fbpx
ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’

ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ตัวเลขจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 6 ปีหลังนี้[1] มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของกระแสแนวคิดฝ่ายขวาทั่วโลก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในแต่ละประเทศ

แนวคิดการต่อต้านผู้ลี้ภัยเกิดจากความคิดเรื่องการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ทั้งในเชิงอุดมการณ์ ความมั่นคง ความมั่งคั่ง อคติทางเชื้อชาติ จนถึงแนวคิดเรื่องการรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติ

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภาพการผลักดันผู้ลี้ภัยให้กลับไปตายในทะเลหรือบ้านเกิดที่ถูกเปลี่ยนเป็นสนามรบ โดยไม่ได้มองผู้ลี้ภัยในฐานะชีวิตหนึ่งที่ต้องการมีชีวิตที่สงบสุขในบ้านของตัวเองเหมือนเช่นทุกคน พวกเขาถูกมองเป็นผู้เข้ามาแย่งชิงทรัพยากร สร้างความวุ่นวาย และเป็นคนนอกที่เข้ามาสั่นคลอนความมั่นคงของสังคม

แม้ในตอนนี้ไทยไม่ได้เผชิญปัญหาคลื่นการอพยพขนาดใหญ่เช่นประเทศอื่น แต่ประเด็นผู้ลี้ภัยที่เราต้องรับมืออยู่แล้วก็ควรถูกพัฒนาไปในทิศทางที่มีการเคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคนมากขึ้น

การที่ไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยและไม่มีกฎหมายภายในเพื่อรับรองผู้ลี้ภัย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย การไม่มีกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ต่างกับการปฏิเสธว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีอยู่จริง และใช้กฎหมายที่มีอยู่เปลี่ยนผู้ลี้ภัยให้เป็นผู้กระทำผิด ผู้คนที่หนีภัยมาจากประเทศต้นทางเป็นได้เพียงคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องถูกจับกุมและส่งตัวกลับ อันขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ยิ่งซ้ำเติมชีวิตผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้นไปอีก

นอกจากเรื่องผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่นซึ่งมีทั้งผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงตามชายแดนและผู้ลี้ภัยในเมืองแล้ว ปัญหาผู้ลี้ภัยยังเกี่ยวข้องถึงพลเมืองไทยที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศเพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและกลายเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งผู้ลี้ภัยประเทศอื่นที่เดินทางมาไทยและผู้ลี้ภัยไทยที่เดินทางไปประเทศอื่น ถูกมองจากรัฐไทยในฐานะ ‘ความเป็นอื่น’ ไม่แตกต่างกัน ซึ่งมาพร้อมแนวทางการปฏิบัติที่นำไปสู่การปราบปรามและจับกุม โดยมองข้ามการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม

“ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย” ชีวิตไร้หวังของผู้ลี้ภัยชายแดน

พอแสนโซ บรี (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)
พอแสนโซ บรี (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)

ปัญหาผู้ลี้ภัยที่คนไทยคุ้นชินกันมานาน คือ ผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิงตามแนวชายแดน[2] ที่เกิดจากปัญหาการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเกิดขึ้นช่วงหลายสิบปีที่แล้ว แม้มีการช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศแต่เมื่อประเทศไทยไม่มีการรับรองผู้ลี้ภัยทำให้ผู้อพยพจำนวนมากเข้าไม่ถึงโอกาสต่างๆ ในสังคม

พอแสนโซ บรี เป็นผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยในแคมป์ผู้ลี้ภัยที่จังหวัดตาก ตั้งแต่อายุ 6-17 ปี มีชีวิตวัยเด็กอยู่กับวันพรุ่งนี้ที่ไม่มีอนาคตเหตุเพราะต้องอยู่แบบไร้สิทธิไร้สัญชาติ

พอแสนโซให้สัมภาษณ์ 101 ว่าเธอเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ ในพม่าท่ามกลางสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ตั้งแต่จำความได้เธอต้องหวาดระวังการโจมตีจากทหารที่จะเข้ามาเอาข้าวของ อาหาร และชีวิต จนมีการโจมตีครั้งใหญ่ช่วงปี 2538 เธอและครอบครัวจึงหนีข้ามมาฝั่งไทยพร้อมชาวกะเหรี่ยงหลายพันคน

