fbpx

เมื่อเส้น ‘ความเป็นสื่อ’ เลือนราง การปกป้องคุ้มครองเสรีภาพและสิทธิการสื่อสารยิ่งสำคัญ

การขีดเส้นแบ่งว่า ใคร ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็นสื่อ’ มักจะผุดขึ้นมาเวลาคนทั่วไปหรือคนทำงานสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อ (ในที่นี้หมายถึงสภา-สมาคมต่างๆ) ได้รับผลบางประการจากการสื่อสารสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังหรือดำเนินคดีระหว่างรายงานการชุมนุม หรือโดนทัวร์ลงจากการนำเสนอเนื้อหาที่ถูกมองว่าเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคม โดยคำอธิบายที่มักถูกนำมาใช้ประกอบเกณฑ์นี้คือ ผู้ที่ ‘เป็น’ สื่อนั้น นอกจากจะมีสังกัดเป็นหลักแหล่งแล้ว ยังมีมาตรฐานการทำงานไม่เหมือนคนทั่วไปหรือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรเหล่านี้ (ดังนั้น ‘สื่อ’ ก็จะไม่ทำอะไรที่สร้างเรื่องสร้างปัญหาแบบนี้หรอก)

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ไม่ได้ช่วยให้ความกระจ่างว่า แล้วคนที่เป็นสื่อทำตามจริยธรรมวิชาชีพที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัดและทั่วถึง หรือสื่อสารโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือเอื้อต่อกระบวนการประชาธิปไตยหรือไม่ อย่างไร แล้วการสื่อสารของคนที่ไม่เป็นสื่อ แตกต่างจากแนวทางของคนที่เป็นสื่อ หรือมอบคุณค่าต่อสังคมน้อยกว่าอย่างไร

คำถามว่า ใคร ‘เป็น’ หรือ ‘ไม่เป็นสื่อ’ จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงว่าทำอย่างไรให้การพูดคุยในสังคมและข้อมูลข่าวสารมีคุณภาพ แต่ควรจะมาช่วยกันคิดว่า ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงพื้นที่การสื่อสารและสามารถใช้สิทธิการสื่อสารเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสื่อมวลชนและผู้ใช้สื่อทุกคนจะทำให้พื้นที่สื่อสารเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน เคารพความหลากหลายและความเป็นส่วนตัว ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยสร้างพลังต่อรองกับผู้ที่มีอำนาจมากกว่า รวมถึงสร้างบทสนทนาที่จะช่วยนำพาชีวิตทุกคนให้มีคุณภาพที่ดีกว่าและป้องปรามไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงได้อย่างไร แทนที่จะบอกว่าบทบาทหน้าที่นี้ควรเป็นของสื่อมวลชนและผู้รู้ เหมือนในยุคก่อนๆ ที่มักจะเป็นการสื่อสารจากบนลงล่างและทิศทางเดียว

ที่สำคัญ สังคมเราจะทำให้พื้นที่การสื่อสารที่ทุกคนใช้ร่วมกันนี้เป็นไปอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง จัดแจงปลุกปั่น หรือครอบงำโดยผู้ที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าคนทั่วไป และทำให้คนที่ยังเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงแล้วแต่กลับถูกกีดกัน เหยียดหยามทำร้าย ให้สามารถใช้พื้นที่นี้สื่อสารอย่างทัดเทียมกันได้อย่างไร

บางคนอาจแซวว่า แหม อุดมคติจัง ทำไม่ได้หรอก แล้วปัญหาที่คนธรรมดาสื่อสารโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง หลอกลวงคนอื่น ส่งต่อความเกลียดชังก็มีอยู่มากมาย เราจะเชื่อใจคนเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ที่ผ่านมา ผู้ใช้สื่อออนไลน์ ภาคประชาสังคม และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม หรือแม้กระทั่งรัฐบาลบางประเทศก็แสดงให้เห็นความพยายามและศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการสื่อสารมากขึ้น เช่น ข้อเสนอเรื่องมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ต (netiquette) การคว่ำบาตรทางสังคมต่อผู้ละเมิดสิทธิหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกระบวนการประชาธิปไตย มาตรฐานชุมชนของโซเชียลมีเดีย การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล การตรวจสอบกลไกการจัดการข้อมูลและเนื้อหาของแพลตฟอร์ม ดังนั้น ถ้าไม่ลองคิดลองฝันถึงวิธีใหม่ๆ ในการสร้างพื้นที่การสื่อสารที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เราก็จะวนอยู่ในอ่างข้อโต้เถียงเรื่องใครเป็นหรือไม่เป็นสื่อ ที่ไม่ช่วยเราจะหลุดจากวิธีคิดเดิมๆ และปัญหาเดิมๆ ได้สักที

