“ความยุติธรรมเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต”
หากตั้งคำถามถึงความสำคัญของการดำรงความยุติธรรมในสังคม คำกล่าวจากช่วงตอนหนึ่งในการสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงเป็นคำตอบที่กระชับ เรียบง่าย แต่ชัดเจนอย่างถึงที่สุด เมื่อพิจารณาว่า ‘ความยุติธรรม’ อาจสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันภายใต้โฉมหน้าอันหลากหลาย ทั้งการแข่งขันที่เป็นธรรมในมิติเศรษฐกิจ ความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงอำนาจในมิติการเมือง กระทั่งเรื่องพื้นฐานอย่างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยยามเราตกอยู่ในความขัดแย้ง ทุกข์ยาก หรือข้อพิพาทต่างๆ โดยไม่คาดฝัน การบอกว่าความยุติธรรมนั้นคือ ‘รากฐาน’ สำคัญของชีวิตคนหรือสังคมก็คงไม่เกินเลย
แม้ที่ผ่านมา สังคมไทยจะไม่ใช่สังคมขาดแคลนความยุติธรรม กระนั้นก็มีประจักษ์พยานมากมายว่าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นไปอย่างยากลำบาก เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมกันต่อคนหลายกลุ่ม นำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อระบบที่นับวันอาจเสื่อมถอยลงทุกที
สภาพการณ์ปัจจุบันนี้อาจอธิบายผ่านกรอบคิดแบบเศรษฐศาสตร์ได้โดยคร่าวว่าเป็นปัญหาอุปสงค์ไม่ตรงกับอุปทาน กล่าวคือคนในสังคมล้วนมีความต้องการความยุติธรรม (Justice Needs) ที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามเพศ วัย หรือกระทั่งภูมิลำเนา แต่บริการความยุติธรรมในระบบกลับไม่ตรงตามความต้องการของประชาชน ไม่สามารถสนองตอบความคาดหวัง อีกทั้งยังมีต้นทุนราคาแพง ในแง่ของตัวเงิน ค่าเสียโอกาส และต้องใช้ความรู้ความสามารถทำความเข้าใจกฎหมายและระเบียบวิธีการอันซับซ้อน
สุดท้าย คนจึงเลือกมองหากระบวนการอำนวยความยุติธรรมอื่นๆ ที่ง่ายขึ้น ถูกขึ้น ซึ่งหลายครั้งลงเอยด้วยการนิ่งเฉยต่ออาชญากรรม การทุจริตคอร์รัปชัน และบรรดาความไม่เป็นธรรมในสังคม
การออกแบบกระบวนการยุติธรรมใหม่ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน และทลายต้นทุนการเข้าถึงตัวระบบจึงเป็นหัวใจหลักและเป้าหมายสำคัญของ ‘โครงการแนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People- Centric Justice)’ ซึ่งธานีเป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
อะไรคือความยุติธรรมในแบบที่คนต้องการ? ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน? หน้าตาระบบยุติธรรมรวมถึงกฎหมายในอนาคตควรเป็นอย่างไร?
เราชวน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ สนทนาถึงข้อค้นพบจากงานศึกษาในระยะที่ 1 ความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมไทยในโลกยุคใหม่ และแนวทางการพัฒนาในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์
โครงการศึกษาเพื่อการออกแบบกระบวนการยุติธรรมโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-centered Justice) มีที่มาเริ่มต้นจากอะไร อาจารย์เห็นปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างไรบ้าง
ที่มาของโครงการนี้มาจากสองส่วนครับ ส่วนแรก มาจากความพยายามทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีมานานแล้ว แต่อาจยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดให้กับประชาชน ทั้งกำหนดว่าความยุติธรรมของสังคมคืออะไร อยู่ตรงไหน และกำหนดด้วยว่ากระบวนการหาหลักฐาน การเข้าถึง การตัดสิน หรือกระบวนการอื่นๆ ต้องทำอย่างไร ในอดีต เราจึงพึ่งพาผู้มีอำนาจเป็นหลักในกระบวนการต่างๆ ของระบบยุติธรรม เช่น ผู้ตัดสินคดี ผู้เก็บหลักฐาน ผู้ดำเนินการ ความสามารถและคุณธรรมของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญ และเป็นสิ่งที่มาคู่กันเสมอเป็นเวลานาน
ส่วนที่สอง คือปัญหาการรวมศูนย์ที่ผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ในระดับสากลเอง องค์กรระหว่างประเทศก็สนใจเรื่องนี้ เช่น องค์กรชื่อว่า HiiL ที่เริ่มทำงานเรื่อง People-centered Justice หรือความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความพยายามของ HiiL ทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมาประชาชนในหลายประเทศเองก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมได้
นึกภาพอย่างนี้ครับ คนแถวบ้านผมมีปัญหาทะเลาะกัน เนื่องจากทำสัญญาซื้อขายของกัน แล้วส่งมอบไม่ตรงตามสัญญา ฝั่งหนึ่งเดินไปหาตำรวจ ตำรวจไม่รับแจ้งความ เพราะเป็นคดีแพ่ง เขาต้องไปพบทนาย ซึ่งเขาเองก็ไม่มีความรู้ว่าจะต้องติดต่อทนายอย่างไร ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องคุยอะไรบ้าง เขารู้น้อยมากทั้งเรื่องสัญญาและการติดต่อทนาย ผ่านไป 3-4 วัน ตำรวจมาจับ บอกว่าเปลี่ยนแล้ว นี่เป็นคดีอาญา เพราะมีการฉ้อโกง และมีพยานหลายคนในหลายๆ เรื่องที่ดูเหมือนจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกันก็ได้ แล้วแต่ดุลพินิจ
สำหรับชาวบ้านทั่วไป เขาไม่เข้าใจแพ่ง ไม่เข้าใจอาญา ไม่รู้จักเกณฑ์ต่างๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมตำรวจจับได้บ้างไม่ได้บ้าง เรื่องราวของเขาแค่ทำสัญญา แล้วเวลาส่งมอบสินค้าหรือจ่ายเงินไม่ตรงตามสัญญา เขาทั้งเครียด ทั้งกลัว ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ คนที่ตั้งใจจะโกง รู้และเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ดีมากกว่าคนที่สุจริตเสียอีก และเราก็มักจะบอกว่าทุกคนต้องรู้กฎหมายเพื่อปกป้องตัวเอง นี่คือวิธีคิดที่กฎหมายกำลังปกป้องคนที่สุจริตจริงๆ เหรอ
สถานการณ์ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่ให้ประโยชน์กับคนที่กระทำไม่ถูกต้อง อาจมีที่มาจากความยากและซับซ้อนเกินไป กลายเป็นว่าคนจำนวนหนึ่งที่คิดลงทุนกอบโกยผลประโยชน์จากกฎหมายจะยอมลงทุนเรียนรู้กฎหมาย และกลายเป็นภาระของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ความเข้าใจและความต้องการความยุติธรรมของคนทั่วไปไม่เหมือนวิธีคิดของระบบยุติธรรมที่เป็นอยู่ ในอดีต เราอาจจะมองเรื่องประสิทธิภาพในมุมของระบบยุติธรรมเป็นเป้าหมาย สุดท้ายมันเลยถูกออกแบบมาซับซ้อนมากๆ เพราะความยุติธรรมมันซับซ้อนด้วยตัวของมันเอง และเมื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าผู้มีอำนาจหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นคนออกแบบความยุติธรรมในสังคม ก็ยิ่งทำให้กฎหมายเป็นระบบที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้