“ตอนเด็กถามพ่อว่าทำไมต้องหนี ทำไมเขาอยากเอาชีวิตเรา ทำไมเขาอยากเอาข้าวของของเราทั้งที่เราไม่มีอะไรจะให้ พ่อบอกว่าโตขึ้นจะเข้าใจเองแหละ บอกแค่ว่าที่นี่ไม่ปลอดภัย เขาจะมาเอาชีวิตเรา และเราต้องเอาชีวิตรอด ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมต้องวิ่ง ทำไมต้องหลบซ่อน บางครั้งย้ายไปได้ 6-7 เดือน เริ่มจะมีเพื่อนก็ต้องจากกันแล้ว เป็นชีวิตที่ยากจะเข้าใจสำหรับเด็ก”

แคมป์ที่พอแสนโซเคยอยู่เป็น 1 ใน 9 แคมป์ตามแนวชายแดนที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยจากพม่า ซึ่งยังคงมีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในแคมป์จนถึงปัจจุบัน

“ตอนมาอยู่แคมป์ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมออกไปข้างนอกไม่ได้ มีรั้ว มีทหารดูแล พ่อบอกว่าข้างนอกอันตราย อยู่ในนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว เราไม่ต้องหนีแล้ว ตอนนี้จะมีเพื่อนก็ได้”

ชีวิตสิบกว่าปีของเธอในแคมป์ที่ชายแดนไม่มีโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ไฟฟ้า หรือน้ำประปาในบ้าน เดินทางไปภายนอกไม่ได้และต้องรอรับของบริจาคประทังชีวิต พอแสนโซฝันอยากเป็นครูเพื่อกลับมาสอนนักเรียนในแคมป์ แต่แน่นอนว่าความฝันของเธอไม่มีวันเป็นจริงเช่นเดียวกับเด็กผู้ลี้ภัยคนอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ เพราะอาศัยอยู่ในฐานะคนไร้สัญชาติ

พอแสนโซจึงตัดสินใจแยกจากครอบครัว เลือกแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิตโดยยื่นขอเดินทางไปสหรัฐอเมริกา

“พ่อไม่อยากให้ใครไปไหน พ่อแม่เชื่อตลอดว่าวันหนึ่งเราจะได้กลับไปอยู่ในผืนแผ่นดินของเรา แต่ฉันบอกว่าอยู่ในแคมป์มันมืดไปหมด อยู่มาหลายปีจนรู้ว่าไม่มีทางได้กลับไปแล้ว ฉันอยากมีการศึกษาที่ดีขึ้น อยู่ไทยเราไม่มีโอกาสนี้ ถ้าไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยเราจะอยู่ไม่ได้”

การจากกันครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้เจอพ่อ เพราะพ่อของเธอเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่ปี ขณะที่เธอยังไม่ได้สัญชาติอเมริกาจึงเดินทางกลับมาร่วมงานศพไม่ได้

“ชีวิตผู้ลี้ภัยยากลำบากมาก ถ้าเลือกได้จะไม่เกิดมาเป็นผู้ลี้ภัย อยากเกิดมามีชีวิตธรรมดาที่ไม่ต้องแยกกับครอบครัว ไม่ใช่อยู่กันคนละทิศคนละทาง คนละประเทศ เราหนีมาจากประเทศบ้านเกิด แต่ละครั้งที่ย้ายจะเกิดคำถามที่ตัดสินใจยากว่า ไปแล้วจะดีหรือเปล่า จะเกิดอะไรขึ้น แล้วครอบครัวเราจะได้เจอกันอีกไหม”

พอแสนโซเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา เริ่มเรียนภาษาอังกฤษจากศูนย์ ในโรงเรียนที่มีการแบ่งแยกผู้ลี้ภัยออกจากนักเรียนอเมริกันทั่วไป ไม่มีสนามเด็กเล่น ไม่มีอาหารกลางวันเหมือนโรงเรียนอื่นๆ ถูกล้อเลียนและเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างทางรูปร่างหน้าตาและวัฒนธรรม

เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย พอแสนโซจัดตั้งกลุ่มเยาวชนผู้ลี้ภัยให้คนอเมริกันได้เรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกับผู้ลี้ภัย เธอได้รับความช่วยเหลือจากทนายความในการรวบรวมผู้ได้รับผลกระทบและฟ้องคดีต่อโรงเรียนที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย จนชนะคดีในที่สุด ทำให้เมืองที่เธออยู่ไม่มีโรงเรียนที่แบ่งแยกเด็กผู้ลี้ภัยอีกต่อไป

หลังเรียนจบปริญญาโทสาขาสิทธิมนุษยชนและกฎหมายผู้ลี้ภัย พอแสนโซเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อหวังทำงานช่วยผู้ลี้ภัยในแคมป์ต่อไป

“สิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการที่สุดคือความปลอดภัยและการยอมรับ เขาต้องการใครสักคนเป็นเพื่อน เพราะเขาสูญเสียทุกสิ่ง เขาไม่มีบ้าน ไม่มีเพื่อน เขาต้องการใครสักคนที่จะเข้าใจ ให้ความเป็นมนุษย์กับเขาโดยไม่มองที่ความแตกต่าง ฉันอยากช่วยให้เขาอยู่ในที่ปลอดภัยและได้ความต้องการพื้นฐาน เช่น บ้าน เสื้อผ้า อาหาร การรักษาพยาบาล การศึกษา

“ความเป็นชาติสำคัญ แต่ไม่ควรสำคัญมากกว่าความเป็นมนุษย์ ในโลกมีคนสองล้านกว่าคนที่ไม่มีสัญชาติ ถ้าเราให้ความสำคัญมากกับเรื่องสัญชาติหรือความเป็นชาติ แล้วคนกลุ่มนี้คือใคร บ้านของเขาคือที่ไหน เขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา เราไม่ควรลืมเขา เราไม่ควรแบ่งแยกเขา” พอแสนโซกล่าว

ความเป็นเพื่อนความเป็นมนุษย์ สิ่งที่ขาดหายในปัญหา ผู้ลี้ภัยในเมือง

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี (ภาพโดย ยศธร ไตรยศ)
ศักดิ์ดา แก้วบัวดี (ภาพโดย ยศธร ไตรยศ)

ปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณชายแดน แต่ยังมี ‘ผู้ลี้ภัยในเมือง’ [3] ที่หลายคนต้องหลบซ่อนตัวเพราะอาศัยอยู่โดยผิดกฎหมายคนเข้าเมือง เมื่อผู้คนหนีจากประเทศบ้านเกิดเพื่อไปยังประเทศที่ 3 แต่กลับติดอยู่ที่ประเทศไทย รอคอยการอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยที่ยาวนาน

หลายคนถูกจับขังโดยไม่มีความผิดอื่น แต่เป็นเพราะไทยไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย คนที่หนีภัยคุกคามจากประเทศบ้านเกิดซึ่งสมควรได้รับความช่วยเหลือเหล่านี้จึงต้องกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ต้องถูกจองจำ

ศักดิ์ดา แก้วบัวดี นักแสดงอิสระ เป็นผู้หนึ่งที่เห็นปัญหาและเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ต้องเจอปัญหานี้ด้วยตัวของเขาเอง

ศักดิ์ดาเล่าให้ฟังว่าครั้งแรกที่ได้รับรู้ปัญหานี้ เขาเพียงแค่ตามเพื่อนไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่เมื่อได้เห็นสภาพผู้คนที่อยู่ในห้องขังทั้งที่ไม่ได้ทำความผิดทำให้เขารู้สึกเศร้า โดยเฉพาะในตอนนั้นยังมีเด็กเล็กจำนวนมากถูกขังพร้อมพ่อแม่

