fbpx

“ความวุ่นวายไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย” ทบทวนนิยามสันติวิธี กับ ภัควดี วีระภาสพงษ์

กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง

ช่วงที่ผ่านมานอกเหนือไปจากข่าวคราวการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นระยะ สิ่งที่มักปรากฏบนหน้าข่าวควบคู่กันคือภาพเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนสวมชุดป้องกันเต็มยศ พร้อมใช้เครื่องมือเหล่านี้สลายการชุมนุมและจับกุมผู้ประท้วงด้วยความรุนแรง

พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงคือหนึ่งในจุดที่เกิดเหตุปะทะมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำเกินกว่าเหตุเสมอมา ประชาชน – โดยเฉพาะเยาวชนจำนวนหนึ่งจึงปฏิบัติการตอบโต้ด้วย ‘สันติวิธี’ ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘เยาวรุ่นทะลุแก๊ส’ และ ‘ทะลุแก๊ซ

เพียงแต่ ‘สันติวิธี’ ของพวกเขาต่างไปจาก ‘สันติวิธี’ ที่สังคมไทยเคยเห็น รู้จัก หรือเคยยึดมั่นเป็นสรณะก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดการถกเถียงถึงนิยามของสันติวิธี ขอบเขต และการยอมรับจากฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง

อะไรคือ ‘สันติ’ อะไรคือ ‘ความรุนแรง’ แล้วอะไรคือ ‘ความวุ่นวาย’   

ต่อคำถามเหล่านี้ 101 ต่อสายคุยกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาการต่อสู้ด้วยสันติวิธีของขบวนการภาคประชาชนทั้งในและนอกประเทศเพื่อค้นหาคำตอบ ในฐานะผู้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด สิ่งที่ภัควดียืนยันอย่างหนักแน่นคือ สันติวิธีไม่อาจถูกตีกรอบจำกัดจากมุมมองคนที่อยู่วงนอกของการปะทะ

เพราะในโลกที่การต่อกรกับอำนาจรัฐเต็มไปด้วยอุปสรรค น้ำตา และหยาดเหงื่อ การจำกัดขอบเขตที่แคบเกินไป อาจเป็นการลิดรอนอำนาจจนไม่สามารถปกป้องผู้ประท้วงบนสนามจริงก็เป็นได้


ช่วงที่ผ่านมา เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงอยู่เนืองๆ บ้างมองว่าผู้ชุมนุมเริ่มยกระดับใช้ความรุนแรงตอบโต้ ไม่เป็นสันติวิธีอย่างเก่าแล้ว คุณมีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ก่อนอื่นเราคงต้องมาทบทวนเรื่องนิยามความรุนแรงกันให้ชัดเจนว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมทำขณะนี้ไม่ได้ถือเป็นความรุนแรงอย่างที่ฝ่ายรัฐพยายามสร้างภาพขึ้นมา เจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่ใช้ความรุนแรงเกินสัดส่วนในการควบคุมฝูงชน ทั้งรถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง หรือรุมตีด้วยกระบอง ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อผู้ชุมนุมมาโดยตลอด แม้กระทั่งการปะทะกับผู้ชุมนุมที่ดินแดงเอง เจ้าหน้าที่ก็ใช้มาตรการความรุนแรงมากเกินไป ต่อให้เราไม่พูดว่าใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน มองง่ายๆ แค่วิธีการของผู้ชุมนุม การยิงหนังสติ๊ก ปาพลุ หรืออะไรก็ตาม มันไม่สามารถทำร้ายร่างกาย คฝ. ที่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวครบถ้วนได้ ระยะทางก็อยู่ห่างกัน ปาไปก็ไม่รู้ว่าจะโดนไหม หลายวันที่เกิดการปะทะ เราก็ไม่ค่อยได้ยินรายงานว่า คฝ.จะบาดเจ็บสักเท่าไหร่ ยกเว้นมีแผลถลอกอะไรบ้าง อาจจะมีครั้งเดียวที่ได้ยินว่าผู้ชุมนุมขี่มอเตอร์ไซค์ชนเจ้าหน้าที่ แต่เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเจตนาชนหรือต้องการหลบหนีแล้วบังเอิญชนกันแน่ นั่นเป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังยืนยันว่าการกระทำของผู้ชุมนุมที่ดินแดงไม่ได้รุนแรงถึงขั้นต้องใช้มาตรการแบบที่ คฝ. ใช้ในปัจจุบันมาจัดการ ถ้าเราเทียบกับการประท้วงในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือที่อื่นๆ ทั่วโลก สิ่งที่ผู้ชุมนุมดินแดงทำเป็นสิ่งปกติในประเทศโลกที่หนึ่ง อยู่ในขอบเขตของสันติวิธี เพราะผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ทำร้ายคนที่ผ่านไปมาหรือไปเผาทำลายทรัพย์สินของประชาชนคนอื่น


ต่อยอดจากผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ปัจจุบันเกิดกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สและทะลุแก๊ซที่ประกาศว่าจะเคลื่อนไหวด้วย ‘สันติวิธีเชิงตอบโต้’ ในฐานะผู้ที่ศึกษาเรื่องการต่อสู้ด้วยสันติวิธี คำนิยามของสันติวิธีในระดับสากลเป็นอย่างไร สังคมไทยเข้าใจมันดีพอหรือยัง

เดิมสังคมไทยนิยามสันติวิธีควบคู่กับแนวคิดทางศาสนา เพราะคนที่เป็นนักสันติวิธีส่วนใหญ่เป็นนักศาสนาหรือนับถือศาสนาอย่างเข้มข้น จึงมักนิยามสันติวิธีในแง่เป้าหมายและอุดมการณ์ผูกกับศาสนา แต่ความจริงแล้วถ้ามองจากคนที่ต่อสู้ประท้วงกับอำนาจรัฐทั่วโลก สันติวิธีเป็นแค่วิธีการอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย วิธีการเหล่านี้เกิดจากการปฏิบัติในโลกความเป็นจริง ซึ่งมีตัวแปรมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการลื่นไหลไปตามสถานการณ์ ดังนั้นการนิยามสันติวิธีจึงแตกต่างจากคำนิยามของนักวิชาการสายทฤษฎีในห้องเรียนห้องแอร์

