fbpx
วิญญัติ ชาติมนตรี

การต่อสู้ที่ไม่จบสิ้นของ ‘วิญญัติ ชาติมนตรี’ ทนายจำเลยคดีการเมืองในโลกสองมาตรฐาน

สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองคงคุ้นเคยกับชื่อของวิญญัติ ชาติมนตรี ในฐานะทนายความคดีการเมืองตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549

ภาพการทำงานของเขาผูกติดอยู่กับ ‘คนเสื้อแดง’ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ทนายเสื้อแดง’ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขายืนยันการใช้เสรีภาพทางการเมือง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานสำคัญคือการไม่ยอมรับการยึดอำนาจ

นั่นคือหลักการสำคัญที่ทำให้เขากลายมาเป็นทนายความที่ร่วมต่อสู้ในคดีการเมืองจำนวนมาก มองเห็นกระบวนการยุติธรรมไทยในหลากแง่มุม ทั้งจุดด้อยที่ทำให้คนพูดถึง ‘สองมาตรฐาน’ และจุดดีที่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์ในบางคดีได้

101 พูดคุยกับวิญญัติในวันนี้ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ถึงชีวิตที่ผ่านมาของเขาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่โลกกฎหมายและจุดเปลี่ยนแปลงในชีวิตทนายความที่เริ่มมาทำคดีการเมืองอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน มองเห็นชะตากรรมคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกบดขยี้ด้วยคำตัดสินศาล มองเห็นน้ำตาผู้ต้องหายามได้ยินว่าได้ประกันตัว

ที่สำคัญคือเขาต้องเผชิญความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามรายทางการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เช่นที่หลายคนอาจยอมรับว่าถึงจุดที่ ‘หมดศรัทธา’ จากการต้องก้มหน้ายอมรับผลของการไม่ปฏิบัติตามหลักการ แต่สำหรับวิญญัติ เขายังคงมองเห็นความหวังที่จะสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับสังคมในสักวัน

พื้นเพชีวิตเป็นอย่างไร เริ่มสนใจกฎหมายได้อย่างไร

ผมเกิดที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ บรรพบุรุษเป็นคนโคราชย้ายถิ่นฐานมาทำโรงสีและรับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ครอบครัวผมอยู่ในระดับกลาง ไม่อัตคัด สามารถส่งลูกเข้าไปเรียนในเมืองได้ ไม่รู้ว่าจะพูดได้ไหมว่าพ่อแม่มีวิสัยทัศน์ แต่การไปเรียนในเมืองก็ช่วยต่อยอดด้านความคิดให้ผมได้

ผมจบ ม.ต้น และ ม.ปลาย ที่โรงเรียนบุญวัฒนา ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับจังหวัดของนครราชสีมา จากนั้นจึงไปเรียนรามคำแหง ตั้งแต่ปี 2536

ตอนแรกผมไม่รู้จักคณะนิติศาสตร์ ตอนอยู่ ม.ปลาย ก็เริ่มถามตัวเองว่าชอบอะไร ตอนแรกอยากเป็นตำรวจเพราะชอบดูหนังสืบสวนสอบสวน ตำรวจได้ช่วยคนหรือขจัดคนไม่ดี ผมเลยพยายามสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แต่สอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งอะไร จน ม.6 ต้องหามหาวิทยาลัยเรียนต่อ เพื่อนสนิทก็ชวนไปสมัครคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชน แต่วันที่จะไปสมัครมีญาติผู้ใหญ่ทักท้วง ครอบครัวผมเป็นครอบครัวคนจีน เวลาคุยกันก็จะอยู่ด้วยกันหลายคน มีญาติผู้ใหญ่ทักว่าผมน่าจะไปเรียนนิติศาสตร์นะ ผมก็ถามว่าเรียนนิติศาสตร์มันยากเหรอ เขาตอบว่ายากสิ แต่อาจจะเรียนไม่จบด้วยซ้ำนะ อย่าไปเรียนเลย ผมก็รู้สึกท้าทาย เลยถามว่าที่ไหนยากสุด คำตอบคือรามคำแหง ไม่ต้องสอบเข้าด้วย เข้าทางเลยครับ ก็เลยเลือกเรียนรามคำแหง จึงบอกเพื่อนว่าไม่ไปสมัคร ม.เอกชน แล้วนะ สุดท้ายจึงนั่งรถทัวร์ไปสมัครรามฯ กับเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง คนหนึ่งเรียนคณะอื่น อีกคนเรียนนิติฯ ด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันเป็นตำรวจ

ผมศึกษาคร่าวๆ ว่าจบนิติศาสตร์จะไปทำอะไร ตอนนั้นไม่อยากเป็นทนายความเลย เพราะมีคนพูดว่าอาชีพที่มีเกียรติ มีอำนาจ คือศาลและอัยการ จำได้ว่าวันที่จะเข้าเรียนนั่งรถทัวร์มาลงหมอชิตเก่าแล้วต่อรถเมล์ไปรามฯ 2 ซึ่งไกลมาก คนเยอะมากจนจะเป็นลมเลยชวนเพื่อนลงรถกลางทาง ปรากฏว่ากระเป๋าเงินหาย ซึ่งมีทั้งเงินที่ทางบ้านให้มาและสร้อยทองที่พ่อแม่ให้ เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ไม่พกกระเป๋าเงินอีก นี่คือสิ่งที่จำฝังใจและบอกตัวเองในหลายๆ เรื่องว่า หากเจออะไรแย่ๆ มาจะเป็นบทเรียนให้ผมแก้ไขและพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ตอนเริ่มเรียนนิติฯ มองอาชีพทนายอย่างไร เพราะคนเรียนนิติฯ ส่วนใหญ่ก็อยากเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา

ผมมาเลือกอาชีพทนายความหลังเรียนจบแล้ว ระหว่างเรียนรามคำแหง 3 ปี เราเห็นอะไรหลายอย่างเพราะทำกิจกรรมตั้งแต่ปีแรก เข้ารับน้อง ทำงานอาสา ทำค่าย ทำกิจกรรมพรรคนักศึกษาในรามฯ ชื่อพรรคศรัทธาธรรม ทำให้รู้จักศิลปิน-กวีที่เคยเห็นมาร่วมงานกันตอนนั้น ได้ซึมซับอุดมการณ์การทำเพื่อชาติบ้านเมืองหรือคนด้อยโอกาส

