fbpx
เปิดกว้าง หรือ ปิดกั้น? ปัญหา ‘ผู้ลี้ภัย’ ในวันที่โลกหมุนวนขวา

เปิดกว้าง หรือ ปิดกั้น? ปัญหา ‘ผู้ลี้ภัย’ ในวันที่โลกหมุนวนขวา

นับแต่วันที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ของ ‘ผู้ลี้ภัย’ ก็ตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน และอาจเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความหวาดกลัวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิม

 

1

ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก ‘ทรัมป์’ เข้าบัญชาการในทำเนียบขาว

ความพยายามผลักดันนโยบายที่กีดกันชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศมุสลิม ส่งแรงกระเพื่อมระลอกใหญ่ ทั้งกับคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอเมริกา รวมถึงผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในระหว่างการคัดกรองเข้าประเทศ ชูแนวคิด ‘America First’ เพื่อทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ดังวลี ‘Make America Great Again”

ทาร่า ซัตตัน (Tara Sutton) นักข่าวท้องถิ่นชาวจอร์แดน เขียนบทความบอกเล่าถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศของเธอลงเว็บไซต์ The New Yorker เธอเล่าว่ามาตรการของทรัมป์ ทำให้บรรดาผู้ลี้ภัยตกอยู่ในภาวะเคว้งคว้าง ความหวังที่จะได้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกาดูเลือนราง และยิ่งริบหรี่ลงไปอีกเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเป็นมุสลิม

เนื่องด้วยจอร์แดนเป็นประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยชั่วคราว (first asylum) ผู้ลี้ภัยจึงไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนสถานะเป็นพลเมือง และการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่รื่นรมย์เท่าไหร่นัก เพราะต้องเผชิญกับการ ‘เหยียด’ สารพัดรูปแบบ

ทาร่าเล่าว่าในระหว่างที่เธอเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัย ชายชาวซีเรียคนหนึ่งเปิดรูปในมือถือให้เธอดู ‘มีม’ ที่กำลังถูกส่งต่อกันในโลกออนไลน์ รูปแรกปรากฏชายถือปืน เด็กสาว และร่างของสิงโต พร้อมข้อความว่า “นี่คือฮีโร่ที่ช่วยชีวิตเด็กสาว” รูปถัดมาเป็นรูปเดียวกัน ต่างกันตรงที่มีการระบุว่าชายคนนั้นเป็นมุสลิม และเปลี่ยนข้อความเป็น “ผู้ก่อการร้ายฆ่าสิงโต!”

ปัจจุบันจอร์แดนมีผู้ลี้ภัยที่ขึ้นบัญชีอย่างถูกต้องราวๆ เจ็ดแสนคน และที่ลักลอบเข้ามาอีกนับไม่ถ้วน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่หนีภัยสงครามมาจากตะวันออกกลาง

 

2

ข้ามฝั่งมาที่ออสเตรเลีย นโยบายดังกล่าวของทรัมป์ส่งผลโดยตรงข้อตกลงเรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยที่เคยทำไว้ในรัฐบาลโอบามา

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า อเมริกาจะช่วยเหลือออสเตรเลียในการเปิดรับผู้ลี้ภัยที่ติดค้างอยู่บนเกาะมานัส (Manus) และเกาะนาอูรู (Nauru) นอกชายฝั่งปาปัวนิวกีนี ซึ่งเป็นสถานที่รองรับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในการดูแลของรัฐบาลออสเตรเลีย

ข่าวใหญ่ที่ปรากฏออกมา ยกประเด็นการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์ กับ นายกฯ ของออสเตรเลีย ว่าด้วยข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็น ‘ข้อตกลงโง่ๆ (dumb deal)’ และเขาไม่ต้องการเปิดรับ ‘มือระเบิดบอสตันคนต่อไป’

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยจำนวนกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่ระหกระเหินจากภัยสงครามและอพยพมาทางเรือ ยังต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพบนเกาะนาอูรู และ เกาะมานุส ต่อไป ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่และการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สืบเนื่องจากเรื่องนี้ Pew Research Center ได้สำรวจความเห็นของคนในออสเตรเลีย และ อเมริกา ว่าด้วยการเปิดรับความหลากหลายของคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยมีคำถามที่น่าสนใจอยู่หลายข้อด้วยกัน

