fbpx

‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ สภาวะยกเว้นอย่างถาวรของผู้ต้องหาคดีการเมือง

สังคมไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมาเคลื่อนไปโดยมีความขัดแย้งทางการเมืองเป็นแกนกลาง บางช่วงหนักหนา บางช่วงผ่อนลง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาสร้างความเสียหายแก่ชีวิตผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีความที่เกิดขึ้นมหาศาล ทั้งที่ปรากฏต่อความรับรู้ในวงกว้างและที่เกิดขึ้นเงียบๆ ณ มุมใดมุมหนึ่ง

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น ‘คดีการเมือง’ ที่มาที่ไปก่อนจะขึ้นโรงขึ้นศาลย่อมแฝงไปด้วยวิธีคิดและเจตนาทางการเมือง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอนก็ย่อมแฝงด้วยเจตนาทางการเมืองของภาครัฐ

แน่นอนว่าปฏิบัติการส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับฝั่งตรงข้ามอำนาจรัฐ เมื่อใครสักคนพลัดตกลงไปในวังวนระบบยุติธรรมไทยในมือของอำนาจรัฐแล้วก็มักออกมาได้ยาก โดยเฉพาะการไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่ไม่สมเหตุผล

การให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีทิศทางสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเมือง คล้ายเป็นคำสั่ง ‘เชิงนโยบาย’ ทำให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ถูกจำคุกตั้งแต่ยังไม่มีคำพิพากษา

ในเชิงหลักการ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่มีเขียนไว้ทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR), ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR), อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[1] แต่ในเชิงข้อเท็จจริง การปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทยมีแง่มุมจำนวนมากที่วางสิทธิของประชาชนไว้หลังสุด เมื่ออยู่ในพื้นที่เรื่อง ‘ความมั่นคง’

เป็นที่รู้กันดีว่ากระบวนการยุติธรรมไทยใช้หลัก ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์’ ซึ่งมีการรับรองไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เรื่อยมาจนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีอีกเช่นกันว่า ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในคดีการเมือง ผู้ต้องหามักถูกเจ้าหน้าที่ ‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ มีการจับกุมและไม่ให้ประกันตัว เป็นเหตุให้มีการคุมขังนักโทษคดีการเมืองจำนวนมากโดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล

น่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ในหลายกรณีพบว่าเมื่อต่อสู้จนคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาที่ออกมาคือยกฟ้อง โดยที่ผู้ต้องหาถูกจับติดคุกไปแล้วและสูญเสียโอกาสสำคัญในชีวิต

101 ชวนมองชีวิตของสองผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ต้องติดคุก ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ท้ายที่สุดเมื่อดูพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วศาลจึงยกฟ้อง ทิ้งไว้แต่บาดแผลที่ไม่อาจเยียวยาในชีวิตคนคนหนึ่ง

เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการยุติธรรมไทย อันมีวิธีคิดทางการเมืองกำกับโดยเนื้อใน

เมื่อมาตรา 112 ถูกใช้ในความขัดแย้งส่วนตัว

ยุทธภูมิ มาตรนอก

เรื่องของ ยุทธภูมิ มาตรนอก[2] เริ่มต้นที่ปี 2552 เขาทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกับพี่ชาย โดยเช่าบ้านหลังใหญ่อยู่ร่วมกัน ในความใกล้ชิดเป็นเหตุให้สองพี่น้องทะเลาะกันบ่อยครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องงานและเรื่องการใช้ชีวิต ทั้งคู่ต่างเลี้ยงสุนัขของตัวเอง จากเหตุสุนัขกัดกันก็สร้างความไม่ลงรอยลามไปเรื่องอื่นๆ

ในปีนั้นความขัดแย้งการเมืองเหลืองแดงกำลังดุเดือด เขาทั้งสองมีความคิดการเมืองแตกต่างกัน ยุทธภูมิชื่นชอบเสื้อแดง พี่ชายชื่นชอบเสื้อเหลือง แต่ยุทธภูมิยืนยันว่าพวกเขาคุยเรื่องการเมืองกันน้อยมากเพราะรู้ว่าเห็นไม่ตรงกัน ประเด็นที่ทะเลาะกันจึงไม่ใช่เรื่องการเมืองเป็นหลัก

หลังทำงานร่วมกันมาสองปี พี่ชายของยุทธภูมิก็ย้ายออกจากบ้านเพราะทะเลาะกันหนัก หลังจากนั้นราวปีกว่า ยุทธภูมิได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 โดยชื่อผู้กล่าวหาคือพี่ชายของเขาเอง