นอกจากมีเพื่อนทำกิจกรรม ผมก็มีเพื่อนที่เป็นเด็กเรียน อ่านหนังสือที่ห้องสมุดรามคำแหงด้วยกัน ก็ปรึกษากันว่าต้องไปเรียนเนติบัณฑิตนะ ที่จริงถ้าสอบตั๋วทนายไม่ต้องเรียนเนติฯ ก็ได้ แต่การเรียนเนติฯ ทำให้เราเก่งขึ้นนะ ผมจึงเรียนเนติฯ และสอบตั๋วทนายพร้อมกัน แต่เรียนเนติฯ  ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ปีแรกเลยไม่ค่อยจริงจังกับการเรียนเนฯ เพราะต้องอบรมตั๋วทนาย ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รู้จักเพื่อนมากมาย เริ่มตอบตัวเองแล้วว่าเราอยากเป็นทนาย แต่ยังไม่เลิกล้มแผนการสอบเนติฯ สอบเป็นผู้พิพากษา-อัยการ เพราะพ่อแม่เห็นว่าเรามีช่องทางที่จะทำได้เราก็เลยลองดู

ระหว่างนั้นผมเรียนเนติฯ  ควบคู่กับการเป็นทนายความ ในปี 2540 เป็นปีที่การเมืองเปลี่ยน มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรามีโอกาสไปเป็นทีมงานผู้ช่วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งคือ อ.เสรี สุวรรณภานนท์ ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ว. เรามีโอกาสได้เห็นการร่างรัฐธรรมนูญ การรับฟังความเห็นของประชาชนในเวทีต่างๆ เห็นคนที่อยากแสดงออกทางการเมือง คนที่หวงแหนสิทธิ์ของเขา คนที่อยากเห็นประเทศชาติเจริญหรืออยากเห็นการปฏิรูประบบราชการ เราซึมซับเรื่อยมาจนร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็เริ่มถามตัวเองว่าจะเลือกเส้นทางการเมืองเหรอ ตอนนั้นสอบตั๋วทนายได้แล้ว จึงตั้งใจเรียนเนติฯ และสอบเนติฯ ได้ปีต่อมา เป็นการพิสูจน์ว่าเด็กบ้านนอกอย่างเราทำสำเร็จแล้วนะ จากจุดเริ่มต้นที่ญาติมองว่าเราคงมาไม่ถึงหรอก

ผมไปสมัครสอบผู้พิพากษาอัยการ แต่ไม่ได้ตั้งใจสอบ เพียงแค่อยากเอาใบสมัครไปให้พ่อแม่ดู เพราะระหว่างฝึกทนายไปพร้อมกับทำงานการเมืองในฐานะทีมงาน ตอนนั้นผมเห็นว่าผู้พิพากษากับอัยการช่วยคนได้น้อยมาก เราจึงให้คำตอบตัวเองได้แล้วว่าอยากเป็นทนายความ

สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เป็นทนาย แม้ว่าในระยะแรกจะไม่ค่อยมีเงินใช้ ก็คือเราได้เห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม เห็นความด้อยโอกาสของประชาชน โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด เราก็เป็นคนต่างจังหวัด สังคมนี้มีความเหลื่อมล้ำมากทำให้เราตั้งใจเป็นทนายความเพื่อมีโอกาสได้ช่วยคน เมื่อเลือกแล้วก็ตัดใจว่าจะไม่สอบเป็นผู้พิพากษาและอัยการอีก

หลังจากนั้นผมก็เริ่มถามตนเองว่าการเป็นทนายความที่ดีต้องพัฒนาความรู้อย่างไรบ้าง นอกจากเนฯ เราก็ไปอบรมกฎหมายชั้นสูงต่างๆ เพิ่ม ยังไม่คิดที่จะเป็นทนายความทางการเมืองอะไรด้วย แค่ทำตามปณิธานคืออยากจะทำให้สังคมนี้เท่าเทียมจริงๆ ในแง่ของสิทธิ การได้บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดความเป็นธรรม

สำหรับคนบ้านนอก คนด้อยโอกาส หรือคนที่ถูกรัฐกระทำไม่เป็นธรรม ถ้าทนายความไม่ช่วยเขา อัยการผู้พิพากษาก็อาจช่วยไม่ได้มาก โดยเฉพาะผู้พิพากษาเป็นอาชีพที่มีแต่คนเรียนเก่งไปสอบอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป บางคนก็อาจจะมีประสบการณ์ชีวิตไม่มาก ดังนั้นโอกาสที่เขาจะช่วยคนก็แทบจะน้อยอยู่แล้วเพราะว่าจะตัดสินนอกสำนวนที่เอามาให้พิจารณาไม่ได้ ส่วนอัยการคล้ายกับทนายก็จริง แต่เขาจะมีกรอบ มีชั้นบังคับบัญชา มีระบบราชการ ซึ่งทนายความอิสระที่สุดแล้ว

เสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพในการทำงานจึงเป็นพื้นฐานหนึ่งที่ทำให้เราเลือกเป็นทนายความตลอดมาจนมาถึงทุกวันนี้

ช่วงแรกเป็นทนายความว่าความคดีประเภทไหน

คดีอาญาทั่วไป ผมเคยฝึกที่สำนักทนายความเอกชนประมาณ 5 ปี ทำแทบทุกคดีเลย คดีปกครอง คดีทรัพย์สินทางปัญญา คดีอาญา คดีแพ่ง จนปี 2548 ผมตัดสินใจเรียนปริญญาโทเพราะต้องการพัฒนาตนเองและต้องการมีความชำนาญเฉพาะทาง ผมเลือกเรียนปริญญาโทสาขากฎหมายธุรกิจ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยกำลังพัฒนาและมีกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวข้อง เราจึงเลือกกฎหมายธุรกิจ แล้วไปอบรมประกาศนียบัตรเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ตอนเรียนปริญญาโทผมรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่ง บริษัทที่เขาเป็นทนายอยู่ต้องการทนายเชี่ยวชาญคดีทรัพย์สินทางปัญญา ต้องไปจัดระบบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าในการค้าขายต่างประเทศ ผมเลยลาออกจากสำนักทนายไปสมัครบริษัทเอกชน ระหว่างนั้นก็เรียนปริญญาโทไปด้วยและรับคดีนอกได้ด้วย

