fbpx

“ถ้ายังมองระบบยุติธรรมเป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

หากถามว่าอะไรที่ทำให้ ‘ความยุติธรรม’ ดำรงอยู่ในสังคมได้ ไม่ว่าใครต่อใครก็อาจตอบว่าสิ่งนั้นคือ ‘กฎหมาย’ ขณะเดียวกัน เมื่อถามว่าแล้วใครคือ ‘ผู้ผดุงความยุติธรรม’ คำตอบก็ย่อมหนีไม่พ้นคนที่ทำหน้าที่ ‘ผู้รักษากฎหมาย’ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ตำรวจ อัยการ ไปจนถึงบุคลากรต่างๆ นานาภายใต้กระบวนการยุติธรรม

คงไม่ผิดนักหากบอกว่ามุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นในแทบทุกสังคมของโลกยุคสมัยปัจจุบัน ที่ต่างมอบสิทธิขาดในการชี้วัดตัดสินความยุติธรรมไว้ที่ลายลักษณ์อักษรบนตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงมอบอำนาจชี้ขาดแก่บุคคลต่างๆ ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย โดยมิอาจล่วงละเมิด ฝ่าฝืน หรืออาจถึงขั้นไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประดุจสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง

แต่ท่ามกลางสายธารยุติธรรมกระแสหลักแบบนี้ เราก็ล้วนเคยได้ยินจากสังคมดังแทรกขึ้นมาเป็นระยะ เช่นว่า “คุกมีไว้ขังแค่คนจน,” “แจ้งตำรวจไปก็เท่านั้น เสียเวลาเปล่า,” “ศาลพระภูมิยังศักดิ์สิทธิ์กว่าศาลยุติธรรม,” “เป็นแบบนี้จะมีกฎหมายไว้ทำไม” ไปจนถึง “สิ้นหวังในระบบยุติธรรม” ซึ่งแน่นอนว่า สังคมที่ระบบยุติธรรมไม่ได้รับความเชื่อมั่นเช่นนี้ ย่อมเดินหน้าสู่หายนะแบบใดแบบหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว

ต่อคำถามที่ว่า ‘ความเสื่อมศรัทธา’ ในระบบยุติธรรมของผู้คนในสังคมมีต้นเหตุมาจากอะไรนั้น คำตอบหนึ่งหนีไม่พ้นความจริงที่ว่าเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ได้รับการออกแบบมาให้ตอบโจทย์หรือคำนึงถึงความต้องการของคนในสังคม ซึ่งถือเป็นผู้รับบริการความยุติธรรมเป็นหลัก ขณะเดียวกันตัวบทกฎหมายเองที่ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัดนั้น ก็มักพึ่งพิงจากมุมมองทางนิติศาสตร์เป็นหลัก โดยละเลยองค์ประกอบความยุติธรรมในมิติอื่นๆ จนทำให้กฎหมายไม่สามารถส่งมอบความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมยังคงเป็นสิ่งจำเป็นของทุกสังคม เพียงแต่ถึงเวลาต้องรีบคิดและตั้งคำถามกันใหม่ว่า เราจะทำอย่างไรให้มันสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านความยุติธรรมของประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง และหลุดพ้นจากเพียงกรอบมุมมองของนักกฎหมาย ไปสู่การประกอบสร้างความยุติธรรมจากมิติที่หลากหลายมากขึ้น

101 สนทนากับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) ถึงปัญหาใหญ่ของระบบยุติธรรมไทยที่ยังไม่อาจตอบโจทย์ประชาชนได้มากพอ แนวทางการขับเคลื่อนออกแบบระบบยุติธรรมให้มองประชาชนเป็นศูนย์กลาง และโอบรับมุมคิดด้านความยุติธรรมอย่างรอบด้านหลากหลายมากขึ้น

“ถ้ายังมอง ระบบยุติธรรม เป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

จากครั้งก่อนที่ 101 มาสัมภาษณ์คุณ ตอนนั้นคุณเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธาน TIJ ใหม่ มาจนถึงวันนี้เรามาสัมภาษณ์คุณอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคุณก็รับตำแหน่งนี้มาได้สองปีกว่าแล้ว ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาที่คุณได้เข้ามาทำงานขับเคลื่อนระบบยุติธรรมภายใต้หมวกนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือว่ามองระบบยุติธรรมเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเข้าใจอย่างไร

ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า TIJ มีบทบาทสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมได้ในแง่การเป็นหน่วยงานวิชาการ ที่ทำวิจัย เผยแพร่แนวนโยบาย ขณะเดียวกันผมก็มักจะมองในมิติต่างประเทศอยู่เยอะ เช่น เราจะนำเอามาตรฐานสากลในเรื่องระบบยุติธรรมต่างๆ มาปรับใช้อย่างไร แต่ผมก็พบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยกระบวนการยุติธรรมได้แค่ในเบื้องต้น มันยังไม่พอที่จะให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมปรับขีดความสามารถเพื่อตอบโจทย์ที่เขาต้องเจอจริงๆ ข้อเรียนรู้สำคัญของผมเลยเป็นเรื่องที่ว่าเราต้องลดความเป็นทฤษฎีลง และมองไปที่ความเป็นคนมากขึ้น

จุดหนึ่งที่มาเปลี่ยนวิธีการมองของผมในเรื่องนี้คือเรื่องเกี่ยวกับคนที่เป็นผู้กระทำความผิดและคนที่ได้พ้นโทษออกจากเรือนจำไปแล้ว เดิมเราอาจไปมองเน้นที่บทบาทของหน่วยงานในกรมราชทัณฑ์ในการดูแลผู้ทำผิดเป็นหลัก มองว่าระบบราชทัณฑ์ในฐานะที่เป็นอำนาจรัฐ สามารถควบคุมตัวผู้ทำผิดได้ ซึ่งจริงๆ มองแบบนั้นก็ไม่ผิด แต่ว่ามันก็ยังแก้โจทย์ในหลายเรื่องไม่ได้ หากว่าโจทย์หลักของกรมราชทัณฑ์คือการเอาคนผิดมาอยู่ในระบบเพื่อลงโทษระยะหนึ่ง ก่อนปล่อยออกไปโดยที่เขาอยู่รอดได้และไม่ทำผิดซ้ำอีก เพราะฉะนั้นเราถึงเริ่มหันมามองที่ตัวของคนที่เป็นผู้ทำผิดและผู้พ้นโทษออกมาแล้วมากขึ้น พยายามดึงเอาความคิดความต้องการของเขาออกมา ดูว่าคนที่พ้นโทษมาแล้วแต่ละคนเจอความท้าทายอะไรหลังกลับออกมาสู่โลกภายนอกบ้าง จากนั้นเราก็เอาตรงนี้มาออกแบบการทำงานกับหน่วยงานในกรมราชทัณฑ์ให้ตอบโจทย์มากขึ้น เช่นว่าจะฝึกอาชีพผู้ต้องขังอย่างไร และจะดูแลพวกเขาหลังได้รับการปล่อยตัวแล้วอย่างไร ซึ่งเราก็อิงมาตรฐานระหว่างประเทศเดิมน้อยลง