เขาตัดสินใจกลับมาเยี่ยมเด็กเหล่านั้นอีกครั้งโดยนำตุ๊กตาและของเล่นมาให้ จากนั้นจึงเริ่มนำของใช้และสิ่งของจำเป็นมาให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่เขาไม่รู้จักมาก่อน จนหลายคนกลายมาเป็น ‘เพื่อน’ ของศักดิ์ดา

บางช่วงเขาเข้าออกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแทบทุกวัน เวียนไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยในสถานกักตัวสลับกับนำอาหารไปให้ครอบครัวผู้ลี้ภัยที่หลบซ่อนอยู่ข้างนอก พร้อมกับช่วยทำเอกสารยื่นเรื่องขอลี้ภัยผ่านสถานทูตต่างๆ จนถึงเปิดระดมทุนเพื่อส่งครอบครัวผู้ลี้ภัยเดินทางไปประเทศที่ 3 ได้สำเร็จหลายครอบครัว

ศักดิ์ดาทำทั้งหมดนี้ในนามส่วนตัว แต่การช่วยเหลือคนเหล่านี้สร้างความยุ่งยากใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่มองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

“หลายคนถามว่าผมมาจากมูลนิธิไหน พอบอกว่าผมทำของผมเอง เขาก็ไม่เชื่อ ไม่มีมูลนิธิไหนในไทยสามารถออกตัวช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ เพราะถือว่าขัดกับหลักกฎหมายไทย บางองค์กรต้องย้ายไปที่อื่นเพราะมีปัญหากับทางรัฐบาล ผมก็เคยถูกเจ้าหน้าที่ตม. เรียกไปคุยว่าให้หยุดทำแบบนี้ เขาคอยติดตามความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊คอยู่ ถ้าไม่หยุดเขาจะจับด้วยข้อหาสนับสนุนคนผิดกฎหมาย”

เมื่อถามถึงคำถามที่ศักดิ์ดาต้องเจอบ่อยคือ “ทำไมต้องช่วยคนต่างชาติ?” เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า “ผมช่วยคนเหล่านี้เพราะผมไม่ได้มองเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ผมมองเห็นเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเรา”

ศักดิ์ดาเข้าใจว่าคนไทยส่วนหนึ่งรังเกียจผู้ลี้ภัยต่างชาติ แต่เขาอยากให้เข้าใจว่าเบื้องหลังคนเหล่านี้เผชิญความลำบากจนต้องหนีตายเอาชีวิตรอดมา ศักดิ์ดาเองก็เคยผ่านความลำบากในชีวิตมาก่อน ต้องทำงานแรงงาน ขายพวงมาลัย กระทั่งเคยนอนตามป้ายรถเมล์ เวลาเจอคนลำบากเขาจึงยื่นมือเข้าช่วยทันที

“เมื่อมีคนเดือดร้อนมาจากที่หนึ่ง หนีร้อนกะจะมาพึ่งเย็นกลายเป็นร้อนกว่า คนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยมาจากประเทศที่มีกฎหมายรองรับผู้ลี้ภัย ถือว่าเขาเป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตข้างนอกตามปกติได้ แต่พอมาไทย ไม่ว่าคุณได้สถานะมาจากไหนก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายหมด คนที่โดนขังใน ตม. กว่าครึ่งได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะติดกฎหมายไทย”

เครก ฟอสเตอร์ (ภาพโดย ธิติ มีแต้ม)
เครก ฟอสเตอร์ (ภาพโดย ธิติ มีแต้ม)

ปัญหาที่ศักดิ์ดาพูดถึงเป็นประเด็นเดียวกับกรณีที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางจากการจับกุม ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนและผู้ลี้ภัยที่ได้รับสถานะจากออสเตรเลีย หลังทางการไทยได้รับการประสานจากบาห์เรนให้ควบคุมตัวระหว่างที่ฮาคีมเดินทางมาฮันนีมูนในไทย ก่อนทางการไทยปล่อยตัวในเวลาต่อมาเมื่อได้รับแรงกดดันจากนานาชาติ

