fbpx

‘กองทัพไทยเริ่มต้นด้วยการรบภายใน ไม่ใช่ศัตรูภายนอก’ กระบวนการของกองทัพสมัยใหม่ในการปราบกบฏผู้มีบุญ

1

แดดเดือนเมษายนคือหลักฐานของฤดูร้อน อากาศอบอ้าวปกคลุมผืนนาสุดลูกหูลูกตาในอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ผืนนาเหล่านี้ผ่านฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาแล้ว โล่งเตียนเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น มีเพียงต้นตาล ต้นมะพร้าว กอไผ่ยืนต้นตามจุดนั้นจุดนี้บนคันนา เป็นหมุดหมายให้สายตาได้รู้ว่าที่นี่ยังมีชีวิต

ยากจะมองเห็นใครสักคนยืนอยู่บนนาอันห่างไกลนั้น ไม่ใช่แค่เพราะความร้อนที่ผลักให้เราไปหาที่ร่ม แต่ทุกคนต่างมารวมตัวกันตรงนี้ ตรงพื้นที่ที่ไม่มีร่องรอยการทำเกษตรใดๆ มีเพียงดินสีน้ำตาลอ่อนกำลังรองรับแดดเที่ยง และมีเสาหลักปักเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนรับรู้ โดยมีต้นไม้ ต้นตาล และกอไผ่ขนาดใหญ่กว่าพื้นที่อื่นๆ เป็นฉากหลัง

“จากต้นตาลมาตรงนี้ แล้วก็มานี่ เขาแบ่งเขตไว้เรียบร้อยแล้ว เห็นเสาข้างหลังไหม นี่คือความกว้างและความยาวมาสุดนี่ รวมพื้นที่ประมาณ 2 งาน หรือ 3 งาน เกือบไร่เลยนะ” ชายวัย 70 สวมเสื้อเชิ้ตลายพูดขึ้น ชื่อของเขาคือ ‘พ่อเสือน้อย’ หรือพินิจ ประชุมรักษ์ อดีตข้าราชการครูในโรงเรียนประจำอำเภอ

“เจ้าของนาเขาให้ที่กับพระอาจารย์ ตรงนี้แหละที่เขาจะทำอนุสรณ์สถานผีบุญไว้”

พ่อเสือน้อยเดินชี้บอกทางพร้อมพูดถึงโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานผีบุญ หรือ ผู้มีบุญ โครงการที่เริ่มต้นโดยถนอม ชาภักดี นักวิชาการและนักปฏิบัติการศิลปะที่ต้องการให้ประวัติศาสตร์การปราบปรามคนลุ่มน้ำโขงชีมูนได้รับการพูดถึงและศึกษาอย่างลงลึกอีกครั้ง

เสาหลักขนาดเล็กที่ถูกวางเอาไว้ตามที่พ่อเสือน้อยว่าเป็นการบอกเขตพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ไห่ผีหัวหล่อน’ ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าสยามใช้ปืนใหญ่ปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญ ตามหลักฐานที่ชาวบ้านในอดีตเคยขุดเจอโครงกระดูกที่นี่ จึงเกิดเป็นชื่อเรียกที่เข้าใจตรงกันว่า ‘ไร่ที่มีกระดูก’

“เขาเล่าต่อกันมาว่าปืนใหญ่ไปตั้งที่โนนสวนมอน เมื่อก่อนโนนเขาเลี้ยงสวนหม่อน ปลูกไหม ทีนี้ [ทหารสยาม] วางปืนใหญ่ตรงนั้นยิงข้ามห้วยมา เมื่อก่อนผู้มีบุญเขาเชื่อเรื่องคาถาเวทมนตร์ เมื่อทางการยิงลูกแรกมาไม่โดนใคร เขาก็เชื่อว่ามีมนตร์วิเศษ แต่พอมาลูกสองลูกสามก็โดนคนไปเยอะ แล้วหลายคนก็เริ่มวิ่งหนีออกมา” พ่อเสือน้อยเล่ามรดกความทรงจำที่เขาได้ฟังจากคนเฒ่าคนแก่ในบ้าน ซึ่งตรงกับที่บดินทร์ สิงหชัย คุณครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนสะพือวิทยาคาร ได้รับข้อมูลจากการสอบถามผู้สูงวัยในหมู่บ้านสะพือเช่นกัน

“เพราะรู้แล้วว่าทางการตั้งปืนใหญ่มา แต่ด้วยความเชื่อว่าตัวเองจะไม่ตาย มีผู้นำเข้มแข็งเราจะไม่ตาย ในกลุ่มขุดหลุมไว้แล้วก็เอาเด็กไปอยู่ในนั้น ส่วนตัวเองถือดาบเตรียมต่อสู้ด้วยความเชื่อ แต่พอปืนใหญ่ลูกแรกยิงไม่ถูก ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่ายิ่งเชื่อมากขึ้นว่าปืนไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ฝั่งทางการอาจยิงลูกสองลูกสามตามมา เลยถูกคนตายไปเยอะ คนส่วนหนึ่งที่แพ้แล้วไม่ถูกยิงก็หนีไปทางบ้านส้างโอ่ง ทางลำมูน บางกลุ่มแตกออกไปทางด้านนู้น (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) กลับจำปาสักไปก็มี” บดินทร์ สิงหชัย เล่า

สำเนาโทรเลข หลวงสารกิจ อุบลราชธานี

วันที่ ๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

เรียน กรมปลัดยุทธนา กรุงเทพฯ

หลวงชิตถึงบ้านสาพือ วันที่ ๔ เมษายนนี้ พบคนร้าย ๑๐๐๐ คนเสศ สู้กัน ๔ ชั่วโมง ปืนใหญ่ยิง ๔ นัด ปืนเล็กยิงไม่กำหนด คนร้ายตาย ๒๐๐ คนเสศที่ถูกเจ็บไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คนเสศ จับได้ ๑๒๐ คนเสศ ทหารไม่อันตราย

                                                                                               (ลายมือชื่อ) สารกิจ

ราวกับว่าความรุนแรงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่มนุษย์ได้รับอนุญาตให้จำ เพราะทั้งเอกสารทางการตามสำเนาโทรเลขและคำบอกเล่าที่ส่งต่อกันมาต่างบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ร่วมกัน เหตุการณ์นี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการรวมผู้