fbpx

TIJ Common Ground บ้านระบบยุติธรรมหลังใหม่ ‘เป็นมิตร เปิดกว้าง สร้างสรรค์’

‘สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน)’ ด้วยชื่อขององค์กรที่ดูจริงจังเป็นทางการมากนี้ หากให้ใครหลายคนลองจินตนาการถึงรูปร่างหน้าตาสถานที่ทำงานขององค์กรดังกล่าว ภาพที่ปรากฏอาจเป็นภาพของอาคารใหญ่โต บรรยากาศด้านในมีความเคร่งขรึม เต็มไปด้วยห้องทำงานสี่เหลี่ยม โต๊ะทำงานตั้งเรียงราย มีพนักงานนั่งทำงานจดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือกองเอกสารพะเนินกันอย่างคร่ำเคร่ง

แต่เมื่อเราเดินทางไปถึงอาคารที่ทำการของสำนักงานดังกล่าว ภาพที่เราเห็นตรงหน้าได้ลบภาพจำของอาคารสำนักงานที่เราพบเห็นกันทั่วไปอย่างสิ้นเชิง บรรยากาศที่นี่ดูเป็นมิตร ดึงดูดให้เข้าหาด้วยสีสันที่สดใส ดีไซน์ทันสมัย มีนิทรรศการย่อมๆ ที่ดูน่าสนใจ รวมทั้งห้องทำงาน ห้องประชุม และห้องจัดกิจกรรมต่างๆ ก็ดูเป็นกันเอง ไม่ได้เคร่งขรึมอย่างที่คิดไว้ คล้ายว่าเป็นอาคารที่ทำงานของบริษัทสตาร์ตอัปของคนรุ่นใหม่ๆ เสียมากกว่า

อาคารสำนักงานของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยหรือที่มีชื่อย่อว่า TIJ (Thailand Institute of Justice) แห่งนี้ เป็นอาคารที่ทำงานแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังโยกย้ายมาจากอาคารเดิมบนถนนวิทยุที่อยู่มากว่า 11 ปี โดยอาคารที่ทำการแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ในบริเวณอันรายล้อมด้วยหน่วยงานด้านความยุติธรรมของรัฐหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม และกระทรวงยุติธรรม จึงอาจเรียกได้ว่า TIJ ได้ขยับย้ายเข้ามาใกล้ชิดหน่วยงานเพื่อนพ้องมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การย้ายบ้านของ TIJ นี้ ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนที่ตั้งของอาคารที่ทำการเท่านั้น แต่ TIJ ยังถือโอกาสนี้ในการปรับโฉมระบบยุติธรรมที่ผู้คนอาจมองเป็นเรื่องยากและห่างไกลจากตนเอง ให้มีความใกล้ชิด เข้าถึงง่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ภายใต้ธีม ‘เป็นมิตร เปิดกว้าง สร้างสรรค์’ อันสะท้อนผ่านตัวอาคารแห่งใหม่ที่มีหลักการออกแบบคือการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centered) โดยจัดพื้นที่เปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ รวมทั้งเข้ามาเรียนรู้และร่วมกันขบคิดออกแบบระบบยุติธรรมแห่งอนาคตไปพร้อมกัน โดยพื้นที่ส่วนนั้นมีชื่อเรียกว่า TIJ Common Ground

หากเคยได้ยินประโยคที่ว่า “การออกแบบสถานที่ทำงานสะท้อนตัวตนขององค์กร” TIJ Common Ground คือตัวอย่างที่ดีของประโยคนี้

เปิดพื้นที่ต้อนรับคนหลากหลาย สร้างสรรค์ระบบยุติธรรมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“เราอยากให้ทุกคนมอง TIJ Common Ground เป็นบ้านที่พร้อมจะต้อนรับทุกคนและทุกเมื่อ เพราะเรื่องราวบางอย่างจะช่วยให้ TIJ นำไปเป็นแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาในการเข้าถึงระบบยุติธรรม และทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะเราไม่สามารถละเลยมุมมองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการยุติธรรมทุกคนได้”

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) บอกเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังอันเป็นหัวใจของการสร้างพื้นที่ TIJ Common Ground ต่อผู้คนจำนวนมากที่มาเยี่ยมเยือนอาคารสำนักงานแห่งใหม่นี้ในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยเน้นย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวตั้งใจเอื้อให้ประชาชนคนทั่วไปมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิด แลกเปลี่ยนและนำเสนอไอเดียต่อการพัฒนาระบบยุติธรรมให้ก้าวหน้าและตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง

“ความฝันของพวกเราคือในวันหนึ่งซึ่งหวังว่าจะอีกไม่นานนับจากนี้ TIJ Common Ground จะเติบโตกลายเป็นชุมชนที่มีสมาชิกจากทุกแวดวง ทุกกลุ่มอายุและความสนใจเข้ามาร่วมจัดกิจกรรม ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองกันอย่างสม่ำเสมอในบรรยากาศที่ทุกคนสบายใจ” พิเศษอธิบายต่อ

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนภาพแนวคิดเบื้องหลังก็สร้าง TIJ Common Ground ได้อย่างเด่นชัด ไม่ใช่ที่ไหนอื่นไกล แต่เป็นห้องตรงนั้นที่พิเศษกำลังสนทนากับบรรดาผู้เยี่ยมเยือนอยู่นั่นเอง โดยห้องนั้นมีชื่อเรียกว่า TIJ Common Ground Theater อันเป็นพื้นที่สำหรับนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้มีบรรยากาศที่ดูเคร่งขรึมจริงจังเหมือนห้องประชุมในภาพที่เราคุ้นเคย แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ดูสบายๆ เป็นกันเอง ด้วยการออกแบบที่นั่งเป็นรูปแบบอัฒจันทร์เล็กๆ 4 ชั้นในทรงครึ่งวงกลม วางเรียงรายด้วยเบาะนั่งสีสันสดใส ซึ่งแน่นอนว่าการจัดวางพื้นที่ห้องแบบนี้เป็นความตั้งใจของ TIJ 

“แม้คุณจะนั่งอยู่ฝั่งหนึ่งของห้อง แต่ถ้าคุณแสดงความคิดเห็น คนฝั่งตรงข้ามก็ยังสามารถมองเห็นสีหน้าท่าทางของคุณ ทำให้ทุกคนในห้องได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เดียวกัน” พิเศษเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังของการออกแบบ TIJ Common Ground Theater

ด้วยอาคารสำนักงานแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่โตโอ่อ่า จึงแน่นอนว่าพื้นที่สำหรับการพูดคุยแลกเปลี่ยนของประชาชนไม่ได้มีเพียง TIJ Common Ground Theater ห้องเดียวเท่านั้น ถัดจากการพบปะพูดคุยกับแขกผู้มาเยือนในห้องดังกล่าวแล้ว พิเศษก็นำทุกคนเดินทัวร์พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของ TIJ Common Ground ด้วยตัวเอง ทำให้เราได้เห็นห้องอื่นๆ ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่เปิดกว้างทางความคิดสำหรับประชาชนอีก อย่าง Learning Studio ที่ชั้น 1 ชั้นเดียวกับ TIJ Common Ground Theater โดยในห้องนี้สามารถจัดกิจกรรมได้หลายรูปแบบ ทั้งการจัดประชุม อบรม หรืองานเสวนาต่างๆ

TIJ Common Ground Theater

และเมื่อเดินขึ้นไปยังชั้น 2 ก็พบอีกสองพื้นที่สำคัญ คือ Justice Design Studio และ Co-working Space อันเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นวัตกรที่สนใจอยากสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม เข้ามาทำงานและขบคิดหานวัตกรรมระบบยุติธรรมใหม่ๆ ร่วมกัน นอกจากห้องเหล่านี้จะเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาใช้ได้แล้ว พนักงานของ TIJ เองก็สามารถเข้ามานั่งทำงานได้เช่นกัน

“ส่วนของสำนักงานที่พนักงาน TIJ ทำงานกัน ตอนนี้ไม่มีโต๊ะประจำตัวนะ ใครอยากนั่งตรงไหนก็นั่งได้ แฮปปีที่จะทำงานที่ไหนก็เลือกได้เลย แล้วพอชั้น 1 และ ชั้น 2 มีความเป็น co-working space บางทีเจ้าหน้าที่ก็ลงมาใช้ทำงานด้วย” สุดารักษ์ สุวรรณานนท์ หัวหน้าฝ่ายบริหารและเผยแพร่องค์ความรู้ของ TIJ เล่าให้เราฟังขณะพูดคุยกันส่วนตัว

Learning Studio

สุดารักษ์ ผู้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อน TIJ Common Ground ให้เกิดขึ้นจริงได้ เล่าให้เราฟังด้วยว่า การจะดึงดูดให้ผู้คนหลากหลายเข้าสู่พื้นที่ของ TIJ Common Ground ได้นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องการมีพื้นที่อย่างเดียว หากแต่การออกแบบพื้นที่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

