fbpx
“ประเทศนี้ไม่มีความเมตตา” เสียงจากภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

“ประเทศนี้ไม่มีความเมตตา” เสียงจากภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

สุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์) เกิดปี 2485 มีภรรยาคนสุดท้ายในชีวิตชื่อปราณี เกิดปี 2502

เขาเรียกเธอว่า “น้อย” ส่วนคนรุ่นลูกรุ่นหลานเรียกเธอว่า “ป้าน้อย”

หญิงอาวุโสร่างเล็กปรากฏตัวท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยในช่วงปี 2553 เมื่อติดตามสุรชัย แซ่ด่าน ไปตามเวทีปราศรัยทางการเมือง เมื่อคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมบนถนนก่อนจะถูกปราบสลายไปอย่างเหี้ยมโหด

และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เมื่อปี 2554 สามีต้องติดคุกในข้อหาคดี 112 และไม่ได้สิทธิประกันตัว เหมือนผู้ต้องหารายอื่นๆ ในคดีเดียวกัน

อดีตนักรบคอมมิวนิสต์ได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 2556 ตั้งใจใช้บั้นปลายชีวิตที่เหลือเขียนหนังสือ อยู่อย่างสงบ แต่อีกเพียงปีเดียวเมื่อเกิดรัฐประหาร 2557 เขาตัดสินใจหลบออกจากแผ่นดินแม่

ส่วนป้าน้อยกลับไปอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราช, ขาดการติดต่อ-พบหน้าสามีอยู่แรมปี กระทั่งได้พูดคุยผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ไถ่ถามความห่วงใยกัน แต่นั่นก็ต่อเนื่องมาอีกเพียงสามปีเศษ

วันที่ 9 ธันวาคม 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ป้าน้อยได้คุยกับสุรชัยครั้งสุดท้าย

“เราถามว่าสบายดีไหม รักษาสุขภาพด้วย เพราะแกสุขภาพไม่ดี โรคหัวใจกำเริบบ่อย แล้วปกติจะไม่ค่อยคุยอะไรกันมาก เพราะแกไม่ค่อยชอบคุยนาน แกจะชอบวิเคราะห์การเมืองแล้วอัดลงคลิปส่งให้”

ป้าน้อยเริ่มแปลกใจว่าคลิปเสียงสามีหายไปหลายวัน จนกระทั่งได้ข่าวว่า ‘กาสะลอง’ และ ‘ภูชนะ’ สองมิตรสนิทของสามีก็หายตัวไปเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งข่าวรายงานพบศพถูกมัดใส่กระสอบที่ริมน้ำโขง นครพนม

และจนกระทั่งผลตรวจดีเอ็นเอของมิตรสนิททั้งสองของสามีระบุตรงกับญาติ

ป้าน้อยไม่ลังเลอีกต่อไป สิ้นสงสัย ดวงใจหล่นหาย แม้เผื่อใจ เตรียมใจ ก็ใช่จะทำใจ

ปี 2562 นี้ ป้าน้อยจะมีอายุครบ 60 ปี ในเดือนตุลาคม เธอกำลังจะได้สิทธิผู้สูงวัย และเบี้ยคนชรา 600 บาท เพื่อใช้ชีวิตต่อไปในสังคมไทยที่ไม่มีคำตอบให้เธอว่าใครทำให้สามีเธอหายไป

101 ชวนป้าน้อยคุยถึงความทรงจำที่หลั่งไหลและถาโถมเข้ามายามชีวิตหน่วงหนัก หม่นหมอง เป็นความทรงจำร่วมระหว่างเธอกับสามีอันเป็นที่รักที่ไม่อาจลบเลือน

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ป้าน้อยพบคุณสุรชัยครั้งแรกของชีวิตเมื่อไหร่

เราเจอกับคุณสุรชัย ปี 2530 ตอนนั้นเขายังอยู่ในเรือนจำ ไม่ได้เจอกันเหมือนคนทั่วไป ตอนนั้นเราฟังข่าวตามสื่อ สื่อรายงานว่าคุณสุรชัยเป็นคนน่ากลัว เป็นคอมมิวนิสต์ที่ทำอะไรหลายอย่างที่น่ากลัว

คุณสุรชัยโดนจับคดีปล้นรถไฟและเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่ปี 2524 ติดคุกยาว เราได้ไปเจอคุณสุรชัยผ่านเพื่อนของเขา ตอนนั้นเรายังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เราเป็นนักเรียนทุนเด็กยากจน เรียนคณะศึกษาศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์

สมัยที่เรายังเป็นนักศึกษา ยังกลัวพวกคอมมิวนิสต์อยู่ เพราะได้ยินข่าวแต่ละครั้งจะมักได้ยินว่าพวกเขาฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ฆ่าประชาชน แต่ตอนหลังมาเริ่มรู้จักว่าคอมมิวนิสต์เป็นคนที่มีอุดมการณ์ เพราะเรามีโอกาสได้ออกค่ายอาสาพัฒนาที่ จ.สงขลา มันเป็นเขตพื้นที่สีชมพู ที่มีการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์

ทั้งที่กลัว ทำไมกล้าเข้าพื้นที่เสี่ยง

ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้อะไรมากนะ ป้าเป็นคนลำปาง ช่วงวันหยุดก็กลับบ้านไม่ได้ เพราะว่าบ้านมันไกล สมัยก่อนจะขึ้นรถไฟ แต่ต้องใช้เวลานานมาก เพราะรถทัวร์ถูกโจรปล้นเรียกค่าไถ่บ่อย รถไฟเขาจะไม่ค่อยปล้น เพราะฉะนั้นถ้าจะกลับบ้าน เฉพาะเวลาขาไปอย่างเดียวก็ใช้เวลา 2 วันแล้ว มันเลยทำให้เวลาที่หยุด 3-5 ไม่พอ ไม่คุ้มค่าตั๋ว เพราะเราจนด้วย ต้องอาศัยช่วงปิดเทอม เพราะนักศึกษาเขาจะลดครึ่งราคาให้