สรุปแล้ว สิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้คือระบบยุติธรรมจำเป็นต้องมีคนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น people-centered justice ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากทีมงานด้านนวัตกรรมของ TIJ แต่จริงๆ แล้วคำนี้น่าจะเริ่มมีการพูดกันและเริ่มทำให้เป็นกรอบคิดมาตั้งแต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้โดยองค์กรวิชาการที่ชื่อว่า HiiL (The Hague Institute for Innovation of Law) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรม องค์กรนี้มองว่ามีคนอีกมากมายบนโลกนี้ที่เข้าไม่ถึงการแก้ปัญหาของสังคมโดยใช้กลไกระบบยุติธรรม และสิ่งที่เขาค้นพบคือการที่ระบบไม่ได้มองโจทย์ความต้องการของคนเป็นตัวตั้งแต่มองฝั่งผู้ให้บริการหรือฝั่ง supply มากกว่า ทำให้ตัวระบบยุติธรรมเองมักมองว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว จึงขาดโอกาสที่จะได้รับฟีดแบ็กกลับมา จนไม่ได้เห็นว่าสิ่งที่ทำไปยังช่วยคนไม่ได้มากน้อยเพียงไหน

ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะทำให้ระบบยุติธรรมสามารถเข้าถึงความต้องการของคนมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เป็นรูปธรรมคือการสำรวจความต้องการทางกฎหมาย ซึ่ง HiiL ใช้คำว่า Justice Needs Survey คือไปถามประชาชนโดยตรงเลย ไม่ต้องคิดเอาเอง ซึ่งก็ทำให้พบว่าความต้องการในด้านความยุติธรรมของคนมีความล้อกับมุมของพฤติกรรมศาสตร์อยู่ และความต้องการนั้นก็ไม่ได้คงที่ในแต่ละช่วงชีวิตของคน แต่ผันแปรไปตามวัย เช่น ตอนวัยรุ่นอาจจะมีความเสี่ยงที่จะไปกระทำความรุนแรงต่อใครทางด้านร่างกาย พอเข้าสู่วัยที่แต่งงานมีครอบครัว ก็อาจต้องการรับความช่วยเหลือในเชิงการแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือถ้าพอมีฐานะมากขึ้นหน่อย ก็มีประเด็นเรื่องที่ดิน ทรัพย์สิน และมรดก นี่คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ อย่างที่ 101 คงได้ฟังมาแล้ว และถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ตระหนักว่าความต้องการของคนมีการผันแปรอยู่แบบนี้ การออกแบบกระบวนการก็อาจจะยากมาก และกลายเป็นว่าไปทำแบบเหมาโหล

นี่จึงเป็นแนวคิดหนึ่งที่ว่าทำไมเราต้องเอาคนมาเป็นตัวตั้งเสียก่อน แล้วจึงค่อยตั้งคำถามใหม่ และพยายามออกแบบกระบวนการให้คนที่ควรจะต้องได้รับบริการได้บริการอย่างที่เขาควรจะได้จริงๆ

People-centered Justice เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่สำหรับแวดวงยุติธรรม ซึ่งเข้าใจว่าอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่จะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองตรงนี้ได้ สำหรับคุณ คุณคิดว่าแวดวงกระบวนการยุติธรรมมีความจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหนที่ต้องปรับมุมคิดให้มองคนเป็นตัวตั้งมากขึ้น และถ้าปรับแนวคิดนี้ไม่ได้ สังคมเราจะเดินไปทางไหน

ในที่สุด มันจะทำให้คนมีความรู้สึกว่าความยุติธรรมไม่สามารถที่จะมีได้จริง พอกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นของประชาชนได้อย่างนี้ มันจะทำให้กฎกติกาต่างๆ ของสังคมที่ต้องอาศัยกลไกกระบวนการยุติธรรมไปอำนวยการถูกบั่นทอนความน่าเชื่อถือไปด้วย ต่อให้ผลของการใช้กระบวนการยุติธรรมในการแก้ปัญหาหรือข้อพิพาทจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าประชาชนยังรู้สึกว่าตัวเองลำบากเดือดร้อนอยู่ มันจะเกิด ‘ช่องว่าง’ ค่อนข้างมากในสังคม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการดำรงอยู่ของสังคม

ถ้าอธิบายเป็นรูปธรรมขึ้นนิดหนึ่ง ยกตัวอย่างว่าหากมีประเด็นข้อพิพาทต่างๆ ไม่ว่าจะระหว่างประชาชนด้วยกันเองก็ดี หรือระหว่างประชาชนกับรัฐก็ดี ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่น่าเชื่อถือ มันก็จะไม่จบง่ายๆ สุดท้ายแล้วสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือกระบวนการยุติธรรมจะพังลง ประชาชนก็จะเลือกใช้วิถีอะไรก็แล้วที่เขาเห็นว่าตอบโจทย์เฉพาะหน้าของเขาได้ มันอาจจะกลับไปสู่ยุคก่อนที่เราจะมีสัญญาประชาคมหรือเป็นยุคมิคสัญญีก็ได้ คือใครมีกำลังก็เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ใช้กำลังที่มีเป็นตัวแก้ปัญหา แล้วนำพาเอาความวุ่นวาย ความสูญเสีย และความยุ่งเหยิงมาสู่สังคม นี่คือเรื่องสำคัญที่เราอาจจะยังไม่เห็น แต่มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่อาจมีเวลาอีกไม่นาน

เราอาจมองว่าเรื่องความยุติธรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนก็จริง แต่ก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะเปราะบางได้ง่าย และสามารถถูกกัดกร่อนได้เรื่อยๆ จากการทำงานของกระบวนการเองที่มองไม่เห็นสิ่งที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของฝั่งผู้รับบริการหรือประชาชน ถึงจุดๆ หนึ่งที่ความท้าทายเริ่มปรากฏมากขึ้นจากการใช้แนวทางแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมอยู่ คือใช้เพียงกฎหมายเป็นเครื่องมือหลัก และยึดเอาความถูกต้องตามตัวหนังสือเป็นตัวตั้ง ตอนนั้นเราก็จะเริ่มเห็นว่ามันไม่ได้ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนหรือรวดเร็วทันใจ

เพราะฉะนั้น การปรับกระบวนทัศน์ของกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่โดยเอาคนมาเป็นศูนย์กลางมากขึ้น สำคัญถึงขั้นที่ว่า คือตัวชี้ชะตาความอยู่รอดของสังคมได้เลยในระยะยาว ผมเชื่อว่ามันเป็นการกล่าวไม่เกินความจริงที่จะบอกว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน มันมาถึงจุดที่คำพูดนี้ไม่ใช้เป็นแค่สโลแกนสวยหรูอีกต่อไปแล้ว แต่จะว่าคือเรื่องคอขาดบาดตายเลยก็ว่าได้ ถ้ายังคงมองว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นแค่เรื่องของนักกฎหมายอยู่ อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน

จากที่ TIJ เองได้ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มาแล้วระยะหนึ่ง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ความท้าทายของการผลักดันเรื่องนี้คืออะไร