สื่อมวลชนในฐานะสถาบันทางสังคมยังคงมีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและทางความคิดของสังคม เพราะมีทรัพยากรในการผลิตและกระจายข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะได้กว้างขวางกว่าคนทั่วไป องค์กรสื่อที่อยู่มานานมักจะได้รับความไว้วางใจ จะพูดอะไรประชาชนก็มีแนวโน้มจะเชื่อถือ เวลาชาวบ้านมีปัญหาก็หวังพึ่งพา อีกทั้งสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากกว่าใครใดๆ ทั่วไป สำนึกของผู้ประกอบวิชาชีพในการนำเสนอข้อเท็จจริงและแสดงบทบาทที่สังคมคาดหวังจึงเป็นเรื่องสำคัญ (ไม่ว่าจะเรียกว่าอาชีวปฏิญาณ จรรยาบรรณ แนวปฏิบัติวิชาชีพ หรือคำสวยๆ อื่นๆ ก็ตาม) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะใช้มาตรฐานทางวิชาชีพเหล่านี้มากีดกันคนอื่นๆ ที่สื่อสารสู่สาธารณะ เพื่อจะบอกว่าเขาด้อยกว่า หรือไม่มีคุณค่าต่อสังคม

เสรีภาพและสำนึกในการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมที่คุ้มครองอิสรภาพทางความคิดและความเป็นธรรมไม่ควรถูกผูกขาดไว้กับคนที่ประกอบอาชีพด้านการสื่อสารเท่านั้น เพราะสิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคมประชาธิปไตย เหมือนอากาศที่เราใช้หายใจร่วมกัน ขณะที่เทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยิ่งเอื้อให้เป็นเช่นนั้นเรื่อยๆ การรวบอำนาจในการสื่อสารไว้ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่ครอบครองทรัพยากรมากอยู่แล้ว ก็ไม่ต่างจากการดึงเอาอากาศ (ที่คิดว่า) สะอาดไปกระจุกไว้ที่ใดที่หนึ่ง แล้วปล่อยให้คนอื่นสูด PM2.5 ฉ่ำๆ กันไป

Participatory journalism หรือวารสารศาสตร์แบบมีส่วนร่วม เป็นแนวคิดหนึ่งที่เสนอว่าสื่อมวลชนไม่ควรมองผู้รับสารเป็นเพียงปลายทางของการนำเสนอ แต่เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิตและสื่อสารเนื้อหาเชิงวารสารศาสตร์ โดยเสนอการทำงานที่สอดประสานกันระหว่างองค์กรสื่อที่มีทรัพยากรมากกว่า กับภาคประชาสังคมและประชาชนที่อาจจะมีทรัพยากรน้อยกว่า แต่มีจำนวนคน ความรู้ และประสบการณ์เฉพาะทาง ที่จะร่วมกันผลักดันประเด็นปัญหาในสังคมไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบายได้

ในแง่นี้ สื่อมวลชนจึงไม่ใช่พี่ใหญ่ที่มา ‘ช่วยเหลือ’ หรือ ‘สงเคราะห์’ ชาวบ้าน หรือ ‘ชี้นำสังคม’ อยู่เพียงกลุ่มเดียว แต่เป็นคนธรรมดาที่มาเป็น ‘ผู้อำนวยความสะดวก’ ให้มวลข้อมูลข่าวสารที่ถูกผลักดันมาจากแนวราบไหลเวียนเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ และสร้างแรงกระเพื่อมที่มีพลังไปกดดันผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่าต้องกระทำการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงระบบหรือขนบเดิมๆ ได้ แต่แน่นอนว่าในการทำหน้าที่นี้ สื่อมวลชนก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายตามหลักการวารสารศาสตร์เบื้องต้น ไม่ใช่บอกว่ายืนอยู่ข้างใครแล้วจะอวยยศหรือหนุนวาระของฝั่งที่ตนสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรืออุ้มชูอุดมการณ์ (หรือทั้งสองอย่าง) แล้วก็อ้างว่า ‘ความเป็นกลางไม่มีหรอก’

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูล แหล่งข่าว หรือคนต้นเรื่องแบบเดิมๆ แต่จะทำงานกับกองบรรณาธิการอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดวาระการสื่อสารร่วมกัน ในกระบวนการนี้ ประชาชนจึงไม่ได้เป็นเพียงต้นทางหรือผู้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาหน้าจอ แต่เป็นผู้ร่วมผลิตคนสำคัญที่จะช่วยทำให้ข้อมูลข่าวสารมีความลึกและกว้างกว่าการนำเสนอผ่านมุมมองของคนทำสื่อหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งยังได้ทำความเข้าใจในปรัชญาวิชาชีพ เงื่อนไขและข้อจำกัดของสื่อมวลชนว่ามีขอบเขตแค่ไหน