เนื่องจากสันติวิธีเป็นเครื่องมือของคนที่อ่อนแอกว่าในการต่อสู้ โดยทั่วไป นักสันติวิธีสายปฏิบัติจึงพยายามนิยามให้กว้างที่สุดเพื่อเพิ่มอำนาจให้คนอ่อนแอ เบื้องต้นเราจะนิยามว่าเป็นวิธีที่ไม่ทำร้ายร่างกายสิ่งมีชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ และไม่ทำลายทรัพย์สินของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่คู่กรณีกัน แค่นั้นเอง

ถ้าผู้ประท้วงบอกว่าจะชุมนุมโดยสันติ แต่โกรธเกรี้ยวและลุกขึ้นตอบโต้เมื่อมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐนั่นก็เป็นเรื่องปกติในโลกการต่อสู้ ปัญหาคือบางครั้งสังคมไทยเข้าใจว่าสันติวิธีต้องไม่ตอบโต้อะไรเลย ไปตั้งธงว่าสันติวิธีที่ดีควรทำแบบสัตยาเคราะห์ของคานธี ทั้งที่สันติวิธีของคานธีก็ทำได้แค่ในอินเดียเท่านั้น เพราะบริบทสังคมของเขามีระบบวรรณะ มีการถูกกระทำมาเนิ่นนาน จนทำให้ผู้ถูกกระทำเกิดความอดทน และใช้การยอมถูกกระทำเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการต่อสู้ ในความเป็นจริง วิธีแบบนี้ทำได้ยากในประเทศอื่น คนส่วนใหญ่เมื่อเผชิญกับความรุนแรง การปะทะ ถูกกระทำ ก็มีอารมณ์โกรธเกิดขึ้นทั้งนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยิงกระสุนยางมา เราโมโห ขว้างขวดน้ำกลับไป ซึ่งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่คุณจะไม่นับว่าเป็นสันติวิธีหรือ? การตอบโต้เพราะความโกรธจากการถูกกระทำเป็นความรุนแรงในสายตาคุณหรือ?

ถ้าสังคมนิยามความรุนแรงแคบแค่นี้ ผู้ชุมนุมคงทำอะไรไม่ได้เลย และมันจะเป็นการลิดรอนอำนาจของคนอ่อนแอให้ไร้อำนาจยิ่งขึ้นไปอีก ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่แล้วก็ยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอีก เพราะไม่ว่าผู้ชุมนุมจะทำอะไร ตอบโต้อะไรไปก็กลายเป็นฝ่ายผิดเสมอ

ในแง่หนึ่ง นิยามของสันติวิธีอาจจะเป็นพื้นที่เทาๆ อยู่พอสมควร พอทุกอย่างเป็นเรื่องของการปฏิบัติ โลกนี้ก็ไม่มีอะไรที่สามารถตีเส้นแบ่งได้ชัดเจนเหมือนงานวิชาการที่ยึดหลักการและเหตุผล ส่วนตัวมองว่าสันติวิธีของประเทศไทยเคยถูกผูกขาดนิยามโดยนักวิชาการที่ไม่ได้ลงมาประท้วงจริง ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งจริงๆ มากเกินไป จึงอยากเรียกร้องให้ประชาชนที่ลงไปปะทะมีโอกาสเป็นผู้นิยามสันติวิธีของตัวเอง เพราะเขามีประสบการณ์ สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกตอนปะทะ ถ้าให้คนที่ลงไปปฏิบัติจริงเป็นผู้นิยามจะสร้างพื้นที่ของสันติวิธีในไทยได้มากกว่าเดิม

นักสันติวิธีในต่างประเทศหลายคนก็เป็นคนลงไปปฏิบัติเอง บางครั้งเราอ่านงานของเขาแล้วก็ตกใจเหมือนกันว่าสันติวิธีไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจเสมอไป มันไปไกลพอสมควร ท้าทายสังคมพอสมควร เช่น มีกรณีที่ปิดล้อมประท้วงหน้าโรงเรียนลูกผู้นำเผด็จการ ก็เป็นเส้นเทาๆ ที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าควรหรือไม่ควรทำ หรืออย่างกรณีของพม่าที่ลงรูปครอบครัวของฝ่ายเผด็จการที่มีธุรกิจในต่างประเทศบนโซเชียลมีเดีย ก็มีการถกเถียงในบ้านเขาเช่นเดียวกัน

ส่วนเรื่องทะลุแก๊ส เราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่พวกเขาได้นิยามสันติวิธีของตัวเอง แต่สังคมก็ถกเถียงกันได้ และจับตามองได้ว่าการตอบโต้จะไปถึงระดับไหน แต่เท่าที่เห็น พวกเขาก็มีขอบเขตในการตอบโต้ที่ไม่เกินเลย เคยได้ยินจากบางสื่อที่ไปสัมภาษณ์เขาก็บอกว่า ไม่ได้คิดจะทำร้ายหรือฆ่าฝ่ายตรงข้าม แค่อยากตอบโต้บ้างเท่านั้น โดยเลือกตอบโต้ในแบบที่ไม่ได้ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บอะไรมาก นี่เป็นสิ่งดีที่อยากให้สังคมค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน



สันติวิธีถูกนิยามจากการลงมือปฏิบัติจริง มีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทสังคมแต่ละแห่ง เช่นนั้นการกำหนดว่าวิธีการแบบไหนเป็นสันติวิธีก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องจากคนในสังคมส่วนใหญ่หรือเปล่า

นักปฏิบัติการสันติวิธีต้องเป็นผู้นำของสังคมในการผลักให้เกิดทัศนคติที่ต่างไปจากเดิมด้วย พูดง่ายๆ ว่านักสันติวิธีเชิงปฏิบัติคือคนที่สั่นคลอนสังคมให้คิดใหม่ มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ช่วงแรกคนในสังคมแทบทุกสังคมมักติดอยู่กับแนวคิดเดิมๆ กฎระเบียบเดิมๆ และนักสันติวิธีจะรับบทบาทท้าทาย ตั้งคำถามต่อสังคม ทำให้คนสะดุดกับความเชื่อเดิมจนต้องลุกขึ้นมาถกเถียงกันว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด

สังคมไทยเองก็เป็นสังคมที่นิยมในความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่นิยมอะไรก็ตามที่มาท้าทายระเบียบ แต่ในการต่อสู้ก็มีการท้าทายเกิดขึ้นบ่อย พอเกิดบ่อยคนก็เคยชิน และรู้สึกว่าบางครั้งการท้าทายระเบียบไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย แต่ช่วยทำให้เสียงของคนที่ต่อสู้อยู่มีผู้ได้ยินมากขึ้น ยกตัวอย่างในขบวนการประชาธิปไตยบ้านเราเอง เมื่อเจอกรณีสาดสีครั้งแรกก็ถกเถียงกันมากมาย ยอมรับไม่ได้ มาตอนนี้ไม่มีใครเถียงกันแล้ว เพราะเมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ คนก็เปลี่ยนความคิด การสาดสีถูกยอมรับว่าเป็นสันติวิธีที่ทำได้ เหมือนการเผารูป เผาหุ่น ที่ผ่านการถกเถียงแล้วก็กลายเป็นที่ยอมรับ

แม้กระทั่งคาร์ม็อบ ถ้าเป็นสมัยก่อนคงมีคนมองว่านี่ไม่ใช่สันติวิธีเพราะมีการปิดถนน ทำให้การจราจรติดขัด มีเสียงดังหนวกหูมาก แต่พอเกิดขึ้นบ่อย คนมีประสบการณ์มาร่วมชุมนุมแบบนี้มากขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่านี่เป็นวิธีการประท้วงแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำได้ในการต่อสู้ จะเห็นได้ว่านักสันติวิธีที่ลงไปประท้วงได้ผลักพรมแดนของนิยามสันติวิธีในสังคมไทยออกไปไกลกว่าเดิมพอสมควร ทำให้คนมาร่วมดีเบตกันและยอมรับวิธีหลายรูปแบบมากขึ้น

ปฏิบัติการของกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สและทะลุแก๊ซตอนนี้ก็กำลังผลักพรมแดนวิธีคิดเรื่องสันติวิธีออกไปให้กว้างขึ้นอีกเช่นกัน เขาชวนให้สังคมคิดว่าวิธีการประท้วงแบบไหนทำได้หรือไม่ได้ ผิดหรือไม่ผิด ซึ่งเราไม่ได้หมายถึงผิดในเชิงกฎหมาย แต่ผิดหรือไม่ผิดในความคิดของสังคม ถ้าเป็นเมื่อก่อนสังคมไทยคงยอมรับสิ่งที่ผู้ชุมนุมบริเวณดินแดงทำไม่ได้เลย คงถูกตำหนิว่าเป็นแก๊งอันธพาลป่วนเมือง แต่ปัจจุบันที่สังคมถูกผลักพรมแดนทางความคิดออกไปกว้างขึ้น แม้ไม่แน่ใจว่าคนทั่วไปมองอย่างไร แต่อย่างน้อยในขบวนการประชาธิปไตยด้วยกันก็มีคนที่สนับสนุน มองว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้เกินเลย ประชาชนบริเวณดินแดงก็ดูจะไม่พอใจ คฝ. มากกว่า เพราะถ้าไม่มี คฝ. ผู้ชุมนุมก็กลับบ้าน คนพากันตั้งคำถามกับการผูกขาดนิยามความรุนแรงและการใช้ความรุนแรงของรัฐมากกว่าจะตำหนิกลุ่มที่ออกมาตอบโต้ รวมถึงมองว่าการประท้วงในปัจจุบันมีวิธีที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนักสันติวิธีจริงๆ ก็เป็นแบบนี้ เป็นนักก่อกวนที่ทำให้สังคมที่ยึดติดอะไรเดิมๆ หลุดไปจากความเคยชิน ต้องขบคิดเรื่องวิธีการต่อสู้แบบต่างๆ ทำให้ผู้มีอำนาจไม่สบายใจ และทำให้สังคมไม่สบายใจด้วย


ในขบวนการภาคประชาชนตอนนี้ เราได้ยินคำว่าต่อสู้ด้วยสันติวิธีจากหลากหลายกลุ่ม แต่มีกลุ่มไหนที่ผูกขาดนิยามหรือมีอิทธิพลกำหนดแนวทางการต่อสู้ภาพรวมมากที่สุดบ้างไหม

สมัยก่อน นักวิชาการด้านสันติวิธีดูคล้ายจะมีบทบาทผูกขาดนิยามตรงนี้ไว้ โดยบางทีเขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ในระยะหลังการผูกขาดแทบไม่มีเหลือแล้ว ตอนนี้ขึ้นอยู่กับนักปฏิบัติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขบวนการตอนนี้มีคนมาเข้าร่วมชุมนุมประท้วงมากมายจากคนหลายกลุ่ม หลายชนชั้น ไม่เหมือนการชุมนุมสมัยก่อนที่มาร้อยคนก็แทบจะร้องไห้ดีใจ พอมีคนเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ และไม่มีแกนนำ ก็ยากที่จะผูกขาดนิยามสันติวิธีหรือกำหนดแนวทางไว้ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  


เป้าหมายสำคัญของขบวนการต่อสู้คือการหาแนวร่วมประชาชนให้ได้มากที่สุด เมื่อมีการยกระดับของสันติวิธี มีการโต้ตอบเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น มันจะกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้คนหันหน้าหนี เข้าร่วมการชุมนุมน้อยลง เพราะเกรงว่าจะเกิดการปะทะหรือเกิดเหตุบานปลายหรือเปล่า 

เท่าที่สังเกตมา เวลามีผู้ชุมนุมหลายแบบหลายแนวทางมาร่วมชุมนุมด้วยกันก็มักมีการแบ่งพื้นที่กันอยู่พอสมควร เช่น กรณีชุมนุมใหญ่ในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา เพื่อประท้วง WTO เมื่อปี 1999 ก็มีคนยึดแนวทางสันติวิธีที่หลากหลายมารวมกัน แล้วเขาก็ตกลงแบ่งโซนกันไปเลย คนที่ใช้สันติวิธีประท้วงทั่วๆ ไป อยู่ในโซนสีเขียว กลุ่มสายบวกเหมือนทะลุแก๊ส ใช้สันติวิธีเชิงตอบโต้ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐอยู่โซนสีแดง ใครสะดวกแบบไหนก็ไปอยู่โซนนั้น