ข้อแรกถามว่า คุณคิดว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรที่มาจากต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา จะทำให้ประเทศของคุณ ‘น่าอยู่’ ขึ้นหรือไม่ ผลปรากฏว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ คิดว่าความหลากหลายของประชากรจะทำให้ประเทศน่าอยู่ขึ้น เช่นเดียวกับผลสำรวจในอเมริกา แสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียรวมถึงอเมริกาค่อนข้างมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย

ทว่าเมื่อดูผลสำรวจในคำถามอีกข้อ ซึ่งถามถึงความเห็นที่มีต่อชาวมุสลิม ว่าคุณคิดว่าชาวมุสลิมในประเทศของคุณ ต้องการคงอัตลักษณ์และวิถีของพวกเขาไว้ หรือต้องการปรับเปลี่ยนวิถีให้เป็นเข้ากับประเทศคุณ

ผลปรากฏว่า ความเห็นกลับถูกแบ่งเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ทั้งในออสเตรเลียและอเมริกา

ฝั่งหนึ่งมองว่าคนมุสลิมในประเทศ ต้องการรักษาอัตลักษณ์และวิถีแบบมุสลิมไว้ ขณะที่อีกฝั่งมองว่าคนมุสลิมสามารถเปลี่ยนวิถีให้เข้าขนบประเพณีของประเทศของพวกเขาได้ นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ทั้งในออสเตรเลียและอเมริกา ยังเห็นไปในทางเดียวกันว่า ‘การพูดภาษาอังกฤษ’ คือเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติ และพวกเขาจะพึงพอใจมากกว่าถ้าคนต่างเชื้อชาติพูดภาษาอังกฤษ

 

3

อีกผลสำรวจจาก Pew Research Center ชี้ว่าประชาการมุสลิมกำลังมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจากเดิมที่ประชากรมุสลิมมีสัดส่วนเป็น 23% ของประชากรทั้งโลกในปี 2010 จะเพิ่มขึ้นเป็น 30 % ในปี 2050

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ชาวมุสลิมเป็นกลุ่มคนที่มีลูกหลานมากกว่าเมื่อเทียบกับคนศาสนาอื่นๆ โดยผู้หญิงมุสลิมจะมีลูกเฉลี่ย 3.1 คน และมักสร้างครอบครัวในขณะที่อายุยังน้อย ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของชาวมุสลิมนั้นน้อยที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน และนั่นจะทำให้ศาสนาอิสลามกลายเป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ แทนที่ศาสนาคริสต์

นับแต่เหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดในปี 2001 มาจนถึงการเกิดขึ้นของกลุ่ม ISIS ภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมถูกเคลือบคลุมด้วยความหวาดระแวง กระแส ‘Islamophobia’ (ความหวาดกลัวอิสลาม) ลุกลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

Pew Research Center ได้เสนอผลการสำรวจที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งว่า ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกตื่นตระหนกกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ISIS และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอื่นๆ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกต่างก็ตื่นตระหนกและ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นกัน

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ผลจากความเกลียดชังและหวาดระแวงที่เกิดขึ้นนั้น สุดท้ายแล้วก็ไปตกอยู่กับบรรดาผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวมุสลิมนั่นเอง ที่ต้องเผชิญกับภาวะหนีเสือปะจระเข้ และมีแนวโน้มว่าจะต้องลอยคอ-รอคอยต่อไปอย่างไร้จุดหมาย

โดยเฉพาะในยามที่โลกกำลังเหวี่ยงจากซ้ายไปขวา

 

 

อ่านเพิ่มเติม

-งานวิจัย Muslims จาก Pew Research Center, April 2, 2016

-งานวิจัย Diversity welcomed in Australia, U.S. despite uncertainty over Muslim integration ของ Jacob Poushter จาก Pew Research Center, February 6, 2017 

-ข่าว US officials stop vetting Nauru refugees for resettlement ของ Rod Mcguirk จาก AP news, February 9, 2017

-ข่าว WAITING FOR RESETTLEMENT IN THE AGE OF TRUMP ของ Tara Sutton จาก The New Yorker, February 11, 2017

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save