fbpx

ติดคุกฟรี ชีวิตพัง ‘คดีพี่ฟ้องน้อง’ ที่ยืนยันว่า 112 มีปัญหา

หากใครติดตามข่าวการเมืองมายาวนานคงเคยได้ยิน ‘คดีพี่ฟ้องน้อง ม.112’[1] อันเป็นคดีตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมและปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อพี่น้องทะเลาะกันนำไปสู่การแจ้งความจับคนในครอบครัวจนติดคุก แม้ว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุด

ชื่อของผู้คนต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคดี 112 ไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าที่ประกอบขึ้นโดยมีตัวละครสมมติ แต่เป็นมนุษย์ในสังคมเดียวกับเราที่ต้องกลืนกินผลร้ายจากการมี 112 และกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ และพิษนั้นลุกลามถึงคนรอบข้างและครอบครัวผู้ถูกกล่าวหาให้ต้องทนทุกข์ไปด้วย

และชื่อของชายที่ถูกกล่าวหาในคดีพี่ฟ้องน้องคือ ยุทธภูมิ มาตรนอก

แน่นอนว่าปัญหาของมาตรา 112 ไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องการบังคับใช้ แต่ตัวกฎหมายเองก็เป็นปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องการกำหนดโทษที่รุนแรงเกินสมควรหรือการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้มาแจ้งความ จนนำไปสู่การกลั่นแกล้งกันหรือใช้เป็นเครื่องมือโจมตีศัตรูทางการเมือง

วิญญูชนคงเข้าใจได้ว่ากฎหมายนี้มีปัญหาและสมควรแก้ไข แต่เรื่องที่ควรทำได้ผ่านกลไกสภากลับเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อกฎหมายนี้เกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์และฝ่ายนิติบัญญัติทำให้การแก้กฎหมายนี้เป็นเสมือนเรื่องต้องห้าม

การปฏิเสธปัญหาไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา เมื่อมองมาถึงปัจจุบัน หลังจากคดีพี่ฟ้องน้องก็มีอีกหลายกรณีที่คนในครอบครัวแจ้งจับกันเองด้วย ม.112 เพียงเพราะความแตกต่างทางความคิดการเมือง นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าทำความผิดอันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

แม้เรื่องของยุทธภูมิจะผ่านมานับสิบปีแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ไม่ว่าเกิดขึ้นกับใครก็ไม่อาจลืมเลือน วันนี้ยุทธภูมิย้อนความเล่าเรื่องของเขา อันจะทำให้เรามองเห็นภาพตรงหน้าชัดเจนขึ้นว่าสุดท้ายแล้วเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาที่ทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมาก และไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะต้องหาทางทำให้ปัญหานี้จบลงเสียที

จากพี่น้องทะเลาะกัน สู่ความผิดอันกระทบต่อความมั่นคง

ชีวิตของยุทธภูมิก็เช่นเดียวกับคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่ต้องย้ายมาหางานทำในเมืองหลวงด้วยโอกาสในการทำงานที่มากกว่า ครอบครัวของเขาเป็นคนศรีสะเกษที่ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทั้งบ้าน ประกอบด้วยแม่ พี่สาว และพี่ชาย ส่วนพ่อนั้นเขาไม่เจอมาตั้งแต่เล็ก

“รักกันดีครับ” เป็นคำอธิบายแบบสั้นและตรงไปตรงมาของยุทธภูมิถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ผ่านมา จนอายุราว 30 ปีเขาทำธุรกิจส่วนตัวร่วมกับพี่ชาย ทั้งคู่ย้ายมาเช่าบ้านหลังใหญ่อยู่ร่วมกันเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยและที่ทำงาน เป็นเหตุให้มีเรื่องทะเลาะกันบ่อยครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องงานและเรื่องสัตว์เลี้ยงในบ้าน เนื่องจากทั้งคู่ต่างเลี้ยงสุนัขและสุนัขกัดกันจนสร้างความไม่ลงรอยลามไปเรื่องอื่นๆ