ในขณะที่การชุมนุมของเราอาจไม่ได้มีข้อตกลงชัดเจนขนาดนั้น แต่ก็เหมือนมีการแบ่งพื้นที่ระดับหนึ่งจากการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไปโดยปริยาย อย่างกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สหรือคนของทะลุแก๊ซอาจจะไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าบ้าง กลุ่มอื่นๆ บ้าง แต่เมื่อเริ่มปะทะเขาก็จะกลับมาที่ดินแดง ไม่มีการปะทะ ณ จุดที่ชุมนุมตอนแรก หรือถ้ามีก็จะปะทะหลังประกาศยกเลิกการชุมนุมแล้ว เมื่อคนจำนวนหนึ่งกลับไปแล้วถึงเริ่มปฏิบัติการ เขาไม่ได้ดื้อรั้นจะพาใครจากที่ชุมนุมหรือแกนนำกลุ่มอื่นๆ มาร่วมปะทะด้วย ลักษณะการมาบรรจบกันในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นก็แยกไปปฏิบัติการ ถึงเวลาแล้วก็มาบรรจบกันใหม่ก็อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติในขบวนการประท้วงที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีแกนนำที่เป็นกองบัญชาการสั่งลงมาว่าควรทำอะไรบ้าง เป็นลักษณะขบวนการที่เกิดขึ้นเอง

หากถามว่าเมื่อเกิดวิธีการแบบนี้ มีสายบวกเหล่านี้ คนอื่นๆ จะกล้ามาเข้าร่วมการชุมนุมไหม คงต้องบอกว่าถ้าคุณเลือกที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว สิ่งแรกที่คุณต้องมีคือทักษะในการประเมินความเสี่ยงและรับผิดชอบตัวเอง บนโลกนี้เราไม่สามารถออกมาต่อสู้ทางการเมืองโดยคิดว่าจะปลอดภัยได้ตลอดเวลา คุณต้องประเมินความเสี่ยงให้เป็น และการฝึกประเมินก็สามารถดูได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแพตเทิร์นซ้ำๆ อย่ากลัวจนเกินไปว่าจะมีคนไปบวกกับตำรวจแล้วจะเดือดร้อนถึงเรา เพราะเวลาคุณไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมจริงๆ คุณจะรู้ว่าแนวปะทะอยู่ตรงไหน หลักๆ คืออยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ คฝ. ถ้าคุณไม่ได้อยู่ใกล้ก็ไม่เป็นอันตราย ต่อให้มีแก๊สน้ำตาหรือรถฉีดน้ำมา คุณก็ยังหลบเลี่ยงได้

ส่วนตัวมองว่ามันไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้คนไม่กล้าออกมาชุมนุมหากคนคนนั้นประเมินความเสี่ยงเป็น ถ้ามัวแต่กลัวการปะทะ ประเมินความเสี่ยงไว้สูงตลอดเวลา คนก็คงไม่กล้าทำอะไรเลย



เมื่อเกิดการปะทะกันบ่อยครั้ง ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอาจถูกกลบด้วยกระแสข่าวการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ เราจะดึงข้อเรียกร้องของขบวนการประชาธิปไตยให้กลับมาอยู่ในบทสนทนาของสังคมได้อย่างไรบ้าง

หากพูดถึงปัญหากระแสข่าวกลบ เราคงต้องมองการทำงานของสื่อมวลชนเป็นหลักว่าเน้นรายงานเหตุการณ์การชุมนุมโดยให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร การที่สื่อหรือแม้แต่โลกโซเชียลให้ความสนใจกับการรายงานความรุนแรงจากเหตุปะทะมากกว่าเรื่องอื่นก็อาจจะเป็นปัญหา แต่สำหรับการดึงกระแสข้อเรียกร้องให้กลับมาเป็นที่พูดถึง ส่วนตัวคิดว่าทุกคนรู้ดีว่าประเด็นของขบวนการคืออะไร หากจะนิยามตนเองว่าเป็นพลเมืองที่มีสำนึกทางการเมือง เราก็ควรตระหนักถึงเป้าหมายตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มไหน จะทะลุฟ้า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม REDEM หรือเหล่าทะลุแก๊ส ทุกขบวนการล้วนเกิดขึ้นมาเพื่อดิสรัปต์ระบบ ปั่นป่วนระบบที่เป็นอยู่ รวมถึงกลุ่มที่พยายามต่อสู้ในสภา พรรคการเมืองบางพรรคที่พยายามผลักดันแก้ไขกฎหมาย เราล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือปั่นป่วนระบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หากบอกว่าอยากให้ขบวนการมีการพูดถึงประเด็นข้อเรียกร้องเข้มแข็งกว่านี้ คนที่ทำหน้าที่ชูประเด็นหลักๆ ก็ถูกจับกุมหมดเลย มันเป็นหน้าที่ของคนข้างนอกที่ต้องผลักดันกันต่อไป เห็นเป้าหมายที่ถูกส่งต่อมาให้ชัด อย่าไปเฉไฉไขว้เขวจากสื่อหรือกระแสบนโซเชียลมีเดียที่พูดถึงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนคอยบอกตลอดเวลาหรอกว่าประเด็นการต่อสู้อยู่ตรงไหน คนควรรู้คิดได้เอง ป่วยการที่จะไปโทษนั่นโทษนี่


สันติวิธีเชิงตอบโต้เป็นการต่อสู้แบบหนึ่งของประชาชน แต่ ‘เส้น’ ของผู้ชุมนุมควรอยู่ตรงไหน จุดไหนที่ไม่อาจยอมรับได้

สิ่งที่รับไม่ได้มากที่สุดคือผู้ชุมนุมรุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ เอาปืนไปยิงตำรวจ แต่เผารถตำรวจนี่รับได้ โดยต้องเป็นการเผารถที่ไม่มีตำรวจอยู่ข้างในนะ เพราะรถตำรวจถูกพิจารณาว่านำมาใช้ก่อความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงสามารถป้องกันตัวด้วยการเผามัน

ส่วนการปาพลุ เข้าใจว่าคงไม่สามารถทำให้ตำรวจเจ็บตัวอะไรได้เท่าไหร่ แต่เรื่องปาหินก็อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามเกิดการบาดเจ็บได้ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้สร้างอันตรายร้ายแรงเนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเครื่องป้องกันพอสมควร แต่ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องเทาๆ อยู่ อย่างไรก็ดี เราไม่ควรให้ใครมาคอยขีดเส้นแบ่ง มันควรกำหนดนิยามและวิธีการโดยคนที่ไปประท้วงจริงๆ


ถ้าเป็นการทำลายอาคารสถานที่ราชการล่ะ

มันก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่นะ อย่างล่าสุด ในกัวเตมาลาเกิดการประท้วง มีผู้ประท้วงบุกเข้าไปเผาบางส่วนของรัฐสภาเพื่อแสดงออกว่าไม่พอใจกระบวนการการเมืองในรัฐสภา สื่อที่นั่นก็ไปถามประชาชนหลายคนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วยบอกว่าถูกแล้ว การเผาเป็นการสะท้อนความโกรธแค้นของประชาชนและความย่ำแย่ของการเมืองในสภาที่ชัดเจน ด้านคนที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ก็ให้เหตุผลว่าเผาทำลายไป คนที่ต้องเสียเงินก็คือประชาชน

ถึงที่สุดแล้ว เรามองว่าการเผาทำลายสถานที่ราชการพังไปก็สร้างได้ ซ่อมแซมได้ และไม่มีใครลำบากยิ่งไปกว่าประชาชนที่ต้องเสียภาษีเพื่อนำไปสร้างใหม่ อย่างตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็มีการเผากองสลาก สุดท้ายก็สร้างใหม่ได้ แต่การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลซึ่งทำให้ประชาชนต้องอดอยากยากแค้น สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน มีใครบ้างที่สามารถกอบกู้ชีวิตของเขากลับคืนมาให้เขา ให้ญาติ ให้คนรอบข้าง ความสูญเสียพวกนี้เสียแล้วเสียเลย ทำไมคนถึงกังวลเรื่องเผาหรือทำลายอาคาร ข้าวของต่างๆ แต่ไม่กังวลกับความตายของคนเป็นหมื่นๆ จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐ เรื่องหลังมันร้ายแรงกว่ากันมากนะ

ถ้าเราจะไม่สนับสนุนการเผาทำลายสถานที่ก็มีเหตุผลแค่การเผาทำลายอาคารใหญ่ๆ เผาเป็นวงกว้าง อาจจะมีคนติดอยู่ในอาคารและได้รับผลกระทบโดยที่คนทำไม่ได้ตั้งใจ และมีโอกาสบานปลายหากไฟลามไปติดอย่างอื่น เกิดการระเบิด หรือทำให้บ้านเรือนของประชาชนบริเวณใกล้เคียงเสียหาย เป็นความกังวลเรื่องผลกระทบที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ใช่เพราะมันรุนแรงจนเกินเหตุ 


เคยมีผู้วิจารณ์ว่าผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธีจะสามารถแสดงออกอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ผิดหลักกฎหมาย คุณคิดว่าการใช้กฎหมายเป็นเส้นเวิร์กไหม

ไม่เลย มองในทางกลับกัน ถ้าบ้านเมืองดี กฎหมายดี คงไม่มีการประท้วงเกิดขึ้น ทุกครั้งที่คนออกมาประท้วงก็เพราะบ้านเมืองย่ำแย่ กฎหมายถูกใช้อย่างผิดๆ หรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนในสังคม ไม่ช่วยทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในรัฐชาติสมัยใหม่ การประท้วงทุกแบบย่อมผิดกฎหมายบางข้ออยู่แล้ว เพราะรัฐชาติในปัจจุบันเกิดมามีโครงสร้างปกป้องอำนาจของชนชั้นนำและเศรษฐกิจทุนนิยมให้มีเสถียรภาพ ซึ่งหากรัฐต้องการรักษาเสถียรภาพของทุนนิยมก็ต้องผูกขาดการใช้ความรุนแรง ออกกฎหมายเอาผิดการประท้วง เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่แรงงานในประเทศเริ่มประท้วง ระบบทุนนิยมจะไปต่อไม่ได้ กฎหมายจึงถูกออกแบบให้ละเอียดหยุมหยิมมากที่สุดจนการประท้วงเป็นไปไม่ได้ เป็นลักษณะแบบเดียวกันแทบทั้งโลก

แต่ถ้าประชาชนเดือดร้อน มันก็จำเป็นต้องทำผิดกฎหมายเพื่อลุกฮือต่อต้านรัฐ ทำให้รัฐมองเห็นความทุกข์ สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น การใช้กฎหมายเป็นเส้นของสันติวิธี บอกว่าต้องทำแต่สิ่งที่ถูกกฎหมายจึงไม่เวิร์ก เพราะถ้าผู้มีอำนาจเขียนไม่ให้มีการประท้วงเลย เราก็ต่อสู้เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยสิ อย่าลืมว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้น ถ้าประชาชนในสังคมนั้นมีเจตจำนงร่วมกันว่าต้องการการเปลี่ยนแปลง อย่าว่าแต่กฎหมาย รัฐธรรมนูญก็ฉีกได้ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็ยังได้ ประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่อยู่เหนือกฎหมายบ้านเมือง เป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ กฎหมายมีศักดิ์ต่ำกว่าเจตจำนงของประชาชนเสมอ  



คุณประเมินภาพรวมของกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สและทะลุแก๊ซไว้อย่างไร พวกเขาจะกลายเป็นขบวนการใหม่ไหม มีข้อสังเกตอะไรที่น่าสนใจ

กลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สและทะลุแก๊ซเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผน ไม่เหมือนกับขบวนการภาคประชาชนอื่นๆ ที่มีการออกแบบและวางแผนจัดตั้งกันมาอย่างชัดเจน ทุกอย่างเป็นผลลัพธ์จากสภาพปัญหาของสังคมและสถานการณ์ที่ผลักให้มาถึงจุดนี้

พวกเขาไม่มีแกนนำ ถึงจะมีเพจ แต่เราไม่แน่ใจว่าจะสามารถเรียกคนดูแลเพจว่าแกนนำได้ไหม เขาสื่อสารหรือวางแผนกับคนที่มาชุมนุมจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นแค่คนที่เห็นด้วยกับแนวทางสันติวิธีเชิงตอบโต้แล้วสร้างเพจขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับคนนอกให้เข้าใจพวกเขา เอาเข้าจริง เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเยาวชนที่ออกไปชุมนุมตรงดินแดงอ่านเพจทะลุแก๊ซหรือเยาวรุ่นทะลุแก๊สบ้างไหม

ภาวะไร้แกนนำอาจจะมีปัญหาเรื่องวิธีควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่สิ่งที่อยากชวนคิดไปไกลกว่าการควบคุมคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งไม่มีแกนนำและเป็นเยาวชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวแบบนี้ มันเกิดขึ้นเพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ตอนนี้กลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สถือว่าเป็นภาพสะท้อนปัญหาของสังคมว่ามีเด็กจำนวนมากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง พบความสูญเสียในครอบครัว จนเกิดเป็นความโกรธแค้นต่อรัฐบาล

ถ้าต้นตอมาจากสภาพสังคมในปัจจุบัน การไม่แก้ปัญหาสังคม ไปแก้ปัญหาแค่เรื่องตัวผู้ชุมนุมบอกให้ขบวนการภาคประชาชนอื่นๆ เข้าไปดูแลเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ หรือให้มีคนเข้าไปช่วยจัดตั้งเป็นขบวนการเพื่อให้มีคนคุม ทุกคนก็รู้ดีว่าไม่มีใครฟังและไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เด็กเหล่านี้ออกมาปะทะกับเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ทุกวันเพียงเพื่อจะไปบ้านประยุทธ์ อยากให้ประยุทธ์ลาออก คำถามคือทำไมประยุทธ์ไม่ออกมาคุยหรือส่งตัวแทนมาคุย ออกมารับฟังความเห็นของพวกเขา สังคมแบบไหนที่ปล่อยให้เยาวชนออกมาสู้แบบนี้ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ มีอารยะหน่อย เขาต้องพยายามแก้ไขอย่างสุดความสามารถ แต่รัฐบาลไทยไม่สนใจ ส่งแต่ คฝ. มาปราบ ไม่เคยมาคุยหรือทำความเข้าใจปัญหาอะไรเลย ไม่มีรัฐบาลดีๆ ที่ไหนในโลกนี้เขาทำกัน

ถ้าเกิดปัญหาบานปลายกลายเป็นจลาจลขึ้นมา เราคิดว่าเป็นความผิดของรัฐบาลเต็มๆ


หากปฏิบัติการของเหล่าทะลุแก๊สไม่มีแกนนำ ก็ฟังดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวบนสนามจริงขึ้นอยู่กับพวกเขา แสดงว่าคนที่ออกไปปะทะต้องเข้าใจสันติวิธีพอสมควร

ก็ใช่ เท่าที่สังเกตมาพวกเขาก็เข้าใจในระดับหนึ่ง เคยได้ยินเด็กช่างกลคนหนึ่งที่ไปเข้าร่วมให้สัมภาษณ์ว่าพวกปืนไทยประดิษฐ์อะไรแบบนี้พวกผมหาได้นะ แต่ไม่เคยคิดจะใช้ ก็แสดงว่าเขาเข้าใจพอสมควรว่าเส้นของสันติวิธีควรอยู่ตรงไหน


ส่วนหนึ่งเยาวรุ่นทะลุแก๊สและกลุ่มทะลุแก๊ซเกิดขึ้นโดยมีที่มาจากความโกรธต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นการตอบโต้เอาคืนแบบหนึ่ง แต่เราจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติการของพวกเขาไปไกลกว่าการปะทะเพื่อเอาคืนรัฐ เคลื่อนไหวเป็นรอบๆ แล้วจบไป 

สิ่งที่เราทำได้คือร่วมกันกดดันให้ประยุทธ์ลงมาคุยหรือส่งตัวแทนมารับรู้ปัญหาและแก้ไขปัญหานั่นล่ะ อย่างที่บอกว่าตอนนี้ปัญหาของทะลุแก๊สเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่ความไม่พอใจทางการเมืองอย่างเดียว และไม่ได้เพิ่งเกิด แต่สะสมมาจนเกิดการระเบิด เหมือนกรณี Black Lives Matter ของสหรัฐฯ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังแล้วเกิดการปะทุขึ้นมา แม้ไทยจะไม่ถึงขั้นก่อจลาจลแบบนั้น แต่รัฐต้องพยายามหาทางแก้ปัญหาให้ได้

ส่วนในระยะยาว เรามองเรื่องการจัดตั้งเป็นขบวนการทางสังคม มันอาจจะใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี แต่ถ้ามีคนที่เป็นนักจัดตั้งลงไปทำงานกับกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊สได้ เราอาจจะได้ขบวนการทางสังคมที่เข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพราะเท่าที่สังเกตดู ถึงพวกเขาจะอายุน้อย และไม่ได้ช่ำชองทฤษฎีอะไรมาก แต่พวกเขามีจิตสำนึกทางการเมืองที่ชัดเจน แม้ผ่านการปะทะกับ คฝ. มาหลายวัน เป้าหมายก็ยังไม่เปลี่ยน เขาชัดเจนมากว่าเป้าหมายคือต้องการไล่ประยุทธ์ เวลาปะทะก็ควบคุมไม่ให้บานปลายเป็นการจลาจล ยังคงอยู่ในขั้นการประท้วงมาตลอดหลายสิบวัน  

หากเรามองเหตุการณ์ในต่างประเทศ อย่างกรณีเกิดจลาจลจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ หรือจลาจลในลอนดอนปี 2011 นั่นเกิดการฆ่า ทำร้าย เผาบ้าน ทุบรถ ทำลายทรัพย์สินของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ความโกรธถูกแสดงออกมาอย่างไร้ทิศทางมากกว่ากลุ่มทะลุแก๊สด้วยซ้ำ เด็กทะลุแก๊สแม้อายุน้อย แต่ก็แสดงออกอย่างมีทิศทาง ไม่บานปลาย ไม่ระบายความโกรธใส่รถชาวบ้าน เผาบ้าน ปล้น ไม่มีเลย เขาสามารถควบคุมทิศทางการประท้วงเองได้ 


เราจะสื่อสารหรือตักเตือนคนที่ลงไปปะทะหน้างานเรื่องการควบคุมตัวเอง ไม่ปล่อยให้บรรยากาศพาไป จนเป็นข้ออ้างให้รัฐใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างไรได้บ้าง