เครก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียเป็นหนึ่งในคนที่ออกมารณรงค์ให้ปล่อยตัวฮาคีมอย่างแข็งขัน เขาให้สัมภาษณ์ 101 ระหว่างเดินทางมารณรงค์ในไทยว่าฮาคีมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายจากออสเตรเลีย ประเทศไทยจึงควรปล่อยตัวเขากลับไปอยู่ในความคุ้มครองของออสเตรเลีย

เครกถือว่าการช่วยชีวิตนักฮาคีมเป็นหน้าที่โดยตรงของเขาทั้งในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ และในฐานะอดีตประธานสมาคมนักฟุตบอลอาชีพออสเตรเลีย สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นบททดสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนในวงการฟุตบอลว่าจะมีเพียงความว่างเปล่าจริงหรือไม่

“ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมาปกป้องฮาคีมตอนนี้ ก็ถือว่าสิทธิมนุษยชนในวงการฟุตบอลตายไปแล้ว”

เขามองว่าคุณค่าของการเล่นกีฬาไม่ใช่แค่ว่าใครเก่งกว่ากัน แต่คุณค่าของกีฬาคือการทำให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน หากไม่เคารพความแตกต่างหลากหลาย แต่ละประเทศในโลกนี้คงเล่นฟุตบอลด้วยกันไม่ได้ และเมื่อลงสนามแล้วนักฟุตบอลทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาจึงไม่เห็นความแตกต่างของตัวเองกับฮาคีม และเป็นเหตุผลที่ทุกคนต้องเคารพและช่วยเหลือกัน

“เราทุกคนเป็นคนเหมือนกัน เราเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยที่มีปัญหาจนต้องหนีจากประเทศตัวเอง เป็นคนสัญชาติออสเตรเลียอย่างผม หรือเป็นคนไทยอย่างคุณ เราทุกคนเป็นคนเหมือนกันและเราควรช่วยเหลือคนที่กำลังประสบปัญหา

“สิทธิมนุษยชนติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าคุณจะอยู่ไทยหรืออยู่ออสเตรเลีย เราก็มีสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน ถ้าเราไม่เคารพกันหรือไม่ทำงานร่วมกัน โลกใบนี้ก็จะประสบปัญหา” เครกกล่าว

นี่คืออีกตัวอย่างปัญหาหนึ่งจากการที่ไทยไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย และพยายามจะกระทำขัดต่อกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีหลักการห้ามผลักดันผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับไปรัฐที่เชื่อว่าจะได้รับอันตราย จนถึงอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี เมื่อมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าหากส่งตัวฮาคีมกลับไปเขาอาจถูกทรมานเหมือนที่เคยเผชิญมา

ไม่มีแผ่นดินสำหรับ ผู้ลี้ภัยไทย

ผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐไทยไม่ได้มีแค่ผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติ แต่ยังมีประชาชนไทยจำนวนมากที่หลบหนีออกนอกประเทศและกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากการยึดอำนาจของรัฐบาลทหารปี 2557 ที่มีรายงานถึงการคุกคามและดำเนินคดีผู้เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก

แม้ปัจจุบันไทยจะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว แต่รัฐบาลยังคงนำโดยคนกลุ่มเดียวกับที่ทำรัฐประหาร เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย ผลพวงที่เกิดขึ้นจึงยังดำเนินต่อไปทั้งกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองและผู้ลี้ภัยที่ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

5 ปีผ่านมา ผู้ลี้ภัยหลายคนปักหลักใช้ชีวิตในต่างประเทศและยังยืนยันถึงเสรีภาพการแสดงออกต่อประเด็นต่างๆ ทางสังคม เช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอดีตแกนนำนปช. ปัจจุบันเขาลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศสและตั้งสมาคมเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยไทย

จากการพบกันที่ปารีส จรัลยังคงแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจแม้ต้องหลบหนีจากประเทศบ้านเกิดและแยกจากครอบครัวมา 5 ปีแล้ว เขาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องที่เตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจทำให้ต้องติดคุกหรือต้องหนีไปต่างประเทศ