เพราะฉะนั้นถ้าหยุดไม่กี่วัน ป้าก็จะไปค่ายอาสาพัฒนาแทน ไปตามโรงเรียนที่ขาดแคลน ทำให้เราได้เจอชาวบ้าน บางที่ก็มีทั้งซ่อมทั้งสร้าง เล็กๆ น้อยๆ ก็ทำไป เช่น ซ่อมรั้ว ปรับพื้น สร้างอาคาร เมื่อก่อนงบน้อยมาก นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องควักทุนตัวเองช่วยค่าอาหารด้วย บางวันเราก็ได้ไปช่วยทำกับข้าว บางวันเราออกไปไถ่ถามทุกข์สุขกับชาวบ้าน เราเรียกว่าไปทำความสัมพันธ์กับชุมชน ช่วงเวลานี้ทำให้เราได้รู้จักบางคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า

ตอนนั้นยังกลัวคอมมิวนิสต์อยู่ไหม

กลัว เพราะที่มหาวิทยาลัยจะมีประกาศเชิญชวนนักศึกษามาฟังผู้กลับใจออกจากป่า ช่วงปี 2522-2525 เราเคยไปนั่งฟัง บางทีก็มี 5-10 คนมานั่งพูดบนเวที เขาจะพูดว่าถูกหลอกให้เข้าไปอยู่ในป่า ถูกหลอกให้เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ถูกหลอกให้เข้าไปพบแต่ความยากลำบาก เราก็เชื่อนะ ตอนนั้นเชื่อว่ามันไม่ดีจริงๆ ข่าวของทางการก็บอกไม่ดี

แต่พอเราเริ่มไปลงพื้นที่ ไปเจอชาวบ้านบ่อยๆ มีชาวบ้านที่คิดว่าเราเป็นหมอ เพราะเราช่วยรักษาอาการป่วยเขา แต่ว่าเราไม่ได้เป็น ชาวบ้านก็จะเล่าว่ามีคนที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านหลายอย่าง ทั้งงานสอนหนังสือเด็ก งานหมอ งานด้านแรงงาน

 

เป็นพวกคอมมิวนิสต์ ?

ใช่ เราก็เลยถามเขาว่ารู้จักสุรชัย แซ่ด่านไหม เพราะได้ยินแต่ชื่อ เป็นข่าวด้านลบตลอด เราก็กลัว เลยถามว่ามีคอมมิวนิสต์ไหม รู้จักไหม เขาก็บอกว่านายสุรชัย เป็นคนมีอุดมการณ์ ไม่ได้เลวร้ายอย่างในข่าว เราก็คิดว่าชาวบ้านเขาพูดตามความรู้สึกว่าพวกคอมมิวนิสต์ที่เขามาช่วยเหลือเป็นคนดีในสายตาพวกเขา ช่วยเหลือส่วนรวม

เราเลยคิดว่าที่มหาวิทยาลัยให้คนมาพูดกลับใจนั้นมันช่างแตกต่างกัน ชาวบ้านคงไม่โกหกเรา เพราะเขาเจอในชีวิตจริง แต่คนที่มาพูดกลับใจเราไม่รู้ว่าเขาเข้าป่าจริงไหมหรือว่าเป็นคนที่ทางการส่งมา

ชาวบ้านเจอคุณสุรชัย แต่ป้าน้อยไม่ได้เจอ ?

ยังไม่เจอ จนกระทั่งเรียนจบ เรากลับไปเป็นครูที่ลำปาง เพราะได้ทุนเรียนตั้งแต่ ป.5 ถึงปริญญาตรี ช่วงที่เราเป็นครู คุณสุรชัยได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิตปี 2528 เขาถูกจับในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี

คดีเผาสถานที่ราชการ ปล้นรถไฟ ยิงตำรวจ คุณสุรชัยเคยเล่าว่าถูกกลั่นแกล้งจากรัฐด้วยการยัดข้อหา ตอนนั้นปี 2518 น้ำท่วมใหญ่ที่นครศรีธรรมราช ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่ได้รับการช่วยเหลือ เขาก็ไปร่วมเรียกร้องซักไซ้ผู้ว่าฯ ครั้งนั้นเขายังไม่ได้เข้าป่า

สมัยก่อนพวกราชการถือว่าตัวเองมีอำนาจมาก ชาวบ้านจะมาซักไซ้ไล่เรียงประท้วงไม่ได้ ระหว่างที่คุณสุรชัยปราศรัยอยู่บนเวที มันมีการสร้างสถานการณ์เผาจวนผู้ว่าฯ แล้วก็มีพยานชี้ว่าคุณสุรชัยเป็นคนสั่งเผา เขาก็ถูกจับไปนอนคุก ทำให้นักศึกษา ประชาชน อาจารย์มหาวิทยาลัย มาประท้วงให้ปล่อยตัวคุณสุรชัย จนเจ้าหน้าที่ปล่อยตัว แต่หลังจากนั้นมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะมาจับใหม่ คุณสุรชัยเลยต้องหนีเข้าป่าในปี 2519 ไปเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ มีหน้าที่เป็นโฆษกประชาสัมพันธ์ของพรรคฯ คอยเดินทางไปตามหมู่บ้านเพื่อแถลงนโยบายการปฏิวัติให้ประชาชนเข้าใจ

มีอยู่วันหนึ่งทางพรรคฯ มอบหมายให้คุณสุรชัยไปทำหน้าที่แถลงนโยบายให้กับผู้โดยสารบนรถไฟฟัง มันก็มีการหยุดรถไฟแล้วเชิญชาวบ้านลงมาฟังการปราศรัยของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เหตุวันนั้นคือรถไฟคันนั้นบรรทุกเงินของรัฐมาด้วย เพื่อจะเอาไปส่งที่ภูเก็ต เป็นเงินเหรียญห้าบาทแบบเหลี่ยม ทั้งหมดหนึ่งล้านสองแสนบาท

ทหารป่าลงมาจากป่าก็หยุดรถไฟ คุมตัวเจ้าหน้าที่รัฐลงมาจากรถ เขาก็สงสัยว่าทำไมรถไฟขบวนนี้ถึงมีตำรวจเยอะกว่าปกติ ตำรวจก็บอกความจริงว่ามาคุมเงินของรัฐบาล จะเอาไปส่งที่ภูเก็ต

ประเด็นคือพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ถูกกับรัฐบาลอยู่แล้ว ถ้าเป็นเงินหลวง เขาก็ต้องยึด คุณสุรชัยก็ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นโยบายปฏิวัติ ไม่รู้ว่าทหารป่ากำลังคุมตัวตำรวจไว้ เพราะตู้รถไฟที่มีเงินอยู่มันไกลกันมาก รถไฟมันยาว

