fbpx
ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT

ชีวิตใหม่ของคนนอกขนบ ‘อั้ม เนโกะ’ และเส้นทางต่อสู้เพื่อสิทธิ LGBT

วจนา วรรลยางกูร เรื่องและภาพ

 

เรานัดเจอกันในย่านที่เต็มไปด้วยผู้อพยพหลากหลายเชื้อชาติในปารีส ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ อั้ม เนโกะ เดินนำไปยังออฟฟิศของเธอซึ่งซ่อนตัวอยู่ในตึกแถว ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและเพศสภาพเดินเข้าออกสำนักงาน มีทั้งผู้มาติดต่อและคนทำงาน เธอร้องทัก “เหมียวๆ” กับเพื่อนร่วมงานที่ร้อง “เหมียว” ตอบเธอ

ปัจจุบัน อั้ม เนโกะ รับตำแหน่งเป็นประธานร่วมองค์กร ACCEPTESS-T ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยปารีส 7 และกำลังวางแผนเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดิม โดยตั้งใจศึกษาเรื่องผู้อพยพที่มีความหลากหลายทางเพศในฝรั่งเศส

หลังการรัฐประหาร 2557 อั้มเดินทางออกจากประเทศไปตั้งหลักที่ประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนเดินทางมาถึงประเทศฝรั่งเศสในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง

การลี้ภัย 4 ปีในฝรั่งเศสทำให้อั้มได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอปรับตัวเข้ากับชีวิตที่นี่ได้ดี เรียนรู้ภาษาได้ไว เป็นที่รักของคนรอบตัว ได้ทำงานรณรงค์ด้านความหลากหลายทางเพศ และร่วมประท้วงสถานการณ์การเมืองไทยเป็นระยะ

สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยอาจมองภาพลักษณ์ของอั้มว่ามีความรุนแรง เกรี้ยวกราด พูดจาไม่เข้าหูคนทั่วไป อันมาจากการแสดงออกทางการเมืองขณะอยู่ในไทย รวมถึงการใช้เฟซบุ๊กของเธอ ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในชีวิตจริงที่ปราศจากท่าทีแข็งกระด้างและมีความเป็นมิตรสูง

ชีวิตของอั้มเต็มไปด้วยความผาดโผนและผ่านเรื่องราวหนักๆ มามากกว่าคนในวัยเดียวกัน ทั้งการถูกล้อเลียนเรื่องเพศสภาพทางอินเทอร์เน็ต ถูกข่มขู่อาฆาต ถูกพักการเรียน โดนคดีจากคณะรัฐประหาร ต้องลี้ภัย ครอบครัวถูกคุกคาม กระทั่งไปอยู่แดนศิวิไลซ์แล้วก็ยังเจอคนไทยตามคุกคามถึงตัว แต่เธอก็แสดงออกเสมอว่าตัวเองแข็งแรงดีทั้งทางกายและใจ

สิ่งที่อั้มมองมุ่งไปในวันนี้คือหนทางของการเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศทั้งในฝรั่งเศสและยุโรป ซึ่งเธอยังมีความหวังที่จะกลับบ้านอีกครั้ง หากสักวันหนึ่งประเทศไทยเปิดกว้างรับความเห็นต่างได้ ไม่ว่าจะต้องรอคอยยาวนานแค่ไหนก็ตาม

 

 

การเรียนปริญญาตรีที่ฝรั่งเศสเป็นอย่างไรบ้าง

มหาวิทยาลัยปารีส 7 ที่เรียนมีประวัติศาสตร์ในการเรียนการสอนด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามานาน มีศูนย์วิจัยด้านนี้โดยเฉพาะ ป.ตรีที่เรียนเป็นหลักสูตรสังคมวิทยา 3 ปี ซึ่งจะต้องเรียนด้านมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยาบางวิชา 3 ปีนี้เรียนค่อนข้างหนัก ต้องลงพื้นที่ เขียนรายงาน เช่น การศึกษาเรื่องคนอพยพในพื้นที่หนึ่ง ก็ต้องลงพื้นที่สำรวจว่าคนในพื้นที่ทำอะไร วิถีชีวิตเป็นอย่างไร อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขารวมกลุ่มกันที่นั่น แล้วถอดคำอธิบายออกมา

แม้จะไม่ได้เรียนสังคมวิทยาที่ไทยมา แต่หลักสูตร 3 ปีของฝรั่งเศสจะอัดแน่นกว่า เลือกวิชาเรียนไม่ได้ เรียนเทอมละ 10 วิชา และการเรียนการสอนของฝรั่งเศสจะมีโครงสร้างของตัวเอง เลยต้องเรียนวิธีการเขียนรายงาน และการทำพรีเซนเทชั่นแบบฝรั่งเศสที่มีโครงสร้างแบบแผนในการเขียนอย่างชัดเจน

 