เราได้เรียนรู้ว่าความต้องการของคนมีความหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำให้ความต้องการเหล่านั้นมาอยู่ในรูปแบบที่เราจะสามารถมาดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมได้

นอกจากนี้ ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้คนในกระบวนการยุติธรรมเปิดใจรับฟังปัญหานี้ เพราะคนในกระบวนการอาจมีทัศนคติเดิมที่ทำให้เราอาจต้องใช้เวลาให้ทำความเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แม้ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่เข้าใจกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเราสามารถนำเสนอกรณีศึกษาให้เขาเห็นภาพได้ว่า ถ้าเรามีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานแล้ว ประชาชนคนที่ต้องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยน ปัญหาของเขาได้รับการแก้ไข และที่สุดทำให้ประชาชนมีมุมมองและความเชื่อมั่นไว้ใจต่อกระบวนการยุติธรรมดีขึ้น นี่ก็คือ win-win situation และเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานกระบวนการยุติธรรมให้สำเร็จ

“ถ้ายังมองระบบยุติธรรมเป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

การที่ระบบยุติธรรมของไทยจะไปถึงจุดที่สามารถมองคนเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริงได้ คุณว่าตัวระบบหรือว่าคนที่อยู่ในระบบต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมมองเห็นว่ายังมีโอกาสทำได้ เมื่อสักครู่เราพูดกันถึงคำว่า ‘ช่องว่าง’ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมยาก เพราะฉะนั้นเราอาจต้องเริ่มมองหาวิธีนำเสนอหลักฐานหรือตัวเลขอะไรบางอย่างเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าช่องว่างที่ว่านี้มีอยู่มากน้อยแค่ไหน

สิ่งหนึ่งที่ TIJ พยายามจะทำและถือเป็นสมมติฐานของเราเองด้วย คือเราเชื่อว่าการลงทุนในกระบวนการยุติธรรมอาจจะยังน้อยไป เพราะการลงทุนในระบบยุติธรรมของเราครั้งใหญ่เกิดขึ้นนานแล้วเมื่อสัก 150 กว่าปีก่อนหน้านี้ เมื่อเรามีภัยคุกคามสำคัญคือมีการล่าเมืองขึ้น (หัวเราะ) ตอนนั้นเรามีการลงทุนในนักกฎหมาย เชิญฝรั่งมาทำประมวลกฎหมาย แต่ว่าหลังจากนั้นเราอาจไม่ได้ลงทุนกับมันอย่างต่อเนื่อง เหลือแต่การลงทุนในสิ่งที่เป็น sunk cost (ต้นทุนจม) อย่างพวกรายจ่ายประจำต่างๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน เพื่อเลี้ยงระบบที่โตขึ้นเรื่อยๆ แค่นั้น ผมว่าเรายังมีโอกาสที่จะลงทุนปรับปรุงระบบในเชิงความคุ้มค่าได้อีก และอาจจะต้องลงทุนอีกเยอะพอสมควรเพื่อให้คนในระบบนี้มีขีดความสามารถที่ไม่ใช่ความสามารถในเชิงลึกที่จะทำงานในด้านเดียว แต่เป็นขีดความสามารถในเชิงของการสามารถมองเชื่อมโยงได้ไม่ว่าจะทำงานในสาขาใด

คนในระบบยุติธรรมบางคนอาจจะมองว่าตัวเองมีความเป็นสหวิชาชีพเพียงพอแล้ว เช่นสมมติเราเป็นนักจิตวิทยาในหน่วยงานหนึ่ง เราอาจจะมองว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในความเป็นสหวิชาชีพของกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่จริงๆ มันก็คงถูกแค่บางส่วน เพราะปัญหาคือยังขาดคนที่ทำหน้าที่บริหารทั้งกระบวนการ โดยสามารถบูรณาการความร่วมแรงร่วมใจของคนในหน่วยงานได้จริง ซึ่งการจะหาคนคนหนึ่งมาทำหน้าที่นั้นได้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะฉะนั้นแทนที่จะรอคนคนนั้น เรามาทำให้คนในหน่วยงานทุกคนมีทั้งศาสตร์ที่ตัวเองถนัด ประกอบกับศาสตร์กลางอะไรสักอย่างที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานนั้น และเป็นศาสตร์ที่สามารถเชื่อมกับศาสตร์อื่นๆ ได้ ก็คงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น ซึ่งแปลว่าคนที่ทำงานในหน่วยงานนั้นเองแทบทุกคนจะต้องมีคุณลักษณะหรือความเชื่อบางอย่างร่วมกัน โดยแต่ละคนพร้อมจะทำงานที่หลากหลายและมีมุมมองที่หลากหลายพอ หน่วยงานนั้นถึงจะดึงความเป็นสหวิชาชีพออกมาใช้ได้ 

อย่างไรก็ตาม วงการนี้อาจไม่ค่อยมีแรงจูงใจแบบนั้นเท่าไหร่ ส่วนมากอาจคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ก็ดีอยู่แล้ว และในเมื่อมีตัวบทกฎหมายกำหนดไว้ เขาก็มองว่าต้องเดินตามครรลองมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำแบบนั้นก็ไม่ใช่เรื่องขัดกับกฎหมายอะไร คือเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจไว้นั้นก็เป็นการให้อำนาจในเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะการกระทำบางอย่างเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้โดยไม่มีอำนาจรัฐรองรับ แต่ความจริง กฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการกระทำอะไรก็ตามที่เป็นการแก้ปัญหาของประชาชน เพราะลำพังตัวกฎหมายที่ได้รับการออกแบบมาย่อมไม่สามารถมองเห็นถึงรายละเอียดได้ครบ แต่ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีความคิด มีความพร้อมที่จะเข้าถึงปัญหา สามารถเรียนรู้ไปด้วยทำงานไปด้วย ในการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้

ถ้าคนในระบบยุติธรรมเริ่มมองคนเป็นศูนย์กลางของการทำงานได้แล้ว มันก็จะเกิดคำถามใหม่ๆ ซึ่งถ้าแต่ละคนมีความสามารถอีกสักนิดในการไปหาคำตอบ โดยถามคนที่ควรจะต้องถาม รวบรวมองค์ความรู้ และทำให้เป็นระบบ มันก็จะเกิดการทำงานแบบใหม่ขึ้นมาได้

ถ้าระบบยุติธรรมต้องมีความเป็นสหวิชาชีพมากขึ้น คุณว่ามีความรู้ในศาสตร์ไหนที่คนในกระบวนการยุติธรรมยังขาดและจำเป็นต้องได้รับการเติมเต็มแบบเร่งด่วนเป็นพิเศษไหม

มันคงบอกได้ยากว่าเราต้องการศาสตร์ไหนเพิ่มเป็นพิเศษบ้าง เพราะปัญหาที่ทำให้คนเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้มีหลากหลายมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะศาสตร์ไหนก็ถือว่าดีทั้งนั้น ถ้ามันทำให้มองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น ทำให้เราเข้าใจพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ได้มากขึ้น

