fbpx

“งบประมาณทุกส่วนต้องตรวจสอบได้” เบญจา แสงจันทร์ กับคำถามต่อโครงการที่มีนามสกุล

33,712,000,000 คือตัวเลขโดยประมาณของงบประมาณปี 2565 ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลยกขึ้นมาอภิปรายระหว่างการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

อย่านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา” คือสิ่งที่เธอยืนยันอย่างหนักแน่นถึงหน่วยรับงบประมาณที่ของบไปทำ ‘โครงการที่มีนามสกุล’ ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการตามพระปณิธาน

ที่ผ่านมา เมื่อมีการพิจารณางบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะนี้ ทั้งกรรมาธิการงบประมาณและสภาก็จะละเลยการตรวจสอบ โดยอ้างกันว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ แต่การสร้างข้อยกเว้นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีการนำภาษีประชาชนไปใช้โดยไม่ตรวจสอบ หลายโครงการสร้างผลกระทบต่อประชาชนโดยที่ผู้คนส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาดังๆ ไม่ได้

ท่ามกลางคำถามอันแหลมคมที่ถูกหยิบยกขึ้นกลางสภา เธอมองความคลุมเครือในงบประมาณส่วนนี้อย่างไร

101 พูดคุยกับ เบญจา แสงจันทร์ ถึงเรื่องการปฏิรูปงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่พึงเป็นในระบอบประชาธิปไตย ไปจนถึงความหวังของเธอต่อการปักธงประชาธิปไตยในสังคมไร้หวัง

ตลอดการสนทนา เธอยืนยันว่าการสร้างความโปร่งใสให้งบประมาณต่างๆ จะเป็นคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการตรวจสอบงบประมาณเป็นเรื่องปกติในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร

ที่ผ่านมา สภาจะยกมือให้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านโดยไม่ตั้งคำถาม จนคล้ายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เหตุใดจึงต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพูด

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถพูดถึงเพื่อให้มีการแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงได้ เราเองก็เคยมีการอภิปรายเรื่องนี้ในสภาหลายครั้ง เช่น การอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์

ปีที่แล้วเราก็พูดเรื่องการตรวจสอบงบประมาณส่วนนี้และการทำให้การขอจัดสรรงบประมาณโปร่งใส โดยในครั้งนั้นอภิปรายถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่เสนอของบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ โดยตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณนี้มีความซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะงบส่วนนี้มีหน่วยงานเฉพาะกิจของกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการถวายงานด้านการทรงม้าแด่พระบรมวงศานุวงศ์อยู่แล้ว หรือที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขอจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เราตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณส่วนนี้ก็อาจมีความซ้ำซ้อน เนื่องจากการถวายการอารักขาเรื่องยานพาหนะ มีหน่วยงานที่จัดงบประมาณดูแลหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการในพระองค์ที่มีหน้าที่ถวายการดูแลให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ หรือเหล่าทัพมีหน้าที่ถวายการอารักขาเมื่อเสด็จไปยังที่ต่างๆ อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ปีที่แล้วยังตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานในกำกับ กรณีการจัดสรรงบพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่เบิกจ่ายไปในปี 2561 และ 2562 จำนวน 646 ล้านบาท แต่ในเอกสารประกอบการชี้แจงระบุว่า ปี 2561-2562 ไม่ได้มีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จึงตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานรับงบได้นำเงินงบประมาณแผ่นดินไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมหรือไม่

เรื่องนี้เป็นการใช้คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์และโครงการที่มีนามสกุลต่างๆ เช่น โครงการตามพระปณิธาน หรือโครงการในพระราชดำริ มาเป็นเกราะกำบังในการขอจัดสรรงบประมาณหรือไม่

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียพระเกียรติและเป็นการปกป้องสถาบันฯ และพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์ เรายืนยันว่าต้องมีการตรวจสอบหน่วยงานรับงบทุกหน่วยงานที่เข้ามาขอจัดสรรจากสภาไปใช้ ซึ่งเป็นงบประมาณจากภาษีประชาชน สิ่งที่เราพูดเป็นการพูดอย่างมีวุฒิภาวะ พูดด้วยความปรารถนาดี จริงใจ และยืนยันว่าเรื่องนี้พูดถึงได้

คนบางส่วนอาจรู้สึกว่างบประมาณมีหลายส่วน ทำไมจึงต้องมายุ่งกับงบส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ

สภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจการตรวจสอบแทนประชาชน จะต้องตรวจสอบได้ทุกองค์กรและทุกหน่วยรับงบที่มาขอจัดสรร เราต้องไม่แยกว่าองค์กรนี้เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วไม่ควรตรวจสอบ เพราะมีบางหน่วยงานใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันมาเป็นเกราะกำบังในการขอจัดสรรงบ ซึ่งจะถูกละเลยและถูกปล่อยผ่านทันทีจากการตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการงบประมาณ

ตลอดระยะเวลาที่มีประชาธิปไตยไทยมา เราไม่เคยตรวจสอบการใช้งบประมาณส่วนนี้เลย ปีแรกที่เราเข้ามาก็ตั้งใจจะตรวจสอบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณและสภาท้วงติงเรื่องนี้หลายครั้งว่ามันไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติ เรายืนยันว่านี่ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรมองค์กร แต่ฝ่ายนิติบัญญัติรับมอบอำนาจจากประชาชนมาตรวจสอบกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณของฝ่ายบริหาร การตรวจสอบเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ

ก่อนอภิปรายใช้เวลาเตรียมตัวแค่ไหน ตั้งแต่การเตรียมข้อมูล

มีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก เอกสารงบประมาณออกมาล่วงหน้า 7 วัน ทีมงานของพรรคก็ช่วยกันตรวจสอบข้อมูล รวบรวมรายการต่างๆ และไม่ได้ทำเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ อย่างเดียว ในพรรคจะมีทีมนโยบายที่ดูตัวเลขของหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว เราตรวจสอบย้อนไปยังงบประมาณปีที่ผ่านมามากกว่าสิบปี

เราทำข้อมูลไว้เยอะมาก แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และเป็นการพูดเรื่องนี้ครั้งแรกในสภา จึงอยากพูดให้ตรงจุดมากที่สุดคือเรื่องงบประมาณของปีนี้ ในขณะที่ประเทศไทยเราอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด จึงอยากให้งบประมาณปีนี้ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

มีข้อมูลโครงการไหนที่น่ากังวลหรือเป็นการใช้งบอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริหรือโครงการตามพระปณิธานซึ่งซ่อนอยู่ในกรม กอง กระทรวงต่างๆ น่ากังวลมาก เพราะในชั้นกรรมาธิการ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เสนองบเหล่านี้เข้ามาจะมีการละเลยปล่อยผ่านโครงการที่มีนามสกุลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่งบน้อยๆ เช่นที่กรมชลประทานมีโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการเขื่อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อย่างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ใช้งบประมาณเกือบหมื่นล้าน แต่ทางกรรมาธิการก็ปล่อยผ่าน เพียงใช้ชื่อว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วก็ไม่ตรวจสอบกระบวนการใช้เงินงบประมาณเหล่านั้นเลย อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงเป็นงบผูกพันก่อสร้างมาสิบปีแล้ว เป้าหมายของโครงการคือเพื่อลดการดันน้ำเค็มที่สร้างผลเสียหายทางการเกษตร ลดน้ำท่วม และแก้ปัญหาน้ำแล้ง โครงการนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริตั้งแต่ปี 2521 หรือเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว โครงการผ่านมติ ครม.ปี 2552 เริ่มตั้งงบประมาณปี 2553 ปัจจุบันสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ หรือปริมาณน้ำฝนก็เปลี่ยนไปแล้ว พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณนั้นก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมไปแล้ว ทำการเกษตรน้อยลง ขณะที่กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ประชาชนยังต้องได้รับผลกระทบและเผชิญวิกฤตน้ำท่วมน้ำหลากทุกปี

เราตั้งข้อสังเกตว่าเป็นโครงการที่ไม่มีการตรวจสอบ ใช้งบประมาณไปกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งมีผลผูกพันต่อเนื่องโดยที่เราพูดถึงไม่ได้เลย มันยังมีความจำเป็นหรือไม่ ในชั้นกรรมาธิการที่ผ่านมา กรรมาธิการหลายคนบอกว่าเป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติ ไม่ควรไปตรวจสอบ เรามีความกังวลใจมากว่ามีการใช้จ่ายและลงทุนไปในโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันแบบนี้จำนวนมาก แล้วมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็วิพากษ์วิจารณ์ติฉินนินทา เรามองว่าจะไม่เป็นการดีและจะทำให้กระทบพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์

โครงการที่เราเห็นว่าน่ากังวลคือโครงการที่มีนามสกุล ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่แค่โครงการห้วยโสมง แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่มีลักษณะอย่างนี้ แม้แต่ที่กองทัพของบประมาณทำโครงการเทิดพระเกียรติในลักษณะการอนุรักษ์ปะการังใต้ทะเล ซึ่งพันธกิจหลักของหน่วยงานกับการทำโครงการไม่สอดคล้องกัน จึงต้องมีการตรวจสอบ

งบประมาณเหล่านี้ซ่อนอยู่ในทุกกระทรวงอยู่แล้ว ในเวลาที่จำกัดเราพยายามหามาได้อย่างน้อยสามหมื่นกว่าล้านบาท แต่ที่จริงมีมากกว่านี้

