fbpx

กับดักล้มประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ

ไม่ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 จะอวดอ้างคุณความดีของกฎหมายฉบับนี้ต่อประชาธิปไตยไปอย่างไรก็ตาม ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยทางรัฐสภา

ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นชัยชนะที่ปาฏิหาริย์ เพราะนอกจากต้องได้ชัยในการเมืองแล้ว ยังต้องชนะในกฎหมายอีกด้วย กล่าวคือนอกจากจะได้เสียงประชาชนมากๆ เป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังต้องเอาชนะระบบเลือกตั้งและกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่มุ่งลดทอนหรือบิดเบือนเสียงประชาชนอย่างไม่ตรงไปตรงมาอีกด้วย

แม้กระนั้นก็ตาม ชัยชนะในวันเลือกตั้งยังไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้าย ผ่านมาสามสัปดาห์ พันธมิตรว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลง่อนแง่นกว่าที่เริ่ม ทั้งการต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้ การทะเลาะเบาะแว้งกัน เริ่มเป็นข่าวถี่ขึ้นจนมีเสียงสะท้อนว่า ‘เบื่อหน่าย’

ความเบื่อหน่ายนี้ไม่ควรประมาท ปัญหาของประชาธิปไตยที่ไม่อาจลงหลักปักฐานมั่นคงได้ เพราะคนจำนวนมากไม่มีศรัทธาในพรรคการเมือง เชื่อว่าพรรคการเมืองทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง ครั้งนี้พวกเขาลองเลือกพรรคการเมืองใหม่ๆ หากข่าวยังออกไปในแนวเดิมคือทะเลาะกันแย่งชิงตำแหน่ง ย่อมไม่เป็นผลดี ผลักดันพวกเขากลับสู่เส้นทางนอกประชาธิปไตย

ความขัดแย้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งธรรมชาติของพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยที่แตกต่างกันมากด้วย แต่อีกปัจจัยสำคัญคือ รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเลวร้าย โน้มนำให้พรรคการเมืองทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่ายด้วย

ประการแรกสุดคือ ระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมลงคะแนนด้วย ตรงนี้ไม่ต้องพูดถึงแล้วว่าเกิดจากการล่อลวงอย่างไรของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งคำถามประชามติแบบกำกวม จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงสนับสนุน 376 เสียง ไม่ใช่ 251 เสียงโดยทั่วไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ แทนที่พรรคอันดับหนึ่งและสองจะแยกกันแย่งจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นคู่แข่งกันกลับต้องถูกบีบให้จับมืออยู่ด้วยกันเพื่อให้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ทิ้งกันไม่ได้ แต่ก็เข้ากันไม่สนิท ความขัดแย้งจึงปะทุออกมาเป็นระยะๆ ในหลายประเด็น ตั้งแต่โผคณะรัฐมนตรีไปจนถึงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร 

ถ้าการเมืองปกติ ทุกพรรคสมาทานอุดมการณ์ประชาธิปไตย การที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ซึ่งนำเสนอประชาธิปไตยกันคนละแนวทาง คนละเฉด ก็คงแข่งขันผลัดกันแพ้ชนะ พรรคเพื่อไทยอาจจะได้เก้าอี้ ส.ส. เป็นอันดับสองแต่จับมือกับพรรคอื่นได้ พลิกให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน แต่ปัจจุบัน สองพรรคมีศัตรูร่วมคือพรรคการเมือง และวุฒิสภาที่สมาทานระบอบลูกผสม กึ่งเผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตย ทำให้ต้องอยู่ร่วมกัน

กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรียังคายพิษร้ายแก่พรรคก้าวไกล ด้วยมีสองทางเลือก ทางแรกคือรวบรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ซึ่งจะทำให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดชนิดที่กลไกตรวจสอบอำนาจในรัฐสภาทั้งหมดแทบจะไม่ได้ผล ซึ่งจะกลายเป็นจุดจบของประชาธิปไตยไทยด้วยเผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก หรือทางที่สองคือจับมือกับพรรคอื่นๆ และยอมลดเพดานนโยบาย ซึ่งกลายมาเป็นความตึงเครียดกับกองเชียร์ที่คาดหมายให้พรรคก้าวไกลนำการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และความตึงเครียดระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องกดดันให้พรรคก้าวไกลลดเพดานด้วย

ปัญหาอีกประการคือ การออกแบบระบบเลือกตั้งที่มุ่งเน้นความสุจริตเที่ยงธรรม จนให้เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้งถึง 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง ระยะเปลี่ยนผ่านที่ยาวนาน ตั้งแต่ 60 วันในการรณรงค์หาเสียง มาจนถึงอีก 60 วันที่จะรับรองผลและเรียกประชุมสภา ทำให้รัฐบาลรักษาการมีเวลาบริหารต่อไปอีกสูงสุดถึงสี่เดือนนิดๆ แทนที่รัฐบาลใหม่จะได้รีบเข้ารับตำแหน่งให้เร็วที่สุดสมดังความปราถนาของประชาชน

ความรอบคอบในการรับรองผลเลือกตั้งนั้นจำเป็นแน่ แต่ความรวดเร็วทันใจก็สำคัญ การรอคอยเนิ่นนานตรงนี้จะทำอะไรได้ดีไปกว่าทะเลาะแย่งเก้าอี้ในฝันกันไปพลางๆ

ก็เก้าอี้จริงไม่มาเสียที จะให้ว่าที่ ส.ส. ทำอะไรถ้าไม่ใช่เตรียมตัวฝันไปก่อน คำวิจารณ์ว่ายังไม่ทันได้ตำแหน่งก็ทะเลาะกันนั้นจริงอย่างที่สุด แต่ต่อให้ไม่ทะเลาะกันก็ทำอะไรไม่ได้มาก ระยะเวลาที่ทอดยาวผิดปกติโดยไม่มีอะไรแน่นอน ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลรวนเร โดยเฉพาะหากมีความไม่แน่นอน อาทิ มีว่าที่ ส.ส. ถูกสอบสวนค้างคาอยู่ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง และเปลี่ยนการจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด ระยะเวลาที่ทิ้งนานเช่นนี้ ยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายอำนาจเดิมนั้น กลับมาเจรจาใดๆ เพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยได้อีกด้วย

การปรับปรุงทัศนคติและวิธีการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ปัญหาโครงสร้างอย่างรัฐธรรมนูญที่บีบให้พรรคการเมืองทะเลาะเบาะแว้งกันในช่วงที่อ่อนไหวที่สุดนั้นไม่อาจมองข้ามไปได้เลย บางคนอาจจะเถียงว่านี่คือมาตรการชั่วคราวที่กำลังจะหมดอายุในปีหน้า แต่เดิมพันประชาธิปไตยไทยนั้นสูงยิ่ง ในภาพรวมคือการขยับกติกาพื้นฐานว่าข้อตกลงร่วมกันของประชาชนจะเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการซ่อนรูป การผลักดันวาระปฏิรูปประเทศต่างๆ และในภาพย่อยคือชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเผด็จการในช่วงเก้าปีที่ผ่านมาที่กำลังรอคอยสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง หากการจับมือครั้งนี้ล้ม ประชาธิปไตยไทยจะระหกระเหินไปอีกแสนนาน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save