อย่างถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิด การจะช่วยให้เขาอยู่รอดได้และไม่ไปกระทำผิดซ้ำหลังออกจากเรือนจำ แน่นอนว่าการมองแค่มิติด้านนิติศาสตร์ไม่พอ เราจะไปดูแค่ว่าเขาไปทำผิดอะไรมา เขารับโทษมาแค่ไหน ก็ย่อมไม่พอด้วย เราพบว่าจริงๆ แล้วแต่ละคนมีปมในใจอยู่ลึกๆ มากมาย ไม่ว่าจะเรื่องที่ว่าเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด หรืออาจยังไม่สามารถก้าวข้ามปมบางอย่างในใจ เพราะฉะนั้นก็ต้องพึ่งศาสตร์ทางจิตวิทยาเข้ามาช่วย รวมไปถึงต้องใช้องค์ความรู้ที่จะมาขบคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมมองผู้พ้นโทษเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องไปย้อนดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างในสังคมที่ทำให้เกิดการพูดซ้ำๆ กระทั่งคนทำผิดที่เพิ่งพ้นจากเรือนจำมีภาพลักษณ์ว่าเป็นคนชั่ว ต้องหาว่ามันเริ่มมาจากความรู้สึกของคนในสังคมแบบไหน ที่เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ด้วยก็เพราะว่ามันยากมากที่จะทำงานเฉพาะกับตัวผู้พ้นโทษตามลำพัง โดยที่ละเลยเรื่องแรงกดดันจากสังคม

อีกศาสตร์หนึ่งที่เอามาช่วยเรื่องนี้ได้ก็คือปรัชญา เร็วๆ นี้ก็มีดีเบตกันว่า เราจะใช้หลักความเชื่อแบบ free will (เจตจำนงเสรี) ไหมในเวลาที่เราทำงานกับผู้พ้นโทษ ถ้าเราเชื่อใน free will ว่าใครทำอะไรก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองทำเพราะเขาได้เลือกแล้ว ฝั่งหนึ่งอาจมองว่าเขาเลือกเองได้ แต่อีกด้านก็บอกว่าจริงๆ เขาเลือกไม่ได้เลย แต่เขาถูกปัจจัยสารพัดแวดล้อมคอยบีบทีละนิดจนเขาก็เหลือทางเลือกแค่นั้น และสุดท้ายก็กลายมาเป็นตัวเขาในทุกวันนี้ ถ้าเรามองแบบนี้ เราก็จะพบว่าบางทีการที่เราเรียกร้องให้เขาแสดงความรับผิดชอบ อาจจะแก้ปัญหาได้แค่ระยะสั้น ถ้าเราบอกให้เขาใช้ free will ใหม่แล้วทำให้ถูกต้อง และเขายังทำไม่ได้ เพราะปัจจัยยังไม่เปลี่ยน สุดท้ายเขาก็จะกลับมาละเมิดกฎอีกรอบหนึ่ง

เรื่องนี้มองได้สองมุม อาจไม่ต้องสรุปก็ได้ว่าแบบไหนถูก แต่ถ้ามองว่าสมมติฐานเรื่อง free will ยังไม่ค่อยเวิร์ก ลองเปลี่ยนมาใช้สมมติฐานเรื่อง predeterminism (ชีวิตทุกคนถูกกำหนดไว้แล้ว) อาจจะอธิบายได้มากกว่าไหม เราก็ต้องมาเริ่มไล่หาปัญหา ว่าอะไรที่ทำให้เขามี insecurity (ความไม่มั่นคงทางจิตใจ) แบบนี้ แล้วเราก็พยายามมาวางแนวทางที่จะแก้ปัญหาความยากที่ชีวิตเขาเผชิญมากขึ้น แน่นอนว่าวิธีนี้จะทำให้เราไม่แก้ปัญหาแบบ one size fits all (ใช้แนวทางเดียวกันแก้ปัญหาของทุกคน) แต่มันจะเริ่มเจาะจงมากขึ้น และแก้ปัญหาแต่ละคนได้มากขึ้น นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการดูแลคนพ้นโทษ เราก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนสมมติฐานไปเรื่อยๆ และลองดูว่าทำแล้วได้ผลอย่างไร จากนั้นกลับมาทบทวน แล้วก็ว่ากันใหม่ มันไม่มีข้อสรุปตายตัว

ฉันใดก็ฉันนั้น การจะหยิบใช้ศาสตร์ไหนมาประยุกต์ก็ต้องดูโจทย์เฉพาะหน้าแล้วค่อยเลือกหยิบ มันอาจจะยากที่จะลงทุนให้คนต้องรู้ถึง 5–6 ศาสตร์ก่อน แล้วค่อยมาทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าคนในกระบวนการยุติธรรมมีความพร้อมที่จะยอมรับว่าเราไม่รู้เรื่องนี้ แต่มีคนอื่นที่รู้เรื่องนี้เยอะ และเราสามารถประสานความรู้กันได้ มีแหล่งกลางความรู้ที่ช่วยเรื่องนี้ได้ มันก็จะเชื่อมโยงหลายศาสตร์เข้ามาด้วยกันได้ง่ายขึ้น

การจะเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมได้นั้นเท่ากับว่าขึ้นอยู่กับคนในระบบเป็นสำคัญว่าจะเปลี่ยนทัศนคติได้มากน้อยขนาดไหน แต่ก่อนหน้านี้คุณบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องท้าทายมาก และวงการนี้ก็อาจไม่ค่อยมีแรงจูงใจให้เปลี่ยนเท่าไหร่ ถ้าอย่างนั้นคุณว่าจะมีวิธีกระตุ้นให้คนในระบบยุติธรรมปรับกรอบคิดเรื่องนี้ได้อย่างไร

ถ้าเป็นมุมของ TIJ เราพยายามนำเอาวิธีการที่จะเข้าถึงองค์ความรู้แบบนี้สอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรที่เราทำ เวลาที่เราเอามาตรฐานระหว่างประเทศมาเป็นสื่อกลางในการสอนหรือแลกเปลี่ยนกับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เนื้อหาส่วนหนึ่งที่เราคงไว้เสมอและคิดว่าเป็นประโยชน์คือส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการทางความคิด ได้แก่ design thinking (การออกแบบความคิด), system thinking (การคิดอย่างเป็นระบบ), future thinking (การคิดเชิงอนาคต) โดยเราเชื่อว่าองค์ความรู้แบบนี้เป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์กับคนในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ศาล อัยการ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่สถานพินิจ หรือเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ เพราะการจะออกแบบอะไรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้คนได้คือเขาต้องสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนๆ นั้น กระบวนการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยากนักแต่แค่ต้องมีกรณีตัวอย่างที่พอจับต้องได้ และเราสามารถดึงเอาองค์ความรู้จากมันออกมาเผยแพร่ได้

แต่แทนที่จะจัดหลักสูตรของ TIJ เอง จริงๆ เราก็อาจทำให้ดีกว่านี้อีกขั้นหนึ่งได้ โดยควรต้องไปพยายามพัฒนาหลักสูตรที่ฝึกฝนทักษะความคิดลักษณะนี้เข้าไปในหลักสูตรแกนกลางของแต่ละหน่วยงาน ทำให้กลายเป็นทักษะความคิดที่บุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานนั้นต้องมีนอกเหนือไปจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่หลักของแต่ละคน

