fbpx
เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ 'ผู้ชายขายตัว'

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ เรื่องและภาพ

เมื่อตะวันลับขอบฟ้า บริเวณถนนสีลมจะแน่นหนาไปด้วยผู้คนที่มีจุดหมายต่างกัน หนึ่งคือเหล่าพนักงานบริษัทซึ่งกำลังเดินทางกลับบ้าน เหล่านักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าสู่โรงแรม ร้านอาหาร ผับบาร์ พ่อค้าแม่ขายบนถนนพัฒน์พงษ์ และท้ายสุดคือเหล่า ‘ผู้ชายขายบริการ’ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่สถานทำงานที่กระจัดกระจายอยู่รายรอบถนนสีลม

การเข้าสู่อาชีพผู้ชายขายบริการในประเทศไทยนั้นเป็นไปตามแต่บุคคล  โดยมากจะเป็นการขายให้ผู้ชายด้วยกัน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ขายบริการให้ลูกค้าผู้หญิง บ้างขายบริการได้ทั้งรุกและรับ บ้างขายบริการเฉพาะอย่าง ใช้ มือ และ/หรือปาก บางทีแม้มีครอบครัว มีภรรยาและบุตรแล้ว แต่ก็เลือกเข้าสู่อาชีพนี้เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

ในภาษาไทยมีถ้อยคำที่แสดงถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้ชายที่ทำอาชีพนี้ในหลายระดับ นับตั้งแต่ ผู้ชายขายบริการ, ผู้ชายขายตัว, โสเภณีชาย ไปจนถึงคำหยาบที่เรียกกันติดปากว่ากะหรี่

ที่สำคัญ การไม่ยอมรับในสถานะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ยังปรากฏผ่านภาพสะท้อนจากเรื่องของเหล่าผู้ชายขายตัวในแง่มุมต่างๆ

ลักษณะการโชว์ในร้านแสงสี
ลักษณะการโชว์ในร้านแสงสีเหล่านี้ล้วนแตกต่างกันไป บ้างเป็นการเต้นไปตามจังหวะเพลง ในขณะที่บางร้านเป็นการยืนโชว์ตัวบนเวทีคนละ 1 เพลง แล้วให้ลูกค้าที่ถูกใจเลือกเรียกไปนั่งคุยด้วย
ในส่วนของการจ่ายค่าบริการจะมีทั้งเครื่องดื่มที่ลูกค้าจ่ายเอง และเครื่องดื่มให้พนักงานบริการชาย หรือ ‘ค่าดริงค์’ สำหรับเรียกไปนั่งพูดคุย ล้วงจับ ที่โต๊ะ ส่วนการบริการอื่นนอกเหนือจากนี้ (อาทิ การมีเพศสัมพันธ์) นับเป็นทางเลือกของลูกค้าและตัวพนักงานบริการที่จะตกลงกันเอง

โปรดเรียกเราว่าพนักงานบริการ

นางสาวสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ Service Worker In Groups (SWING) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับด้านสุขภาพและสิทธิ์ของพนักงานบริการทางเพศ เปิดเผยว่าพวกเขาหลายคนพึงพอใจที่จะถูกเรียกว่า ‘พนักงานบริการ’ เนื่องด้วยการนิยามว่าผู้ค้าบริการทางเพศนั้นเป็นการมองเพียงผิวเผิน

หลายคนอาจมองว่าพนักงานบริการ หรือพนักงานบริการทางเพศนั้น เป็นอาชีพที่ทำได้ง่าย เพียงแค่มีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า จนลืมองค์ประกอบอื่นๆ ของการทำอาชีพบริการแบบนี้ ตั้งแต่การเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม การนวด การเป็นเพื่อนคุย การเอาอกเอาใจ ฯลฯ

จำรอง แพงหนองยาง อดีตพนักงานบริการชาย และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ อธิบายว่ากลุ่มพนักงานบริการชายที่ทางมูลนิธิฯ สามารถเข้าถึงได้ แบ่งเป็น 1) พนักงานร้านนวด เช่น ร้านนวดน้ำมันทั่วไป ร้านนวดเฉพาะจุด รวมไปถึงอาบอบนวด ซึ่งก็อยู่ที่แต่ละสถานประกอบการว่ามีการค้าบริการทางเพศเป็นทางเลือกเสริมด้วยหรือไม่ 2) พนักงานบริการที่สังกัดในประเภทบาร์ หรือสถานบริการต่างๆ เช่น ร้านเหล้า บาร์อะโกโก้ คาราโอเกะ เป็นต้น และ 3) พนักงานบริการกลุ่มที่ไม่สังกัดร้าน แบ่งเป็นในพื้นที่อิสระ เช่น พัทยา และใจกลางกรุงเทพฯ ตลอดจนไซด์ไลน์ที่ค้าบริการทางเพศเป็นทางเลือกเสริมผ่านทางโซเชียลมีเดีย

