fbpx
แด่คนรักที่หายไป หวังว่าพรุ่งนี้โลกจะโหดร้ายน้อยลง

แด่คนรักที่หายไป หวังว่าพรุ่งนี้โลกจะโหดร้ายน้อยลง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

บ่ายวันที่ 12 มีนาคม 2562 แดดจัดอากาศร้อนอบอ้าว การได้หลบไอร้อนในสถานทูตเนเธอร์แลนด์อันแสนร่มรื่นที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ นับว่าน่ารื่นรมย์ไม่น้อย เว้นแต่วาระที่ทำให้นักข่าวและคนทำงานในแวดวงสิทธิมนุษยชนมารวมตัวกันแน่นขนัดนั้น เป็นบรรยากาศที่ออกจะน่าเศร้าใจ

12 มีนาคม 2547 เป็นวันที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปและไม่กลับบ้านอีกเลย ผ่านมา 15 ปี ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงการจากไปของทนายสมชายและเหยื่ออุ้มหายทุกคน ในวันที่หลายครอบครัวยังไม่ได้รับความจริงกลับคืนมา

ตลอดห้วงเวลาในอาชีพนักข่าวที่ผ่านมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฉันจะเอาความรู้สึกไปผูกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้และสิ่งที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองของเรา เมื่อประเด็นเรื่องคนถูกอุ้มหายเป็นเรื่องที่ฉันติดตามมาตั้งแต่เริ่มงานนักข่าว

ฉันติดตามทำข่าวนี้ด้วยเหตุจากความหวาดหวั่น กลัวว่าคนในครอบครัวจะกลายเป็นเหยื่อจากการแสดงออกทางการเมือง กลัวว่าตัวเองก็มีโอกาสถูกทำให้หายไป กลัวว่าใครก็ได้สามารถถูกอุ้มหายโดยรัฐแล้วจะไม่มีการเอาผิดคนทำ การเลือกยืนอยู่ข้างเหยื่อจากความรุนแรงโดยรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อครอบครัวเหยื่อถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวในกระบวนการยุติธรรม

ฉันติดตามข่าวนี้ด้วยความหวังว่าอยากอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น มีหลักประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ใช้การอุ้มหายเป็นเครื่องมือในการกำจัดคนเห็นต่างอีก หวังอยากให้ครอบครัวผู้สูญหายทุกบ้านได้รับความจริงและการเยียวยา การเกิดขึ้นของกระบวนการร่างกฎหมายป้องกันการทรมานและการอุ้มหายในปี 2557 จึงเป็นความหวังทั้งกับครอบครัวเหยื่อและตัวฉันเอง ในฐานะประชาชนที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายนี้ด้วย

แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นในช่วงรัฐบาลทหารที่ตัวเลขกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนพุ่งสูง และถึงแม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีการเตะถ่วง โหวตคว่ำร่าง ดึงมาตราที่สำคัญออกจนเปิดช่องให้มีการละเมิดได้ แต่ก็เป็นแสงความหวังอันริบหรี่ให้ครอบครัวเหยื่อมีอะไรจับต้องได้จากความว่างเปล่า

แต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา กฎหมายฉบับนี้ถูกถอดออกจากวาระการพิจารณาของ สนช. โดยไม่ทราบสาเหตุ และน่าจะเป็นสัญญาณให้เห็นแล้วว่าเส้นทางหลายปีที่ผ่านมาของกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นสิ่งไร้ค่า เมื่อเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ สนช. จะหยุดพิจารณากฎหมายก่อนการเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์

 

อังคณา นีละไพจิตร ภาพโดย benarnews.org

 

“การเขียนกฎหมายนี้เหมือนเป็นการเขียนด้วยความกลัว หวาดระแวงว่ากฎหมายนี้อาจมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและขัดขวางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ กฎหมายนี้จึงมุ่งปกป้องเจ้าหน้าที่มากกว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน” เป็นสิ่งที่ทำให้ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของสมชาย หวังจะสานต่อกฎหมายนี้ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

15 ปีที่ผ่านมา อังคณาและครอบครัวถูกพรากคนรักด้วยการอุ้มหาย เป็นช่วงเวลา 15 ปี ที่อังคณาเดินทางไปทุกที่ที่คิดว่าจะมีหลักฐานถึงการเสียชีวิตของสามี พร้อมๆ กับการตามหาความยุติธรรมที่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เจอ

