fbpx
สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ : หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ : หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

                                                                        ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

“ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” เป็นถ้อยคำของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 29 วรรค 2 ที่รับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (presumption of innocence) ว่าเป็นหนึ่งในสิทธิของปวงชนชาวไทย

หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา เพียงแต่เขียนข้อความสั้นยาวต่างกัน ยกเว้นแต่ช่วงที่ใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหลังรัฐประหารไม่ปรากฏหลักการนี้ โดยภาพรวมน่าจะถือได้ว่าหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นธรรมเนียมในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยได้แล้ว

นอกจากนี้ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ปรากฏในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งมีประเทศไทยกับอีก 172 ประเทศทั่วโลกเป็นภาคีอีกด้วย

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวางองค์ประกอบของสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ 3 ข้อ[1] ดังนี้

1. ผู้พิพากษาไม่ควรมีความคิดเอนเอียงไปว่าจำเลยได้กระทำความผิด หมายถึง ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะต้องฟังความทั้งฝ่ายโจทก์จำเลยอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คิดล่วงหน้าไปว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด

2. ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับฝ่ายโจทก์ ในคดีอาญา โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิด โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ ศาลจะยกฟ้องปล่อยตัวจำเลย

3. หากมีข้อสงสัย จำเลยจะได้รับประโยชน์นั้น ในการตัดสินคดีแพ่งหรือคดีอื่น หากฝ่ายใดมีพยานหลักฐานโน้มน้าวให้ศาลเชื่อมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลจะให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะคดี แต่ในคดีอาญา แม้จำเลยไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เลยที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน แต่โจทก์นำเสนอหลักฐานได้ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลจะยกฟ้องปล่อยตัวจำเลย เพราะจำเลยได้รับประโยชน์จากความสงสัย

 

    1

จากสันนิษฐานว่า ‘ผิด’

กลายเป็นสันนิษฐานว่า ‘บริสุทธิ์’

 

เราคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์หนึ่งคน”[2] ซึ่งเป็นคำกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1769 ของ Sir William Blackstone นักกฎหมายชาวอังกฤษ คำพูดดังกล่าวส่งผลให้นักกฎหมายไทยหลายคนยอมรับนับถือแล้วนำมาอธิบายหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ และหลักการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย หรือ dubio pro reo หรือ doubts should benefit the accused[3]  แต่ก่อนหน้านั้น Voltaire นักเขียนและนักปรัชญาฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1747 ได้กล่าวว่า “การปล่อยผู้กระทำความผิดหนึ่งคน ดีกว่าการลงโทษผู้บริสุทธิ์หนึ่งคน”[4] คำกล่าว Voltaire อาจไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าใดนัก แต่เป็นคำกล่าวที่มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในฝรั่งเศสและยุโรป จากแนวคิดเดิมที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลย ‘ผิด’ มาเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลย ‘บริสุทธิ์’

ในฝรั่งเศสก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ.1789 ระบบการดำเนินคดีอาญาเป็นระบบที่ไม่มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ศาลลงโทษจำเลยเพียงแค่มีคำกล่าวหาหรือข่าวลือ ดังเช่น คดี Calas ซึ่งมีเรื่องราวคือ Calas เป็นพ่อค้าผ้าแห่งเมือง Toulouse ลูกชายคนหนึ่งของ Calas เปลี่ยนนิกายและออกจากบ้านไป ต่อมาลูกชายอีกคนหนึ่งของ Calas ฆ่าตัวตาย ได้มีการกล่าวหาและมีข่าวลือว่า Calas และครอบครัวเป็นฆาตกรเพราะเหตุที่ Calas ไม่ต้องการให้ลูกชายเปลี่ยนนิกาย  Calas ให้การปฏิเสธ ไม่มีประจักษ์พยานใดพิสูจน์ความผิดของ Calas มีแต่คำพยานบอกเล่าและเสียงลือว่า Calas เป็นผู้กระทำความผิด ศาลตัดสินว่า Calas เป็นผู้กระทำความผิดและถูกประหารชีวิตด้วยการขึงร่างกับกรงล้อ ใช้เหล็กตีจนตายและนำศพไปเผาไฟ ลูกชายคนหนึ่งที่เหลือของ Calas ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม จึงไปหา Voltaire ให้ช่วยรื้อฟื้นคดีให้ความเป็นธรรม Voltaire ได้ดำเนินการสอบสวนความจริงและโน้มน้าวให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ Calas และครอบครัว จนในที่สุดสามปีแห่งความพยายามรื้อฟื้นคดี ศาลพิพากษาใหม่ว่า Calas และครอบครัวไม่มีความผิด และได้รับเงินชดเชยความเสียหายไปกว่า 36,000 ปอนด์[5]