แต่ระหว่างที่คุณสุรชัยกำลังปราศรัย มีตำรวจคล้ายว่าจะเป็นหัวหน้าชุดเดินมาหา เพื่อจะยืมโทรโข่งของคุณสุรชัยประกาศหาคนที่ถือกุญแจตู้ที่เก็บเงิน คุณสรชัยก็เตรียมจะยื่นให้ แต่ไม่ทันไรนายตำรวจคนนั้นถูกยิงมาจากด้านหลัง เขายืนหันหน้ามาทางคุณสุรชัย ถูกยิงเข้าท้ายทอย สมองเลือดกระจายเปรอะตัวคุณสุรชัย หลังจากนั้นคุณสุรชัยก็ถูกกล่าวหาว่ายิงนายตำรวจคนนั้น แล้วก็ปล้นเงินไป

พอในชั้นศาล แพทย์ที่ตรวจสอบหลักฐานว่านายตำรวจถูกยิงด้วยปืนอะไร การชันสูตรศพพบว่าถูกยิงด้วยเอ็ม 16 และคุณสุรชัยก็พกปืนสั้นเท่านั้น แล้วมือก็ไม่ว่าง เพราะมือหนึ่งถือโทรโข่ง มือหนึ่งถือไมโครโฟน มันไม่ใช่ไมค์ลอยแบบสมัยนี้ แต่พยานในศาลกลับบอกว่าคุณสุรชัยชักปืนพกที่เอวมาจ่อยิง

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ตอนที่เกิดเหตุ คุณสุรชัยกลับเข้าป่าไปก่อน ?

ใช่ คุณสุรชัยอยู่ในป่าจนถึงปี 2524 จนกระทั่งมีความพยายามจากรัฐบาลต้องการเจรจาสันติภาพ ทางเขตงานทางใต้ของพรรคฯ ก็ส่งคุณสุรชัยไปเป็นทูตสันติภาพ ฝ่ายรัฐเขาก็ส่งคนมาแจ้งข่าวว่าจะมีการรับประกันความปลอดภัย คุยกันแบบพี่แบบน้อง จะไม่ปะทะกัน

ยุคนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย 66/23 แต่มารู้ทีหลังว่าทหารในพื้นที่ไม่ยอม รู้สึกว่าถูกรัฐบาลหักหน้า เพราะบทบาทของทหารเวลาทำสงครามมันเยอะ พอคุณสุรชัยออกมาจากป่าเพื่อมาคุยกับทางการ ก็ถูกทหารมาล้อมจับที่จวนผู้ว่าฯ คุณสุรชัยก็ไม่ยอมรับสารภาพว่ามามอบตัว เพราะคิดว่าเป็นตัวแทนมาคุยกับรัฐบาล แต่พอถูกจับทางรัฐบาลก็ไม่ยอมรับว่าเชิญมา ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้

คุณสุรชัยก็รู้สึกถูกหักหลัง ถ้ายอมมอบตัว รัฐก็จะให้ไปอบรมตามโครงการสัก 6 เดือน แล้วคดีต่างๆ ทั้งเผาจวน ฆ่าเจ้าหน้าที่ ปล้นรถไฟ ก็คงยกเลิกไปตามนโยบาย 66/23 แต่คุณสุรชัยอยากรักษาเกียรติตัวเอง ยอมติดคุกแทนการสารภาพผิด เพราะมันเสียศักดิ์ศรี ออกจากป่ามาแล้วมองหน้าสหายไม่ได้ มองหน้ามวลชนไม่ได้ จนสุดท้ายได้รับคำตัดสินประหารชีวิตในปี 2528

คดีเผาจวนโดนตัดสิน 23 ปี ปล้นรถไฟกับฆ่าเจ้าหน้าที่โดนตัดสินประหารชีวิต คุณสุรชัยเป็นนักโทษประหารลำดับที่ 310 พอดี ระหว่างที่รอถึงคิวก็ฝึกร้องเพลง ‘ความตาย’ ของจิ้น กรรมาชน ฝึกไว้เผื่อวันไหนที่เขาเรียกตัว จะได้มีความกล้าหาญ ไม่ขาสั่นเยี่ยวแตกตอนขึ้นแท่นประหาร

แต่อยู่ไปๆ แกได้อภัยโทษพิเศษ จากประหารก็เป็นจำคุกตลอดชีวิต พอทุกปีที่มีวาระพิเศษ ก็ได้ลดหย่อนโทษไปเรื่อยๆ จากตลอดชีวิตเหลือ 50 ปี จาก 50 ปี เป็น 25 ปี จนสุดท้ายรวมแล้วติดคุก 16 ปี

แปลว่าคุณสุรชัยไม่ได้ประโยชน์จากนโยบาย 66/23 ?

ไม่ได้ค่ะ เพราะว่าตอนนั้นแกอยู่ในคุก รัฐบาลบอกไม่ครอบคลุม เพราะว่าไม่ได้เพิ่งออกจากป่า

ย้อนไปตอนที่คุณสุรชัยออกไปช่วยชาวบ้านเรียกร้องปัญหาน้ำท่วมที่นครศรีฯ ตอนนั้นคุณสุรชัยทำอะไรอยู่

แกมีอาชีพเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์อยู่ที่นครศรีธรรมราช ไม่ได้เป็นนักศึกษา เป็นชาวบ้านธรรมดา ช่วงน้ำท่วมแกเจออุบัติเหตุรถสองแถวปาดหน้าระหว่างขี่รถมอเตอร์ไซค์ พยายามหักหลบแต่ไม่พ้น แข้งขวาไปฟาดกับบันไดเหล็กรถสองแถว กระดูกขาแหลกไปท่อนหนึ่ง ต้องเข้าเฝือกหลายเดือน