แม้เขาจะบอกว่าไม่รู้สึกทุกข์กับการอยู่ลำพังในต่างแดน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลี้ภัยต่างประเทศไม่ใช่เรื่องพึงปรารถนา สำหรับการต้องเผชิญความแตกต่างทางภาษา สังคม วัฒนธรรม การเลี้ยงชีพ และการรักษาคุณค่าในตัวเอง

“อยู่ที่นี่ผมพยายามคบเพื่อนคนฝรั่งเศส ไปดูหนัง ดูละคร ร่วมกิจกรรมต่างๆ แต่ละวันเราจะผ่านไปยังไงอย่างมีความสุขไม่ต้องมาทุกข์ร้อน ถ้าตื่นมารู้สึกทุกข์ หดหู่ เหงา เศร้าหมอง ก็ทำอะไรไม่ได้

“หลักคิดในการใช้ชีวิตแต่ละวันสำคัญมากสำหรับคนที่ต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ตอนอยู่ไทยเรามีกิจกรรมจนเวลามันผ่านไปเร็ว แต่อยู่ต่างประเทศเหมือนคนอยู่ในคุก แต่ละวันยาวนานมาก การคบเพื่อนก็ยาก มีข้อจำกัดทางภาษา เหมือนดูหนังฝรั่งเศสรู้เรื่องแต่เราไม่หัวเราะไม่ร้องไห้กับเขา ยังไม่พูดถึงเรื่องอาหารการกิน การทำมาหากิน และเรื่องรายได้” จรัลเล่าด้วยเสียงเรียบนิ่ง

จรัล ดิษฐาอภิชัย (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)
จรัล ดิษฐาอภิชัย (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)

สิ่งที่จรัลเผชิญไม่ต่างกันนักกับสถานการณ์ของ ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ นักกิจกรรมที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ปารีสเช่นกัน แต่ความเยาว์วัยของอั้มน่าจะมีส่วนช่วยให้เธอสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันอั้มเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยปารีส 7 และกำลังวางแผนเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดิม พร้อมกับทำงานรณรงค์และให้ความช่วยเหลือผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศในยุโรป ในตำแหน่งประธานร่วมองค์กร ACCEPTESS-T

อั้มให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่เธอมาถึงฝรั่งเศสก็ได้องค์กรนี้ให้ความช่วยเหลือ ทั้งให้คำปรึกษาเรื่องการเข้าถึงฮอร์โมนและช่วยเหลือในการทำเอกสารขอลี้ภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนข้ามเพศที่ต้องการคนที่เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนจากเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอคติ

“ผู้ลี้ภัยที่เป็น LGBT เป็นคนที่เปราะบางมากที่สุด เขาถูกทำให้เป็นคนชายขอบในกลุ่มคนชายขอบอีกทีหนึ่ง บางคนหนีจากประเทศบ้านเกิดแล้วยังมาโดนทำร้ายในค่ายผู้ลี้ภัยอีก”

เธอยอมรับว่ายุโรปไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ ยุโรปยังมีปัญหามากมาย แต่ก็มีการปกป้องสิทธิ LGBT และสิทธิผู้ลี้ภัยมากกว่าประเทศไทยที่มีการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศและอาจโดนกดขี่ข่มเหงได้ทุกรูปแบบ

อั้มยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะได้กลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด สิ่งเดียวที่เธอเป็นห่วงตั้งแต่เดินทางออกจากประเทศไทยคือครอบครัวที่ยังคงถูกเจ้าหน้าคุกคาม เพื่อกดดันไม่ให้เธอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทยบนเฟซบุ๊ค อั้มจึงตัดการติดต่อกับครอบครัว เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบไปด้วย

“ช่วงหนึ่งเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่ครอบครัวที่บ้านหนักมาก ขู่ว่าจะดำเนินคดี พ่อต้องอัดวิดีโอร้องไห้ ขอให้หยุดเถอะ พ่อรักหนูนะ อั้มเลยต้องตัดการสื่อสารกับครอบครัวไป กลัวครอบครัวจะซวย สองปีมานี้พี่สาวก็ยังเขียนมาหาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ตอบเขา เพราะรู้ว่าถ้าตอบครอบครัวก็คงลำบาก เศร้านะ แต่เพื่อความปลอดภัยของเขา” เป็นประโยคเดียวจากบทสนทนาหลายชั่วโมงที่เธอพูดด้วยนัยน์ตาเศร้า