ถ้าผู้มีอำนาจในระบบยุติธรรมเป็นคนที่มีความสามารถดั่งผู้หยั่งรู้ฟ้าดินและเป็นคนดีเหนือมนุษย์ ระบบยุติธรรมที่กำกับดูแลโดยผู้มีอำนาจก็อาจจะดีที่สุดได้ แต่ในปัจจุบัน ความยุติธรรมมีความหลากหลาย ทั้งเงื่อนไขของเจตนาและบริบท เราต้องการความเข้าใจที่แตกต่าง ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินไม่มีจริง และความยุติธรรมอาจไม่ใช่เรื่องของคนดีคนเลวอีกต่อไป มันเป็นเรื่องของความยุติธรรมที่สังคมต้องการ ซึ่งทับซ้อน เลื่อนไหล และมีพลวัต เลยเป็นที่มาของโครงการออกแบบกระบวนการยุติธรรมใหม่ด้วยแนวคิด People-centered Justice ครับ
ทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในภาพกว้างเริ่มหันมาจัดวางประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น แสดงว่าที่ผ่านมา สภาพที่ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหาร่วมกันแทบทุกประเทศเลยหรือเปล่า
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โจทย์หลักๆ ของเขามีแค่อย่างเดียวครับ คือมันยากและซับซ้อนในมุมของประชาชนทั่วไป แม้จะเป็นคนที่มีความรู้ มีการศึกษาที่ดี เช่น นักบัญชีที่มีความสามารถทางด้านบัญชี ความรู้ที่เขามีก็อาจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายก็ได้ ยิ่งถ้าคนนั้นเป็นแค่ผู้ประกอบการที่ต้องการทำบัญชีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยิ่งยากเข้าไปอีก เขาต้องไปจ้างบริษัทบัญชีราคาแพง ซึ่งกฎหมายที่ยากก็กำลังส่งเสริมทุนนิยม และลดทอนโอกาสของผู้ประกอบการรายเล็กอยู่
แนวทางในต่างประเทศจำนวนมากถึงพยายามทำให้กฎหมายมีจำนวนน้อยลงและง่ายขึ้น รูปธรรมอาจแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม หนึ่ง คือแนวทางที่ HiiL กำลังทำ คือพยายามเปลี่ยนกระบวนการทางกฎหมายจากเดิมที่เป็น legal based แบ่งกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิแพ่ง วิอาญา มาสู่ issue based คือมองชีวิตคนคนหนึ่งว่าตั้งแต่เกิดจนตาย เราเผชิญประเด็นอะไรที่ต้องการความยุติธรรมบ้าง เช่น เรื่องที่ดิน ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน มรดก ทรัพย์สิน อาชญากรรม เป็นต้น รวมแล้วมีอยู่ประมาณสัก 10 กว่าเรื่อง ถ้ากระบวนการยุติธรรมถูกจัดกลุ่มให้เหมาะกับเรื่องพวกนี้ จะทำให้คนเข้าใจระบบยุติธรรมมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และเมื่อคนเข้าใจระบบยุติธรรมมากขึ้น จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมมากขึ้นและเกิดความไว้วางใจในที่สุด เพราะเราไม่อาจไว้ใจอะไรก็ตามในโลกนี้ได้ถ้าเราไม่เข้าใจ และเราไม่อาจมีส่วนร่วมได้ถ้าเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร HiiL ไม่ได้เสนอให้รื้อกฎหมายของประเทศใหม่ แต่แค่ทำความเข้าใจเส้นทางชีวิต (Life Journey) ของคนแต่ละคน แล้วใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมระหว่างความรู้ที่ประชาชนพึงมี กับการบังคับใช้กฎหมายที่ซับซ้อน คล้ายกับการออกแบบ Justice Interface ประเภทหนึ่ง
แนวทางที่สอง คือการทำตัวบทกฎหมายให้ง่ายขึ้นหรือลดจำนวนลง Regulatory Guillotine หรือการยกเลิกกฎหมายที่ซ้ำซ้อน ไม่จำเป็นก็เป็นวิธีหนึ่ง เพราะเวลามีกฎหมายซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็นมากเกินไป มันอาจกลายเป็นเครื่องมือของนักกฎหมาย มีโอกาสที่เขาจะเลือกหยิบกฎหมายที่ได้ประโยชน์มาใช้ในเวลาที่ต้องการให้ได้ธงอย่างที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดแนวทางการออกกฎหมายให้ง่ายขึ้น เช่น อเมริกา ออกกฎหมายที่ชื่อว่า ‘TL;DR’ ย่อมาจาก ‘too long; didn’t read.’ คือถ้ากฎหมายไหนยาวเกินไป จะไม่มีคนอ่าน ดังนั้น ห้ามออกกฎหมายที่ยาวเกินความจำเป็น เพราะเป็นภาระของประชาชน
แล้วโจทย์ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาแบบไทยล่ะ
เราพบว่าปัญหาการเข้าถึงกฎหมายของประชาชนไทยมีปัญหาใหญ่ 3 เรื่องที่มากไปกว่าสากล ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ด้วย เราใช้คำว่า ‘ยุ่ง’ ‘ยาก’ แล้วก็ ‘แพง’
ในการศึกษาระยะแรก เราสำรวจเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนในเมืองหลายจังหวัด เหตุผลที่เริ่มจากคนเมือง เพราะคนเมืองสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการได้ง่ายกว่าคนในชนบท นั่นหมายความว่าปัญหาน่าจะน้อยกว่าด้วย แล้วมาดูว่าในชีวิตของเขามีประเด็นเรื่องอะไรบ้างที่ต้องการความยุติธรรมในระบบ โดยแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม คือผู้ฟ้องกับผู้ถูกฟ้อง
เราพบว่าถ้าจัดเรียงคนตามรายได้ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องในสัดส่วนพอๆ กัน ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง การเป็นผู้ฟ้องจะมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ถูกฟ้องอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่หากกระบวนการยุติธรรมมีราคาถูกเพียงพอ ไม่ว่าผมจนหรือรวย ผมย่อมเป็นได้ทั้งคนฟ้องและคนถูกฟ้อง แต่ตอนนี้เราเห็นว่าคนที่รวยมีแนวโน้มที่เป็นผู้ฟ้องมากกว่า แปลว่ากระบวนการยุติธรรมมีราคาแพง และเป็นประโยชน์กับคนรวย
เช่นเดียวกัน ถ้าเราเรียงคนตามระดับการศึกษา เราพบว่าคนที่มีการศึกษาน้อย มีแนวโน้มเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องพอๆ กัน แต่สำหรับคนที่มีระดับการศึกษาสูง สัดส่วนผู้ฟ้องก็จะสูงกว่าผู้ถูกฟ้องอย่างมีนัยสำคัญ แปลว่าคนที่มีการศึกษาดีกว่า อ่านหนังสือได้มากกว่า เข้าใจบทบัญญัติทางกฎหมายได้ง่ายกว่า มีโอกาสใช้กฎหมายฟ้องคนอื่นง่ายกว่า แปลว่าตัวกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมมีความยาก
สุดท้าย เมื่อเราจัดกลุ่มตามอาชีพ เราเจอข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนที่มีอาชีพข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีสัดส่วนของการเป็นผู้ฟ้องมากกว่าผู้ถูกฟ้องสูงกว่าอาชีพอื่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่ได้นับรวมคดีของหน่วยงาน อาจเพราะพวกเขาคุ้นเคยกับการอ่านระเบียบ การอ้างถึงกฎหมาย การเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมาย สอดคล้องกับที่เราพบว่าคนจบการศึกษา หรือเคยเรียนในสาขาเกี่ยวกับนิติศาสตร์ก็มีแนวโน้มเป็นผู้ฟ้องอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