พี่ชายกล่าวหาว่าช่วงสิงหาคม 2552 ยุทธภูมิพูดถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขณะกำลังดูโทรทัศน์ด้วยกันที่บ้านและกล่าวหาว่าเขาเขียนถ้อยคำหมิ่นฯ ลงบนแผ่นซีดี โดยนำแผ่นซีดีนั้นมาเป็นหลักฐานในการแจ้งความ

ยุทธภูมิถูกเรียกไปคัดลายมือสองครั้งเพื่อใช้พิสูจน์เทียบกับข้อความบนแผ่นซีดี ระหว่างกระบวนการอันยืดยาวก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาตรวจที่บ้านเป็นระยะว่ายุทธภูมิไม่ได้หนี ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่เขาทั้งเรื่องคดีความที่ค้างคาและการปรากฏตัวของตำรวจ

กันยายน 2555 อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ให้ลงโทษตามมาตรา 112 จำนวนสองกรรมและให้ริบซีดีของกลาง ยุทธภูมิให้การปฏิเสธ และศาลไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่าเป็น ‘คดีร้ายแรง’ หากให้ปล่อยชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี

“พอไปใต้ถุนศาลเขาบอกว่าไม่ได้ประกันตัวแล้ว ทนายก็บอกว่าให้สูดหายใจลึกๆ ทำใจดีๆ ไว้ ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น เราก็ไม่กลัวอะไร อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่ไปไหนทั้งนั้นและจะสู้คดี” ยุทธภูมิเล่า

ระหว่างอยู่ในเรือนจำ ทนายของเขายื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมดเก้าครั้ง แม้จะพยายามเปลี่ยนประเภทหลักทรัพย์และนายประกันในการยื่นแต่ละครั้ง ถึงขนาดที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้นเป็นนายประกันให้ก็ยังไม่เป็นผล ด้วยเหตุผลซ้ำๆ ว่า “เป็นคดีร้ายแรง ปล่อยไปเกรงจะหลบหนี”

เรื่องหลบหนีไม่อยู่ในความคิดของยุทธภูมิอยู่แล้ว แต่เขารู้ดีว่าเมื่อเป็นคดี 112 การประกันตัวเป็นเรื่องเกินคาดหวัง

“รู้ว่ายังไงก็ไม่ได้แต่ก็ลุ้นนะ ทนายเขาก็คงยื่นไปอย่างนั้น ให้เรามีความหวังไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราอยู่ข้างในได้ เวลาทนายมาเยี่ยมเขาจะบอกว่าต้องอยู่ข้างในให้ได้นะ คนข้างนอกจะพยายามยื่นประกันให้ ขนาดตอนขึ้นศาลครั้งสุดท้าย ศาลบนบัลลังก์ท่านเป็นคนบอกให้ผมยื่นประกันตัวเองแล้วเซ็นกำกับให้ด้วย แต่ไปยื่นก็ยังไม่ได้อีก ก็ไม่รู้เหตุผล” ยุทธภูมิบอก

หลังเขาต้องใช้ชีวิตในเรือนจำราวหนึ่งปี ศาลชั้นต้นก็พิพากษายกฟ้องในวันที่ 13 กันยายน 2556 ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ แต่ให้ริบแผ่นซีดีของกลางไปทำลาย

ยุทธภูมิถูกปล่อยตัว

อีกหนึ่งปีหลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานโจทก์อ่อนและมีความน่าสงสัย และผู้กล่าวโทษที่เป็นประจักษ์พยานโจทก์เพียงปากเดียวก็เคยมีเรื่องขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน

แม้จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ช่วงเวลาหนึ่งปีในเรือนจำและห้าปีของการต่อสู้คดี ไม่ใช่เรื่องที่เขาควรเผชิญตั้งแต่แรก เขาต้องกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ทั้งที่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มากหากไม่ต้องเข้าเรือนจำซึ่งทำให้สิ่งที่สร้างมาพังไปหมด

“ทำไมอยู่ดีๆ ชีวิตคนคนหนึ่งต้องพลิกผันเข้าไปอยู่ในคุก ต้องไปเจอคำหยาบๆ เถื่อนๆ ในคุก ผมไปทำอะไรผิดเหรอ แล้วถ้าผมได้ประกันตัวก็ไม่ต้องอยู่ในคุก ยังทำงานต่อไปได้ ซึ่งสุดท้ายศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ถามว่าผมสมควรเข้าไปอยู่ในนั้นไหม ผมไม่ได้ทำร้ายชีวิตใคร ไม่ได้ทำผิดต่อชีวิตหรือทรัพย์สินใคร