ภาษาเป็นอุปสรรคไหมตอนเริ่มต้นเรียนที่นี่

ภาษาเป็นอุปสรรคมาก อั้มมาอยู่ได้ 4 ปีแล้ว ปีแรกเรียนภาษาอย่างเดียวแล้วจึงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปีแรกที่เรียนได้เกรดไม่ค่อยดี เพราะต้องปรับตัวเรื่องการเรียนการสอนและภาษา แต่พอปี 2-3 ก็ดีขึ้น เรียนผ่านมาได้ทุกตัว

ความแตกต่างของการเรียนที่ฝรั่งเศสคือไม่ค่อยมีกิจกรรมนักศึกษาเหมือนเมืองไทย เพราะทุกคนไม่ได้มามหาวิทยาลัยเพื่อหาเพื่อน จะมีชมรมบ้างแต่ไม่ใหญ่โต เป็นลักษณะชวนคนไปปาร์ตี้กินเหล้ามากกว่า ไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง ดังนั้นโซตัสจึงไม่จำเป็นเลย และไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่ม คนมาเรียนแล้วก็กลับบ้าน ไม่จำเป็นต้องใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่หาเพื่อน เรียนให้จบสำคัญกว่า หลายคนมีเพื่อนมากแต่เรียนไม่จบ เพราะฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้คนเข้าเรียนป.ตรีเยอะ แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะจบ เมืองไทยสอบติดป.ตรีแล้วอาจจะจบ 90% แต่ที่นี่จบอย่างมาก 50-60% และไม่ค่อยจบกันใน 3 ปี เพราะหลักสูตรแน่นและยาก หลายคนเรียนไม่ไหว สมมติปีแรกมีเพื่อนอยู่ 300 คน ปี 2 เหลืออยู่ 150 คน

 

กำลังเตรียมเรียนต่อปริญญาโท เตรียมหัวข้อสำหรับการวิจัยหรือยัง

ตั้งใจจะทำเรื่องผู้อพยพที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งต้องไปลงพื้นที่ศึกษาในเมืองใหญ่ๆ ของฝรั่งเศส เช่น ปารีส ลียง มาร์กเซย แม้ว่าเราจะทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่จะต้องทำให้เป็นงานวิชาการมากขึ้น ลงพื้นที่สัมภาษณ์ เก็บข้อมูล แล้วใช้ทฤษฎีต่างๆ ในการวิเคราะห์วิจัย ดีที่เราพอจะมีเครือข่ายอยู่แล้วแต่ก็ต้องใช้เวลาในการเข้าหาคน เพราะบางทีคนอพยพอาจจะมีความเขินอาย

 

อั้มเรียนป.ตรีที่ไทยแล้วต้องมาเริ่มต้นเรียนใหม่ที่ฝรั่งเศสรวมหลายปี ยังสนุกกับการเรียนอยู่ไหม

สนุกตรงที่ว่าการเรียนป.โทจะกลายเป็นโหมดการวิจัย ไม่ใช่เข้าคณะฟังเลคเชอร์อย่างเดียว แต่ต้องลงพื้นที่วิจัยในแบบของเราเอง

ถามว่าเบื่อไหม ก็ไม่เบื่อ มีอะไรใหม่ๆ ให้ค้นคว้า การเรียนการสอนก็เป็นลักษณะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้มากกว่า เราเรียนรู้จากเขา คนสอนก็เรียนรู้จากเรา เพราะอาจมีข้อมูลที่คนสอนไม่มีโอกาสเข้าถึง เขาก็สอนกรอบวิจัยเรื่อง methodology ก็ช่วยแลกเปลี่ยนกัน

 

ตอนนี้อยู่ในตำแหน่งประธานร่วมขององค์กร ACCEPTESS-T ต้องทำอะไรบ้าง

อั้มได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานร่วมองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนข้ามเพศ และส่วนมากเป็นผู้อพยพทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร รวมถึงคนที่มายื่นสถานะผู้ลี้ภัยโดยหนีมาจากประเทศที่การเป็นเกย์หรือคนข้ามเพศผิดกฎหมาย เช่น อิหร่าน

องค์กรเราจะให้ความช่วยเหลือ เช่น การตรวจเลือด ให้คำปรึกษาด้านสุขภาวะทางเพศและสุขภาวะทั่วไป การเข้าถึงฮอร์โมน ให้คำแนะนำโดยนักจิตวิทยา มีคอร์สสอนภาษาฝรั่งเศส คอร์สเต้นรำ และมีกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือเรามีสระว่ายน้ำสำหรับคนข้ามเพศ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจเพราะในฝรั่งเศสหรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีความการเกลียดกลัวคนข้ามเพศอยู่ เวลาไปสระว่ายน้ำแล้วมีแผลเป็นจากการผ่าตัดหรือมีเพศสภาพไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม อาจจะถูกตัดสิน ถูกมอง หรือรังแกได้ เราเลยมีสระว่ายน้ำสำหรับคนข้ามเพศและเพื่อนๆ ที่สนับสนุนคนข้ามเพศให้สามารถว่ายน้ำด้วยกันโดยที่ไม่มีอคติได้