จนปี 2549 เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ผมกากบาทเลือกมากับมือ ผมจึงรู้สึกว่าการยึดอำนาจนั้นเป็นการทำลายสิทธิ์ของเรา ทำลายความหวังประชาชน ผมรับไม่ได้ เป็นที่มาให้เราตั้งปณิธานว่า ต่อไปนี้ฉันจะไม่ยอมรับระบอบเผด็จการหรือการรัฐประหารอีก ผมไม่ได้ออกไปชุมนุม แต่มีแนวทางว่าเมื่อเราเป็นนักกฎหมาย เราจะทำยังไงที่จะต่อต้านเรื่องนี้ให้ได้และอย่าให้เกิดขึ้นอีก ใครที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เราจะช่วย หากมีการยึดอำนาจเกิดขึ้นอีก ผมจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมรับอำนาจคุณ

เริ่มทำคดีการเมืองคดีแรกได้อย่างไร

หลังรัฐประหาร 2549 มีการชุมนุมที่สนามหลวงหลากหลายกลุ่ม กลุ่มพิราบขาว กลุ่มคนวันเสาร์ กลุ่มประชาชนต่างๆ เราก็ไปฟังบ้าง เห็นว่าการพูดมีเหตุมีผล ช่วงนั้นมีการจัดรายการทางทีวีของแกนนำกลุ่มหนึ่งซึ่งต่อมาคือแกนนำเสื้อแดง เขาพูดเรื่องความไม่เป็นธรรมทางสังคม ความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย เขาไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารซึ่งตรงกับใจเรา การพูดจาในการชุมนุมต่างๆ ก็ทำให้เกิดคดี ทำให้อยู่ๆ ผมก็ได้ทำคดี เพราะผมเป็นรุ่นน้องคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ที่รามคำแหง เขาไม่ได้รู้จักผมดีนัก เพราะผมไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่มีรุ่นพี่ที่เห็นว่าผมมีความรู้ความสามารถที่จะทำคดีให้ได้จึงแนะนำไป

คดีแรกที่ทำคือคดีหมิ่นประมาททางการเมือง เป็นการบ้านให้เราไปค้นคว้าว่าการสู้คดีหมิ่นประมาททำยังไงแบบไหน ทำให้ผมได้เข้ามาทำงานคดีความเกี่ยวกับการเมืองอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่นั้น

คุณทำคดีการเมืองมาเยอะมาก ถ้ามองย้อนไปคิดว่าคดีไหนเป็นคดีสำคัญในชีวิต

ผมให้ความสำคัญกับทุกคดี ไม่ได้ดูที่สถานะของตัวคดีความหรือลูกความ แต่ความสำคัญคือการเป็นทนายจำเลย บางคนมองว่าทนายจำเลยเป็นเรื่องไม่น่าภูมิใจ เพราะช่วยคนผิดหรือพยายามทำให้คนผิดเป็นผู้บริสุทธิ์ บางคนอาจมองว่าทนายจำเลยคือพวกไม่มีงานเลยไปรับทำคดี

สำหรับผมการเป็นทนายจำเลยมีความสำคัญคือทำให้เราได้ช่วยประชาชนและทำให้เขาเข้าถึงสิทธิของจำเลยในคดีอาญา ทุกคดีจึงมีความสำคัญกับผมหมด เพราะผมถือว่าการเป็นทนายจำเลยเป็นปณิธานที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่เรียนรามฯ แล้ว ผมได้เอาความรู้ความสามารถมาช่วยเขา การเป็นทนายจำเลยต้องทุ่มสรรพกำลังที่เรามี ทั้งสติปัญญา การค้นคว้า การใช้จิตวิทยาในการทำคดี เพราะเราต้องสู้กับอำนาจรัฐ

สิ่งที่ยากของการเป็นทนายจำเลยในคดีการเมืองคือการสู้กับอำนาจรัฐในหลายรูปแบบ หลายระดับ ผมเจอมาค่อนข้างครบ มันจึงทำให้เราภูมิใจและสำคัญกับเราทุกคดี

การเป็นทนายจำเลย เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือเรากำลังช่วยเหลือคนผิดอยู่หรือเปล่า โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือคดีอาวุธ

งานระดับต้นๆ ของการเป็นทนายความคือการสอบข้อเท็จจริงให้ได้ระดับหนึ่ง ก่อนที่เราจะตัดสินใจช่วยเขาหรือจะทำให้เขาพ้นข้อกล่าวหา หากเขาทำจริง เราก็ต้องดูรูปแบบว่าการกระทำที่เขาถูกปฏิบัติมันสมควรจะเป็นเช่นนั้นไหม เพราะระบบกฎหมายของเรามีรัฐธรรมนูญและเราไปรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมือง สิทธิต่างๆ ของประชาชน อย่าลืมว่าก่อนที่ศาลจะตัดสินว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์

สมมติมีคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเขาทำจริง แต่เราก็ต้องยืนหยัดหลักการว่าระหว่างที่เขาตกเป็นจำเลยนั้น เขาต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมนุษย์และได้รับสิทธิของจำเลยในคดี มันเป็นพื้นฐานให้เราเชื่อมั่นว่าเราทำถูกทาง

ในการต่อสู้ให้จำเลยพ้นข้อกล่าวหา ทนายเองจำเป็นต้องเชื่อไหมว่าเขาบริสุทธิ์จริง

เราจำเป็นต้องเชื่อว่าเขาบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่เชื่อจะทำให้เราพยายามหาหลักฐานหรือหาช่องทางช่วยเขาได้น้อยลง หากเรามองว่าเขาผิดแล้วจะทำให้รู้สึกว่าเรากำลังช่วยคนที่กระทำความผิดต่อบ้านเมืองในทางที่ไม่ถูกต้อง

จำเลยในคดีการเมืองหลายคดีมีจุดร่วมกันคือการเป็นฝ่ายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐ ดังนั้นเขาจะแสดงออกในรูปแบบไหน เขาจะถูกข้อหาอะไรล้วนมาจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ถ้าเรายอมรับว่าความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องที่กฎหมายรับรอง รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 บอกว่าเราจะถูกเลือกปฏิบัติด้วยการมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้