“ตอนนั้นความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี จนคิดว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทะเลาะกันทุกวัน ต่างฝ่ายต่างเลี้ยงหมา แล้วทำงานร่วมกัน ความคิดเห็นเรื่องงานเริ่มไม่ตรงกัน พอไม่ตรงกันก็ยืดเยื้อจนเป็นเรื่อง” ยุทธภูมิเล่าอย่างรวบรัด

ขณะนั้นคือปี 2552 เป็นช่วงเวลาที่ความขัดแย้งการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงพุ่งขึ้นรุนแรง มีการชุมนุมการเมืองอย่างต่อเนื่อง ยุทธภูมิยอมรับว่าเขาและพี่ชายมีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ตัวเขาโน้มเอียงมาฝั่งเสื้อแดงแต่ติดตามข่าวทางโทรทัศน์เท่านั้น ไม่เคยร่วมชุมนุม ส่วนพี่ชายเคยไปม็อบพันธมิตร

ยุทธภูมิยืนยันว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่ชนวนที่ทำให้พี่น้องแตกหักกัน เพราะตอนอยู่ร่วมกัน หัวข้อการเมืองเป็นเรื่องที่พวกเขาคุยกันไม่มาก

“รู้ว่าคุยกันไปแล้วก็คุยไม่รู้เรื่อง จะคุยกันแต่เรื่องงาน เอาจริงๆ เรื่องการเมืองไม่ใช่สาเหตุใหญ่โตเลย ไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องนี้ มึงชอบฝั่งโน้นก็ชอบไป กูก็ชอบฝั่งนี้ของกู เหมือนที่ทำงานทั่วไป ไม่ได้เอาเป็นเอาตายกันขนาดนั้น”

ยุทธภูมิและพี่ชายทำธุรกิจร่วมกันมาสองปี จนสิงหาคม 2552 เขาทะเลาะกันหนักจนพี่ชายย้ายออกจากบ้าน

ผ่านไป 15 เดือน มีหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มายังยุทธภูมิและชื่อผู้กล่าวหาที่ปรากฏบนกระดาษแผ่นนั้นคือพี่ชายของเขาเอง

“มีคนขี่มอ’ไซค์มาหา แต่งตัวเหมือนชาวบ้านนี่แหละ เอาหมายมาให้ ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ก็ไม่เชื่อนะ เปิดอ่านข้างใน…โห เล่นใหญ่เลยนี่ ผมก็ยังเฉยนะ คิดว่าใครมาเล่นตลกหรือเปล่า ครั้งที่สองก็มีหมายมาอีกว่าผมไม่ไปตามนัด ผมชักสงสัยเลยโทรไปหาคนที่บ้าน แล้วพี่สาวผมบอกว่ามีตำรวจไปเต็มบ้านที่ศรีสะเกษเลย ไปถามหาผม พอบอกว่าไม่อยู่ก็ไปหาที่วัด ไปหาที่อื่น ชาวบ้านก็ตกใจแตกตื่นว่าเราไปทำอะไรมา ทีนี้ผมถึงเชื่อ พอถึงวันนัดผมก็ตื่นเช้าอาบน้ำแต่งตัวไปกองปราบฯ คนเดียว ไม่ได้วิ่งเต้นหาทนายหรืออะไร”

เขาบอกว่าเหตุที่ไปพบเจ้าหน้าที่ที่กองบังคับการปราบปรามคนเดียวเพราะไม่รู้ขั้นตอนทางกฎหมาย และคิดว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด เมื่อตำรวจเรียกก็ไปพบและมีการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งยุทธภูมิให้การปฏิเสธ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวกลับ

พี่ชายกล่าวหาว่าช่วงสิงหาคม 2552 ยุทธภูมิพูดถ้อยคำหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขณะกำลังดูโทรทัศน์ด้วยกันที่บ้านและกล่าวหาว่าเขาเขียนถ้อยคำหมิ่นฯ ลงบนแผ่นซีดี โดยนำแผ่นซีดีนั้นมาเป็นหลักฐานในการแจ้งความ

