fbpx

‘ไวรัสความหยาบคายในโลกสมัยใหม่’ ทำไมความหยาบคายกลายเป็นเรื่องสามัญในสังคม?

เรามาถึงยุคสมัยที่การเอะอะโวยวาย การปลุกปั่น การด่าทอ และความหยาบคาย กลายเป็นเรื่องสามัญในสังคมไปแล้วหรือเปล่า?

แน่นอนว่า เวลาพูดถึง ‘ความหยาบคาย’ คำนี้มีสเปกตรัมที่กว้างขวางมากนะครับ คำที่คนคนหนึ่งมองว่าหยาบคาย อีกคนอาจมองเป็นเรื่องเฉยๆ ก็ได้ ยกตัวอย่างในชีวิตจริง เพื่อนสนิทหรือคู่รักอาจเรียกกันมึงกับกูได้โดยไม่รู้สึกกระดากปาก แปลกประหลาด หรือหยาบคายอะไร แต่ในรายการโทรทัศน์ที่มีผู้ชมกว้างขวาง มีทุกระดับอายุ และมาจากต่างพื้นเพ การที่พิธีกรหรือดาราบางคนในสมัยนี้ใช้คำว่า มึง-กู กันอย่างไม่กระดากปาก โดยอาจแค่คิดว่าแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดระหว่างตัวเองกับแขกรับเชิญ เป็นเรื่องที่ “ใครๆ ก็ทำกัน” แต่ ‘ควรทำ’ จริงหรือ?  

ในสมัยก่อนย้อนไปสัก 20 ปี เรื่องแบบนี้อาจถึงขนาดที่ทางช่อง (หรือ กบว. …ถ้าคุณรู้ว่าคืออะไร) ต้องเรียกตัวกันมาตักเตือนเลยทีเดียว

นักเดี่ยวไมโครโฟนคนดังก็ใช้คำจำพวกนี้ในการแสดงบ่อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (มากขึ้นตามตัวเลขของครั้งการแสดงที่เพิ่มมากขึ้น) ถ้าใครติดตามมาตั้งแต่เริ่มการแสดงใหม่ๆ เมื่อหลายปีก่อน คำพวกนี้จะใช้อย่างจำกัดเมื่อแสดงต่อหน้ากลุ่มเล็กๆ และสถานที่จำเพาะอย่างในผับเท่านั้น แต่ไม่ใช้ในการแสดงใหญ่ที่มีผู้ชมเป็นพันคนหรือหมื่นคนในโรงละครหรือสนามกีฬา

แม้แต่คำว่า ‘เหี้ย’ และ ‘สัตว์’ (ที่อาจแผลงให้ ‘เบาลง’ เป็น สัส หรือ แสรด บนโซเชียลมีเดีย) ก็ดูจะได้รับการยอมรับหรือผ่อนปรนมากขึ้น อีกไม่นานคงไปถึงคำว่า ‘เ-ดแม่’ หรือเปล่า? น่าสนใจว่านักเดี่ยวไมโครโฟนในต่างประเทศก็พูดคำหยาบคายที่ชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยได้พูดกัน เพราะถือว่าเป็นคำหยาบโลนหรือต้องห้ามจนรับไม่ได้ จำพวก f#ck หรือ motherf#cker อยู่บ่อยๆ เช่นกัน

แต่การหยาบคายไม่จำเป็นต้องใช้คำ ‘ผรุสวาท’ เท่านั้น การใช้คำธรรมดา แต่ด้วยกิริยาอาการดูถูก ดูหมิ่น หรือเหยียดหยาม เช่น การตะคอกหรือจงใจโยนจานอาหารกระแทกกับโต๊ะหรือทิ้งลงบนพื้น แบบที่เห็นในรายการแข่งขันเชฟบางรายการ ตามมาตรฐานทั่วไปของสังคมส่วนใหญ่ในโลกนี้ ก็ถือว่าหยาบคายมากด้วยเช่นกัน

เชฟฝึกหัดทั่วไปก็คงไม่คิดว่าเป็นเรื่องปกติเท่าไหร่ และหากเลือกได้ก็คงไม่อยากเรียนจากครูบาอาจารย์ที่หยาบคายเช่นนั้นเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าเรารู้ว่า นั่นเป็นรายการทีวีและเป็นเพียง ‘การแสดง’ เท่านั้น

แต่เราอยากดูการแสดงแบบนี้จริงๆ หรือ?       

เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึง ‘ค่านิยม’ ของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า? คนไทยยอมรับความหยาบคายได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า?

เหตุใดคนเราจึงทำกริยาหยาบคายต่อกัน? และเรื่องนี้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องความรุนแรงในสังคมบ้างหรือไม่? คนในสังคมสมัยใหม่ขึ้งเคียดจนแสดงออกในรูปของความหยาบคายต่อกันมากขึ้นหรือเปล่า?

