fbpx
More Cars, More Crime : รถติดเพิ่มความรุนแรงในบ้าน

More Cars, More Crime : รถติดเพิ่มความรุนแรงในบ้าน

รถติดย่อมหงุดหงิด กลับบ้านก็อารมณ์ไม่ดี คุณอาจคิดว่าอารมณ์ไม่ดี อย่างมากก็ทะเลาะกัน แต่ทะเลาะกันถึงขั้นไหน และสร้างความเสียหายทั้งทางกาย ทางจิต และทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน

ไปหาคำตอบกัน!

 

ใครๆ ก็เบื่อรถติด แต่คุณรู้ไหมว่า รถติดนั้นส่งผลเสียมากกว่าที่เห็นอย่างคาดไม่ถึงเลย ตัวอย่างของ ‘ผลเสีย’ ที่ว่านี้ มาจากการสำรวจของ Texas A&M Transportation Institute ซึ่งเขาไปสำรวจในอเมริกา ในเมืองที่ ‘รถติด’ หนักที่สุดอย่างลอสแองเจลิส คือติดขนาดที่เขาทำตัวเลขออกมาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ชาวแอลเอนั้นเสียเวลาไปกับรถติดเท่ากับปีละ 42 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ เพราะมากกว่าชั่วโมงทำงานในแต่ละสัปดาห์ตามกฎหมายเสียอีก แถมยังผลาญน้ำมันไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ปีละกว่า 10 ล้านลิตรอีกต่างหาก

ผลการสำรวจที่ได้น่าสนใจมาก!

ปกติแล้ว เวลารถติด เราจะคิดว่าข้อเสียของมันคือการไปทำงานสาย ไปประชุมไม่ทัน พลาดเที่ยวบิน ไปไม่ทันเดต อะไรทำนองนั้น หลายคนเวลาอยู่ในรถก็เครียด แต่พอถึงที่หมายก็นึกว่าตัวเองหายเครียดแล้ว ลืมไปแล้วว่าเคยเครียดจากรถติดขนาดไหน

แต่คุณรู้ไหมว่า ความเครียดที่เกิดจากรถติดมันไม่ได้หายไปไหนเลย มันยังคงตกค้างคุกรุ่นอยู่ในตัวของเรานี่แหละ แล้วก็กลายร่างมาเป็น ‘ความก้าวร้าว’ (Aggression) แทน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางจิตหลายรูปแบบ

ความก้าวร้าวที่ว่า มักจะไม่ได้แสดงออกในที่ทำงานหรือกับคนที่มีอำนาจสูงกว่า แต่มันจะตกค้างเก็บกดอยู่ข้างในจนกระทั่งกลับมาถึงบ้าน แล้วระเบิดระบายออกมาในรูปของ ‘ความรุนแรงในบ้าน’ (Domestic Violence)

ด้วยเหตุนี้ คุณหลุยส์ ฟิลิปป์ บีแลนด์ (Louis-Philippe Beland) และคุณแดเนียล เอ เบรนต์ (Daniel A. Brent) จากมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา ก็เลยทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชื่อ Traffic and Crime คือเอาสถิติเกี่ยวกับรถติด มาวิเคราะห์ร่วมกับสถิติอาชญากรรม เพื่อดูว่า รถติดมันเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะวัด ‘ต้นทุนทางจิตวิทยา’ ที่ต้องเสียไปเนื่องจากปัญหารถติด โดยจะดูแค่ในแถบลอสแองเจลิสเท่านั้น

ที่เขาไปโฟกัสลอสแองเจลิสก็เพราะที่นี่ถือเป็นเมืองที่รถติดที่สุดในสหรัฐอเมริกา เขาบอกว่าในบรรดาถนนที่รถติดที่สุดในอเมริกา 10 อันดับแรกนั้น มีถนนของแอลเออยู่ 6 อันดับ แล้วในพื้นที่ที่พีคๆ มากๆ นั้น ชาวแอลเอ (เมืองนางฟ้า) ต้องใช้เวลาไปกับรถติดมากถึงปีละราว 80 ชั่วโมง หรือเท่ากับ 3.5 วัน กันเลยทีเดียว โดยชั่วโมงเร่งด่วนกับชั่วโมงปกตินั้น การจราจรแตกต่างกันถึงราว 43% ทำให้ปัญหาจราจรเป็นเรื่องใหญ่ของแอลเอ

แล้วเขาทำวิจัยยังไงถึงเอาอาชญากรรมมารวมกับรถติดได้

เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้เรามี ‘ฐานข้อมูล’ ในแบบ Big Data เยอะไปหมด วิธีการที่เขาใช้ก็คือการเอาข้อมูลจากบันทึกประจำวันของตำรวจในช่วงปี 2011 ถึง 2015 ที่มีด้วยกันมากว่าสองล้านกรณี มาจับคู่เข้ากับการสังเกตการณ์เรื่องการจราจรจาก app จราจรต่างๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันมากกว่า 25 ล้านข้อมูล ข้อมูลที่มีมากมายมหาศาลแบบนี้ ทำให้สามารถเชื่อมโยงอาชญากรรมเข้ากับการจราจรได้

และตัวเลขที่ออกมาก็น่าทึ่งมาก!

