fbpx
นรกบนท้องถนน : ทำไมมารยาทในการใช้รถใช้ถนนจึงทรามลง

นรกบนท้องถนน : ทำไมมารยาทในการใช้รถใช้ถนนจึงทรามลง

ข่าวแย่ๆ บนท้องถนนเกิดขึ้นทุกวัน วันที่ผมเขียนบทความนี้ก็มีข่าวการใช้รถใช้ถนนแย่ๆ ให้เห็นอย่างน้อยๆ ก็สองข่าว

คลิปข่าวแรกเป็นภาพของรถคันหนึ่งพยายามเบียดแทรกรถด้านขวา แต่ตัวเองเปิดไฟเลี้ยวซ้าย พอรถทางขวาไม่ให้ทางก็โมโห รีบบึ่งไปเข้าไปจะปาดหน้าให้ได้ แต่รถคันนั้นไม่ยอมให้เข้า สุดท้ายเมื่อได้จังหวะ เลยปาดหน้ารถเพื่อให้รถหยุด แล้วเปิดประตูรถลงมาหมายจะ ‘มีเรื่อง’ ต่อ แต่คู่กรณีไม่ยอมลงจากรถ ผู้ขับจึงเอามือทุบรถคู่กรณี เมื่อได้โอกาส รถคู่กรณีจึงรีบแล่นแซงหนีไป

คลิปที่สองเป็นคลิปของรถที่จะเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ รปภ. ของหมู่บ้านไม่ให้เข้า รถคันนั้นจึงต้องถอยออก แต่บังเอิญว่ามีสาวยาคูลท์ขี่มอเตอร์ไซค์บรรทุกถังยาคูลท์มาจอดด้านหลัง รถของสาวยาคูลท์นั้นหนัก กว่าจะหลีกทางให้พ้นได้ก็ต้องใช้เวลานาน เจ้าของรถเก๋งจึงโมโห เปิดกระจกด่าและเรียกร้องคำขอโทษจากสาวยาคูลท์ เมื่อไม่ได้คำขอโทษ สุดท้ายก็ลงจากรถพร้อมถือไม้ท่อนหนึ่งมาฟาดสาวยาคูลท์เข้าให้เต็มแรง ทั้งที่เธอไม่ได้ทำอะไรผิดเลย

เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นกับตัวผมเองหลายครั้ง ครั้งหนึ่ง ผมขับรถอยู่ในเลนขวาของถนนวิภาวดีรังสิต ตอนนั้นรถมาก มีรถอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านซ้าย จึงใช้ความเร็วได้ไม่มากนัก ปรากฏว่าจู่ๆ มีรถกระบะที่ขับเร็วมากแล่นมาจ่อด้านหลัง เปิดไฟสูง แต่ผมทำอะไรไม่ได้ เพราะทั้งด้านหน้าและด้านซ้ายมีรถแล่นอยู่โดยใช้ความเร็วเท่าๆ กัน เปลี่ยนเลนให้ในทันทีไม่ได้ ต้องรอสักพักจึงพอมีจังหวะตบเข้าซ้ายเพื่อปล่อยให้รถกระบะใจร้อนคันนั้นแซง แต่แล้วก็ต้องแปลกใจที่เขาไม่ขับตรงไป แต่ตบเข้าเลนซ้ายแล้วจงใจขับช้า ผมจึงคอยระวังระแวงอยู่ ครั้นผ่านไปสักระยะ ผมเห็นว่ารถเลนนี้ค่อนข้างช้า เลยจะออกขวาเพื่อแซง ปรากฏว่าพอแล่นไปเกือบถึงรถกระบะคันนั้น รถคันนั้นก็ดีดผึงออกมาเลนขวาเพื่อขวางหน้าเลย แล้วเบรกเป็นระยะๆ คล้ายอยากให้ผมชนท้าย ก็ต้องใช้ความใจเย็นเข้าข่ม จึงไม่ได้มีปัญหาอะไรใหญ่โตตามมา

