fbpx

2 ปี 4 เดือน 3 วัน ชีวิตนักโทษการเมืองกับความผิดที่ไม่ได้ก่อของ วาสนา บุษดี

การนัดคุยกับอดีตผู้ต้องหาคดีระเบิด อาจฟังดูเป็นเรื่องน่ากลัว แต่หลังจากที่ฟังวาสนา บุษดี เล่าเรื่องชีวิตของเธอจบ ความรู้สึกที่ตกค้างอยู่นั้นยากจะบรรยาย ทั้งเศร้าระคนโกรธ มองเห็นความไม่ถูกต้องจำนวนมาก แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงปลายทางอันลุกลามของปัญหาใหญ่ๆ มากมายในสังคมไทย

ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกร้องต้องการ ทุกหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยก็ออกตัวมุ่งมั่นว่าต้องการสร้างความยุติธรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของบางคนที่บังเอิญพลัดหลงไปในวังวนความไม่เป็นธรรม โดยที่ไม่ได้เป็นอาชญากร ไม่ได้ทำร้ายเข่นฆ่าใคร กว่าจะหลุดออกจากวังวนนั้นได้ก็เจียนตาย

หากมองลึกไปในกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่อยู่ในนั้นคือมนุษย์ที่ทำงานให้ระบบ กระทั่งเมื่อระบบนั้นผิดพลาดหรือเดินไปผิดทิศทาง โดยเฉพาะเมื่อถูกรบกวนจากอำนาจอื่นๆ เช่นการรัฐประหารที่ทำให้ทหารขึ้นมามีอำนาจเหนือกระบวนการยุติธรรม เหนืออำนาจของประชาชนทั้งมวล ระบบที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ก็ทำงานไปอย่างผิดพลาดและบดบี้ชีวิตคนเล็กคนน้อยให้จมดิน

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจึงตรงข้ามกับคำว่ายุติธรรม

“ทำทุกอย่างที่ได้เงินและไม่ผิดกฎหมาย”

วาสนาเป็นคนมุกดาหาร พ่อแม่ของเธอเปิดบ้านรับปะชุนซ่อมแซมเสื้อผ้า ชีวิตที่ถูกจัดวางไว้ห่างไกลจากคำว่าร่ำรวยทำให้เธอต้องเริ่มทำงานตั้งแต่อายุสิบกว่าปี เธอถูกส่งไปทำงานรับจ้างตัดขี้ด้ายที่โรงงานเย็บผ้าโหลแลกค่าตอบแทนต่ำเตี้ย ไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ

พออายุ 28 เพื่อนชวนวาสนาให้ไปทำงานที่ภาคใต้โดยมีนายหน้าพาไปส่ง ขณะนั้นวาสนากลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอหอบลูกหนึ่งคนโยกย้ายกันไปอยู่ใต้ ทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดอพาร์ตเมนต์ที่อำเภอสะเดา สงขลา จากนั้นจึงได้งานเฝ้าร้านคาราโอเกะของคนรู้จัก เป็นเสมือนหุ้นส่วนที่คอยดูแลทุกอย่างในร้าน ทำความสะอาด ยกของ เปิดร้าน กระทั่งอาศัยโซฟาในร้านแทนห้องเช่า

เธออธิบายชีวิตการทำงานของเธออย่างเรียบง่าย “ทำทุกอย่างที่ได้เงิน เพื่อนพาไปไหนก็ไป ล้างห้องน้ำก็ทำ แต่ไม่ทำงานผิดกฎหมาย”

หลังจากวนเวียนอยู่กับงานรับจ้าง วาสนาจึงเปลี่ยนมาตระเวนรับซื้อตุ๊กแกตามบ้าน เพื่อส่งนายหน้าเอาไปทำยาบำรุงที่สิงคโปร์

“เราต้องไปหาตุ๊กแกตัวยาวๆ นายหน้าเขารับซื้อตัวละ 400-500 บาท ไปจับตุ๊กแกมาขายบางทีมันก็กัด ตระเวนไปทั่วตั้งแต่ใต้เรื่อยมาจนถึงมุกดาหาร ตอนหลังเราเลยกลับไปนอนบ้านพ่อแม่ที่มุกดาหารเพื่อจะข้ามไปรับซื้อตุ๊กแกฝั่งลาว” เธอเล่าพร้อมโชว์แผลเป็นบนหลังมืออันเป็นร่องรอยจากการต่อสู้กับสัตว์เลื้อยคลาน

