fbpx

รีไซเคิลบนดิน-ความสูญสิ้นของสายน้ำ: ‘โรงงานรีไซเคิลคลองกิ่ว’ ความผิดแทบทุกตารางนิ้วที่กฎหมายกลายเป็นเศษกระดาษ

รีไซเคิล

1

ชีวิตยามสายน้ำติดเชื้อ

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในช่วงเดือนมีนาคม เราเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อสำรวจพื้นที่แห่งหนึ่ง – พื้นที่ที่ใครหลายคนบอกว่า ‘สายน้ำแห่งนี้ติดเชื้อ’

สายน้ำติดเชื้อไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติหรือน้ำมือของชาวบ้านตำบลคลองกิ่วคนไหนแต่อย่างใด แต่สายน้ำแห่งนี้เปลี่ยนไปตั้งแต่ยักษ์ตนหนึ่งก้าวเข้ามา ยักษ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนละแวกนี้ไปตลอดกาล

‘ยักษ์’ ที่เราหมายถึงคือโรงงานที่มีพื้นที่กว้างขวางขนาด 88 ไร่ที่เข้ามาตั้งในพื้นที่ โรงงานที่ตั้งขึ้นในนามของการ ‘รีไซเคิล’ ซึ่งหมายถึงการนำเอาวัตถุสิ่งของมาผ่านกระบวนการปรับแต่งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง – ท่ามกลางความสะอาดและคำพูดอันสวยหรู – อาจทำให้ชีวิตของใครบางคนต้องเปลี่ยนแปลงไป เฉกเช่นชาวบ้านในหมู่ที่ 4 ตำบลคลองกิ่วแห่งนี้

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนมากพอจนทำให้ผู้คนไม่อยากเดินออกจากบ้าน เราพบควายตัวหนึ่งอยู่ท่ามกลางดงไม้และใบหญ้าระเกะระกะ เมื่อเดินไปอีกนิดเราก็พบแหล่งน้ำแห่งแรก – แหล่งน้ำอันเป็นต้นเหตุที่เราต้องเดินทางมาเยือนที่นี่

เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศคนหนึ่งสวมชุดคลุมทั้งตัวเหมือนกำลังจะบุกไปยังพื้นที่อันตรายจากสารเคมีในภาพยนตร์สักเรื่อง ทันใดนั้นเขาค่อยๆ หย่อนกายลงไปเพื่อเก็บ ‘บางอย่าง’ จากสายน้ำ บ่อน้ำแห่งนี้ลึกในระดับท่วมครึ่งตัวเขา แต่เขายังมุ่งมั่นหาคำตอบที่เรากำลังสงสัยด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำขึ้นมาตรวจ

การเดินทางครั้งนี้เราติดสอยห้อยตามมากับ ‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’ ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงงานรีไซเคิล ขยะนำเข้า และกากอุตสาหกรรม ภารกิจในวันนี้ของพวกเขาคือการเก็บตัวอย่างน้ำ ทั้งน้ำบนดิน น้ำใต้ดินและน้ำบาดาล เพื่อพิสูจน์ว่าแหล่งน้ำของชาวบ้านรอบโรงงานนั้นเป็นสายน้ำติดเชื้อจริงหรือไม่

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่จากบูรณะนิเวศเก็บตัวอย่างน้ำ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเปิดบทสนทนากับใครสักคน ใครที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้นานพอจะเล่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในพื้นที่ตั้งแต่สายน้ำแห่งนี้ยังไม่ติดเชื้อให้เราฟัง – ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น คือคนแรกที่เราเริ่มเปิดบทสนทนาด้วย

ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น

“ปกติผมใช้น้ำจากบ่อน้ำที่พวกเขากำลังตรวจไว้เลี้ยงไก่ แต่ตอนนี้ต้องหยุดเลี้ยงไปแล้ว หรือเมื่อปลูกต้นมะพร้าว พอน้ำใช้ไม่ได้ เราก็ต้องจำใจปล่อยให้ตาย” ประดิษฐ์ แซ่ตั๊น ย่นย่อชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโรงงานมาตั้งผ่านประโยคสั้นๆ สะท้อนว่าเขาอาศัยและใช้ชีวิตร่วมกับสายน้ำติดเชื้อแห่งนี้นานพอที่จะเห็นผลกระทบจากมันอย่างชัดเจน

“ตั้งแต่ช่วงเมษายน 2565 น้ำแถวนี้กลายเป็นน้ำเสียและเค็ม จากที่ปกติสัตว์ต่างๆ เช่น หมาจะเดินไปกินน้ำด้วยตนเองในสระน้ำใช้บ้าง บ่อน้ำบ้าง แต่ช่วงหลังพวกมันไม่กินเลยจนเราต้องไปหาน้ำจากที่อื่นมา ในช่วงนั้นเราเองก็หาต้นสายปลายเหตุไม่ได้ จนกระทั่งมีหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบโรงงานและเราก็ติดตามไปด้วย ทำให้เราทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง”

ประดิษฐ์เลี้ยงชีพด้วยการเป็นเกษตรกรและเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 30 ปี เขาเล่าให้ฟังว่าเคยเลี้ยงมาทั้งไก่เนื้อไก่ไข่ และเลี้ยงผ่านมาแล้วหลายรุ่น เขาเล่าไปถึงวิธีการเลี้ยงไก่ว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อไก่คืออะไร จากเรื่องเล่าของประดิษฐ์ทำให้เดาไม่ยากว่าเขาคงเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเลี้ยงไก่คนหนึ่ง แต่ปัจจุบันประดิษฐ์ต้องละทิ้งกิจการที่ทำอยู่ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมาลง

“หากเราฝืนเลี้ยงไก่ต่อไปก็มีแต่ขาดทุน เพราะปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงไก่ คือต้องมีน้ำที่ไม่ปนเปื้อนและอากาศที่ดี ซึ่งถ้าไม่เป็นแบบนั้นไม่เลี้ยงดีกว่า ผมจึงตัดสินใจขายไก่ทิ้ง”

สามล้านบาทต่อปี คือกำไรที่ประดิษฐ์ได้ต่อปีจากการดำเนินกิจการเลี้ยงไก่ แต่ในปัจจุบัน ประดิษฐ์หันมาเลี้ยงวัวและควาย เพราะธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้สามารถหากินด้วยตนเองได้ ต่างจากไก่ที่ต้องเลี้ยงในระบบปิดเท่านั้น

“รายได้หลักตอนนี้ของผมได้จากการปลูกมัน มะพร้าว และปาล์ม แต่ผมต้องไปปลูกในพื้นที่ที่ดินสูงกว่าโรงงาน เพื่อไม่ให้น้ำจากโรงงานไหลขึ้นไปได้ แต่นานๆ ไปสารพิษคงซึมลงไปในดินอยู่ดี” ประดิษฐ์ว่า

ใครจะไปคิดว่าตัวเลข 1 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะห่างจากบ้านของประดิษฐ์กับโรงงานรีไซเคิลขนาดยักษ์ เพื่อนบ้านที่ประดิษฐ์อาจไม่อยากต้อนรับ จะสร้างความเสียหายและสร้างความสูญเสียให้กับเขาได้มากเช่นนี้

สำหรับน้ำที่เขาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ ประดิษฐ์ตัดสินใจต่อท่อจากบ่อน้ำในพื้นที่ที่สูงกว่าโรงงานลงมาใช้ แต่บ่อน้ำในปัจจุบันไม่ใช่บ่อแรกที่ประดิษฐ์ใช้ แต่กลับเป็นบ่อที่สามและเป็นบ่อสุดท้ายในพื้นที่ที่เขาใช้ได้

“หากเราต้องการประกอบอาชีพของเราต่อไปได้ ผมก็ต้องทำ บ่อแรกเค็ม เราก็ต้องต่อบ่อที่สอง หากบ่อที่สองเค็ม เราก็ต้องหาบ่อถัดไป แต่ถ้าบ่อที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบันเค็ม ผมก็ไม่มีอีกแล้ว ถ้าบ่อน้ำนี้เค็มหมด เราก็หมดแล้ว”

“ถ้าบ่อน้ำนี้เค็มหมด เราก็หมดแล้ว” เป็นประโยคที่ยังก้องอยู่ในหัวและยิ่งตอกย้ำว่าผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลอาจน่ากลัวกว่าที่ประเมิน เพียงไม่กี่ปีโรงงานจะสร้างความเสียหายได้มากเช่นนี้

ถัดจากบ้านของประดิษฐ์ไม่ไกล เรามีโอกาสได้พูดคุยสั้นๆ กับสุรเชษฐ์ ชุติกรรุ่งเรือง ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่หลังโรงงานรีไซเคิลและมีระยะทางที่ใกล้โรงงานกว่าบ้านของประดิษฐ์ – บทสนทนาเริ่มต้นที่ริมบ่อน้ำทั้งสองของเขา

“ตั้งแต่โรงงานมาตั้ง ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง?” คำถามสั้นๆ เพื่อเชื้อเชิญบทสนทนาที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป แต่ยังไม่สิ้นเสียงคำถาม สุรเชษฐ์พลันตอบราวกับว่าเขาตอบมาแล้วบ่อยครั้ง “แต่ก่อนผมจับปลาในบ่อนี้กินได้เลย แต่ตอนนี้กินไม่ได้แล้ว”

สุรเชษฐ์มีบ่อน้ำทั้งหมดสองบ่อ แต่หนึ่งในบ่อน้ำที่เขาครอบครองปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานไหลลงมา เนื่องจากบ่อน้ำของเขามีระดับที่ต่ำกว่าบ่อน้ำปนเปื้อน ส่งผลให้น้ำของสุรเชษฐ์ก็กลายเป็นน้ำปนเปื้อนสารพิษเช่นกัน เขาเสริมว่าบ่อน้ำที่ปนเปื้อนคือบ่อน้ำที่เขาใช้เลี้ยงปลานิลซึ่งมีปลานิลอยู่เต็มบ่อ แต่พอน้ำมีสารปนเปื้อนกลายเป็นว่าเขาทำอะไรกับปลาในบ่อไม่ได้เลย

สุรเชษฐ์ ชุติกรรุ่งเรือง

“พูดง่ายๆ ว่าทำอะไรไม่ได้เลย ปลาก็กินไม่ได้ ผักบุ้งน้ำก็กินไม่ได้ คนกินแล้วท้องเสีย ขนาดวัวกินวัวยังท้องเสียด้วยเลย ตั้งแต่โรงงานมาตั้งในบริเวณนี้ ก็ไม่มีท่าทีว่าเขาจะปิดเลยและน่าจะสร้างผลกระทบอีกมาก ผมจึงคิดว่าถ้ามีทุนทรัพย์เพียงพอ คงจะเอาดินจากที่อื่นมากลบและปลูกมันดีกว่า เนื่องจากเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำ

 “ผมเป็นเพียงเกษตรกรคนหนึ่ง คงไม่มีทรัพยากรไปต่อสู้กับโรงงานขนาดใหญ่หรอก เขามีทุนที่หนากว่าเรา อะไรที่เราแก้ได้เราก็จะแก้ไข เพราะถ้าจะให้ไปสู้ไปรบกับโรงงาน เราไม่มีกำลังขนาดนั้น” สุรเชษฐ์กล่าวประโยคนี้ตรงริมบ่อน้ำเปื้อนสารพิษที่เขาเป็นเจ้าของ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเข้ามาตรวจสอบน้ำ พื้นที่แห่งนี้มีหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมอุตสาหกรรมและสำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ตลอดจนชาวบ้าน เคยรวมตัวเพื่อเก็บผลน้ำไปตรวจด้วยตนเอง ทุกครั้งที่ตรวจต่างก็พบสารพิษที่ตกค้าง ทั้งสารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม ที่เกินค่ามาตรฐานหลายสิบเท่า

สิ่งหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ภายในโรงงานมีอะไรที่สามารถทำให้ชีวิตของผู้คนรอบข้างโรงงานเปลี่ยนไปได้เช่นนี้ เพราะจากที่ประดิษฐ์เล่าให้ฟังพบว่าผู้คนในละแวกนี้ทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก หากวันนี้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชได้ อาชีพของพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามผลกระทบจากน้ำมือของทุนใหญ่

2

เปิดอาณาจักรทุนจีนที่คืบคลานในคราบโรงงานรีไซเคิล

“ถ้าเขาทำถูกต้อง ถูกระบบ และถูกกฎหมาย ตลอดจนไม่ทำให้พวกเราเดือดร้อน ไม่มีใครว่าอะไรพวกเขาได้หรอก แต่ในปัจจุบันนี้เขาทำผิดหมดทุกประการ และทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน คุณต้องมาหาร่วมหาทางแก้ไขให้พวกเราว่าจะชดเชยอย่างไร” ประดิษฐ์กล่าว

อะไรคือเรื่องที่โรงงานทำผิด และอะไรที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านรอบโรงงานถึงเดือดร้อนเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ไม่ยากสำหรับการเข้าไปสำรวจอาณาจักรโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ดินแดนแห่งนี้ยิ่งก็กลับกลายเป็นดินแดนสนธยามากขึ้นเรื่อยๆ

ภายใต้พื้นที่ที่มีมากถึง 88 ไร่แห่งนี้ มิใช่เป็นที่ตั้งของโรงงานรีไซเคิลแห่งเดียว แต่ประกอบด้วยโรงงานรีไซเคิลทั้งหมด 3 บริษัทด้วยกัน ทว่าทั้งสามบริษัทกลับมีกรรมการผู้จัดการคนเดียวกันทั้งหมด คือ นายหม่า ยา เผิง ซึ่งเป็นชาวจีน โดยประกอบด้วย บริษัท ชุนฟุงฮง จำกัด, บริษัท ไทยฟุง 2020 จำกัด และบริษัท อิฟง จำกัด พื้นที่ 88 ไร่นี้เป็นภาพสะท้อนและตอกย้ำว่าทุนจีนได้คืบคลานเข้ามาทำธุรกิจและสร้างความมั่งคั่งในหลายอุตสาหกรรม แม้กระทั่งอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ ‘ขยะ’ และ ‘การรีไซเคิล’

“โรงงานแห่งนี้เข้ามาตั้งในช่วงปี 2561 ซึ่งช่วงนั้นโรงงานเล็กนิดเดียว แต่หลังจากนั้นไม่นาน โรงงานก็ค่อยๆ ขยายจาก 4-5 หลัง มาเป็น 10-20 หลัง และกลายเป็น 30-40 หลังภายในระยะเวลาไม่กี่ปี” ประดิษฐ์บอก

นี่คือดินแดนที่ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าไปได้โดยง่าย ภาพถ่ายดาวเทียมจึงเป็นหนทางเดียวที่เราจะพอเห็นความแปรเปลี่ยนของพื้นที่แห่งนี้อยู่บ้าง และมันก็ดูจะขานรับกับคำบอกเล่าของประดิษฐ์อย่างสมบูรณ์ เพราะหากลองสำรวจจากภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่โรงงานนี้ตลอดระยะเวลาหลายปี พื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี 2560 จนมาถึงปี 2561 ตลอดจนมีการเตรียมพื้นที่เพื่อรอรับอาคารและโรงเรือนที่กำลังจะก่อสร้างขึ้นอีกไม่นาน

ยิ่งไปกว่านั้นภายใน 5 ปีต่อมา อัตราการขยายตัวของโรงงานนั้นสูงขึ้นจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตา การขยายตัวรวดเร็วขนาดที่ในปี 2562 มีการสร้างโรงเรือนหลายอาคารเพียงระยะเวลา 9 วัน และในภาพล่าสุดที่ภาพถ่ายสามารถเก็บไว้ได้ คือช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา จะพบว่าโรงงานขยายจนเต็มพื้นที่ 88 ไร่ และกำลังเริ่มเตรียมพื้นที่ด้านข้าง (มุมขวาล่างของภาพถ่าย) เพื่อขยับขยายโรงงานอีกระลอกหนึ่ง

การเติบโตของโรงงานอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ อาจหมายความถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่รวดเร็วเช่นกัน การตรวจวัดค่าของคุณภาพน้ำได้กำลังพาเรามาถึงตรงนี้ – หน้าโรงงานรีไซเคิล

แม้โรงงานแห่งนี้จะประกอบด้วยสามบริษัท แต่ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งบอกว่าส่วนไหนเป็นอาณัติของโรงงานอะไร เพราะแม้แต่ป้ายที่เป็นตัวบ่งชี้เดียวยังไม่มี ตั้งแต่เราก้าวลงจากรถตู้ ทุกๆ ก้าวที่เดิน ทุกๆ แรงที่เหยียบลงไป ฝุ่นที่อยู่บนผืนดินกลับฟุ้งขึ้นมาสู้กับแรงเท้าที่เราเหยียบลงไป ยิ่งคุณเหยียบลงพื้นแรงเท่าไหร่ ฝุ่นก็จะล่องลอยขึ้นมาสูงเท่านั้น ราวกับนี่คือการพิสูจน์กฎของแรงปฏิกิริยาในวิชาฟิสิกส์เบื้องต้น ที่ทุกแรงกิริยาย่อมมีแรงปฏิกิริยาขนาดเท่ากันและกระทำในทิศตรงกันข้ามเสมอ ทว่าอนุภาคที่ล่องลอยขึ้นมาไม่ใช่ฝุ่นแบบที่เราเข้าใจ ฝุ่นที่แม้มีอันตรายแต่ก็อาจไม่ได้รุนแรงมาก แต่อนุภาคเหล่านั้นคือ ‘ขี้เถ้า’ ที่เกิดจากกระบวนการ ‘รีไซเคิล’ ซึ่งอาจประกอบด้วยสารโลหะหนักย่อมอันตรายกว่าที่เราคาดไว้

“ถ้าไม่มีการแก้ไข หลังจากนี้ต้นไม้ละแวกนี้จะเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วเลย” พี่สื่อมวลชนที่มาด้วยกันกล่าวขึ้นมาท่ามกลางความเงียบ

เบื้องหน้าเราเห็นสังกะสีที่ก่อขึ้นมาทั้งสี่ด้านเป็นสัญญาณบอกว่าเราเดินทางมายังหน้าโรงงานแล้ว ท่ามกลางอากาศที่ไม่เป็นมิตรและพื้นหลังที่เป็นต้นไม้รอบโรงงานที่กำลังยืนต้นตาย เราพบเห็นแรงงานของโรงงานกำลังทำงานอย่างขะมักเขม้นราวกับพวกเขาไม่ได้ยี่หระกับอุณภูมิรอบตัวแต่อย่างใด บ้างก็กำลังขับรถยกเพื่อขนกองภูเขาขนาดเล็กที่เมื่อสังเกตอย่างถ้วนถี่จะพบว่านั่นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ บ้างก็กำลังขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่อีกบ่อ ขนาบข้างกับบ่อน้ำจำนวนมาก นั่นทำให้เราสะดุดตากับบ่อน้ำเหล่านั้น และพบว่านี่อาจเป็นคำตอบที่พวกเรากำลังตามหามาครึ่งค่อนวัน ภาพตรงหน้าคือบ่อพักน้ำเสียของโรงงานที่กำลังไหลลงไปในลำราง

น้ำสีน้ำตาลเปื้อนสนิมที่เต็มไปด้วยฟองอันไม่รู้ที่มาค่อยๆ ไหลออกมาจากบ่อพักน้ำเสียสู่ลำราง และจากลำราง เดาไม่ยากว่าจุดหมายปลายทางของมันคือบ่อน้ำของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน หรือทรายก็ไม่สามารถหยุดน้ำเสียเหล่านั้นไปสู่ปลายน้ำได้ และพวกมันก็ไม่สามารถเปลี่ยนชะตากรรมของชาวบ้านรอบโรงงานจากน้ำเหล่านี้ได้

เจ้าหน้าที่พลันหยิบเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจคุณภาพน้ำ อาวุธคู่กายที่ทำงานมาอย่างหนักตลอดทั้งวัน และมันก็กำลังจะทำงานอีกครั้งกับการตรวจครั้งสุดท้ายในพื้นที่หน้าโรงงาน

เขาตัดสินใจเดินไปตามสายน้ำ

หนึ่งในตัวชี้วัดว่าสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วสะท้อนผ่าน ‘ค่าความเค็มของน้ำ’ ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยสำหรับการชี้วัดคุณภาพของแหล่งน้ำว่าเป็นน้ำเสียหรือไม่ โดยปกติแล้วแหล่งน้ำจะมีรสเค็มมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่เหมาะกับการใช้เพื่อการประปาและสะท้อนว่าแหล่งน้ำนั้นกลายเป็นน้ำเสียแล้ว

“การตรวจวัดความเค็มตั้งแต่ปลายน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ร้องเรียน พบว่าน้ำมีความเค็มมากและความเค็มของน้ำก็ไต่ระดับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะห่างระหว่างแหล่งน้ำกับโรงงาน และเราพบแล้วว่าท่อน้ำที่ออกจากโรงงานเค็มที่สุด ทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะพบที่มาของความเค็มที่ทำให้แหล่งน้ำของชาวบ้านเค็มแล้ว” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

บิงโก!

