“คุกมีไว้ขังคนจน” ประโยคที่คนไทยพูดกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนไทยที่ว่าระบบยุติธรรมของประเทศไม่อาจเอื้ออำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่คนรวยมีทรัพยากรในการเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อปกป้องหรือเรียกร้องความยุติธรรมแก่ตัวเอง เช่น การจ้างทนายความเก่งๆ หรือการใช้เงินประกันตัวเอง คนจนไม่น้อยกลับไม่มีความสามารถจ่ายให้กับสิ่งเหล่านี้จนต้องยอมยกธงขาวโดยยังไม่ทันได้เริ่มต่อสู้
แม้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจะถูกจัดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยควรเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ทั้งยังมีกลไกของรัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการเข้าสู่ระบบยุติธรรม แต่ในความเป็นจริง การลุกขึ้นมาต่อสู้ภายใต้ระบบยุติธรรมมีต้นทุนอีกมากที่เป็นอุปสรรคกีดกั้นไม่ให้เราเข้าถึงมันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินซึ่งเราไม่อาจมองเห็น เช่น การเสียโอกาสทางการศึกษา การเสียเวลาทำมาหารายได้ ไปจนถึงการเสียสุขภาพจิต ซึ่งก็มักปรากฏว่าคนรายได้น้อยอาจไม่ได้มีความพร้อมในการแบกรับต้นทุนเหล่านี้มากนักเมื่อเทียบกับคนมีเงิน
เมื่อระบบยุติธรรมไทยยังไม่อาจมอบความยุติธรรมให้ประชาชนได้เท่าเทียมอย่างแท้จริง จึงเป็นโจทย์ที่สังคมไทยต้องร่วมกันขบคิดว่า จะทำอย่างไรให้การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทุกคน 101 ชวนหาคำตอบจากงานเสวนา ‘…ความยุติธรรม มีราคาที่ต้องจ่าย’ โดย TIJ Common Ground ซึ่งชำแหละให้เห็นตั้งแต่ต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์ของการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งรับฟังประสบการณ์ตรงและมุมมองจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนในการเข้าสู่ระบบยุติธรรม พร้อมร่วมกันมองหาแนวทางที่จะเป็นทางออกของปัญหาดังกล่าว
เสียไปเท่าไหร่กับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม?
ชำแหละต้นทุนที่มอง(ไม่)เห็นในระบบยุติธรรมไทย
อ.ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อธิบายว่า ‘ราคา’ ในทางเศรษฐศาสตร์สะท้อนสองสิ่งออกมาพร้อมกัน ด้านหนึ่งคือสะท้อนความต้องการซื้อของคน และขณะเดียวกันก็สะท้อนต้นทุนในการผลิตสินค้านั้นด้วย แต่ราคาของกระบวนการยุติธรรมในทางเศรษฐศาสตร์มีความซับซ้อนมากขึ้นอีก เพราะนอกจากจะมีสิ่งที่เราต้องจ่ายไปแล้ว ยังมีราคาที่ภาครัฐต้องจ่ายซึ่งเท่ากับเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเช่นเดียวกัน เพราะเงินทุกบาทที่ต้องเสียไปล้วนมาจากภาษีของประชาชน หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง คือหากมีคดีความเพิ่มขึ้น ก็หมายถึงต้องมีการให้บริการในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น จึงเท่ากับมีต้นทุนในส่วนนี้สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งต้นทุนเหล่านั้นก็ล้วนมาจากเงินของประชาชน
“เราต้องไปดูผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เช่น ถ้าเกิดว่าคุณมีข้อพิพาทกันในหลักที่แพงๆ เราก็อยากที่จะให้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะว่าผลประโยชน์ที่เกิดความยุติธรรมจะสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เราก็ไม่อยากที่จะให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นี่เป็นหลักคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่เราใช้” นณริฏกล่าว
ในทางเศรษฐศาสตร์จึงต้องมีการสร้างสมดุล โดยต้องไม่ทำให้ระบบยุติธรรมราคาถูกเกินไปจนกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับ และขณะเดียวกันก็ต้องไม่แพงเกินไปจนคนเข้าไม่ถึง