ความเป็นจริงที่แกเจอคือป่วยแต่ลางานไม่ได้ งานซ่อมที่ร้านมีลูกค้าเยอะ ระหว่างที่แกนอนพักวันหยุด พอร้านไม่มีช่าง ก็ไปเรียกแกที่นอนป่วยอยู่ที่บ้านให้มาซ่อม พอบอกว่าเดินไม่ได้ ขาเจ็บ เขาก็เอารถมารับไปนั่งซ่อม พอทำงานไปสักพักก็ปวดขาต้องพัก แกเลยรู้สึกว่าชีวิตมันลำบากที่สวัสดิการรัฐไม่มี ทำให้แกเริ่มออกมาเป็นนักเคลื่อนไหวตั้งแต่ตอนนั้น แล้วแกไม่ได้เรียนสูง แกจะรู้สึกถูกเหยียดเสมอว่าเป็นพวกเรียนน้อย แกเรียนหนังสือถึงแค่ ป.6

ระหว่างที่แกอยู่ในคุก เราก็เริ่มตั้งคำถามว่ากับข่าวที่รายงานว่าคอมมิวนิสต์เลวร้าย เพราะฝั่งชาวบ้านเขาไม่ได้คิดเหมือนกับที่ข่าวรายงาน พอปี 2531 แกได้รับพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นตลอดชีวิต เราก็ดีใจ เลยเขียนจดหมายจากลำปางไปแสดงความยินดี พอมีโอกาสก็ลงมาเยี่ยมที่เรือนจำบางขวาง ไม่ใช่แค่เราที่เป็นครู พวกนักศึกษา ประชาชนที่ได้ยินข่าวว่าแกได้รับอภัยโทษก็ทยอยมาเยี่ยม บางคนส่งไปรษณียบัตรมาให้กำลังใจ

แล้วตัวแกอยู่ในเรือนจำ แกก็คอยสอนวิชาช่างให้พวกผู้ต้องขัง เพราะชำนาญด้านซ่อมวิทยุเครื่องเสียง แกจะได้รับอุปกรณ์ไฟฟ้าจากผู้คุมมาให้เป็นอุปกรณ์สอนทุกอย่าง ช่วงนั้นแกก็ใช้วิธีเล่าเรื่องชีวิต แกอัดเสียงลงเทปคลาสเซทไว้ส่งออกมาให้เรา เพราะแกบอกว่าเวลาเขียนมันปวดมือ เพราะมือแกเคยโดนสะเก็ดระเบิดตอนอยู่ในป่า

ทำไมคุณสุรชัยเลือกอัดเสียงลงเทปให้กับป้าน้อย ประทับใจอะไร 

ตอนนั้นยังคุยกันแบบเพื่อนนะ ไม่ใช่แบบแฟน เราเองอยู่ไกลจากในเมืองก็อยากรู้เรื่องราวภายในคุก ไม่ได้สนใจความรัก ส่วนตัวแกก็ถามเราถึงสภาพภายนอกคุก เราก็แลกเปลี่ยนความคิดกัน

เรามีโอกาสมาเยี่ยมแกปีละ 2-3 ครั้ง นั่งรถไฟจากลำปางมาคนเดียว มีทั้งเยี่ยมแบบธรรมดา ยืนกันคนละฝั่ง ห่างกันห้าเมตร แล้วตะโกนคุยกัน เมื่อก่อนคุกไม่ได้มีที่นั่งแล้วมีกระจกกั้นแบบสมัยนี้ แล้วไม่ใช่เราตะโกนคนเดียว ข้างๆ ก็ตะโกนด้วย ต้องทำเวลา อีกแบบคือทำเรื่องขอเยี่ยมแบบญาติ เรือนจำจะเปิดให้ปีละ 2 ครั้ง ก็จะได้นั่งคุยกันแบบใกล้ชิด กินข้าวด้วยกัน ตอนนั้นเราเริ่มชอบหน่อยแล้ว ช่วงปี 2532-2533 แต่ยังไม่ได้เป็นแฟน

จนกระทั่งแกใกล้จะได้ออกปี 2535 แต่ปรากฏว่าแกเอาความไม่ดีของผู้คุมในเรือนจำฯ ไปเล่าให้นักข่าวฟัง นักข่าวก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับเรื่องในคุก ระบุว่าได้ข้อมูลจากสุรชัย แซ่ด่าน เจ้าหน้าที่ก็เรียกสอบสวน ถือว่าผิดระเบียบ เอาข้อมูลราชการไปเผยแพร่ แทนที่จะได้อภัยโทษรอบพิเศษออกปี 2535 เลยยืดไปอีก 5 ปี ได้ไปออกปี 2539 แทน

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

อะไรที่ทำให้ป้าน้อยรู้สึกผูกพัน ต้องมาเยี่ยมคุณสุรชัยอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่ไกล

แกเป็นคนเสียสละเพื่อส่วนรวม เราได้ฟังจากชาวบ้านบ่อย แกช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนเสมอ เรารู้สึกประทับใจว่าคนอย่างนี้มันหายาก แล้วเราเองก็ได้รับทุนจากมูลนิธิของท่านพงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย ท่านเป็นคนรักเด็ก อยากจะให้เด็กได้มีการศึกษา ชื่อมูลนิธิสุริโยทัยก็ตั้งตามนามสกุล คอยช่วยเหลือเด็กยากจนที่ขาดโอกาสเรียนหนังสือ

 

ความประทับใจทำให้ป้าน้อยตัดสินใจแต่งงานกับคุณสุรชัย ?

ทีแรกก็คิดว่าจะไม่แต่งงาน สเปคของเราไม่ได้เอารูปร่างหน้าตาฐานะนำ เราคิดว่าคนที่เสียสละหายาก แล้วแกไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เจ้าชู้ แกเคยมีครอบครัวมาก่อน แต่ละครั้งก็โดนครอบครัวทิ้งไปก่อน เพราะรอแกที่ไปเข้าป่าไม่ไหว รอตอนติดคุกก็ไม่ไหว

ตอนนั้นคุณสุรชัยแสดงออกว่าชอบป้าน้อยไหม

แกก็รู้ว่าเราชื่นชมแก แกก็ชอบเรา ตั้งแต่ปี 2531 ที่รู้จักกัน เราได้มาเยี่ยม ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งทางจดหมายหรือว่าอัดเสียงคุยกัน มันเหมือนได้ศึกษาอุปนิสัยใจคอกันบ้างแล้ว พอแกขอแต่งงานกับเราปี 2539 ตอนนั้นแกยังไม่ได้ออกจากคุกเลย เราก็บอกว่าไม่ต้องแต่งก็ได้ ชอบกันเฉยๆ ก็พอ เพราะเราคิดว่าแกยังไม่มีโอกาสจะได้ออกมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกเลย ไม่ได้มีโอกาสไปศึกษาผู้หญิงคนอื่น เหมือนกับว่ารู้จักแต่เราคนเดียว มันเหมือนเห็นแก่ตัว เอาเปรียบแก