อาการแบบนี้ ในภาษาอังกฤษมีคำเรียกสองคำ เป็นสองคำที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความหมายไม่เหมือนกัน คือคำว่า road rage และ aggressive driving

road rage หรือความกราดเกรี้ยวโกรธเคืองกันบนท้องถนน เกิดขึ้นกับคนอย่างน้อยสองฝ่ายที่แสดงออกต่อกัน ก่อให้เกิดพฤติกรรมหยาบคาย อาจมีการตะโกนด่าทอกัน การคุกคามทางกาย การใช้อาวุธ หรือการขับรถด้วยวิธีแปลกๆ เพื่อให้คู่กรณีเกิดความเสียหาย บาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็มี

อีกคำที่ใกล้เคียงกับ road rage แต่มีความหมายแตกต่างกันคือ aggressive driving หรือการขับรถด้วยวิธีการที่ก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนฝ่ายเดียวก่อน แล้วอาจก่อให้เกิดการฝ่าฝืนกฎจราจรในเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเริ่มลุกลามไปถึงการรังควานคนอื่นด้วย ก็จะกลายเป็น road rage และถ้ามีการลงไม้ลงมือกับบุคคลอื่น ก็อาจถือเป็น ‘อาชญากรรม’ อย่างหนึ่งได้เลย

ต้นเหตุของ road rage มักจะมาจาก aggressive driving ซึ่งในรายงานของ National Highway Traffic Safety Administration หรือ NHTSA ของสหรัฐอเมริกา ให้นิยามว่า the operation of a motor vehicle in a manner that endangers or is likely to endanger persons or property หรือ ‘การบังคับควบคุมยานพาหนะในอาการที่อาจเป็นอันตรายหรือสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน’

บทความชื่อว่า ‘The 3 Types of Aggressive Driving’ บอกว่า aggressive driving หรือการขับรถอย่างก้าวร้าวนั้นมีหลากหลายมาก เช่น การขับรถตัดหน้ารถคันอื่น การแล่นซิกแซ็กปาดซ้ายป่ายขวา การบีบแตรมากเกินเหตุ การกะพริบไฟสูงใส่รถคันอื่นบ่อยๆ การจอดรถขวางทางหรือบล็อกรถคันอื่น การขับรถขึ้นบนทางเท้าหรือขับคร่อมเลน การไม่เคารพกฎจราจร การไม่เปิดสัญญาณไฟเลี้ยว แต่ที่พบมากที่สุดมีอยู่สามประเภท คือการร้องตะโกนด่าและทำท่าทำทางใส่กัน (gesticulating) การขับรถจี้ท้าย (tailgating) และการขับรถเร็วแบบน่าหวาดเสียว

นอกจากนี้ บทความนี้ยังบอกด้วยว่า ‘ตัวตน’ ของนักขับขี่แบบแบบก้าวร้าวนั้นมีอยู่สามแบบ แบบแรกคือแบบสถานการณ์พาไป (situationally aggressive drivers) คือเกิดอาการ ‘หัวร้อน’ แบบชั่วคราวเพราะถูกกระตุ้นด้วยเหตุบางอย่าง เช่น รีบไปให้ถึงจุดหมาย เลยฝ่าไฟแดงจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แบบที่สองเป็นพวกก้าวร้าวแบบชอบเผชิญหน้าท้าสู้กับคนอื่น (เรียกว่า confrontationally aggressive drivers) คนกลุ่มนี้ก้าวร้าวเป็นประจำ มักคิดว่าตัวเองถูกเสมอ จึงมักจะทำสิ่งที่ก้าวร้าวอย่างคาดไม่ถึง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างกะพริบไฟสูงไล่รถคันที่ขวางอยู่เพื่อให้ตัวเองไปได้เป็นลำดับแรกโดยไม่คำนึงถึงสภาพจราจร ไปจนถึงท้าตีท้าต่อยหรือใช้อาวุธร้ายแรงอย่างเช่นปืนผาหน้าไม้ข่มขู่ผู้อื่น ส่วนแบบสุดท้ายไม่ได้ก้าวร้าวโดยเนื้อใน แต่ชอบการขับรถเร็ว จึงก่อให้เกิดพฤติกรรมการขับรถที่ก้าวร้าว (เรียกว่า habitually aggressive drivers) คนกลุ่มนี้มักเป็นคนชอบความแรงของรถ ชื่นชอบการแข่งรถ จึงมักใช้รถที่มีความเหนือกว่าในทางสมรรถนะ และต้องการ ‘โชว์ออฟ’ ให้คนขับรถอื่นๆ เห็น แต่ปัญหาคือ – ถนนไม่ใช่สนามแข่ง ถนนคือที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกัน การพยายามอวดสมรรถนะและฝีมือการขับรถ บ่อยครั้งจึงก่อให้เกิดหายนะบนท้องถนนขึ้นมาได้