อย่างโครงการสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ พอมีนามสกุลต่อท้ายก็ไม่ถูกตรวจสอบ เช่น ของบ 11 ล้านบาท แต่ตรวจสอบรายละเอียดไม่ได้ว่าใช้ไม้อัดหนาเท่าไหร่ โครงสร้างเสาแบบไหน โครงเหล็กหรือโครงไม้ เป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่โปร่งใส ซึ่งมีมากกว่า 7,000 กว่าโครงการ และใช้เงินไปจำนวนมากกว่า 2,000 กว่าล้านบาท

มองการตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติตามสี่แยกหรือสะพานลอยอย่างไร เมื่อสิ่งเหล่านี้มีขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ การปฏิรูปหรือยุบงบจะทำให้ไม่สมพระเกียรติไหม

หลังอภิปรายมีฝ่ายอนุรักษนิยมและรอยัลลิสต์หลายคนโทรมาให้กำลังใจ เขายืนยันว่ามีหน่วยงานที่ของบแบบนี้ไปใช้หากินหรือทุจริตจริงๆ

อีกทั้งเรายืนยันว่า การปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด เวลาบอกว่าจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรตินั้น เราได้หาข้อสรุปร่วมกันในพรรคแล้วว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะเกิดคุณูปการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากหน่วยงานที่ใช้สถาบันฯ มาเป็นเกราะกำบังในการขอจัดสรรงบ

โครงการเทิดพระเกียรติในลักษณะนี้ยังจำเป็นต้องมีอยู่ไหม

เวลาพูดถึงโครงการเทิดพระเกียรติต้องดูเป็นรายโครงการไป เรามีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปกป้องประมุขของรัฐมีความจำเป็น ถ้าทางรัฐบาลมองว่าควรมีกิจกรรมหรือโครงการเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ควรให้หน่วยงานรับงบเข้ามาขอจัดสรรเพียงหน่วยงานเดียว เป็นก้อนเดียว และเป็นงบประมาณที่ตรวจสอบได้ว่านำงบนี้ไปใช้เทิดพระเกียรติจริงๆ และควรจัดงานให้สมพระเกียรติ

ยกตัวอย่างที่อังกฤษ พระราชวังบักกิงแฮมก็เปิดให้ผู้คนเข้าชม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลและเพิ่มรายได้ให้ประเทศ ถ้าเรามีการเทิดพระเกียรติในลักษณะที่รวมงบประมาณเป็นหนึ่งก้อน จัดงานเฉลิมพระเกียรติให้ยิ่งใหญ่ โดยมีการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแฝงเข้าไปในโครงการ เพื่อส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมของสถาบันฯ ให้เผยแพร่ออกไป จะช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย เป็นการเฉลิมพระเกียรติ และในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยกิจกรรมดังกล่าวสามารถทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจได้ด้วย

เวลาบอกว่าหน่วยงานที่ขอจัดสรรงบประมาณนำไปทำโครงการที่ไม่ใช่พันธกิจหลัก แต่จะทำอย่างไรเมื่อแต่ละหน่วยงานก็มุ่งหมายจะแสดงการเทิดพระเกียรติ เช่น อบต.เล็กๆ อยากทำซุ้มในพื้นที่

เราจึงบอกว่าเพราะทำแบบนี้จึงไม่สมพระเกียรติ มีงบแยกย่อยอยู่ตามหน่วยงามกรมกองต่างๆ 5-10 ล้านบาท บางหน่วยงานได้ไปหนึ่งล้านบาท แล้วทำออกมาอย่างเขม็ดแขม่ในปริมาณเงินจำกัด อบจ.เล็ก ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย คุณภาพก็ไม่เป็นอย่างที่ต้องการ การทำแบบนี้จะสมพระเกียรติอย่างไร เราเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พี่น้องประชาชนเวลาซุ้มเฉลิมพระเกียรติพังลงมาทับรถหรือบ้านคน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย แม้ว่าหน่วยงานรับงบเป็นผู้จัดทำ แต่พอใช้คำว่าเทิดพระเกียรติแล้วคำวิจารณ์ก็พุ่งตรงไปที่สถาบันฯ ทันที

หากต่างคนต่างทำแล้วคุณภาพไม่ดีตามที่ต้องการ เกิดการจัดทำซ้ำซ้อน ก็ควรรวมเป็นหน่วยงานเดียวแล้วจัดทำเป็นงบประมาณก้อนเดียว ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจก็สามารถจัดลำดับความสำคัญของงานได้ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติและกมธ.งบฯ ตรวจสอบได้สะดวกด้วย เพราะเมื่อซ่อนอยู่ในกรมกองหลายกระทรวง แบ่งงบยิบย่อยจึงไม่ได้ตรวจสอบ เมื่องบถูกจัดสรรไป งานที่ไม่ได้คุณภาพก็เกิดขึ้น ส่งผลให้เสื่อมเสียถึงพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากงบที่มีหน่วยงานขอไปทำโครงการเทิดพระเกียรติเองแล้ว งบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ส่วนอื่นๆ จำเป็นต้องปฏิรูปด้วยไหม เช่น งบรักษาความปลอดภัย หรืองบเกี่ยวกับม้าทรง

