fbpx

สังคมที่เต็มไปด้วยการกดทับ ผลลัพธ์คือความเดือดดาล – คุยกับ ‘ทะลุแก๊ซ’

“คืนนี้พบกัน ณ สามเหลี่ยมดินแดง”

ผ่านมาแล้ว 1 เดือนเต็มกับการออกมาต่อสู้ของกลุ่มเยาวชน (สายบวก) ณ บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งวันนี้ได้รับฉายาให้เป็น ‘สมรภูมิดินแดง’ หลังจากกลายเป็นพื้นที่ปะทะเดือดระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ซ’

จากเดิมที่หลายคนเคยตั้งคำถามว่าพวกเขาเป็นใคร ต้องการอะไร และทำไมจึงแสดงออกในลักษณะที่ดูรุนแรงและดุดัน มาวันนี้ด้วยการออกมาแสดงพลังอย่างไม่ลดละท่ามกลางหมอกควันของแก๊สน้ำตาผสมกับดงห่ากระสุนยาง ตลอดจนการยืนยันในแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีเชิงตอบโต้ คือเอาให้พอแสบๆ คันๆ ไม่มุ่งเอาชีวิต ก็ทำให้สังคมรับรู้และเข้าใจถึงการออกมาของกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ซมากขึ้น

แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีอีกหลายคนที่สงสัยว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาเลือกออกมาแสดงจุดยืนในเกือบทุกค่ำคืน ทั้งๆ ที่รู้ว่าการออกมาแต่ละครั้งเสี่ยงเจ็บตัวและมีโอกาสโดนจับกุมได้ทุกวินาที

ภายใต้เสียงประทัดยักษ์สลับกับเสียงไซเรนรถตำรวจที่ดังสนั่นลั่นสมรภูมิดินแดง อะไรคือเป้าหมายของการออกมาต่อสู้ในครั้งนี้

101 ทักอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กเพื่อคุยกับ แอดมินเพจ ‘ทะลุแก๊ซ – Thalugaz’ เพจแรกที่ลุกขึ้นมาขานนามของตัวเองว่าพวกเราคือกลุ่มทะลุแก๊ซ กลุ่มการเคลื่อนไหวกลุ่มใหม่ที่มาพร้อมกับแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีเชิงตอบโต้

“ผมเปิดเพจเพราะกลัวจะซ้ำรอยการล้อมปราบเสื้อแดง ปี 53”

“บอกก่อนว่าผมไม่ได้รู้จักหรือเป็นคนจัดตั้งน้องๆ ที่ออกมาชุมนุมนะ ผมเปิดเพจเพราะอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับน้องๆ เขาเฉยๆ”

คือประโยคแรกที่แอดมินจากเพจทะลุแก๊ซ – Thalugaz บอกกับเรา และด้วยเหตุผลของความปลอดภัย ชายหนุ่มคู่สนทนาจึงขอพูดคุยกันแบบปกปิดตัวตน แน่นอนว่าเราเข้าใจในเหตุผล แต่จากบทสนทนากว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งทำให้เห็นว่า แม้จะไม่ได้ ‘เปลือยนาม’ ให้รับรู้ แต่แอดมินเพจทะลุแก๊ซก็ ‘เปลือยใจ’ ถึงความรู้สึกนึกคิดในการออกมาแสดงออกครั้งนี้อย่างตรงไปตรงมา

“ตอนนั้นเกิดกระแสที่จะด้อยค่าการชุมนุมที่ดินแดง เริ่มมีหลายคนออกมาพูดว่าไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพวกเขา และ คฝ. เองก็ปราบหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ผมกลัวว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปจะซ้ำรอยเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 2553 ที่ตอนนั้นไม่มีใครเข้าข้างคนเสื้อแดงเลย ผมเลยอยากมาเป็นกระบอกเสียงเพื่อสื่อสารให้กับคนภายนอกได้เข้าใจผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ”

แอดมินเล่าให้ฟังถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเปิดเพจทะลุแก๊ซ โดยหลักๆ แล้ว เขาตั้งใจให้เพจนี้เป็นเพจที่สื่อสารเรื่องราวของผู้ชุมนุมม็อบดินแดงให้สังคมได้เข้าใจถึงตัวตนและความเจ็บปวดของคนกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ชุมนุมที่มาจากหลายทิศหลายทาง ตั้งแต่การกระจายข่าวสารที่เกิดขึ้น ตลอดจนเป็นทีมสนับสนุนผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซให้สามารถบรรลุข้อเรียกร้องที่ตั้งไว้