ยุทธภูมิถูกเรียกไปคัดลายมือสองครั้งเพื่อใช้พิสูจน์เทียบกับข้อความบนแผ่นซีดี ก่อนอัยการจะยื่นฟ้องในอีกสองปีต่อมา ระหว่างกระบวนการอันยืดยาวนี้ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบมาตรวจที่บ้านเป็นระยะว่ายุทธภูมิไม่ได้หนี ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่เขาทั้งเรื่องคดีความที่ค้างคาและการปรากฏตัวของตำรวจ

กันยายน 2555 อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ให้ลงโทษตามมาตรา 112 จำนวน 2 กรรมและให้ริบซีดีของกลาง ยุทธภูมิให้การปฏิเสธ โดยมีทนายที่พี่สาวหามาจากศรีสะเกษมายื่นประกันตัว แต่ศาลไม่ให้ด้วยเหตุผลว่าเป็นคดีร้ายแรง หากให้ปล่อยชั่วคราวไม่เชื่อว่าจะไม่หลบหนี

“ตอนอยู่ใต้ถุนศาลเขาบอกว่าไม่ได้ประกันตัวแล้ว ผมตื่นเต้นมาก ทนายที่พี่สาวพามาก็บอกว่าให้สูดหายใจลึกๆ ทำใจดีๆ ไว้ ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น ผมก็ไม่กลัวอะไร อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด”

แน่ล่ะ วินาทีที่รู้ว่าตัวเองต้องเข้าคุกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แววตาของยุทธภูมิบอกว่าเขาเป็นคนใจแข็ง เจ้าของแววตาเช่นนี้คงไม่ใช่คนสยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับตัวเองเป็นแน่

“ผมตั้งใจตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่ไปไหนทั้งนั้นและจะสู้คดี”

คำพูดของเขาหนักแน่นกว่าหินผา พูดออกมาแล้วว่าจะสู้ก็หมายความตามนั้น ไม่มีท่าทีว่าจะหนีจากเรื่องแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ไม่ใช่สำหรับศาลที่เชื่อไปแล้วว่าเขาจะหนี จึงสั่งให้ขังคุกทั้งที่ยังไม่ตัดสินว่าเป็นคนผิด

‘สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด’ เมื่อ 112 เป็นคดีร้ายแรงในทุกกรณี

ไม่เคยมีเรื่องเล่าปกติธรรมดาสำหรับคนที่เคยผ่านคุกไทยมาแล้ว แม้ว่าจุดหมายของการเอาคนไปขังคือการจำกัดเสรีภาพและแก้ไขให้เป็นคนที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงท่ามกลางสภาพย่ำแย่แออัด ผลลัพธ์ที่ได้คือการย่ำยีคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำลายสภาพจิตใจ จนมีคนจำนวนมากเล่าประสบการณ์ในนั้นว่าคือการเอาตัวรอดเพื่อไม่ให้เป็นคนที่เลวลงกว่าตอนก้าวเท้าเข้าไป

“พอเข้าไปข้างในเรือนจำ อะไรที่ไม่เคยเจอก็เจอ มันก็แย่หน่อยนะ แต่คิดว่าต้องอยู่กับมันให้ได้”

เขาอธิบายเพิ่ม “ผมเคยอยู่ข้างนอกเจอแต่คำพูดปกติ แต่เข้าไปข้างใน ไม่รู้ใครเป็นใคร มีแต่พูดมึงกู คำหยาบที่ผมไม่เคยเจอ แล้วก็เสียงดัง ‘มึงนั่งลง!’ ‘แก้ผ้า!’ ให้ถอดเสื้อถอดกางเกง ผมไม่ได้เตรียมขาสั้นไปก็เอากางเกงยีนส์ผมไปตัดขา แต่ก็ต้องอดกลั้น พออยู่นานๆ ไปค่อยโอเค ผู้ต้องขังก็มีทั้งกลุ่มดีและไม่ดี ก็เลือกอยู่กับกลุ่มดีๆ ไป”

ยุทธภูมิได้รู้จักนักโทษการเมืองหลายคนระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่และการปรับตัวต่างๆ