อั้ม เนโกะ (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)
อั้ม เนโกะ (ภาพโดย วจนา วรรลยางกูร)

ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยไทยไม่ใช่เพียงแค่ต้องพลัดจากบ้านเกิด แต่มีผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหายและถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับ สุรชัย แซ่ด่าน, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งหายตัวไปพร้อมกันจากบ้านในประเทศลาวช่วงปลายปี 2561 ก่อนจะพบศพสองรายหลังในแม่น้ำโขงในสภาพถูกทารุณกรรม

เหตุดังกล่าวทำให้ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาสุรชัยออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมและให้ทางการไทยตรวจสอบการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหายในกรณีของสามี

“เราแค่วิงวอนขอให้ได้ศพคืนมา” ปราณีให้สัมภาษณ์ 101 ในช่วงหลังเกิดเหตุ

“เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขนาดนี้ เพราะไม่มีอะไรจะแค้นเคืองกัน แค่ความเห็นต่าง ไม่ใช่ฆาตกร เป็นความคิดต่างที่ประเทศเจริญแล้วหรือพัฒนาแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่น่าทำกันรุนแรงถึงขนาดเอาชีวิตกันในลักษณะที่เหี้ยมโหด”

หลังความตายอย่างโหดเหี้ยมของผู้ลี้ภัยไทยในลาว ยังมีผู้ลี้ภัยไทยอีก 3 คนที่หายตัวไปช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ระหว่างการเดินทางในต่างประเทศเพื่อหนีภัยคุกคามในลาว โดยไม่มีความคืบหน้าถึงการค้นหาความจริง

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ (ภาพโดย ธิติ มีแต้ม)
ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ (ภาพโดย ธิติ มีแต้ม)

การเป็นผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสถานะ ‘คนไร้แผ่นดิน’ นอกจากต้องเผชิญการคุกคามจากประเทศต้นทางแล้วยังต้องเผชิญการเข้าไม่ถึงสิทธิพื้นฐาน เมื่อต้องหลบหนีไปยังประเทศที่ไม่มีการรับรองสถานะทางกฎหมาย หากถูกละเมิดสิทธิก็ยากจะเรียกร้องความเป็นธรรม หรือต่อให้ถูกคุกคามถึงชีวิตก็เป็นเพียงคนไม่มีตัวตนที่รัฐไม่ใส่ใจ

ประโยคที่พูดกันว่า “ประเทศไม่ใช่ของเรา” ไม่ใช่การกล่าวเกินจริง หากเราอยู่ในประเทศที่ไม่ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้คนที่อยู่ในดินแดนนี้ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองไทยหรือผู้คนประเทศอื่นที่หนีภัยต่างๆ มาพึ่งประเทศไทย

วันนี้เมื่อมองไปที่ ‘ความเป็นชาติ’ ในนั้นไม่มีผู้คน เป็นเพียงแนวคิดที่ถูกควบคุมโดยรัฐเพื่อรักษาความมั่นคงทางอำนาจ สิ่งที่รัฐมุ่งหมายจะปกป้องจึงย่อมไม่ใช่ผู้คนที่อยู่ในดินแดนนี้

หรือหากมองไปที่ความเป็นชาติแล้วเห็นใบหน้าใด ใบหน้านั้นย่อมไม่ใช่ประชาชน


[1] ดูข้อมูลตัวเลขผู้พลัดถิ่นทั่วโลกที่ UNHCR

[2] ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน 93,226 คน อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งใน 4 จังหวัด (ข้อมูลจาก UNHCR เมื่อสิงหาคม 2562)

[3] ข้อมูล UNHCR ปี 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในเมืองจำนวน 4779 คน จากกว่า 40 ประเทศ ส่วนใหญ่อาศัยในกรุงเทพฯ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save