นอกเหนือจากความสามารถในการเข้าใจระเบียบแล้ว จากการสัมภาษณ์พบว่า คนเป็นข้าราชการอาจมีพรรคพวก มีเครือข่าย หรือมีที่ปรึกษาที่ทำให้เขามั่นใจในการใช้กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น แปลว่ากระบวนการยุติธรรมให้ประโยชน์กับคนที่มีเครือข่ายพรรคพวกมากกว่า เรามองว่าสาเหตุนี้มาจากกระบวนการยุติธรรมมีความยุ่ง
เมื่อนำผลลัพธ์มารวมกัน เราจึงบอกได้ว่ากระบวนการยุติธรรมมันยุ่ง มันยาก มันแพง แต่ถ้าผมมีพรรคพวก ช่วยให้หายยุ่ง มีการศึกษาดี มีรายได้สูง ย่อมทำให้ได้เปรียบ และมีโอกาสเป็นผู้ฟ้องได้ง่ายกว่า เมื่อคนที่มีพรรคพวก มีการศึกษาดี และร่ำรวยเป็นคนเดียวกันในสังคมไทย กระบวนการยุติธรรมก็เลยให้ประโยชน์กับคนกลุ่มนี้โดยอัตโนมัติจากการออกแบบ ทั้งๆ ที่ไม่ได้พิจารณาไปถึงความดีเลวส่วนบุคคลของนักกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเสียด้วย คนในกระบวนการที่พยายามทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดจำนวนมากเลยไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมได้จริงในสังคม ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างของกระบวนการที่ยุ่ง ยากและแพง
อาจารย์กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าความซับซ้อนของกระบวนการยุติธรรม เกิดจากการที่ผู้มีอำนาจหรือผู้เชี่ยวชาญออกแบบโดยมองถึงประสิทธิภาพเป็นเป้าหมายหลัก จำเป็นไหมว่าความยุติธรรมที่แท้จริงต้องมาพร้อมความซับซ้อนเสมอ
ผมขอตอบคำถามนี้สองส่วนนะครับ หนึ่ง คือมีแนวคิดหลายแนวเกี่ยวกับคำว่า ‘ยุติธรรม’ สำนักคิดจำนวนหนึ่งเชื่อว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม คำว่ายุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ มันเป็นคำที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะเห็นความยุติธรรมไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีคนเดินมาชกหน้าผม จะเกิดคำถามว่าคนคนนั้นควรโดนลงโทษอะไรถึงจะยุติธรรมที่สุด ควรจะปรับหรือจำคุก และผมควรได้รับการชดเชยอย่างไรถึงจะยุติธรรมสำหรับผมเช่นกัน สุดท้ายคำตอบของสังคมไม่เหมือนกัน ถ้าไม่มีจุดร่วม ก็กลายเป็นคำถามว่า ยุติธรรมสำหรับใคร สำหรับผมหรือสำหรับเขา
ในสังคมที่ผ่านมา เราไม่ได้เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมในการกำหนดจุดที่ควรเป็นความยุติธรรมร่วมกันในสังคม มันอาจจะไม่มีความยุติธรรมร่วมกันเกิดขึ้น ไม่ว่าในมุมมองของใครก็ตาม (ยกเว้นมุมมองของคนที่เรียนทางด้านกฎหมายมาโดยตรงก็อาจจะมีหลักยึดมั่นในระดับหนึ่ง) ผมคิดว่านี่เป็นเงื่อนไขแรกที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความซับซ้อนในตัวเอง เพราะว่าเราทุกคนเห็น ‘ความยุติธรรม’ ไม่เหมือนกัน และเราต้องออกแบบการมีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมาย
เงื่อนไขที่สอง คือผมคิดว่าพัฒนาการของประเทศไทยมีความน่าสนใจ ในสมัยก่อน กษัตริย์รวมถึงชนชั้นปกครองของเราใช้อำนาจผ่านกฎหมาย ชนชั้นศักดินา ขุนนางหรือชนชั้นสูงของไทยจึงนิยมเรียนกฎหมาย เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญของการปกครอง เมื่อรัฐไทยมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ กฎหมายจึงซับซ้อนขึ้นตามการขยายตัวและรูปแบบการปกครองของรัฐไทย แต่ยังคงเป็นการออกแบบแบบรวมศูนย์จากส่วนกลางมาตลอด โดยราษฎรหรือประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบน้อยมาก
ถ้านำสองเงื่อนไขมารวมกัน จะเห็นว่าตัวความยุติธรรมมีความซับซ้อนอยู่แล้วในตัวมันเอง และพัฒนาการของประเทศไทยไม่เคยนึกถึงกระบวนการที่จะทำให้ความซับซ้อนเหล่านี้ลดลงไป กลับจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ถ้าเราแก้โดยการรับฟังความเห็นประชาชนหรือทำให้เกิดการกระจายอำนาจการปกครองจะเพียงพอให้ความซับซ้อนในกระบวนการยุติธรรมดีขึ้นจริงไหม
มันจะดีขึ้น แต่จะดีไปจนถึงจุดที่น่าพอใจกันแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องยาก แต่มันควรจะยุ่งน้อยลง ยากน้อยลง แพงน้อยลง
พอเราได้มาทำโครงการ People-centered Justice สิ่งแรกที่เราทำคือดู Justice Journey (ประสบการณ์เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรม) เพราะคนแต่ละช่วงอายุ แต่ละอาชีพ แต่ละพื้นที่ ต้องการความยุติธรรมไม่เหมือนกัน และเวลาเราให้ความรู้ด้านกฎหมาย เราไม่เคยแยกคนออกเป็นกลุ่ม ถ้ามีโอกาสกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ได้กำหนดนโยบายหรือกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในแต่ละพื้นที่ได้บางส่วน ความต้องการความยุติธรรมของประชาชนคงได้รับการตอบสนองมากขึ้น
หลักการพื้นฐานคือ “Life is a series of events” ชีวิตคนคืออนุกรมของเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย มันมีทั้ง fortunate และ unfortunate events ทั้งโชคดีและโชคร้าย ในสถานการณ์ที่ชีวิตเรากลายเป็น Life is a series of unfortunate events เราต้องการความยุติธรรม ความยุติธรรมจึงเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต และเป็นสวัสดิการพื้นฐานแบบหนึ่งของชีวิตคนที่มักไม่ค่อยได้รับการพูดถึง มันเป็นการให้ความคุ้มครองและป้องกันไม่ให้ชีวิตคนๆ หนึ่งแย่กว่าที่ควรจะเป็นในช่วงเวลาอันเลวร้าย
จากการศึกษา Justice Journey อาจารย์เห็นภาพการเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับกระบวนการยุติธรรมของคนไทยในช่วงชีวิตแต่ละช่วง แต่ละกลุ่มอย่างไร มีจุดใดที่น่าสนใจบ้าง
ตอนเราดู Justice Journey คือดูหลายมิติ เราพบว่าเพศ อายุ รายได้ และภูมิภาคเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้เกิดความต้องการความยุติธรรมที่แตกต่างกัน อย่างเช่นเพศชายกับหญิง เราน่าจะนึกภาพออกว่าเพศชายมีคดีความรุนแรงภายนอกครอบครัว คดียาเสพติดเยอะ ขณะที่ผู้หญิงมีคดีความรุนแรงในครอบครัว หรือคดีมรดกเยอะกว่าผู้ชาย หรือด้านความต่างของอายุ เราก็พบว่าคดีเกี่ยวกับความรุนแรงส่วนมากจะอยู่ในวัยรุ่น พออายุมาก คดีที่เกี่ยวกับเงินก็จะมาก และพอเข้าสู่วัยเกษียณ คดีเกี่ยวกับมรดกจะเยอะ เป็นต้น