ทฤษฎีหนึ่ง (ที่แปลกดี) ที่มีผู้คิดขึ้นมาเพื่อใช้อธิบาย ‘หน้าที่’ ของความหยาบคายทางสังคมคือ เวลาคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น คนในชุมชนเมืองที่ไม่ได้รู้จักกันหมด ย่อมถูกจิตใต้สำนึกผลักดันให้ปกป้องตัวเองจากคนแปลกหน้า เช่น อาจกลัวว่าจะนำโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มาให้ หรือมาก่อความเดือดร้อนให้ จนอาจแสดงความหยาบคาย ไม่เต็มใจต้อนรับ หรือต้องการรักษาระยะห่างกับคนแปลกหน้าเหล่านั้นไว้

ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาแบบนี้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีโรคร้ายแรงบางอย่างระบาดอยู่ในปัจจุบัน เช่น ในบางประเทศในทวีปแอฟริกา [1]

นักวิจัยมองว่าเรื่องเช่นนี้ยังอาจแฝงในรูปของอคติเรื่องชาติพันธุ์ เช่น ความเป็นพลเมืองชั้นสองของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา (หรือแม้แต่คนละตินอเมริกาและเอเชีย) และอาจรวมไปถึงการที่คนตะวันตกบางคนแสดงความรังเกียจคนเอเชียในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

ประเด็นที่น่าสนใจคือ มารยาทเลวๆ ส่งอิทธิพลต่อคนรอบตัวและอาจติดต่อกันได้แบบโรคติดต่อด้วย [2]

มีการทดลองให้อาสาสมัครดูวิดีโอพนักงานที่แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรง จากนั้นให้ไปเขียนตอบอีเมลลูกค้า ทำให้พบว่าอาสาสมัครจะตอบอีเมลลูกค้าด้วย ‘ถ้อยคำ’ และ ‘สำเนียง’ ที่หัวฟัดหัวเหวี่ยงส่อถึงอารมณ์เสียมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ดูวิดีโอแบบเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด ออฟฟิศที่คนจำนวนมากทำงานอยู่ทุกวันอาจกลายเป็นนรกบนดินได้ง่ายๆ หากไม่มีความตระหนักในปัญหาเรื่องนี้ มีงานวิจัยยาวนาน 14 ปีชิ้นหนึ่งพบว่า แทบจะทุกคน (98%) เคยโดนคนในออฟฟิศตัวเองเกรี้ยวกราดใส่ด้วยความถี่ที่มากอย่างไม่น่าเชื่อ

การสำรวจหนึ่งในปี 2011 พบว่า คนราวครึ่งหนึ่งเจอคนหยาบคายใส่อย่างน้อยสัปดาห์ละหน ผลดังกล่าวแตกต่างอย่างชัดเจนจากผลการสำรวจ 13 ปีก่อนหน้านั้นที่ความถี่มีแค่เพียงหนเดียวในเวลา 3 เดือน

เรื่องนี้ส่งผลเสียมากอย่างไม่น่าเชื่อนะครับ พนักงานที่โดนปฏิบัติแย่ๆ เช่นนี้จะมีความตั้งใจในการทำงานที่หดหายลง ผลงานที่ทำได้ก็มีคุณภาพย่ำแย่ลงด้วย และที่แย่ไปกว่านั้น หากพนักงานไปแสดงอาการที่ลูกค้าเห็นว่าหยาบคายเข้า ทั้งตัวลูกค้าคนนั้นและลูกค้าคนอื่นๆ ที่พบเห็นเหตุการณ์ก็มีแนวโน้มจะไม่มาใช้บริการอีก และอาจไปนำเรื่องดังกล่าวไปพูดต่ออีกด้วย เหตุการณ์ทำนองนี้แค่เพียงครั้งเดียวจะกลายเป็น ‘ภาพจำ’ ของลูกค้าเหล่านั้นว่า พนักงานของที่นั่น ร้านค้าหรือแบรนด์นั้นไม่ดี ซึ่งการแก้ไขภาพพจน์แบบนี้ให้กลับมาดีอีกครั้งเป็นเรื่องยาก สิ้นเปลืองความพยายามและทรัพยากรเป็นอย่างมาก

ที่มาของความหยาบคายมักเป็นแบบสะสมมาอย่างยาวนานตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก มากกว่าจะเป็นแค่เรื่องบังเอิญหรือเกิดขึ้นอย่างปุบปับเฉพาะหน้าโดยไม่มีเค้าลางใดๆ มาก่อนเลย  