“พอเห็นว่าตึกแห่งใหม่มีพื้นที่เยอะขนาดนี้ เราก็รู้สึกว่าควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่ในการจะเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามาใช้งาน ถ้าที่นี่มีลักษณะเหมือนตึกราชการปกติ มีความทางการหรือหรูหราเกินไป คนภายนอกอาจไม่อยากเข้ามา เราจึงมีการปรับด้วยการใช้แนวคิด Universal Design มากขึ้น”

สุดารักษ์ สุวรรณานนท์ หัวหน้าฝ่ายบริหารและเผยแพร่องค์ความรู้ TIJ

Universal Design หรืออารยสถาปัตย์ หมายถึงการออกแบบเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์หรืออยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพร่างกาย อายุ หรือเพศ เพื่อให้พื้นที่ TIJ Common Ground ตอบโจทย์การสร้างระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่ต้องสามารถเปิดกว้างและไม่มีขีดจำกัดต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยหลักการที่ว่าการเปิดกว้างพร้อมโอบรับความแตกต่างหลากหลายคือกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่เส้นทางแห่งเปลี่ยนแปลง และสังคมจะมีความเข้าใจร่วมกันได้สมบูรณ์มากขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย

Universal Design ที่เป็นแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบอาคารที่ทำการแห่งนี้นั้น ได้สะท้อนออกมาให้เราเห็นผ่านหลายมุมของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทางลาดสำหรับผู้พิการ รวมไปถึงป้ายบรรยายต่างๆ ภายในอาคารที่มีการใช้ภาษาไม่ซับซ้อนมากนัก แต่เน้นสื่อความหมายแท้จริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เป็นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับคนทุกกลุ่มนอกจากแนวคิด Universal Design แล้ว อาคารสำนักงานแห่งใหม่แห่งนี้ยังก่อสร้าง ออกแบบ และตกแต่งภายในโดยยึดหลัก Green Building เพื่อให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โซนนิทรรศการ: ทำความยุติธรรมให้เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

ไม่เพียงแต่การเป็นสถานที่เปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเท่านั้น แต่ TIJ Common Ground ยังตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้คน หลังจากที่ผ่านมา TIJ มักเผชิญข้อจำกัดในการสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะ เพราะปกติมักต้องเน้นใช้ข้อมูล งานวิจัย งานวิชาการ และมาตรฐานระหว่างประเทศที่ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์​รองรับ จึงต้องใช้ระยะเวลานานในการสื่อสารข้อมูลออกมาในแต่ละชิ้นและยากที่จะเข้าถึงประชาชน นี่จึงผลักดัน TIJ ต้องการขับเคลื่อนเรื่องกระบวนการยุติธรรมในมุมกว้างมากขึ้น สื่อสารในประเด็นที่ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น และพูดถึงความยุติธรรมในสังคมอย่างกว้างขวางโดยไม่จำเป็นต้องเป็นแวดวงนักกฎหมายเท่านั้น

การใช้พื้นที่ TIJ Common Ground ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะพัฒนางานของ TIJ ในแง่นี้ จุดเด่นหนึ่งที่ดึงดูดสายตาผู้คนที่ย่างเท้าเข้าไปอาคาร จึงเป็นนิทรรศการขนาดย่อมๆ ที่ประดับประดาด้วยสีสันสดใส สาดส่องด้วยแสงไฟเจิดจ้า และตั้งเด่นชัดในโถงเอนกประสงค์ที่ชั้น 1 ของอาคาร 

พื้นที่นิทรรศการตรงนั้นเป็นนิทรรศการแบบหมุนเวียนซึ่งจะสับเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ เพื่อให้สาธารณชนได้ทำความรู้จักเรื่องราวของระบบยุติธรรมในหลากหลายแง่มุม โดยนิทรรศการไม่ได้มีเพียงตัวหนังสือให้อ่านเท่านั้น แต่ยังมีลูกเล่นหลากหลาย โดยเฉพาะเกมเล็กๆ ที่สื่อสารประเด็นในระบบยุติธรรมได้อย่างเข้าใจง่าย 

สุดารักษ์เล่าให้เราฟังต่อว่า อันที่จริง TIJ Common Ground จะไม่ได้มีแค่นิทรรศการชั่วคราวเท่านั้น แต่จะยังมีส่วนนิทรรศการถาวร ในบริเวณทางเดินเชื่อมระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อทางเดินรูปร่างแปลกตาคล้ายอยู่ในสนามเด็กเล่น โดยนิทรรศการจะจัดขึ้นในประเด็นว่าด้วยวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์แนวคิดของระบบยุติธรรมในโลก ที่ชวนให้ทุกคนย้อนมองที่มาที่ไปของความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมในยุคสมัยต่างๆ อันจะสะท้อนให้เห็นว่าหลายครั้งความเปลี่ยนแปลงในระบบยุติธรรมเกิดขึ้นจากเสียงเล็กๆ ของคนธรรมดา และเป็นเครื่องยืนยันว่าเสียงของทุกคนมีคุณค่าและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