จำรองเล่าว่า พวกเขาล้วนเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยเหตุผลทางรายได้ โดยบางคนเข้ามาเป็นพนักงานเสิร์ฟในบาร์ หรือพนักงานนวดในร้านนวด ก่อนจะพบว่าการขายบริการ การเต้นอะโกโก้ ตลอดจนการใช้ร่างกายบำบัดความกระหายทางเพศให้ลูกค้าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สามารถทำรายได้ได้มากกว่า และสำหรับบางคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชายอยู่แล้ว ในลักษณะ ‘ตุ๊ด’ หรือเกย์ออกสาว การเข้าสู่การเป็นนักเต้นอะโกโก้ นักเต้นเปลื้องผ้า พนักงานนวด ไปจนถึงพนักงานบริการ ดูเป็นสิ่งที่ตรงจริตมากกว่าการใช้แรงงานหนักในรูปแบบอาชีพกรรมกรก่อสร้าง หรือแรงงานรูปแบบอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ยังมีพนักงานบริการชายจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักชาย บางคนมีลูกมีครอบครัวอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องเดินเข้าสู้เส้นทางนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งนอกเหนือจากพนักงานบริการที่เป็นชาวไทยแล้ว ยังมีพนักงานอีกส่วนหนึ่งที่เป็นชาวต่างชาติด้วย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำอาชีพนี้ ทั้งจากพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แม้ส่วนใหญ่พนักงานบริการชายจะเข้าสู่อาชีพนี้ความสมัครใจ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธุรกิจการค้าบริการทางเพศเช่นนี้จะปราศจากการค้ามนุษย์อย่างสิ้นเชิง บนหน้าหนังสือพิมพ์ยังปรากฏให้เห็นการลอบค้ามนุษย์ของผู้มีอิทธิพลอยู่เป็นระยะ ยังไม่นับการโดนกดขี่เหยียดหยาม ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ

บาร์โฮสต์ ร้านแสงสี
สีแดงและน้ำเงิน ถือเป็นสียอดนิยมที่ใช้ในการตกแต่งสถานบริการประเภทบาร์ โดยในภาพเป็นบาร์ขนาดเล็กและจะมีชุดฟอร์มเป็นกางเกงขาสั้นสีส้มกลืนกับสีไฟ
บาร์โฮสต์ ร้านแสงสี พนักงานบริการชาย
พนักงานบริการชาย ถอดเสื้อเพื่อเตรียมเปลี่ยนสู่ชุดกางเกงขาสั้นตามฟอร์มของร้านบริเวณหน้าเวที โดยร้านดังกล่าวตกแต่งเวทีด้วยกระจกเพื่อให้ห้องแถวขนาดเล็กดูกว้างขวางขึ้น

ความปวดร้าวและการถูกเหยียดหยาม

ตรี (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริการชายซึ่งทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เล่าว่าเคยมีกรณีที่พนักงานบริการถูกทำร้ายโดยชาวต่างชาติ แต่เมื่อไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่กลับไม่สนใจมูลเหตุในการทำร้ายร่างกาย ทว่าพยายามมุ่งเน้นไปที่การพบเจอชาวต่างขาติ บีบบังคับให้พนักงานบริการรับสารภาพว่าค้าบริการทางเพศ เพื่อจะได้เอาผิดฐานค้าประเวณี

นอกจากนี้ยังมีเพื่อนๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ปรับ แต่ไม่มีเงินพอจะจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่จึงทำการยึดโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งผ่อนมาไว้ แล้วให้ไปไถ่คืนที่สำนักงานในวันรุ่งขึ้น แต่พอไปไถ่คืนกลับถูกบ่ายเบี่ยง

“คนอย่างกูเนี่ยนะ ต้องไปไถมือถือจากกระหรี่ขายตูดอย่างมึง” ตรีเล่าถึงประโยคที่เพื่อนของเขาถูกเจ้าหน้าที่ตะโกนใส่ด้วยน้ำเสียงเศร้าปนเจ็บแค้น