การรื้อฟื้นคดี Calas ได้สำเร็จ ประกอบกับแนวคิดของ Voltaire รวมทั้งนักปรัชญาเสรีนิยมอื่นๆ ในช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการดำเนินคดีอาญามาเป็นระบบกล่าวหาที่ให้ศาลเคารพหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาทั่วโลกในปัจจุบัน[6] และหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ก็ถูกนำไปเขียนเป็นข้อ 9 ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 ซึ่งมีค่าเป็นหนึ่งในหลักรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในปัจจุบัน

 

2

ทำไมต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

 

มักจะมีผู้ตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องคุ้มครองคนชั่วที่กระทำความผิด” คำตอบคือ “ตราบใดที่เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเขาเป็นคนชั่ว เราก็ควรต้องคุ้มครองเขา เพราะวันหนึ่งเราอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชั่ว ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำในสิ่งที่เขากล่าวหา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เราไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตามที่เขากล่าวหา แต่เราก็ไม่มีหลักฐานใดๆ มาอธิบายได้ว่าบริสุทธิ์

หากพูดในทางหลักการ เหตุที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ก็เพราะในการพิจารณาคดีอาญา ศาลที่เป็นอิสระ (independence) และเที่ยงธรรม (impartiality) จะเป็นผู้ตัดสินว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ในศาลจะมีคู่ความสองข้าง ข้างหนึ่งคือโจทก์ ซึ่งหมายถึงอัยการและตำรวจซึ่งเป็นตัวแทนรัฐที่ดำเนินคดีเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง เมื่ออัยการฟ้องจำเลยในคดีใดแล้วเท่ากับว่ารัฐเชื่อไปเกินครึ่งแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด มิเช่นนั้นอัยการก็คงสั่งไม่ฟ้องคดี ในขณะที่อีกข้างหนึ่งคือจำเลย ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อมาดูอาวุธที่ใช้ต่อสู้กัน ข้างฝ่ายรัฐมีอำนาจบังคับประชาชนกระบวนสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น มีอำนาจค้น มีอำนาจจับ มีอำนาจยึด อายัดหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย หากใครฝ่าฝืนคำสั่งรัฐไม่ยอมมาให้การหรือไม่ยอมส่งพยานหลักฐานก็จะมีโทษอาญา ในขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่มีอาวุธใดในการต่อสู้กับรัฐ หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์รวมทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอื่นๆ เช่น สิทธิที่จะมีทนายความ สิทธิที่จะไม่พูด จึงเป็นความเป็นธรรมพื้นฐานที่ให้กับจำเลยเพื่อใช้ต่อสู้คดีกับรัฐต่อหน้าศาลที่เป็นกลาง ซึ่งความจริงจะปรากฏออกมาจากกระบวนการที่เป็นธรรมดังกล่าว

 

3

บทสรุป

 

หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์อยู่ในรัฐธรรมนูญไทยในฐานะที่เป็น ‘สิทธิของปวงชนชาวไทย’ หลักการและตัวบทกฎหมายปรากฏอย่างชัดแจ้ง เหลือแต่เพียงการปฏิบัติที่บางครั้งยังไม่สอดคล้องกับหลักการ