องค์กรเราตั้งโดยกลุ่มคนข้ามเพศที่เป็นผู้อพยพ จึงทำงานกับคนกลุ่มนี้เป็นหลัก โดยตอนนี้เราทำงานร่วมกับ OFPRA (French office for the protection of refugees and stateless persons) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานกับผู้ลี้ภัย ด้วยความที่เราเชี่ยวชาญด้านผู้อพยพที่เป็นคนข้ามเพศ รู้ปัญหาว่าคนข้ามเพศต้องการอะไร

 

กลุ่ม LGBT ในยุโรปกำลังให้ความสนใจในการผลักดันประเด็นอะไร

ตอนนี้ยุโรปกำลังผลักดันเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะคนที่อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จะมีผู้ลี้ภัยที่เป็น LGBT ซึ่งมีปัจจัยที่ผู้ลี้ภัยทั่วไปไม่เจอ ผู้ลี้ภัยที่เป็น heterosexual หรือ cisgender จะไม่เจอการเลือกปฏิบัติในค่ายผู้ลี้ภัย แม้ว่าจะเจอการถูกเลือกปฏิบัติในฐานะที่เป็นคนอพยพ แต่พอเป็น LGBT จะมีคนที่ทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยไม่เข้าใจว่าเราเป็นคนข้ามเพศ เขาจะปฏิบัติกับเราตามเอกสาร อย่างประเทศไทยไม่มีกฎหมายรับรองการเปลี่ยนคำนำหน้าหรือการเปลี่ยนสถานะเพศ คนในค่ายผู้ลี้ภัยก็จะปฏิบัติกับเราเป็นผู้ชายตามเอกสาร บางทีต่อให้มีการเปลี่ยนในเอกสารมาแล้ว แต่ถ้าคนทำงานมีอคติ แม้จะรู้ว่าเราเป็นผู้หญิงแต่จะปฏิบัติกับเราอย่างไม่ถูกต้องโดยการบอกว่าเราเป็นผู้ชาย เขียนว่าเราเป็นผู้ชาย

LGBT ที่เข้าค่ายผู้ลี้ภัยจะประสบปัญหาการเลือกปฏิบัติ โดนตามล่ามาจากประเทศบ้านเกิดแล้ว มาค่ายผู้ลี้ภัยนึกว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างดีก็ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นคนข้ามเพศ เพราะเป็นเกย์ เกย์บางคนไม่แสดงตัวออกมาก็ยังโอเค แต่เกย์ที่แสดงออกว่าชอบผู้ชายจะถูกคนที่อยู่ในค่ายมองว่า “โอ๊ย เป็นเกย์เหรอ” คนที่มาจากวัฒนธรรมที่มี homophobic หรือ transphobic ก็อาจจะทำร้ายหรือตี ระหว่างอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย

 

ผู้ลี้ภัยก็มีการเหยียดกันเอง

ใช่ หนีจากประเทศบ้านเกิดแล้วก็มาโดนตีในค่ายผู้ลี้ภัย องค์กร LGBT ต่างๆ จึงคำนึงเรื่องการต้อนรับผู้ลี้ภัยที่เป็น LGBT ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นคนที่เปราะบางมากที่สุด เขาถูกทำให้เป็นคนชายขอบในกลุ่มคนชายขอบอีกทีหนึ่ง เป็นประเด็นที่องค์กร LGBT ในยุโรปค่อนข้างพูดกันมากขึ้นในปัจจุบัน

 

มองว่าสิทธิ LGBT ในยุโรปเปิดกว้างกว่าในไทยแค่ไหน

เปิดกว้างกว่าในไทยหลายเรื่อง ตัวบทกฎหมายเขาคุ้มครองเรามากกว่า มีกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติในฐานของเพศสภาพหรือเพศวิถี มีกฎหมายคุ้มครองการคุกคามในที่ทำงาน ในไทยแม้จะมีพ.ร.บ.ต่อต้านการเลือกปฏิบัติก็ใช้จริงไม่ได้ เป็นกฎหมายปลอมๆ ที่รัฐบาลทหารผลักเข้ามา แต่ในทางปฏิบัติทำอะไรไม่ได้เลย ในยุโรปตัวบทกฎหมายและการปฏิบัติเป็นไปควบคู่กัน แม้ว่าในสังคมจะยังมีคนเหยียด LGBT แต่สุดท้ายจะมีกลุ่มต่างๆ ให้การช่วยเหลือมากขึ้น อัตราการโดนตี โดนฆ่า อาจจะไม่เหมือนไทย เพราะพื้นฐานความคิดของยุโรปกับไทยต่างกัน สังคมที่นี่มีพื้นฐานจากทัศนคติแบบคริสเตียนเป็นหลักมาตั้งแต่อดีต จึงมีอคติต่อ LGBT มาก ในไทยก็มีแต่เป็นคนละบริบทกัน

