ibid., p.90-91

[14] Michael Dobbins, Ibid., p.91

[15] Michael Dobbins, Ibid., p.92

[16] Michael Dobbins, Ibid., p.92

[17] Michael Dobbins, Ibid., p.93

[18] Michael Dobbins, Ibid., p.94

[19] Michael Dobbins, Ibid., p.95

[20] Michael Dobbins, Ibid., p.95

[21] Michael Dobbins, Ibid., p.96

[22] Michael Dobbins, Ibid., p.96-97

[23] Michael Dobbins, Ibid., p.97

[24] Michael Dobbins, Ibid., p.97-98

[25] Michael Dobbins, Ibid., p.98

[26] Michael Dobbins, Ibid., p.98

[27] Michael Dobbins, Ibid., p.99

[28] Michael Dobbins, Ibid., p.99

[29] Michael Dobbins, Ibid., p.99

[30] Michael Dobbins, Ibid., p.100

[31] Michael Dobbins, Ibid., p.100

[32] Michael Dobbins, Ibid., p.100

[33] Michael Dobbins, Ibid., p.101

[34] Michael Dobbins, Ibid., p.101-102

[35] Michael Dobbins, Ibid., p.102

[36] Michael Dobbins, Ibid., p.102-103

[37] Michael Dobbins, Ibid., p.103

[38] Michael Dobbins, Ibid., p.103-104

[39] Michael Dobbins, Ibid., p.105

[40] Michael Dobbins, Ibid., p.105-106

[41] Michael Dobbins, Ibid., p.106-107

[42] Michael Dobbins, Ibid., p.107

[43] Michael Dobbins, Ibid., p.105

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save