ดังนั้น เมื่อพูดถึงราคาของความยุติธรรม จึงต้องคิดถึงสองฝั่งเสมอ ได้แก่ ต้นทุนของภาครัฐที่ต้องดำเนินการ กับต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย
- ต้นทุนของภาครัฐ
นณริฏเสนองานวิจัยที่ทำเมื่อปี 2551[1] ซึ่งเทียบต้นทุนเฉลี่ยต่อคดีที่รัฐต้องจ่ายไปในการดำเนินงานทั้งหมด โดยแยกเป็นต้นทุนเฉลี่ยในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา พบว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อหนึ่งคดีอยู่ที่ประมาน 125,000 บาท
ต้นทุนในฝั่งประชาชนเกิดทั้งในฝั่งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา โดยมีทั้งรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงและค่าเสียโอกาส โดยค่าเสียโอกาสนั้นแบ่งเป็นสองหมวดหลักๆ คือเวลาที่สูญเสียไป กับรายได้ที่ขาดหายไป โดยมีการพิจารณาแยกเป็นสามประเภทคดี ได้แก่ คดีชีวิต คดีเพศ และคดีทรัพย์
- กรณีผู้กล่าวหา พบว่าค่าใช้จ่ายทางตรงกรณีไม่จ้างทนายอยู่ที่ 600–700 บาท แต่ถ้าจ้างทนายก็จะแพงขึ้นและมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอีกประมาณ 500–600 บาท เห็นได้ว่าต้นทุนทั้งหมดไปกองอยู่ที่ค่าทนายและกองอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม นั่นแปลว่ากระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันดูดซับต้นทุนทางสังคมไปค่อนข้างเยอะ
- กรณีผู้ถูกกล่าวหา สังเกตได้ว่ามีต้นทุนสูงกว่าผู้กล่าวหาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการคุมขังหรือมีค่าประกันตัว ซึ่งในค่าประกันตัวก็มีค่าเสียโอกาสอยู่ เพราะการนำเงินไปประกันตัวในบางครั้งจำเป็นต้องไปกู้ยืม ส่งผลให้ต้นทุนแพงขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าค่าใช้จ่ายทางตรงเริ่มสูงขึ้นจากหลักพันบาทเป็นหลักหมื่นกว่าบาท
“ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตคือค่าทนาย ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือได้ว่าเยอะ ดังนั้นน่าจะหาวิธีการที่จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ได้ อย่างบางคดีก็มีคำถามว่าทำไมต้องใช้ทนาย เพราะหลายคดีก็อาจมีโครงสร้างคดีคล้ายๆ กัน เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนตัวเลขเท่านั้น เช่น ในกรณีคดีผู้บริโภค ดังนั้นถ้าเราใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ แล้วตัดทนายไป ก็ถือว่าเป็น big win เลย” นณริฏกล่าว
จากตัวเลขต้นทุนดังกล่าว ทำให้ต้องกลับไปย้อนถามว่า รัฐมีกลไกที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งพบว่าสำนักงานกองทุนยุติธรรมคือหนึ่งในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
กองทุนยุติธรรม: กลไกช่วยประชาชน ลดต้นทุนเข้าสู่ระบบยุติธรรม
มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรม ให้ข้อมูลว่า “จากการเก็บข้อมูลพบว่ากลุ่มคนที่กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีนั้นกว่า 70% ไม่ใช่คนยากไร้ แต่เป็นคนที่พ้นขีดรายได้ปานกลางแล้วด้วยซ้ำ โดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาท ขณะที่ถ้าเป็นกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าเฉลี่ยของรายได้อยู่ที่ประมาณ 9,000 บาท ซึ่งเกณฑ์พิจารณาให้ความช่วยเหลือไม่ได้ดูว่าคนนั้นต้องเป็นคนยากไร้เท่านั้น แต่ดูที่ความสามารถในการจ่ายว่าเขามีความสามารถในทางเศรษฐกิจที่จะดูแลตัวเองได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้เราก็ให้ความช่วยเหลือ เช่น ดูค่าใช้จ่ายที่เขาต้องใช้ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเทียบกับรายได้ ภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงภาระหนี้สินที่เขามีอยู่ แล้วพิจารณาว่าเขาจะสามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่?”
“ยกตัวอย่างบางกรณีที่มีการปล่อยชั่วคราว เขาเช่าที่ดินของคนอื่นเอาไปวางไว้เป็นหลักประกัน แต่เราพิจารณาแล้วว่าเขามีภาระหนี้สินพอสมควร เราก็ช่วยอนุมัติเปลี่ยนหลักประกันให้ คือเอาเงินของเราไปวางแทน แล้วเขาก็เอาที่ดินตรงนั้นคืนแล้วได้เคลียร์หนี้สินตรงนั้นไปได้” มนินธ์ขยายความ
“การที่เราช่วยในเรื่องหลักประกันเพื่อปล่อยตัวเขาออกมาชั่วคราว ทำให้เขามีโอกาสออกมาทำงานและใช้หนี้ ซึ่งทางฝั่งตัวเจ้าหนี้เอง พอมีลักษณะการเจรจาแบบนี้ บางรายก็ยินดีที่จะให้โอกาส เจ้าหนี้ก็จะไปแถลงว่าเขาก็ไม่ได้ติดใจอะไรแล้ว แต่ตัวคดีเดินไปแล้ว มันก็ช่วยอะไรไม่ได้ วิธีคิดแบบนี้จึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นว่าการให้การช่วยเหลือไม่ได้มองแค่เรื่องคดีความอย่างเดียว แต่ต้องดูเรื่องการบรรเทาความเสียหายด้วย” มนินธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มนินท์ให้ข้อมูลว่ากองทุนยุติธรรมยังคงมีข้อจำกัดที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่ได้รับความช่วยเหลือ เช่น กลุ่มที่กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาโทษด้วยระยะเวลาที่นานเกินกว่าระยะเวลาการรับโทษตามที่มีคำสั่งโทษจริง ซึ่งอาจไม่ได้เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่เป็นเพราะในแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ฉะนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครผิดหรือบกพร่อง หากแต่ว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว
‘เสียเวลา-เสียโอกาส-เสียสุขภาพจิต’
เมื่อต้นทุนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีแค่เงิน
สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระ จาก Shero Thailand ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับความคุ้มครอง เพื่อให้เหยื่อสามารถหลุดออกจากความรุนแรงที่เผชิญให้ได้เร็วที่สุด โดยสิรินทิพย์เล่าจากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ผ่านมาว่า เหยื่อต้องเผชิญต้นทุนมหาศาลในการเข้าสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเอง
“ในกรณีความรุนแรงในครอบครัว คนคุมกระเป๋าสตางค์คือคนที่กระทำ ดังนั้นในแต่ละเคส ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการสุดท้าย องค์กรต้องช่วยเหลือเฉลี่ยเคสละประมาณ 8,000-10,000 บาท ซึ่งนี่ยังเป็นแค่ต้นทุนในส่วนกระบวนการขอคำคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น โดยยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
แม้ว่า Shero Thailand จะให้ความช่วยเหลือในด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่สิรินทิพย์ชี้ว่า เหยื่อยังมีต้นทุนอื่นที่ต้องเสียไปนอกไปจากตัวเงินที่ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ต้องเสียไป โอกาสทางการทำงานหรือการศึกษาที่หายไป อีกทั้งยังต้องเผชิญความเครียดในตลอดกระบวนการต่อสู้ เพราะต้องกลับไปเผชิญหน้าผู้กระทำหลายๆ ครั้ง และต้องเผชิญความอึดอัดในระหว่างกระบวนการยุติธรรมบางขั้นตอนที่อาจไม่ได้ตระหนักถึงความกระทบกระเทือนใจต่อเหยื่อมากนัก จนเหยื่อในหลายกรณีเกิดสภาพบอบช้ำทางใจ (trauma) ซึ่งสะท้อนว่าความยุ่งยากในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม สร้างต้นทุนให้ผู้ถูกกระทำต้องแบกรับเช่นกัน
สิรินทิพย์ยกตัวอย่างคดีความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้ถูกกระทำยังอยู่ในระหว่างการเรียน ซึ่งเมื่อองค์กรได้เข้าไปให้ความคุ้มครองกับเหยื่อรายนี้ เหยื่อก็ต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย และทำให้ไม่สามารถกลับเข้าระบบการศึกษาปกติได้ เพราะผู้กระทำพยายามแวะเวียนมาหาเหยื่อในสถานที่ศึกษาของเหยื่อตลอดเวลา เหยื่อจึงต้องเรียนผ่านกระดาษแทนการเรียนในห้องเรียนปกติ