“ถ้ายังมอง ระบบยุติธรรม เป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

นอกจาก TIJ ที่กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว คุณเห็นองคาพยพอื่นๆ ของกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มตระหนักและมาขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้วบ้างไหม 

ถ้าพูดเจาะจงเฉพาะในเรื่อง design thinking ช่วงหลังๆ เริ่มเห็นว่าศาลและอัยการกำลังขับเคลื่อนแล้ว อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นความต้องการจากภายในองค์กรศาลเองที่อยากลองดูว่ากระบวนการ design thinking จะช่วยให้ศาลสามารถปรับปรุงกระบวนการให้บริการประชาชนได้หรือไม่ ซึ่ง TIJ ได้มีโอกาสไปร่วมสนับสนุนกระบวนการนี้กับสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเป็นกิจกรรม justice design ให้ประชาชนคนธรรมดาที่สนใจเข้ามาเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนำกระบวนกรหรือคนที่สามารถถ่ายทอดทักษะ design thinking เข้ามาให้ความร่วมมือ มีการเรียนภาคทฤษฎีอยู่นิดหนึ่ง จากนั้นก็ให้ไปสังเกตปัญหา กำหนดโจทย์ว่าปัญหาที่ต้องแก้คืออะไร ก่อนไปออกแบบกระบวนการ และลองมานำเสนอไอเดียให้ผู้บริหารของศาลฟัง ซึ่งมันก็เกิดหลายไอเดียเช่น การเสนอให้การให้บริการข้อมูลบนเว็บไซต์ของศาลสามารถทำให้เอื้อต่อผู้พิการทางสายตามากขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้พิการสายตาจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึง คือในที่สุดโครงการนี้ทำให้ระบบศาลเริ่มมองเห็นอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนบางกลุ่ม นำไปสู่ความพยายามขบคิดหาวิธีการแก้ปัญหากันมากขึ้น บุคลากรและผู้บริหารระดับสูงเริ่มเห็นความจำเป็นต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ซึ่งดูเป็นความหวังที่ดี

นอกจากศาลแล้ว อัยการก็เริ่มทำแบบเดียวกัน แต่โจทย์ของเขาไปเน้นไปที่เรื่องความรุนแรงต่อเหยื่อที่เป็นผู้หญิง เพราะเหยื่อในคดีความผิดเกี่ยวข้องกับเพศเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากมาก เราก็เอากระบวนการ design thinking มาทำ และเชิญผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อมาสู่กระบวนการ ให้ข้อมูล และเชิญอัยการ เอ็นจีโอ นักกฎหมาย ทนายความ ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ มาเวิร์กช็อป อย่างน้อยก็ทำให้พวกเขามีเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจกับปัญหานี้ได้มากขึ้น ถือเป็นนิมิตใหม่ของความเปลี่ยนแปลง และต้องบอกว่า TIJ ไม่ได้เป็นคนชักชวนให้หน่วยงานเหล่านี้ทำ แต่เป็นสิ่งที่พวกเขาอยากทำด้วยตัวเอง โดยมาชวนเราไปร่วมทำ

มองว่าอะไรคือความยากที่สุดในการเปลี่ยนทัศนคติของคนในระบบยุติธรรมให้หันมามองคนเป็นศูนย์กลางและรับความหลากหลายมากขึ้น

มันเป็นปรากฏการณ์สองชั้น ชั้นแรกคือการที่คนมองความยุติธรรมหรือการทำงานในแวดวงยุติธรรมว่าเป็นงานกฎหมาย กฎหมายมีอำนาจเยอะมากต่อความคิดของคนในระบบ เขาจะคอยมองหาว่าการจะทำอะไรบางอย่างมีกฎหมายกำหนดอำนาจให้ทำได้หรือเปล่า แล้วพอมองไม่เห็นว่ากฎหมายให้อำนาจก็จะเริ่มลังเล เพราะฉะนั้นสำหรับหลายคน กฎหมายถูกมองว่าเป็นกรอบที่พวกเขาก้าวข้ามไม่ได้ แทนที่จะมองว่าที่จริงกฎหมายมีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนเป็นหลัก ถ้าคนในระบบสามารถหันมามองในแง่นี้ได้ มันจะทำให้กฎหมายไม่ได้ทรงอิทธิพลในลักษณะที่เป็นสูตรสำเร็จและตายตัวอีกต่อไป

ชั้นที่สองคือเรื่องระบบราชการแบบไทยๆ ที่ยิ่งทำให้คนเกิดความละล้าละลังในการทำอะไรในเชิงรุก เพราะฉะนั้น ถ้าระบบราชการของกระบวนการยุติธรรมเองต้องปรับตัว ก็ต้องพยายามสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้บุคลากรรู้สึกคลายตัว ยึดติดกับกฎหมายน้อยลงนิดหนึ่ง และอาจต้องทำให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นด้วยในทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเปลี่ยนชุดความคิดของคนที่มองกฎหมายว่าเป็นสิ่งที่เขียนไว้แล้วเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยาก หากแก้ไขไม่ได้ มันจะทำให้การมองปัญหากับการมองหาทางออกอยู่ในกรอบเวลาอีกแบบหนึ่ง แปลว่ามันจะช้ามากเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของคนที่ต้องการความรวดเร็ว เหมือนเป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพ ที่เวลาของสองอย่างนี้วิ่งไม่เท่ากัน ถ้าเป็นอย่างนี้ มันจะเกิดความแบ่งแยกระหว่างคนในระบบกับคนที่ต้องการบริการ แล้วเราก็อาจต้องพยายามแก้ตั้งแต่วิธีการเรียนการสอนกฎหมายด้วยเลย รวมถึงต้องพิจารณาการปฏิรูประบบยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการไทยไปควบคู่กัน

ที่บอกว่าต้องแก้ตั้งแต่การเรียนการสอนกฎหมาย คุณว่าต้องแก้อย่างไรบ้าง

เราต้องทำให้คนที่เรียนกฎหมายมีจิตวิญญาณและความคิดแบบนักยุติธรรมมากขึ้น เพื่อให้เห็นว่า justice (ความยุติธรรม) คือปลายทาง ขณะที่ตัวบทกฎหมายเป็นวิถีหรือวิธีการส่วนหนึ่งเพื่อให้ไปถึงปลายทาง พูดอีกอย่างหนึ่งคือให้เขาคิดว่ากฎหมายไม่ใช่ข้อจำกัด แต่เป็นอุปกรณ์ช่วยแก้ปัญหา จากการที่ผมและ TIJ เคยได้ร่วมงานและดูหลักสูตรของคณะนิติศาสตร์บางสถาบัน พบว่าสิ่งที่นิสิตนักศึกษาในคณะนิติศาสตร์ อาจจะยังขาดไปในการเรียนการสอนคือขาดการเชื่อมโยงกับปัญหา และขาดคนที่จะมานำเสนอปัญหาในระดับที่เขาสามารถที่จะนำไปปฏิบัติจริงได้ ซึ่งมันส่งผลเมื่อเขาต้องเป็นคนที่ไปใช้กฎหมายจริงในอนาคต เราต้องทำให้เขาเห็นว่า สำนึกในฐานะของคนที่อยู่ในกรอบการเรียนการสอนแบบนักกฎหมาย จริงๆ แล้วคือคนที่มีบทบาทมากถึงขั้นเป็น engineer ของสังคม เพราะฉะนั้นเขาต้องสามารถมองอะไรได้มาก และต้องสามารถดึงเอาศาสตร์หรือองค์ความรู้อื่นๆ มาใช้และมาทำความเข้าใจปัญหาได้ด้วย โดยที่มีนิติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่ง และต้องฉีกจากวิธีคิดเดิมที่ว่ากฎหมายเป็นใหญ่ แล้วแก้ปัญหาโดยเอากฎหมายเป็นโจทย์สมการหลักให้ได้เสียก่อน