คำถามก็คือ – แล้วอะไรทำให้คนเราขับรถย่ำแย่เลวทรามขึ้นมากันแบบนี้?

มันคือ ‘นิสัยส่วนตัว’ หรือเรียกให้ต้องตรงกับความหมายดั้งเดิมของถ้อยคำก็คือ ‘กมลสันดาน’ ของผู้ขับขี่คนนั้นๆ – เท่านั้น จริงหรือ?

ก่อนจะพยายามตอบคำถามนี้ อยากพาคุณกลับไปดู ‘คู่มือการขับรถ’ ในยุค 70 ที่อาจทำให้คุณประหลาดใจเสียหน่อย เพราะในบทความเดียวกัน บอกเอาไว้ว่า ในยุค 70 คู่มือการขับขี่แนะนำว่าถ้าคนขับรถเกิดอาการขุ่นข้องหมองใจยามใช้ยานพาหนะแล้วละก็ ขอให้ร้องตะโกนด่าทอออกมาเพื่อเป็นการ ‘ปลดปล่อย’ ความคุคั่งของอารมณ์ที่อยู่ในใจ แล้วจะได้กลับไปตั้งใจขับรถอย่างสงบได้

คนในปัจจุบันน่าจะรู้สึกว่าคำแนะนำนี้แปลกประหลาดดี เพราะถึงไม่แนะนำแบบนี้ เราก็เห็นคนร้องตะโกนผรุสวาทด่าทอกันเต็มท้องถนนไปหมดอยู่แล้ว และการด่าทอกันก็อาจนำไปสู่การลงไม้ลงมือกันได้ คำแนะนำแบบนี้จึงน่าประหลาดใจอยู่ไม่น้อย

แต่เป็นไปได้ไหม ที่คำแนะนำจะเกิดขึ้นใน ‘สภาพการณ์’ ที่ต่างไปจากปัจจุบันมากเสียจนการร้องตะโกนปลดปล่อยไม่ได้ก่อให้เกิด road rage เสมอไป

คำตอบคือเป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะย้อนกลับไปก่อนทศวรรษ 1990 สถิติบอกเราว่า อาการขับรถแบบก้าวร้าวไล่เลยไปจนถึง road rage นั้น – พบได้น้อยมาก

รายงานของ NHTSA บอกว่าอาการ ‘ต่ำทรามชนิดหักหัวลง’ (sharp decline) ของ ‘มารยาท’ (civility หรือที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์​ เรียกว่า ‘นาครวิสัย’) ในการใช้รถใช้ถนน รวมถึงความเคารพในผู้ร่วมทางและกฎจราจรนั้น เกิดขึ้นพ้องพานกับข่าวการขับรถแย่ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นจนสาธารณชนต้องหันมาให้ความสนใจ และกลายมาเป็นปัญหาสังคมระดับชาติในราวกลางทศวรรษ 1990 หรือไม่เกิน 20-30 ปีมานี้เอง โดยมูลนิธิ AAA for Traffic Safety (AAA ย่อมาจาก American Automobile Association) ศึกษาพบว่าในระหว่างปี 1990-1996 จู่ๆ ก็มีรายงานเรื่อง road rage เพิ่มสูงขึ้นฉับพลันถึง 51% โดยมีกรณี road rage ต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า 10,000 ครั้งในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อมานึกว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องสันดาปภายในเป็นประดิษฐกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1808 และรถที่ขายแบบแมสอย่างฟอร์ดโมเดลที่เริ่มขายในปี 1908 คือร้อยกว่าปีมาแล้ว – ก็น่าสงสัยว่าใช้รถยนต์กันมาตั้งนานนม แล้วทำไมอาการนิสัยเสียบนท้องถนนจึงไม่ได้เกิดเป็นวงกว้างมานานแล้วเล่า

หรือเกิด ‘การเปลี่ยนแปลงทางสังคม’ อะไร ที่เพิ่มอาการ ‘นิสัยเสีย’ บนท้องถนนขึ้นมาขนานใหญ่จนกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘นรกบนถนน’ กันแน่!