วาสนากลับมาอยู่กับพ่อแม่ได้ราว 9 เดือน ระหว่างนี้เธอก็ทำอาหารและขนมใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์ไปตระเวนขายในหมู่บ้าน จนเริ่มคุ้นกับ ‘น้อย’ เพื่อนบ้านที่กลายมาเป็นลูกค้าประจำ คอยอุดหนุนหมี่กะทิ ขนมจีน และของหวานต่างๆ ที่เธอขาย และรับรู้ว่าครอบครัวอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน น้อยเอาเสื้อผ้ามาให้พ่อแม่ของเธอปะชุน เวลาบ้านเธอตำน้ำพริกก็แบ่งไปให้บ้านน้อย

เมื่อน้อยฝากให้วาสนาไปโอนเงินเพื่อช่วยเพื่อนที่มีปัญหาทางการเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน วาสนาจึงช่วยเหลือทันทีโดยไม่คิดอะไร

“ป้ารู้ไหมว่าเงินนี้เอาไปทำอะไร”

เช้าวันที่ 12 มีนาคม 2558 ตำรวจและทหารหลายสิบนายบุกไปที่บ้านของวาสนา ปิดทางเข้าออกถนนโดยรอบแล้วบุกเข้ามาโดยที่ไม่มีหมายจับหรือหมายค้น ท่ามกลางความตกใจและงุนงงของวาสนาและพ่อแม่

“ตอนเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน เขาไม่มีหมาย พ่อเราก็บอกว่าจะเดินเข้ามาดุ่มๆ แบบนี้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งมาแย่งกุญแจมอเตอร์ไซค์จะเอารถไป เราบอกว่าเอาไปไม่ได้ นี่รถของพ่อเรา พอเราถามเขาว่า ‘คุณตำรวจ มีอะไรลูก’ อีกคนก็ผลักหลานเราขึ้นรถ เราก็บอกว่า ‘พูดกันดีๆ นี่ไม่ใช่ลูกป้านะ’”

จากนั้นตำรวจจึงยื่นภาพให้วาสนาดูและถามว่าเธอใช่คนในภาพไหม ภาพนั้นคือภาพที่วาสนานั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกำลังโอนเงินไปให้เพื่อนของน้อย วาสนารับว่าเป็นคนในภาพและเป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ฝากไปโอนเงินแทนเพราะขับมอเตอร์ไซค์ไม่เป็น

“ป้ารู้ไหมว่าเงินนี้เอาไปทำอะไร เงินนี้เป็นเงินสีเทา เอาไปจ้างคนวางระเบิดศาลอาญา ไปจ้างคนวางระเบิดร้อยจุด” ตำรวจอธิบาย

วาสนาส่งเสียงออกมาได้คำเดียว “หือ” มือเย็นแข้งขาหมดแรงจนทหารต้องเข้ามาช่วยพยุง “ไม่ใช่ เขาให้ส่งไปให้เพื่อน เพื่อนเขาเดือดร้อนมาก เงินค่าเช่าบ้าน ค่าเปิดร้านอะไรของเขาไม่รู้”

เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่อ้างถึงคือ คดีปาระเบิดศาลอาญา[1] ซึ่งเกิดขึ้นช่วงหัวค่ำวันที่ 7 มีนาคม 2558 ราวสิบเดือนหลังการรัฐประหาร 2557 มีการปาระเบิดเข้าไปที่ลานจอดรถศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ทำให้เกิดเศษปูนแตก โดยไม่มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และต่อมามีการกล่าวหาว่าเป็นขบวนการที่วางแผนจะระเบิด 100 จุดทั่วประเทศ

ทหารถามวาสนาว่าใครเป็นคนฝากโอนเงิน เมื่อได้รับคำตอบว่าคือเพื่อนบ้าน ทหารก็ให้วาสนาพาไปบ้านของน้อย

“ป้าพาผมไปหาเขา แล้วผมจะปล่อยป้า”

วาสนาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ไปปิดล้อมบ้านน้อย เมื่อเรียกอยู่สักพักแล้วไม่เปิดประตู หน่วยคอมมานโดจึงบุกเข้าไปและถีบประตูห้องเพื่อจับตัวน้อย เจ้าหน้าที่ค้นบ้านน้อยและเอาข้าวของจำนวนมากออกมาวางกอง โดยให้วาสนาเป็นพยานชี้หลักฐาน ซึ่งเธอยืนยันว่าในวันนั้นไม่พบระเบิดที่บ้านน้อย แต่ภายหลังจากที่น้อยถูกจับกุมก็มีการอ้างว่า มีการค้นบ้านซ้ำแล้วเจอระเบิดไม่มีชนวนหนึ่งลูก

วาสนาถูกจับตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดนครพนม โดยถูกปิดตาขึ้นรถคนละคันกับน้อย เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าปล่อยตัวเธอไม่ได้เพราะถือว่าร่วมกันกระทำความผิด โดยที่วาสนายังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและเธอทำอะไรผิด แต่สิ่งที่เธอจำได้แม่นยำคือภาพพ่อกับแม่ในวันที่เธอถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไป

“พ่อเป็นเส้นเลือดตีบในสมองอยู่แล้ว แม่ก็ขาลีบ ไม่ค่อยแข็งแรง เดินไม่ได้ วันนั้นตำรวจทหารมากันเยอะแยะเลย ขับรถทหาร ปิกอัป โฟร์วีล ปิดสามซอย จะไม่ให้พ่อกับแม่ช็อกได้ยังไง พ่อแม่แกนั่งหย่อนขามอง ได้แต่ถามว่า ‘อะไรๆ’

“ตอนจะเอาเราเข้ากรุงเทพฯ เขาพาเรากลับไปที่บ้าน ไปขนของของพ่อแม่ พวกจักร-เสื้อผ้าเอามากองไว้ คนแก่สองคนเขาก็นั่งรอเราอยู่ เราบอกพ่อแม่ว่า ‘เดี๋ยวกลับมานะ’ (ร้องไห้) เราขอเขาลงไปคุยกับพ่อแม่ ขอครั้งเดียว แค่จะบอกพ่อแม่ว่าเราไม่ได้ปล่อยตัวแล้วนะ แต่เขาไม่ให้ เขาโกหกพ่อกับแม่เราว่า ‘เดี๋ยวจะเอาลูกสาวมาส่งคืนป้านะ’ แม่แกนั่งอยู่ไม่พูดอะไรเลย แกช็อก สองคนเขาก็นั่งรออยู่อย่างนั้น”

นั่นคือภาพสุดท้ายที่วาสนาเห็นพ่อแม่ เธอถูกนำตัวขึ้นรถตู้พาไปกรุงเทพฯ พร้อมน้อย โดยถูกปิดตาตลอดทาง จนถึงค่ายทหารในกรุงเทพฯ ก็ยังให้ปิดตาตลอดเวลากระทั่งตอนเข้าห้องน้ำพร้อมสั่งให้เปิดประตูทิ้งไว้

ค่ำวันต่อมาวาสนาและน้อยถูกนำตัวไปกรมทหารราบที่ 11 จึงได้เจอกับ แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา พยานคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ซึ่งถูกจับมาก่อนหน้านั้นจากคดีปาระเบิดศาลอาญาเช่นกัน

“แหวนพูดภาษาอีสานกับเราว่า ‘ยาย โอ๊ยข้อยสิโตนเจ้าเด๊ เป็นหยังเจ้าคือโง่แท้ เจ้าบ่คึดคักๆ ให้มันยืมเฮ็ดหยัง’[2](หัวเราะ) แล้วเราก็ร้องไห้ใส่กัน” วาสนาเล่าพร้อมหัวเราะขื่นๆ

เราก็งงว่ามีคดีระเบิดได้ยังไง

เราขายของมีแต่ตะหลิวกับทัพพี ตำพริกตำเกลือ

จะไปเอาปืนจากไหน เขาใส่คดีมายับเลย

“เขาจับมึงมารกคุกกูทำไม”

จากเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาญาทำให้มีผู้ถูกฟ้องในคดีนี้ทั้งหมด 14 คน ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ 2 คน และอีก 12 คนที่เหลือรวมถึงวาสนา เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยง โดยถูกฟ้องในข้อหาหนักร่ายออกมาได้ยาวเหยียด อย่าง อั้งยี่ ก่อการร้าย ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรอง พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ฯลฯ[3] ระหว่างนั้นบางคนออกมาเปิดเผยว่าถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร บางคนต้องเซ็นชื่อรับรองบันทึกซักถามโดยไม่ได้อ่าน

วาสนาเล่าว่าเธอไม่ถูกทำร้ายร่างกาย ต่างจากน้อยที่บอกว่า “โดนกดหัว โดนตบหน้า โดนตี”[4] และสิ่งที่พวกเธอเจอคล้ายๆ กันคือการต้องเซ็นบันทึกซักถามโดยไม่ได้อ่าน โดยเฉพาะวาสนาที่อ่านหนังสือไม่คล่อง