เวลาเราช่วยเขาก็ต้องทำให้ถึงที่สุด หลายคดีต่อสู้กันถึงศาลฎีกา ซึ่งมีโอกาสที่จะกลับคำพิพากษาได้ ความยากของทนายจำเลยอยู่ตรงนี้

มีคดีไหนที่ยากลำบากมากในการต่อสู้คดี

พูดโดยรวมคือคดีที่สู้กับอำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เขาเหนือกว่าเราคือมีทั้งอำนาจ ทั้งเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายในองคาพยพ มีขบวนการที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ขบวนการนี้เราอาจเรียกว่าเป็นผู้มีอิทธิพลก็ได้ ยกตัวอย่างหลังจากการทำรัฐประหาร 2557 อำนาจรัฐก็แสดงออกให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ทหาร ตำรวจ อัยการ มาถึงศาลว่าเป็นขบวนการใช้อำนาจรัฐที่อาจจะทำให้เราเชื่อได้ว่ามีการสมรู้ร่วมคิดหรือการทำให้จำยอมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งมาใช้กับประชาชนที่ตกเป็นจำเลย

นี่คือความยาก ดังนั้นเราจะทำยังไงให้ยืนระยะสู้กับมันได้ เราทนกับมันได้ไหม เรามีสติสู้กับมันได้ไหม หรือจำเลยเราจะยอมแพ้เสียก่อนหรือเปล่า สิ่งที่เราทำมามันเหนื่อย แต่คดีที่ผมทำมาส่วนใหญ่จำเลยจะไม่ตัดสินใจยอมรับสารภาพหรือยอมรับเพราะถูกขังนานหรือตั้งข้อหาแรง เขาจะต่อสู้ด้วยการยืนหยัดว่าเขาบริสุทธิ์ นี่คือความยากในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ต้องใช้จิตวิทยา ทั้งโดนกดดันด้วย เราก็คาดหวังกับจำเลยของเราว่าคุณจะสู้ไปด้วยกันไหม เพราะผมให้ใจคุณแล้วนะ ผมเต็มที่กับคุณแล้วนะ คุณต้องสู้ไปกับผม

ถ้ามองในเชิงผลกระทบของคดี คดีไหนที่ทำแล้วสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังสังคม ไม่ใช่แค่ลูกความชนะคดี

คดีของ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (คดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.) เป็นคดีที่สร้างผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ แล้วก็เป็นผลดีต่อประชาชน

ประเด็นแรกเรื่องอำนาจรัฐ ในขณะนั้นรัฐปกครองโดยทหาร คุณอยากจะกำราบใครก็เรียกมาอบรมปรับทัศนคติ แล้วก็บังคับไปด้วยว่าถ้าหากไม่มาจะโดนคดีนะ เราจึงต้องการพิสูจน์ว่า นอกจากการที่คุณยึดอำนาจมาซึ่งเรามองว่าผิดกฎหมาย -แต่ศาลไทยยอมรับว่าถูก อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง- แล้วคุณยังใช้อำนาจตั้งข้อหาเขาอย่างรุนแรงเกิน นี่คือเรื่องที่ท้าทายมากในคดี อ.วรเจตน์ ที่เราพยายามพิสูจน์ว่าการใช้อำนาจรัฐแบบนี้ ตั้งข้อแบบนี้ ตั้งความผิดแบบนี้คือเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สองเรื่องกระบวนการยุติธรรม ขณะนั้นประชาชนที่ขัดคำสั่งจะถูกกระบวนการยุติธรรมที่ทหารเป็นคนจัดให้ก็คือศาลทหาร เขาเห็นว่าศาลทหารมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีศักยภาพที่จะทำได้จริงและไม่เต็มประสิทธิภาพนัก ซึ่ง คสช. อาจจะไม่คำนึงถึงเพื่อไม่ให้อำนาจตนเองถูกรบกวน เมื่อศาลทหารทำไปได้ระดับหนึ่งก็มีการส่งสัญญาณโยนคดีต่อให้ศาลยุติธรรม นี่คือรอยต่อจากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรมที่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าศาลทหารทำงานแค่ได้ประสิทธิภาพระดับหนึ่ง แต่สำหรับทนายแบบเราหรือนักกฎหมายต่างชาติมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะอยู่แล้วที่จะเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร

ช่วงระหว่างรอยต่อจากศาลทหารไปศาลยุติธรรมนี่แหละคือปัญหาในทางปฏิบัติและปัญหาทางโครงสร้างเลย จากกระบวนการที่ผมเห็นมา รอยต่อการส่งงานจากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรมสะท้อนความไม่ได้มาตรฐานในการทำคดี มีการทำสำนวนแบบรวบรัดและทำเหมือนมีการตั้งธงมาจากเชื้อที่คุณเพาะไว้ คุณเอาเขาไปค่ายทหาร รีดข้อมูล อยากให้เขารับเรื่องอะไรคุณก็สอบปากคำอ้างว่าซักถาม พูดว่าเชิญตัวไป แต่คุณเอาเขาไปขัง บางคนถูกซ้อม บางคนถูกข่มขู่ถูกทำให้กลัว พอคุณได้เชื้อแล้วก็เอาเชื้อนี้ไปให้ตำรวจขอออกหมายจับจากศาลทหาร เหมือนแค่ทำเพื่อให้มีการตั้งข้อหาได้ จากนั้นสำนวนที่รวบรัดและไม่ได้มาตรฐานก็ถูกโยนไปให้ศาลยุติธรรม ทำให้ศาลยุติธรรมรับสำนวนที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมาอยู่ในอำนาจศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งคดีเหล่านี้บางทีใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้พิจารณาคดี บางคดีก็ถูกขังระหว่างพิจารณา สิ่งนี้กระทบต่อมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของเรา ทั้งงบประมาณที่สูญไป อิสรภาพและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกลิดรอนและหายไปก็ไม่มีใครมารับผิดชอบเลยจนถึงทุกวันนี้ คดียกฟ้องแล้วจำเลยก็ยังไม่ได้เงินชดเชยอีก