ตรีเล่าต่อว่าข้อมูลความรุนแรงที่พนักงานบริการทางเพศชายได้รับนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกปกปิด แม้แต่พนักงานบริการผู้ถูกกระทำความรุนแรงเอง ก็ไม่กล้าเปิดเผยแก่องค์กรด้านสิทธิ์ถึงความรุนแรงที่ตนได้รับ โดยเฉพาะความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องด้วยเพศวิถีของพนักงานบริการชายที่เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานบริการหญิงแล้ว เจ้าหน้าที่จะไม่กล้ากระทำความรุนแรงกับพนักงานบริการหญิงเท่ากับที่พนักงานบริการชายได้รับ

ทั้งนี้เพราะการทำร้ายร่างกายเพศหญิง อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ผิดกับพนักงานบริการชายที่เจ้าหน้าที่ยังมองว่าเป็นเพศชายเหมือนกัน ทำให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางร่างกายมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยการยอมรับด้านเพศวิถี ประกอบกับทัศนคติด้านลบเกี่ยวกับอาชีพพนักงานบริการในสังคมไทย ยิ่งมีส่วนให้พนักงานบริการชายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวความรุนแรงต่างๆ ที่ตนถูกกระทำ

จากการลงเก็บข้อมูลและพูดคุยกับพนักงานบริการชาย ของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ในปี พ.ศ.2557-2559 ได้เรียบเรียงความรุนแรงที่พนักงานบริการชายได้รับ แบ่งออกเป็นสองด้าน ดังนี้

ด้านร่างกาย ได้แก่

  1. ตำรวจอาสา (เมืองพัทยา) ทำร้ายร่างกาย สาวประเภทสอง (Transgender) เรื่องค้าประเวณี เหตุการณ์มักเกิดขึ้นที่ชายหาด
  2. ถูกทำร้ายจากชาวต่างชาติหรือลูกค้าที่ไปด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่า จ่ายค่าตัวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
  3. ถูกทำร้ายร่างกายจากเพื่อนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือ คนทั่วไป ที่ค่อนข้างรังเกียจและดูถูกกลุ่มอาชีพนี้

ด้านจิตใจ ได้แก่

  1. การใช้คำพูดดูถูก และด่าทอ จากตำรวจอาสา ในขณะที่ยืนหาลูกค้าที่ชายหาด และมักจะปรับด้วยข้อหา ค้าประเวณี
  2. การทะเลาะวิวาทจาก บุคคลแวดล้อม เช่น เพื่อนๆ วินมอเตอร์ไซด์ แม่ค้า ฯลฯ อันมีมูลเหตุมาจากการดูถูกอาชีพที่ทำอยู่  หรือการตีตราจากกลุ่มอาชีพด้วยกันเอง
พนักงานฟิตหุ่น
บาร์ หรือร้านที่พนักงานบริการสังกัด ก็เหมือนกับสถานที่ทำงานทั่วไป พวกเขามีล็อคเกอร์เก็บรองเท้า ห้องแต่งตัว และชั้นเก็บอุปกรณ์สำหรับขึ้นโชว์ต่างๆ รวมไปถึงเครื่องออกกำลังกายสำหรับฟิตหุ่นอยู่ที่หลังร้าน เครื่องออกกำลังกายเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญในบาร์อะโกโก้ เนื่องจากพวกเขาต้องโชว์เรือนร่างของพวกเขาให้มีลักษณะที่น่าปรารถนา
นอกจากอุปกรณ์ฟิตเนสจำพวกเครื่องยกน้ำหนัก ในบาร์อะโกโก้บางแห่งยังมีห้องอาบน้ำเพื่อใช้ล้างตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนขึ้นโชว์
นอกจากอุปกรณ์ฟิตเนสจำพวกเครื่องยกน้ำหนัก ในบาร์อะโกโก้บางแห่งยังมีห้องอาบน้ำเพื่อใช้ล้างตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนขึ้นโชว์

ทั้งนี้ พนักงานบริการชาย มักถูกกระทำและกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ถูกจับโดยไม่มีความผิด ถูกจับข้อหาสร้างความเดือดร้อนให้นักท่องเที่ยว ลักทรัพย์นักท่องเที่ยว รวมถึงการยัดข้อหายาเสพติด ขณะที่พนักงานบริการหญิง มักถูกจับข้อหาเตร็ดเตร่ในที่สาธารณะ หรือค้าประเวณี รวมถึงการปรับเพื่อให้หลุดพ้นจากการดำเนินคดี หรือขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่