ส่วนข้อมูลที่น่าสนใจในเชิงพื้นที่คือ คดีการหลอกลวงเกี่ยวกับเงินจะเยอะในภาคเหนือ ภาคใต้จะเห็นคดียาเสพติดจำนวนมาก เข้าใจว่าน่าจะเป็นใบกระท่อม พอเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หรือปริมณฑลจะเป็นคดีเกี่ยวกับการผิดสัญญาต่างๆ น่าจะเพราะนิติบุคคลอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะ เราได้เห็นความแตกต่างของคดีความโดยธรรมชาติของแต่ละภาค ขณะที่คดีฉ้อโกงมีในทุกช่วงอายุ และทุกพื้นที่ นี่น่าจะเป็นคดีสำคัญลำดับต้นๆ จริงๆ ของสังคมไทย
ข้อพึงระวังคือ ผลสำรวจการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันตรงนี้บอกได้แค่ว่า คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการในเรื่องอะไรมากน้อยเพียงใด แต่บอกไม่ได้ว่าจำนวนปัญหาจริงๆ ของเรื่องนั้นๆ ในสังคมมีเท่าไหร่ เช่น ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว มีคนตอบไม่เยอะ แต่จริงๆ อาจจะเยอะ แค่เขาไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ ในอนาคต เราอาจจะต้องสนใจหาข้อมูลเรื่องนี้มากขึ้น
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ดูเหมือนเป็นปัญหาคลาสสิกและเรื้อรังมาตลอด ในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมมีแนวโน้มถ่างออกกว้าง หรือหดแคบลงกว่าเดิมบ้างไหม เพราะเหตุใด
เราไม่มีข้อมูลหลายช่วงเวลาให้เปรียบเทียบ ข้อมูลเข้าถึงได้ยากมาก เพราะปกติในกระบวนการยุติธรรมแทบจะไม่มีข้อมูลอะไรที่เราเข้าถึงได้เลย แม้แต่คำตัดสินของศาลก็เข้าถึงได้เฉพาะศาลฎีกาเท่านั้น เราเลยตั้งต้นจากการสำรวจที่สะท้อนคุณลักษณะของประชากรในเขตเมืองทั้งประเทศ การสำรวจพบว่า ในปัจจุบัน 16% ของประชากรในเมืองที่อายุเกิน 25 เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อีกประมาณ 25% เคยเห็นคนในครอบครัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 60% ไม่เคยเกี่ยวข้องเลย ก็บอกยากนะครับว่าเข้าถึงได้มากหรือน้อย แต่ถ้าเราดูจากความยุ่ง ยาก แพง เราเชื่อว่าจริงๆ กระบวนการยุติธรรมน่าจะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่คนได้กว่านี้อีกมาก
เราสามารถหยิบจับกรอบคิดหรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง
ตัวระบบกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุดคือไม่ยุ่ง ไม่ยาก และไม่แพง ความยุ่ง ยาก แพงคือต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำ ในมิติเศรษฐศาสตร์ มันคือการมีราคาที่แพงสำหรับประชาชนที่ต้องจ่ายในหลายรูปแบบ ทั้งสายสัมพันธ์ เวลา และเงินทอง ถ้าการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมีราคาเป็นศูนย์หรือต่ำที่สุด ทุกคนก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม
ผมคิดว่าในอนาคต เทคโนโลยีน่าจะช่วยได้ ยกตัวอย่างปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้คือ สมมติคุณเดินไปเจอข้าราชการคนหนึ่งรับสินบน คุณจะทำยังไงต่อ เชื่อไหมครับว่าคน 95% ตอบไม่ได้ว่าต้องทำยังไง ถ้าต้องตอบให้ได้ เขาจะตอบว่าไปฟ้องเรื่องเล่าเช้านี้ ไปออกรายการโหนกระแส แต่การเข้าสู่กระบวนการที่เป็นทางการต้องทำยังไง เขาตอบไม่ได้เลย แปลว่ากระบวนการยุ่งยากจริง แถมยังแพงต่อความเสี่ยงในชีวิตอีก
ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นการใช้ระบบแชตบอต เราสามารถทำให้ง่ายขึ้นและให้ความรู้ไปในตัวได้ เช่น ระบบจะช่วยถามว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดที่ไหน เมื่อไหร่ มีหลักฐานอะไรบ้าง มีคนเห็นไหม มีรูปถ่ายไหม มีกล้องวงจรปิดแถวนั้นไหม มี capture zoom ไหม มีเอกสารไหม พอจะจำอะไรได้บ้าง มันคือตัวช่วยให้คนสามารถรวบรวมหลักฐานได้ด้วยตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ทั้งเพื่อตัวเขาเอง และเพื่อสังคม เทคโนโลยีตรงนี้ไม่ได้มีส่วนแค่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคน แต่ยังสร้างความเข้าใจและกระบวนการเข้าใจที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมที่ซับซ้อนได้ ยิ่งในอนาคต เราจะมี AI และ ChatGPT ก็จะยิ่งทำให้การสร้างความเข้าใจที่ตรงกันเป็นไปได้ง่ายขึ้น
จากการศึกษา เราเห็นระดับความเชื่อมั่นของคนในสังคมที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมไทยมากน้อยแค่ไหน
หากประเมินเป็นตัวเลข ผลสำรวจคะแนนความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ ภาพรวมอยู่ที่ 3 เต็ม 5 ครับ ไล่มาตั้งแต่ตำรวจ ทนาย อัยการและศาล ตำรวจได้คะแนนน้อยสุด ต่อมาคือ ทนาย อัยการ และศาลได้คะแนนมากที่สุด โดยความเชื่อมั่นของแต่ละหน่วยงานไม่ได้ต่างกันมากอย่างที่คิด อยู่ระดับกลาง ๆ
แต่กฎแห่งกรรมได้คะแนน 4 กว่าๆ เต็ม 5 นะครับ หลายคนอาจบอกว่าเป็นเพราะศาสนาพุทธมีความแข็งแกร่งในประเทศไทย อาจจะถูกบางส่วน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเพราะคนไม่มีความหวังกับกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในสังคมไทย ถ้ามองในภาพรวม กระบวนการยุติธรรมอาจไม่ใช่แค่เรื่องศาลตำรวจ แต่หมายรวมถึงประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย การมีส่วนร่วมในการปกครองอื่นด้วย และพอคนไม่มีความหวัง คนจึงเลือกพึ่งกฎแห่งกรรม
คนกลุ่มไหนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยต่ำที่สุด ณ ตอนนี้
มีคนสองกลุ่มครับ กลุ่มแรกคือคนอายุน้อย มีความเชื่อมั่นต่ำเมื่อเทียบกับคนที่อายุเยอะ ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาอยากออกมาขับเคลื่อนให้มันดีขึ้น อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่มีรายได้น้อย เขาไม่ได้มีการรับรู้ที่ดีกับการใช้กฎหมายที่เป็นธรรมมากเท่าที่ควร
ในงานศึกษาของอาจารย์ระบุว่าคนรุ่นใหม่คาดหวังกับกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันไม่มากนัก แต่มีความหวังในกับกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เขามีความหวังนะครับ การที่เขาไม่เชื่อมั่นกับความยุติธรรมในปัจจุบัน มีส่วนทำให้มีความหวังว่าจะทำให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้นในอนาคต ส่วนหนึ่งเขามีความหวังที่จะปฏิรูปหรือพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้นได้ น่าจะมาจากบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย เมื่อก่อนเราไม่มีเครื่องจักรขับเคลื่อนด้วยการด่าที่ได้ผล ด่าไปไม่มีใครได้ยิน ไม่มีโซเชียลมีเดีย หรือไม่มีข้อมูลข่าวสารที่เราจะรับรู้อะไรได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่มีฐานข้อมูลที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้ สามารถฟังเสียงทุกคนในโซเชียลมีเดีย มองเห็นตรรกะที่หลากหลาย นี่อาจจะทำให้พวกเขามีความหวังถึงกระบวนการยุติธรรมในอนาคตครับ
หัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมคือ ‘ความเชื่อมั่น’ ของประชาชน ในสายตาอาจารย์ อะไรที่สามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมไทยได้มากที่สุด
คือความไม่รู้ และไม่มีส่วนร่วม ทำให้ไม่ไว้วางใจ
ผมคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายมีความยาก แม้แต่นักกฎหมายเอง หลายคนก็อาจไม่เข้าใจในหลาย ๆ บริบท ทั้งที่กฎหมายเป็นเรื่องพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม พอเราไม่รู้ เราก็ไม่อาจเชื่อใจได้ และที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมพยายามทำให้คนรู้น้อยเกินไป เรามักจะบอกเสมอว่าการรู้กฎหมายเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน แต่เราแทบไม่เคยพยายามทำให้ประชาชนที่ควรเป็นเจ้าของกฎหมายรู้และเข้าใจกฎหมายมากขึ้นเลย
ถัดจากความไม่รู้ คือการไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เวลาพูดถึงการมีส่วนร่วม เราอาจไม่ได้คาดหวังว่าประชาชนต้องไปร่วมตัดสินว่าใครถูกผิดในกระบวนการเสมอไป แต่หมายถึงการมีส่วนร่วมอื่น เช่น การร่วมหาหลักฐาน หรือใช้ความรู้ของประชาชนที่หลากหลายช่วยวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ ยกตัวอย่างคดีแตงโม หรือคดีพิธาถือหุ้น เรามีคนช่วยหาหลักฐานเต็มไปหมด และมีคนช่วยพิจารณาพิเคราะห์หลักฐานอย่างน่าเชื่อถือพอสมควร ต่างจากเมื่อก่อนที่ความเชี่ยวชาญในการหาและพิสูจน์หลักฐานเป็นความขาดแคลน (scarcity) เราต้องมีคนไปตามหาหลักฐาน ต้องมีฝ่ายพิสูจน์หลักฐาน ยุคนี้กลับมีข้อมูลมากมายมหาศาล จนตอนนี้เรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริงนี่ยากไปหมด ประเด็นจึงไปอยู่ที่การคัดกรองความจริงมากกว่าการแสวงหาความจริง
การมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางอำนวยความยุติธรรม อาจมาทางอ้อมก็ได้ เช่น การสร้างความโปร่งใส หรือการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ มีส่วนทำให้ความจริงในสังคมประจักษ์ชัดมากยิ่งขึ้น และความจริงจะอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การที่หลายหน่วยงานของรัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ ย่อมขัดขวางการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หัวใจของคำว่า People-centered Justice คือ Solidarity คือ give and take เราให้ความยุติธรรมกับคนอื่นได้ ผมใช้ความเชี่ยวชาญของผมช่วยวิเคราะห์หลักฐานบางอย่าง ผมอัด zoom ไว้เป็นหลักฐาน ผมมีกล้องหน้ารถจับภาพตอนมีอุบัติเหตุไว้ ผมให้ความยุติธรรมกับคนอื่น ในขณะเดียวกัน คนอื่นทั้งหมดก็ให้ความยุติธรรมกับผมได้ในวันที่ผมเจอ unfortunate events ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการให้ข้อมูลหลักฐาน การใช้ความสามารถเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานก็ตาม
ถ้าเราเปิดเผยทั้งข้อมูล ผลลัพธ์ และกระบวนการ ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง และหน่วยงานที่ต้องมีกฎหมายรองรับในการเปิดเผย น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด ที่จริง ภาพจากกล้องติดรถยนต์ที่ถ่ายอุบัติเหตุบนถนนทั้งหลายในปัจจุบันก็เป็นตัวอย่างของการหาหลักฐานแบบมีส่วนร่วมเช่นกัน
การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการสืบหาหลักฐานจะมีประสิทธิภาพจริงไหม ในเมื่อความเห็นจากหลายคนอาจไม่เป็นความจริง และอาจทำให้เกิดหลักฐานมากมายเกินความจำเป็น
ทิศทางของกระบวนการยุติธรรมในอนาคตจะเปลี่ยนจากความขาดแคลน (Scarcity) ไปสู่ความท่วมท้น (Flood) ค่อนข้างแน่นอนครับ โจทย์คือภาครัฐจะมีหน้าที่กรองว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้าภาครัฐไม่รู้ ประชาชนจะเข้ามาช่วย จะมีกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องสังกัดหน่วยงานภาครัฐมาช่วย ผมคิดว่าจะมีคนยินดีจะช่วยมากมาย และคนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้นครับ
เมื่อกล่าวว่าเราต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้าถึงได้ง่ายและต้นทุนต่ำ คำถามคือง่ายและมีต้นทุนน้อยได้มากที่สุดเท่าใดที่จะไม่ทำให้กลายเป็นการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งรังแก หรือสร้างภาระให้คนในระบบ
ความไม่ง่ายและมีราคาแพงต่างหากที่เป็นต้นเหตุของการนำกฎหมายมารังแกกัน คนที่รังแกคือคนที่รู้กฎหมายดีกว่า ใช้ประโยชน์ได้เก่งมากกว่า หรือมีพรรคพวกช่วยเหลือเพื่อมากลั่นแกล้งคนอื่น ส่วนที่ว่าควรจะต้องมีราคาถูกแค่ไหน อาจจะตอบได้ยาก แต่ต้องถูกลงกว่านี้
ในงานศึกษา มีการสำรวจมุมมองของประชาชนต่อความยุติธรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น ความยุติธรรมของโลก, กฎแห่งกรรม, กระบวนการยุติธรรมโดยมนุษย์ และความยุติธรรมของสังคมไทย ทั้งหมดแตกต่างกันอย่างไร มีความยุติธรรมที่จริงแท้บนโลกนี้หรือไม่
ในชีวิตจริง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น คนมีทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย หนึ่ง ไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ ถ้ากระบวนการไม่ยุ่ง ไม่ยาก ไม่แพง คนอาจจะเข้าสู่กระบวนการนี้มากขึ้น แบบนี้คือกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ (Formal Justice) สอง เดินไปหาผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่ที่เคารพ เช่น ถ้าสองบ้านมีเรื่องกัน การให้ผู้นำชุมชนช่วยไกล่เกลี่ยจัดการก็เป็นความยุติธรรมรูปแบบหนึ่งเช่นกัน แบบนี้คือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นทางการ (Informal Justice) ซึ่งอาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่อีกแนวทางหนึ่งที่คนไทยนิยมใช้ คือปล่อยไว้เฉยๆ ช่างมัน เดี๋ยววันหนึ่งเขาจะได้รับผลกรรมกลับไปเอง เป็นแนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อว่าความยุติธรรมจะมาถึงเองในอนาคต อย่างหลังนี้เป็นกระบวนการอำนวยความยุติธรรมตามธรรมชาติ