“หนึ่งปีนั้นมันไม่ใช่แค่การติดคุกนะครับ นั่นมันชีวิตผมเลยนะ แทนที่เราจะทำงานแบบไม่มีความกังวล กลับต้องไปอยู่ข้างใน ต้องขึ้นศาล ต้องโดนใส่โซ่ แย่ครับ”

ยุทธภูมิไม่ได้รับเงินชดเชยจากการติดคุกฟรีและไม่คิดจะทำเรื่องขอเงินชดเชย เพราะเขาไม่คิดว่าจะคาดหวังผลอะไรได้

“มันไม่เป็นผลหรอกครับ ไหนๆ แล้วก็จบไปเถอะ การประกันตัวยังไม่ได้จะมาเรียกร้องอะไร คดีเกี่ยวกับ 112 ทำอะไรก็ยากไปหมด การดำเนินการก็ไม่ง่ายนะต้องผ่านหลายขั้นตอน แล้วไม่คิดว่าจะได้หรอก ส่วนใครที่ดำเนินการได้ก็ดีใจด้วย”

สำหรับยุทธภูมิ การติดคุกโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเป็นเรื่องที่หาอะไรมาชดเชยไม่ได้และไม่ควรเกิดขึ้นแม้แต่วันเดียว

“ถ้าไม่ได้ทำอะไร วันเดียวก็ไม่ควรติดคุก คุณไม่มีสิทธิเอาโซ่มาใส่ขาผม คุณไม่มีสิทธิผลักผมเข้าประตูห้องขังเลย มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิ แต่คุณบังคับเอาผมไปขัง บังคับใส่โซ่ตรวนที่ขาโดยที่ผมไม่ยินยอมเลย”

ยากจะบอกว่ายุทธภูมิทำอะไรผิดพลาดจึงเผชิญเรื่องนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยืนยันว่ามาตรา 112 ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง มีปัญหาในกฎหมายที่เปิดช่องให้คนทั่วไปใช้เป็นเครื่องมือและกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาที่ทำให้คนที่ไม่ได้ถูกพิพากษาต้องติดคุก ยุทธภูมิมองว่าหากเขาได้ประกันตัวตั้งแต่แรก การถูกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเล่นงานก็อาจทำลายชีวิตเขาน้อยกว่านี้

“ทุกคนมีสิทธิในตัว สิทธิในการประกันตัวต้องมี ในคดีที่ไม่ได้ทำผิดต่อชีวิตควรได้รับการประกันตัว โดยเฉพาะนักโทษทางความคิด มันเป็นเรื่องความคิด ไม่ได้ทำร้ายร่างกายใคร ควรทบทวนครับ พนักงานควรกล้าตัดสินใจ หลักฐานไม่ได้ก็ต้องบอกว่าหลักฐานไม่ได้ ไม่ฟ้องก็คือไม่ฟ้อง” ยุทธภูมิกล่าว

จับก่อน พิสูจน์ทีหลัง กับหลากชีวิตที่ถูกทำลาย

วาสนา บุษดี

การติดคุกเป็นเรื่องสุดท้ายที่ควรเกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่กระบวนการยุติธรรมที่ทำงานเดินหน้าเยี่ยงเครื่องจักรกลที่ไม่มีการตั้งคำถามถึงความผิดปกติ ทำให้มนุษย์จำนวนมากต้องไปอยู่ในคุกโดยไม่จำเป็นและไม่สมควร

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมแตกต่างกัน คนมีเงินอาจมีความเป็นอยู่ไม่ลำบากนัก แต่สำหรับคนจน การติดคุกเหมือนตายทั้งเป็น ยังไม่นับว่าครอบครัวที่อยู่นอกคุกซึ่งต้องล้มพับตามลงไปเมื่อขาดกำลังหลัก

ผลลัพธ์อย่างหลังนี้เกิดขึ้นกับ วาสนา บุษดี[3] เมื่อเธอติดคุก 2 ปี 4 เดือน 3 วัน ด้วยความผิดที่เธอไม่ได้ก่อ