ในส่วนพนักงานบริการที่ไม่สังกัดร้าน โดยมากเสียค่าปรับ 1,000 บาทให้กับเจ้าหน้าที่เป็นประจำ ในบางพื้นที่ต้องเสียทุก 2 วัน เดือนหนึ่งเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ค่าปรับเหล่านี้มักจะใช้ มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ปี พ.ศ. 2539 ในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยอธิบายว่า

“ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้า บุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรานี้ได้ให้อำนาจในการตีความแก่เจ้าหน้าที่ค่อนข้างกว้าง และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถเอาผิดกับพนักงานบริการได้ง่าย แม้ความเป็นจริงพนักงานบริการทางเพศเหล่านี้อาจไม่ได้มีท่าทีหรือลักษณะที่เข้าข่ายแต่อย่างใด

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับ มาตรา 5 ในพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ได้มีมาตราที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเดินเตร็ดเตร่ หรือ คอยตามถนน เพื่อค้าประเวณี ว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทว่าในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีปี พ.ศ. 2539 ไม่มีบัญญัติความผิดนี้ไว้

ด้วยเหตุนี้ การตีความของเจ้าหน้าที่ในประเด็น ‘อับอาย หรือ เดือดร้อนแก่สาธารณชน’ จึงกลายมาเป็นข้อหาที่สามารถกล่าวอ้างและตีความเพื่อเอาผิดและปรับพนักงานบริการได้

ในส่วนของสถานประกอบการที่มีการขายบริการทางเพศนั้น โดยมากจะจ่ายเงินในลักษณะของส่วยให้เจ้าหน้าที่  เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่ถูกก่อกวน แต่ในบางช่วงเวลา แม้จะจ่ายส่วยให้แล้ว ก็มักประสบปัญหาการเรียกร้องราคาค่าส่วยที่สูงขึ้น หรือในบางครั้ง แม้จะจ่ายส่วยแล้ว แต่อยู่ในช่วงโยกย้ายปรับตำแหน่ง ก็อาจถูกเจ้าหน้าที่เล่นงานเพื่อสร้างผลงานได้อีกเช่นกัน

ป้ายประกาศห้ามค้าประเวณี
ป้ายกระดาษ ‘ห้ามค้าประเวณี’ ถูกบังคับติดจากเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณหน้าสถานประกอบการทุกร้านในเขตที่มีการบริการดังกล่าว

จุดหมายปลายทางของผู้ชายขายตัว

แสงไฟสีแดงสลับม่วงระยิบระยับในเวลาช่วงหัวค่ำของถนนสีลม โลกอีกใบกำลังเริ่มขึ้น เด็กเสิร์ฟบาร์เบียร์เริ่มเช็ดโต๊ะ และยืนเรียกลูกค้า ชายในเสื้อกล้ามสีขาวกางเกงขาสั้นสีฉูดฉาดนั่งเรียงรายหน้าร้านนวด ปากร้องเรียกลูกค้าตั้งแต่ช่วงบ่าย ลอตเตอรี่เป็นเหมือนสิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันในทุกๆ วันที่  1 และ 16 ของทุกเดือน หวังเพียงถูกรางวัลก้อนโต เพื่อไถ่ถอนหนี้สินและที่นาของครอบครัว กระทั่งเปิดกิจการร้านขายของหรือร้านอาหารเล็กๆ ของตนได้

โบ้ (นามสมมติ) พนักงานบริการชายชาวลาว ซึ่งเป็นคนไร้บ้าน แต่อยู่อาศัยและทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ เล่าว่าพนักงานบริการชายล้วนเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ค่าตอบแทนของอาชีพนี้นับว่าสูง หากเทียบกับอาชีพอื่นๆ ในระดับที่ต้องการวุฒิการศึกษาเท่ากัน

ผู้ที่เลือกอาชีพนี้ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาที่สูง แต่เพียงมั่นใจในรูปร่างหน้าตา บางคนอาจเริ่มมาจากการเป็นพนักงานเสิร์ฟ หรือตำแหน่งอื่นๆ ในแวดวงบาร์ หรือร้านในโซนการท่องเที่ยวกลางคืน