เรื่องนี้คือสิ่งที่เราตั้งข้อสังเกต ในการอภิปรายเราไม่ได้บอกว่าการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ไม่ควรมี แต่ตั้งข้อสังเกตว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะงบนี้อยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในงบประมาณที่เกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์ ที่มีหน่วยงานเฉพาะกิจของกองทัพบกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการถวายงานด้านการทรงม้าแด่พระบรมวงศานุวงศ์อยู่แล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นและรวมอยู่ในหน่วยงานเดียว ไม่ให้ซ้ำซ้อนและเป็นการใช้งบไม่เกิดประสิทธิภาพ ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเข้าไปดูแลเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงม้าทรงประจำพระองค์กันแน่

งบกลางมีงบเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งและงบดูแลต้อนรับอาคันตุกะอยู่หนึ่งพันล้านบาททุกปี ซึ่งปีนี้อาจลดลงเหลือ 800 ล้านบาท แต่ก็กลับมีงบลักษณะนี้ไปซ่อนอยู่ในกระทรวงกลาโหมและสำนักเลขาฯ นายกรัฐมนตรีด้วย บอกว่าเป็นงบบำรุงรักษาเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งและความปลอดภัยด้านความมั่นคงของรัฐมนตรี พอรวมกันไปอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องการรักษาความปลอดภัยให้สถาบันพระมหากษัตริย์หรือให้รัฐมนตรี

การปฏิรูปงบเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นควรจัดสรรไว้หน่วยงานเดียว และบอกรายละเอียดผลผลิตและเป้าหมายของหน่วยงานนั้นๆ ให้ชัดเจนว่างบนี้ถูกจัดสรรเอาไปทำอะไร ต้องมีการปฏิรูปงบประมาณทั้งหมดที่ถูกละเลยจากการตรวจสอบของกรรมาธิการและสภา เราควรเริ่มต้นตรวจสอบให้เหมือนกันทุกหน่วยงาน อย่าลืมว่าหน่วยงานเหล่านั้นคือหน่วยงานรับงบเหมือนกัน กระทรวงกลาโหมก็ถูกตรวจสอบเรื่องงบจัดซื้อเรือดำน้ำ งบจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ แต่พอมีชื่อต่อท้ายว่าเทิดพระเกียรติกลับไม่ถูกตรวจสอบ

สามารถพูดได้ไหมว่าการพูดเรื่องปฏิรูปงบส่วนนี้ ไม่ใช่การตัดงบ แต่ต้องการให้โปร่งใส

ก็ไม่ผิดนัก การพูดเรื่องตัดงบ ถ้าจำกันได้คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นกมธ.งบประมาณ 2564 ตอนนั้นประเทศไทยเผชิญสถานการณ์วิกฤตโควิดแล้ว เรามีความเห็นร่วมกับสิ่งที่คุณธนาธรพูดคือ ในช่วงเวลาวิกฤตประชาชนอยู่อย่างยากแค้นลำบาก ต้องเสียสละอดทนอยู่บ้าน รายได้ลดลง หนี้สินเพิ่มขึ้น ในช่วงเวลาแบบนี้การจัดสรรงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ ในการอภิปรายดิฉันก็บอกเสมอว่า ถ้ามีการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและมีการปรับลดให้คล้ายกับหน่วยงานอื่น เมื่อประชาชนมองมาจะรู้สึกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับประชาชน ไม่เป็นองค์กรที่อยู่เหนือการตรวจสอบ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และอยู่เหนือการเมืองอย่างที่เราพูดกันเสมอมา

ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงย่ำแย่จริงๆ สถาบันฯ อาจต้องปรับปรุงแก้ไขการใช้จ่ายงบประมาณ สิ่งที่เราพูดนั้นไม่ได้เกินเลยไปจากอำนาจหน้าที่ของนิติบัญญัติที่จะต้องตรวจสอบทุกหน่วยงานที่เข้ามารับงบประมาณ

ถามว่าต้องปฏิรูปงบทุกส่วนไหมหรือต้องตัดลดทุกส่วนให้เหมือนกันไหม จากข้อมูลที่แสดงในเว็บไซต์ทางการของส่วนราชการในพระองค์พบว่า หน่วยราชการในพระองค์ขอจัดสรรงบลดลงจริงๆ แต่การเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี เรื่องนี้ยกตัวอย่างว่าหากกระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรหนึ่งแสนล้านบาท ในทางปฏิบัติแล้วหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณไม่จำเป็นที่จะต้องเบิกจ่ายเงินให้ครบทั้งหมดตามที่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งไว้ อาจจะเบิกจ่ายน้อยกว่าก็ได้ ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2561-2563 หน่วยราชการในพระองค์เบิกงบประมาณเกินทุกปี เช่น ขอไป 8,000 ล้านบาท ก็เบิกอยู่ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบและถูกปล่อยผ่านไป เราควรตรวจสอบเรื่องนี้ได้และควรพูดถึงได้