“เพราะสิ่งที่คนในสังคมมองว่ายุติธรรมในอดีตอาจไม่ใช่ความยุติธรรมในยุคสมัยนี้ ความก้าวหน้าของระบบยุติธรรมในสังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอด และความยุติธรรมจะพัฒนาไปข้างหน้าได้ก็เพราะประชาชนตั้งคำถาม ไม่ใช่เพราะผู้มีอำนาจ” สุดารักษ์อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวคิดของนิทรรศการถาวร

สุดารักษ์บอกกับเราว่าแม้นิทรรศการถาวรนี้จะเปิดให้บริการแก่คนทั่วไปแล้ว แต่ก็ยังคงมีความพยายามจะพัฒนาเพิ่มเติมในบางจุดเพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น “ตอนนี้ยังมีอีกหลายโจทย์ที่เราพยายามปรับกันอยู่ เช่น ส่วนของนิทรรศการ เรากำลังช่วยกันหาแนวทางว่าผู้พิการทางสายตาจะเข้าถึงได้อย่างไรบ้าง ในอนาคตอาจต้องปรับนิทรรศการให้มีเสียงเพื่อให้พวกเขาเข้าถึงได้ เรื่องนี้คงต้องอาศัยประสบการณ์ในการค่อยๆ ปรับไป แต่นี่เป็นเป้าหมายในใจว่าอนาคตเรายังคงอยากพัฒนาให้มีความหลากหลายกว่านี้ ให้คนเข้าถึงได้มากกว่านี้” สุดารักษ์เล่า

ครัวตั้งต้นดี: โรงอาหารแห่งโอกาสสำหรับอดีตผู้ต้องขัง

การจะมีพลังขบคิดและทำงานขับเคลื่อนระบบยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น นอกจากจะต้องมีทักษะความรู้ทางวิชาการแล้ว การรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ TIJ Common Ground จึงไม่เพียงแต่มีพื้นที่สำหรับทำงานเท่านั้น แต่ยังจัดสรรพื้นที่อีกส่วนหนึ่งสำหรับการออกกำลังกายทั้งกลางแจ้งและในร่ม ซึ่งสามารถเล่นกีฬาได้หลากหลายประเภททั้งฟุตบอล ฟุตซอล และบาสเกตบอล โดยเปิดกว้างให้ทั้งพนักงานของ TIJ เองและบุคคลภายนอกสามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งสุดารักษ์ก็เล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่เปิดอาคารสำนักงานใหม่นี้ หลังช่วงเวลาเลิกงานเป็นต้นไป ไม่มีวันไหนที่พนักงาน TIJ ไม่มารวมตัวกันออกกำลังกายที่นี่เลยแม้แต่วันเดียว

นอกจากสุขภาพที่ดีแล้ว แน่นอนว่าท้องที่อิ่มก็เป็นอีกหนึ่งแรงพลังสำคัญ ดังประโยคที่เรามักได้ยินกันจนคุ้นหูว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” โรงอาหารจึงถือเป็นอีกพื้นที่สำคัญของอาคารสำนักงานใหม่แห่งนี้

การมีโรงอาหารอยู่ในอาคารที่ทำงานคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก แต่สำหรับโรงอาคารในอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของ TIJ ที่นี่ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในฐานะสถานที่เติมพลังงานให้พนักงานและบุคคลทั่วไปที่แวะเวียนมาเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้โอกาสแก่คนจำนวนหนึ่ง นั่นคือผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ต้องโทษในเรือนจำ

TIJ Common Ground เปลี่ยนวิธีคิดในการทำโรงอาหาร จากการให้เช่าพื้นที่สำหรับพ่อค้าแม่ขายทั่วไป เป็นสถานที่ฝึกให้ผู้พ้นโทษได้เรียนทำอาหารด้วยการลงมือทำจริงและขายจริงในบริษัทจำลอง รวมทั้งมีการฝึกคิดบัญชีกำไรและต้นทุน วางแผนเมนู ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ศึกษาการทำการตลาด และได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าจริง ภายใต้ชื่อว่า ‘โรงเรียนตั้งต้นดี’ 