เราสามารถช่วยกันส่งเสียงออกไปได้ ส่วนตัวเวลามีใครมาถามเรื่องนี้ เราก็พยายามพูดเรื่องการไม่ทำร้ายร่างกายคนอื่นถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย อย่างไรก็ดี หนทางที่จะสื่อสารกับเยาวชนกลุ่มทะลุแก๊สได้ดีที่สุดคืออาศัยการเข้าไปจัดตั้งเป็นขบวนการทางสังคม แต่มันใช้เวลานาน และข้อควรคำนึงคือเยาวรุ่นทะลุแก๊สเป็นวัยรุ่นที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นล่าง เราอาจไม่สามารถใช้วิธีสื่อสารหรือมุมมองของชนชั้นกลางไปคุยกับเขา อย่างการออกสื่อ ลงโซเชียล เขาก็อาจจะไม่ได้อ่าน ไม่เห็นแบบที่เราเห็นก็ได้

ทีนี้ ด้านหนึ่งซึ่งพอทำได้คืออาศัยการที่พวกเขาเคยมาร่วมชุมนุมกับขบวนการต่างๆ ของชนชั้นกลางฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งทะลุฟ้า REDEM คณะราษฎร 2563 สื่อสารเรื่องสันติวิธี ที่ผ่านมาการปราศรัยของแกนนำขบวนการเหล่านี้ ทั้งอานนท์ เพนกวิน รุ้ง คนของทะลุฟ้าจะพูดเรื่องสันติวิธีตลอดเวลา โดยส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อพวกเขามาร่วมชุมนุม ได้รับฟังและรับรู้สิ่งนี้ ก็จะซึมซับความรู้ หลักการเข้าไปนอกเหนือจากเป้าหมายทางการเมือง จิตสำนึกทางการเมือง และนี่อาจจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับการสื่อสารในขณะนี้ด้วย 



ประเมินสถานการณ์การปะทะปัจจุบัน เทียบกับบรรยากาศความตึงเครียดก่อนการล้อมปราบปี 2553 มีความน่ากังวลหรือมีแนวโน้มว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นไหม

รัฐไทยใช้การปราบปรามด้วยความรุนแรงที่ไม่ได้สัดส่วนมาแต่ไหนแต่ไร ในปี 2553 ก็เช่นกัน อ้างว่ามีเรื่องชายชุดดำ ผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่ไม่เคยจับได้สักคน พิสูจน์หลักฐานชัดเจนก็ไม่ได้ หรือถ้ามีหลักฐานก็ไม่มีใครเชื่อลง

มาถึงตอนนี้รัฐเองก็ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทะลุแก๊สเกินกว่าเหตุ แต่ที่เขายังไม่ถึงขั้นใช้กระสุนจริง เพราะถ้ายิงไปแล้ว ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุ 13-15 เป็นรัฐที่ไหนก็อยู่ไม่ได้ ถึงเราจะคิดว่ารัฐไทยไม่ได้มียางอายที่จะใช้กระสุนจริงต่อผู้ชุมนุมไม่ว่าอายุเท่าไหร่หรือเป็นใคร แต่ปัจจัยสำคัญคือกระแสความนิยมต่อรัฐบาลในประเทศตอนนี้ไม่ดีเลย ความไม่พอใจต่อรัฐบาลสูงมาก ไม่เหมือนปี 2553 ที่อย่างน้อยยังมีคนกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐคงประเมินแล้วว่าถ้าใช้คงไม่เป็นผลดีต่อตัวเขา เขาจะใช้เมื่อยามที่ได้เปรียบ ยามที่เขามั่นใจว่าใช้แล้วจะชนะเลยเท่านั้นถึงจะลงมือ


ที่ผ่านมารัฐไทยใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมแบบเกินกว่าเหตุมาตลอด ไม่ใช่แค่ในปี 2553 แต่ยังย้อนไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 – 6 ตุลา 2519 รวมถึงการชุมนุมน้อยใหญ่อื่นๆ การที่ปัญหาเช่นนี้วนซ้ำเดิม มีสาเหตุหรือปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรนอกเหนือไปจากตัวผู้นำรัฐบาลบ้าง    

เป็นเพราะรัฐไทยไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ชนชั้นนำที่มีอยู่ค่อนข้างตัดขาดจากประชาชน ไม่ว่าสถาบันกองทัพ สถาบันกษัตริย์ สถาบันตุลาการ หรืออื่นๆ เวลาทำอะไรก็ไม่ต้องรับผิดรับชอบกับประชาชนเท่าไหร่ เมื่อไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจึงดูคล้ายว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบอาณานิคมมาโดยตลอด คนไทยตกเป็นทาสของเจ้าอาณานิคมที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งถ้าเราย้อนดูยุคสมัยของเจ้าอาณานิคม ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติต่อผู้อยู่ใต้อาณานิคมด้วยความรุนแรงตลอด คนไทยก็ปฏิบัติต่อกันแบบนั้น เจ้าอาณานิคมไม่ได้สนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ถูกปกครอง สิ่งที่เขาต้องการมีแค่การขูดรีดผลประโยชน์ ผลกำไรเท่าที่เขาจะกอบโกยได้จากผู้อยู่ใต้อาณานิคม

มันอาจมีบางช่วงเวลาที่สังคมเราเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชนพอสมควร ช่วงนั้นสภาพชีวิตของคนไทยอาจดีขึ้นมาหน่อย แต่มันก็เป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพราะเกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก รัฐประหารเสร็จก็กลับไปเป็นแบบเดิม ประชาชนคือชีวิตที่ไม่ได้มีความหมายต่อผู้ปกครอง 

ตราบใดที่เรายังตกอยู่ภายใต้สภาพที่สถาบันในสังคมไม่ยึดโยงกับประชาชน มีความเป็นอาณานิคมภายในเช่นนี้ ก็ไม่แปลกที่จะเกิดความรุนแรงเป็นระยะเมื่อเกิดการต่อต้าน นายทาสต้องฆ่าทาสทิ้งเพื่อให้ทาสคนอื่นเห็นเป็นตัวอย่างว่าอย่าได้คิดขัดขืน วนซ้ำกันไปมา  


ในการต่อสู้กับรัฐปัจจุบันนี้ สันติวิธีคือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการต่อกรไหม