ในยุโรปค่อนข้างมีการปกป้องคุ้มครอง LGBT มากกว่า โดยเฉพาะคนที่มีเอกสารถูกต้อง แต่คนที่ลำบากหน่อยคือ LGBT ที่ไม่ได้รับสถานะลี้ภัยกับคนที่หนีเข้าเมืองมาแล้วยังไม่ได้รับเอกสาร คนกลุ่มนี้จะโดนเลือกปฏิบัติมากหน่อยแต่ก็ยังดีกว่าเมืองไทยเยอะ เพราะเมืองไทยไม่มีสิทธิอะไรเลย ถ้าไม่มีเอกสารเขาก็ปู้ยี่ปู้ยำ ส่งกลับ โดนกดขี่ ข่มเหง ทุกรูปแบบ ในยุโรปมีหลายกลุ่มให้ความช่วยเหลือ องค์กรที่อั้มทำงานอยู่ก็ช่วยเหลือผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ให้คำแนะนำ พาไปสถานีตำรวจ พาไปโรงพยาบาล เข้าคอร์สเรียนภาษา ยุโรปไม่ใช่ที่ที่เพอร์เฟกต์ มีปัญหาอยู่ แต่ก็มีการเสนอความช่วยเหลือมากกว่าเมืองไทย

 

มีการเหยียดและการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น แต่มีกฎหมายที่บังคับใช้จริงให้พึ่งพาได้?

ถูกต้องค่ะ แล้วองค์กรทำงานทางสังคมเข้มแข็งกว่าในเมืองไทย ถ้ามีปัญหาอะไรเรารู้ว่าต้องไปหาใคร แต่ถ้าเป็นในเมืองไทยนี่งง ไปหาแล้วก็งง เหมือนรู้ว่ามีองค์กรนี้อยู่แต่พอไปหาปุ๊บก็ไม่ทำอะไรเลย ใช้การไม่ได้จริง ที่นี่ไปหาองค์กรต่างๆ แล้วเขาให้ความช่วยเหลือจริง เข้าถึงสิทธิจริง ทำให้เห็นความแตกต่างว่าเมืองไทยเป็นเอ็นจีโอที่เน้นรับงบแต่ไม่เน้นช่วยเหลือ

 

 

มองภาพรวมขบวนการ LGBT ในยุโรปว่าเข้มแข็งแค่ไหน มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร

จุดแข็งคือในยุโรปมีการรวมตัวเข้มแข็ง มี solidarity มาก องค์กรไหนมีปัญหาก็จะมีองค์กรพันธมิตรมาช่วยเหลือ เช่น องค์กร LGBT ที่ทำงานเพื่อผู้อพยพถูกรีพอร์ตก็จะมีองค์กรด้านสุขภาพ องค์กรที่สู้ต่อต้านโรคเอดส์ หรือองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมตัวประท้วง ทำกิจกรรมช่วยเหลือองค์กรดังกล่าว มีการรวมตัวกันเข้มแข็งติดต่อประสานงานได้เป็นเรื่องเป็นราวจริง

อย่าง ACCEPTESS-T แชร์ออฟฟิศกับองค์กร ARDHIS ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือ LGBTIQ โดยเฉพาะ เราช่วยเหลือกันระหว่างองค์กรและมีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับทรานส์เจนเดอร์และผู้ลี้ภัยเยอะ มีงบสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่องค์กรในไทยส่วนใหญ่ต้องรับงบจากต่างชาติ รัฐบาลไทยไม่เคยเห็นหัวองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน

ส่วนจุดอ่อนอาจมีแค่ว่า หลายองค์กรบริหารโดยคนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรง เช่นอาจเป็น LGBT ที่เป็นอภิสิทธิ์ชนในระดับหนึ่ง เป็นคนเรียนหนังสือ เป็นคนผิวขาวที่อยู่สบายในระดับหนึ่ง หรือองค์กรทำงานเพื่อผู้อพยพแต่ไม่มีคนทำงานที่เป็นผู้อพยพ มีแต่คนฝรั่งเศสทำงานในองค์กร ขณะที่องค์กรเราจัดตั้งและบริหารงานโดยคนที่เป็น migrant transgender เพื่อคนที่เป็น migrant transgender การบริหารงานโดยคนที่อยู่ในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจะรู้ถึงปัญหามากกว่าการเอาใครที่ไหนก็ไม่รู้มา ซึ่งจะส่งผลถึงการวางนโยบาย เพราะคนที่ไม่ใช่ผู้อพยพบางครั้งอาจไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ว่าคนในศูนย์ลี้ภัยเขาต้องการอะไร ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่เข้าใจเลย แต่ถ้าตัวแทนองค์กรเป็นคนจากกลุ่มที่ประสบปัญหาโดยตรงจะเข้าถึงปัญหารวดเร็ว ง่าย และละเอียดอ่อนต่อบางประเด็นมากกว่า

 

เกิดภาพที่ทำให้คนรู้สึกว่าการออกมาเรียกร้องสิทธิ LGBT ดูเป็นเรื่องของชนชั้นกลางหรือกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมระดับหนึ่ง?