เราบอกแกว่าออกมาแล้วก็ไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่นดูก่อนก็ได้ ไม่ต้องมาดูแลเรา แล้วแกก็บอกเราว่า ถ้าเราจะรักใครชอบใคร เขาก็พร้อมที่จะรักคนนั้นเหมือนกับเป็นน้องเขาเหมือนกัน เพราะยังไม่รู้จะได้ออกวันไหน เราก็บอกว่าเราไม่คิดจะแต่งงานอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้แต่งกับคุณสุรชัย เราก็ไม่แต่งงาน พอแกออกมาแกก็มาขอเราแต่งงาน ตอนนั้นเรายังเป็นครูอยู่ที่ลำปาง

ออกจากเรือนจำมาแล้วไปขอแต่งงานทันทีเลยไหม

ยังค่ะ เพราะมันมีขั้นตอนอะไรเยอะแยะ เพื่อนฝูงพาไปกินเลี้ยงฉลอง พวกฝ่ายซ้ายก็พาไปคุยกับคนนั้นคนนี้ แกออกมาวันที่ 9 มิถุนายน จนถึงปลายเดือนแกถึงมาเยี่ยมเราที่ลำปาง แล้วก็ได้แต่งงานกันเดือนเมษายน ปี 2540

ตอนนั้นแกบอกว่าจะไปช่วยพรรคความหวังใหม่ทำงานการเมืองที่นครศรีธรรมราช แกอยากให้เราลาออกจากครู เพราะว่าการเดินทางมันลำบาก เหนื่อยและไกลด้วย เราก็เห็นใจ แล้วเราเองก็มีปัญหาเรื่องต่อมทอมซิลอักเสบ รำคาญตัวเอง ต้องตะเบ็งเสียงสอนหนังสือ เราก็คิดว่าถ้าลาออกก็จะได้พัก จึงลาออกมาเป็นแม่บ้าน

ย้ายไปอยู่บ้านคุณสุรชัยที่นครฯ

ใช่ค่ะ แต่บ้านเกิดแกจริงๆ อยู่ อ.ปากพนัง แต่หลังออกจากคุกแกก็ย้ายมาอยู่ใน อ.เมือง แล้วก็ตั้งใจทำงานการเมืองในระบบ เพราะแกเคยบอกว่าการเมืองแบบภาคประชาชนมันก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แกเลยเริ่มเรียนต่อจนจบ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

แกเป็นลูกคนจีนต่างด้าว แล้วใครจะทำงานการเมืองต้องจบปริญญาตรี ตอนอยู่ในคุกแกเรียนต่อจนจบมัธยมปลาย ก็คิดว่าพอแล้ว เพราะจะสมัครการเมืองระดับท้องถิ่นใช้วุฒิแค่มัธยมปลายพอ ปรากฏว่ากฎหมายปรับใหม่ เลยต้องเรียนเพิ่ม ก็เอาวุฒิไปสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด ทำได้ 3 ปี ก็มาสมัครวุฒิสมาชิก แต่ก็แพ้พรรคประชาธิปัตย์

แล้วช่วงนั้นก็โดนฟ้องล้มละลายเพิ่ม คดีปล้นเงินรถไฟนั่นแหละ ทั้งที่ถูกตัดสินโทษไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีการรื้อคดีออกมาใหม่ ศาลตัดสินให้ล้มละลาย และต้องชดใช้หนี้หนึ่งล้านสองแสนบาท แต่ก็มีการไกล่เกลี่ยกัน เพราะแกไม่มีปัญญาหาเงินมาได้มากขนาดนั้น ก็มีพรรคพวกแกช่วยจัดงานเล่นคอนเสิร์ตหาทุนมาช่วยแก และขอศาลประนอมหนี้ที่ 30 เปอร์เซ็นต์จากยอดเต็ม หลังจากนั้นแกก็ไปบวช ตอนแรกว่าจะบวชทดแทนคุณพ่อแม่ แต่พ่อแม่แกเสียตอนที่แกยังอยู่ในป่า ออกมาไม่ได้เพราะถูกดักจับ เลยมาบวชเอาทีหลัง

 

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

ป้าน้อยเห็นอะไรในตัวคุณสุรชัย ทำไมแกถึงต่อสู้ทางการเมืองมาจนอายุมากขนาดนี้

จริงๆ แล้วแกก็ไม่คิดจะมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร 2549 แกตั้งใจเขียนหนังสือขายอย่างเดียว แต่พอมีคนเชิญไปเป็นวิทยากรพูดเรื่องการเมือง ก็เริ่มมีคนเข้ามาขอให้ช่วยไปพูดที่นั่นที่นี่เสมอ และโดยบุคลิกแกเป็นคนประนีประนอม เวลาใครเดือนร้อนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ แกจะไปช่วยเจรจาให้ แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจ มักจะมองว่าแกเป็นคนหัวรุนแรง

ครั้งหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์เผาเรือนจำทุ่งสงที่นครศรีธรรมราช ผู้ต้องขังโกรธที่ได้รับการดูแลไม่ดี แกก็อาสาเข้าไปห้าม เพราะมีประสบการณ์ เกรงว่าจะมีคนสร้างสถานการณ์แล้วต้องมีคนบาดเจ็บล้มตาย แกไปเป็นตัวกลางช่วยประนีประนอม เพราะว่าผู้ต้องขังไม่ยอมเจรจากับข้าราชการ ไม่ไว้ใจ แกขออาสาเข้าไปเจรจาเอง พอเขารู้ว่าแกเคยเป็นนักโทษประหารมาก่อน ได้ยินกิตติศัพท์มาก็เชื่อถือ เขาก็ยอมให้เข้าไป

บางคนก็เข้าใจผิดว่าแกเป็นหัวหน้านำชาวบ้านไปทำลายโรงพัก ครั้งนั้นชาวบ้านไม่พอใจเพราะถูกจับหมวกกันน็อคบ่อย ตำรวจดักจับ เขาก็ไปชุมนุมหน้าโรงพัก มีการทุบทำลายทรัพย์สินราชการเสียหาย แกก็เข้าไปห้ามชาวบ้านว่าอย่าทำ เพราะแกเคยถูกจับจากที่มีคนกล่าวหาว่าแกเผาจวนผู้ว่าฯ มาก่อน แล้วตัวแกก็ไม่ได้ขับมอเตอร์ไซค์แล้ว แกขับรถยนต์