“โอ้โห ผมไปม็อบมาเพียบแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง” แอดมินตอบกลับมาทันทีที่ถามเขาว่าที่ผ่านมาเคยไปร่วมแสดงออกทางการเมืองบ้างหรือเปล่า

เขาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เดิมทีเป็นคนที่สนใจในเรื่องการบ้านการเมืองอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เป็นดั่งชนวนจุดระเบิดที่ทำให้หันมาทุ่มเทกับการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนอย่างเต็มตัวคงหนีไม่พ้นเหตุการณ์การล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

เขากล่าวว่าเหตุการณ์วันนั้นทำให้เขาใจสลายไปพร้อมๆ กับตาสว่าง เวลาผ่านล่วงเลยไป แอดมินก็ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกับกลุ่มเพื่อนในต่างจังหวัด จนกระทั่งเกิดม็อบนักศึกษาอีกครั้งในปี 2563 เขาจึงไม่ลังเลที่จะไปเข้าร่วมโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นกลุ่มใดจัด ขอเพียงแค่ได้รู้ข่าว เขาพร้อมที่จะไปทุกม็อบ

“ผมไปมาแล้วหลายม็อบ ไม่ได้สนใจว่าใครจะเป็นแกนนำ ที่ไปเพราะอยากไปแสดงออก จนกระทั่งวันที่ผมไปม็อบ 17 พฤศจิกาฯ ที่จะไปรัฐสภากัน เหตุการณ์วันนั้นทำให้กลับมาตั้งคำถามว่า กูกำลังทำเหี้ยอะไรเนี่ย กูมาม็อบเพื่อให้ คฝ. ยิงแก๊สน้ำตาใส่เล่นอย่างนี้เหรอ”

17 พฤศจิกายน 2563 ขณะที่ภายในรัฐสภากำลังพิจารณาลงมติต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ภายนอกรัฐสภาเองตั้งแต่ ‘แยกเกียกกาย’ ทอดยาวไปถึงหน้า ‘บริษัทบุญรอดฯ’ ก็แน่นขนัดไปด้วยมวลชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก่อนที่เหตุการณ์จะเริ่มชุลมุนขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาพยายามรื้อรั้วลวดหนามและฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อเข้ามาบริเวณถนนหน้ารัฐสภา ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่โต้ตอบกันได้เพียงแค่ชั่วครู่ คำสั่งให้ใช้ ‘กระสุนยาง’ และ ‘แก๊สน้ำตา’ ก็ถูกประกาศขึ้น

“วันนั้นผมติดอยู่หน้าฝั่งบุญรอดฯ ฝั่งผมนี่โดนหนัก คฝ.ยิงแก๊สน้ำตาถี่มาก ไม่ให้ได้หยุดพักกันเลย คิดดูว่าขนาดมีรถพยาบาลวิ่งผ่านยังยิงใส่ ผมโดนแก๊สน้ำตาตั้งแต่บ่าย กว่าจะได้ออกจากพื้นที่ก็ตอนหนึ่งทุ่มแล้ว

“เหตุการณ์วันนั้นเป็นจุดเปลี่ยน ผมพยายามอยู่ในกรอบสันติวิธีตามที่เขากำหนดแนวทางการต่อสู้เอาไว้มาโดยตลอด แต่พอเจอวันนั้นเลยรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว”

ม็อบทะลุแก๊ซกับสันติวิธีเชิงตอบโต้

“ม็อบทะลุแก๊ซไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งหรือรวมกลุ่มกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ชุมนุมทุกคนต่างคนต่างมาและอาจจะยึดใช้พื้นที่หนึ่งเพื่อมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยๆ พอคนมารวมตัวกันได้จำนวนหนึ่ง ทุกคนก็ขับมอเตอร์ไซค์มุ่งหน้าไปที่สมรภูมิดินแดง”

แอดมินเกริ่นให้ฟังถึงลักษณะของม็อบทะลุแก๊ซ ก่อนจะเล่าไปถึงภูมิหลังของผู้ชุมนุมว่า จากการพูดคุยกับผู้ชุมนุมที่มาเข้าร่วมม็อบทะลุแก๊ซส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากการไปร่วมชุมนุมม็อบนักศึกษาอยู่แล้ว ส่วนสาเหตุในการมาม็อบทะลุแก๊ซก็ต่างกันออกไป บางคนรู้สึกว่าการมาชุมนุมที่สมรภูมิดินแดงตอบโจทย์เขามากกว่า บ้างก็รู้สึกว่าตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของม็อบนักศึกษาอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากเคยผ่านการถูกด้อยค่าจากฝ่ายประชาธิปไตยบางส่วนมาก่อน