“คำถามคือ แล้วเขาจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนในเมื่อไม่มีคนมาอธิบายให้ฟัง และถ้าเป็นกรณีเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ใครจะมาคอยป้อนเขา เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีภารกิจของเขา ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือผู้ถูกกระทำที่เป็นเด็กได้ นี่คือค่าขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้เขาไม่สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง” สิรินทิพย์กล่าว
สิรินทิพย์ชี้ว่า ส่วนหนึ่งที่สภาวะนี้เกิดขึ้นเป็นเพราะการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีระยะเวลายาวนาน โดยบางเคสมีการดำเนินคดีนานถึงสองปี ซึ่งในระหว่างนั้น เหยื่อต้องลางานเพื่อเดินทางไปที่สถานีตำรวจและศาล และเนื่องจากเงื่อนไขในงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงเผชิญต้นทุนที่ต่างกัน เช่น บางคนอาจสามารถใช้วันลาตามสิทธิสวัสดิการของบริษัทได้ แต่บางคนอาจไม่สามารถทำได้ โดยการลาอาจเท่ากับการขาดรายได้ในทันที
“นั่นแปลว่ามันเกิดต้นทุนการเสียโอกาสทั้งด้านรายได้ เวลา และการก้าวหน้าในหน้าที่การงานด้วย นี่คือความจริงผู้ที่เข้ามาในกระบวนการยุติธรรมต้องเจอ” สิรินทิพย์กล่าว
ถอดสูตรลดราคาความยุติธรรม
ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและเท่าเทียมยิ่งขึ้น
ด้วยราคาของกระบวนการยุติธรรมที่มีมูลค่าแสนแพงจนยากที่จะประเมินมูลค่าได้ หลายคนที่ไม่มีความสามารถหรือไม่มีความพร้อมที่จะสละต้นทุนส่วนนี้จึงอาจตัดสินใจไม่เข้าสู่กระบวนการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองเสียแต่แรกเริ่ม หรือไม่เช่นนั้นก็อาจยอมจำนนต่อความผิดโดยยังไม่ทันได้มีโอกาสปกป้องตนเอง กระบวนการยุติธรรมที่มีเงื่อนไขสภาวะเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากนักว่าได้เอื้ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง จึงเกิดคำถามตามมาว่า เราพอจะมีทางหรือไม่ที่จะแก้ปัญหาความยุติธรรมที่มีราคาแพงเกินไป ให้เป็นที่เอื้อมถึงได้สำหรับคนทุกคน
ให้คนจนจ่ายเงิน – ให้คนรวยจ่ายเวลา
นณริฏชี้ว่า ราคาที่เราต้องจ่ายมีอยู่สองมิติ ได้แก่ เงิน และเวลา โดยคนรวยและคนจนมักมีมุมมองต่อราคาที่ต้องจ่ายนี้ต่างกัน
“ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของรถซูเปอร์คาร์ที่รู้อยู่แล้วว่าจอดตรงนี้ต้องเสียเงิน 1,000 บาท แต่เขาก็เอาเงิน 1,000 บาทใส่ซองไว้เลย เพราะฉันรีบ ขณะที่ถ้าเราไปถามคนจนว่าเขาจะจ่ายอะไร เขายินดีจ่ายเวลา ถ้าให้หาเงิน 50,000 บาท ยอมเข้าคุกดีกว่า” นณริฏยกตัวอย่าง
ตัวอย่างดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า คนรวยมีแนวคิดเต็มใจที่จะจ่ายเงินมากกว่าจ่ายเวลา ขณะที่คนจนยอมจ่ายเวลามากกว่าจ่ายเงิน นณริฏจึงเสนอว่าแนวคิดในการกำหนดบทลงโทษในทางเศรษฐศาสตร์ต่อคนรวยและคนจนต้องแตกต่างและต้องพลิกกลับกัน คือหากผู้ทำผิดเป็นคนจน ต้องลงโทษด้วยการให้จ่ายเงิน เพื่อลดแรงจูงใจในการกระทำความผิด แต่หากเป็นคนรวย ต้องให้จ่ายเป็นเวลา
ลดขั้นตอน = ลดต้นทุน
“บางอย่างเราใช้ต้นทุนในการตรวจสอบมากกว่าสิ่งที่เราให้ความช่วยเหลือเสียอีก เงินไม่กี่บาทแต่ต้นทุนในการตรวจสอบกลับสูงมาก”