ยังมีหลายเรื่องที่แกไปช่วยเหลือ ชาวบ้านเดือดร้อนโดนไล่ที่ ชาวบ้านร้องเรียนหน่วยงานไหนก็ไม่มีใครสนใจ แกก็ทำหนังสือยื่นเรื่องไปทางกระทรวงว่ามีนักการเมืองท้องถิ่นแอบอ้างโครงการพระราชดำริ หลอกชาวบ้านจนต้องถูกไล่ที่ จนเรื่องถึงสำนักพระราชวัง ชาวบ้านก็ได้รับการช่วยเหลือ

แกเป็นคนต่อต้านรัฐประหารมาตลอด ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ พอปี 2549 แกทนไม่ไหว จิตใต้สำนึกแกบอกว่าต้องออกมาประท้วง ตอนนั้นยังอยู่ที่นครฯ แกขับรถไปยืนปราศรัยที่หน้าสถานีรถไฟคนเดียว ตอนนั้นคนทั่วไปก็ยังแค่ยืนฟังห่างๆ ไม่ได้มายืนมุง

พอชาวบ้านประชาชนคนทั่วไปที่รักความเป็นธรรม รวมตัวกันประท้วงหนักเข้าๆ เขาก็ไปรวมกันที่กรุงเทพฯ ระหว่างนั้นบ้านเราก็มีคนมาก่อกวน ยิงปืนขู่หน้าบ้าน ขว้างระเบิดขวดถูกหลังคาแตก แต่ทั้งหมดนี้เราคิดว่าแกไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว แกคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ

ตอนที่คุณสุรชัยพ้นโทษออกมา ป้าน้อยคิดไหมว่าชีวิตจะหนักขึ้นมาจนขนาดนี้

ไม่เคยคิดเลย เราลาออกจากการเป็นครูมา ก็ไม่คิดจะทำงานอีก เพราะว่าแม่เราป่วย ต้องคอยไปดูแล ก็ช่วยคุณสุรชัยขายหนังสือไป

เราไม่ได้มีลูกด้วยกัน เพราะตั้งใจจะไม่มี เราคิดว่าชีวิตแกไม่ราบรื่น อีกอย่างเราเคยเป็นครูมา ก็เห็นเด็กที่สอนส่วนใหญ่พ่อแม่จะแยกทางกัน เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ทำให้เด็กมีปัญหาขาดความอบอุ่น เราเลยคิดว่าถ้าชีวิตแกไม่ราบรื่น อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต

อีกอย่างที่เราเห็นตัวอย่างจากเพื่อนแก คือแกมีเพื่อนเป็นนักต่อต้านทุจริต เขาทำหน้าที่ไปเปิดโปงพวกบุกรุกป่าสงวน ก็คงไปขัดขวางผู้มีอิทธิพล เขาก็เลยส่งคนมายิงตาย คุณสุรชัยออกจากคุกมาได้ไม่กี่วันยังไปแบกศพเพื่อนเรียกร้องหาความเป็นธรรมที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่เลย

ช่วงหลังพอมีรัฐประหาร แกบอกว่าความยุติธรรมมันไม่มี อยู่เฉยๆ ไม่ได้ อยู่ไปรู้สึกไม่มีประโยชน์ ไร้คุณค่า

แล้วครั้งหลังสุด ที่พ้นโทษคดี 112 ออกมาปี 2556 คุณสุรชัยตั้งใจจะอยู่เงียบๆ ไหม

แกออกมาเดือนตุลาคม แต่พอรัฐประหาร 2557 แกต้องหลบหนีออกไปเพราะว่าคดี 112 ที่แกถูกฟ้องก่อนหน้านี้มีแค่ 5 คดี แล้วแกก็ต้องการสารภาพทั้งหมด เพราะแกไม่อยากตายในคุก พอพ้นโทษออกมา ปรากฏว่ามารู้ทีหลังว่ายังเหลืออีกคดี แกรู้สึกเหมือนว่าจะถูกแกล้ง เลยทนไม่ได้ ตัดสินใจหนีไป

อีกอย่างช่วงนั้นแกก็มีโรครุมเร้า ต้องผ่าตัดหลายครั้ง ตอนอยู่เรือนจำต้องผ่าตัดต่อมลูกหมาก จะขอตัวออกมารักษาโรงพยาบาลข้างนอกก็ยาก ทีแรกเขาจะให้ผ่าในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และต้องเสียเงินเอง เพราะใช้บัตรทองไม่ได้ นี่ก็แปลก

พอช่วงรัฐประหาร 2557 คุณสุรชัยคุยกับป้าน้อยว่าไง

แกถามเราว่า ถ้าแกจะหลบไป เห็นด้วยหรือไม่ ตอนนั้นเราสองคนยังนั่งขายหนังสือ หมวกกับเสื้ออยู่ที่ถนนอักษะ นปช. ชุมนุมใหญ่อยู่ที่นั่น พอวันที่ทหารประกาศกฎอัยการศึก มีการเอาลวดหนามมาล้อม แกก็ตัดสินใจหลบไปทันที เราก็นอนหลับไปไม่ได้พูดอะไร เพราะเป็นเรื่องที่เคารพการตัดสินใจของแก

เราคิดแค่ว่าถ้าแกต้องเข้าคุกอีกจะลำบาก เพราะตอนหลังแกป่วยบ่อย เป็นนิ่วในถุงน้ำดีอักเสบ ก็ต้องผ่าตัด ตอนจะผ่าตัดต่อมลูกหมากในเรือนจำ แกก็ยังเป็นโรคหัวใจ กินยาสลายลิ่มเลือดอยู่ แต่จะผ่าได้มันต้องหยุดยา แล้วต้องมีหมอโรคหัวใจมาดู แต่ในเรือนจำไม่มีหมอด้านนี้ ทำให้ผ่าไม่ได้ จนสุดท้ายทำเรื่องย้ายมาผ่าที่โรงพยาบาลตำรวจได้