“คิดดูว่าเมื่อกี้เรายังเป็นเพื่อนกันอยู่เลย แต่พอเราตอบโต้ด้วยการไปเผารถตำรวจ คุณก็ตัดเราออกจากพวก คุณประณามว่าเราไม่ใช้สันติวิธีแล้ว มันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของม็อบนักศึกษาอีกต่อไปแล้ว”

แอดมินเสริมต่อไปว่า หากลองแบ่งประเภทผู้ชุมนุมม็อบทะลุแก๊ซสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกซึ่งมีจำนวนมากที่สุดคือกลุ่มเด็กช่าง เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างจัง ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือด้านอื่นๆ บวกกับการเห็นภาพเพื่อนร่วมอุดมการณ์โดนสลายการชุมนุม ทั้งๆ ที่ก็ออกไปเรียกร้องตามแนวทางสันติวิธี ทั้งหมดนี้เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่สุมความโกรธแค้นของพวกเขาให้พุ่งสูงขึ้น ยังไม่นับว่าพวกเขาต่างโดนกดทับจากสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้ง่ายที่จะจุดชนวนการปะทะขึ้นมา

ส่วนอีกสองกลุ่มที่เหลือคือ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยร่วมชุมนุมกับม็อบนักศึกษา เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนอิสระที่ไม่ได้ขึ้นกับใคร กลุ่มแพทย์อาสา เป็นต้น และอีกกลุ่มคือคนที่แค่มาเอาสนุก ซึ่งสำหรับแอดมินมองว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่ากังวลว่าจะทำลายความชอบธรรมของกลุ่มทะลุแก๊ซหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าม็อบก็มีพลวัต ถ้ามีคนใดคนหนึ่งแหลมหรือกล้าบ้าบิ่นขึ้นมา ท้ายที่สุดก็จะมีคนเข้าไปตักเตือนกัน

“คุณเคยโพสต์ว่าม็อบทะลุแก๊ซใช้แนวทาง ‘สันติวิธีเชิงตอบโต้’ แนวทางที่ว่าเป็นยังไง?” เราถาม

“ก่อนอื่นผมขอยืนยันว่าม็อบทะลุแก๊ซสนับสนุนแนวทางสันติวิธี แต่ไม่ใช่สันติวิธีอหิงสา สันติวิธีในนิยามของพวกเราคือการไม่มุ่งเน้นที่จะเอาชีวิตใคร เราเพียงแค่จะทำลายทรัพย์สินที่เป็นของรัฐ หรือทรัพย์สินของชนชั้นนายทุนที่สนับสนุนการมีอยู่ของรัฐเผด็จการเท่านั้น แต่ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้เรายังมีเป้าหมายเดียวคือการทำลายอำนาจรัฐ”

“แล้วได้มีการกำหนดเพดานของแนวทางสันติวิธีเชิงตอบโต้ไหมว่าเราจะทำกันมากที่สุดแค่ไหน” เราถามต่อ

“จริงๆ แล้วผู้ชุมนุมม็อบทะลุแก๊ซมีเพดานของพวกเขา มีเส้นว่าจะเอากันแค่ไหน อาทิตย์ที่ผ่านมาผมให้ทีมงานลงไปสำรวจในพื้นที่ว่าแต่ละกลุ่มมีการเตรียมอาวุธมาตอบโต้เจ้าหน้าที่รูปแบบไหนบ้าง เท่าที่ผมรู้บางคนก็พกปืนไทยประดิษฐ์มา ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าของพวกนี้มันมีจริงๆ แต่ผมเคยถามน้องๆ นะว่าถ้ามีขนาดนี้ ทำไมถึงยังไม่ใช้ เขาตอบกลับมาว่า ที่ยังไม่ใช้ก็เพราะพวกผมไม่เอากันถึงตายไงพี่ พวกผมยังเห็นพวกเขา (คฝ.) เป็นมนุษย์อยู่”