“ช่วงแรกที่เข้าไป มีคนมากอดคอผมพาไปหลังตึก ตอนแรกตกใจว่าเอาเราไปต่อยหรือเปล่า ผมบอกว่าถ้าต่อยผมสวนนะ ผมนักมวยเก่านะ (หัวเราะ) เขาก็บอกให้ผมนั่งลงแล้วเอาบุหรี่ให้สูบ เขาถามว่ามาเรื่องคดี 112 ใช่ไหม ผมก็ตอบใช่ เขาก็บอกว่าพี่ก็คดี 112 เว้ย คนนั้นคือพี่หนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ (หนุ่ม เรดนนท์) เขาพาหาขันอาบน้ำ สบู่ ยาสีฟัน หากุญแจล็อกเกอร์ให้เก็บของ ยังดีที่ตอนเข้าไปใหม่มีคนแนะนำอะไรหลายอย่าง ถ้าไม่มีคนข้างในอยู่ก็แย่หน่อย”

ยุทธภูมิใช้เวลาปรับตัวอยู่ราวหกเดือน ยังดีว่าก่อนเข้าเรือนจำเขามีเงินสะสมจากการทำงานจึงทำให้ความเป็นอยู่ไม่ลำบาก และสิ่งที่ช่วยปลอบจิตใจขณะอยู่ข้างในนั้นคือการฝากให้ญาติซื้อปลากระป๋องส่งไปให้สำหรับเลี้ยง ‘แมว’

“ข้างในนั้นแมวเยอะ ผมชอบหมาแมวอยู่แล้ว ทุกวันหลังทำกิจวัตรและกินข้าวเช้าเสร็จก็จะใช้ปลากระป๋องเลี้ยงแมวรอบเรือนจำ ก็ฆ่าเวลาไปได้นะ ให้อาหารแมวไปเรื่อยๆ ช่วงที่ไม่มีใครมาเยี่ยม ซึ่งตอนนั้นก็มีคนมาเยี่ยมเยอะ ทั้งญาติเราและคนไม่รู้จัก แต่เขารู้จักเราจากข่าว ฝากของอะไรมาให้เต็มไปหมด ถ้ายังจำกันได้ก็อยากขอบคุณทุกคน” เขาเล่าด้วยรอยยิ้มเมื่อพูดถึงแมว ยุทธภูมิเป็นคนรักสัตว์ตัวยง ทุกวันนี้เขาใช้เวลาทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ในการตระเวนให้อาหารหมาจร

การเลี้ยงแมวน่าจะเป็นกิจกรรมเดียวที่ทำให้ผ่อนคลายได้ ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่เลวร้าย ภาพจำเรือนจำสำหรับยุทธภูมิคือการอยู่ในห้องขังที่มีคนราว 40-50 คน ต้องนอนเบียดเสียดพร้อมหมอนใบเล็ก ยิ่งคนเยอะยิ่งร้อนเหนอะหนะ กระทั่งนอนถอดเสื้อก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้นนัก

“มันไม่ไหว เบียดเสียด ที่นอนก็มีแค่หมอนใบเล็กๆ ถ้าเอาที่นอนมาเสริมผู้คุมมาตรวจเขาก็ให้เปลี่ยน นอนก็ต้องถอดเสื้อเพราะร้อน ยิ่งคนอยู่เยอะ ความร้อนก็ยิ่งออกมาเยอะ เวลาใช้ห้องส้วมประจำห้อง นั่งก็เห็นหน้ากัน นอนก็เห็นหน้า มีไว้ให้พอได้วักน้ำมาลูบหน้าลูบตัวแก้ร้อน แต่ยิ่งลูบก็ยิ่งเหนียวนะ”

นอกจากการต้องปรับตัวกับเรือนจำ สิ่งที่เขาต้องแบกรับไว้พร้อมกันคือความรู้สึกว่าตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นโดยไม่สมควร ยุทธภูมิคิดเสมอว่าปลายทางของคดีคือการยกฟ้อง อีกไม่นานเขาต้องได้ออกจากคุก

“ผมบอกตัวเองเสมอว่าอีกไม่นานหรอก แต่มันนานนะ เวลาอยู่ในนั้นหนึ่งวันมันไม่มืดสักที ยิ่งตอนนอนก็คิดว่าเมื่อไหร่จะเช้า นอนเบียดแบบนั้นไม่มีความสุขหรอก ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่เราอยู่ข้างนอก แป๊บเดียวก็หมดวันแล้ว ทำไมสิ้นเดือนเร็วจัง ต้องจ่ายนั่นนี่อีกแล้ว”