วาสนาเป็นคนมุกดาหาร ทำงานรับจ้างไปเรื่อยๆ จนมาทำอาชีพรับซื้อตุ๊กแกสำหรับส่งไปทำยาบำรุง ระหว่างตระเวนรับซื้อไปทั่ว เธอก็กลับไปอยู่บ้านเกิดที่มุกดาหารเพื่อข้ามไปรับซื้อตุ๊กแกที่ฝั่งประเทศลาว ระหว่างนั้นก็หารายได้เล็กๆ น้อยๆ ด้วยการทำอาหารและขนมใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์ตระเวนขายในหมู่บ้าน จนเริ่มคุ้นกับ ‘น้อย’ เพื่อนบ้านที่กลายมาเป็นลูกค้าประจำ

วาสนาคุ้นเคยกับน้อยจนถูกวานให้ไปโอนเงินเพื่อช่วยเพื่อนที่มีปัญหาทางการเงิน วาสนาก็ช่วยเหลือทันทีโดยไม่คิดอะไร

12 มีนาคม 2558 ตำรวจและทหารหลายสิบนายบุกไปที่บ้านของวาสนา ปิดทางเข้าออกถนนโดยรอบแล้วบุกเข้ามาโดยที่ไม่มีหมายจับหรือหมายค้น ท่ามกลางความตกใจและงุนงงของวาสนาและพ่อแม่

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ มีการจับกุมคนโดยไม่มีหมายจับและเกิดปฏิบัติการจำนวนมากของทหารเพื่อใช้เอาผิดประชาชนฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะคนเสื้อแดง

วาสนาเล่าถึงภาพเหตุการณ์วันที่ถูกบุกจับว่า “พ่อเป็นเส้นเลือดตีบในสมองอยู่แล้ว แม่ก็ขาลีบ ไม่ค่อยแข็งแรง เดินไม่ได้ วันนั้นตำรวจทหารมากันเยอะแยะเลย ขับรถทหาร ปิกอัป โฟร์วีล ปิดสามซอย จะไม่ให้พ่อกับแม่ช็อกได้ยังไง พ่อแม่แกนั่งหย่อนขามอง ได้แต่ถามว่า ‘อะไรๆ’

“ตอนจะเอาเราเข้ากรุงเทพฯ เขาพาเรากลับไปที่บ้าน ไปขนของของพ่อแม่ พวกจักร-เสื้อผ้าเอามากองไว้ คนแก่สองคนเขาก็นั่งรอเราอยู่ เราบอกพ่อแม่ว่า ‘เดี๋ยวกลับมานะ’ (ร้องไห้) เราขอเขาลงไปคุยกับพ่อแม่ ขอครั้งเดียว แค่จะบอกพ่อแม่ว่าเราไม่ได้ปล่อยตัวแล้วนะ แต่เขาไม่ให้ เขาโกหกพ่อกับแม่เราว่า ‘เดี๋ยวจะเอาลูกสาวมาส่งคืนป้านะ’ แม่แกนั่งอยู่ไม่พูดอะไรเลย แกช็อก สองคนเขาก็นั่งรออยู่อย่างนั้น”

ตำรวจอธิบายว่าวาสนาถูกจับจากการโอนเงินไปว่าจ้างคนวางระเบิดศาลอาญาเมื่อห้าวันก่อน[4] จากนั้นตำรวจจึงไปบุกจับน้อยและพาตัวทั้งสองไปยังค่ายทหารในนครพนม ก่อนจะส่งตัวไปค่ายทหารที่กรุงเทพฯ

วาสนาไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งไปเรือนจำในฐานะนักโทษคดีการเมืองที่เชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง เธอถูกกล่าวหา 2 คดีคือ ก่อการร้ายและอั้งยี่

เธอบรรยายว่าการอยู่ในคุกคือ ‘นรกบนดิน’ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินแบบเธอ “เชื่อไหม เราคิดหลายครั้งว่าอยากจะฆ่าตัวตายเลยนะ จะเอาสายยกทรงผูกคอตายกับเหล็ก เราไม่เคยต้องคดี ตกใจ คิดไม่ออก อยากจะฆ่าตัวตาย”

วาสนาเชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเอง เธอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตลอดการต่อสู้คดี กระทั่งผู้คุมคนหนึ่งในเรือนจำ เมื่อทราบเรื่องของวาสนาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอจึงถูกจับกุม

“มีผู้คุมผู้หญิงคนหนึ่ง เราไปบีบนวดให้ เขาก็เอาเอกสารของเราไปอ่านแล้วบอกว่า ‘มึงนี่ไม่มีอะไรเลย เขาจับมึงมารกคุกกูทำไมวะ นี่มันไม่มีอะไรเลยนะเนี่ย’ เราแค่ให้ยืมบัญชีจะรู้ไหมว่าเขาเอาเงินนี้ไปทำอะไร เราคิดแค่ว่าช่วยคน”

วาสนาติดคุกอยู่นานถึง 2 ปี 4 เดือน 3 วัน หลังทนายพยายามยื่นประกันตัวหลายครั้ง ที่สุดศาลจึงให้ปล่อยตัวชั่วคราว เธอบอกว่าตอนที่รู้ข่าวดีใจมาก มีเรื่องเดียวที่เธอคิดไว้คือกลับไปหาพ่อแม่ของเธอ

“ลูกชายบอกว่าตายายรออยู่นะ เราดีใจ รีบทำงาน ใครจ้างอะไรเราทำหมด จะหาเงินไปกราบเท้าพ่อแม่ แต่พอไปถึงเห็นแต่รูปพ่อแม่ตั้งอยู่กับกระดูก เราล้มทั้งยืน รับไม่ได้”

วาสนามารู้เอาทีหลังว่า หลังจากเหตุการณ์ที่เธอถูกบุกจับกุมที่บ้านได้เพียงอาทิตย์เดียว พ่อและแม่ของเธอล้มป่วยจากการเจอเหตุการณ์กระเทือนจิตใจกะทันหัน ภาพวันถูกจับกุมวนกลับมาในความคิด สิ่งที่วาสนาจำได้แม่นยำคือภาพพ่อแม่นั่งนิ่งพูดไม่ออก ภาพสุดท้ายก่อนเธอถูกนำตัวไปคือที่บ้านมีคนแก่สองคนที่ป่วยเส้นเลือดตีบในสมองและขาลีบนั่งรอลูกสาวกลับบ้าน

วาสนาโดนจับปี 2558 แม่ของเธอล้มป่วยและเสียชีวิตปี 2559 ส่วนพ่อเสียชีวิตปี 2560

“มีคนมาเล่าให้เราฟังทีหลังว่า พอเราโดนคุมตัวไป 7-8 วัน พ่อแม่เราอยู่ไม่ได้ ช็อกจนล้มป่วย พวกพี่ๆ ต้องไปดูแล ก่อนหน้านี้พี่น้องไม่ยอมรับเราเลย บอกว่าพ่อแม่ตายเพราะเรา สุดท้ายต้องมาขอขมากัน เขาเพิ่งจะให้อภัยเรา อยากบอกญาติพี่น้องว่าเราไม่ได้ฆ่าพ่อกับแม่ เราไม่ได้ทำให้พ่อแม่ตาย”

วาสนาถูกยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา แต่ความสูญเสียรอบด้านที่ทำลายชีวิตวาสนาไปแล้วนั้นไม่อาจเรียกคืน

แม้ในช่วงที่ได้รับการประกันตัวและสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้นั้น การต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลทำให้เธอมีค่าใช้จ่ายมากและทำให้เธอไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องรุนแรงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การไม่ทำงานหมายถึงไม่มีเงินใช้ในวันถัดไป

เมื่อมองเรื่องสภาพจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เธอคิดถึงความทรงจำเลวร้ายวนเวียนไม่รู้จบ ทุกวันนี้เวลาอาบน้ำ เธอมักนึกถึงเสียงนกหวีดของผู้คุมเรือนจำที่ส่งสัญญาณให้ตักน้ำ หรือหากได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน เธอจะรีบหลบด้วยความหวาดกลัว ด้วยนึกถึงสภาพในเรือนจำที่ผู้คนทะเลาะแย่งที่กันตลอดเวลาด้วยความเป็นอยู่ในแดนแรกรับอันแออัด

ส่วนเรื่องการงาน วาสนายอมรับว่าแม้มีการตัดสินว่าเธอไม่ใช่คนผิด แต่ตราบาปที่เคยผ่านเรือนจำก็ทำให้เธอถูกปฏิเสธทันทีเมื่อไปสมัครงานแม่บ้านโรงแรม ส่วนคนรอบข้างที่ไม่รู้รายละเอียดคดีก็มองเพียงว่าเธอเป็นคนไม่ดีที่เคยเข้าคุก

“บ้านแตกสาเหรกขาด พ่อแม่ตายก็ไม่ได้เผา มันโหดร้ายเกิน” วาสนาเล่าพร้อมกลั้นน้ำตาที่จะถั่งโถมทุกครั้งเมื่อพูดถึงพ่อแม่