เรื่องหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงใหญ่ของม็อบทะลุแก๊ซ คือแนวทางในการต่อสู้ด้วยการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทั้งการปาประทัดยักษ์ การปาพลุไฟ การยิงลูกแก้วตอบโต้เจ้าหน้าที่ คฝ. และการเผาสิ่งของต่างๆ ยังสามารถนับว่าเป็นการต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีได้อีกหรือไม่ บางเสียงในสังคมก็พูดไปถึงว่าการแสดงออกของม็อบทะลุแก๊ซเป็นความรุนแรง ตลอดจนมีการกล่าวหาว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยแต่ออกมาเพราะแค่ต้องการป่วนเมืองเท่านั้น  

เขาตอบว่าข้อถกเถียงนี้เกิดขึ้นเพราะแนวคิดสันติวิธียังไม่ได้เบ่งบานอย่างแท้จริงในสังคมไทย

“คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตกผลึกว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างสันติวิธีและความรุนแรง สังคมไทยถูกกดและถูกทำให้เชื่องมานานจนไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือทำอะไรท้าทายรัฐ การกระทำอะไรก็ตามที่เป็นการตอบโต้รัฐ มักถูกมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเสมอ มันกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้วว่าพวกผมที่ออกมาตอบโต้รัฐต้องเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ถามจริงๆ ว่าประชาชนจะลุกขึ้นไปตอบโต้รัฐทำไม ถ้ารัฐไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มทำพวกเขาก่อน ไม่มีใครอยากเข้าไปเจ็บตัวหรอก แต่ที่ออกมากันก็เพราะว่านี่เป็นอีกแนวทางการต่อสู้ที่พวกเราทำได้

“ผมอยากถามกลับไปยังคนที่บอกว่าทำไมไม่ใช้แนวทางสันติวิธีเหมือนกัน แล้วสันติวิธีคืออะไร คือการไปรับกระสุนยางที่เจ้าหน้าที่ยิงมาอย่างนั้นเหรอ หรือการยอมโดนทุบตีทำให้เชื่องต่อไปอย่างนี้เหรอ มันไม่ใช่ สันติวิธีของพวกเราไม่ได้เป็นแบบนั้น สันติวิธีของพวกเราคือการไม่เอาใครถึงชีวิตอย่างนี้มากกว่า”

ไม่มีตำรวจก็ไม่มีความรุนแรง?

ภายหลังจากที่ปรากฏภาพของเจ้าหน้าที่หน่วย คฝ. รวมตัวกันบนหลังท้ายรถกระบะ มือข้างหนึ่งถือปืนบรรจุด้วยกระสุนยาง ออกไล่ล่าและระดมยิงผู้ชุมนุมราวกับกำลังอยู่ในหนังสงคราม รวมทั้งภาพของการกระหน่ำรุมกระทืบ หรือในภาษาเยาวรุ่นทะลุแก๊ซเรียกกันว่า ‘ยำตีน’ ผู้ชุมนุม ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังไปทั่วทั้งสังคมถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จากรายงาน ‘ถอดข้อเท็จจริงแนวปะทะสมรภูมิดินแดง 18 ครั้ง ตลอดเดือนสิงหาคม 2564’ โดย iLaw พบว่าการเผชิญหน้าที่แยกดินแดงตลอดเดือนสิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจไร้ซึ่งการประกาศที่จะขอเจรจากับผู้ชุมนุมไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด แม้จะปรากฏการแสดงออกถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนบ้าง เช่น การแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้าว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาหรือการฉีดน้ำ แต่ระยะอดทนก็มีระยะเวลาที่สั้นมาก เรียกได้ว่าหลังจากประกาศเตือนได้ไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่คฝ. ก็ลงมือใช้อาวุธทันที

“ช่วงหนึ่งที่ คฝ. โดนด่าหนัก เขาก็ย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออก แต่เอาเข้าจริงๆ เขาไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ผมมองว่าเขาแค่เปลี่ยนยุทธวิธีในการรับมือผู้ชุมนุมเฉยๆ จากแต่ก่อนที่ไล่ยิงกระสุนยาง-แก๊สน้ำตาแล้วกวาดจับแนวหน้า ไปเป็นการตั้งด่านและใช้ม้าเร็ว (ชุดเคลื่อนที่เร็ว) สกัดจับผู้ชุมนุมบริเวณรอบนอกที่กำลังก่อตัวตามแต่ละจุดแทนเพื่อไม่ให้พวกเราเข้ามาในพื้นที่ดินแดงได้”