เบื้องหลังสังกะสีที่ก่อขึ้นมาอย่างไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เครื่องจักรยังคงหมุนต่อไป ฝุ่นควันจากโรงงานฟุ้งกระจายอย่างต่อเนื่องจนกำแพงสังกะสีไม่อาจเก็บงำละอองผงไว้ได้ และน้ำเสียก็ไหลออกเรื่อยๆ แบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดไหล และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย ท่ามกลางแดดร้อนกับความเงียบที่ปราศจากสายลม เราตัดสินใจเดินเข้าไปร่วมหาคำตอบในดินแดนสนธยาแห่งนี้ – ประตูโรงงานเปิดออกและทุกคนเดินเข้าไป

3

ก้าวแรก

ตั้งแต่วินาทีแรกที่ประตูโรงงานแง้มออกและเราก้าวเข้าไป เหมือนกับว่าโดยฉับพลันโลกข้างนอกและอาณาจักร ‘รีไซเคิล’ กำลังถูกตัดขาดออกจากกัน ทั้งภาษา ข้าวของตรงหน้าซึ่งห่างไกลจากคำว่าสุนทรียะ และอาจกล่าวรวมถึงการบังคับของกฎหมายที่เหมือนจะไม่ถูกเกรงกลัวในพื้นที่แห่งนี้

การสำรวจโรงงานครั้งนี้เราไม่ได้เดินสำรวจเพียงลำพัง แต่มีเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดร่วมด้วย ทั้งนี้เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงยังหน้าโรงงาน แรงงานมากมายที่เราเห็นก่อนหน้านี้ เครื่องจักรที่เคยเดินเครื่อง ตลอดจนฝุ่นควันที่ฟุ้งออกมาจนสังกะสีที่ผุผังเอาไม่อยู่ หายไปราวกับไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ทว่าทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ รถยกที่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าทั้งหมดที่เราเห็นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ความฝันแต่อย่างใด จากคำบอกเล่าของใครหลายคนต่างยืนยันว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ประหลาดเช่นนี้

หากใครฝันถึงภาพโรงงานอุตสาหกรรมรีไซเคิล คงนึกภาพเป็นโรงงานที่ก่อสร้างโดยวัสดุที่มีมาตรฐาน เทคโนโลยีสุดล้ำเพื่อนำวัสดุที่ไม่มีใครใช้มาแปรรูปเพื่อให้มีคุณค่าอีกครั้ง คงไม่มีใครจินตนาการภาพของโรงงานแบบที่เราพบเจอในโรงงานรีไซเคิลคลองกิ่วแห่งนี้แน่นอน ที่ปล่องของอาคารขึ้นสนิม มีน้ำรั่ว อีกทั้งผนังโรงงานเต็มไปด้วยช่องและรูจำนวนมากราวกับอาคารนี้อนุญาตให้แสงลอดผ่านได้อย่างง่ายดาย

อาคารที่เราเลือกสำรวจคืออาคารหลังหนึ่งในโรงงานซึ่งห่างจากทางเข้าของโรงงานไม่ไกลนัก ระหว่างทางก็ไม่วายจะหันไปมองรอบข้างซึ่งมีอาคารสังกะสีเรียงรายเป็นแนวยาว พบว่าแต่ละอาคารไม่มีป้ายบ่งบอกว่าอาคารไหนมีรหัสอะไร หลักฐานเดียวที่บ่งบอกล้วนแล้วแต่มาจากสีสเปรย์ที่ถูกพ่นลงไปยังกำแพงแต่ละอาคารอย่างลวกๆ บางอาคารก็มีการพ่นภาษาจีนที่เราไม่มีความรู้มากพอที่จะแปลและเข้าใจคำบนนั้นได้ อีกทั้งในพื้นที่แต่ละอาคารต่างมีถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมากวางไว้กลางแจ้ง โดยแต่ละถุงถูกบรรจุไว้เต็มพิกัดด้วยขยะประเภทต่างๆ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

นอกจากอาคารที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรีไซเคิลแห่งนี้ ยังมีอาคารอีกประเภทที่ใช้เป็นที่พักสำหรับแรงงานในโรงงานแห่งนี้ ที่ถูกก่อขึ้นมาจากสังกะสีไม่ต่างกัน บางอาคารมีผ้ามาผูกไว้เพื่อป้องกันแสงที่ลอดผ่านช่องสังกะสี

ที่น่าสะดุดตาท่ามกลางโรงงานรีไซเคิลที่ไร้ชีวิตและไร้ผู้คนบางขณะคือมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งที่แขวนผัก ผลไม้ และไข่ไก่ไว้เต็มคันรถ ราวกับเป็นร้านสะดวกซื้อเคลื่อนที่ นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจว่าทำไมมอเตอร์ไซค์คันนี้ถึงมุ่งตรงเข้าไปในโรงงานอย่างปกติราวกับเข้าออกที่นี่เป็นนิตย์

“ช่วงเย็นของแต่ละวันจะมีรถพุ่มพวงลักษณะนี้มาจอดในโรงงานและตั้งเป็นตลาดนัดเลย มีทั้งขายผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้พื้นฐานในชีวิตประจำวันเพื่อให้แรงงานจับจ่ายใช้สอย โดยที่พวกเขาไม่ต้องก้าวออกไปจากโรงงานแห่งนี้เพราะแรงงานที่นี่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหน” ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโสมูลนิธิบูรณะนิเวศ เล่าให้เราฟัง

