fbpx

เมื่อกองทัพ ‘แทรกซึม’ สังคม: มองอำนาจกองทัพ ‘นอกรัฐประหาร’ กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

เมื่อมองการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองตลอด 89 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่ารัฐประหารคือใบเบิกทางให้กองทัพกลับมามีที่ทางในการเมืองเสมอ ไม่ว่าจะผ่านการจัดตั้งรัฐบาลจากคณะรัฐประหารหรือผ่านการสืบทอดอำนาจในคราบประชาธิปไตย

น่าสงสัยว่าการเมืองคือพื้นที่เดียวที่กองทัพต้องการยึดกุมหรือไม่ ในเมื่อเรายังเห็นร่องรอยของกองทัพในสังคมช่วงที่ไทยได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการระดมมวลชนจัดตั้งม็อบเสื้อเหลืองปะทะม็อบสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในหลายจังหวัดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หรืออย่างที่โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยในปี 2552 ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะว่า กอ.รมน.ใช้งบประมาณหนึ่งพันล้านบาทเพื่อส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเสื้อแดง

และในห้วงเวลาที่กองทัพกุมสนามการเมืองไว้ในมือได้อย่างเบ็ดเสร็จ แน่นอนว่ากองทัพไม่ได้ครอบงำอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว หลังการรัฐประหารปี 2557 เราเห็น คสช. เดินหน้าภารกิจอนุรักษ์ผืนป่าด้วยการทวงคืนพื้นที่สีเขียว ไล่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในท้องที่ หรือในปี 2558 กอ.รมน. ก็ได้ทำการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์กว่า 143 เว็บไซต์ โดย URL ส่วนหนึ่ง กอ.รมน. ออกคำสั่งตรงไปที่ยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้ดำเนินการปิดโดยตรง

ทั้งหมดนี้เพราะอำนาจและอิทธิพลของกองทัพที่แท้จริงอยู่ที่ ‘กิจการความมั่นคงภายใน’ และนี่คือเหตุที่ว่าทำไมการดำรงอยู่ของกองทัพจึงแยกไม่ออกจาก ‘การรักษาความสงบในนามความมั่นคงแห่งชาติ’

อำนาจที่ ‘มองไม่เห็น’ ของกองทัพไทยในกิจการความมั่นคงภายในเป็นอย่างไร อะไรคือกลไกและขอบเขตกิจการความมั่นคงภายในที่เอื้อให้กองทัพลงไปแทรกซึมและบ่อนเซาะสังคมประชาธิปไตย และอะไรคือหนทางในการปฏิรูปอำนาจกองทัพที่ตรงจุด

ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สองที่สูญหายหลังอำนาจกองทัพครอบงำสังคมไทย 101 สนทนากับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs เพื่อเปิดอำนาจกองทัพในส่วนที่ยังซ่อนอยู่ในรัฐไทยอย่างแยบยล

ในวันที่สังคมตั้งคำถามต่อกองทัพและส่งเสียงเรียกร้องการปฏิรูปกองทัพเพื่อพาสังคมไปสู่การเมืองประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือหนึ่งในจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำหล่นหายไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

หนังสือ Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs 

สำหรับกองทัพไทย อะไรคือความสำคัญของกิจการความมั่นคงภายใน

ในหนังสือ Infiltrating Society: The Thai Military’s Internal Security Affairs ดิฉันเสนอไว้ว่ากิจการความมั่นคงภายในคือ ‘เหตุผลหลักของการดำรงอยู่’ (raison d’être – reason of being) ของกองทัพไทย

เมื่อพิจารณาแผนงานและภารกิจส่วนใหญ่ของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ปี 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยเริ่มเผชิญภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภารกิจหลักของกองทัพล้วนเกี่ยวพันกับกิจการความมั่นคงภายในมากกว่าการรับมือจากภัยคุกคามนอกประเทศ หรืออย่างที่กองทัพมักจะชอบกล่าวอ้างว่ากองทัพทำหน้าที่เป็นรั้วของชาติ ปกป้องประเทศจากอริราชศัตรูจนกลายเป็นข้ออ้างในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล อย่างล่าสุดกองทัพเรือก็เสนอจัดซื้อเรือดำน้ำ แต่ในความเป็นจริง ภารกิจส่วนใหญ่และสำคัญที่สุดของกองทัพคือความมั่นคงภายในประเทศ

อะไรคือสัญญาณบ่งชี้ว่า ‘กิจการความมั่นคงภายใน’ คือเหตุผลหลักในการดำรงอยู่ของกองทัพ

ประการแรก ข้ออ้างที่ว่ากองทัพมีหน้าที่ต้องจัดการภัยคุกคามความมั่นคงภายในนำไปสู่การขยายบทบาท อำนาจ และหน้าที่อย่างกว้างขวางทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ไทยเผชิญปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ในทศวรรษที่ 2500 และทั้งหมดนี้ตามมาด้วยการขยายกำลังพลและงบประมาณมหาศาล

ประการที่สอง เมื่อกองทัพเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในกิจการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนา การจัดการหรือแก้ไขปัญหาถูกกำกับด้วยกรอบวิธีคิดและวิธีการแบบทหาร ไม่ใช่ด้วยองค์ความรู้หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ประการที่สาม โครงการความมั่นคงจำนวนมากถูกใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมือง กลายเป็นอาวุธทางการเมืองของกองทัพและพันธมิตรสถาบันเครือข่ายชนชั้นนำที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่

ประการที่สี่ การปกป้องสถาบันหลักของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์จากภัยคุกคามภายใน ได้กลายเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของกองทัพ

หมายความว่ากองทัพมีอำนาจที่มากไปกว่าแค่การรัฐประหารเพื่อแทรกแซงทางการเมือง?