“เขาให้เราเซ็นอะไรไม่รู้ แต่ไม่ให้อ่านเลยนะ ม้วนกระดาษมาให้เห็นแต่ท้ายกระดาษตรงที่ต้องเซ็น เราถามเขา ‘เซ็นอะไร’ ‘เซ็นชื่อนามสกุลป้านั่นแหละ’ เราก็ต้องเซ็นทุกใบเลย ตอนเข้าไปในเรือนจำเขาก็เอาเอกสารไปให้เซ็นอีก แต่ไม่ให้อ่าน เราก็ไม่ค่อยเก่งหนังสือ”

แน่นอนว่าการเซ็นเอกสารโดยไม่ได้อ่านเนื้อความไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แต่ในสภาพที่ถูกควบคุมตัว 24 ชั่วโมงในค่ายทหารภายใต้บรรยากาศกดดันก็ไม่มีทางเลือกอื่น คดีนี้มีการจับกุมร่วมโดยทหาร สอบสวนโดยทหารในค่ายทหาร และขึ้นศาลทหารที่ตัดสินโดยทหาร (ภายใต้คำสั่ง คสช. -คณะทหารผู้ยึดอำนาจจากประชาชน)

หากมองโดยไม่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์อย่างซับซ้อนก็สามารถบอกได้ว่านี่คือช่วงที่กระบวนการยุติธรรมไทยตกต่ำสุดขีด

วาสนาไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งไปเรือนจำในฐานะนักโทษคดีการเมือง เมื่อการปาระเบิดศาลช่วงหลังการรัฐประหารทำให้มองได้ว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจ รวมถึงมีการเชื่อมโยงคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้วางแผนกระทำการ แต่สำหรับวาสนาสถานะ ‘นักโทษคดีการเมือง’ ดูเป็นเรื่องเหนือจริงสำหรับเธอผู้ที่ไม่สนใจการเมือง ไม่เคยไปม็อบ ไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มการเมืองใดๆ

“เราเป็นคนค้าขาย หาเช้ากินค่ำ ยังงงว่าโดนคดีการเมืองได้ยังไง เราไปอ่านคดีแล้วงง เขาบอกว่า พกอาวุธสงคราม มีลูกระเบิดในที่สาธารณะ โดน 8-9 คดี (ท้ายที่สุดวาสนาถูกกล่าวหา 2 คดี คือก่อการร้ายและอั้งยี่) เราก็งงว่ามีคดีระเบิดได้ยังไง เราขายของมีแต่ตะหลิวกับทัพพี ตำพริกตำเกลือ จะไปเอาปืนจากไหน เขาใส่คดีมายับเลย”

5 วันหลังถูกจับ วาสนาเริ่มต้นชีวิตในเรือนจำอย่างทุกข์ทรมาน ตั้งแต่การถูกตรวจร่างกายทุกซอกทุกมุม

“เราเข้าไปในเรือนจำ เวลาอาบน้ำ เขาจะเป่านกหวีดหนึ่งครั้งให้ตักน้ำหนึ่งขัน ล้างหน้าแปรงฟันราดตัวพร้อมกันทีเดียว ทั้งหมด 3-4 ขัน ถ้าคนไหนทำงานช่วยผู้คุมจะได้ 6 ขัน ถ้าเป็นรอบเดือนก็ฉีกผ้าถุงมาใช้แทนผ้าอนามัย ยังดีว่ามีพี่ซี (จันทนา วรากรสกุลกิจ-อดีตนักโทษคดีความมั่นคง) กับน้องกอล์ฟ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง – อดีตนักโทษคดี 112) เขาช่วยเหลือ กอล์ฟบอกว่า ‘พี่ไม่ทันคนจริงๆ’ เรายอมรับว่าเราโง่ ไม่ทันใคร เขาถึงหลอกเราได้…สุดกับชีวิต เราไม่เคยคิดร้ายใคร ไม่คิดว่าต้องเจออะไรแบบนี้

“เชื่อไหม เราคิดหลายครั้งว่าอยากจะฆ่าตัวตายเลยนะ จะเอาสายยกทรงผูกคอตายกับเหล็ก เราไม่เคยต้องคดี ตกใจ คิดไม่ออก อยากจะฆ่าตัวตาย”

เธอบรรยายว่าการอยู่ในคุกคือ ‘นรกบนดิน’ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเงินแบบเธอ วาสนากลัวว่าคดีรุนแรงที่เธอเจอจะเชื่อมโยงญาติพี่น้องให้มาเกี่ยวพัน เธอจึงบอกใครๆ ว่าไม่มีญาติ ติดต่อเฉพาะกับทนาย ระหว่างที่อยู่ในนั้นก็มีนักโทษคดีการเมืองคนอื่นๆ ในเรือนจำช่วยเหลือเรื่องความเป็นอยู่