“ตุ๊ดไม่ได้เรียนหนังสืออย่างพวกเราหลายๆ คนจะทำอะไรได้มากกว่าเด็กเสิร์ฟค่าแรง 300 ล่ะ ก็ทำได้แค่นี้ ทางเลือกอื่นมีที่ไหน เงินใครๆ ก็อยากได้ อะไรที่มันสร้างเงินเพิ่มได้พวกเราก็ทำหมด” โบ้อธิบายจีบปากจีบคอ

ทุกๆ เย็นในแต่ละสัปดาห์ โบ้และเพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ จะคว้ากระสอบบรรจุถุงยาง เจลหล่อลื่น ขนมถุง และนม รวมถึงแผ่นพับประชาสัมพันธ์การตรวจสุขภาพฟรีที่คลินิกของมูลนิธิฯ เพื่อแจกจ่ายเพื่อนๆ พนักงานบริการตามสถานประกอบการต่างๆ  ขนมถุงและนมจะช่วยพนักงานบริการประหยัดค่าใช้จ่าย ขณะที่ถุงยางและเจลหล่อลื่นจะช่วยให้พนักงานบริการชายสามารถเข้าถึงการป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น

 เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ให้ความรู้แก่พนักงานบริการในส่วนของร้านนวดถึงที่ร้าน ในประเด็นของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการป้องกันรวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการทำงานเชิงรุกเช่นนี้ จะตอกย้ำความเข้าใจในเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของพนักงานบริการให้ละเอียดยิ่งขึ้น
พนักงานบริการ หวย ลอตเตอรี่
การซื้อลอตเตอรี่นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีไว้ต่อความฝันและความหวังของพนักงานบริการ เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนมหาศาล กองลอตเตอรี่ที่เห็นนี้ถูกรวบรวมมาจากร้านที่พนักงานบริการทางเพศคนหนึ่งสังกัดอยู่ แล้วเอามาเทให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการดูเพื่อความขบขัน

ลึกเข้ามาในซอยที่รายล้อมด้วยสถานประกอบการ ทั้งบาร์อะโกโก้และร้านนวดที่มีบริการเสริมในเรื่องทางเพศ เหล่าเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ปรี่เข้าหาพนักงานบริการชายด้วยท่าทีคุ้นเคย พูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบ บ้างนินทาลูกค้า ทอดถอนใจเรื่องครอบครัว บ้างชวนคุยเรื่องละครที่กำลังเป็นที่นิยม

พนักงานบริการชายบางคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานในสถานประกอบการประเภทร้านนวด มักอาศัยเวลาในช่วงเย็นก่อนที่ค่ำคืนจะเต็มไปด้วยแสงสี วิดิโอคอลกับลูกและภรรยาที่บ้านเกิด เพียงไม่นานเสียงจากเจ้าของร้านที่เรียกขานเบอร์ก็แว่วมา บอกเป็นนัยว่าบทสนทนาผ่านหน้าจอโทรศัพท์ต้องจบลง และงานของพวกเขากำลังเริ่มต้น

หน้าบาร์อะโกโก้ซึ่งอยู่ถัดไปไม่ไกล ผู้จัดการร้าน ที่คนภายนอกเรียกว่า ‘แม่เล้า’ หรือ ‘มาม่าซัง’ กำลังไหว้บวงสรวงเจ้าที่สำหรับการประกอบการในค่ำคืนนี้ แม่แดง (นามสมมติ) ชายวัย 50 จุดธูปลงบนถาดอาหารขนาดเล็ก และวางลงที่มุมประตูด้านหน้าบาร์ ก่อนสวดขอพรงึมงำ จากนั้นหยิบเหล้ามารินใส่เป๊ก สลัดใส่หน้าร้านตามความเชื่อว่าจะทำให้ค่ำคืนนี้ลูกค้าแน่นขนัด

แม่แดงเล่าว่า คำว่า ‘คุณแม่’ หรือ ‘แม่’ คือคำที่เหล่าพนักงานบริการใช้เรียกผู้จัดการร้าน หรือแม่เล้า ซึ่งโดยมากเป็นอดีตพนักงานบริการ แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ประสบการณ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจจากเจ้าของบาร์ ทำให้พวกเขาเลื่อนขั้นเป็นคุณแม่ ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับผู้จัดการร้าน คือดูแลการประกอบกิจการต่างๆ ของร้าน รวมไปถึงดูแลความปลอดภัยให้แก่เหล่าพนักงานบริการในสังกัด