ที่ผ่านมา สังคมมักจะเข้าใจเพียงแค่ว่ากองทัพใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อให้ชนชั้นนำเก่าและกองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเท่านั้น และมักจะมองว่ากองทัพแทรกแซงการเมืองเฉพาะเวลาที่กองทัพรัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมา ส่วนช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนก็มักจะเข้าใจกันว่าทหารไม่ได้แทรกแซงอยู่ในการเมือง กลับเข้ากรมกองไปแล้ว และประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐาน อย่างหลัง 14 ตุลา 2516 หรือตั้งแต่ช่วงหลังพฤษภา 2535 จนกระทั่งรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ที่เป็นหมุดหมายของการกลับมาของกองทัพในการเมือง แต่ที่จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยไทยไม่เคยลงหลักปักฐานเลย เพราะกองทัพมีอำนาจแทรกซึมในระบบการเมืองและสังคมตลอดเวลา รวมทั้งในยามที่เขาไม่ได้เป็นรัฐบาลด้วย

หากมองเพียงแค่ว่ากองทัพมีอำนาจทางการเมืองผ่านการทำรัฐประหาร เราจะพลาดการมองเห็นอิทธิพลของกองทัพต่อการเมืองไทยอย่างไรไปบ้าง

การมองบทบาทกองทัพแค่ว่าอยู่ที่การรัฐประหารหรือการจัดตั้งรัฐบาลทหารเท่านั้นทำให้มองไม่เห็นอำนาจที่แท้จริงของกองทัพที่ฝังอยู่ในระบบการเมือง ระบบราชการ และกฎหมายต่างๆ มองไม่เห็นอิทธิพลทางสังคมและการเมืองในกิจการที่กองทัพดำเนินการเป็นกิจวัตร 

พอไม่เห็นอำนาจกองทัพที่ฝังในระบบการเมือง บางครั้งรัฐบาลพลเรือนเองก็กลับขยายอำนาจและบทบาทการเมืองของกองทัพโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เช่น ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย หลังพฤษภา 35 ก็สนับสนุนให้กองทัพเข้าไปมีหน้าที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ให้บริการสาธารณสุขมากขึ้น ให้ทำงานบรรเทาสาธารณภัย ให้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติป่าและสิ่งแวดล้อม หรือในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติด ก็มีคำสั่งให้กองทัพทำงานปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย สุดท้ายกลไกเหล่านี้จะแปรมาเป็นกลไกทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะวิกฤตหรือการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยรัฐสภาและกองทัพกับชนชั้นนำเก่า

ในเมื่อ กอ.รมน. คือหน่วยงานหลักของกองทัพที่รับผิดชอบกิจการความมั่นคงภายใน เราควรมอง กอ.รมน. ในฐานะตัวละครหนึ่งในการเมืองไทยอย่างไร

เราต้องมอง กอ.รมน.ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของรัฐไทยที่มีทหารครอบงำอยู่ เอาไว้รับมือกับกลุ่มคนที่รัฐนิยามว่าเป็นศัตรูหรือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทย รวมทั้งในฐานะเครื่องมือที่รัฐหวังใช้เพื่อที่จะแทรกซึมเข้าสู่สังคม

ประการสำคัญ เราต้องมองว่า กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ถูกควบคุมโดยกองทัพบกตลอดมา กอ.รมน. จึงเป็นกลไกการเมืองที่อนุญาตให้กองทัพมีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือนทั้งหมดตราบเท่าที่พวกเขาอ้างว่าเป็นเรื่องความมั่นคงภายใน นี่คืออำนาจที่ กอ.รมน. มีตั้งแต่ก่อตั้ง กอ.รมน. ในปี 2508 หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ องค์กรนี้มีไว้เพื่อให้ชนชั้นนำและกองทัพสามารถควบคุมทิศทางการเมืองและสังคม ซึ่งรวมถึงการควบคุมและปราบปรามประชาชนด้วย

ดิฉันอยากย้ำว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกนี้ที่ตรากฎหมายให้กองทัพมีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวงและมีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือนเช่นนี้ และนี่เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมของไทยมองไม่เห็นหรือมองข้ามมานานอย่างไม่น่าเชื่อ

กอ.รมน. เป็นกลไกรัฐที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และน่าจะหมดภารกิจไปตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นแล้ว แต่ทำไมกลไกนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ต้องบอกว่า กอ.รมน. มีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยช่วงสงครามเย็นตั้งแต่ทศวรรษที่ 2500 จนถึงทศวรรษที่ 2520 แต่ในขณะเดียวกันก็โดดเด่นในเชิงลบด้วย อย่างช่วง 14 ตุลา 2516 ขบวนการนักศึกษาก็เรียกร้องให้มีการยุบ กอ.รมน. เพราะมีหลายกรณีที่ กอ.รมน. เข้าไปเกี่ยวพันในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชนบท อย่างกรณี ‘ถีบลงเขา เผาลงถังแดง’ ที่จังหวัดพัทลุง กอ.รมน. ก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ประมาณ 3,000 คน หรือกรณีเผาหมู่บ้านนาทราย นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ ในแทบทุกจังหวัดที่ความรุนแรงเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมักจะมีชื่อ กอ.รมน. พ่วงเข้าไปด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการยุบตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด

พอพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พ่ายแพ้ กอ.รมน. ก็อ้างว่าเป็นความสำเร็จของ กอ.รมน. ด้วย เพราะชัยชนะของรัฐไทยต่อ พคท. มักถูกอธิบายว่าเป็นผลพวงจากแนวทางการเมืองนำการทหารตามนโยบายคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งพอไปดูคำสั่งในรายละเอียดจะพบว่า จริงๆ แล้วเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. เป็นส่วนใหญ่ 

คำสั่งที่ 66/2523 กลายเป็นความสำเร็จที่กองทัพเคลมอยู่ตลอดว่าทำให้กองทัพสามารถปกป้องประเทศไทยไม่ให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์แบบประเทศเพื่อนบ้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เคยกล่าวอ้างว่าจะใช้การเมืองแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในแบบคำสั่งที่ 66/2523 แต่ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการกล่าวอ้างนี้เท่าไหร่ เพราะที่จริงแล้ว พคท. พ่ายแพ้เพราะสาเหตุหลักๆ 2 ประการ คือความขัดแย้งภายในพรรคและความขัดแย้งภายในค่ายคอมมิวนิสต์ระหว่างจีนและเวียดนามที่ทำให้รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หยุดสนับสนุน พคท. ในขณะที่คำสั่งที่ 66/2523 ออกมาในจังหวะที่ พคท. กำลังเพลี่ยงพล้ำพอดี 

อย่างไรก็ตามหลัง พคท. แพ้ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยพลเอกเปรมไปสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง กอ.รมน. ก็ไม่ได้หายไปไหน กองทัพยังคงใช้กลไกนี้อยู่ตลอดเพียงแค่ลดบทบาทลง เพราะภัยความมั่นคงภายในไม่ชัดเจนแล้ว

แต่ในทศวรรษที่ 2540 ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มเข้มข้นมากขึ้นจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 คมช. และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ก็กลับไปฟื้นฟูกลไก กอ.รมน. ผ่านพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรปี 2551 นัยสำคัญของการออกกฎหมายฉบับนี้คือการรับรองอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ด้วยกฎหมายที่มีสถานะสูงกว่าที่เคยตรามาทั้งหมด 

เมื่อก่อนนี้ กอ.รมน. มีอำนาจบทบาทเยอะก็จริง แต่ด้วยสถานะทางกฎหมาย กอ.รมน. ถูกยุบได้ง่ายมาก เพราะตราด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หากจะยุบ แค่ออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งมาแล้วผ่าน ครม. ก็ยุบได้เลยภายในหนึ่งวัน แต่พอตราออกมาเป็น พ.ร.บ. จะยกเลิกก็ยกเลิกยาก ต้องผ่านทั้งรัฐสภา วุฒิสภา รัฐธรรมนูญก็เขียนให้แก้กฎหมายได้ยากมาก ที่สำคัญ ในรายละเอียด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เขียนให้อำนาจ กอ.รมน. ไว้เยอะมากในระดับที่สามารถแทรกแซงระบบตุลาการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะฉุกเฉิน กอ.รมน. มีอำนาจในการบุกค้นหรือยึดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าหลังรัฐประหาร 2549 ชนชั้นนำเก่าเลือกกลับไปใช้กลไกเก่าที่มีอยู่แล้วและขยายขอบเขตอำนาจโดยออกกฎหมายรับรอง ซึ่งจะเห็นความประจวบเหมาะพอดี คือกองทัพทำรัฐประหาร ผลักดัน พ.ร.บ. ออกมาและให้มีผลบังคับใช้ไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งปี 2551 นี่ถือว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของ คมช. และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2557 จะเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ ซึ่งทั้งเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ กอ.รมน. สมัยที่ยังเป็น ผบ.ทบ. และกำลังนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในปัจจุบันชื่นชอบ กอ.รมน. มาก เรียกใช้กอ.รมน. ในกิจกรรมสำคัญของรัฐบาลตลอด ไม่ว่าจะเป็นการให้มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานการร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีบทบาทผลักดันคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ หรือว่าในการผลักดันการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 กอ.รมน. ก็ออกมาช่วยรณรงค์ นี่คือยุคที่กิจการความมั่นคงภายในเฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งมวลชน เห็นได้จากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

มีกลไกอะไรบ้างที่สร้างความชอบธรรมและเอื้อให้กองทัพและ กอ.รมน. ขยับขยายบทบาททางการเมืองผ่านกิจการความมั่นคงภายในจนแทรกซึมและควบคุมสังคมได้

มีกฎหมายหลายฉบับที่ระบุไว้ว่าทหารต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเมื่อดูทั้งหมดจะเห็นความพยายามของชนชั้นนำในการร่วมมือกับกองทัพและสร้างพื้นที่ทางการเมืองและสังคมให้กองทัพมาตลอด อย่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ซึ่งเกิดจากสภาสนามม้าในช่วงรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีพระราชทาน ระบุให้มีการขยายบทบาทหน้าที่ทหารไปสู่การพัฒนา การปกป้องสถาบันกษัตริย์ การปราบจลาจล และการดูแลรักษาความมั่นคงภายใน ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 ไม่ได้ระบุอำนาจของกองทัพไว้กว้างเท่านี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นมาในยุคที่รัฐไทยกำลังเผชิญภัยคอมมิวนิสต์และชนชั้นนำกำลังวิตกว่าไทยจะกลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงหาหนทางในการขยายอำนาจกองทัพ แม้ว่าหลัง 14 ตุลา 2516 ไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เขียนให้จำกัดบทบาทอำนาจของกองทัพในการรักษาความมั่นคงภายใน ภารกิจของกองทัพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2517 ก็ถูกสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น ต่อให้มีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่อำนาจเรื่องความมั่นคงยังอยู่ในมือกองทัพทั้งหมด 

นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 ปี 2520-2524 ซึ่งผลักดันในสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘การพัฒนาประเทศจะต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคง’ ซึ่งเมื่อรัฐบอกว่านี่เรื่องความมั่นคง ก็เท่ากับเปิดพื้นที่ให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทหารก็ชอบอ้างกฎหมายเหล่านี้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการพัฒนาสารพัดของตนเองเสมอ  

เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยความมั่นคงของรัฐไทยอีกต่อไป การนิยามภัยความมั่นคงก็เปลี่ยน เราจะเห็นความพยายามของกองทัพในการหาทางขยายบทบาทไปสู่เรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การกำหนดว่าความยากจนของประชาชนคือภัยความมั่นคงแห่งชาติ (และแปรรูปไปเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในภายหลัง) และแน่นอนว่าเมื่อความยากจนกลายเป็นปัญหาความมั่นคง กองทัพก็ย่อมต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย ทั้งๆ ที่ความยากจนเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการทหารใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะเห็นว่ากองทัพระบุเรื่องเหล่านี้ไว้ในแผนภารกิจยุทธศาสตร์ของกองทัพ หรือพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 เมื่อประมาณต้นทศวรรษที่ 2530 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ไทยยังต้องเผชิญต่อภัยความยากจนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งร้ายแรงกว่าภัยคอมมิวนิสต์ที่สิ้นสุดไปแล้วเสียอีก กองทัพจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศด้วย

ส่วนในเชิงกลไก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ 2551 กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ให้เป็นหน่วยงานที่เอื้อให้กองทัพสามารถเข้ามามีอำนาจเหนือหน่วยงานพลเรือน สั่งการและประสานงานกระทรวงต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่ที่จริงแล้วภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ตลอดช่วงตั้งแต่ก่อตั้ง กอ.รมน. ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2508 ในสมัยรัฐบาลถนอม กิตติขจร และแม้ว่าตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กอ.รมน. จะอยู่ภายใต้สำนักรัฐมนตรีก็ตาม

แล้วอะไรคืออุดมการณ์ที่รองรับความชอบธรรมของกิจการความมั่นคงภายใน

บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในกิจการของความมั่นคงภายในถูกรองรับด้วยอุดมการณ์หลักของชาติ คือ ชาตินิยมและกษัตริย์นิยม หรือหากใช้นิยามของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลก็คืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม อุดมการณ์ดังกล่าวบอกว่า ชาติไทยและสถาบันกษัตริย์ที่ทำให้ชาติไทยดำรงเอกราชและความยิ่งใหญ่ไว้ได้กำลังเผชิญภัยคุกคามความมั่นคงที่อันตราย อย่างในยุคสงครามเย็นคือภัยคอมมิวนิสต์ หรือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือความแตกแยกของคนในสังคมซึ่งกองทัพมองว่าเกิดจากนักการเมืองเลวและกลุ่มคนเสื้อแดง หรือในช่วงปีที่ผ่านมาอาจจะเป็นม็อบราษฎร เพราะคอมมิวนิสต์ คนเสื้อแดง หรือม็อบราษฎรกำลังพยายามบ่อนทำลาย ล้มล้างสถาบันหลักของชาติซึ่งเท่ากับว่าทำลายความมั่นคงของชาติไปด้วย 

เพราะฉะนั้น หากจะรับมือกับภัยเหล่านี้ได้ กองทัพจำเป็นจะต้องมีกลไกที่ลงไปควบคุมสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanize) และสร้างความเป็นปีศาจ (demonize) ให้กลุ่มคนที่กองทัพนิยามว่าเป็นภัยคุกคามเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กลไกปราบปรามและไม่ให้คนในสังคมมองว่าการปราบปรามเป็นสิ่งผิด

เพราะอะไรสังคมถึงกลายเป็นพื้นที่ที่กองทัพมองว่าต้องลงไปแทรกซึมให้ได้ 

ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น กองทัพมองว่าหากจะเอาชนะภัยคอมมิวนิสต์ได้ก็ต้องเอาชนะจิตใจของประชาชนให้ได้ด้วย ในสายตาของกองทัพ ประชาชนเข้าร่วมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เพราะความรู้สึกคับแค้นใจจากการที่รัฐบาลไม่สนใจประชาชนหรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐกดขี่ข่มเหง

เพราะฉะนั้น หากกองทัพจะเอาชนะใจประชาชนไม่ให้สนับสนุนคอมมิวนิสต์ได้ก็ต้องอัดฉีดหลายอย่าง ต้องมีโครงการพัฒนาให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น มีปลูกฝังอุดมการณ์ที่สร้างความรู้สึกผูกพัน ความจงรักภักดีกับรัฐ และสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้าม ต้องมีการจัดตั้งมวลชนของตัวเองไว้เป็นหูตาให้กับรัฐ และเพื่อว่าประชาชนสนับสนุนระบอบที่ปกครองอยู่ นี่คือไอเดียตั้งต้นในการสร้าง กอ.รมน. ขึ้นมา และแทรกซึมเข้าไปในสังคมเพื่อแย่งชิงมวลชนจากพรรคคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น

ไอเดียแบบนี้ก็ยังส่งผ่านมาถึงยุคปัจจุบัน กองทัพยังคงพยายามขยายมวลชนแข่งกับมวลชนของพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ในปัจจุบันก็อาจจะรวมพรรคก้าวไกลด้วย