นอกจากนั้น การเรียนการสอนนิติศาสตร์หลายแห่งอาจเป็นการเรียนการสอนแบบจารีตนิยม คือเรียนที่ตัวบทเป็นสำคัญ อย่างเรื่องเกี่ยวกับฎีกาหรือแนวคำวินิจฉัย ซึ่งจริงๆ มันก็สำคัญ แต่มันสำคัญในระดับของการเริ่มใช้กฎหมาย ที่จริงการใช้กฎหมายยังมีอีกหลายมิติ และยังต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ในการมองปัญหาให้ไปไกลกว่าแค่โจทย์กฎหมาย อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการเรียนการสอนทางกระบวนการความคิด แม้ว่าหลักสูตรนิติศาสตร์หลายๆ คณะจะให้ความสำคัญกับการเรียนนิติปรัชญาหรือปรัชญากฎหมายเป็นกรอบความคิดก็ตาม ยิ่งบางคณะกำหนดเป็นวิชาพื้นฐานเลย แต่พอน้องๆ ที่เพิ่งจบ ม.6 มาแล้วมาเจอวิชาพวกนี้ตอนเรียนปี 1 ก็อาจจะพบว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตเขาไม่ค่อยได้ เพราะมันต้องไปเชื่อมโยงกับวิถีของนักคิดยุคเรเนซองส์ มันขาดตัวอย่างจริงมาประกอบ เลยอาจทำให้การเรียนไม่ค่อยได้ผลมากนัก

แต่ครั้นจะถามว่าควรจะยกเลิกพวกนี้เลยไหม ก็เป็นอันตรายอีกแบบหนึ่ง การเรียนแค่ประมวลกฎหมายไม่กี่ฉบับ แล้วเร่งให้จบโดยรวดเร็วเพื่อให้นิสิตนักศึกษาไปสอบให้ได้อัยการหรือไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา อาจจะเป็นแรงจูงใจที่ดีถ้ามุ่งหวังความก้าวหน้าในสายอาชีพ แต่จะเป็นประโยชน์น้อยต่อสังคมในระยะยาว เพราะการเป็นบุคลากรในระบบยุติธรรมต้องสามารถแก้ปัญหา มากกว่าเพียงให้ความยุติธรรมตามตัวบทอย่างเดียว มันอันตรายมากที่จะได้ท่านผู้พิพากษาที่มองอะไรได้จำกัดและยึดแต่กฎหมาย มันจะยิ่งทำให้กฎหมายตึงตัวมากขึ้น แทนที่กฎหมายจะคลายตัว

อย่างไรก็ตาม ผมก็เห็นว่าคณะนิติศาสตร์บางที่พยายามสร้างความหลากหลายในการเรียนการสอนอยู่ เช่น คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีวิชากฎหมายกับสังคม หรือการมีหลักสูตร BAScii (Bachelor of Arts and Science in Integrated Innovation: หลักสูตรศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมบูรณาการ หลักสูตรนานาชาติ) ก็ดี ผมก็ได้เรียนรู้ว่าหลักสูตรแบบนี้ช่วยสร้างความหลากหลาย และอาจจะช่วยทำให้การทำความเข้าใจกฎหมายดีขึ้นด้วย

“ถ้ายังมอง ระบบยุติธรรม เป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

คุณคิดว่าอะไรคือรากของปัญหาที่ทำให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ของไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงอยู่กับเรื่องเหล่านั้น

อาจมีหลายปัจจัย ความเป็นไปได้หนึ่งก็คือทุกๆ หลักสูตรปรารถนาที่จะทำให้หลักสูตรตัวเองมีมาตรฐานที่ดีที่สุด ได้นำองค์ความรู้ที่คณาจารย์ได้ไปร่ำเรียนมามาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของคนที่ไปเรียนกฎหมายเรียนเพื่อที่จะเข้าสู่ ‘อุตสาหกรรม’ หนึ่งที่ใช้กฎหมายเป็นวิชาชีพหลัก อย่างการเป็นทนายความ อัยการ หรือศาล มีเงื่อนไขกำหนดไว้ด้วยว่าต้องสอบให้ได้เนติบัณฑิต ซึ่งการเรียนการสอนกฎหมายแบบเนติบัณฑิตนั้นยึดการทำความเข้าใจกฎหมายให้กระจ่างแจ้ง และตีความกฎหมายโดยยึดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่มีมาก่อนอย่างเคร่งครัด นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในไทยยังมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่วิถีแบบที่เป็นมา ทำให้ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรอาจทำได้จำกัด

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนในเรื่องนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนเฉพาะตัวหลักสูตร แต่ต้องมองถึงเรื่องการวางมาตรฐานการเข้าสู่วิชาชีพ ที่ยึดอยู่ที่ว่าคุณสมบัติของบุคลากรที่จะเข้ามาเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการต้องสอบเนติบัณฑิตให้ได้เท่านั้นเท่านี้ก่อน และถ้ายิ่งสอบได้คะแนนสูง ก็จะยิ่งได้รับการนับหน้าถือตาที่ดี เราต้องคิดใหม่กันในเรื่องนี้ และสังคมเองก็อาจออกมาช่วยกันเรียกร้องได้บ้าง ถ้าสังคมเริ่มมองว่าอยากเห็นผู้พิพากษาที่มีความรอบด้านมากขึ้น การเรียกร้องแบบนี้อาจจะทำให้บุคลากรหรือคนที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการเข้าสู่วิชาชีพนี้ มองเห็นความจำเป็นที่จะทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง

คุณคงได้เห็นต้นแบบของต่างประเทศมาเยอะ มีระบบยุติธรรมประเทศไหนไหมที่คุณว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นต้นแบบของการปรับมุมคิดในระบบยุติธรรมให้มองความหลากหลายและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางได้ ไม่ว่าจะในแง่การศึกษานิติศาสตร์หรือในแวดวงอาชีพของกระบวนการยุติธรรม