ก่อนรัฐประหารก็เพิ่งผ่าตัดต้อกระจกไปได้ข้างเดียว อีกข้างยังไม่ทันได้ผ่า แต่นัดแล้ว พอรัฐประหารก็ต้องรีบหลบออกไป เรารู้สึกว่าออกไปดีกว่ามาเสียชีวิตในคุก

เคยสักครั้งไหมที่ป้าน้อยอยากให้คุณสุรชัยเลิกต่อสู้ทางการเมือง

ไม่เคยค่ะ เราคิดว่าระบอบประชาธิปไตยดีที่สุด ยังไงก็ต้องสู้ ประชาชนได้รับผลกระทบมาเยอะกับอำนาจเผด็จการ เราก็อยากจะให้บ้านเมืองมันเหมือนประเทศอื่นที่เขามีประชาธิปไตย เราคิดว่าการเรียกร้องมันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มันไม่น่าจะมีอะไรที่ร้ายแรง แต่ประเทศไทยเรามันไม่เหมือนประเทศอื่น พอใครลุกฮือขึ้นก็ถูกฆ่า ตายไปแล้วก็ยังถูกใส่ร้ายป้ายสี

นานแค่ไหนที่ไม่ได้คุยกัน หลังจากคุณสุรชัยหลบออกไป

ปีกว่าที่ไม่ได้คุยกัน พอปี 2558 แกก็ติดต่อมาทางไลน์ เลยได้คุยกัน แต่ไม่ได้คุยกันเยอะ แกถามเราว่าเป็นอย่างไรบ้าง เราก็บอกสบายดี แล้วก็บอกว่าเป็นห่วงแกไป แกก็บอกว่าไม่ต้องห่วง สบายกว่าอยู่ในเรือนจำ เพราะว่าอยู่ในเรือนจำเราไม่รู้ว่าจะป่วยตายตอนไหน

ระหว่างที่คุณสุรชัยไม่อยู่ ป้าน้อยหารายได้จากที่ไหน

ช่วงปี 2543 แกมีที่ดินอยู่ที่อ.กรุงชิง แล้วชาวบ้านแถวนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เพราะยังไม่มีเสาสัญญาณมาตั้ง แกก็ชักชวนคนรู้จักที่ทำงานที่เอไอเอสไปตั้งเสาสัญญาณบนที่ดินของเรา ให้เช่าปีละ 3,000 กว่าบาท ทีแรกแกให้โอนเข้าบัญชีแก ตอนหลังแกมอบอำนาจให้ตอนที่อยู่ในเรือนจำ แล้วบ้านส่วนหนึ่งก็แบ่งให้คนเช่า เดือนละ 2,000 กว่าบาท เราก็ใช้เงินส่วนนี้ดูแลตัวเอง

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

พอได้คุยไลน์กัน ป้าน้อยรู้สึกไหมว่าจะมีโอกาสได้เจอกันอีก

ตอนที่รัฐประหารใหม่ๆ เราก็ขออนุญาต คสช. จะออกไปเยี่ยมคุณสุรชัยเหมือนกัน เพราะเราถูก คสช. เรียกไปรายงานตัว เขากล่าวหาเรา 2 ข้อหา ข้อแรกคือจัดกิจกรรมหน้าศาลอาญาทุกวันอาทิตย์ เราก็ชี้แจงไปว่าเราไม่ได้เป็นคนจัดนะ คนเสื้อแดงจัดกันมาก่อนที่เราจะมา แต่ที่เรามาร่วมด้วยก็เป็นเพราะได้รับผลกระทบ เพราะว่าหัวหน้าครอบครัวเราไม่ได้รับการประกันตัว เราต้องมาขอความเมตตาศาล ก็ชี้แจงไปอย่างนี้

ข้อหาที่สองคือเขาบอกว่าเราเป็นคนไปเยี่ยมนักโทษมาตรา 112 ทุกคน ทุกวัน เราก็ต้องชี้แจงว่าไปตรวจดูได้นะ ไม่จริง เราจะไปเยี่ยมทุกวันถ้าคุณสุรชัยไปหาหมอ ไปขึ้นศาล หรือถ้าคุณสุรชัยไม่สบาย เราจะต้องไปคอยดูว่ามีใบสั่งยากลับมาไหม เพราะหมอที่เข้าไปอาทิตย์ละวัน ถ้าใครป่วย เขาจะเขียนใบสั่งยาไว้ที่ห้องที่เรายื่นเยี่ยม เขาก็จะบอกญาติในนี้ให้ไปที่ร้านจำหน่ายยาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เราก็ต้องรีบไปจ่ายค่ายาไว้ เพราะอีกอาทิตย์นึงหมอจะมาเบิกยาหน้าห้องไปให้

อยู่ข้างในนั้นลำบากมาก ขอยาได้แต่พาราเซตามอล มีน้องบางคนเขาบอกว่าเขาปวดฟัน กว่าจะขอได้ก็รอหลายวัน คนที่ปวดฟันก็คงจะเข้าใจว่ามันทรมาน แล้วมันไม่ได้กินทันที ไม่ใช่ว่าได้ครั้งละหลายเม็ดนะ ได้ทีละเม็ด เรือนจำเขามองว่าเป็นยาต้องห้าม บางคนทำเรื่องขอถอนฟัน แต่กว่าจะได้ถอนอีก 5 เดือน ความจริงเป็นแบบนี้

หลังจาก คสช. ปล่อยตัว เราก็ทำเรื่องขออนุญาตต้องการจะเดินทางไปหาคุณสุรชัย เพราะว่าเราลำบาก อยากกลับไปอยู่บ้านที่ลำปาง แต่ติดที่ว่าพวกชื่อบ้าน รถ โฉนดที่ดิน เป็นชื่อคุณสุรชัยหมด เราต้องการให้คุณสุรชัยได้เซ็นมอบอำนาจให้เรามีสิทธิ์ขายทรัพย์สิน เราจะได้มีเงินกลับไปที่บ้านเกิด เพราะอยู่ที่นครฯ เราไม่มีใคร อยู่คนเดียว