สมมติว่าเอกับบีทะเลาะกัน ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เชื่อไหมว่าต่อให้ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองถูก แต่พอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ นอนไม่หลับกันทั้งคู่ เพราะเขาไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม มันมีปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อคำตัดสินได้หลายอย่าง และดุลพินิจเองก็เยอะ คาดการณ์อะไรไม่ได้ เอกลัวว่าบีเป็นเพื่อนกับคนนั้น มีเงินติดต่อกับคนนี้ บีก็กลัวเอจะทำอะไรสักอย่างที่ทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายแพ้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าระบบยุติธรรมรับเงินหรือฉ้อฉลเสมอไปนะครับ เขาแค่ไม่เชื่อ เขากลัว ฉะนั้นทางเลือกที่ดีกว่าอาจเป็นทางเลือกที่สอง ไปหาผู้ใหญ่บ้านไกล่เกลี่ย จบได้เร็ว โปร่งใส และพอใจ
หากไม่พอใจในทางเลือกที่สอง การเลือกเข้าสู่กระบวนการอำนวยความยุติธรรมตามธรรมชาติก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ คือช่างมันและรอวันที่อีกฝ่ายเกิดโชคร้าย ในสังคมไทย ทางเลือกนี้มักถูกใช้ในเรื่องใหญ่ที่เป็นประเด็นสังคม เช่น การต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ที่ทั้งฉ้อฉล และมีการคอร์รัปชัน การเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการก็อาจทำให้นอนไม่หลับ มีความไม่แน่นอน การไปบอกผู้นำชุมชน นี่ก็นอนไม่หลับเหมือนกัน เพราะไม่รู้ใครพวกใคร สุดท้ายคนก็คิดเอาว่า นักการเมืองไม่ดี เดี๋ยวกฎแห่งกรรมก็ทำงานให้ถูกลงโทษในอนาคตเอง เวลาที่เราเห็นคนในสังคมจำนวนมากเพิกเฉย อาจไม่ใช่เพราะเขาไม่เจ็บปวด แต่เป็นเพราะเขาประเมินแล้วว่ากระบวนการยุติธรรมอาจไม่ให้ประโยชน์ทั้งกับตัวเขาและสังคมคุ้มค่าพอที่เขาจะเสียสละต้นทุนในชีวิตไป
ในทางจิตวิทยาแล้ว โลกนี้มีคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือคนที่เชื่อว่าโลกนี้มอบความยุติธรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คนเหล่านี้คือคนที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องกระบวนการทางธรรมชาติที่จะคืนความยุติธรรมกลับมาให้ กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมเป็น man made มนุษย์ต้องสร้างเอง
การมีคนสองกลุ่มนี้ส่งผลหลายเรื่อง เช่น ความแข็งขันในการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็น man made ไม่เท่ากัน คนกลุ่มแรกเมื่อเขาเชื่อว่ายังไง ณ วันหนึ่ง โลกจะมอบความยุติธรรมให้อยู่แล้ว กฎแห่งกรรมไม่ทำงานชาตินี้ก็รอชาติถัดไป สิ่งนี้คือกระบวนการสร้างความยุติธรรมผ่านชาติภพ ข้อดีของความเชื่อแบบนี้คือความยุติธรรมสามารถดำรงความหลากหลายเอาไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหาจุดร่วม แต่ข้อเสียคือการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่เป็น man made จะเกิดได้ยาก เพราะคนไม่มีพลังมากพอจะสร้างมันขึ้นมา
ความเชื่อที่ว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ถ้าอยากได้ความยุติธรรมต้องสร้างขึ้นเอง ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความยุติธรรมที่มาจากการตัดสินข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเขาเชื่อว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม ธรรมชาติสร้างให้สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก จ่าฝูงแข็งแรงและเอาเปรียบลูกน้อง สังคมสัตว์มีความเหลื่อมล้ำ และมนุษย์ก็เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ดังนั้น ถ้าอยากได้ความยุติธรรมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ต้องสร้างความเท่าเทียม และความเท่าเทียมเป็นสัญญาณของความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าสัตว์ประเภทอื่นๆ มันคือการเอาชนะสัญชาตญาณสัตว์ สัญลักษณ์นั้นคือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เพราะประชาธิปไตยคือการทำให้คนทุกคน ไม่ว่าแข็งแรงกว่า อ่อนแอกว่า เก่งกว่า ฉลาดกว่า โง่กว่า รวยกว่า จนกว่า ทุกคนเท่ากันหมด มันคือรูปแบบหนึ่งของการเอาชนะธรรมชาติ ถ้าประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทุกคนเท่ากันหมด มันคือสิ่งที่บอกได้ว่ามนุษย์กำลังชนะธรรมชาติที่สร้างคนมาไม่เท่ากัน
ในอีกความเชื่อหนึ่ง เขาเชื่อว่าธรรมชาติคือสิ่งยิ่งใหญ่ มนุษย์เป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งในธรรมชาติ หนทางที่ดีที่สุดของเราคือโอนอ่อนและเป็นไปตามที่ธรรมชาติกำหนด มันคือรูปแบบวิถีชีวิตที่ทำให้เรามีความสุข เราปล่อยให้ทุกอย่างมันเป็นไปและเข้าใจได้กับสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ ซึ่งมันสร้างประโยชน์เชิงปัจเจกที่เข้มแข็ง
ทั้งหมดก็เป็นที่มาของคำถามเรื่องความยุติธรรมที่กำหนดโดยธรรมชาติหรือความยุติธรรมของโลก ซึ่งก็คล้ายกฎแห่งกรรมในสังคมไทย อันที่จริง ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับแนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรม ที่จริงมันคือ self-enforcement mechanism หรือกลไกกำกับให้ตัวเองทำหน้าที่ที่ดี ถ้าเราเชื่อกฎแห่งกรรมมากจริงๆ โดยเฉพาะในยุคก่อน มันไม่แย่นะครับ มันทำให้เราปฏิบัติตัวอยู่ในครรลองและไม่กล้าทำผิดต่อผู้อื่น เพียงแต่ยุคหลังๆ กลไกและความยุติธรรมในสังคม มันหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นจนคำว่าหน้าที่ที่ดีไม่อาจรู้ได้ว่าอยู่ตรงไหน
ใครคือภาคส่วนสำคัญ เป็น game changer ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม
ผมมองสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนจบนิติศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีเหตุมีผล มีความสงสัย ตั้งคำถามกับกฎหมายเดิม ๆ มากขึ้น ชัดเจนขึ้น คนกลุ่มนี้อาจรวมไปถึงนักนิติศาสตร์หัวก้าวหน้าที่มีอยู่แล้วด้วยก็ได้ คนกลุ่มนี้เป็น game changer ข้างในระบบ ขณะที่ game changer อีกกลุ่มก็คือการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ซึ่งมาจากประชาชนทั่วไป คนรุ่นใหม่ ที่ตั้งคำถามถึงความยุติธรรมของระบบ เมื่อโลกยุคใหม่มีประเด็นที่ซับซ้อนขึ้น ทรัพยากรมีจำกัด ทำให้นิยามความยุติธรรมอาจจะเปลี่ยนไป
ในทางเศรษฐศาสตร์ เราจะมองความยุติธรรมออกเป็นสองแบบ คือ normative justice กับ positive justice normative justice คือความยุติธรรมที่ควรจะเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นความดีโดยธรรมชาติ คนที่จะรู้ว่าอะไรคือความยุติธรรมแบบนี้มีเพียงผู้เชี่ยวชาญ หรือในสมัยก่อนก็เป็นกษัตริย์ที่เชื่อว่าติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าได้ รู้ว่าตรงไหนคือจุดที่ยุติธรรม