จะมีข้อโต้แย้งว่า ปีนี้งบประมาณของหน่วยราชการในพระองค์ได้รับการจัดสรรลดลง 200 ล้านบาท เราจำเป็นต้องแย้งว่า ในการขอจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปีตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าปีนี้ลดลง แต่ต้องดูการเบิกจ่ายด้วย เพราะมีการเบิกจ่ายเกิน และไม่มีการตรวจสอบว่าเบิกในส่วนไหน เวลาพูดกันว่าจะตัดลดงบทำไม ในเมื่องบประมาณส่วนนี้ลดลงแล้ว แต่สิ่งที่พูดในสภาไม่ได้หรือไม่ได้มีการชี้แจงสาธารณะคือเรื่องการเบิกจ่ายเกิน

ก่อนออกมาพูดเรื่องนี้มีความกังวลอะไรไหม เมื่อเป็นเรื่องที่ถูกสร้างให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีใครวิจารณ์ เช่นที่บอกว่าเป็นธรรมเนียมทำตามกันมาแล้วไม่ต้องตรวจสอบ

ตั้งแต่วันที่เข้ามาเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จนปัจจุบันเป็นพรรคก้าวไกล เราไม่กังวลเลย การอภิปรายในลักษณะนี้เป็นการปกป้องสถาบันมากกว่าคนที่อ้างความจงรักภักดีแล้วป้ายสีว่าเราเป็นผู้ไม่จงรักภักดีเสียอีก ณ วันนี้มีคนไปแจ้งความดำเนินคดีว่าเราทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และดำเนินคดีอาญามาตรา112 จากการอภิปรายเรื่องงบประมาณล่าสุด แต่ไม่กังวลเพราะเราสามารถชี้แจงตามกระบวนการทางกฎหมายได้อยู่แล้ว

เรื่องที่เราพูดควรเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรเป็นเรื่องเสี่ยง ไม่ควรเป็นเรื่องที่ทุกคนบอกว่ามีความกล้าหาญมากที่จะพูด นี่คือเรื่องปกติที่ควรพูดถึงได้ในสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่การใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกต่อเรื่องนี้อย่างมีวุฒิภาวะของประชาชนเองก็ควรทำได้ แต่ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมถูกปิดกั้นและกดทับ ผู้คนจึงตั้งคำถามและสงสัยเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก

เราเข้าใจเรื่องประเพณีวัฒนธรรม แต่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีการใช้คำว่าประเพณีและวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมา เพราะงบประมาณมาจากภาษีประชาชน มาจากเลือดเนื้อหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน ยืนยันว่าประชาชนต้องมีส่วนในการตรวจสอบทุกงบประมาณที่นำไปใช้จ่ายและจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

วันที่เราอภิปรายจบมีคนกลุ่มอนุรักษนิยม คนที่เห็นต่างจากเรา ทหาร ตำรวจ ส่งข้อความและโทรมาให้กำลังใจจำนวนมาก ฝ่ายขั้วตรงข้ามทางการเมืองเขาก็มาให้กำลังใจและบอกว่านี่คือสิ่งที่อยากเห็นในสภาผู้แทนราษฎรและคิดว่าควรทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง โปร่งใส และพูดถึงได้ อาจมีคนที่รู้สึกไม่สบายใจ แต่อยากบอกว่าเราทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความจริงใจ และทำด้วยความปรารถนาดี

ความจริงในปีที่แล้วเราก็อภิปรายเรื่องนี้ไปแล้ว แต่อาจเป็นเพราะตอนนั้นยังไม่ใช้พายชาร์ต แต่พอใช้พายชาร์ต ทำให้กลายเป็นกระแส ส่งผลกระทบต่อสังคม ทำให้คนสนใจมากกว่าครั้งที่แล้ว 

ในอดีตเคยมีการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรงในสภามาแล้ว แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่พูดไม่ได้ ทุกครั้งก็จะมีคนประท้วง ทำอย่างไรจึงจะเกิดการพูดคุยที่สร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ และไม่นำไปสู่การข่มขู่ด้วยกฎหมายกัน

ทางพรรคไม่ได้กังวลเรื่องการข่มขู่ด้วยกฎหมาย เราทำการบ้านมาอย่างดีแล้วว่าสิ่งที่เราพูดไม่ได้เกินเลยไปกว่าอำนาจหน้าที่ของเรา มีข้อบังคับของสภาที่ห้ามพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ‘โดยไม่จำเป็น’ แต่เรายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น สมมติว่ารัฐมนตรีคนหนึ่งแอบอ้างเพื่อเอางบประมาณไปใช้จ่ายส่วนตัวหรือใช้จ่ายในโครงการที่ไม่สมควรและทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติ แล้วเราควรพูดถึงเรื่องนี้ได้ไหม