แอดมินสะท้อนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่ได้มีความจริงใจอย่างที่พูด เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะอ้างว่าทุกขั้นตอนการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากล แต่ในความเป็นจริงทุกคนต่างเห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เขาย้ำว่าการแสดงออกของเจ้าหน้าที่ คฝ. ชัดเจนพอแล้วว่าไม่ได้ต้องการเจรจาหรือประนีประนอมใดๆ แต่ต้องการที่จะปราบผู้ชุมนุมอย่างเดียว สำหรับเขามองว่าการกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เป็นการช่วยลดความรุนแรงแต่เป็นการถ่างเส้นสันติวิธีให้ห่างไกลยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

“ไม่มีตำรวจก็ไม่มีความรุนแรง ประโยคนี้ชัดยิ่งกว่าชัดเสียอีก วันนั้น (19 ส.ค. 64) ที่ม็อบทะลุฟ้ากับม็อบทะลุแก๊ซจัดม็อบวันเดียวกัน ก็เห็นว่าตำรวจเทมาอยู่ที่ม็อบทะลุแก๊ซหมดเลย ด้านฝั่งม็อบทะลุฟ้า พอไม่มี คฝ. มาคุม เขาก็จัดม็อบกันอย่างราบรื่น พอทำกิจกรรมเสร็จ มวลชนก็แยกย้ายกันกลับบ้านตามปกติ ไม่มีความรุนแรงอะไรเกิดขึ้นเลย แต่กลับมาดูที่ม็อบทะลุแก๊ซสิ มีทั้งการเอาตู้คอนเทนเนอร์มาวาง มีทั้งการสกัดจับ ไหนจะปิดถนนอีก มีกฎหมายข้อไหนบ้างที่ให้อำนาจตำรวจทำขนาดนี้ บ้าหรือเปล่า”

“นี่เป็นการยืนยันแล้วว่าผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มความรุนแรง แต่เป็นฝ่ายรัฐต่างหาก ที่ผ่านมาก็เห็นกันแล้วว่าเขาไม่ยอมเจรจา ไม่ยอมเอาตู้คอนเทนเนอร์ออก หรือปล่อยให้มวลชนเดินไปบ้านพักพล.อ.ประยุทธ์ ผมว่าถ้าเขายอมปล่อยให้พวกเราไปตั้งแต่วันนั้น มาวันนี้อาจจะไม่มีกลุ่มทะลุแก๊ซด้วยซ้ำไป”

แอดมินเสริมว่า อยากให้สังคมมองนิยามของความรุนแรงเสียใหม่ การกระทำของม็อบทะลุแก๊ซ ไม่ว่าจะเป็นการปาประทัดยักษ์ ปาพลุไฟ หรือแม้กระทั่งการเผารถตำรวจ เป็นการกระทำที่เทียบไม่ได้กับการกระทำที่รัฐกระทำกับประชาชน เขาย้ำว่าที่ผ่านมารัฐไทยใช้ความรุนแรงกับประชาชนมาโดยตลอด ความรุนแรงที่รัฐสร้างขึ้นไม่ได้ออกมาในรูปแบบของแก๊สน้ำตาหรือการปราบปรามผู้ชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความบิดเบี้ยวของโครงสร้างทางสังคม อำนาจของกลุ่มนายทุนและกลุ่มชนชั้นนำที่กดทับเรามาตั้งแต่เกิดจนโต จารีตประเพณีต่างๆ ที่ปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างไม่เป็นมนุษย์ ทั้งหมดคือความรุนแรงโดยรัฐทั้งสิ้น

“ความรุนแรงในความคิดผม ไม่ได้หมายความแค่ว่าต้องเลือดตกยางออก แต่การถูกทำลายหรือถูกพรากความเป็นมนุษย์ไปก็นับเป็นความรุนแรงเหมือนกัน การออกมาของม็อบทะลุแก๊ซวันนี้ก็เป็นผลผลิตมาจากการกระทำของรัฐที่ทำกับประชาชน”

“กูไม่สนจริยธรรมของพวกมึงแล้ว”

นับตั้งแต่การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ คฝ. กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมคาร์ม็อบ ‘สมบัติทัวร์’ คล้อยหลังไปอีกหนึ่งอาทิตย์ก็เกิดการปะทะครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ม็อบเยาวชนปลดแอกเปลี่ยนเป้าหมายการชุมนุมจากเดิมที่มุ่งหน้าไปยังพระบรมมหาราชวัง มาเป็นการไปบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาการชุมนุมบริเวณ ‘สมรภูมิดินแดง’ โดยกลุ่มมวลชนอิสระก็เกิดขึ้นในช่วงค่ำแทบทุกวัน