กองทัพและ กอ.รมน. กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ในการลงไปแทรกซึมลงในสังคมไว้อย่างไร

ในแผนยุทธศาสตร์ของทุกเหล่าทัพ ทุกหน่วยงานของกองทัพ ตั้งแต่กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กอ.รมน. ไปจนถึงในงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจะมีการระบุไว้ว่าอะไรคือภัยความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ บทบาทและภารกิจที่กองทัพและ กอ.รมน. รับผิดชอบ 

หลักๆ ที่กองทัพและ กอ.รมน. ระบุไว้มีประมาณ 10 ข้อ อาจจะต่างกันไปบ้างในบางหน่วยงาน แต่จะไม่หนีไปจาก 10 ข้อนี้

ภัยความมั่นคงอย่างแรกที่กองทัพระบุไว้เลยคือการละเมิดสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหากไปดูในแผนยุทธศาสตร์ฉบับเก่าๆ จะพบว่าการละเมิดสถาบันฯ ไม่ได้ถูกระบุไว้เป็นข้อแรก สองคือความเห็นต่างและความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติ ซึ่งเป็นภัยความมั่นคงที่เพิ่งถูกบรรจุหลังการรัฐประหารปี 2549 ในที่นี้คือการเมืองสีเสื้อ สาม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สี่ แรงงานต่างด้าวและคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ห้า การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ หก การค้ามนุษย์ เจ็ด ปัญหายาเสพติด แปด ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เก้า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ และสิบ การแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่รุนแรงมากขึ้นและจะกระทบต่อความมั่นคงภายในอย่างเช่นโลกาภิวัตน์ 

จะเห็นว่านิยามขอบเขตภัยความมั่นคงแห่งชาติของกองทัพกว้างครอบจักรวาลมาก แต่มีอยู่เรื่องเดียวที่เกี่ยวกับความมั่นคงแบบทหารหรือแบบดั้งเดิมคือการก่อการร้ายข้ามชาติ นอกจากนั้นเป็นปัญหาภายในประเทศ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ปัญหาทางสังคมอย่างภัยยาเสพติด ปัญหาทางการเมืองอย่างความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง ฯลฯ ซึ่งหลายข้อเกี่ยวพันกับความมั่นคงรูปแบบใหม่ (non-traditional security)

ที่จริงความตั้งใจในการแยกความมั่นคงรูปแบบใหม่ออกจากความมั่นคงแบบทหารในยุคหลังสงครามเย็นก็เพื่อให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ทหารมีอิทธิพลทางการเมืองมาก ลดความสำคัญและบทบาทของกองทัพลง ตัดลดงบประมาณทางทหารเพื่อนำไปรับมือกับความมั่นคงรูปแบบใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนมากกว่า อย่างในประเทศพัฒนาแล้ว ปัญหาความมั่นคงเหล่านี้จะอยู่ในภารกิจของหน่วยงานพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับปัญหาที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน ต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะทางในการแก้ปัญหา 

แต่ในกรณีไทยจะเห็นว่ากลับกันเลย เมื่อไทยขยายขอบเขตปัญหาความมั่นคงไปสู่ความมั่นคงรูปแบบใหม่ กองทัพกลับเข้ามาแสดงบทบาท ผนวกรวมปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่เข้าในอำนาจหน้าที่ของกองทัพด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานพลเรือนไม่มีอำนาจหน้าที่เลย อย่างปัญหายาเสพติด ป.ป.ส. ก็เข้ามารับผิดชอบด้วย หรือปัญหาน้ำท่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ได้ถูกกันออกไป แต่ปัญหาคือ การที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ทหารมีบทบาทสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ทหารกลายเป็นผู้นำในการจัดการหรือแก้ปัญหากิจการพลเรือน ไม่ใช่ผู้ตาม ทั้งๆ ที่ทหารไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ อย่างเวลาเกิดน้ำท่วม สิ่งที่กองทัพทำคือบรรเทาภัยเป็นจุดๆ ไป เช่น นำรถแบ็กโฮมาขุดระบายน้ำ หรือใช้กำลังพลช่วยคนออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วม ทั้งๆ ที่การจัดการปัญหาน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยองค์ความรู้เรื่องทิศทางน้ำ และลักษณะทางธรรมชาติในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการจัดการก่อการร้ายข้ามชาติก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการข่าวหรือข่าวกรองประกอบกับหน่วยทหารแบบ elite troops ไม่ใช่การใช้กองกำลังปราบปรามอย่างเดียว

กองทัพและ กอ.รมน. แทรกซึมตัวเองลงไปในสังคมอย่างไรบ้าง

กลไกแทรกซึมสังคมของ กอ.รนม. จะถูกใช้ควบคู่และทับซ้อนกับกลไกอื่นๆ ของหน่วยงานรัฐด้วย เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานการพัฒนาที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยอย่างกรมการพัฒนาชุมชน กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ 

กลไกเหล่านี้ทำหน้าที่หลายอย่างและทำหน้าที่ร่วมกันไปเพื่อแทรกซึมลงไปให้ถึงระดับมวลชนรากหญ้า ทั้งกลไกการปกครองการพัฒนา กลไกการปราบปราม กลไกจิตวิทยาการเมือง กลไกปลูกฝังอุดมการณ์หลักของชาติ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการแย่งชิงฐานมวลชนทั้งในเชิงอุดมการณ์และเชิงการจัดตั้ง