บาร์อะโกโก้หรือบาร์เบียร์ ที่มีการขายบริการทางเพศสำหรับพนักงานบริการชายนั้น โดยมากจะไม่มีห้องหับสำหรับประกอบกิจเหมือนเช่นร้านนวด แต่มักเป็นไปในลักษณะการหิ้ว หรือ ‘ออฟ’ ออกไปสู่โรงแรมข้างเคียง ซึ่งจะนำไปสู่ภารกิจของเหล่ามาม่าซังที่ต้องคอยติดตามดูแล หากพนักงานบริการชายในสังกัดหายไปนานเกินควร เหล่ามาม่าซังจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพนักงานบริการใต้การดูแลทันที ด้วยเครือข่ายรายรอบบริเวณ

มาม่าซัง ผู้ดูแลร้าน
‘มาม่าซัง’ เปรียบได้กับผู้จัดการร้าน ที่คอยดูแลความเป็นอยู่ ความเป็นไป ของพนักงานบริการทางเพศในสังกัด รวมไปถึงคอยเช็คและสแกนลูกค้าที่อาจกระทำความรุนแรงต่อพนักงาน เครือข่ายที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นพนักงานบริการทางเพศ จะช่วยให้มาม่าซังสามารถดูแลพนักงานบริการในสังกัดได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ห่างออกไปไม่ไกลจากถนนสีลม ริมเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตพญาไท โซนบาร์คาราโอเกะที่แฝงการค้าบริการทางเพศแก่กลุ่มเพศทางเลือกกำลังค่อยๆ เลือนหาย เจ้าของร้านรายหนึ่งถอนหายใจเล่าด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่ายว่ากลุ่มลูกค้าเดิมคือกลุ่มตุ๊ด กะเทยมีอายุ ซึ่งตลาดการบริโภคเปลี่ยนไปเป็นการตกลงผ่านทางอินเทอร์เน็ต ระบบนั่งดริงค์ตามร้านคาราโอเกะไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป

“เดี๋ยวก็คงปิดร้านเลิกแล้ว เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็คอยไถ ทั้งๆ ที่ไม่มีลูกค้า กลับไปทำอย่างอื่นที่ต่างจังหวัดดีกว่า” เจ้าของร้านคาราโอเกะดังกล่าวพูดพลางถอนหายใจ

จากร้านคาราโอเกะดังกล่าวไม่ถึง 3 ช่วงตึก ร้านคาราโอเกะอีกร้านซึ่งเคยมีการขายบริการแก่เพศทางเลือกเช่นกัน ถูกปรับปรุงตกแต่งเสียใหม่เป็นร้านอาหารอีสาน ครก เตาแก๊ส และกระทะ ถูกนำมาตั้งที่หน้าร้าน ส่งกลิ่นเชิญชวนให้ผู้ผ่านไปมาสั่งอาหารในยามหัวค่ำ

การปรับตัวของบาร์
อาหารอิสานฝีมือมาม่าซังในบาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวจากบาร์สู่ร้านอาหาร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไปของการซื้อบริการของลูกค้าในย่านที่ร้านตั้งอยู่ ตลอดจนการจับกุมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง พวกเขาเลือกจะปรับตัวสู่อาชีพอื่น เพราะ “อายุในวงการนี้ ไม่ได้ยั่งยืนขนาดนั้น”

กล่าวได้ว่าเมื่อพฤติกรรมลูกค้าเปลื่ยน และมีลู่ทางใหม่ๆ สู่อาชีพอื่น ทั้งมาม่าซัง เจ้าของร้าน และตัวพนักงานบริการชายเอง ย่อมเปลี่ยนผ่านและพ้นไปจากวงการนี้ในที่สุด เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครอยากหากินกับร่างกายจนสิ้นอายุไข หลายคนฝันถึงการกลับสู่ภูมิลำเนากับการทำไร่ทำนา หรือไม่ก็การมีกิจการของตัวเอง

ทว่าในทางกลับกัน บางคนที่ไปไม่ถึงฝัน มักเวียนวนอยู่ในแวดวงการค้าบริการทางเพศจนแก่ชรา บ้างผันตัวเป็นผู้จัดการบาร์ ผู้จัดการร้านต่างๆ ตลอดจนมาม่าซัง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018