ในคดี อ.วรเจตน์ เราปรึกษาหารือกันตลอดและพยายามวางทิศทางการสู้คดี ในศาลทหารมีบางฝ่ายพยายามเร่งรัดให้รับสารภาพ แต่กระบวนการก็มีความล่าช้า จนมีการโอนจากศาลทหารเป็นศาลยุติธรรม คดีนี้จึงมาอยู่ที่ศาลแขวงดุสิตในระบบที่เรายอมรับได้ ทำให้เรามีโอกาสยื่นประเด็นต่างๆ ที่เราวางกันไว้ ซึ่งอาจารย์เป็นแม่งานในการเขียนและผสมผสานความคิดกันไปว่าเราควรโต้แย้งเรื่องอะไร มีการเขียนคำร้องโต้แย้งว่าคำสั่งหรือประกาศของ คสช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลแขวงดุสิตก็ส่งคดีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้นั้นประเด็นต้องไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน คำวินิจฉัยที่ออกมาส่งผลกระทบในทางที่ดีต่อประชาชนในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ

คดีนี้สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาในหลายๆ เรื่องว่ารัฐใช้อำนาจแบบนี้เป็นการส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมและรัฐอย่างมาก

ในฐานะทนาย บรรยากาศการว่าความในศาลทหารแตกต่างจากศาลยุติธรรมอย่างไร

ศาลทหารในระยะเริ่มต้นใช้การบันทึกคำเบิกความโดยวิธีเขียนลายมือบนกระดาษ ลายมือแต่ละท่านอ่านยากง่ายต่างกัน  ต้องไปแกะ การฟังแล้วเขียนช้ากว่าการพิมพ์ดีดหรือพิมพ์ในคอมพิวเตอร์มาก แก้ยากด้วย หากบันทึกผิดก็จะขีดเลอะไปหมด เราจึงร่วมกับทนายอื่นๆ ที่ทำคดีด้วยกันร้องเรียนปัญหาไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ แต่ก็ยังดีขึ้นไม่มาก เพราะตุลาการศาลทหารจะบอกปากเปล่าให้เสมียนจดตาม ไม่ได้ใช้วิธีบันทึกคำเบิกความเหมือนศาลยุติธรรมที่ส่งทั้งหมดไปให้เสมียนหน้าบัลลังก์ถอดความแล้วพิมพ์ออกมา ซึ่งจะค่อนข้างตรงกับที่พยานเบิกความ

กระบวนการที่เกิดขึ้นในศาลทหารใช้เวลานาน พยานหนึ่งปากอาจใช้เวลาหนึ่งวันไม่พอ แล้วคดีในศาลทหารมาจากการกล่าวหาของรัฐ มีนายทหารที่กล่าวหาคดีเยอะจนมีชื่อเสียงและต้องไปเบิกความหลายคดี โดยที่เขาก็มีประชุมนั่นนี่จนเป็นเหตุให้อ้างไม่มา จำเลยที่ถูกขังอยู่ก็ต้องเลื่อนคดีไปเป็นปีๆ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรในศาลทหารที่มีน้อย ทำให้คดีสะสมมากขึ้น ปฏิทินคดีจึงขยายไปนาน ทำให้เห็นความไม่มีประสิทธิภาพเมื่อพยานสำคัญซึ่งเป็นทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ไปตามนัดคดีความ

อีกเรื่องคือบรรยากาศในการโต้แย้งข้อกฎหมาย การว่าความในฐานะทนายจำเลยเราต้องโต้แย้งข้อกฎหมายเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีพิรุธและไม่เป็นธรรม แต่การโต้แย้งขึ้นไปกลับไม่ค่อยได้ผล เช่น เราจะโต้แย้งไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกปัดตกหรือบอกว่าไม่ต้องส่ง ไม่มีอำนาจ เมื่อเราโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลก็บอกว่าเรื่องนี้อัยการทหารพิจารณาดีแล้ว กลายเป็นว่าทหารส่งสำนวนมาที่ตำรวจแล้วอัยการทหารก็รับฟ้อง แล้วตุลาการทหารก็ตัดสิน กระบวนการเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเรายื่นอะไรไปก็ไม่ได้รับผลอย่างที่เราจะคาดหวังได้แบบการโต้แย้งในศาลยุติธรรม

พวกเรากลุ่มทนายจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกการขึ้นศาลทหารและโอนคดีไปศาลยุติธรรม ต่อมากรกฎาคม 2562 จึงมีคำสั่งประกาศยกเลิกและให้โอนคดีไป

คุณทำคดีการเมืองหลากหลายประเภท แต่สำหรับคดีอุกฉกรรจ์จะหาพยานหลักฐานหรือช่องทางต่อสู้ยากกว่าคดีประเภทอื่นไหม

คดีการเมืองที่ผมทำเยอะที่สุดคือคดีที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งรวมคดีหมิ่นประมาท มีเกือบพันราย ซึ่งมีเยอะในปี 2553 ที่เสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมแล้วมีการกวาดจับคนเสื้อแดง รองมาคือคดีอุกฉกรรจ์ ประกอบด้วยการทำให้เสียชีวิต การทำร้ายร่างกาย ครอบครองอาวุธ ซึ่งเป็นกลุ่มคดีที่ยากที่สุด ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับการขัดคำสั่ง แบบคดี อ.วรเจตน์ ก็จะน้อยลงมาอีก

การทำคดีอุกฉกรรจ์ยากตั้งแต่เริ่มต้นที่มีการตั้งข้อหาร้ายแรง เช่น ปี 2553 เกิดวาทกรรมทางการเมืองกรณีเผาบ้านเผาเมืองจากคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ความยากอยู่ตรงที่ว่าเขาตั้งข้อหารุนแรง พฤติกรรมดูรุนแรง คดียากแล้วยังมีความคาดหวังจากสังคมที่กดดันอยู่ เพราะนอกจากวาทกรรมเรื่องเผาบ้านเผาเมือง ก็มีการบอกว่าเสื้อแดงเป็นพวกล้มล้างสถาบันฯ ไม่ยอมรับอำนาจรัฐ พยายามจะสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมา จึงถูกมองเป็นกลุ่มน่ารังเกียจ มันก็สะท้อนไปยังการปฏิบัติในการตั้งข้อกล่าวหาแล้วเขาไม่ได้รับการประกันตัว อย่างคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์หรือคดีปล้นเซ็นทรัลเวิลด์ เขาถูกขังฟรีเกือบสามปีกว่าจะต่อสู้คดีแล้วหลุดพ้น ซึ่งต้องขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม

แม้จะมีวาทกรรม มีการสร้างพยานหลักฐานหรือโน้มน้าวคนส่วนหนึ่งให้เชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนทำ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งที่ให้ความเป็นธรรม มีการรับฟังน้ำหนักพยานหลักฐานสองฝ่าย เมื่อพยานโจทก์มีน้ำหนักน้อยจึงยกฟ้องไปเกือบทุกคดีที่เกี่ยวกับเซ็นทรัลเวิลด์และเกี่ยวกับการเผา รวมถึงคดีอาวุธบางคดีก็ได้รับการปฏิบัติแบบนี้เหมือนกัน แต่เมื่อเป็นข้อหาร้ายแรงทำให้เขาไม่ได้รับการประกันตัว นอกจากอิสรภาพที่เขาสูญเสียแล้ว ครอบครัว คนข้างหลัง และชีวิตของเขาถูกกระชากออกไปตั้งแต่วันแรกที่ถูกขัง ดังนั้นพวกเขาสูญเสียอะไรเยอะมาก มันทำให้เราหดหู่แต่ยังมีพลังในการช่วยเขา นี่เป็นคดีที่พวกเราพยายามต่อสู้กันมา

นอกจากคดีที่ประชาชนถูกตั้งข้อหาร้ายแรงและถูกจำกัดอิสรภาพ ยังมีคดีการเสียชีวิตของประชาชนจากการสลายการชุมนุมปี 2553 วิธีการของรัฐคือพยายามหาคนรับผิดชอบให้ได้ตามคำที่เขาพูด เขาบอกว่าเขามีความชอบธรรมในการทำแบบนั้น เขาบอกว่าการที่มีคนตายเป็นฝีมือของกองกำลังที่แฝงในผู้ชุมนุม ซึ่งผมไม่ได้พูดลอยๆ ทั้งหมดอยู่ในกระบวนการในคดีที่ผมทำมา เขาพยายามหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้ให้ได้ ก็เลยตอบโจทย์ว่าคนที่ถูกตั้งข้อหาเผาบ้านเผาเมือง-เผาเซ็นทรัลเวิลด์ คือกลุ่มที่มีอาวุธ กลุ่มชายชุดดำ กลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐ เขาอ้างว่าประชาชนที่ตายไปส่วนหนึ่งโดนคนกลุ่มนี้ทำให้ตาย ทั้ง 6 ศพวัดปทุมฯ ทั้งที่สะพานผ่านฟ้า ที่แยกคอกวัว

ทั้งหมดนี้คือความเลวร้ายของการเมืองไทยที่เห็นเด่นชัดมากๆ ในช่วงหลายสิบปี ทุกวันนี้คนตายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเราก็พยายามหาช่องทางและรอความเป็นธรรมนั้นอยู่ในฐานะคนที่ทำงานร่วมกับญาติผู้เสียชีวิต

ในฐานะนักกฎหมาย มองยังไงที่คดีสลายการชุมนุมปี 2553 มาถึงทางตันในกระบวนการยุติธรรมไทย แล้วไม่มีใครถูกเอาผิด

มันกำลังจะถึงทางตันแต่เราภาวนาไม่อยากให้ถึงทางตัน เนื่องจากเรายังเชื่อในกระบวนการว่ามันยังสามารถทำได้ แต่มีการสมรู้ร่วมคิดทำให้มันถึงทางตัน ผมไม่ได้ไปชี้หน้าว่าใครสมรู้ร่วมคิดกับใคร หากถึงทางตันแล้วก็มีช่องทางนำคดีไปสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แต่ก่อนถึงช่องทางนั้น ประเทศไทยควรพิสูจน์ตัวเองว่ากระบวนการของเราได้รับการยอมรับ มีมาตรฐานและสามารถทำให้ประชาชนที่เสียชีวิตได้รับความเป็นธรรม หากการพิจารณาคดีเกิดขึ้นในไทยได้ จะทำให้ต่างชาติยอมรับว่าบ้านเราไม่ทำให้วัฒนธรรมการลอยนวลคงอยู่

มันยังไม่ถึงทางตันนะแต่คุณพยายามทำให้มันถึงทางตันเอง เรามีความหวังอยู่ว่าจะมีสักวันที่จะเอาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสลายการชุมนุมปี 2553 และเหตุการณ์อื่นๆ เข้าสู่ระบบการพิจารณาคดีเพื่อพิสูจน์ความผิดถูก

ในฐานะทนายความเราไม่ได้บอกว่าคุณผิด โดยที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ทางคดี แต่คุณต้องมีกระบวนการพิสูจน์ หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายกำลังทำให้เห็นว่ามีการกระทำสองมาตรฐาน มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บอกว่าไม่เลือกปฏิบัตินั้นมีอยู่จริงหรือไม่ บางคนบอกว่าการพูดถึงสองมาตรฐานหรือเลือกปฏิบัตินั้นเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาให้คนไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมหรือเปล่า แต่คนที่อยู่ในวงการกฎหมายและจำเลยที่เผชิญเรื่องนี้ก็เห็นกันมา เราอยากขอให้ปฏิรูปเรื่องนี้ให้ได้ นั่นคือเป้าหมายใหญ่

สองมาตรฐานในเชิงรูปธรรมเป็นอย่างไร เวลาคนตัวเล็กตัวน้อยโดนคดีการเมืองเขาเจออุปสรรคอะไรบ้างที่ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม

สองมาตรฐานคือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกปฏิบัติในเรื่องเดียวกันให้เกิดความแตกต่างกัน คดีที่เกี่ยวกับการเมืองและการยึดอำนาจของ คสช. ทำให้เห็นว่า คสช. ใช้อำนาจได้ทุกรูปแบบเพื่อจะทำให้คุณถูกดำเนินคดี เป็นผู้แพ้ หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกทำให้เป็นผู้ผิด

สองมาตรฐานไม่ใช่เพียงวาทกรรมที่พูดออกมาเท่านั้น สำหรับคนที่เกี่ยวข้องกับคดีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คำนี้ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงเลย

ผมอยากบอกว่าขอให้ประชาชนได้รับโอกาสที่รัฐจะใช้อำนาจกับเขาอย่างเป็นธรรม แต่ต้องถามว่าสมควรแล้วเหรอที่พวกเขาจะถูกตั้งข้อหาหรือถูกดำเนินคดี เพราะหลายคดีเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง แต่กลายเป็นว่าการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานกลายเป็นภัยกับประเทศชาติ เป็นภัยความมั่นคง ซึ่งประเทศประชาธิปไตยเขาไม่มองแบบนี้และต้องให้ความคุ้มครองด้วย

อย่างคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2560 การทำประชามติคือคุณต้องการถามประชาชนไม่ใช่เหรอ แล้วประชาชนที่ไปตั้งคำถามว่าจะเอารัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญเก่าแล้วดีกว่าหรือไม่ แค่นี้คุณก็มองว่าเป็นความผิดแล้วไปจับเขา การใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานก็เป็นความผิดแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าเกิดการเลือกปฏิบัติ

หรือกรณีที่เยาวชนชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีการนำเอา พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาควบคุมประกอบกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการจับกุม เอาตู้คอนเทนเนอร์ไปตั้งขวาง ประเทศที่เจริญแล้วเขาปล่อยให้ทำและไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง มันเป็นแค่การสะท้อนข้อเรียกร้อง ก็รับฟังและหาทางแก้ไขเยียวยาหรือหาเวทีคุยกัน แต่คุณใช้แก๊สน้ำตา ใช้รถฉีดพ่นสารเคมี ในขณะเดียวกันมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไปแสดงออกเพื่อสนับสนุนรัฐบาลกลับไม่ถูกดำเนินคดี มันเห็นชัดเจนมากกับเรื่องสองมาตรฐาน

การปฏิบัติสองมาตรฐานเกิดขึ้นมาค่อนข้างนานแล้ว ผมพบเห็นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นจำเลยคดีอาญา เขาสูญเสียโอกาสไปในชีวิต ครอบครัวแตกแยก ครอบครัวเสียเสาหลัก สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครมาเยียวยาให้สิ่งที่สูญเสียไปกลับคืน รัฐทำเมินเฉยเหมือนไม่รู้เรื่องว่าคนที่ถูกคุมขังเมื่อยกฟ้องแล้วสมควรจะต้องมีการชดเชย

มองอย่างไรสำหรับบางคดีที่สุดท้ายกระบวนการยุติธรรมมีการพิสูจน์แล้วว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ในเชิงการเมืองยังหลงเหลือวาทกรรมอยู่ อย่างเช่นคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์หรือคดีเผาศาลากลางที่ทุกวันนี้คนบางกลุ่มก็ยังพูดอยู่ว่าคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง

นี่คือปัญหาของการสร้างวาทกรรมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้นอกจะถูกบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์หรือสื่อต่างๆ แล้ว มันยังอยู่ในชุดความคิดของคนที่ไม่เห็นด้วยทางการเมือง แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ความจริงกันแล้ว คนที่ถูกกล่าวหาพ้นมลทิน แต่กลายเป็นว่ามีการเลือกเอาวาทกรรมกลับมาใช้โจมตีกันอีกเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นจะมีเรื่องนี้ออกมาโจมตีกันอีก มันจึงวนเวียนอยู่อย่างนี้

ในวันนี้อยากบอกอะไรกับคนที่จะเข้าสู่วิชาชีพทนาย โดยเฉพาะคนที่อยากทำคดีการเมือง สิ่งที่เขาจะพบเจอมันเป็นไปตามที่เรียนมาไหม

คนที่อยากเป็นทนายและทำคดีการเมือง เขาจะต้องทนให้ได้กับวิธีการใช้อำนาจทุกรูปแบบของรัฐเพื่อให้ชนะคดี เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการนั้นสำเร็จ ไม่ว่าการสร้างพยานหลักฐานก็ดี การใช้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมก็ดี เราอาจเจอวิธีการปฏิบัติที่จะทำให้คนที่อยากเป็นทนายด้านนี้ต้องถามตัวเองให้มากว่าเรารับได้ไหม ถ้าเรารับได้ก็อย่าท้อ หรือหากจะตอบโต้เพื่อให้เห็นว่าเรารับไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม

การเป็นทนายคดีทางการเมือง อย่าลืมว่าคดีของพวกเราคือคดีที่มีความคิดเห็นต่างในทัศนคติทางการเมือง สิ่งที่เราจะถูกกระทำต่อก็คือทัศนคติของเขาไม่เห็นด้วยกับเรานั่นแหละ สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นจึงเป็นปีศาจร้ายนี่เอง ถ้าเราแสดงออกอย่างก้าวร้าวหรือชัดเจนเกินไปโดยไม่ปรับท่าทีก็จะทำให้เราเพลี่ยงพล้ำได้ การต่อสู้ที่ดีต้องทำให้คู่ต่อสู้มองเราไม่ออกหรือทำให้เห็นว่าเราก็ไม่ใช่หมู

แน่นอนว่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐนั้นประชาชนค่อนข้างเสียเปรียบอยู่แล้วโดยสภาพ แต่ทนายจะมีข้อได้เปรียบคือเราใช้ความเป็นอิสระของเราสู้กับพวกเขา ความเป็นอิสรชนคือสิ่งสำคัญ ขณะที่พวกเขาอาจจะไม่มีความอิสระ เราต้องเอาความได้เปรียบตรงนี้เป็นอาวุธให้ได้

ในยุคก่อนหน้านี้ การเป็นเสื้อแดงอาจเป็นเหตุให้ถูกกีดกันหรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ขณะที่คุณถูกเรียกว่า ‘ทนายเสื้อแดง’ มันมีผลกระทบอะไรบ้างไหม

เสื้อแดงเคยถูกเรียกว่าเป็นควายแดง ส่วนทนายก็อาจเรียกว่าทนายควายแดงก็ได้ (ยิ้ม) จะเรียกอะไรก็ตามผมเห็นว่าคนเสื้อแดงเป็นประชาชน เป็นปุถุชน เป็นพลเมืองที่พวกเขาสะท้อนว่าพวกเขาอยากมีสิ่งที่ดีขึ้นในอนาคตของพวกเขาและลูกหลาน พวกเขาแสดงออกโดยใช้สิทธิพื้นฐานเท่านั้นเอง