ในหนังสือ The Civility Solution: What to Do When People Are Rude ของ พี. เอ็ม. ฟอร์นี (P.M. Forni) ระบุปัจจัยที่ทำให้คนทำตัวหยาบคายว่ามีถึง 11 อย่างด้วยกัน ครอบคลุมตั้งแต่วิธีคิด ค่านิยม สิ่งแวดล้อม ซึ่งก็รวมทั้ง ‘โอกาส’ ที่จะแสดงความหยาบคายแล้วไม่เกิดผลเสียกับตัวเอง [3]

การคิดเอาว่า ‘ตัวตน’ บนโซเชียลมีเดีย (บางเจ้า) ที่ยอมให้ทำตัว ‘นิรนาม’ ได้ ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งทำตัวหยาบคายมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะไม่โดนจับได้ไล่ทันและลงโทษ แม้แต่เมื่อต้องพบเจอกันต่อหน้า ถ้าไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว และเชื่อว่าไม่ต้องมีความข้องเกี่ยวกันในทางใดทางหนึ่งต่อไปในอนาคต ก็ยิ่งมีโอกาสแสดงความหยาบคายต่อกันง่ายขึ้น

ในบ้านเราเห็นชัดเจนมากจากกิริยาอาการบนท้องถนนหรือสถานที่สาธารณะ

การเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เชื่อว่า ตัวเอง ‘เป็นศูนย์กลางจักรวาล’ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งด้วยเช่นกัน คนพวกนี้จะถือเอาแต่ความต้องการตัวเองเป็นใหญ่ แสดงตัวแบบมีอีโก้มาก แต่ในมุมกลับก็เป็นจริงด้วยคือ คนพวกนี้บางทีก็เป็นคนขาดความมั่นคงในใจสูง หวั่นไหวง่าย จึงคิดไปเองว่าคนอื่นไม่ปรารถนาดีต่อตัว จึงต้องปกป้องตัวเองโดยการทำตัวหยาบคายไว้ก่อน

ความเครียดในชีวิตประจำวันก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะในรายที่ไม่รู้ว่าจะควบคุมหรือจัดการอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากงานหรือจากครอบครัวทางบ้าน

บางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเครียดอยู่!

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงถึงการติดต่อกันได้ของความหยาบคายเป็นผลงานจากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยฟลอริดา ชื่อผลงานชัดเจนมากว่าความหยาบคายติดต่อถึงกันได้ นั่นก็คือรายงานการวิจัยชื่อ Catching rudeness is like catching a cold (ความหยาบคายติดต่อกันได้เหมือนการติดหวัด) [4]

ในการศึกษาชิ้นนี้ นักวิจัยให้อาสาสมัคร 90 คนร่วมในกิจกรรมการต่อรองแบบหนึ่ง จากนั้นก็ขอให้ประเมินอาสาสมัครที่ร่วมเป็นคู่ต่อรองว่า เป็นคนหยาบคายหรือไม่ สิ่งที่ค้นพบก็คือ ผู้เข้าร่วมการทดลองที่ประเมินคู่ของคนว่าแสดงกิริยาหยาบคาย มีแนวโน้มจะทำตัวหยาบคายเองในการต่อรองรอบหลังๆ ที่ตามมา การรับรู้ความหยาบคายของคนอื่น จึงสะท้อนออกมาในรูปของพฤติกรรมหยาบคายของผู้รับรู้เองที่เดิมไม่ได้ทำตัวหยาบคาย ราวกับติด ‘ไวรัสความหยาบคาย’ มานั่นเอง    

หากมองในแง่นี้ ความหยาบคายก็คล้ายกับโรคติดต่อ ซึ่งเมื่อติดเชื้อโรคนี้ไปแล้ว ก็จะทำให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เช่น เพื่อนร่วมงานในออฟฟิศเดียวกัน ทุกข์ทรมานจากอาการป่วยย่ำแย่ไปตามๆ กัน การกักกันและรักษาผู้ป่วยจึงเป็นมาตรการสำคัญ

ในระดับที่ใหญ่กว่านั้น การไม่ปล่อยให้ความหยาบคายเป็น ‘บรรทัดฐาน’ ใหม่ในสังคม ก็จะทำให้สังคมไม่ป่วยไปด้วยเช่นกัน ส่วนแค่ไหนจึงจะถือว่า ‘หยาบคาย’ และ ‘มาตรการ’ ใดที่เหมาะสม ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป

แต่การถกเถียงและประเมินเช่นนี้ คงต้องทำกันอยู่เสมอๆ เพราะน่าจะไม่ตายตัวและมีพลวัตอยู่ตลอด

References
1 The Science of Rudeness. Psychology Now (2023) Vol. 4, pp. 26-27
2 Ibid.
3 P.M. Forni (2010) The Civility Solution: What to Do When People Are Rude, St. Martin’s Press
4 J Appl Psychol. 2016 Jan;101(1):50-67. doi: 10.1037/apl0000037.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save