เวลามีการเอ่ยคำว่าพระมหากษัตริย์ขึ้นมาในสภาก็เหมือนจะตั้งแง่แล้วว่าต้องประท้วง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ ดังนั้นเราควรที่จะพูดถึงได้

บทบาทของคุณที่คนจดจำได้ นอกจากการอภิปรายเรื่องงบประมาณแล้ว ภาพที่คนคุ้นตาคือการตามไปประกันตัวผู้ชุมนุม มองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ ส.ส. อย่างไร

ทางพรรคติดตามสถานการณ์การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 อย่างใกล้ชิด รวมถึงกฎหมายที่ใช้ฟ้องปิดปาก (SLAPP) เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตราอื่นๆ

ปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมาก พรรคก้าวไกลยืนยันเสมอว่าเราไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว  แต่ถ้าเราพิจารณากันให้ดี ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก การเคลื่อนไหวในประเทศไทยก็เกิดจากกระแสธารประชาธิปไตยที่หลั่งไหลเข้ามาและไม่อาจหยุดยั้งได้ พรรคก้าวไกลจึงตั้งทีมขึ้นมาติดตามการเคลื่อนไหวทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น พม่า ฮ่องกง โดยคณะทำงานแบ่งเป็น 8 ทีม เราเป็นหนึ่งในทีมกฎหมายที่ทำงานเรื่องการประกันตัวและการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

ทางพรรคโดนโจมตีว่าสนับสนุนคนกระทำผิดมาตรา 112 และเราผลักดันการแก้กฎหมายมาตรา 112 ด้วย แต่ต้องยังยืนยันว่ามาตรา 112 ควรปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย และสอดคล้องกับยุคสมัย

พรรคก้าวไกลกำลังผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องปิดปากและการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนทั้งหมดห้าฉบับมี ร่างแก้ไข ป.อาญา สองฉบับ, ป.วิ.อาญา, ป.วิ.แพ่ง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการแก้ไข ม.112 รวมอยู่ในนี้ กฎหมายเหล่านี้มีโครงสร้างการบังคับใช้ที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตยในสังคมยุคใหม่ด้วย

เราเสนอชุดกฎหมายเหล่านี้ไปแล้วเพื่อให้ทันในสมัยประชุมหน้า ทางสภาตีกลับมาบอกว่าเป็นการแก้กฎหมายที่ไม่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เราก็ชี้แจ้งว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปกป้องและคุ้มครองสถาบันอย่างดีที่สุด เพื่อป้องกันการใช้กฎหมายพร่ำเพรื่อ กฎหมายมาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายที่ใช้ปิดปากส่งผลกระทบกับบริบทสังคมยุคใหม่และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย พรรคก้าวไกลทบทวนกฎหมายและเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้อัตราโทษลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก โดยดูจากบริบทของประเทศอื่นที่มีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ โดยไม่ได้ยกเลิกเรื่องการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ

ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามแก้ไขมาตรา 112 มาหลายครั้งแล้ว ความพยายามครั้งนี้ของก้าวไกลก็ดูท่าจะยาก คิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่ทำให้การแก้ไขทำได้ยาก

ถ้าเรามีประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีเสรีภาพที่จะแสดงออกอย่างแท้จริง  หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติคือการแก้กฎหมายให้ก้าวหน้าและใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทย และทัดเทียมนานาอารยประเทศ สุดท้ายแล้วต้องมองย้อนกลับไปว่าระบบรัฐสภายังเป็นระบบที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และก้าวไปข้างหน้าอยู่หรือไม่ เราดูได้จากการกีดกันผู้เล่นไม่ให้เข้ามาในระบบรัฐสภา พอสภาพสังคมไม่พร้อมก้าวไปข้างหน้า สิ่งที่เราต้องทำคือการขยายความคิด แนวคิด และอุดมการณ์ ต้องทำงานทางความคิดกันอีกยาวไกล 

ทราบว่าก่อนมาทำงานการเมือง คุณเป็นนักธุรกิจ ชีวิตของเบญจาก่อนจะเป็นนักการเมืองเป็นอย่างไร มีความเกี่ยวพันกับการเมืองแค่ไหน

เราสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนจบมัธยมปลาย ช่วงนั้นเพื่อนสนใจการเมืองน้อยมาก ไม่มีพื้นที่ให้เราแลกเปลี่ยนเราเลยไปตามเว็บบอร์ด เช่น  ห้องราชดำเนิน พันทิป เว็บบอร์ดประชาไท หรือเว็บไซต์งานวิชาการด้านการเมือง อย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปี 2549 เว็บไซต์พวกนี้ถูกปิดกั้นเพราะมีรัฐประหาร เราก็ไปใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ ช่วงนั้นการตื่นตัวทางการเมืองค่อนข้างมากขึ้น มีการถ่ายทอดคลิปเวทีวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ

ตอนฟังเวทีวิพากษ์ทุนไทยหลังตุลาฯ 19 เราเปิดมาเจอผู้ชายมาดเซอร์ ใส่เสื้อผ้าฝ้าย กางเกงขากระบอก ป้ายชื่อบอกว่าเป็นรองประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยซัมมิท คือคุณธนาธร เขาเป็นนายทุนที่วิพากษ์ทุน ฟังแล้วรู้สึกว่า เออ ใช่! ขบถมากเลย เราทำธุรกิจส่วนตัวล้มลุกคลุกคลานมาตลอด การเริ่มต้นธุรกิจไม่ง่าย กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศนี้ไม่เล่นบทบาทในระดับโลกที่ควรจะเล่น แต่กลับมาแข่งขันกับ SME หรือกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยในประเทศ ทุนนิยมไทยใช้อำนาจผูกขาดในประเทศ โดยอาศัยเครือข่ายของรัฐในการแสวงหาผลประโยชน์ ไปกดทับผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกมาตลอดในการทำธุรกิจ พอมีนายทุนลุกขึ้นมาพูดแบบนี้ จึงรู้สึกว่าคล้ายกับประสบการณ์ของเรา ทำให้เราติดตามเขามาตลอด

หลังปี 2549 อ.ปิยบุตร แสงกนกกุลก็ขึ้นเวทีวิชาการหลายเวที รวมถึง อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อ.สาวตรี สุขศรี ที่มีบทความวิชาการด้านการเมือง ทำให้เราสนใจอ่านงานวิชาการทางการเมืองมากขึ้น พอปี 2553 มีการตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเราติดตามเรื่อยมา รวมถึงนักวิชาการคนอื่นๆ ด้วย

พอปี 2561 คุณธนาธรก็ประกาศตั้งพรรคพร้อมแคมเปญ ‘ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค’ ทำให้เรารู้สึกกลับมาตื่นตัวทางการเมืองอีกครั้ง หลังอึดอัดมานานเพราะรัฐประหาร 2557 ที่ทุกคนเหมือนถูกปิดปาก พอคุณธนาธรประกาศนโยบายว่า “ยุติราชการรวมศูนย์ สวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ปฏิรูปกองทัพ โอบรับความหลากหลาย” เราก็ยังลังเลอยู่ แต่พอเขาบอกว่า “ปักธงประชาธิปไตยและล้างมรดกรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ คืนอำนาจให้กับประชาชน ประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุด” นโยบายนี้โดนใจมาก ที่ผ่านมาเราถูกทำให้หมดหวังมาเรื่อยๆ เพราะการรัฐประหาร แต่เห็นเขาตั้งพรรคแล้วเหมือนมีประกายไฟที่ทำให้เรารู้สึกมีความหวังอีกครั้งหนึ่ง จึงเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครั้งแรกในชีวิต แต่ยังไม่ได้คิดสมัคร ส.ส.

วันหนึ่งคุณธนาธรไปที่ชลบุรี เราก็ทำงานสร้างสมาชิกร่วมกับคณะทำงานจังหวัด คุณธนาธรพูดกับเราว่า “อย่ารอคอยการเปลี่ยนแปลง แต่จงมาเป็นส่วนหนึ่งของมัน ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณต้องมาทำด้วยตัวของคุณเอง” โห พลังมาเลย เราตัดสินใจวันนั้น ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองไปตลอดกาล วันนี้ก็ไม่ได้ทำธุรกิจต่อแล้ว ทำงานการเมืองเต็มตัว โดยส่วนตัวชอบเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่แล้วในเรื่องสิทธิเสรีภาพ บทบาทสตรี สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน

การมาทำงานการเมืองได้เตรียมใจรับผลกระทบด้านลบไหม ตั้งแต่การโดนโจมตีป้ายสี โดนดำเนินคดี ตัดสิทธิการเมือง หรือการคุกคามถึงตัว

ตั้งแต่เรามาเป็นผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ก็คุยกันเสมอว่าเราพร้อมแล้ว เราตกผลึกกันในพรรคว่าหากมาอยู่ตรงนี้อาจเจอกับอะไรบ้าง ถ้าคุณมาเป็นผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ อย่างน้อยคุณก็ต้องเตรียมใจในเรื่องนี้ เรามองว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้เกินเลยไปถึงขนาดที่คนอื่นป้ายสี หรือตอนที่เราโดนคดีกัลฟ์ก็ไม่ได้กังวล เพราะเจตนาที่เราทำไปก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะทั้งนั้น

มีภาพอุดมคติของการเป็นนักการเมืองอย่างไร

ก่อนมาเป็นผู้แทนราษฎรเราเคยผิดหวังกับระบบสภา และมองว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาคือคำตอบ

ช่วงอนาคตใหม่ เรารู้สึกมีความหวัง สำหรับเราอนาคตใหม่คือดวงไฟในใจผู้คน ดวงไฟแห่งความฝัน คือแสงสว่างในช่วงเวลาที่เมืองไทยมืดมิดที่สุด เป็นประกายไฟแห่งความหวังให้กับผู้คนที่สิ้นหวังไปแล้ว หนึ่งปีที่เราเป็นผู้แทนพรรคอนาคตใหม่เป็นช่วงเวลาที่ทรงพลังที่สุดในชีวิต แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบ แต่จิตวิญญาณยังอยู่ เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ที่มีลมหายใจ ความหวังของผู้คนส่งต่อมาถึงพรรคก้าวไกลในวันนี้ เรากลับมามีความหวังในระบบการเมืองแบบรัฐสภาที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ส่วนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นปัจจัยหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคม

วันนี้เรากำลังทำหน้าที่เสมือนหน้าแรกในบทที่สองของอนาคตใหม่ สืบสานปณิธาน อุดมการณ์ เจตจำนง และจิตวิญญาณของอนาคตใหม่ ดังนั้นภาพอุดมคติการเป็นนักการเมืองของเราจึงตรงกับพรรคอนาคตใหม่ พอย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกลเราก็นำมันมาด้วย

เวลาพูดว่าเราอยากเป็นนักการเมืองแบบไหน ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงคุณธนาธรและคุณทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทั้งสองคนเป็นความหวังให้กับประชาชน ทำหน้าที่ได้กล้าหาญและเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ ของการเมืองไทยได้อย่างมีวุฒิภาวะมาก เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้นำของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำของประเทศ ที่จะพาเรานำประชาธิปไตยกลับมาสู่ประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย นี่คือนักการเมืองในอุดมคติของเรา

อีกคนที่อดจะกล่าวถึงไม่ได้ คือ พี่ต๋อม-ชัยธวัช ตุลาธน หัวหอกของพรรค เป็นคนที่รับธงต่อจากพรรคอนาคตใหม่และปักธงทางความคิดได้อย่างกล้าหาญ เป็นคนที่สร้างปรากฏการณ์เขยื้อนการเมืองได้ พาเราต่อสู้กับขวากหนามและแรงเสียดทานอย่างกล้าหาญและชาญฉลาด ที่จริงอยากพูดถึงหลายคนมาก

การเผชิญหน้ากับการเมืองไทยในภาวะแบบนี้ ต้องมีความกล้าหาญและมีวุฒิภาวะ เราอยากเป็นนักการเมืองแบบนี้ และนี่คือนักการเมืองในอุดมคติของเรา

ส่วนตัวมีเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวที่ตั้งใจทำให้สำเร็จคืออะไร

เราเป็นคนชลบุรี เกิดและเติบโตในภาคตะวันออก จึงสนใจประเด็นอีอีซีที่ส่งผลกระทบให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการขนาดใหญ่

40 ปีที่ผ่านมาของ Eastern Seaboard เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่ามันส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในภาคตะวันออกให้ย่อยยับไปมากขนาดไหน จนปัจจุบันนี้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีก็ยังยืนยันว่าเป็นสิทธิพิเศษเพื่อนายทุนและไม่ได้ทำอะไรเพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย มันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรคนตัวเล็กตัวน้อยไปทำประโยชน์ให้กับคนเมือง ทิ้งความเดือดร้อนและความย่อยยับของทรัพยากรไว้กับคนในพื้นที่ เราอยากผลักดันการแก้ไขพ.ร.บ.อีอีซี โดยเอาคนตัวเล็กตัวน้อยใส่เข้าไปในนั้นด้วย ซึ่งในพ.ร.บ.อีอีซีไม่มีการใส่ใจคนตัวเล็กตัวน้อยเลย ทุกอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนายทุนเท่านั้น นี่คือเป้าหมายส่วนตัวของเรา

เราอยากเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นปากเป็นเสียง เป็นความหวังให้กับผู้คนได้ สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำในฐานะผู้แทนก็คือการพาประเทศไทยไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังไว้ และมันก็คือความเป็นนักการเมืองในอุดมคติด้วย

ส่วนเป้าหมายของพรรคที่กำลังทำอยู่คือการแก้ชุดกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนห้าฉบับ นอกจากนี้พรรคกำลังเดินหน้าทำงานทางความคิดร่วมกับกลุ่ม Re-Solution ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปิดสวิตช์ ส.ว. รวมถึงที่พรรคพยายามทำกฎหมายให้ก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรสเท่าเทียมหรือ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ นี่คือหน้าที่โดยตรงของเราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ สิ่งนี้เป็นการปูฐานไปสู่การคืนประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศนี้อย่างสมบูรณ์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save