ไม่มีเหตุผล มีเพียงความกลัวและไม่ไว้ใจ แม้เธอเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่เผชิญมาก็มากพอที่จะทำให้คิดได้ว่าการจับกุมใครสักคนเพิ่มโดยไม่มีหลักฐานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

“ในเรือนจำคนมีเงินถึงอยู่สบาย เราไม่มีญาติมาเยี่ยมก็ทนไป ใครจ้างให้ทำอะไรก็ทำ ไปรับจ้างซักกางเกงในให้เขา ไปบีบนวดเขาก็ให้ 20-40 บาท แต่จ่ายเป็นกาแฟซอง คิดซองละ 5 บาท เราติดกาแฟ ถ้าไปทันก็จะได้น้ำร้อน ไปไม่ทันก็กินกาแฟผงเอา รับจ้างเฝ้าราวตากผ้าได้กาแฟ 2 ซอง ที่ต้องเฝ้าเพราะมีขโมย ถ้ารับจ้างอยู่เวรกลางคืนได้ 10 บาท ได้มาเป็นสบู่ขิงหนึ่งก้อนไว้ใช้

“เรากลัวเขาเอาญาติพี่น้องเราด้วย เลยปัดออกไม่ให้ไปยุ่ง เลยไม่มีใครมาเยี่ยม เพราะแต่ละคนก็ลำบากอยู่แล้ว”

วาสนาเชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเอง เธอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาตลอดการต่อสู้คดี กระทั่งผู้คุมคนหนึ่งในเรือนจำ เมื่อทราบเรื่องของวาสนาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเธอจึงถูกจับกุม

“มีผู้คุมผู้หญิงคนหนึ่ง เราไปบีบนวดให้ เขาก็เอาเอกสารของเราไปอ่านแล้วบอกว่า ‘มึงนี่ไม่มีอะไรเลย เขาจับมึงมารกคุกกูทำไมวะ นี่มันไม่มีอะไรเลยนะเนี่ย’ เราแค่ให้ยืมบัญชีจะรู้ไหมว่าเขาเอาเงินนี้ไปทำอะไร เราคิดแค่ว่าช่วยคน”

ฟังดูเป็นตลกร้าย แต่หากคุณเคยพูดคุยกับคนที่ผ่านเรือนจำ พวกเขามักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าข้างในนั้นมีคนจำนวนมากที่ติดคุกโดยไม่ได้ทำความผิด ทั้งการจับผิดตัว การโดนจับเพราะอยู่ผิดที่ผิดทาง หรือการให้คนอื่นยืมบัญชีธนาคารโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่

“เดี๋ยวจะเอาลูกสาวมาส่งคืนป้านะ”

วาสนาติดคุกอยู่ 2 ปี 4 เดือน 3 วัน หลังทนายพยายามยื่นประกันตัวหลายครั้ง ที่สุดศาลจึงให้ปล่อยตัวชั่วคราว เธอบอกว่าตอนที่รู้ข่าวดีใจมาก มีเรื่องเดียวที่เธอคิดไว้คือกลับไปหาพ่อแม่

24 กรกฎาคม 2560 วาสนาเดินออกจากทัณฑสถานหญิงกลางและถูกเจ้าหน้าที่อายัดตัวต่อโดยพาไปที่ สน. โชคชัย ทำให้เธอต้องนอนห้องขังต่ออีกหนึ่งคืนพร้อมความผิดหวัง เมื่อทนายความตามมาช่วยเหลือก็พบว่าเป็นการดำเนินคดีซ้ำ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกแยกฟ้องเป็นสองคดี เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวแล้วแต่ตำรวจกลับอายัดตัวซ้ำจากพฤติการณ์คดีเดียวกัน

“เขาบอกว่าอายัดตัวผิด เลยต้องขังอีกหนึ่งคืน” เป็นความเข้าใจของวาสนา เรียบง่ายแต่น่าเจ็บใจ ทำไมสำหรับคนอย่างเธอการติดคุกจึงง่ายดายเช่นนี้

เมื่อถูกปล่อยตัวจากสถานีตำรวจ วาสนาไม่มีที่ไป ตั้งแต่ติดคุกเธอตัดขาดจากครอบครัวด้วยกลัวว่าความเดือดร้อนจะกระจายออกไปเหมือนโรคติดต่อ ในวันที่ได้อิสรภาพเธอจึงไม่มีช่องทางติดต่อใครเลย กลุ่มคนเสื้อแดงจึงให้ความช่วยเหลือพาเธอไปทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งโดยให้ค่าจ้างรายวัน