เรื่องหนึ่งที่เขาคิดคือ เขาเข้าคุกด้วยคดี 112 ทำให้ขอประกันตัวไม่ได้ ทั้งที่หลักฐานในการเอาผิดอ่อนมาก

ตั้งแต่เข้ามาในเรือนจำ อานนท์ นำภา กลายมาเป็นทนายให้ยุทธภูมิ มีการยื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 9 ครั้ง แม้จะพยายามเปลี่ยนประเภทหลักทรัพย์และนายประกันในการยื่นแต่ละครั้ง ถึงขนาดที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น เป็นนายประกันให้ก็ยังไม่เป็นผล ด้วยเหตุผลซ้ำๆ ว่า “เป็นคดีร้ายแรง ปล่อยไปเกรงจะหลบหนี”

เหตุผลง่ายๆ ที่อาจเข้าใจได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อมองข้อกล่าวหาและความบาดหมางส่วนตัวของผู้กล่าวหากับจำเลยที่เลยเถิดไปถึงการนำเอาสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวพัน แต่เป็นที่รู้กันว่าถ้าเป็นคดี 112 ศาลจะไม่ให้ประกันตัว

“ผมไม่มีทางหลบหนีอยู่แล้ว ผมไปมอบตัวเอง ไม่มีใครไปตามจับเลย ไปตั้งแต่ได้รับหมายเรียก ไปกองปราบ จนอัยการสั่งฟ้อง ต้องติดคุกใต้ศาลและมาที่เรือนจำ”

แม้จะรู้ว่าโอกาสได้รับการประกันตัวน้อยมาก แต่ยุทธภูมิก็ตั้งความหวังทุกครั้งที่ยื่นขอประกันตัว

“รู้ว่ายังไงก็ไม่ได้แต่ก็ลุ้นนะ ทนายเขาก็คงยื่นไปอย่างนั้น ให้เรามีความหวังไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราอยู่ข้างในได้ เวลาทนายมาเยี่ยมเขาจะบอกว่าต้องอยู่ข้างในให้ได้นะ คนข้างนอกจะพยายามยื่นประกันให้ ขนาดตอนขึ้นศาลครั้งสุดท้าย ศาลบนบัลลังก์ท่านเป็นคนบอกให้ผมยื่นประกันตัวเองแล้วเซ็นกำกับให้ด้วย แต่ไปยื่นก็ยังไม่ได้อีก ก็ไม่รู้เหตุผล”

“อย่าใช้คำว่า ‘เป็นเวรกรรม’ กับผม”

หลังยุทธภูมิต้องใช้ชีวิตในเรือนจำราวหนึ่งปี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในวันที่ 13 กันยายน 2556 ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอ แต่ให้ริบแผ่นซีดีของกลางไปทำลาย

“ตอนที่รู้ว่ายกฟ้องผมมีความสุข…ความสุขกลับมาเลยนะ ความคิดไหลมาเหมือนน้ำเลยว่าเราจะออกไปทำงานนั้นงานนี้” รอยยิ้มเต็มหน้าเจ้าของเรื่องเล่า

เขาได้รับการปล่อยตัวในสภาพที่ยังไม่ปลอดโปร่งเต็มที่เพราะรู้ว่าน่าจะมีการอุทธรณ์คดี “ถึงแม้เราจะมั่นใจแค่ไหนก็นะ คดียังไม่จบก็เชื่ออะไรไม่ได้”

ผ่านไปอีกหนึ่งปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานโจทก์อ่อนและมีความน่าสงสัย และผู้กล่าวโทษที่เป็นประจักษ์พยานโจทก์เพียงปากเดียวก็เคยมีเรื่องขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน

แม้จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ช่วงเวลาหนึ่งปีในเรือนจำและห้าปีของการต่อสู้คดี ไม่ใช่เรื่องที่เขาควรเผชิญตั้งแต่แรก เขาต้องกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ทั้งที่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้มากหากไม่ต้องเข้าเรือนจำซึ่งทำให้สิ่งที่สร้างมาพังไปหมด