“ชีวิตคนคนหนึ่งพังไป เราเสียพ่อแม่ เสียอิสรภาพ มันไม่ถูกต้อง เราแค้นในใจ ชีวิตคนทั้งคนนะ ถ้าญาติพี่น้องเขาเข้าไปอยู่ในนั้นล่ะจะเป็นยังไง อยากบอกเจ้าหน้าที่ว่าเวลาจับคน ต้องดูให้แน่ชัดว่าเขาผิดจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เอะอะก็จับเข้าห้องขัง” เป็นคำขอร้องที่เต็มไปด้วยความคับแค้นใจของวาสนา

การจับกุมผู้ต้องหาที่ไม่มุ่งหาผู้กระทำที่แท้จริง

วิญญัติ ชาติมนตรี
วิญญัติ ชาติมนตรี

ผู้ที่ติดตามการเมืองมานับแต่ยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะคุ้นเคยกับคำหนึ่งที่คนเสื้อแดงใช้พูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทยบ่อยครั้งคือ ‘สองมาตรฐาน’

สำหรับ วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ในฐานะทนายเสื้อแดงที่เผชิญหน้าคดีที่ถูกเรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’ มานับไม่ถ้วนมองว่า ปัญหาสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เรื่องเดียวกันเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน จนทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะขัดแย้งตลอดมา

“คนบังคับใช้กฎหมายทำให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า คุณไม่ใช่พวกฉัน คุณจะต้องถูกกระทำแบบนี้หรือผลของคดีคุณจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นพวกฉันเมื่อไหร่ผลจะออกมาเป็นอีกแบบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย”

วิญญัติยกตัวอย่างว่า ในคดีการเมืองโดยเฉพาะช่วงรัฐประหาร 2557 จะปรากฏการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบเพื่อให้คนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นผู้แพ้หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลายเป็นคนผิด เพื่อให้ ‘สอดคล้อง’ กับเหตุผลที่ คสช. ต้องยึดอำนาจ จนทำให้เห็นมาตรฐานที่แตกต่างกัน

“คำว่าสองมาตรฐานไม่ใช่วาทกรรม สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับคดีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คำนี้ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเลย”

วิญญัติตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงเหตุการณ์ล้อมปราบปี 2553 เกิดวาทกรรม ‘เผาบ้านเผาเมือง’ ซึ่งนำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาประท้วง ต่อมามีการจับกุมผู้ต้องหา ‘คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์’[5] โดยตั้งข้อหารุนแรงทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้ประกันตัว แล้วยังตอกย้ำวาทกรรมเรื่องคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินคดีร้ายแรงอื่นๆ กับคนเสื้อแดง เป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว สะท้อนไปสู่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ให้ผู้ต้องหาเหล่านี้ได้รับการประกันตัว

ผู้ต้องหาคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์คือ ‘สายชล’ และ ‘พินิจ’ เขาทั้งสองติดคุกอยู่ราว 2 ปี 10 เดือน ไม่ได้รับการประกันตัว ที่สุดแล้วศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง แม้ทั้งคู่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แต่ก็ติดคุกไปแล้วและวาทกรรมเผาบ้านเผาเมืองก็ยังทำงานกับความคิดคนในสังคมถึงปัจจุบัน

วิญญัติมองว่า ภาครัฐใช้งบประมาณจำนวนมากในการหาคนมารับผิดชอบต่อคำกล่าวอ้างเรื่องประชาชนตายเพราะฝีมือของกองกำลังที่แฝงในผู้ชุมนุม ไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่ จึงตั้งข้อหาเผาเซ็นทรัลเวิลด์โดยบอกว่าเป็นกลุ่มชายชุดดำที่มีอาวุธ

“เขาอ้างว่าประชาชนที่ตายหกศพวัดปทุมฯ หรือตายที่สะพานผ่านฟ้า หรือแยกคอกวัว ก็เป็นฝีมือของคนกลุ่มนี้ นะ นี่เป็นความเลวร้ายของการเมืองไทย ที่ทุกวันนี้คนตายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ตัวอย่างที่วิญญัติยกขึ้นมาทำให้เห็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกรณีจับแพะในคดีการเมือง เมื่อภาครัฐมีธงที่ตั้งไว้และใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางการเมือง แม้สุดท้ายผู้ต้องหาหลายคนจะถูกยกฟ้อง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่ใครควรเผชิญ

“ผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากอิสรภาพที่สูญเสียแล้ว ทั้งครอบครัว คนข้างหลัง และชีวิตของเขาถูกกระชากออกไปตั้งแต่วันแรกที่ถูกขัง เขาสูญเสียโอกาสในชีวิต ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวเสียเสาหลัก สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครมาเยียวยาให้กลับคืนได้”

ในฐานะนักกฎหมาย วิญญัติมองว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ที่นักเรียนนิติศาสตร์ท่องกันนั้นกลายเป็นหลักการสวยหรูที่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ

“เหตุผลที่เขียนเวลาไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวคือการบอกว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง เกรงจะหลบหนี แต่เหตุผลที่เขียนไม่ได้คือเหตุผลทางการเมือง เหตุผลเชิงนโยบายจากบริบทที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ข้อสันนิษฐานที่ว่าให้เป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจึงใช้ไม่ได้จริง การเลือกปฏิบัติจึงเกิดขึ้นกับคดีเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมามีคดียาเสพติด คดีแชร์ คดีฉ้อโกงหลายคดีที่โทษสูงและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ยังได้รับการประกันตัว แต่ในคดีการเมืองต้องถูกขังจนคดียกฟ้องนั่นแหละจึงจะยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์จริง” วิญญัติกล่าว

เขายังยืนยันว่า สิทธิการประกันตัวนอกจะตอกย้ำหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว จะเพิ่มโอกาสให้จำเลยในคดีอาญาได้มีโอกาสพูดคุยกับทนาย มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐาน

“การประกันตัวทำให้ผู้ต้องหาได้มีชีวิตแบบที่ปุถุชนทั่วไปควรจะมี เพราะเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในห้องขังที่ถูกจำกัด ถูกล่ามตรวน หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้ที่เขาเสียไปไม่สามารถเรียกคืน หลักการให้ประกันตัวจึงจำเป็นมากสำหรับจำเลยคดีอาญา

“จำเลยก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อบ้านเมือง กฎหมายก็รับรองว่าเขามีสิทธิต่างๆ เขาจะถูกกระทำแบบนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาไม่ได้ไปละเมิดใคร แต่คุณไปยัดเยียดว่าเขาละเมิดคนอื่น ดังนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าการให้โอกาสในการประกันตัว” วิญญัติกล่าว

กฎหมายความมั่นคง ‘สภาวะยกเว้นอย่างถาวร’ ในกฎหมายไทย

เมื่อมองผ่านชีวิตของยุทธภูมิและวาสนาแล้ว จุดสังเกตอันโดดเด่นคือสองเรื่องนี้สะท้อนความผิดพลาดอันแปลกประหลาดของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อคดีการเมือง โดยเฉพาะคดีความมั่นคง แต่แท้จริงแล้วความแปลกประหลาดนี้มีที่มาที่ไปของวิธีคิดเบื้องหลัง

การตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดที่เกิดขึ้นในคดีการเมืองนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ เคยพูดถึงเรื่องนี้ไว้ในการบรรยายที่ Common School[6] ปี 2564 โดยบอกว่า ศาลและระบบการยุติธรรมไทยในสมัยโบราณมักให้อภิสิทธิ์แก่รัฐบาลในเรื่องความมั่นคง ให้ถือว่าคนกระทำผิดต่อความมั่นคงเป็นผู้ผิดจนกว่าผู้ต้องหาจะพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

“ในขณะที่ระบบกฎหมายอื่นๆ ของไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงค่อนข้างดีพอสมควร คือให้ถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าฝ่ายโจทก์จะพิสูจน์ว่าเขาผิด แต่ในวัฒนธรรมศาลไทยในเรื่องความมั่นคง เช่น หมวดพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ กลับมีรากฐานมีที่มาในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพราะความดีเลวของผู้พิพากษาเป็นการส่วนตัว

“ปัญหาของราชทัณฑ์ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงราชทัณฑ์ไทยยังมีปัญหาการลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขังอยู่พอสมควร แต่อย่างน้อยในต่างประเทศก็มีการให้ประกันตัว และมีพยายามเร่งรัดจัดการแก้ปัญหาที่ว่าคนจนไม่มีเงินมาประกันให้ตกไป คือไม่ควรมีใครติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน ในขณะที่ประเทศไทยนอกจากคนจนจะติดคุก เพราะไม่มีเงินประกันแล้ว ในคดีความมั่นคงทางการเมือง ยังมีการไม่ให้ประกันตัวด้วย” ธงชัยกล่าว