เมื่อพี่เขยเห็นข่าววาสนาจึงติดต่อผ่านวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายของเธอ วาสนาจึงได้เจอกับพี่น้อง เมื่อถามถึงพ่อแม่ก็ได้คำตอบว่า “พ่อแม่รออยู่บ้านญาติที่กบินทร์บุรี”

“ลูกชายก็บอกว่าตายายรออยู่นะ เราดีใจ รีบทำงาน ใครจ้างอะไรเราทำหมด จะหาเงินไปกราบเท้าพ่อแม่ แต่พอไปถึงเห็นแต่รูปพ่อแม่ตั้งอยู่กับกระดูก เราล้มทั้งยืน รับไม่ได้”

วาสนามารู้เอาทีหลังว่า หลังจากเหตุการณ์ที่เธอถูกบุกจับกุมที่บ้านได้เพียงอาทิตย์เดียว พ่อและแม่ของเธอก็ล้มป่วยจากการเจอเหตุการณ์กระเทือนจิตใจกะทันหัน ภาพวันถูกจับกุมวนกลับมาในความคิด สิ่งที่วาสนาจำได้แม่นยำคือภาพพ่อแม่นั่งนิ่งพูดไม่ออก ภาพสุดท้ายก่อนเธอถูกนำตัวไปคือที่บ้านมีคนแก่สองคนที่ป่วยเส้นเลือดตีบในสมองและขาลีบนั่งรอลูกสาวกลับบ้าน

วาสนาโดนจับปี 2558 แม่ของเธอล้มป่วยและเสียชีวิตปี 2559 ส่วนพ่อเสียชีวิตปี 2560 เมื่อพบหน้ากันหลังถูกปล่อยตัว พี่น้องและลูกชายของเธอจึงเลือกที่จะไม่บอกความจริงในวันที่ชีวิตของเธอกลับมามีความหวัง

“พ่อแม่แกนั่งรออยู่ที่บ้าน เพราะลูกบอกว่าจะกลับมา สุดท้ายพ่อเส้นเลือดในสมองตีบ เราไม่ได้เผาทั้งสองคนเลย นั่นเป็นวันสุดท้าย ไม่ได้เจอกันอีก เราโกรธมากไม่ได้เผาพ่อแม่ตัวเอง โกรธจริงๆ (เสียงตีบตัน) ตอนที่จะโดนเอาตัวไปเราขอเขาครั้งสุดท้ายว่าขอไปกราบพ่อแม่ได้ไหม เขาไม่ให้ เราจำหน้าได้ ทหารกับตำรวจสามคน จะไม่ลืมเลย

“มีคนมาเล่าให้เราฟังทีหลังว่า พอเราโดนคุมตัวไป 7-8 วัน พ่อแม่เราอยู่ไม่ได้ ช็อกจนล้มป่วย พวกพี่ๆ ต้องไปดูแล ก่อนหน้านี้พี่น้องไม่ยอมรับเราเลย บอกว่าพ่อแม่ตายเพราะเรา สุดท้ายต้องมาขอขมากัน เขาเพิ่งจะให้อภัยเรา อยากบอกญาติพี่น้องว่าเราไม่ได้ฆ่าพ่อกับแม่ เราไม่ได้ทำให้พ่อแม่ตาย แค่ไม่ได้เผาพ่อแม่เราก็รู้สึกผิดมากแล้ว ในส่วนลึกเรายังไม่ให้อภัยตัวเองเลย แต่พี่น้องเขาให้อภัยเราหมดแล้ว” วาสนาเล่าและขอพักช่วงสั้นๆ ขณะที่ผู้ฟังลำคอตีบตัน มองเธอด้วยสายตาพร่ามัว

“ความควายบ่ทันหาย ความฉิบหายเข้ามาอีก”

เมื่อมองย้อนกลับไปวาสนาบอกว่าคุกเปลี่ยนเธอ “จากคนดีเป็นคนบ้า” ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่เธอคาดคิดว่าจะเจอในชีวิตนี้ ประสบการณ์เลวร้ายทั้งหมดทำให้หลังถูกปล่อยตัวเธอมักมีอาการเหม่อลอย ใจไม่อยู่กับตัว

“ตอนไปช่วยงานร้านอาหาร บางทีคุณยายที่ทำกับข้าวเขาก็ตีขาเรา บอกว่าอย่าไปคิดมาก เขาให้กำลังใจเรา”