ถ้าใครเคยอ่านหัสนิยายชุด ‘สามเกลอ’ หรือ ‘พล นิกร กิมหงวน’ จะพบว่าในนิยายชุดนี้ ตัวละครมักจะชักชวนกันไป ‘ขับรถเล่น’ หรือ ‘ขับรถกินลม’ กันบ่อยครั้ง โปรดอย่าลืมว่าตัวละครในหนังสือเป็นผู้มีอันจะกิน จึงมีรถยนต์ใช้งานหลายคัน เวลาว่างๆ ไม่มีอะไรทำก็มักชวนกันขับรถกินลมเล่นในกรุงเทพฯ เลยไปไกลจนถึงสมุทรปราการก็มี

การ ‘ขับรถเล่น’ ที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับสามเกลอเท่านั้น แต่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนทั่วไปทั้งไทยและอเมริกัน (ที่เป็นต้นตำรับวัฒนธรรมรถยนต์ให้สังคมไทย) นิยมทำกัน โดยมี ‘อารมณ์ความรู้สึก’ แบบหนึ่งเป็นฐานรองรับ นั่นก็คือความรู้สึก ‘เพลิดเพลินกับการขับขี่’ ซึ่ง Pew Research Center เรียกว่า joy ride คือมีความสุขกับการได้ขับรถไปไหนต่อไหน รวมถึงเห็นว่าการขับรถยนต์เป็นเรื่องที่สามารถสร้างโมเมนต์ ‘พิเศษ’ ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น การขับรถเล่นอย่างที่เราพบในหัสนิยายของไทย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในประเทศแห่งวัฒนธรรมรถยนต์ โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา เช่น ในลอสแองเจลิส และยิ่งกระพือความพิเศษนั้นขึ้นไปอีกเมื่อวัฒนธรรมรถยนต์ผสมเข้ากับวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ผสมเข้ากับวัฒนธรรมฮอลลีวูดในยุคของ เจมส์ ดีน กับรถปอร์เช่เปิดประทุนคันเก๋ของเขา (ที่สุดท้ายแล้วพาเขาไปถึงวาระสุดท้ายบนถนนหลวง)

อย่างไรก็ตาม รายงานของ Pew Research Center พบว่าความ ‘พิเศษ’ ของการขับขี่รถยนต์อย่างที่เรียกว่า joy ride นั้น เริ่มลดลงในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับรายงานของ NHTSA เลย

นั่นก็คือยุค 90 !

เคยมีการสำรวจในปี 1991 (คือต้นทศวรรษ) เอาไว้หลายเรื่อง เช่น ความรักชอบในการขับรถโดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ หรือการเห็นว่าการขับรถยนต์เป็นมากกว่าแค่การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ช่วงนั้นพบว่าคนยังรู้สึกว่าการขับรถมีลักษณะ joy ride อยู่มาก เช่น มีคนถึง 43% เห็นว่าการขับรถเป็น ‘กิจกรรมพิเศษ’ มากกว่าแค่การเดินทาง (คล้ายๆ การไป ‘ขับรถเล่น’ ของสามเกลอ) และมีถึง 79% ที่บอกว่าตัวเอง ‘ชอบการขับรถ’

Pew สำรวจซ้ำอีกครั้งในปี 2006 หรือ 15 ปีถัดมา และพบว่าตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวกับ joy ride หรือความรื่นรมย์ในการขับรถลดต่ำลง เช่น คนที่เคยเห็นว่าการขับรถเป็นกิจกรรมพิเศษ ลดจาก 43% เหลือเพียง 23% คนที่บอกว่าตัวเองชอบการขับรถ ไม่รู้สึกว่าการขับรถเป็น ‘ภาระงานที่น่าเบื่อหน่าย’ (chore) ลดจาก 79% เหลือ 69% เป็นต้น