อย่างการเรียนกฎหมายในสหรัฐอเมริกา เขาไม่ให้คนที่จบ ม.6 เรียนทันที แต่ต้องไปเรียนจบปริญญาตรีมาก่อน สาขาใดสาขาหนึ่งก็ได้ แล้วค่อยมาเรียนอีก 3 ปีใน law school (โรงเรียนกฎหมาย) แล้วค่อยไปสอบเนติบัณฑิต ซึ่งแต่ละรัฐก็มีระบบของตัวเองและมาตรฐานอาจต่างกันบ้างเล็กน้อย อย่างน้อยระบบแบบนี้ก็ทำให้คนที่จะเข้ามาเรียนกฎหมายผ่านกระบวนการหล่อหลอมความคิดมาระดับหนึ่งแล้ว มีความเป็นผู้ใหญ่ระดับหนึ่งในการเรียน ต่างจากของเราที่จบ ม.6 ก็เรียนกฎหมายได้เลย แถมเท่าที่ทราบบางหลักสูตรยังมีหลักสูตรเตรียมกฎหมายด้วยซ้ำ มีการให้เรียนกฎหมายได้ตั้งแต่อยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย และปรับให้เทียบได้กับการเรียนในมหาวิทยาลัยบางส่วน ทำให้สามารถเรียนจบกฎหมายได้เร็วกว่า 4 ปีเข้าไปอีก บางคนอายุยังน้อยมากก็จบปริญญาตรีด้านกฎหมายแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือญี่ปุ่น แต่เดิมเขาก็เรียนแบบไทย คือจบมัธยมศึกษาตอนปลายแล้วไปเรียนกฎหมาย 4 ปี แต่ตอนนี้เริ่มปรับมาเป็นระบบ graduate school (บัณฑิตวิทยาลัย) คือต้องจบปริญญาตรีมาก่อนแล้วค่อยไปเรียนกฎหมายอีก 3 ปี ซึ่งก็เริ่มเป็นแนวโน้มที่ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น

ควบคู่ไปกับการปรับปรุงการเรียนการสอนกฎหมาย ญี่ปุ่นก็ยังมีระบบที่เอาประชาชนเข้ามาเป็นผู้พิพากษา อาจจะไม่ใช่ผู้พิพากษาสมทบแบบความเข้าใจของเราในกรณีศาลคดีเด็กและเยาวชน แต่คือผู้พิพากษานั่งบนบัลลังก์เอง โดยประกบอยู่กับผู้พิพากษาที่เป็นนักกฎหมาย การใช้ระบบนี้ทำให้ทั้งอัยการและทนาย ฝ่ายจำเลยในคดีอาญา ต้องนำเสนอทุกอย่างโดยใช้คำศัพท์ที่เป็นศัพท์เฉพาะให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผู้พิพากษาที่เป็นคนธรรมดาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ร่วมพิจารณาคดีด้วยนั้นฟังรู้เรื่อง มันเป็นการปฏิรูปวิธีพิจารณาคดี ทำให้มองเห็นทุกอย่างจากมุมสายตาประชาชน ผู้พิพากษาที่จบกฎหมายก็มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ปรึกษา อาจจะช่วยกำหนดโทษเพื่อให้ยังมีมาตรฐานการลงโทษที่เป็นระบบ แต่ในการฟังการพิจารณาคดีหรือการซักไซ้ก็ดี ผู้พิพากษาที่เป็นนักกฎหมายก็จะมีบทบาทจำกัด แล้วก็ปล่อยให้ผู้พิพากษาที่เป็นประชาชนได้ตั้งข้อสงสัย แค่ทำคิ้วขมวดนิดหนึ่ง ทนายหรืออัยการก็ต้องเปลี่ยนวิธีการนำเสนอแล้ว ในช่วงแรกก็มีความท้าทายมาก แต่สุดท้ายเมื่อบุคลากรปรับตัวได้ ก็ทำให้การพิจารณาคดีเข้าใจง่ายและเข้าถึงง่ายมากขึ้น เชื่อว่านี่เป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับการปรับเรียนการสอนนิติศาสตร์ด้วย ทำให้บุคลากรที่เข้าไปทำงานในวิชาชีพนี้เห็นว่าการที่เขาผ่านโลกมาระดับหนึ่งทำให้เขาทำงานง่ายขึ้น

ที่ฝรั่งเศสก็น่าสนใจ อย่างในกลไกศาลปกครองของเขา ซึ่งจำกัดเฉพาะในกรณีที่เป็นคดีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ผู้พิพากษาจะมีบทบาทที่แอ็กทิฟมาก เขายังใช้ผู้พิพากษามืออาชีพก็จริงอยู่ ต่างจากของญี่ปุ่น แต่ผู้พิพากษาของเขาจะต้องทำหน้าที่ลงมาซักไซ้ไต่ถามด้วย คิดว่าอาจเป็นเพราะเขามองว่ามันมีความไม่สมดุลเชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่ ทำให้ผู้พิพากษานั่งนิ่งๆ เป็นผู้ชมไม่ได้ แต่ต้องกระโดดเข้าไปช่วยประชาชนด้วย ดังนั้นถ้าประชาชนถามรัฐแล้วยังไม่ได้ความชัดเจนพอจากการตอบหรือชี้แจงของรัฐ ผู้พิพากษาก็จะถามคำถามเพิ่มให้ เพื่อประโยชน์ด้านความยุติธรรม วิธีการแบบนี้ทำให้ระบบยุติธรรมสามารถเข้าถึงโจทย์หรือปัญหาของคนมากขึ้น ซึ่งระบบเขาต่างจากของเราที่ใช้แนวทางคล้ายๆ อังกฤษ คือผู้พิพากษาวางตัวเป็นกลาง อยู่ห่างออกมาจากกระบวนการพิจารณาคดี แล้วให้ฝ่ายโจทก์กับจำเลยต่อสู้กันเอง โดยศาลนั่งฟังแล้วชั่งน้ำหนักว่าใครนำเสนอได้น่าเชื่อถือกว่ากัน

เรื่องการสร้างระบบยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลางนี้ถือว่าเป็นวาระของระบบยุติธรรมในระดับนานาชาติแล้วหรือยัง

เวทีระหว่างประเทศอาจยังมองเรื่องนี้ว่าเป็นแดนสงวนที่แต่ละประเทศต้องว่ากันไปตามครรลองของตัวเอง มันอาจจะมีบางกรอบที่แต่ละประเทศมีการแลกเปลี่ยนกันบ้าง อย่างอาเซียนก็มีเวทีที่ผู้พิพากษาศาลมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง แต่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงว่าอะไรที่เป็นความก้าวหน้าที่ดีก็รับฟังกันไว้ แต่มักจะไม่ได้มองในเชิงเปรียบเทียบ

ถ้าจะมีอะไรบีบให้ระดับนานาชาติเปลี่ยนแปลงจริงคงต้องมีกระแสที่ใหญ่กว่านั้น อาจจะเป็นกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออย่างกระแสที่เรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมมองคนเป็นศูนย์กลาง ถ้ากระแสนี้มีพลังมากพอ มันก็จะเริ่มส่งสัญญาณไปที่กระบวนการศาล และทำให้ศาลหยิบเอาความต้องการนี้ไปปรับเอง แต่มันอาจจะไม่ง่ายที่จะมีองค์กรศาลระหว่างประเทศมาตกลงกัน เพราะมันเป็นมรดกทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะของใครของมันมาก เกินกว่าจะหาจุดร่วมกันได้ง่าย เราเลยไม่ค่อยเห็นเรื่องแบบนี้ในระดับนานาชาติ