ตัวอย่างภาพที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมของการขยายบทบาทและลงมาแทรกซึมในสังคมอย่างแรกเลยคือ การจัดการภัยคุกคามที่เกิดจากปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าหลังรัฐประหาร 2557 คสช. ให้ความสำคัญกับภารกิจทวงคืนผืนป่ามาก เริ่มปฏิบัติการในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร สิ่งที่กองทัพทำคือ ใช้แนวทางแบบทหารอย่างการปราบปรามจัดการปัญหาป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ไล่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำลายพืชผลที่ชาวบ้านปลูกโดยไม่มีการชดเชยใดๆ รวมทั้งยังสอดแทรกโครงการจิตวิทยามวลชนเข้าไปด้วย และจะเห็นว่าไม่ได้มีแค่กองทัพหรือ กอ.รมน. เท่านั้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องในภารกิจ แต่ยังมีกระทรวงมหาดไทย และมวลชนจัดตั้งของกองทัพอย่างอาสารักษาดินแดนด้วย

อีกโครงการหนึ่งที่อยู่ภายใต้ภารกิจทวงคืนผืนป่าคือ โครงการเยาวชนร่วมปกป้องผืนป่าและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวอีกอย่างคือกองทัพแปรรูปการจัดการภัยคุกคามความมั่นคงป่าไม้และธรรมชาติออกมาเป็นโครงการจัดอบรมเยาวชน จัดให้มีกิจกรรมปลูกป่าแทบจะทุกจังหวัด เพราะ กอ.รมน. มีสำนักงานในทุกจังหวัด หากลองไปดูในเว็บไซต์ของ กอ.รมน. หรือเสิร์ชในกูเกิลก็จะเจอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเต็มไปหมด   

แต่ในการอบรม นอกจากจะอบรมเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าแล้ว หัวข้อหลักในการอบรมคือการปลูกฝังอุดมการณ์หลักของรัฐ ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เศรษฐกิจพอเพียง ค่านิยม 12 ประการ ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก คอร์รัปชันของนักการเมือง ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการอบรมให้จับตาการเคลื่อนไหวหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามของประชาชนด้วยกันเองทั้งที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียและที่ทำในโลกจริง

การอบรมแบบนี้ไม่ได้แทรกอยู่แค่ในโครงการอบรมปกป้องผืนป่าอย่างเดียว แต่ยังอยู่ในโครงการอบรมอีกนับร้อยนับพัน ไม่ว่าจะเปลี่ยนหัวข้ออบรมไปเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ภัยยาเสพติด หรือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แกนหลักการอบรบจะวนอยู่ในเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้ โครงการอบรมมีทั้งที่จัดโดย กอ.รมน. และกระทรวงมหาดไทย ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย แทรกซึมลงไปในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองก็ถูก กอ.รมน. เรียกมาอบรมเช่นกัน เพราะ อสม. ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงทุกครัวเรือน

ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังมีการจัดตั้งมวลชนเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง อย่างในช่วงสงครามเย็นจะเห็นว่ากองทัพลงไปจัดตั้งกองอาสารักษาดินแดน (ช่วงทศวรรษที่ 2500) ไทยอาสาป้องกันชาติ (2521) กองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ (2523) ลูกเสือชาวบ้าน หรือหมู่บ้านอาสาและพัฒนาตนเอง ซึ่งมวลชนเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน อีกระลอกหนึ่งหลังการรัฐประหาร 2549 การระดมและจัดตั้งมวลชนขยายตัวลงไปสู่นักเรียน นิสิตนักศึกษา และนักธุรกิจในจังหวัดต่างๆ และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 หลังเกิดกระแสการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน กอ.รมน. ก็ลงไปจัดตั้งและระดมมวลชนเสื้อเหลืองให้ออกมาเดินขบวนปกป้องสถาบันในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งก็คือการส่งสัญญาณต่อต้านขบวนการของคนรุ่นใหม่ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์มากขึ้นนั่นเอง

ประเมินประสิทธิภาพของอำนาจที่กองทัพใช้ผ่านกิจการความมั่นคงภายในอย่างไร มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน โครงการอบรมสอดแทรกเชิงอุดมการณ์มีประสิทธิภาพสู้ในสมัยรัชกาลที่ 9 ไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในสมัยรัชกาลที่ 9 เข้มแข็งกว่าในรัชกาลที่ 10 มาก อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรประเมินต่ำไป เพราะการลงไปทำงานกับมวลชนไม่ได้มีแค่ในเชิงอุดมการณ์อย่างเดียว กองทัพยังให้ความสำคัญกับการอัดฉีดผลประโยชน์อยู่เสมอ 

ในอดีตกองทัพใช้โครงการพัฒนาเพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน รวมถึงดึงชาวบ้านเข้ามาอยู่ในเครือข่ายหรือทำงานให้กับรัฐ ซึ่งชาวบ้านก็ชอบเพราะมีทั้งอาวุธและคอนเน็กชัน ในปัจจุบันกองทัพก็ยังใช้วิธีอัดฉีดผลประโยชน์และใช้มากขึ้นกว่าเดิมด้วย ยิ่งพลังของอุดมการณ์อ่อนแอลง การอัดฉีดผลประโยชน์ก็ยิ่งมากขึ้น มวลชนได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้รับสวัสดิการ หรือการตอบแทนจำนวนมาก 

อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่ควรดูเบาพลังของอุดมการณ์ แม้ว่าจะอ่อนแอลงก็จริง แต่หากมีมวลชนเพียงแค่สัก 10% ที่รับและเชื่อในอุดมการณ์จากที่อบรบเป็นหลักล้านคนก็สามารถระดมมวลชนได้แล้ว และที่สำคัญการที่มวลชนเหล่านี้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐ หมายความว่ามวลชนมักได้ไฟเขียวให้ใช้ความรุนแรงได้ โดยกฎหมายก็มักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการใช้ความรุนแรงของคนฝ่ายนี้