ส่วน positive justice เป็นความยุติธรรมที่ตกลงร่วมกัน อาจจะไม่ใช่ความดีตามธรรมชาติก็ได้ เช่น การจอดรถในที่สาธารณะคือการละเมิดทรัพย์สินสาธารณะ แต่ถ้าคนในหมู่บ้านหนึ่งตกลงกันว่าจอดได้ ก็คือจอดได้ แนวคิดนี้เกี่ยวพันกับหลายเรื่องในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ+ การค้าบริการทางเพศ สุรา หวย หรือเรื่องต่างๆ ที่มันเทาๆ เดิมทีประเทศไทยเรามีกฎหมายและระบบยุติธรรมที่สร้างจากฐาน normative justice เพราะได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความเชื่อและศาสนา ฉะนั้นเราจึงเห็นนักกฎหมายรุ่นใหญ่จำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับสมรสเท่าเทียม ค้าบริการทางเพศเสรี สุราเสรี ไม่เห็นด้วยกับการจอดรถในที่สาธารณะของหมู่บ้าน ซึ่งเขาก็อาจจะไม่ได้ผิดนะครับ แต่ในโลกที่ประเด็นซับซ้อนขึ้น มันก็อาจจะกำลังเปลี่ยนแนวคิดความยุติธรรมจาก normative justice มาสู่ positive justice มากขึ้น ตรงนี้คนข้างในระบบและประชาชนข้างนอกจะช่วยกันเปลี่ยนตัวระบบได้ครับ
อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ หากสังคมเรายังเชื่อ normative justice เชื่อว่าความยุติธรรมในสังคมต้องเป็นอย่างเดียวกับความยุติธรรมตามธรรมชาติ เราจะเชื่อมั่นในตัวบุคคล สอดคล้องกับที่ผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งอาจมองว่าตนเองทำหน้าที่ fine-tune ความยุติธรรมให้คนบางกลุ่ม เช่น ผมเป็นคนร่ำรวยมาก โกงเงินบริษัท 30,000 บาท กับผู้หญิงคนหนึ่งโกงเงินบริษัท 30,000 บาทเพื่อไปเลี้ยงลูกเล็กเนื่องจากสามีเสียชีวิตไปแล้ว สองคนนี้ควรได้รับโทษเท่ากันไหม ผมคิดว่าผู้พิพากษาหลายคนเอาบริบทมาพิจารณาร่วมในการตัดสิน เพื่อ fine-tune ความยุติธรรมให้เหมาะสมกับบริบทที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อสังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง มันก็มีความท้าทายจริงๆ อย่างนายตำรวจมียศ ลูกขับรถชนคนตาย กับพ่อแม่ที่หาเช้ากินค่ำ ลูกช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่ขับรถชนคนตาย สองกรณีนี้ควรจะได้รับโทษเหมือนกันไหม
ถ้าเราเชื่อใน normative justice จะมองว่าความยุติธรรมเกี่ยวพันกับบริบทด้วยเช่นกัน เพราะบริบทสะท้อนเจตนาในระดับหนึ่งและเจตนามีความหมายต่อการตัดสินเรื่องความยุติธรรม พอเป็นแบบนี้เลยยิ่งทำให้กระบวนการออกแบบความยุติธรรมยึดติดกับวิธีคิดของคน ให้ความสำคัญกับดุลพินิจ และต้องเชื่อในตัวคนมากๆ ว่าเขาจะมอบความยุติธรรม ซึ่งผมคิดว่าผู้พิพากษาจำนวนมากก็มีความตั้งใจที่ดี เพียงแต่พอเราดูภาพรวม คำตัดสินโทษมีหลากหลายเต็มไปหมด ทำให้คาดการณ์ได้ยาก และตรวจสอบความตั้งใจได้ยาก เพราะมีปัจจัยอื่นมาแทรกเต็มไปหมด
ที่ผ่านมา แม้เราจะพยายามการปฏิรูประบบยุติธรรมในเชิงระบบ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคลนะครับ ในเชิงระบบคือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส หรือการมีกติกาที่ชัดเจน กลายเป็นว่าคนในกระบวนการยุติธรรมจำนวนหนึ่งกลับเห็นว่ากติกาที่ชัดเจนคือ ความไม่เป็นธรรมรูปแบบหนึ่ง ดุลพินิจต่างหากที่ช่วยให้เป็นธรรม ข้อโต้แย้งสองฝั่งนี้เป็นความท้าทายมากของสังคมไทย
วงการนักกฎหมายประสบปัญหาอะไรที่ทำให้เอื้ออำนวยความยุติธรรมในสังคมได้ยาก หรือมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนบ้างไหม
ผมตอบทั้งหมดไม่ได้นะครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่านักกฎหมายจำนวนหนึ่งอยู่ในโลกค่อนข้างปิด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าเวลาเราออกแบบกฎหมายบางฉบับ นักกฎหมายจะไปดูเคสจากต่างประเทศแล้วหยิบมาทำให้เป็นกฎหมายของไทย มีการเรียกคนจากหลากหลายกลุ่มมาคุยเพื่อรับฟังความเห็นแล้วปรับปรุงตัวกฎหมาย นี่เป็นกระบวนการปกติที่ทำกันมา ขณะที่กระบวนการออกกฎหมายอาจเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย มีนักกฎหมายเป็นเสียงส่วนน้อย แม้ว่าอาจจะมีจำนวนมากสุดในกรรมาธิการออกกฎหมาย เช่น 4 ใน 10 คนเป็นนักกฎหมาย แต่อีก 6 ใน 10 จะเป็นคนหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้น ๆ เช่น ถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน เราอาจจะต้องการนักเศรษฐศาสตร์ นักบัญชี นักข่าวสืบสวนสอบสวน ข้าราชการกระทรวงการคลัง แม้แต่วิศวกร สถาปัตย์ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกหรือพิจารณากฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่การรับฟังเพื่อปรับปรุงกฎหมาย
ผมคิดว่าในอนาคต การมีส่วนร่วมของกระบวนการออกกฎหมายต่างๆ ต้องไม่ใช่แค่รับฟัง ต้องมีกลุ่มคนหลากหลายในกระบวนการมาตั้งแต่ตอนตั้งต้น และคดีบางประเภทต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือตัดสินคดีด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสินคดีที่เกี่ยวกับคนยากจนในสังคม เราอาจจะต้องการมุมมองของคนจนด้วย ประกอบไปกับความเข้าใจของผู้พิพากษาที่อาจจะไม่เคยอยู่ในสถานะของคนจนเลยก็ได้
ปัจจุบันมีตัวบทกฎหมาย หรือบทลงโทษแบบใดที่อาจารย์คิดว่าควรปรับปรุง โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์เข้าไปช่วยแก้ไขได้ เช่น ในต่างประเทศมีอัตราค่าปรับตามรายได้ของผู้กระทำผิด เป็นต้นแบบที่ควรทำไหม
คำตอบจริงๆ คือควรครับ เป็นทิศทางที่ควรพัฒนาไปให้ถึง เพราะเดิมบทลงโทษค่าปรับในกฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำในตัวเองอยู่แล้ว เช่น ถ้าปรับ 10,000 บาท คนมีรายได้ 5,000 บาทต่อเดือนจะไม่สามารถจ่ายได้ แต่ถ้ามีรายได้สักเดือนละ 1 ล้านบาท ค่าปรับ 10,000 บาทถือว่าสบาย ที่ผ่านมา ก็มีความพยายามพัฒนากฎหมายแพ่งทั้งในไทยและต่างประเทศ หลายประเทศเริ่มเห็นรถซูเปอร์คาร์ฝ่าไฟแดงเยอะขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการตัดแต้มที่ทั้งรวยและจนมีแต้มเท่ากันหมด หรือมีการกำหนดค่าปรับตามสัดส่วนของรายได้ เพื่อให้กฎหมายไม่สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม
สำหรับประเทศไทยอาจติดข้อจำกัดว่าฐานข้อมูลต่างๆ ของเราตอนนี้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เราไม่รู้ว่าใครมีรายได้แค่ไหน และนอกเหนือจากการเก็บข้อมูลได้ไม่ดี ผมคิดว่าระบบการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานก็เหมือนจะมีน้อย คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการพัฒนา
กฎหมายส่วนใหญ่มีบทลงโทษเพื่อสร้างความกลัว ทำให้คนไม่กล้าละเมิด อย่างไรก็ตามความกลัวอาจไม่ได้ผลเสมอไป เราสามารถสร้างแรงจูงใจในการไม่ละเมิดกฎหมายแบบอื่นนอกจากสร้างความกลัวหรือไม่ อย่างไร
โดยหลักทางวิชาการ กฏหมายถูกออกแบบบทลงโทษเพื่อสร้างความกลัว สำหรับในประเทศไทย ถามว่าคนกลัวกฎหมายไหม คำตอบคือกลัว แต่เราไม่ได้กลัวเท่ากัน เราเคยมีแบบสำรวจที่พบว่าคนรายได้น้อยกลัวกฎหมายมาก มากขนาดที่บางคนกลัวเจ้าหน้าที่รัฐด้วย เพราะเจ้าหน้าที่คือผู้ใช้กฎหมาย แต่คนที่รายได้เยอะ มีอำนาจมาก เขากลัวกฎหมายน้อยมาก เพราะเขารู้ว่าเขามีวิธีดีลกับกฎหมายจากช่องว่างต่างๆ จากดุลยพินิจ จากการตีความ มีวิธีมากมายในการเลี่ยงบทลงโทษ แต่เขากลัวคนจับได้ครับ สายตาจากสาธารณะคือสิ่งที่เขากังวล
ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าจากกรณีขับรถฝ่าไฟแดง แวบแรกเราจะดูก่อนว่ามีตำรวจไหม แต่เราไม่ได้คิดว่าจะโดนปรับเท่าไหร่ เพราะเรากลัวการถูกจับได้และคิดถึงโทษทีหลัง ถ้าเราจะไปโกงเงินใครสักคน แล้วรู้ว่ามูลค่าทรัพย์สินที่คนส่วนใหญ่ไปร้องเรียนตำรวจอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาทเป็นต้นไป ถ้าต่ำกว่า 80,000 บาทมีโอกาสถูกจับได้น้อยมาก เราก็อาจจะตัดสินใจทำ กลับกัน ถ้าเราเพิ่มโอกาสในการจับได้จะมีผลมากๆ ต่อการควบคุมพฤติกรรม ซึ่งการเพิ่มโอกาสในการจับได้มาจากสองทางครับ คือเทคโนโลยีกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเก็บหลักฐาน ค้นหาหลักฐาน
จากที่เราคุยกันมาทั้งหมด ในสายตาอาจารย์ อะไรคือความ ‘ไม่ยุติธรรม’ ในสังคมที่เกิดขึ้น และยังคงดำรงอยู่ได้อย่างไร
ผมว่าความไม่ยุติธรรมทั้งหมดที่อยู่ในสังคมไทย หัวใจมีอย่างเดียวคือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมในสังคมไทยยังดีไม่พอ มันเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบด้วย โดยที่เราไม่ได้พูดถึงว่าผู้พิพากษาหรือคนในกระบวนการเป็นคนดีหรือไม่ดีด้วยซ้ำ โดยตัวระบบเองมันทั้ง ยุ่ง ยาก แล้วก็แพง นี่คือความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ตอนตั้งต้นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย
พอมีความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กฎหมายก็กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ยุ่งน้อยกว่า ยากน้อยกว่า แพงน้อยกว่า ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเล่นงานหรือปกป้องผลประโยชน์บางอย่าง ขณะที่กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง กฎหมายกลายเป็นโซ่ตรวนที่รัฐให้เขาจำเป็นต้องจำยอมกับสภาพบังคับทางกฎหมายของผู้มีอำนาจ
ถ้าเราสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม มันจะลดหลายปัญหาในสังคมไทยได้เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม การทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม กระบวนการประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ คนไม่เท่ากัน การทุจริตคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจ ปัญหาพวกนี้จะเข้าถึงความยุติธรรมได้หมดเลย เราคิดว่า People-centered Justice คือหัวใจสำคัญ แต่ก็ยากมากเช่นกันเพราะตอนนี้กระบวนการยุติธรรมของเรารายล้อมด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างอื่นที่ช่วยค้ำยันความไม่เป็นธรรมในกระบวนการเข้าสู่ความยุติธรรมให้คงอยู่ นี่เป็นโจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทยครับ
แนวทางที่สังคมไทยทำมาตลอด ไม่ใช่การปฏิรูประบบยุติธรรมให้ ยุ่ง ยาก แพงน้อยลง แต่มักจะเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมกันในระบบยุติธรรมแบบสงเคราะห์ เราได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าผู้พิพากษาเห็นใจ หรือตำรวจช่วยไกล่เกลี่ย เพราะคนถูกฟ้องเขามีความลำบาก หรือแม้แต่การมีกองทุนช่วยเหลือ มีที่ปรึกษาที่รัฐจัดหาให้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นระบบสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันอาจมีความเหมาะสมเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ในอนาคต ถ้าเราพัฒนากระบวนการยุติธรรมแบบ People-centered Justice ที่ทำให้ทุกคนสามารถให้และรับความยุติธรรมด้วยตัวของเขาได้ คนที่เข้ารับการสงเคราะห์หรือได้รับความเห็นใจในรูปแบบนี้ต้องลดจำนวนลงเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเราพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้น ด้วยการที่มีจำนวนคนเข้ารับความช่วยเหลือมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันแปลก ในระยะยาว คนกลุ่มนี้จะต้องมีจำนวนที่ลดลง เพราะทุกคนต้องให้และรับความยุติธรรมได้ด้วยตัวเขาเองอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะความยุติธรรมคือสวัสดิการพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ควรเท่าเทียมกันสำหรับคนทุกคน
สุดท้าย อะไรคือตัวชี้วัดว่ากระบวนการยุติธรรมจะประสบความสำเร็จในการส่งมอบความยุติธรรมแก่สังคม
มาตรวัดที่เป็นรูปธรรมก็คือ วันใดก็ตามที่เราเห็นคนที่มีรายได้ทั้งน้อยและมาก การศึกษาทั้งน้อยและมาก และไม่ว่าอาชีพใดสามารถเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้เท่ากันหมดทุกกลุ่ม วันนั้นและความยุติธรรมได้มอบให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เราไม่ได้คาดหวังให้คนในสังคมนี้หรือในโลกนี้ไม่ขัดแย้งกันนะครับ แต่เมื่อเขาขัดแย้งกันแล้ว มันต้องมีกระบวนการช่วยให้สังคมดำเนินต่อได้ ถ้าเราเห็นคนทุกกลุ่มที่บอกมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างพอๆ กันทั้งหมด ผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่เห็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และที่สำคัญ ต้องไม่ใช่การเข้าถึงโดยการสงเคราะห์คล้ายๆ กับที่ผ่านมา ความยุติธรรมเป็นสวัสดิการพื้นฐานของการใช้ชีวิตเพราะทุกคนต้องเจอ unfortunate events อยู่แล้ว สวัสดิการนี้ต้องทำให้เขายืนขึ้นและเดินหน้าต่อได้อย่างภาคภูมิ การยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อดึงเขาขึ้นมาให้ได้รับความยุติธรรม ควรทำแค่ในระยะสั้น แต่ไม่ควรเป็นแนวทางในระยะยาวครับ
ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world