การเป็นทนายให้กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้สร้างตราบาปหรือความรู้สึกติดลบอะไรให้ผมเลย แต่มันเป็นความภูมิใจ ผมมองว่าผมได้ทำให้ปณิธานของผมเป็นจริง การเป็นทนายเสื้อแดงอาจจะถูกโจมตีทางการเมืองก็จริง แต่เมื่อเราได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากระบวนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นสู้อยู่ในกติกา สู้อยู่บนหลัก เป็นนักต่อสู้ในชั้นเชิงที่สังคมยอมรับ เราไม่ได้เล่นนอกกติกาและไม่ได้ต่อสู้นอกเกม ไม่ใช่ทนายโจร เราทำให้คนที่เคยได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐได้รับคืนความชอบธรรมแก่พวกเขา จึงเป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับเราด้วย

ตั้งแต่เรียนกฎหมายมาผมอยากทำให้คนที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมได้รับความเป็นธรรมบ้าง สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดก็ทำให้ผมมีชีวิตอยู่ได้เหมือนกัน คือมีเพื่อนมนุษย์ที่ให้กำลังใจกันและกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ผมมีโอกาสและช่องทางในการดูแลตนเองและครอบครัวได้ การเป็นทนายเสื้อแดงทำให้ผมได้มิตรภาพ ได้เพื่อนในวงการนักกฎหมายและนอกวงการนักกฎหมายอีกหลากหลาย

สิ่งสำคัญคือเราได้เห็นคนที่เราช่วยมีความสุขซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เรายังไม่หมดแรง

มองยังไงที่ในวันนี้ความเป็นเสื้อแดงได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองว่าเป็นการต่อสู้ที่ต่อเนื่องกัน

คนเสื้อแดงได้รับการยอมรับมากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ก่อนหน้านั้นคุณไปตั้งกำแพงกับเขาเอง ก่อนหน้านั้นบางคนมองว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกมาชุมนุมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย แต่ถ้าบ้านเราไม่อยู่ในจุดนั้นก็คงไม่มาชุมนุมกัน หรืออาจบอกว่าคนเสื้อแดงทำเพื่ออดีตนายกฯ คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูก แต่พอมาเข้าใจตอนหลังและได้รับการยอมรับจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในสายตาผม

สิ่งที่คนเสื้อแดงทำไม่ได้เกินเลยจากสิ่งที่คนรุ่นใหม่กำลังคิด เพียงแต่แตกต่างกันในวิธีการ แตกต่างกันในแง่ประสบการณ์ที่เขาได้รับมา คนเสื้อแดงได้รับประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้วในอดีตที่เอามาเป็นตัวอย่างได้ ผมไม่อยากให้คนรุ่นใหม่เพลี่ยงพล้ำหรือใช้วิธีการที่รวบรัดเกินไป อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป อยากให้เอาบทเรียนในประวัติศาสตร์หรือการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเอามาเป็นตัวอย่างด้วย และไม่ว่าจะกลุ่มไหนเป็นแฟนคลับใครผมไม่อยากให้ทะเลาะกันเลย ไม่มีการทะเลาะไหนที่ทำให้เกิดการชนะในการต่อสู้ มันมีแต่การสูญเสียและเพลี่ยงพล้ำ ผมอยากให้เปิดใจยอมรับกันบ้าง

บางครั้งสิ่งที่เจออาจไม่ตรงตามหลักการมากๆ คุณยังมีความหวังในความเป็นธรรมจากระบบนี้ไหม

ผมยังมีความหวังอยู่ครับ แม้จะริบหรี่ก็ตาม แต่ก็มีตัวอย่างความสำเร็จจากการต่อสู้ในหลายประเทศ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้แม้จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม เชื่อว่าทั้งคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า และทุกคนที่มีจิตใจอยากให้ประเทศชาติไปสู่ทางที่ดีจะช่วยกันได้

ในแง่ของนักกฎหมาย ระบบกฎหมายมันดีอยู่แล้วในแง่การสร้างความเป็นธรรม การมีหลักนิติธรรม นิติกับธรรมะต้องไปด้วยกัน ถ้าประเทศชาติยึดหลักนิติธรรมได้จริงและนักกฎหมายทำตัวได้อย่างนั้นจริงๆ ก็ยังมีความหวังอยู่

มองอนาคตอย่างไร ทั้งในเชิงชีวิตส่วนตัวและสังคม

ส่วนตัวผมมองว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ประสบการณ์ของเราให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ จึงมองถึงโอกาสการผลักดันหรือสะท้อนไปยังจุดศูนย์รวมอำนาจ ผมอยากเข้าไปเป็นผู้ที่จะปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปได้จริง คือการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ในอนาคตผมอาจจะเสนอตัวเพื่อจะทำเรื่องการเมือง เป็นนักการเมืองหรือนักนิติศาสตร์ที่ใช้อำนาจในทางบ้านเมืองก็ได้ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นรูปแบบไหน แต่ตอนนี้ผมยังต้องช่วยประชาชนที่รอคอยเราอยู่ ยังไม่ถึงจุดที่เราจะทำแบบนั้น เพราะในฐานะนักกฎหมายผมมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ดึงดูดใจให้ไปทำงานการเมืองเลย

ส่วนในเชิงสังคมผมอยากเห็นประเทศชาติศิวิไลซ์กว่านี้ ประชาชนสามารถเลือกเส้นทางของตนเองได้ ประชาชนควรจะได้รับสิทธิและโอกาสจากรัฐมากกว่านี้ รัฐมีงบประมาณแผ่นดินเป็นล้านล้านบาท แต่ละปีถูกใช้อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ข้าราชการหรือบุคคลต่างๆ ที่รับเงินจากภาษีประชาชนสะท้อนสิ่งที่ดีกลับมาให้ประชาชนหรือยัง ถ้าประชาชนได้รับสิ่งที่ดีและเงินถูกใช้อย่างคุ้มค่าจะทำให้ประเทศชาติไปในทางที่ดีขึ้นได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save