เรามองกลไกกิจการความมั่นคงภายใต้กองทัพและ กอ.รมน. ว่าคือส่วนหนึ่งของรัฐเร้นลึก (deep state) ได้ไหม

มีบางช่วงเวลาที่กลไกต่างๆ ของกองทัพทำงานเหมือนรัฐเร้นลึก โดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่กองทัพและชนชั้นนำจารีตไม่สนับสนุน เช่น รัฐบาลพรรคไทยรักไทยหรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเหล่านี้ กลไกกองทัพจะทำหน้าที่บ่อนเซาะ 

แต่หากเป็นรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุน ต่อให้เป็นรัฐบาลพลเรือนอย่างรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลไกกองทัพจะทำงานสนับสนุน และทำอย่างเปิดเผย ไม่มีการแอบซ่อน ยิ่งไปกว่านั้น การเมืองไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลพลเรือน ฉะนั้นกลไกของกองทัพทำงานอย่างเปิดเผยผ่านโครงการและงบประมาณ ระดับความเป็นรัฐเร้นลึกก็จะน้อยกว่า เอาจริงๆ พวกเขาทำงานกันอย่างเปิดเผยมาตลอด มีงบประมาณรองรับ เพียงแต่ที่ผ่านมารัฐบาลพลเรือนให้ความสนใจพวกเขาน้อยไป เรารู้จักกองทัพน้อยไป

การที่กองทัพและ กอ.รมน. ลงไปแทรกซึมสังคมส่งผลต่อประชาธิปไตยอย่างไร

หากไปดูเนื้อหาที่กองทัพและ กอ.รมน. อบรม นอกจากจะส่งเสริมอุดมการณ์หลักของชาติและความสำคัญของสถาบันกษัตริย์เพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสและศรัทธาอุดมการณ์ชาตินิยม-กษัตริย์นิยมแล้ว ยังอบรมเนื้อหาที่ทำให้คนไม่เชื่อหรือต่อต้านระบอบประชาธิปไตยด้วย เช่น ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยและการเมืองรัฐสภาแบบตะวันตก วิพากษ์วิจารณ์ความไร้ระเบียบของสังคมเสรีประชาธิปไตย ความเน่าเฟะของการพัฒนาโดยนักการเมืองตามแนวทางทุนนิยม แต่เราควรอยู่กับเศรษฐกิจแบบพอเพียง หรือวิพากษ์นักการเมืองว่าคอร์รัปชัน โกงกินบ้านเมือง แต่ละเลยไม่พูดถึงการคอร์รัปชันในระบบราชการและกองทัพ

นอกจากนี้ มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ชัดว่ารัฐจัดตั้งมวลชนขึ้นมาเพื่อชนประชาชนอีกฝ่ายและสนับสนุนแนวทางหรือนโยบายบางอย่างของรัฐ อย่างที่เมื่อปีที่ผ่านมาก็มีการจัดม็อบชนม็อบ เกณฑ์ข้าราชการ ทหาร ตำรวจในต่างจังหวัดเข้ามาจัดตั้งเป็นม็อบเสื้อเหลืองชนม็อบคนรุ่นใหม่ บางกรณีก็ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ อย่างพอประชาชนประท้วงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาของรัฐบาล ก็จะเห็นว่ามีมวลชนอีกกลุ่มประกาศสนับสนุนนโยบายนี้ขึ้นมา นอกจากนี้ยังพบว่าในโครงการแบบนี้ กอ.รมน. มีส่วนเข้าไปจัดอบรม นำวิทยากรไปอบรมชาวบ้านว่าโครงการจะส่งผลดีต่อชุมชนอย่างไรบ้าง  

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย แต่ปัญหาของสภาวะเช่นนี้คือความเห็นต่างไม่ได้เกิดขึ้นเองในหมู่ประชาชน สิ่งที่รัฐควรทำคือปล่อยให้มีการรับข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเสรีผ่านสื่อมวลชนหรือภาคประชาสังคม ปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ใช้เหตุผลและความคิดไตร่ตรองเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ไม่ใช่ใช้กลไกรัฐเข้ามาแทรกแซงความคิดของประชาชน จัดตั้งประชาชนอีกกลุ่มมาปะทะ แล้วให้อภิสิทธิ์อะไรบางอย่างหรือผลตอบแทนแก่คนอีกกลุ่ม เห็นชัดเจนว่ามันเป็นการเล่นเกมที่ไม่แฟร์

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ขัดแย้งกับความเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย สังคมเสรีประชาธิปไตยจะเกิดไม่ได้ภายใต้สภาวะที่สังคมถูกรัฐเข้าไปแทรกซึมและประชาชนจำนวนมากถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนอีกกลุ่มที่ออกมาต่อต้านก็ถูกข่มขู่คุกคาม นี่คือการทำลายภาคประชาสังคมและทำให้สังคมไม่สามารถเข้มแข็งขึ้นได้

หากจะพาการเมืองไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน ต้องเริ่มปฏิรูปกองทัพจากตรงจุดไหน

ที่ผ่านมามีข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดตำแหน่งนายพล ลดงบประมาณกองทัพ หรือแม้กระทั่งยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาล คสช.