คำถามก็คือ ในช่วงเวลา 15 ปี ที่เป็นรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านศตวรรษนั้นเกิดอะไรขึ้น ทำไมอยู่ๆ การขับรถที่เคยเป็นเรื่องรื่นรมย์และทำให้อารมณ์ดี ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้

รายงานของ Pew บอกว่ามีอยู่สองเรื่องที่เป็นเหมือนคานคัดง้างกันเอง อย่างแรกก็คือ พบว่าในช่วงทศวรรษ 1990 ระยะทางในการขับรถเฉลี่ยของคนอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นมากเนื่องจากตัวเมืองมีลักษณะขยายตัวออกในทุกทิศทุกทาง ถ้าย้อนกลับไปดูสถิติในปี 1977 จะพบว่าคนอเมริกันขับรถเฉลี่ยปีละ 4,200 ไมล์ แต่พอถึงปี 2001 กลับต้องขับไกลถึงราว 8,200 ไมล์ คือเพิ่มขึ้นถึงราวสองเท่า

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความแออัดของเมืองทำให้การจราจรติดขัด คนอเมริกันจึงใช้เวลาในรถเพิ่มสูงขึ้นมากด้วย โดยพบว่าตัวเลขของการ ‘เสียเวลา’ จากรถติดเฉลี่ยต่อปี เพิ่มจาก 16 ชั่วโมง ในปี 1991 มาเป็น 25 ชั่วโมง ในปี 2003 คือเพิ่มขึ้นมากถึง 56%

นี่มันเหมือน ‘ถูกขัง’ อยู่ในรถชัดๆ!

การถูกขังอยู่ในรถทำให้เกิดความเครียด คนที่ต้องขับรถทุกวัน ถูกบังคับให้ติดอยู่ในรถวันละหลายๆ ชั่วโมง ย่อมไม่อยากไป ‘ขับรถเล่น’ หรือรู้สึกว่าการขับรถเป็นเรื่อง joy ride เหมือนคนในอดีตอีกต่อไป

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ joy ride ลดลง aggressive driving ก็กลับเพิ่มขึ้น หลายคนจึงคิดว่าสองเรื่องนี้น่าจะมีความสัมพันธ์กัน และอาจถึงขั้นเป็นเหตุเป็นผลต่อกันก็ได้ เพราะความเครียดของการถูกขังอยู่ในรถ อาจมีส่วนทำให้ผู้ขับขี่ทวีความกดดันในการใช้รถใช้ถนน จากที่เคยเห็นว่าเป็นกิจกรรมพิเศษที่แสนรื่นรมย์ กลายมาเป็นต้องจำทนอยู่บนถนนทั้งที่ไม่อยากอยู่ จนในที่สุดก็ค่อยๆ ระเบิดออกมาเป็นการขับรถที่ก้าวร้าวทีละเล็กละน้อย

มีผู้วิเคราะห์ว่า ความก้าวร้าวบนท้องถนนเหล่านี้ มีลักษณะแบบ snowball effect คือค่อยๆ สั่งสมส่งผลต่อกันจนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความก้าวร้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง ก่อให้เกิดความโกรธและความก้าวร้าวในคนอื่นต่อไปเป็นทอดๆ แล้วค่อยๆ ลุกลามจนกลายเป็นปรากฏการณ์ ‘ขับรถแย่’ ทั้งสังคม เพราะต่อให้ไม่เบียด ไม่ปาด ไม่แซงในที่ห้ามแซง ก็จะมีคนทำอยู่ดี และคนที่ทำอย่างนี้ก็มักไปถึงที่หมายก่อนโดยกฎหมายหรือการควบคุมทางสังคมไม่ยื่นมือเข้าไปจัดการอะไร พูดง่ายๆ ก็คือมีลักษณะของการ ‘ทำชั่วแล้วได้ดี’ ให้เห็นเป็นตัวอย่างบนท้องถนนเป็นประจำทุกวันนั่นเอง