“นับแต่วันแรกที่สมชายหายตัวไป ดิฉันตามไปทุกที่ แสดงให้เห็นว่าดิฉันใส่ใจและติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดิฉันไปทุกที่ที่เชื่อว่ามีการฆ่าและทำลายศพ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำลายวัตถุระเบิดในค่ายทหาร สถานที่ทิ้งขยะในแม่น้ำ ดิฉันไปศาลทุกวันที่มีการพิจารณาคดี นั่งเผชิญหน้าตำรวจห้าคนที่เป็นจำเลยในช่วง 5 เดือนของการพิจารณาคดีในศาล มีหลักฐานว่ามีการนำเศษชิ้นส่วนกระดูกของสมชายหลังถูกเผาในถังน้ำมันไปทิ้งแม่น้ำแม่กลอง แต่หลังค้นหาและตรวจพิสูจน์ก็พบว่าไม่ใช่สมชาย เป็นกระดูกใครไม่ทราบ อาจเป็นคนที่ถูกทำให้หายไปโดยที่ไม่มีการพิสูจน์ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร

“น่าเสียใจว่าหลังจากสมชาย เรายังเห็นเหยื่อบังคับสูญหายในไทยอีก เชื่อว่าทุกสิ่งที่ดิฉันทำใน 15 ปีที่ผ่านมาจะทำให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน อยากเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาทวงถามรัฐว่าเราจะไม่เห็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป”

เป็นคำกล่าวส่วนหนึ่งของอังคณาต่อหน้าครอบครัวเหยื่อคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน

ฉันไล่สายตาไปยังคนที่นั่งแถวหน้าและกำลังฟังอังคณาอย่างตั้งใจ อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ซุยเม็ง เอิง ภรรยาสมบัด สมพอน นักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวลาว พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยา บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง จนมาถึง ป้าน้อยปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

 

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภาพโดย ยศธร ไตรยศ

 

ฉันไม่คิดว่าจะได้เจอป้าน้อยในงานนี้ ไม่มีใครอยากปรากฏตัวในฐานะครอบครัวเหยื่อ ไม่มีใครอยากจากคนที่รัก โดยเฉพาะด้วยวิธีการเหี้ยมโหดผิดมนุษย์ แต่โลกก็หยิบยื่นประสบการณ์เลวร้ายเกินคาดเดามาให้โดยที่เราไม่มีทางปฏิเสธ

เดือนเมษายนนี้จะครบรอบ 22 ปีชีวิตแต่งงานของป้าน้อยกับสุรชัย แต่ฝ่ายชายถูกบังคับให้จากไปก่อนได้ฉลองครบรอบแต่งงาน

ฉันคิดว่าเป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงที่พวกเราไม่สามารถหยุดความเลวร้ายที่กระทำโดยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ หลังจาก 15 ปีการจากไปของทนายสมชายก็ยังมีคนถูกอุ้มหายอีกเรื่อยๆ นอกจาก 82 กรณีที่สหประชาชาติบันทึกไว้แล้ว เราไม่สามารถคลี่คลายอาชญากรรมนี้ได้ แต่กลับเพิ่มจำนวนคนถูกอุ้มหายให้มากขึ้นอีก เช่นที่ป้าน้อยต้องมานั่งในงานรำลึกในฐานะครอบครัวผู้ถูกอุ้มหายจากการหายตัวไปของสามีเมื่อ 3 เดือนก่อน

 

ซุยเม็ง เอิง ภาพโดย benarnews.org

 

หนึ่งในคำกล่าวของครอบครัวเหยื่อที่ฉันอยากถ่ายทอดต่อ คือสิ่งที่ ‘ซุยเม็ง เอิง’ ภรรยาของสมบัด สมพอน พูดกับ อังคณา นีละไพจิตร ในฐานะภรรยาที่สามีถูกบังคับให้สูญหายและยังไม่ได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกัน

“ฉันจะไม่พูดเรื่องสมบัดนักเพราะเคยพูดมาหลายครั้งแล้ว วันนี้ครบรอบ 15 ปีการหายตัวไปของคุณสมชาย ฉันขอยืนหยัดร่วมกับครอบครัวนีละไพจิตรในการต่อสู้โดยไม่ท้อถอย เพื่อให้ความจริงและความยุติธรรมแก่คุณสมชาย ฉันจะร่วมยืนหยัดในความเจ็บปวดที่ไม่ควรมีภรรยา ลูกสาว หรือลูกชายคนใดควรประสบจากการที่คนที่เรารักถูกดึงออกจากอ้อมอกไป ฉันจะยืนหยัดในความเป็นหนึ่งเดียวกับความเจ็บปวดและความโกรธแค้นจากการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดจากกระบวนการอยุติธรรม แม้ว่าเราจะมีหลักฐานมากมาย แต่ยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังลอยนวลได้

“ในฐานะภรรยาของเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหาย ฉันเข้าใจว่าคุณต้องผ่านอะไรมา เพราะฉันก็ต้องผ่านความเจ็บปวดเช่นเดียวกัน นอกจากความเจ็บปวดที่ต้องเจอมา 15 ปี คุณได้แสดงให้ประชาชนคนไทยรู้ว่าคุณจะไม่ยอมแพ้ 15 ปีที่ผ่านมาคุณอังคณากลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับความอยุติธรรมในการบังคับให้สูญหาย และเป็นเสียงให้เหยื่อคนอื่นๆ

“คุณยังเคยยื่นมือมาหาฉันเมื่อสมบัดหายไปในปี 2012 ช่วงที่ฉันกำลังเศร้าและสิ้นหวังอย่างมาก ฉันไม่รู้ว่าจะทำยังไง ไม่รู้จะหันไปหาใคร ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะอะไร คุณมาหาฉันและทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้น เพียงแค่นั่งข้างๆ และกุมมือฉันไว้

“วันนี้เมื่อฉันได้เจอป้าน้อย ลูกชายทนง ภรรยาบิลลี่ ฉันโกรธเมื่อเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ฉันโมโหที่อาชญากรรมของรัฐถูกปล่อยให้ลอยนวลและดำเนินต่อไปได้ในประเทศของเรา เราคือประชาชนธรรมดาที่คาดหวังให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐสนับสนุนและปกป้องเรา ไม่ใช่กลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเรา แต่เราถูกทำให้รู้สึกซ้ำๆ ว่าเป็นอาชญากร และทำให้รู้สึกว่าบุคคลที่รักของเราที่สูญหายไป เป็นบุคคลที่อยู่ตรงข้ามกฎหมาย

“ลองมาดูกันว่า คนในครอบครัวที่เรารักที่หายไป เขาทำอะไร เขาละเมิดกฎหมายอะไร ‘สมชาย นีละจิตร’ เป็นทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง เขาช่วยเหลือด้านกฎหมายให้มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขารณรงค์ต่อต้านหน่วยงานรัฐให้ยุติการทรมาน และเขาถูกทำให้สูญหาย ‘สมบัด สมพอน’ เป็นผู้นำชุมชนที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างมาก เป็นคนที่รณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิที่ดินเพื่อคนยากจนในลาว ‘บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ’ เป็นนักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงที่ทุกคนรู้จัก เขาต่อสู้เพื่อสิทธิชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงให้มีสิทธิและเข้าถึงที่ดินในผืนป่าที่บรรพบุรุษของเขาอยู่มายาวนาน รวมถึงต่อสู้เพื่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

“คนพวกนี้เป็นอาชญากรอย่างนั้นหรือ พวกเขาเป็นเพียงคนธรรมดาที่สนใจสังคม และลุกขึ้นมาปกป้องคนที่ไม่มีเสียงในสังคมเรา นั่นคืออาชญากรรมและความอยุติธรรมของการบังคับให้สูญหาย เป็นเหตุผลที่ฉันและครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายต้องสู้ เพื่อให้เสียงเราได้ยิน เพื่อให้ความจริงและความยุติธรรมแก่คนที่เรารัก

“15 ปีแล้วที่สมชายหายไป 15 ปีแล้วที่อังคณาสู้เพื่อความยุติธรรมและความจริง ถึงเวลาแล้วที่ต้องมอบความยุติธรรมและความจริงให้สมชาย นีละไพจิตร กับครอบครัวของเขา และยุติสิ่งที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหายอื่นๆ”

สิ่งที่ซุยเม็งพูด เข้าเกาะกุมความรู้สึกของฉันและยิ่งยืนยันถึงความจำเป็นที่คนอื่นๆ จะต้องร่วมยืนข้างครอบครัวเหยื่อ เพื่อให้ได้คืนความจริงและความยุติธรรมแก่คนที่พวกเขารัก

ก่อนทุกคนจะแยกย้าย ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวสมชาย กล่าวส่งทุกคนกลับบ้านพร้อมรอยยิ้ม

“หวังว่าเราจะได้ฟังเพลงรื่นเริงและเฉลิมฉลองกันบ้าง ในวันที่ทุกครอบครัวของผู้สูญหายได้รับความจริงและความยุติธรรม”

 

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save