เป็นเวลากว่า 1 เดือนเต็มที่การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ภายใต้ม่านควันแก๊สน้ำตาและคราบเขม่าพลุไฟ หนึ่งคำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ ม็อบทะลุแก๊ซมีเป้าหมายอย่างไรในการออกมาชุมนุมครั้งนี้

“สำหรับผม เป้าหมายระยะสั้นคือการไปให้ถึงบ้านพักพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อไปส่งเสียงความโกรธแค้นให้เขาได้ยิน ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก และเกิดการเลือกตั้งใหม่”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าม็อบทะลุแก๊ซเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวของม็อบประชาชนปี 2564 ควบคู่มากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการต่อสู้ในรูปแบบสันติวิธีเชิงตอบโต้ เกิดการตั้งคำถามว่าการเกิดขึ้นของม็อบทะลุแก๊ซจะส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวมเสียความชอบธรรมหรือไม่

ในฐานะคนที่ใกล้ชิดกับม็อบทะลุแก๊ซและเข้าร่วมม็อบนักศึกษามาแล้วหลายหน เขามองว่าจะไม่กระทบขบวนการในภาพใหญ่

“ปรากฏการณ์ม็อบทะลุแก๊ซ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แต่เกิดมาจากการสั่งสมความโกรธแค้นและค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ที่ผ่านมาเราทำตามกติกามาโดยตลอด เราอยู่ในเส้นขอบเขตว่าจะไม่ตอบโต้รัฐ แต่คนกลุ่มนี้มองเห็นและตกผลึกด้วยตัวเองแล้วว่าสำหรับเขาวิธีการนี้มันไม่ใช่ เขาไม่อยากยอมแล้ว ซึ่งบางคนอาจไม่ได้เป็นนักสันติวิธีแบบคานธี แต่อาจเป็นนักสันติวิธีแบบที่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เคยพูดไว้ก็ได้ว่า พวกเขาออกมาก่อจลาจลเพื่อให้รัฐรับรู้และมองเห็นความเจ็บปวดของพวกเขา เพียงแต่หลายคนอาจจะยังไม่อยากเห็นภาพนี้หรือเปล่า”

นอกจากนี้เมื่อถามต่อไปถึงความเป็นได้ที่จะเห็นการรวมตัวกันระหว่างม็อบทะลุแก๊ซกับม็อบนักศึกษา โดยส่วนตัวแอดมินกล่าวว่าเขาอยากเห็นการร่วมมือกันของสองกลุ่มนี้ เพื่อสร้างแนวทางการต่อสู้ขึ้นมาใหม่และลดอุณหภูมิทางการเมืองที่สูงขึ้น โดยต่างกลุ่มต่างมาผสานกำลังกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเขาเองก็ไม่สามารถตอบแทนผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ได้ เรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ก่อนจากกันเราถามแอดมินเป็นคำถามสุดท้ายว่า หากให้สรุปสักหนึ่งประโยค สำหรับเขาแล้วอะไรคือหัวใจหลักของม็อบทะลุแก๊ซ แอดมินตอบกลับมาสั้นๆ ด้วยน้ำเสียงดุดัน คงลายเซ็นความเป็นชาวม็อบทะลุแก๊ซไว้อย่างเต็มเปี่ยม

“กูไม่สนจริยธรรมของพวกมึงแล้ว ไม่ว่ามึงจะมองกูเป็นเชี่ยยังไง กูสู้ของกู แค่นั้นแหละครับ หัวใจหลักของม็อบทะลุแก๊ซ”


หมายเหตุ : คำว่า ทะลุแก๊ซ ใช้ ซ. ตามที่เพจทะลุแก๊ซได้เคยนิยามไว้ว่า “ข่อยข้นอีสาน มัก ซอโซ่ ละเป็นหยังคำว่า แซบ จึงต้องเขียนแซ่บ สั่นน มีไม้เอกพร้อม ไท๊ยไทย คือจังบ่เขียน แส้บ จังซี่ไปโลด กูละงึดซุ่มผีปอบคลั่งซาด บักงัวเอ้ย เบิดคำสิเว่า เอาพ่อไหย่สุจิตต์ไปเทศน์ให้เพิ่นฟังจักบาดแน๊เปี๋ยง

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save