ใช่ องค์กรพวกเราเลยออกมาประณามการทำงานที่คนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นคนชนชั้นกลาง ผิวขาว องค์กรเราพยายามจัดตั้งองค์กรและบริหารโดย LGBT ที่เป็นชนชั้นล่าง ยากจน เป็นผู้อพยพ และไม่ได้มีคนขาวเป็นหลัก ตอนนี้ในยุโรปเริ่มมีการดีเบตเรื่องนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนในไทยยังค่อนข้างมีปัญหา เช่น คนทำงานในองค์กรผู้ลี้ภัยแต่ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย ทำให้เห็นชัดเจนว่าคนที่มีอภิสิทธิ์มักจะเข้าถึงโอกาสมากกว่าคนอื่น เราจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัย LGBT ได้มีพื้นที่ในการพูดคุยและนำเสนอความคิดเห็นมากขึ้น

 

คนทำงานเรียกร้องสิทธิ LGBT ในไทยจำนวนมากมองสิทธิเรื่องเพศแบ่งแยกจากการเมือง จนเกิดการสนับสนุนหรือเรียกร้องให้ใช้อำนาจเผด็จการในประเด็นที่ตัวเองผลักดันอยู่ เรื่องแบบนี้มีในยุโรปไหม

ในยุโรปค่อนข้างก้าวข้ามไปมาก สิทธิ LGBT ต้องมากับประชาธิปไตย แต่ก็จะมี LGBT ผิวขาว ที่เป็นชนชั้นกลางระดับสูงโอเคกับฝ่ายขวาหรือขวาจัด คนกลุ่มนี้จะโดนประณามเยอะ ไม่สามารถปีกกล้าขาแข็งออกมาประกาศง่ายๆ เหมือนเมืองไทย กลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปโดยปริยาย เพราะกลุ่ม LGBT ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเอาด้วยกับประเด็นผู้ลี้ภัยและการอพยพ ส่วนมากก็จะสนับสนุนนโยบายฝ่ายซ้าย ไม่เหมือนเมืองไทยที่เอาเผด็จการมาเลย ในยุโรปค่อนข้างชัดเจนว่าต้องเอาประชาธิปไตยไว้ก่อน และสิทธิมนุษยชนมาควบคู่กับสิทธิ LGBT

 

คนทำงานด้าน LGBT ก็ทำงานรวมกับนักสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ?

ตลอดเวลาค่ะ เราเองก็ต้องประสานงานกับองค์กรที่ทำงานด้านผู้อพยพทั่วไปที่ไม่ได้ทำเรื่อง LGBT องค์กรต่างๆ จะช่วยกันปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เราจะต่อสู้ร่วมกัน ใครถูกคุกคามก็จะมีคนติดต่อมาให้ช่วยกันเซ็นชื่อเรียกร้อง

 

สถานการณ์ปัจจุบันที่กระแสฝ่ายขวาสูงขึ้น กระทบคนทำงานสิทธิ LGBT แค่ไหน

กระทบมากค่ะ โดยเฉพาะ LGBT ที่เป็นผู้อพยพ ฝ่ายขวาจัดเขาไม่เอาสิทธิ LGBT และไม่เอาสิทธิผู้อพยพด้วย เราจึงโดนสองต่อ ส่วน LGBT คนฝรั่งเศสผิวขาวก็จะกระทบสิทธิ LGBT ขั้นพื้นฐาน เช่นพวกขวาจัดต้องการยกเลิกสิทธิแต่งงานหรือสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้า แต่สุดท้ายคนพวกนี้ก็ยังมีสิทธิเข้าโรงพยาบาล สิทธิเรียนหนังสือ สิทธิในการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นผู้อพยพอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล การถูกส่งกลับ สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา

ส่วนการคุกคามก็มีมากขึ้น อย่างเช่นใน UK หลังจากมีเรื่องเบร็กซิทก็มีการคุกคามทรานส์เจนเดอร์มากขึ้นถึง 80% ซึ่งส่วนมากเป็นคนขวาจัดที่มาคุกคาม เห็นได้ชัดว่าการเพิ่มขึ้นของกลุ่มขวาจัดส่งผลต่อคนที่เป็น LGBT มากๆ ยิ่งเป็นผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย LGBT ก็ยิ่งโดนหนัก

 

 

ในฐานะทรานส์เจนเดอร์ อั้มได้รับการยอมรับแค่ไหนในฝรั่งเศส

ได้รับการยอมรับมาก ในเอกสารอั้มก็เป็นผู้หญิง อยู่เมืองไทยทั้งชีวิตก็ไม่มีทางได้ ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่มีทาง เป็นประเทศที่ไม่เคยจะมองสิทธิของเรา อยู่นี่เราไปไหนก็มีแต่คนชื่นชอบ มีแต่คนรัก ไม่เหมือนเมืองไทยที่พอเห็นเราเป็นกะเทยปุ๊บผู้ชายก็เมินหน้าหนี ทำงานก็ลำบาก จำกัดอยู่แค่ในบางบริษัทเท่านั้น ส่วนความคิดเห็นของผู้คนที่นี่ แม้ว่าไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะโอเคกับเรา แต่ส่วนมากไนซ์กว่าผู้ชายไทยที่มาโชว์ว่า “เฮ้ย ไม่เอากะเทย” มันดูล้าหลังไปมากทุกเรื่องจริงๆ

อยู่เมืองไทยสิทธิอะไรก็ไม่มี แถมสังคมก็ยังดูถูกเหยียดเรา อยากมีตัวตนก็ต้องทำตัวให้ดูตลก เขียนอะไรแบบเพจดังๆ ทำตัวแบบเพจน้อง เรียกตีน เรียกเสียงฮา