เจ้าหน้าที่บางคนที่แม้อาจจะมีเจตนาทำเพื่อปราบปรามอาชญากรรม แต่มีอคติสันนิษฐานไปแล้วว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิด จึงบังคับ ขู่เข็ญ ไปจนถึงซ้อมทรมานให้สารภาพหรือให้ข้อมูลที่ขยายผลไปปราบปรามอาชญากรรม หรือตั้งศาลเตี้ยอุ้มหายและฆ่าสังหารประชาชนนอกกฎหมาย ย่อมเป็นสิ่งละเมิดหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์และละเมิดสิทธิอื่นของผู้ถูกดำเนินคดี

วิธีการเอาชนะผู้ร้ายปากแข็งควรอยู่ที่การพัฒนากระบวนการพยานหลักฐานโดยเฉพาะทางนิติวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้พิสูจน์ความผิดจำเลย ไม่ใช่การทรมานรีดความจริงจากผู้ต้องหา

ลองนึกภาพถึงสังคมที่ไม่เคารพหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ สังคมนั้นรัฐอาจจะได้ความสงบ อาชญากรรมอาจลดลงบ้าง แต่ความสงบที่ได้มาไม่น่าจะยั่งยืน เพราะจะมาพร้อมกับความหวาดกลัวของประชาชน และความเสี่ยงที่จะลงโทษผู้บริสุทธิ์หรือลงโทษ ‘แพะ’ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐจะเสียหายเสียเองเพราะเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐในการที่ต้องมาเยียวยาผู้บริสุทธิ์ที่ถูกลงโทษ ผู้กระทำความผิดจริงก็ยังคงลอยนวล อาชญากรรมก็ไม่ได้ถูกปราบปราม ความยุติธรรมก็ไม่ได้คืนให้กับสังคมและผู้เสียหาย ดูเหมือนจะไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย  สุดท้ายก็เป็นเพียงภาพลวงของความสงบที่ไม่น่าจะใช่สิ่งที่สังคมปรารถนา

 


[1] Barberà, Messegué and Jabardo v. Spain, § 77 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31.08.2019, no.303.

[2] “It is better that ten guilty persons escape than one innocent suffer.” Vidar Halvorsen. (2004). Is it Better that Ten Guilty Persons Go Free Than that One Innocent Person be Convicted?. Criminal Justice Ethics. 23(2). 3-13. in https://www.ncjrs.gov/App/Publications/abstract.aspx?ID=209545

[3] หลักยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย หรือ dubio pro reo เป็นส่วนหนึ่งของหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ดูคดี Barberà, Messegué and Jabardo v. Spain, § 77; Tsalkitzis v. Greece (no. 2), § 60 in European Court of Human Rights, Guide on Article 6 of the Convention – Right to a fair trial (criminal limb), 31.08.2019, no.346. เพราะหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์นำไปใช้ในชั้นสอบสวนและเรื่องอื่นๆ นอกการพิพากษาคดีในศาลด้วย

[4] Voltaire (1747), “It is better to risk saving a guilty person than to condemn an innocent one” ; Zadig ou La destinée – Histoire orientale, Chapitre VI, Le Ministre, Le Livre de poche, 2008, n° 3131). in Réginald de Béco, https://www.justice-en-ligne.be/Il-vaut-mieux-hasarder-de-sauver

[5] Brian Nelson, The Cambridge Introduction to French Literature, Cambridge 2015, p.64. available in book.google

[6] ในคดีทุจริต ค้ามนุษย์ และคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน กฎหมายไทยใช้คำว่า “ให้ใช้ระบบไต่สวน” ซึ่งแท้จริงแล้ว ระบบการดำเนินคดีอาญาของไทยในปัจจุบันทุกประเภทคดีล้วนเป็นระบบกล่าวหาทั้งสิ้น ไม่ใช่ระบบไต่สวนเดิมแบบในคดี Calas ที่ใช้ในยุโรปก่อนปี ค.ศ.1789

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save