วาสนาย้ายไปอยู่บางกะปิกับลูก เธอทำอาหารขายบนรถเข็นในตลาด ปรากฏว่าเพื่อนในตลาดไปกู้เงินนอกระบบและขอร้องให้เธอช่วยค้ำประกัน ต่อมาเพื่อนหนีหนี้ วาสนาต้องใช้หนี้แทนวันละสองพันกว่าบาท ข้าวของที่คนเสื้อแดงบริจาคมาให้ตอนเธอออกจากคุกก็ถูกเจ้าหนี้ยึดไปหมด จนเธอต้องย้ายที่อยู่ไปขออาศัยอยู่กับพี่สาว

ทุกวันนี้วาสนาอาศัยพื้นที่เล็กๆ ในรั้วบ้านพี่สาวเป็นที่ทำอาหารเจไปขายที่ตลาดแถวบ้านได้เงินเล็กๆ น้อยๆ หลังเพิ่งลืมตาอ้าปากได้จากมาตรการควบคุมช่วงโควิด-19 ที่ทำให้ไปขายของไม่ได้จนไม่มีรายได้ พี่เขยของเธอซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านก็เพิ่งประสบอุบัติเหตุจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

“ชีวิตเราต้องเรียกว่า ‘ความควายบ่ทันหาย ความฉิบหายเข้ามาอีกแล้ว’ สำหรับเราความสุขอย่างเดียวที่มีคือได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมในเรือนจำ” วาสนาบอก

ในโชคร้ายทั้งหมดก็ยังมีเรื่องดี หลังคดีถูกโอนจากศาลทหารมาศาลยุติธรรม กระบวนการที่ยืดเยื้อก็มีความคืบหน้า

24 มีนาคม 2565 ศาลตัดสินยกฟ้องคดีร่วมกันวางแผนจ้างคนไปปาระเบิด[5] ที่มีจำเลย 6 คน รวมวาสนา โดยระบุว่าหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลย

“เขาให้เรายืนขึ้นแล้วอ่านคำตัดสิน พอบอกว่ายกฟ้อง เราดีใจก้มลงไปกราบเท้าทนาย ร้องไห้ ไอ้แหวนจับมือเรายกขึ้น ‘พี่วาส เรารอดแล้ว’ แหวนเฮเลย ดีใจ สู้กันมา 8 ปี” วาสนาเล่าพร้อมรอยยิ้ม ความสุขแรกของเธอในรอบ 8 ปี คือการรอดพ้นจากคดีที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2565 ศาลพิพากษาคดีก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญา[6] ซึ่งมีจำเลย 14 คน ศาลตัดสินลงโทษผู้ก่อเหตุ 2 คนที่ถูกจับในที่เกิดเหตุ และยกฟ้องอีก 12 คนที่เหลือรวมถึงวาสนา เพราะมีเพียงคำให้การของ ‘ฝ่ายกฎหมาย คสช.’ ว่ามีคนเสื้อแดงว่าจ้างให้ก่อระเบิด 100 จุด และหลักฐานที่มีพิสูจน์ไม่ได้ว่าการโอนเงินถูกนำไปใช้เพื่อก่อเหตุระเบิด มีเพียงการซัดทอดกันระหว่างจำเลย (ซึ่งจำเลยถูกซักถามในค่ายทหารและมีการร้องเรียนว่ามีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ)

“ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ” คือความสุขเดียวหลังคดียกฟ้อง

ในวันนี้แม้ข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อวาสนาถูกยกฟ้องไปแล้ว แต่ความสูญเสียรอบด้านที่ทำลายชีวิตเธอไปแล้วนั้นไม่อาจเรียกคืน

แม้ในช่วงที่ได้รับการประกันตัวและสามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้นั้น การต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลทำให้เธอมีค่าใช้จ่ายมากและทำให้เธอไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องรุนแรงสำหรับคนหาเช้ากินค่ำ การไม่ทำงานหมายถึงไม่มีเงินใช้ในวันถัดไป

เมื่อมองเรื่องสภาพจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เธอคิดถึงความทรงจำเลวร้ายวนเวียนไม่รู้จบ ทุกวันนี้เวลาอาบน้ำ เธอมักนึกถึงเสียงนกหวีดของผู้คุมเรือนจำที่ส่งสัญญาณให้ตักน้ำ หรือหากได้ยินเสียงคนทะเลาะกัน เธอจะรีบหลบด้วยความหวาดกลัวต่างจากแต่ก่อน ด้วยนึกถึงสภาพในเรือนจำที่ผู้คนทะเลาะแย่งที่กันตลอดเวลาด้วยความเป็นอยู่ในแดนแรกรับอันแออัด