“ถ้ายังมอง ระบบยุติธรรม เป็นแค่เรื่องของนักกฎหมาย อีกไม่นานสังคมจะเดือดร้อน”: พิเศษ สอาดเย็น ผอ. TIJ

การที่โลกปัจจุบันมีปัญหาหรือความท้าทายรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมามากขึ้น เช่นอาจเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภัยที่มาจากเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น น่าจะเป็นตัวบีบให้กระบวนการยุติธรรมทั่วโลกต้องปรับตัวด้วยหรือเปล่า

เรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมีผลให้มาตรฐานความถูกผิดอาจเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น บางคนถึงขนาดบอกว่าในบางพรมแดนที่ก้าวข้ามไป เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปมากและมีอิทธิพลมาก กฎหมายตามไม่ทันก็มีเยอะ เรื่องหนึ่งที่เราเห็นกันชัดๆ เลยก็คือเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ต่างๆ อย่างประเทศไทยก็พยายามจะให้มีพระราชกำหนดการกระทำความผิดในเรื่องพวกนี้ มีแนวทางการรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น มีความพยายามควบคุมบัญชีม้า ทำให้อายัดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่ถึงอย่างนั้นทั้งหมดนี้ก็ยังตามฝ่ายผู้ทำความผิดไม่ทัน เพราะเขาใช้เวลาแค่หลักนาทีในการโกงเงิน ไม่ว่าจะผ่านระบบธนาคารหรือระบบเงินคริปโต เป็นต้น ขณะที่ฝั่งทางการต้องใช้เวลาหลักเป็นสิบชั่วโมงหรือเป็นวันกว่าจะติดตามได้ทัน

เพราะฉะนั้นกฎหมายเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัย เช่น กลไกในการบังคับใช้ การประสานความร่วมมือและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน รวมไปถึงบทบาทของผู้เล่นบางคนซึ่งไม่ได้อยู่ในบังคับของกฎหมาย ขณะที่ผู้ให้บริการธนาคารหรือผู้ให้บริการโทรคมนาคม ก็ยังมีโจทย์ที่ต้องดูแลธุรกิจของเขา เมื่อโจทย์หรือความต้องการของผู้เล่นเหล่านี้ไม่สอดประสานกัน การแก้ปัญหาที่ต้องเอาความรวดเร็วเป็นคำตอบเลยทำได้ยากมาก และใช้เพียงตัวกฎหมายไม่ได้ การออกกฎหมายให้มีบทลงโทษที่รุนแรงก็ไม่ใช่คำตอบ และเห็นได้ว่าการมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เด็ดขาด โดยไม่ต้องอาศัยกลไกการพิจารณากันอย่างรอบคอบแบบรัฐสภา ก็ไม่ได้เป็นตัวช่วย นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิกเลยของการที่กฎหมายตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

ในสภาวะที่กฎหมายตามไม่ทันแบบนี้ มันอาจจะต้องใช้มาตรฐานอะไรบางอย่างที่สูงกว่ากฎหมายเข้ามาใช้ด้วย เช่นอาจเป็นมาตรฐานเรื่อง ethics (ศีลธรรม) และการจะรู้ว่าเอาอะไรมาใช้ได้นั้นก็ต้องเริ่มจากการเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคือหลักการพื้นฐานที่เราต้องยึดไว้ ใครมีส่วนได้เสียบ้าง มีปัจจัยอะไรเกี่ยวข้องบ้าง และผลที่ตามมาของแต่ละเรื่องคืออะไร นี่ก็จะเป็น ethics แนวใหม่ที่อาจจำเป็นต้องใช้ไปก่อนระหว่างที่กฎหมายยังตามไม่ทัน เพราะถ้ามัวไปยึดแต่กฎหมาย ก็อาจไม่สามารถดูแลให้ความเป็นธรรมต่อคนได้ทันต่อสถานการณ์จริงๆ

แต่แน่นอนกฎหมายเองก็ต้องปรับตาม และแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ปรับได้คือเอาคนเป็นศูนย์กลางด้วย แต่ว่าไม่ใช่ฐานะเป็นผู้รับผลประโยชน์ปลายทางอย่างเดียว คนเป็นศูนย์กลางในที่นี้อาจหมายถึงการเอามุมมองของคนที่เป็นประชาชนมาเสมอหน้ากันกับบุคคลที่มีอำนาจปฏิรูปหรือแก้ไขกฎหมาย เรียกว่าเป็น equal partner มากกว่าการที่นักกฎหมายจินตนาการเอาเองฝ่ายเดียวว่าประชาชนน่าจะอยากได้แบบนี้แล้วค่อยแก้ เหมือนกับที่ธุรกิจจะออกสินค้าตัวใหม่ก็ต้องถามผู้บริโภค

แน่นอนว่าตัวกระบวนการยุติธรรมเองต้องปรับตัว แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเราที่ย่อมมีส่วนได้เสียกับระบบยุติธรรม แม้จะไม่ได้ทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยตรงก็ตาม เราจะมีบทบาทอะไรในการขับเคลื่อนระบบยุติธรรมให้ไปในทิศทางนี้ได้ไหม 

ความยุติธรรมที่ระบบดำเนินการออกแบบให้ก็เป็นฝั่งเดียว แต่ความยุติธรรมที่เป็นมโนสำนึกอยู่ในใจคนก็มี เหมือนกัน ผมเชื่อว่าในฐานะที่เราเกิดเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตในสังคม เรามีความรู้สึกร่วมกันตรงนี้อยู่ เพราะฉะนั้นทุกคนสามารถเป็น judge หรือเป็นผู้ตัดสินได้ว่าสิ่งที่ตนเองพบเห็นอยู่ในสังคมเป็นธรรมไหม การที่เรารู้สึกว่ามันมีปัญหา มันไม่ยุติธรรม แล้วเราไม่ได้นิ่งเฉย แต่ส่งเสียงของเราออกมา ทำให้ความเห็นของเราปรากฏขึ้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้ความยุติธรรมไม่ได้เป็นอำนาจผูกขาด หรือเป็นอำนาจรัฐแบบที่เราเชื่อกันเพียงแต่อย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่จะยึดโยงให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการทำให้เกิดความรู้สึกแบบนี้

ฉะนั้นการส่งเสียงจึงเป็นเรื่องสำคัญ และการมีใจเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย มิเช่นนั้นก็จะเกิดความวุ่นวายไปอีกแบบหนึ่ง ทุกคนก็อาจจะเห็นต่างกัน ซึ่งถ้าเราสามารถจัดการความหลากหลายนั้นได้ ก็จะเป็นพลังมากกว่าที่จะเป็นเรื่องความขัดแย้ง ความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ควรจะต้องฟังกันให้มากๆ และในความหมายนี้ทุกคนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของพลังในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าได้อีกระยะหนึ่ง ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับเปลี่ยนที่สำคัญนี้ได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save