 

เป็นกะเทยต้องตลก

ต้องตลก ต้องเข้าไปอยู่ใน norm ของสังคม ไม่ก็เป็นกะเทยสวยๆ ไปเลย เป็นเน็ตไอดอล นมอย่างนี้ หุ่นอย่างนี้ unrealistic มันไม่ใช่ความเป็นจริง กะเทยที่นี่ทุกคนก็สามารถเป็นทรานส์ได้โดยที่ไม่ต้องสวยหรือตลก ทุกคนสวยในแบบของตัวเอง สวยในแบบที่เราเป็น ไม่จำเป็นจะต้องสวยว้าวหรือเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

 

อยู่นี่เคยโดนเหยียดหรือแสดงท่าทีไม่ดีไหม

ก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่คิดว่าเมืองไทยหนักกว่า ผู้ชายไทยทัศนคติแย่ ไม่เคารพกันเลย บางทีเหมือนมองกันเป็นหมูเป็นหมา

 

อั้มจะถูกล้อในอินเทอร์เน็ตบ่อย ถึงขนาดเป็นมีม รู้สึกแย่ไหม

ใช่ ถ้ามาล้อที่นี่นะโดน เราโดนบูลลี่หลายทางไม่หยุดไม่หย่อน โพสต์อะไรไปเขาก็จะแชร์รูปหาว่าเราเป็นกะเทยอ้วน หน้าสิว แต่งหน้าไม่สวย กินเยอะ สารพัด ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าเราพูดอะไร เป็นผู้หญิงในขบวนการประชาธิปไตยว่าลำบากแล้ว เป็นกะเทยยิ่งโดนตีกรอบหนักเข้าไปอีก

คนอื่นเจอแบบนี้อาจจะรู้สึกแย่ หลายคนในยุโรป อเมริกา เป็นโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตายกันเพราะโดนบูลลี่ในโรงเรียน ในพื้นที่สาธารณะ ในเฟซบุ๊ก อั้มไม่ชอบแต่ก็เข้มแข็งพอที่จะไม่สนใจมัน มองเห็นว่ามันเป็นปัญหาแต่ปล่อยไป รู้สึกเบื่อเพราะมันสะท้อนว่าคนไทยไม่ว่าจะฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายไหนก็มีทัศนคติเหยียดเพศ แล้วคนพวกนี้ไม่ตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองกำลังทำ มองว่าเหยียดกะเทยเป็นเรื่องเท่ เก๋ เอากะเทยมาเป็นตัวตลก มันก็คือการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง

คนที่เป็น heterosexual ทำอะไรก็จะไม่ถูกพูดถึงเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี แต่ไม่ว่ากะเทยจะทำอะไรก็ถูกดึงมาเป็นเรื่องเพศหมดเลย ส่วนมากจะเป็นผู้ชายที่ผลิตซ้ำอะไรเหล่านี้ คนพวกนี้อยู่ในสถานะที่มีอำนาจมากกว่า เมื่ออยู่ในสังคมที่ให้อำนาจทุกอย่างกับผู้ชาย เขาผลิตซ้ำการบูลลี่ transphobic homophobic โดยไม่ตระหนักถึงโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่ยุติธรรม แล้วคนพวกนี้บางส่วนเอาประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยที่มีแต่ผู้ชายเป็นใหญ่

 

สิ่งเหล่านี้กระทบจิตใจไหมเวลาโดนหนักๆ

ก็เศร้าแต่ไม่มาก คนพวกนี้ทำให้ชีวิตเราล้มเหลวไม่ได้หรอก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะจิตใจเข้มแข็ง มันต้องเปลี่ยน เพราะบางคนอ้างกันนักว่าเอาประชาธิปไตย คนเท่ากัน 1 สิทธิ 1 เสียง แต่พอเป็นเรื่องเพศก็กลายเป็นประชาธิปไตยแบบชายเป็นใหญ่

ในขบวนการแอคทิวิสต์ก็มีจำนวนผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมาก ยังมีการรวมศูนย์อำนาจของการถกปัญหาการเมืองโดยผู้ชายเป็นหลัก นักวิชาการที่เป็นไอดอลส่วนมากก็เป็นผู้ชายกันทั้งนั้น การเมืองยังคงอยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย และไม่มีใครตระหนักเรื่องนี้ ถ้าปัญหานี้เกิดในฝ่ายที่ไม่เอาเรื่องความเท่าเทียมก็ไม่แปลก แต่นี่ไม่ใช่

แม้กระทั่งปัญหาทางชนชั้นก็ชัดเจน คนที่เป็นแกนนำหลักส่วนมากเป็นนักศึกษา ปัญญาชน ที่ได้รับการยอมรับจาก norm ทางสังคม ในขบวนการประชาธิปไตยยังมี hierarchy ชัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น หรือเรื่องเพศ

 

