fbpx

ไตรลักษณ์แห่งความตายของชัยภูมิ ป่าแส

17 มีนาคม 2566 ครบรอบ 6 ปี ที่ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาติพันธุ์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต ณ ด่านตรวจของทหารที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ชัยภูมิไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังหรือเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เขาเป็นเด็กหนุ่มชาวลาหู่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในแวดวงคนทำงานส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคนชาติพันธุ์ มีเพื่อนและคนรู้จักที่เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ และอาจพอเป็นที่รู้จักกับองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานในด้านเดียวกัน อีกนัยหนึ่งเขาก็เป็นเพียงสามัญชนธรรมดาคนหนึ่ง การพินิจถึงการตายของเขาอาจช่วยทำให้เราสามารถเข้าใจถึงความรุนแรงของรัฐที่กระทำต่อบุคคลได้ในแง่มุมที่กว้างขวางมากขึ้น

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำอธิบายถึงความเป็นจริงและความรับผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ภายหลังเหตุการณ์ทางเจ้าหน้าที่ทหารยืนยันว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว ขณะที่ทางฝ่ายผู้เสียหายโต้แย้งว่าเป็นการใช้กำลังโดยมิชอบของทางเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ยืนยันว่าได้ดูกล้องวงจรปิดรวมถึงยืนยันว่าการยิงชัยภูมิเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่เมื่อขึ้นการพิจารณาในชั้นศาล หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ปฏิเสธต่อการส่งมอบภาพในกล้องวงจรปิด อันทำให้เกิดความยากลำบากต่อฝ่ายผู้สูญเสีย

การตายของชัยภูมิเป็นหนึ่งในผู้คนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับวิบากกรรมโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถทำให้ผู้ก่อเหตุต้องมีความรับผิดเกิดขึ้น การหลุดลอยพ้นไปจากการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอย่างง่ายดาย เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐจนนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของบุคคลที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘วิสามัญฆาตกรรม’ นั้นยากจะเอาผิดต่อผู้กระทำได้ เมื่อเกิดการตายโดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมทรมาน การยิงผู้ตายด้วยข้ออ้างการป้องกันตัว การขัดขืนต่อการจับกุม หรือในอีกหลากหลายลักษณะ หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานชัดแจ้งให้เป็นที่ประจักษ์แล้วก็แทบเป็นไปไม่ได้ในการทำให้เกิดความรับผิด

การวิสามัญฆาตกรรมที่ยากต่อการตรวจสอบเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะพบว่ามีปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ผู้มีอำนาจหน้าที่เบื้องต้นในการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง แทบทั้งหมดก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือก็เป็นบุคคลที่อยู่ในสีเดียวกัน หากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูงของหน่วยงาน คำถามคือว่าเจ้าหน้าที่ในระดับล่างหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะกล้าบ้าบิ่นทำงานอย่างไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมจริงหรือ ก็รู้กันอยู่ว่าการกลั่นแกล้งกันในแวดวงฝ่ายความมั่นคงหรือสีกากีเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย หรือต่อให้มีบางคนที่ทำงานอย่างจริงจัง แต่คิดว่ากระบวนการทำงานจะไม่ถูกรบกวนหรือขัดขวางจากคนอื่นๆ เลยกระนั้นหรือ

มีคดีวิสามัญจำนวนมากที่ข้อเท็จจริงชวนให้เกิดความสงสัยเป็นอย่างมาก เช่น กรณีโจ ด่านช้าง เมื่อหลายปีก่อนซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายขณะที่ใส่กุญแจมือ หลังเหตุการณ์มีการชี้แจงว่าผู้ตายขัดขืนและต่อสู้ขณะพาไปตรวจค้นโดยมีตำรวจล้อมหน้าล้อมหลังเป็นสิบคน ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครต้องรับผิดชอบ บรรดาผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ควบคุมการจับกุมล้วนต่างเจริญก้าวหน้าจนได้ครองยศนายพลในชีวิตราชการ  