“เราไม่ได้เปิดตัวชัดเจนว่าเป็นโรงอาหารที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเป็นผู้พ้นโทษในโครงการโรงเรียนตั้งต้นดี เพราะเราคิดว่าเราไม่ควรจะอุดหนุนพี่ๆ ในครัวตั้งต้นดีด้วยความสงสาร เพราะพวกเขาก็มีศักดิ์ศรี มีความสามารถที่จะมอบสินค้าและบริการดีๆ ให้เราได้ เพียงแต่เขาอาจจะขาดโอกาส” พิเศษเล่าให้เราฟัง

การสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพแก่อดีตผู้ต้องขังคือภารกิจหนึ่งที่ TIJ ให้ความสำคัญมาต่อเนื่องยาวนาน จากการที่ TIJ เล็งเห็นว่าผู้ที่พ้นโทษจากเรือนจำควรมีโอกาสได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ สามารถกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่รู้สึกแปลกแยก ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้อดีตผู้ต้องขังไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำจนต้องกลับเข้าสู่เรือนจำ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ระบบราชทันฑ์ไทยเผชิญภาวะนักโทษล้นเรือนจำ TIJ จึงดำเนินโครงการสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ต้องขังในหลายรูปแบบ และเมื่อ TIJ Common Ground เกิดขึ้น TIJ ก็จัดสรรส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้เพื่อตอบโจทย์ในการเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับอดีตผู้ต้องขังแห่งใหม่ โดยมีครัวตั้งต้นดีนี้เป็นตัวนำร่อง ด้วยสโลแกน “ตั้งต้นดี มีงานทำ ไม่กระทำผิดซ้ำ”

แม้โรงอาหารแห่งนี้จะเป็นเสมือนโรงเรียนฝึกหัด แต่สุดารักษ์พูดยืนยันได้เต็มปากถึงคุณภาพของอาหาร เพราะครัวตั้งต้นดีนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าของสูตรอาหารชื่อดังมากมายที่ยินดีให้การอบรมการทำอาหารให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติของ TIJ ที่อาศัยการทำงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“เราได้ผู้ประกอบอาหารชื่อดังหลายร้านมาช่วยสอนสูตรอาหารต่างๆ การันตีรสชาติและคุณภาพของครัวตั้งต้นดีได้เลย เพราะตอนนี้ลูกค้าเยอะมาก ยิ่งตอนเที่ยงตรงคนแทบจะล้นออกมาเลย” สุดารักษ์เล่าด้วยรอยยิ้ม และยังบอกว่าลูกค้าไม่ได้มีแค่พนักงาน TIJ แต่บุคคลภายนอก โดยเฉพาะพนักงานของหน่วยงานด้านยุติธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงก็พากันแวะเวียนมาฝากท้อง

นอกจากครัวตั้งต้นดีแล้ว ในอนาคตอันใกล้ TIJ Common Ground ยังมีแผนเดินหน้าพื้นที่สร้างโอกาสอาชีพอื่นๆ แก่อดีตผู้ต้องขังเพิ่มเติมด้วย 

“เรายังมีความตั้งใจจะเปิดอีกหนึ่งโรงเรียนคือโรงเรียนซาลอน สอนทำผมและเสริมสวย เพราะซาลอนเป็นอีกอาชีพที่เป็นที่ต้องการในตลาด และเราตั้งใจเปิดโครงการนี้เพื่อให้ผู้ใกล้พ้นโทษได้ฝึกงานอาชีพไว้ใช้ในการตั้งหลักชีวิตใหม่” พิเศษเล่า

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าพื้นที่ส่วนนี้อาจไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่มอบโอกาสที่สองแก่ผู้เคยต้องโทษจำคุกเท่านั้น แต่อีกนัยหนึ่ง ยังเป็นเสมือนนิทรรศการมีชีวิตที่อาจกระตุ้นให้ผู้คนที่แวะเวียนมาฉุกคิดได้ว่า การให้โอกาสกลับตัวและกลับคืนสู่สังคมต่อผู้เคยก้าวพลาด คือหนทางแก้ปัญหาสังคมหนึ่งที่สามารถทำได้จริง จึงเรียกได้ว่าทุกตารางนิ้วใต้ชายคา TIJ Common Ground ล้วนถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนให้เกิดการปรับความคิด เปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมต่อระบบยุติธรรมให้ครอบคลุม เปิดกว้างและมองในมุมหลากหลายขึ้น ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการดึงดูดผู้คนเข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ระบบยุติธรรมให้ตอบโจทย์ยุคสมัย


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save