จนถึงวันนี้ยุทธภูมิกับพี่ชายไม่ได้ติดต่อกันอีก ครอบครัวของเขาเลิกพูดถึงเรื่องคดีที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากรื้อฟื้นขึ้นมา และหากมองย้อนกลับไปเขาก็ยังคงทำความเข้าใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่ามีความสมเหตุสมผลอย่างไร

“ทำไมอยู่ดีๆ ชีวิตคนคนหนึ่งต้องพลิกผันเข้าไปอยู่ในคุก ต้องไปเจอคำหยาบๆ เถื่อนๆ ในคุก ผมไปทำอะไรผิดเหรอ แล้วถ้าผมได้ประกันตัวก็ไม่ต้องอยู่ในคุก ยังทำงานต่อไปได้ ซึ่งสุดท้ายศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ถามว่าผมสมควรเข้าไปอยู่ในนั้นไหม ผมไม่ได้ทำร้ายชีวิตใคร ไม่ได้ทำผิดต่อชีวิตหรือทรัพย์สินใคร

“หนึ่งปีนั้นมันไม่ใช่แค่การติดคุกนะครับ นั่นมันชีวิตผมเลยนะ แทนที่เราจะทำงานแบบไม่มีความกังวล กลับต้องไปอยู่ข้างใน ต้องขึ้นศาล ต้องโดนใส่โซ่ แย่ครับ”

ยุทธภูมิไม่ได้รับเงินชดเชยจากการติดคุกฟรีและไม่คิดจะทำเรื่องขอเงินชดเชย เพราะเขาไม่คิดว่าจะคาดหวังผลอะไรได้

“มันไม่เป็นผลหรอกครับ ไหนๆ แล้วก็จบไปเถอะ การประกันตัวยังไม่ได้จะมาเรียกร้องอะไร คดีเกี่ยวกับ 112 ทำอะไรก็ยากไปหมด การดำเนินการก็ไม่ง่ายนะต้องผ่านหลายขั้นตอน แล้วไม่คิดว่าจะได้หรอก ส่วนใครที่ดำเนินการได้ก็ดีใจด้วย

“ผมติดคุกฟรี อย่าใช้คำว่า ‘เป็นเวรกรรม’ กับผมนะ คุณเอาผมไปขังถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมไม่ได้หรอก เอาคนคนหนึ่งไปขัง เดินก็ต้องถือโซ่ แทนที่จะได้ใช้มือจับปากกา-ขับรถ ทำงานหาเงินไป ต้องมาถือเส้นโซ่ ก็นั่นแหละ ผมก็จำชีวิตที่ยากลำบากเอามาเป็นแรงทำงาน”

สำหรับยุทธภูมิ การติดคุกโดยไม่ได้ทำอะไรผิดเป็นเรื่องที่หาอะไรมาชดเชยไม่ได้และไม่ควรเกิดขึ้นแม้แต่วันเดียว

“ถ้าไม่ได้ทำอะไร วันเดียวก็ไม่ควรติดคุก คุณไม่มีสิทธิเอาโซ่มาใส่ขาผม คุณไม่มีสิทธิผลักผมเข้าประตูห้องขังเลย มนุษย์แต่ละคนมีสิทธิ แต่คุณบังคับเอาผมไปขัง บังคับใส่โซ่ตรวนที่ขาโดยที่ผมไม่ยินยอมเลย ในใจผมคิดว่าผมไม่ควรติดคุกด้วย ผมก็สำรวจตนเองว่าผมไม่ใช่คนเลวอะไรมากมาย ไม่ได้เลวร้ายต่อสังคม ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร”

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่เป็นธรรม แต่ยุทธภูมิยืนยันว่าเขายังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง แต่เขาเห็นว่าคนในระบบควรมีความกล้าตัดสินใจตามหลักวิชาชีพมากกว่านี้ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนและอัยการ หากพบว่ารูปคดีไม่เข้าข่ายความผิดก็ควรตัดสินใจไม่ส่งฟ้อง ไม่ใช่ไม่กล้าตัดสินใจแล้วโยนทุกเรื่องไปให้ศาลตัดสิน เพราะกว่าศาลจะตัดสินผู้ถูกกล่าวหาก็ต้องไปอยู่ในคุกแล้ว