ไม่นานมานี้โดนคุกคามถึงตัว สร้างผลกระทบหรือต้องระวังตัวมากขึ้นไหม

ต้องระวังตัวมากขึ้น ไม่อยากให้มีผลกระทบร้ายแรงกับชีวิตในระยะยาว แต่ไม่ถึงขั้นกลัวจนไม่กล้าออกไปไหน ยังใช้ชีวิตปกติได้ ไม่ได้ dramatize มาก แค่ต้องระมัดระวังมากขึ้นกับคนที่ไม่รู้จักเพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

 

คิดยังไงที่ตัวเองตกเป็นเป้าของความเกลียดชังจำนวนมาก

เราเหมือนจุดรวมของสิ่งที่โครงสร้างสังคมพยายามกีดกันออกจากระบบ ไม่เป็นไปตามขนบ norm ต่างๆ นานา ทำให้โครงสร้างของระบบพยายามจะผลักเราออก กำจัดได้ยิ่งดี เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสังคมถึงจ้องเอาเราเป็นเหยื่อหลักของความเกลียดชัง เพราะเราไปแตะจุดที่โครงสร้างกดขี่ไว้

แล้วคนไทยอยู่ในสภาพสังคมที่เติบโตมาด้วยการใช้ความรุนแรง รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปเหมือนฆ่าปลาถวายพระ ความรุนแรงถูกใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาที่ดูเหมือนจะปกติในสังคมไทย จริงๆ มันไม่ปกติ จนมีการมองว่า ตายแล้ว คนที่ออกนอกกรอบมาอย่างนี้ต้องฆ่า ต้องตีมันอย่างเดียว ทำยังไงก็ได้ให้มันออกไปจากโลกนี้ เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่าง พอเราเห็นความแตกต่างจากระบบความเชื่อกระแสหลักก็ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา สุดท้ายก็เข้าสู่ระบบอำนาจนิยม คนที่มีสถานะ มีอำนาจในระบบก็พยายามเผยแพร่ความคิดกระแสหลักให้คนส่วนมากในสังคมสยบยอม แล้วคนเหล่านี้ก็กลายเป็นเหมือนสาวกนาซี คอยไล่กำจัดคนคิดต่าง เราก็ต้องหนีลี้ภัยมาไม่ต่างจากคนยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องหนีตายข้ามทวีป

สังคมไทยเหมือนยังติดอยู่ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ก้าวไปข้างหน้าสักที ถ้าคนไทยยังก้าวไม่ข้ามเรื่องการเคารพคนที่คิดเห็นแตกต่างและการเลิกใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ก็จะยังมีปัญหาอย่างนี้อยู่ คนกลุ่มน้อยอย่างอั้มก็ต้องตกเป็นเหยื่อต่อไป

 

 

อั้มแสดงออกในลักษณะที่ ‘ดูแรง’ ตั้งแต่ตอนอยู่ไทยเคยคิดไหมว่าต้องลดดีกรีลงเพื่อให้อยู่ต่อไปได้ 

(หัวเราะ) สังคมไทยป่วยหนักมาก พอเราทำอะไรที่ดูปกติในดีกรีฝรั่งเศส คนฝรั่งเศสมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในไทยถูกมองว่าเป็นดีกรีที่แรงมาก มันก็ลำบากที่จะอยู่รอด ไม่ได้หมายความว่าเราผิด แต่เราอาจจะตายก่อน อาจจะโดนจับ โดนกระทืบ พอรัฐประหารก็คิดว่าไม่ได้แล้ว ถ้าอั้มไปรายงานตัวแล้วอยู่ไทยต่อ ไม่มีทางรอด ไม่คุกก็โดนกระทืบ

ตอนอยู่ในไทยมีคนสนับสนุน ไปไหนกับเพื่อนก็ไม่กลัว ไม่รู้สึกว่าต้องลดดีกรี แม้ก่อนรัฐประหารจะโดนขู่ว่าจะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ตอนนั้นสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการฯ ก็สั่งลงโทษพักการเรียนแล้ว แต่คิดว่าถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย ถ้ามีอะไรขึ้นมาก็จะเป็นข่าว แต่พอเป็นรัฐบาลทหารมีแต่เสียกับเสีย

ตอนหลังรัฐประหาร กลัวจะโดนฆ่า โดนเก็บ โดนจับเข้าคุก ไม่มีใครอยากอยู่ในคุกไทยแบบอนาถ 10 ปี ยิ่งเราเป็นกะเทยไปอยู่ในคุกก็ลำบาก ฮอร์โมนก็ไม่มี แถมมีเรื่องความรุนแรงทางเพศ เรื่องสุขอนามัย จึงต้องวางแผนออกจากประเทศไทย

 

การมาเริ่มต้นที่นี่ช่วงแรกรู้สึกอย่างไร

งง ไม่เคยคิดว่าจะมาโผล่ฝรั่งเศส เพราะว่าตอนนั้นก็ยื่นขอประเทศอื่นด้วย แล้วอั้มเรียนภาษาเยอรมันมา เคยได้ทุนตอนม.4 ไปเรียนที่เยอรมันหนึ่งเดือน ติด 10 คน โอลิมปิกวิชาการภาษาเยอรมัน ปรากฏว่าสุดท้ายฝรั่งเศสตอบรับมา ก็งงๆ ต้องปรับตัวใหม่หมดเลย