องค์กรสื่อจึงมีวัตถุดิบและทรัพยากรบุคคลเพิ่มขึ้นในการผลิตงานคุณภาพที่นำไปสู่การตระหนักรู้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่ประชาชนก็เข้าถึงช่องทางที่จะสามารถสื่อสารเรื่องที่ตนประสบไปยังคนอื่นๆ ในสังคมและผู้กำหนดนโยบายได้สะดวกขึ้น ทำให้เขาได้รับการยอมรับในตัวตนและอัตลักษณ์ที่ไม่ได้เป็นแค่ ‘เหยื่อ’ แต่เป็นคนที่ต้องการแก้ไขปัญหา และมีพลังในการจัดการปัญหานั้น

สื่อมวลชนยังสามารถเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหรือสร้างเครือข่ายกับกลุ่มต่างๆ ทั้งประชาชนกลุ่มอื่นหรือชุมชนที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ผู้ผลิตสื่อรายย่อย นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ๆ หรือสื่อสารข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้หนักแน่นขึ้น

ในเมื่อสื่อมวลชนกับประชาชนจับมือสื่อสารประเด็นสาธารณะไปด้วยกัน ความสัมพันธ์จึงไม่ใช่เป็นเพียงแฟนคลับ ที่เฝ้าทักทายผ่านจอหรือมองว่าสื่อมวลชนเป็นผู้มีอำนาจที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่เป็น ‘เจ้าของร่วม’ ในองค์กรสื่อที่เขาเชื่อมั่น ซี่งจะกลายเป็นเกราะป้องกันให้กับคนทำงานและองค์กรเมื่อถูกแทรกแซง คุกคาม หรือเผชิญความสั่นคลอนทางธุรกิจได้ เพราะเราต่างใช้สิทธิการสื่อสารร่วมกันและต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อเสรีภาพสื่อหรือสิทธิการสื่อสารของประชาชนถูกคุกคาม ก็ต้องร่วมกันปกป้อง ไม่ใช่เพิกเฉยเพียงเพราะเป็นเรื่องของสื่อมวลชน ไม่ใช่เรื่องของประชาชน หรือคนทั่วไป ‘ไม่ใช่สื่อ’

ยังมีอีกหลายประเด็นที่ถ้าสื่อมวลชนและประชาชนเห็นความสำคัญของสิทธิการสื่อสารและทำงานร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การสร้างพื้นที่การสื่อสารที่เป็นธรรมและปกป้องคุ้มครองสิทธิมากขึ้นได้ นอกเหนือจากการผลิตเนื้อหาเชิงคุณภาพหรือต่อรองกับอำนาจรัฐ เช่น รวมพลังกันตรวจสอบและเจรจากับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้เล่นใหม่ในสมการนี้และมักถูกวางไว้นอกการถกเถียงเพราะเป็นองค์กรข้ามชาติ ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถร่วมมือกันผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้แสดงความรับผิดรับชอบและมีความโปร่งใสในกลไกการจัดการเนื้อหาที่ซับซ้อน สร้างมาตรฐานชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทและความหลากหลายทางสังคม ปรับปรุงระบบจัดการเนื้อหาให้ส่งเสริมเนื้อหาเชิงคุณภาพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ลดการแพร่กระจายข้อมูลผิดพลาดและบิดเบือน รวมถึงพัฒนาส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นธรรมกับผู้ผลิตมากขึ้น

เมื่อพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเอื้อให้เกิดการกระจายอำนาจการสื่อสารมายังประชาชนมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจึงทำได้ไม่ง่ายนัก หรือหากจะเกิดขึ้น ก็จะเผชิญกับการตั้งคำถามและการท้าทายอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้การแบ่งว่าใครเป็นหรือไม่เป็นสื่อจึงเป็นเกณฑ์ที่จะโรยราไปพร้อมกับยุคสมัย สิ่งที่สังคมและสื่อมวลชน (ที่ไม่อยากตกยุค) น่าจะช่วยหาคำตอบต่อไปคือ จะหาวิธีและช่องทางทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เราใช้ร่วมกันบนฐานอำนาจที่เท่าเทียมกันได้อย่างไร มากกว่าจะเอาปากกามาวงว่าใครเป็นหรือไม่เป็นสื่อบ้าง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save