เขายังเคยกล่าวถึงประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและวิธีคิดเบื้องหลังระบบกฎหมายสมัยใหม่ไทยไว้ในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ครั้งที่ 17[7] ความตอนหนึ่งพูดถึงการมีอยู่ของกฎหมายความมั่นคงในกฎหมายไทยว่า “…เป็นปริมณฑลที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติในสถานการณ์ปกติด้วย หรือกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายใน ‘สภาวะยกเว้นอย่างถาวร’ ที่อยู่ในกฎหมายปกติ”

ธงชัยอธิบายต่อไปว่า กฎหมายความมั่นคงไทยให้อภิสิทธิ์แก่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลได้ในภาวะปกติ เช่น พรากสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา ให้ถือว่าผู้ต้องหามีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ในทางปฏิบัติจึงมีการใช้วิธีแบบจารีตนครบาล เช่น การทรมานเพื่อรีดคำสารภาพ และยอมให้มีการพิจารณาคดีเป็นความลับ ที่สำคัญคือใครก็ได้สามารถแจ้งฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ทราบ คุณสมบัติแบบโบราณเหล่านี้ไม่ใช้อีกต่อไปแล้วในกฎหมายปกติหมวดอื่นๆ

“เหตุที่ต้องดำรงอยู่ถาวรตลอดเวลาก็เพราะเชื่อว่าประเทศและสถาบันกษัตริย์มีโอกาสตกอยู่ใต้การคุกคามได้ตลอดเวลาดังที่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยสอนไว้ การใช้มาตรา 112 ในระยะที่ผ่านมา ยังงดเว้นการใช้สมองอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามปกติด้วย แล้วพยายามปลูกฝังเหตุผลแปลกประหลาด ควบคู่กับการแผ่ความกลัวเพื่อจำกัดและกำจัดการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล” ธงชัยกล่าวไว้ในปาฐกถา

คำอธิบายของธงชัยช่วยทำความเข้าใจวิธีคิดของรัฐที่มีต่อผู้ต้องหาคดีการเมือง เมื่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไทยมีการปรับตัวและพยายามพัฒนาเรื่อยมา แต่วิธีคิดในพื้นที่คดีความมั่นคงกลับหยุดนิ่งอยู่กับอดีต และพร้อมบดขยี้ทุกชีวิตที่ย่างก้าวเข้ามาในพื้นที่นี้

อาจมองได้ว่า ความไม่เป็นธรรมที่ยุทธภูมิเจอ ความสูญเสียที่วาสนาเผชิญ ไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบ แต่เกิดขึ้นโดยความมุ่งหมายที่จะแผ่ขยายความกลัวในสังคม ตราบที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง

References
1 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์: ความหมายเชิงหลักการและความเป็นจริงในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
2 อ่านเรื่องชีวิตของยุทธภูมิ มาตรนอก เพิ่มเติมที่ ติดคุกฟรี ชีวิตพัง ‘คดีพี่ฟ้องน้อง’ ที่ยืนยันว่า 112 มีปัญหา
3 อ่านชีวิตของวาสนา บุษดี เพิ่มเติมได้ที่ 2 ปี 4 เดือน 3 วัน ชีวิตนักโทษการเมืองกับความผิดที่ไม่ได้ก่อของ วาสนา บุษดี
4 คดีปาระเบิดศาลอาญา เกิดขึ้นช่วงหัวค่ำวันที่ 7 มี.ค. 2558 ราวสิบเดือนหลังการรัฐประหาร 2557 มีการปาระเบิดเข้าไปที่ลานจอดรถศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ทำให้เกิดเศษปูนแตก โดยไม่มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และต่อมามีการกล่าวหาว่าเป็นขบวนการที่วางแผนจะระเบิด 100 จุดทั่วประเทศ
5 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ‘ยกฟ้อง’ 2 จำเลย คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ปี 53
6 การปฐมนิเทศ ‘เบิกโรง’ ประวัติศาสตร์นอกขนบ ภายใต้โครงการ ‘ตลาดวิชาอนาคตใหม่’ Common School เมื่อ 15 พ.ค. 2564 ดูได้ที่เว็บไซต์คณะก้าวหน้า
7 ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มี.ค. 2563 ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ดูได้ที่เว็บไซต์ WAY Magazine

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save