สะท้อนให้เห็นว่าการพิสูจน์และตรวจสอบการวิสามัญฆาตกรรมมีความยุ่งยากเป็นอย่างมาก

สำหรับกรณีของชัยภูมิ ปัจจัยอีกประการที่ทำให้ความยุ่งยากเพิ่มทวีมากขึ้นก็คือความเป็นคนชาติพันธุ์ของผู้ตาย เมื่อใดที่มีการสังหารบุคคลที่เป็นคนชาติพันธุ์เกิดขึ้น เหตุผลหนึ่งที่มักจะมีการให้คำอธิบายก็คือเขามีส่วนเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติด การให้เหตุผลในลักษณะเช่นนี้สอดรับกับความเข้าใจที่แพร่หลายกันอยู่ในสังคม แทบทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวการจับกุมยาเสพติดก็มักจะมีการให้รายละเอียดว่าคนเหล่านั้นคือคนชาติพันธุ์ การตอกย้ำอย่างต่อเนื่องได้กลายเป็นภาพจำและเป็นเหตุผลที่เจ้าหน้าที่รัฐมักจะใช้เป็นข้ออ้างเสมอ

คำอธิบายที่มีต่อการวิสามัญชัยภูมิ ก็ให้เหตุผลว่าผู้ตายเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด การกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้ต่อผู้ตายเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ความรุนแรงของผู้กระทำมีความชอบธรรมและไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้แล้ว ในห้วงเวลาที่ระบอบการเมืองของไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม หน่วยงานของรัฐสามารถใช้อำนาจและกำลังได้โดยที่แทบไม่ต้องเผชิญกับการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการใช้กำลังหรือความรุนแรงที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐหรืออุดมการณ์นำของรัฐ

การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ไม่ว่าจะการใช้กระสุนยางยิงใส่ การใช้ความรุนแรงในยามเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม หรือการตั้งข้อหาแบบเลยเถิดที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ฯลฯ เป็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความหวั่นเกรงว่าจะต้องเผชิญหน้ากับการถูกตรวจสอบถึงการกระทำเหล่านี้แต่อย่างใด

รัฐบาลหรือผู้บังคับบัญชาก็เพียงแต่พร่ำบอกว่าจะดำเนินการทุกอย่าง “ให้เป็นไปตามกฎหมาย” อันมีความหมายว่าไม่มีใครเอาผิดพวกกูได้หรอก

ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม กระบวนการยุติธรรมยากที่จะทำงานได้อย่างปกติสุข เราสามารถวางใจได้จริงหรือว่าความตายที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายตำรวจนั้นจะดำเนินไปบนฐาน ‘เกียรติตำรวจของไทย’ แม้ว่าในหลายเหตุการณ์นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การทำหน้าที่ในการปกป้องความมั่นคงของรัฐ หากเป็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นทหารเกณฑ์ ทหารระดับล่าง นักเรียนนายร้อยรุ่นน้อง เป็นต้น

ความตายจำนวนมากจบลงด้วยความเงียบงันและความเจ็บปวดของทางฝ่ายผู้สูญเสีย

การตายของชัยภูมิ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของปัจเจกบุคคลที่โชคร้ายที่ต้องโดนกระสุนปลิดชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐและยุ่งยากต่อการใช้กฎหมายในการปกป้องสิทธิของผู้คน การตายของเขาเป็นภาพสะท้อนหนึ่งของสามัญชนที่อาจต้องเผชิญกับความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป

มีเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร้ความรับผิด นับตั้งแต่การวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่ถูกตรวจสอบ อคติทางชาติพันธุ์ที่เอื้อให้ถูกมองข้าม และการเมืองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมซึ่งให้อำนาจอย่างล้นเหลือแก่อำนาจรัฐในปฏิบัติการต่างๆ   

การทำความเข้าใจถึงการตายของชัยภูมิ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นความรุนแรงของรัฐที่ฝังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ระบบความคิด และอำนาจทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน การจะเผชิญหน้ากับความตายในลักษณะเช่นนี้จึงอาจจำเป็นต้องมองเห็นถึงเงื่อนไขและปัจจัยจำนวนมากที่เอื้อให้ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่สืบมา

ทั้งจะช่วยทำให้พวกเราทั้งหลายได้ตระหนักว่าเอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความรุนแรงเป็นอย่างมาก อันอาจนำไปสู่ความระแวดระวังและใส่ใจต่อการควบคุมปฏิบัติการของอำนาจรัฐเพิ่มมากขึ้น มากกว่าการปล่อยให้เป็นอำนาจอันอิสระที่ลอยพ้นไปจากการตรวจสอบและความรับผิด

หมายเหตุ – บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘วิสามัญมรณะ : ปฏิบัติการของระบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ’ โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save