คสช. ก็อนุญาตให้เราออกไป แต่ไปแล้วก็หาไม่เจอ เพราะเราไม่รู้จะไปตามหาที่ไหน ไปถึงแค่บขส.ลาว ไปสอบถามตำรวจลาวมั่ง ถามคนไทยที่ไปขายของที่นั่นบ้างว่ารู้จักไหม ก็ไม่มีใครรู้เลย เอารูปให้ดูก็ไม่มีรู้จัก ตามหาไม่ถูก ก็ต้องกลับ คสช.ให้เวลาแค่ 5 วัน เราก็ไปครบ 5 วัน เช่าโรงแรมอยู่แถวบขส. ตอนนั้นเพิ่งรัฐประหารไม่นาน จนอีกปีกว่า คุณสุรชัยถึงได้โทรมาทางไลน์ถึงได้สบายใจ แล้วจากนั้นก็ไม่ได้คิดจะไปหาอีกเลย

 

เคยเผื่อใจไว้ไหมว่า ชะตากรรมของคุณสุรชัยจะลำบากขนาดไหน

เผื่อค่ะ เพราะว่าแกพูดประจำ บางทีพูดบนเวที บางทีพูดผ่านยูทูปว่าชีวิตนักต่อสู้นักปฏิวัติที่สู้เพื่อประชาธิปไตย มีอยู่ 3 ทางให้เลือก ไม่หนีก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ตาย แต่ว่าจะให้หยุดต่อสู้โดยที่สถานการณ์การเมืองไม่ปกติก็ทำไม่ได้ เพราะต่อให้กลับไปอยู่บ้านเงียบๆ ก็ยังถูกตามล่าตามยัดคดีอยู่แล้ว อีกอย่างคือแกอยากจะเป็นคนที่พอตายแล้ว มีคนเขียนบนหลุมฝังศพว่าเป็นคนดีของแผ่นดิน แกจะภูมิใจที่ได้เป็นประกายเล็กๆ

ที่ผ่านมาป้าน้อยบอกว่าคุณสุรชัยไม่ใช่คนหัวรุนแรง เป็นคนประนีประนอม ทำไมการพูดเรื่องสังคมนิยม พูดปฏิวัติประชาธิปไตยของคุณสุรชัยถึงต้องถูกกระทำขนาดนี้

เราไม่เคยคิดว่าจะเกิดความรุนแรงขนาดนี้ เพราะไม่มีอะไรจะแค้นเคืองกัน แค่ความเห็นต่าง ไม่ใช่ฆาตกร เป็นความคิดต่างที่ประเทศเจริญแล้วหรือพัฒนาแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่น่าทำกันรุนแรงถึงขนาดเอาชีวิตกันในลักษณะที่เหี้ยมโหด

ตอนนี้เราแค่วิงวอนขอให้ได้ศพคืนมา เพื่อจะได้มาทำบุญให้ตามศาสนา แล้วก็จะได้ทำนิติกรรมต่างๆ ได้ ไม่อย่างนั้นตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้ ไม่มีใบมรณบัตร ก็จัดการเรื่องทรัพย์สมบัติที่จะแบ่งให้ครอบครัว ให้ลูกๆ ที่เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ลูกของแกก็ใช่ว่าจะสบาย ทุกคนลำบากหมด ถ้าจัดการเรื่องทรัพย์สมบัติได้ ลูกหลานก็จะได้มีทุนการศึกษา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ป้าน้อยรู้สึกกับสังคมไทยทุกวันนี้อย่างไร

ปกติก็โหดร้ายอยู่แล้ว ประชาชนถูกปราบมาตลอดเวลา เราคิดว่าจิตสำนึกของผู้มีอำนาจของประเทศนี้ไม่มีความเมตตา ไม่มีความเป็นธรรม มีแต่ความโลภ เอารัดเอาเปรียบ ถ้าพูดตามคำของพุทธทาส เข้าใจง่ายๆ คือคำว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ

ความเห็นแก่ตัวนี้มันทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า คนเรามันต้องมีเมตตาธรรม เมตตาธรรมค้ำจุนโลก แต่ผู้มีอำนาจไม่มีความคิดอยากเห็นประชาชนคนไทยมีความเจริญก้าวหน้า

ปีนี้ป้าน้อยอายุครบ 60 ปี ป้าน้อยยังมีความหวังที่จะเห็นสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยไหม

ตัวคุณสุรชัยก็หวัง แม้ว่าชั่วชีวิตของแกจะยังไม่เห็น ส่วนตัวเราก็ยังหวังอยู่ว่าประชาชนจะอยู่ได้อย่างปกติสุข คุณสุรชัยเองก็ยังคาดว่าอาจจะได้กลับบ้านกันกลางปี 2562 นี้ด้วยซ้ำ ถ้ามีการเลือกตั้ง และมีการฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วก็อาจจะมีนิรโทษกรรมทางการเมือง คนลี้ภัยจะได้กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ

มองไปข้างหน้า ป้าน้อยมองเห็นอนาคตบ้างไหม

ถ้าไม่มีการยึดอำนาจอีก ก็คงจะมีอนาคต แต่ถ้ายังวนเวียนเป็นวงจรอย่างนี้ก็ยาก จะเป็นสังคมที่มีแต่ความแค้นไม่จบไม่สิ้น ผลัดกันชิงอำนาจไม่จบสิ้น

ป้าน้อยเคยคิดไหมว่า การเป็นประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองต่างจากผู้มีอำนาจ จะมีรายจ่ายแพงถึงชีวิตขนาดนี้

เราก็เห็นแบบนี้มาทุกยุคสมัย ประชาชนถูกปราบปราม ถูกทำร้ายเข่นฆ่า ผู้มีอำนาจใช้ปืนกระทำต่อประชาชนมือเปล่า เราก็ไม่รู้ว่ามันจะหยุดเมื่อไหร่ บอกไม่ได้ มันอยู่ที่ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ ว่าจะพอหรือยัง

ถ้าเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ทุกอย่างมันไม่มีบังเอิญ ทุกอย่างมันเป็นกรรม เป็นวัฏจักร ถ้ายังอาฆาตแค้นกันไม่รู้จักจบจักสิ้น ไม่อโหสิกรรม ไม่เลิกแล้วต่อกัน เราก็จะอยู่กันไปแบบนี้

เราก็ขออย่าให้จองเวรจองกรรมกัน คุณสุรชัยกับน้องทั้งสองคนก็เหมือนกัน ถ้าดวงวิญญาณรับรู้ก็ขอให้อโหสิกรรมกัน ส่วนตัวเราอโหสิกรรมแล้ว

ภรรยา ‘สุรชัย’ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save