ส่วนตัวไม่คัดค้านการผลักดันข้อเสนอเป็นประเด็นๆ แบบนี้ เพราะที่สำคัญคือข้อเสนอทำให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาอำนาจกองทัพ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพเหล่านี้อาจจะแก้ปัญหาได้เป็นจุดๆ เท่านั้น ไม่ได้ถอดรื้ออำนาจทางการเมืองของกองทัพในเชิงโครงสร้าง ซึ่งสาเหตุที่ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพที่ผ่านมาเสนอเป็นจุดๆ เท่านั้น เพราะทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง หรือภาคประชาชนเองก็ยังมองไม่เห็นกลไกทางการเมืองของกองทัพทั้งหมดที่ไม่ได้มีแค่การรัฐประหารอย่างเดียว มองไม่เห็นว่าภารกิจหลักที่แท้จริงของกองทัพคือกิจการความมั่นคงภายใน ซึ่งหากตัดอำนาจบทบาทของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับกิจการความมั่นคงภายในออกไป เหตุผลในการดำรงอยู่ของกองทัพแทบจะไม่เหลือเลย กองทัพแทบจะไม่เหลืองานให้ทำด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น การปฏิรูปกองทัพต้องเริ่มจากการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองทัพใหม่ว่าภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงมิติไหนบ้างที่ควรหรือไม่ควรอยู่ในมือกองทัพ ดิฉันเสนอว่าต้องนำทหารออกไปจากภารกิจความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้งหมด กองทัพเป็นได้แค่ผู้ช่วยที่จะถูกสั่งการจากหน่วยงานพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญในการรับมือต่อภัยความมั่นคงนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าภัยคุกคามความมั่นคง 10 ประการที่กองทัพและ กอ.รมน. ระบุไว้แทบจะไม่มีอะไรที่ควรเหลือเลยที่อยู่ในภารกิจของกองทัพ กองทัพต้องเหลือเพียงแค่หน้าที่ในการปกป้องประเทศชาติเท่านั้น หรือแม้กระทั่งปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องนำทหารออกไป เพราะวิธีการแก้ไขปัญหาแบบทหารที่ใช้กำลังปราบปรามมาตั้งแต่ปี 2547 ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

และในเมื่อขอบเขตอำนาจหน้าที่กองทัพปรากฏอยู่ในกฎหมายสารพัดชนิด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุถึงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนยุทธศาสตร์ของทุกเหล่าทัพ กระทรวงกลาโหม และ กอ.รมน. ก็ต้องไปจัดการกับกฎหมายเหล่านี้เพื่อทำลายความชอบธรรมทางกฎหมายเป็นเบื้องต้น

การเปลี่ยนขอบเขตบทบาทอำนาจหน้าที่ของกองทัพจะนำไปสู่ข้อเสนอที่สองคือ ตัดโครงการหน่วยงานกิจการพลเรือนในกองทัพและงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับกิจการความมั่นคงภายในของทั้ง กอ.รมน. กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด หรือสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และเมื่อตัดงบประมาณมหาศาลที่อยู่ในโครงการได้ ก็จะสามารถตัดตำแหน่งนายพลและกำลังพลในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่รับผิดชอบงานความมั่นคงภายใน พอปัญหาความมั่นคงภายในในมือของกองทัพลดขนาดลง ก็จะยุบ กอ.รมน. ได้และให้สภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบกิจการความมั่นคงภายในแทน ก็จะตัดอำนาจการแทรกแซงทางการเมืองและสังคมของกองทัพออกไปได้

นอกจากนี้ โครงการอบรมเชิงอุดมการณ์โดยกองทัพต้องถูกยกเลิกและห้ามกระทำต่อไปโดยเด็ดขาด เพื่อหยุดกระบวนการบ่อนเซาะของประชาธิปไตยลงด้วย

อะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพของเกิดขึ้นได้จริง

ส่วนตัวมองว่ามีอยู่ 2 เงื่อนไข

อย่างแรกคือกองทัพสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองและเกิดฉันทมติในสังคมว่าต้องกันกองทัพออกจากการเมือง ซึ่งสังคมก็ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า ‘การเมือง’ ที่กองทัพไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวหมายรวมถึงอะไรบ้าง หรือภารกิจแบบไหนที่กองทัพห้ามแตะ 

ส่วนตัวคิดว่าข้อนี้เป็นไปได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้ข้อเรียกร้องปฏิรูปกองทัพเสียงดังมาก และที่สำคัญกองทัพและรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองไปมากแล้ว 

แต่จะทำข้อแรกได้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในเชิงระบอบด้วย ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปรับอำนาจของกองทัพก่อนแล้วค่อยลงมือปฏิรูป ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ตัวผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหาร ไม่ใช่ว่าไล่ประยุทธ์ออกจากเก้าอี้นายกฯ แล้วได้พลเอกประวิตร (วงษ์สุวรรณ) มาแทน ต้องให้พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจ ยึดโยงกับประชาชนและสะท้อนอำนาจประชาชนอย่างชัดเจน มีความกล้าหาญที่จะปฏิรูปกองทัพ 

แต่มันไม่ง่าย เราไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตอนนี้ฝ่ายชนชั้นนำและกองทัพไม่ยอมถอยเลยเพราะการต่อสู้ครั้งนี้เดิมพันสูง ถ้าแพ้ เขาต้องเสียเยอะหรืออาจจะไม่เหลืออะไรเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่รู้เลยว่าวิกฤตการเมืองไทยจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน แต่เชื่อว่าในระยะยาวฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น


เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนจากรายการ 101 Policy Forum #13 : ปฏิรูปกองทัพ: รื้ออำนาจหลากมิติของกองทัพในสังคมไทย วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00-16.30 น. และสัมภาษณ์เพิ่มเติม ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save