สันติวิธีไม่ใช่ว่าดีที่สุดหรอก แต่มันคือเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในยุคปัจจุบัน เพราะรัฐสมัยใหม่เป็นฝ่ายผูกขาดการใช้ความรุนแรงมานาน มีการพัฒนาด้านอาวุธสูงมาก ในการต่อสู้กับรัฐ สำหรับคนที่อ่อนแอกว่า อย่างไรก็ไม่มีทางสะสมอาวุธจนเทียบกับรัฐได้ และเงื้อมมือการควบคุมของรัฐแผ่ขยายออกไปได้เกือบทุกพื้นที่ทางกายภาพ จะสร้างกองทัพจรยุทธ์แบบสมัยก่อนก็แทบเป็นไปไม่ได้

ทางเลือกในการต่อสู้อีกแบบหนึ่งคือการก่อการร้าย ซึ่งจากบทเรียนการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ มันไม่ได้ทำให้เกิดชัยชนะที่สร้างสังคมที่ดีขึ้นมา ประชาชนจึงเหลือทางเดียวคือสันติวิธี ในเมื่อมีทางเดียวก็ต้องใช้ให้มากที่สุด


แล้วสันติวิธีประกันชัยชนะ หรือความชอบธรรมในชัยชนะเสมอไปไหม

ก็ไม่เสมอไป อันที่จริงในหลายประเทศที่มีการต่อสู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหน่อยมักใช้วิธีต่อสู้สองด้าน คือมีทั้งกลุ่มติดอาวุธกับกลุ่มที่ใช้การเจรจาและสันติวิธีควบคู่กันไป มีลักษณะต่อสู้ด้วยอาวุธจนถึงจุดหนึ่งที่รัฐบาลยอมรับ จึงเจรจากันและวางอาวุธ

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายแห่งที่ใช้แค่สันติวิธีอย่างเดียวก็สำเร็จ เช่น การต่อสู้เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับออกุสโต ปิโนเชต์ การเปลี่ยนระบอบเผด็จการซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย มาร์กอสในฟิลิปปินส์ การต่อสู้เพื่อปฏิรูปกองทัพในอาร์เจนตินา เหล่านี้ไม่ได้ใช้กองกำลังติดอาวุธเลย แต่กว่าจะสำเร็จก็ใช้เวลานานพอสมควร อย่างชิลี สู้กันเป็น 20-30 ปี กว่าจะได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราถึงบอกว่ามันไม่ได้ประกันชัยชนะ แต่ในแง่หนึ่ง การต่อสู้ในทุกที่ก็เป็นแบบนี้ เราสู้กันไปเรื่อยๆ โดยอาศัยเจตจำนงอันเข้มแข็งของประชาชนและความหวังว่าสักวันหนึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลง


สุดท้ายในภาวะที่ขบวนการประชาธิปไตยยังมีความเห็นต่างกันเรื่องสันติวิธี เราจะประคับประคองขบวนการอย่างไรไม่ให้เสียขบวน และจะสื่อสารเรื่องสันติวิธีให้สังคมเข้าใจ เปิดใจยอมรับยิ่งขึ้นได้อย่างไร  

ประเด็นแรกคือเราต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ไม่ว่าจะทะเลาะโต้เถียงกันอย่างไรก็ควรจะเดินร่วมกันเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย ตอนนี้คนที่มาร่วมสนับสนุนในขบวนการประชาธิปไตยมีแนวคิดทางการเมืองหลากหลาย บางกลุ่มเป็นเสรีนิยม บางกลุ่มสังคมนิยม บางกลุ่มอนุรักษนิยม บางคนชอบทุนนิยม แต่บางคนต้องการเศรษฐกิจทางเลือกแบบอื่น เราโต้เถียงกันได้ แต่ถ้าเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เกิดการปฏิรูปสถาบันต่างๆ เพื่อให้ระบอบการปกครองยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น เราทุกคนก็ควรเดินไปด้วยกัน พอไปถึงจะแยกทางกัน ทำตามแนวคิดของตัวเองก็ยังได้

ส่วนการสื่อสารเรื่องสันติวิธี คงไม่มีทางอื่นนอกจากต้องพูดคุยถกเถียงกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างหนึ่งที่ช่วยได้คือศึกษาตัวอย่างจากต่างประเทศมาเป็นบทเรียน จะได้เข้าใจว่าสันติวิธีแบบของกลุ่มเยาวรุ่นทะลุแก๊ส ทะลุแก๊ซ หรือการที่ผู้ชุมนุมตอบโต้เจ้าหน้าที่ท้ายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ไม่ได้เป็นเรื่องแปลก บางแห่งดุเดือดกว่าเราด้วยซ้ำ หรือวิธีการประท้วงแบบในฝรั่งเศส สหภาพการรถไฟ รถเมล์หยุด ไม่ทำงาน คนฝรั่งเศสบางส่วนแม้ไม่พอใจแต่ก็รับได้

สังคมไทยเองก็เช่นกัน ถ้าผ่านการต่อสู้จนถึงจุดหนึ่งก็จะเข้าใจ เปิดใจมากขึ้น คนไทยเป็นคนที่นิยมเรื่องความเป็นระเบียบมากกว่าอย่างอื่น เมื่อมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น ไม่แปลกที่จะมีคนวิตกกังวล แต่ถ้าเราผลักคนที่กังวลเรื่องระเบียบมากๆ ไปอยู่ในจุดที่เขาสามารถเห็นว่าบางครั้งความวุ่นวายไม่ได้ทำให้สังคมล่มสลาย และมันสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมได้ เขาก็อาจสะดุดหยุดย้อนกลับมาคิดใหม่ว่าเรื่องแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก และค่อยๆ คลายการยึดกอดระเบียบที่เคยเป็นเสาหลักอันมั่นคงทางจิตใจ กล้ามากขึ้น ก้าวออกไปจากความเชื่อเดิม เข้าใจ ยอมรับมากขึ้น

ระหว่างทางทั้งเขาและเราอาจจะผ่านการถกเถียงทะเลาะกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ เราต้องพยายามผลักคนให้หลุดจากความเคยชิน ขยายพรมแดนทางความคิดไปด้วยกันเรื่อยๆ จนรับรู้ทั่วกันว่าสังคมไม่ได้ล่มสลายเพราะขาดระเบียบ และความปั่นป่วนไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขั้นต้องปฏิเสธไม่ให้มีการประท้วงเกิดขึ้น


MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save