ไม่นานนักเราก็เดินเท้ามาถึงอาคารที่ต้องการสำรวจ นั่นคืออาคาร ‘A6’ ที่นั่นเป็นสถานที่เดียวกับที่เราเจอชายชาวจีนรูปร่างท้วมในชุดเสื้อกล้ามสีขาวและกางเกงขาสั้นเดินออกมาจากห้องทำงานของเขาภายในอาคาร ดูจากระยะไกลก็เห็นชัดว่าสีหน้าของเขาไม่รับแขก และทำให้การสำรวจของเราในครั้งนี้ดูจะเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์โดยทันที เขาชื่อ นายหม่า ยา เผิง – เจ้าของโรงงาน

หากแบ่งผังของอาคารหลังนี้สามารถแบ่งได้ออกเป็นสองส่วน คือส่วนในร่มกับส่วนกลางแจ้ง พวกเราตัดสินใจเริ่มสำรวจอาคารส่วนในร่มเป็นอันดับแรก ในอาคารเราพบเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการจัดการขยะของโรงงานแห่งนี้ สีสนิมกลายเป็นสีธรรมชาติที่เราพบเห็นมากที่สุดทั้งจากพื้นของอาคาร กำแพงสังกะสี และเครื่องมือสำหรับการจัดการขยะ ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่น่าอภิรมย์ว่าสถานที่แห่งนี้ใช้เพื่อหลอม ล้าง และคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างแน่แท้

พื้นที่เปียกน้ำ อุปกรณ์ที่ถูกวางอย่างไม่เป็นระเบียบ ทำให้เราทราบได้ว่ามีการทำงานจริงในอาคารหลังนี้เมื่อไม่นานมานี้ ไม่นานก่อนที่เราจะได้รับอนุญาตให้เข้ามาในอาคารหลังนี้

นอกจากนี้ยังมีโต๊ะที่เต็มไปด้วยเศษเหล็กและสายไฟซึ่งได้มาจากการบดย่อยของขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกวางกระจัดกระจายเพื่อรอการคัดแยกด้วยมือของแรงงานแบบอันต่ออันและชิ้นต่อชิ้น ในลักษณะที่ปุถุชนทั่วไปก็สามารถทราบได้ว่าการทำงานลักษณะดังกล่าวไม่ได้ถูกควบคุมภายใต้มาตรฐานการทำงาน ทั้งที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นขยะอันตรายที่ไม่ควรจับด้วยมือเปล่า แต่ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันสำหรับการคัดแยกขยะประเภทนี้

ในเวลาไม่นานนักหลังจากสำรวจในอาคารเสร็จสิ้น ภายนอกอาคารที่เป็นส่วนกลางแจ้งคือจุดหมายต่อไปของพวกเรา สำหรับภายนอกอาคารก็ไม่แตกต่างจากภายในมากนัก กล่าวคือสกปรกไม่ต่างกัน เพียงแต่ภายนอกอาคารกลับมีพะเนินของขยะอิเล็กทรอนิกส์มากมาย แต่ละกองมีทั้งสายไฟ แผงวงจร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากเต็มพื้นที่ลานกว้างขนาดใหญ่

“ในฐานะที่เราทำงานเรื่องขยะมามากกว่า 10 ปี เราไม่เคยเจอโรงงานไหนสกปรกและใหญ่โตมโหฬารเท่านี้มาก่อน โรงงานแห่งนี้ใหญ่เกินกว่าภาครัฐจะทำเป็นไม่เห็นได้” พี่สื่อมวลชนคนเดิมกล่าวขึ้น

ตามกฎหมายแล้วการจัดตั้งโรงงานใดก็ตาม โรงงานต้องไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือใบอนุญาตที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกให้สำหรับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานได้ เมื่อได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแล้ว ทางโรงงานที่จะจัดตั้งต้องไปแจ้งขออนุญาตประกอบการโรงงานก่อน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานและตรงตามใบอุญาตหรือไม่ก่อนจะเริ่มดำเนินกิจการของโรงงานนั้น กล่าวคือหากขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง หมายความว่าโรงงานนั้นดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต

หากตรวจสอบข้อมูลของโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ทั้งสามบริษัท พบว่าทั้งสามโรงงานมีใบอนุญาตทั้งหมด 7 ใบ โดยเป็นโรงงานลำดับที่ 53 (โรงงานสำหรับการล้าง บด หรือย่อยพลาสติก) จำนวน 6 ใบ และโรงงานลําดับที่ 105 (โรงงานสำหรับการคัดแยกและ/หรือฝังกลบของเสียแบบที่ไม่เป็นอันตราย) จำนวน 1 ใบ ซึ่งทั้งหมดไม่มีใบอนุญาตในการกำจัดของเสียอันตราย หรือใบอนุญาตสำหรับโรงงานลำดับที่ 101

หมายความว่าโรงงานแห่งนี้ไม่สามารถมีและครอบครองขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในโรงงานตั้งแต่แรก ยิ่งไปกว่านั้นโรงงานทั้งหมดนี้ยังไม่เคยมีการแจ้งขออนุญาตประกอบการโรงงานเสียด้วยซ้ำ

“ในช่วงที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นแนวโน้มของทุนจีนที่พยายามเข้ามาตั้งโรงงานในลักษณะที่มีใบอนุญาต แต่ไม่แจ้งประกอบการโรงงาน ทำให้มีช่องโหว่ใหญ่มาก คือโรงงานประเภทนั้นจะไม่ขึ้นในระบบของภาครัฐว่าเป็นโรงงานที่ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ก็ออกคำสั่งให้โรงงานแก้ไข บ้างก็สั่งให้ปรับปรุง แต่โรงงานกลับดำเนินงานต่อไปราวกับไม่เกรงกลัวกฎหมายเลย” ดาวัลย์ตั้งข้อสังเกต

ทั้งนี้ เพียงไม่กี่วันหลังจากการลงพื้นที่ อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีนำกำลังเข้าตรวจยึดและจับกุมนายหม่า ยา เผิง ในฐานะเจ้าของโรงงานซึ่งกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่เพียงแค่ชั่วคืน นายหม่า ยา เผิงก็ได้รับประกันตัวด้วยจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่บางข้อมูลจากมูลนิธิบูรณะนิเวศชี้ว่าข้อมูลที่ออกมาเป็นข่าวอาจไม่ตรงกับความจริง เนื่องจากบางกระแสที่มูลนิธิรับทราบมาระบุว่า นายหม่า ยา เผิง ได้รับประกันตัวเพียง 5,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าตัวเลขที่หลายคนเข้าใจ

4

ผลพวงมรดกชิ้นสุดท้ายจากคณะรัฐประหาร

…ปัจจุบันประเทศไทยได้ประสบปัญหาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งจําเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้า อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตเนื่องจากเป็นปัจจัยสําคัญในการขับเคลื่อนและดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาขยะล้นเมือง การบริหารจัดการขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จนนําไปสู่การกําหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องเร่งดําเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว ซึ่งในความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกําหนดทางกฎหมายบางประการ จึงจําเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน…’

– คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสําหรับการประกอบกิจการบางประเภท นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายของการแก้กฎหมายเพื่อเว้นบังคับใช้ผังเมืองรวมกับกิจการบางประเภทและเปิดโอกาสให้โรงงานที่กำหนดในคำสั่งสามารถมาตั้งพื้นที่ใดก็ได้ โดยในข้อ 1(2) ของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่าเป็นการประกอบกิจการโรงงานลําดับที่ 89 (โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่ายก๊าซ) โรงงานลําดับที่ 101 (โรงงานสำหรับการคัดแยกและ/หรือฝังกลบของเสียแบบที่เป็นอันตราย และแบบไม่เป็นอันตราย) โรงงานลําดับที่ 105 (โรงงานสำหรับการคัดแยกและ/หรือฝังกลบของเสียแบบที่ไม่เป็นอันตราย) และโรงงานลําดับที่ 106 (โรงงานสำหรับการนำของเสียมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือโรงงานรีไซเคิล) ตามกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกําจัดมูลฝอย

‘ความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับปรากฏข้อขัดข้องหรืออุปสรรคจากข้อกําหนดทางกฎหมายบางประการ จึงจําเป็นต้องระงับและแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ’ ประโยคดังกล่าวสะท้อนหลักคิดของผู้บริหารประเทศได้อย่างดีว่าใช้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งในสมการครั้งนี้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับโรงงานเกิดใหม่จะถูกคิดรวมด้วยหรือไม่

ดาวัลย์ระบุว่า “ประเทศไทยอยู่กับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี สมัยก่อนหากเราพูดถึงโรงงานประเภท 101 105 และ 106 ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งโรงงานเหล่านี้ไปตั้งข้างบ้านของพวกเขา หลายพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรแต่ก็มีโรงงานรีไซเคิลไปตั้ง ทั้งหมดเป็นผลจากคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559”

คำสั่งดังกล่าวประจวบเหมาะกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศจีนที่จากเดิมเป็นประเทศที่นำเข้าขยะจากทั่วโลกเพื่อคัดแยกเอาวัตถุดิบมาแปรรูป ซึ่งขยะส่วนใหญ่ถูกส่งจากประเทศพัฒนาแล้ว สู่การยุติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่เป็นทางการ และประกาศว่าไม่เต็มใจที่จะรับขยะจากต่างประเทศอีกต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เนื่องจากประเทศจีนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการนำเข้าขยะ ทั้งในมิติของสุขภาพของประชากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือฝุ่นควันพิษ

กล่าวโดยสรุป จุดหมายของขยะเหล่านั้นแปรเปลี่ยนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หมายความรวมถึงประเทศไทย เห็นได้จากตัวเลขการนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 พบว่าประเทศไทยนำเข้าขยะกว่า 37,000 ตัน ราวกับว่าประเทศไทยยินดีต้อนรับขยะเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศไทยแบบไร้วีซ่า

“โรงงานรีไซเคิลที่ย้ายฐานการผลิตมาในช่วงเวลานั้นมักไปตั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพราะมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 ตัดผ่านเพื่อเชื่อมต่อจากแหลมฉบัง เมื่อรัฐเอื้ออำนวยเช่นนี้ทำให้โรงงานย้ายมาตั้งในพื้นที่จำนวนมาก ทั้งที่พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่การเกษตรชั้นดีแต่กลับถูกทำลายจากนโยบายของรัฐ”

สารนิพนธ์ ‘การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในจีน’ ของปภินวิช ปวินท์วรกุล ระบุว่าความพยายามจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของรัฐบาลจีนในช่วงเวลานั้นเป็นไปเพื่อรักษาความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาล เนื่องจากเป็นเรื่องร้ายแรงที่จะมีผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศทั้งหมด

นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจหากเทียบกับประเทศไทย ทำไมไทยจึงปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าเช่นนี้ มิหนำซ้ำยังเว้นบังคับใช้ผังเมืองรวมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเสียด้วย น้ำที่เสียหรืออากาศที่ไม่บริสุทธิ์อาจคุ้มค่ากับเม็ดเงินการลงทุนในสายตาของผู้บริหารประเทศยุคนั้น ราวกับว่าโจทย์ทางเศรษฐกิจเป็นโจทย์เดียวที่หลงเหลืออยู่สำหรับการสร้างความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร

“ผลของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติทำให้ประเทศไทยเหมือนเปิดช่องโหว่อันใหญ่ในด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งรัฐบาลทั้งเอื้ออำนวยความสะดวกในด้านขั้นตอนไปเยอะมาก ออกใบอนุญาตรวดเร็ว บางครั้งการสนับสนุนอุตสาหกรรมบางประเภทนับเป็นเรื่องที่ดี แต่บางอุตสาหกรรมที่ไม่ควรสนับสนุนเพราะจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม รัฐก็ไม่ควรไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านั้น” ดาวัลย์กล่าว

หากกล่าวให้ไกลกว่าเรื่องราวของโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลคลองกิ่ว ทั้งหมดนี้กลับเป็นเรื่องของความผิดปกติของการบังคับใช้กฎหมายและทิศทางในการดำเนินนโยบาย

“โรงงานแห่งนี้ไม่ต่างอะไรจากพื้นที่รัฐอิสระ ที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น คำถามคือแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เข้ามาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะหากโรงงานยังตั้งอย่างไม่ถูกกฎหมาย และแรงงานจะได้รับอนุญาตให้ทำงานได้อย่างไร

“นอกจากนี้เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบโรงงานและออกคำสั่งหลายครั้ง ทั้งให้หยุดปฏิบัติงานและให้ปิดเพื่อไปขอใบอนุญาตให้ถูกกฎหมาย แต่เราพบว่าคำสั่งเหล่านั้นกลับไม่มีค่าอะไรเลย บางอาคารมีคำสั่งจากภาครัฐทั้งหมด 3 ครั้ง บางอาคาร 5 ครั้ง แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบทีไรก็พบว่ายังมีการกระทำความผิดอยู่ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการไม่ยำเกรงคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐไทย ราวกับว่าคุณกำลังปล่อยให้ทุนจีนเข้ามาสร้างอิทธิพลภายใต้พื้นที่ 88 ไร่ที่ทำให้กฎหมายไทยไม่มีค่า” ดาวัลย์กล่าว

แม้ในทางการเมืองสังคมไทยจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว จนหลายคนมองว่ามรดกและผลพวงของการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จะสูญสิ้นไปหมดแล้ว แต่คำสั่งฉบับดังกล่าวยังคงมีผลและเป็นเหมือนมรดกชิ้นสุดท้ายที่ใครหลายคนต่างมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ตกทอดจากยุคของคณะรัฐประหารมาสู่ยุคสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย

หากปล่อยให้โรงงานแห่งนี้ดำเนินการต่อไป ดำเนินการบนความผิดแบบโจ่งแจ้งเช่นนี้ ตำบลคลองกิ่วก็อาจเป็นเหมือนข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งหมดต่างประสบชะตากรรมเดียวกันคือ สิ่งแวดล้อมละแวกนั้นพังทลาย และชาวบ้านไม่สามารถร้องหาความยุติธรรมจากชั้นศาลได้ กล่าวคือแม้พวกเขาชนะก็ได้เพียงคำพิพากษาของศาลมาแขวนไว้บนผนังบ้าน แต่การเยียวยาและแก้ไขที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

“หากภาครัฐไม่จัดการกับกลุ่มทุนกลุ่มนี้และยังปล่อยให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ นั่นหมายความว่าพื้นที่อื่นๆ อาจหยิบโมเดลของโรงงานที่ตำบลคลองกิ่วไปใช้ แต่ถ้าภาครัฐเข้มแข็ง พวกเขาก็ไม่กล้า ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นหลักแล้ว มิเช่นนั้นแผ่นดินที่เคยดีของเรากำลังจะเสียหายไปอย่างไม่หวนกลับมา” ดาวัลย์ย้ำ

สิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปยากที่จะหวนกลับมาได้ เป็นสิ่งที่สรุปได้จากการได้กับผู้คนต่างๆ ที่ชีวิตของพวกเขาต้องอยู่ร่วมกับสายน้ำที่ติดเชื้อแห่งนี้ หวังว่าเรื่องราวในพื้นที่แห่งนี้จะถูกแก้ไขก่อนที่พื้นที่คลองกิ่วถูกนับเป็นอีกหนึ่งในพื้นที่พิพาททางสิ่งแวดล้อมเหมือนพื้นที่อื่นๆ

รถตู้ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่คลองกิ่ว ละทิ้งสายน้ำปนเปื้อนไว้เบื้องหลัง จากภาพทั้งหมดที่พบเห็น ประโยคที่ว่า “โรงงานแห่งนี้มีความผิดแทบทุกตารางนิ้ว” คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงนัก


หมายเหตุ : สัมภาษณ์และลงพื้นที่เมื่อ 1 มีนาคม 2567

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save