บทความเก่าปี 1998 ชื่อ ‘Road Rage’ Versus Reality ของ Michael Fumento มีอยู่ตอนหนึ่งเล่าถึงการวิเคราะห์ road rage ในทางจิตวิทยา โดย อาร์โนลด์ เนเรนเบิร์ก (Arnold Nerenberg) นักจิตวิทยาผู้ได้ชื่อว่าเป็น America’s road-rage therapist

เนเรนเบิร์กบอกว่า road rage นั้น มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนมักจะไม่พูดถึงกัน มันเป็นปัจจัยทางจิตที่ ‘ฝังแน่น’ อยู่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์สังคม (social mammals) สิ่งนั้นก็คือการ ‘แข่งขัน’ (competitiveness) ในทางสังคม

เขาบอกว่าการแข่งขันกันบนท้องถนนมีรูปแบบเหมือนการแข่งขันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นสัตว์สังคมทั้งหมด นั่นคือลึกๆ แล้ว เวลาเราอยู่บนถนน เราจะคิดว่าเราต้องชนะ ต้องไปถึงให้ได้ก่อน ต้องเป็นผู้แซง ไม่ใช่ผู้ถูกแซง ต้องแข่งขันกันไม่ใช่แค่เพื่ออยู่รอด แต่เพื่อเป็นที่หนึ่งหรือไปถึงเป้าหมายเร็วที่สุด แม้ไปถึงก่อนชั่วเสี้ยววินาที เราก็จะรู้สึกดี เพราะสมองได้ให้รางวัลเป็นการหลั่งสารเคมีในสมองออกมา

ในบทความเดียวกันยังเล่าถึงการวิเคราะห์ของ จอห์น ลาร์สัน (John Larson) นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเยล เขาบอกว่า ‘โมเดลรถ’ ที่ใช้ก็มีผลเหมือนกัน เขาบอกว่ารถบางยี่ห้อหรือบางรูปแบบ เช่น รถเก๋งแนวสปอร์ต รถ SUV ที่คันใหญ่กว่ารถอื่น หรือรถปิ๊กอัพ มักให้ ‘แรงขับเคลื่อนที่จะก้าวร้าว’ (aggressive motivations) แก่ผู้ขับขี่ ก่อให้เกิดบุคลิก (personality) ในการขับขี่เฉพาะตัวขึ้นมา

นั่นทำให้ผมนึกถึงหลายคอมเมนต์ในสื่อโซเชียล ที่บอกว่าคนขับรถบางรุ่นมักมีอาการ ‘นิสัยเสีย’ มากกว่าคนขับรถรุ่นอื่นๆ

ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเคยมีผู้วิเคราะห์แบบเดียวกันมากว่ายี่สิบปีแล้ว!

จะเห็นได้ว่า ‘นรก’ บนท้องถนนที่ดูเหมือนเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ยากขึ้นทุกทีนี้ มีที่มาอันซับซ้อน เกี่ยวพันไปถึงการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่เราอยู่ รูปแบบการสร้างเมือง และเกี่ยวพันไปจนถึงเทคโนโลยีที่มนุษย์ใช้ในการเดินทาง ยิ่งในไทยหรือในกรุงเทพฯ ยิ่งมีปัญหาอื่นๆ แทรกเข้ามาอีกมาก เช่น คลื่นของมอเตอร์ไซค์ที่จำเป็นต่อการเดินทางขนส่งในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะในรูปของมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือไรเดอร์ส่งของที่ถูกระบบเศรษฐกิจกดดันให้ต้องทำงานหนัก การออกแบบและดูแลรักษาถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุในหลายระดับ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ร้อยเป็นเกลียวเข้ากับสภาวะทางจิตภายในตัวของเรา ก่อนจะระเบิดพลุ่งออกมากลายเป็นความโกรธเกรี้ยวและนาครวิสัยอันต่ำทรามบนท้องถนน อันเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่แทบทุกคนต้องพบเผชิญอยู่ทุกวัน

ถ้า ‘ถนน’ คือสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่แสดงตัวออกมาทางกายภาพ นรกบนท้องถนนย่อมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากดัชนีบ่งบอกว่าความสัมพันธ์นั้นต่ำทรามย่ำแย่ไปถึงขนาดไหนแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save