“ถ้าฟ้องไม่ได้ก็ควรจบตั้งแต่พนักงานสอบสวน อัยการก็ต้องกล้าตัดสินใจเมื่อคุณรู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง วิชาชีพของเราต้องกล้าตัดสินใจครับ ตัดสินใจไม่ฟ้องก็จบแล้ว ไม่ใช่เอาขึ้นไปให้ศาลตัดสินอย่างเดียว ก่อนศาลจะตัดสินเขาก็จับผมไปขังไว้แล้ว

“ทุกคนมีสิทธิในตัว สิทธิในการประกันตัวต้องมี ในคดีที่ไม่ได้ทำผิดต่อชีวิตควรได้รับการประกันตัว โดยเฉพาะนักโทษทางความคิด มันเป็นเรื่องความคิด ไม่ได้ทำร้ายร่างกายใคร ควรทบทวนครับ พนักงานควรกล้าตัดสินใจ หลักฐานไม่ได้ก็ต้องบอกว่าหลักฐานไม่ได้ ไม่ฟ้องก็คือไม่ฟ้อง”

นอกจากการทำงานในกระบวนการยุติธรรมแล้ว กฎหมายที่ถูกนำมาบังคับใช้ก็เป็นปัญหา กรณีของยุทธภูมิเป็นตัวอย่างสะท้อนปัญหาหลายด้านของกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ว่าจะเรื่องการกำหนดโทษสูงเกินไปเทียบเท่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา การให้ใครกล่าวหาก็ได้จนทำให้กลายเป็นเครื่องมือของคนที่ขัดแย้งเรื่องส่วนตัว การบัญญัติกฎหมายอยู่ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงทำให้ศาลใช้อ้างเพื่อไม่ให้ประกันตัว

จากประสบการณ์ที่เผชิญด้วยตนเอง ยุทธภูมิเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือยกเลิก ยิ่งเมื่อมองปัจจุบันที่มีคนถูกฟ้องด้วย 112 จำนวนมาก

“112 ยังไงต้องมีการเปลี่ยน ยกเลิกไม่ได้ก็ต้องแก้ไข จะแก้มากหรือน้อยก็ต้องมีการเริ่มต้น 112 หนักเกินไป แรงเกินไป ต้องทำให้เหมาะสม ซึ่งที่จริงก็มีกฎหมายอื่นที่ใช้คุ้มครองได้อยู่แล้ว”

สำหรับคนที่คิดว่าหากไม่ได้ทำผิดก็ไม่เดือดร้อนกับการมี 112 ยุทธภูมิแนะนำให้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นตัวอย่าง

“ถ้าคุณศึกษาเคสต่างๆ คุณจะกลัวไหม 112 นี่กว้างนะครับ คุณอาจจะไม่ได้ทำผิด อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้ แต่สักวันหากมีคนกลั่นแกล้ง คุณก็โดนได้เหมือนกัน มีหลายกรณีที่กลั่นแกล้งโดยการใช้ 112 ถ้าหากคุณสนับสนุนการใช้ 112 คุณจะรับผิดชอบกับคนที่ถูกกลั่นแกล้งอย่างไร ใครจะแกล้งใครมั่วไปหมดแล้วจะอยู่กันยังไง เอะอะก็เอา 112 มาปิดปากกันแล้ว”

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ประสบการณ์น่าจดจำสำหรับยุทธภูมิ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะลืมได้ การบันทึกชีวิตของเขาไว้ก็เพื่อให้สังคมจดจำได้ว่า นี่คือผลพวงของการมองเห็นความผิดพลาดของกฎหมายที่ใช้อยู่ในสังคมแล้วยังไม่มีการแก้ไขมาจนถึงปัจจุบัน

“ถามว่าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร คุณดูผมสิ ไม่ทำผิดแล้วควรกลัวไหมล่ะ”

References
1 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฐานข้อมูลคดีไอลอว์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save