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนก็คือ ถ้าการจราจรติดขัดมากๆ (เขาทำออกมาเป็นเปอร์เซนไทล์) คือเหนือกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 ขึ้นไป พบว่าสถิติอาชญากรรมนั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยอาชญากรรมหรือสิ่งที่ปรากฏในบันทึกประจำวันนั้น จะเป็นเรื่องความรุนแรงในบ้าน (Domestic Violence) เป็นส่วนใหญ่ เขาทดลองกับข้อมูลด้วยการไขว้กันไปมา เพื่อกันปัจจัยอื่นๆ ทิ้งไป เช่น เทียบรถติดกับอาชญากรรมในวันอื่น เทียบการจราจรในตอนเช้ากับอาชญากรรมในตอนเย็น หรือลองเทียบการจราจรกับอาชญากรรมแบบอื่นๆ ที่สุดก็พบว่า รถติดกับอาชญากรรมประเภทความรุนแรงภายในบ้านนั้น มีความสัมพันธ์กันมากที่สุด โดยในเขตที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็ยิ่งเกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้นไปด้วย หรือหากเกิดเรื่องไม่คาดฝัน (เช่น รถชนกัน) ความรุนแรงในบ้านก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

งานวิจัยนี้ยังประมาณการความเสียหายด้วยว่า ความรุนแรงในบ้านที่เกิดขึ้นเพราะรถติดไปโน้มนำให้เกิดนั้น สร้างความเสียหายราว 150 ล้านบาท ถึง 300 ล้านบาทต่อปี โดยตัวเลขที่ได้มา เป็นแค่ตัวเลขที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีคนไปแจ้งความเท่านั้น แต่ความรุนแรงในบ้านที่ไม่ได้ถึงโรงถึงศาลถึงตำรวจนั้น ต้องนับว่ามีมากกว่าอีกมากมายมหาศาล ตัวเลขที่ได้จึงถือว่าเป็นเหมือนปลายยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง

คำถามก็คือ แล้วจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี

เขาบอกว่า การสร้างถนนเพิ่มไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่สิ่งที่น่าจะช่วยได้มากกว่า (ทั้งที่ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้) ตามงานวิจัยของซีแอตเติลในรัฐวอชิงตัน ก็คือการเก็บค่าผ่านทางตามถนนต่างๆ ในเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน หรือถ้าเป็นทางที่เก็บค่าผ่านทางอยู่แล้ว ในชั่วโมงเร่งด่วนก็ต้องเก็บเพิ่มขึ้นไปอีก เรียกว่านโยบาย Time-of-Day Pricing พบว่าช่วยแก้ปัญหารถติดได้ชะงัด

 

ทั้งหมดนั่นเป็นเรื่องการจราจรและความรุนแรงในแอลเอ ซึ่งเอาเข้าจริงต้องบอกว่ามี ‘ปัญหารถติด’ น้อยกว่ากรุงเทพฯ อย่างเทียบกันไม่ได้

แต่ที่กรุงเทพฯ ของเรามีน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ก็คืองานวิจัย (ที่แลดูแปลกๆ) ทำนองนี้ รวมไปถึงวิธีคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วยวิธี (ที่อาจแลดูแปลกๆ) ต่างๆ

เพราะฉะนั้นเราก็อาจต้องอยู่กับรถติด (และความรุนแรง) กันต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

-รายงานเรื่อง TTI’s 2012 URBAN MOBILITY REPORT ของ David Schrank, Bill Eisele และ Tim Lomax จาก Texas A&M Transportation Institute, December 2012 

-งานวิจัยเรื่อง Traffic and Crime ของ Louis-Philippe Beland และ Daniel Brent จาก Louisiana State University, January, 2017

-บทความเรื่อง The stress of sitting in traffic can lead to more crime ของ Louis-Philippe Beland และ Daniel Brent จาก The Conversation, February 9, 2017 2.47PM

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save