มนินธ์ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นอุปสรรคสำคัญหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีช่องทางในการรับเรื่องจากประชาชนที่สะดวก ด้วยว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยในหลายช่องทาง เช่น อีเมล แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ แต่มนินธ์ชี้ว่า เมื่อรับเรื่องมาแล้วกระบวนการหลังจากนั้นยังคงเป็นรูปแบบเดิม คือใช้องค์คณะในการพิจารณา มีการทำสำนวน นัดประชุม รวมทั้งมีการพิจารณาทำรายงานถึงจะสามารถดำเนินการให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลานานมาก จึงหมายถึงคนที่รอรับความช่วยเหลือต้องรอนานขึ้นด้วย จนกลายเป็นต้นทุนเวลาที่คนต้องเสียไปอย่างไม่จำเป็น
มนินธ์มองว่า ในการจะแก้ปัญหาส่วนนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดของระบบราชการ ให้คำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมากขึ้นกว่านี้ โดยต้องพยายามหาทางลดต้นทุนตรงนี้ที่อาจไม่จำเป็น ซึ่งมนินธ์ยอมรับว่าถือเป็นความท้าทายสำคัญมากสำหรับราชการไทย
ทำความรีบของเราให้เท่ากัน
ขณะที่สิรินทิพย์ก็เน้นย้ำให้เห็นว่ากระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐถือเป็นปัญหาสำคัญ โดยชี้ว่า “แม้ว่าหน่วยงานรัฐจะพยายามปรับปรุงให้เป็น One Stop Service ให้เราเข้าไปขอรับคำปรึกษาได้ แต่พอเราเข้าไปถึง มันกลับไปสะดุดตรงความรีบของคดี อย่างคดีความรุนแรงในครอบครัวซึ่งเรามองว่าเป็นคดีที่ค่อนข้างเร่งมาก แต่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจไม่ได้มองว่ามันรีบ คือความรีบของเราไม่เท่ากับความรีบของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ พอเรารีบไม่เท่ากัน จากเรื่องรีบก็เลยกลายเป็นไม่รีบไปเลย”
สิรินทิพย์จึงเสนอแนะว่า คนทำงานข้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนต้องคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้ความรีบในการดำเนินการแต่ละกรณีของแต่ละฝ่ายมีความเท่ากัน เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำถูกดำเนินการให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ อีกโจทย์หนึ่งที่สิรินทิพย์ยกขึ้นมาคือว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายมากที่สุด โดยชี้ว่าแม้ทุกวันนี้จะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ แต่ก็ต้องคำนึงว่าไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่เข้าถึงได้ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้มีรายได้ต่ำมากๆ จึงต้องคิดไปถึงขั้นที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนไม่ต้องเดินทางไกล เช่นไม่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามภูมิภาคเพื่อไปสถานีตำรวจ ศาล หรือหน่วยงานยุติธรรมต่างๆ แต่ทำให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้แบบใกล้บ้านมากที่สุด โดยอาจมีหน่วยงานหรือบุคลากรในส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาหนุนเสริมเพื่อช่วยพาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหน้าบ้านได้เร็วที่สุด
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world
↑1 | สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2554). “โครงการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เน้นศึกษาเฉพาะค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นหลัก ในระหว่าง พ.ศ. 2546-2551 อ่านได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1iZQzy6PkjkiibOPsLwo_SFLCKI5gLOe5 |
---|---|
↑2 | สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2562). “รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา”. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย อ่านได้ที่ https://drive.google.com/drive/folders/1iZQzy6PkjkiibOPsLwo_SFLCKI5gLOe5 |