แล้วอั้มก็ได้องค์กรนี้ (ACCEPTESS-T) ช่วยทำเอกสาร จนมีสิทธิเข้าถึงฮอร์โมนและสิ่งต่างๆ ลำบากมากจนกระทั่งเริ่มเรียนภาษา การไม่รู้ภาษาเป็นอุปสรรคหลักของการเข้าถึงสิทธิและข้อมูล อั้มพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนภาษาฝรั่งเศสก็ใช้ภาษาอังกฤษควบคู่ไปบ้าง จนสามารถผ่านอะไรมาด้วยตัวเองหมด รู้สึกดี แต่แรกๆ จะ lost ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรต่อ โชคดีที่มีชุมชนคนไทยที่น่ารักคอยช่วยเหลือ ได้รับกำลังใจจากคนกลุ่มนี้

 

มาถึงวันนี้มีอะไรที่ทำให้คิดถึงเมืองไทยไหม

(เงียบไปสักพัก) ถ้าไม่ใช่เพื่อนกับที่บ้านก็ไม่รู้ว่าจะคิดถึงอะไร (หัวเราะ)

เป็นห่วงครอบครัวเพราะตำรวจ ทหาร ก็ตามตลอด ช่วงหนึ่งไปข่มขู่ครอบครัวที่บ้านหนักมาก ขู่ว่าจะดำเนินคดี พ่อต้องอัดวิดีโอร้องไห้ ขอให้หยุดเถอะ พ่อรักหนูนะ อั้มเลยต้องตัดการสื่อสารกับครอบครัวไป กลัวครอบครัวจะซวย สองปีมานี้พี่สาวก็ยังเขียนมาหาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้ตอบเขา เพราะรู้ว่าถ้าตอบครอบครัวก็คงลำบาก เศร้านะ แต่เพื่อความปลอดภัยของเขา

 

ในเฟซบุ๊กอั้มจะดูเกรี้ยวกราดมาก มีเส้นอะไรไหมที่เราขีดไว้ว่าจะไม่ทำ

ยังทำหมด คนไทยแยกไม่ออกระหว่างคำหยาบกับเฮทสปีช การด่าคนหนึ่งว่าเหี้ยหรือเลวเป็นการใช้คำหยาบบรรยายว่าคนคนนี้มีคุณลักษณะยังไง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่คำหยาบทุกคำที่เป็นเฮทสปีช และไม่ใช่เฮทสปีชทุกคำจะเป็นคำหยาบ

เฮทสปีชเป็นสิ่งที่อั้มต่อต้านเพราะมีไอเดียของการ racist เหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เหยียดสีผิว เหยียดความพิการ พอคนแยกไม่ออกระหว่างเฮทสปีชกับคำหยาบทั่วไป ก็ผสมปนเปหาว่าอั้มใช้เฮทสปีช ซึ่งอั้มเห็นด้วยกับการใช้คำหยาบด่าเผด็จการ แต่ต้องไม่ใช่คำหยาบที่ใช้ในการเหยียดเพศ เช่น หน้าตัวเมีย ใจตุ๊ด

พอคนไทยไม่เก็ทตรงนี้ ก็คิดว่าอีนี่ด่าทุกอย่าง เราลิมิตว่าจะไม่ใช้ข้ออ้างทางกายภาพหรืออัตลักษณ์ส่วนบุคคลในการโจมตี เช่น เลวเพราะเป็นคนลาว เลวเพราะเป็นคนไทย เกรี้ยวกราดเพราะเป็นกะเทย อันนี้คือสิ่งที่อั้มดีเฟนด์มาตลอด ด่าเผด็จการได้ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สิ่งเหล่านี้ นอกจากนั้นก็ไม่มี ด่าหมด ก็เกรี้ยวกราดตลอด

 

อั้มเห็นภาพตัวเองในอนาคตเป็นยังไง 

เห็นป้าแก่ๆ ต้องทำวิจัย ปราศรัยการเมือง (หัวเราะ) กลับไปไทยคงกลายเป็นคุณป้าใส่แว่น ออกรายการด่าการเมือง อั้มไม่ใช่คนที่จะคาดหวังอยากมีอำนาจ เราด่าทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย อีก 20-30 ปีข้างหน้าอาจจะกลายเป็นเหมือนพรรคเล็กๆ ฝ่ายซ้าย radical ในฝรั่งเศสแต่อยู่ในเมืองไทย

 

ยังคิดว่าน่าจะมีโอกาสได้กลับไทย?

สัก 30 ปี นี่เพิ่งอายุ 25 ตอนนั้นก็อายุ 55 หลายคนบอกว่าอายุห้าสิบยังไม่แก่ด้วยซ้ำ หรืออาจจะใน 10-20 ปี ก็เป็นไปได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้

 

ยังคาดหวังการเปลี่ยนแปลงไหม

ทุกวันนี้ยัง อย่างเร็วที่สุดคิดว่าในอีก 5-10 ปี แต่มันอาจจะเกิดขึ้นช้ากว่านั้นได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save