ส่วนเรื่องการงาน วาสนายอมรับว่าแม้คดีจะยกฟ้อง มีการตัดสินแล้วว่าเธอไม่ใช่คนผิด แต่ตราบาปที่เคยผ่านเรือนจำก็ทำให้เธอถูกปฏิเสธทันทีเมื่อไปสมัครงานแม่บ้านที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนคนรอบข้างที่ไม่รู้รายละเอียดคดีก็มองเพียงว่าเธอเป็นคนไม่ดีที่เคยเข้าคุก

“ไปสมัครงานแม่บ้านโรงแรม เขาไม่เอาเลย เอาบัตรประชาชนเราไปเช็กข้อมูลแล้วบอกว่าไม่รับครับ เพื่อนฝูงก็ไม่คบ หาว่าเราเป็นนักเลง

“อยากให้คนในสังคมให้โอกาสเพื่อนมนุษย์ บางคนทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้ทำความผิดด้วยซ้ำ แต่ต้องเข้าเรือนจำ อยากให้เขาได้รับโอกาสอีกครั้ง ไม่มีใครอยากติดคุกหรอก”

พูดอย่างตรงไปตรงมา วาสนายังรู้สึกรุนแรงต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเองและเธอต้องการเห็นการทำงานที่ดีขึ้นทั้งตำรวจและทหาร

“บ้านแตกสาเหรกขาด พ่อแม่ตายก็ไม่ได้เผา มันโหดร้ายเกิน” วาสนาเล่าพร้อมกลั้นน้ำตาที่จะถั่งโถมทุกครั้งเมื่อพูดถึงพ่อแม่

“ชีวิตคนคนหนึ่งพังไป เราเสียพ่อแม่ เสียอิสรภาพ มันไม่ถูกต้อง เราแค้นในใจ ชีวิตคนทั้งคนนะ ถ้าญาติพี่น้องเขาเข้าไปอยู่ในนั้นล่ะจะเป็นยังไง อยากบอกเจ้าหน้าที่ว่าเวลาจับคน ต้องดูให้แน่ชัดว่าเขาผิดจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เอะอะก็จับเข้าห้องขัง อยากให้เปลี่ยนระบบใหม่ทั้งทหารตำรวจ จะทำแบบที่ทำกับเราไม่ได้ เหมือนประชาชนไม่มีตัวตน ไม่มีความคิด ไปขู่เข็ญเขา ทำเหมือนเราฆ่าคนร้อยศพ พวกเขาบุกกันไปจับเราเยอะมาก ภาพยังติดตาไม่หาย”

สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับคดีระเบิดและถูกจับเข้าคุก สูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิตคือพ่อแม่ที่ล้มป่วยหนักจากเหตุการณ์ที่เธอโดนจับ สิ่งเดียวที่เธอพอจะเรียกได้ว่าความสุขคือการไม่ต้องถูกจองจำ หากให้ลองจินตนาการถึงชีวิตที่จะดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ เธอคาดหวังเพียงการมีที่อยู่อาศัยของตัวเองและมีที่ขายของให้พอทำมาหากิน

หากถามว่าอะไรจะสามารถชดเชยการต้องติดคุกทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ได้ วาสนาตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

“ถ้าจะมีการชดเชยขอเปลี่ยนเป็นชีวิตพ่อแม่คืนมาแทนได้ไหม แล้วเราจะไม่เอาอะไรเลย”

References
1 ปาระเบิดใส่ศาลอาญา โฆษกศาลยธ.ชี้ข่มขู่-ตร.สอบผู้ต้องสงสัย
2 “ยาย โอ๊ยฉันสงสารยายจัง ทำไมถึงโง่อย่างนี้ ไม่คิดให้ดีๆ ให้เขายืม(บัญชี)ทำไม”
3 อั้งยี่, ร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย, ใช้เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียน ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร, ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่, พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง
4 น้อยให้การในศาลว่าเธอถูกทำร้ายร่างกายจนสลบไปและเมื่อตื่นขึ้นมาเจ้าหน้าที่ก็เปิดเทปบันทึกเสียงและบังคับให้เธอพูดตามเสียงในเทปเพื่อให้การตามเสียง นอกจากนั้นในเทปดังกล่าวผู้พูดเรียกตัวเองว่าเดียร์ ทั้งที่ตัวเธอเองมีชื่อเล่นว่าน้อย
5 ศาลยกฟ้องคดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อปี 58 คดีไม่มีประจักษ์พยาน
6 ศาลลงโทษ 2 จำเลยคดีปาระเบิดศาล 34 ปี 4 ด. ส่วนอีก 12 คนศาลยกฟ้องเหตุไม่มีพยานหลักฐานพอ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save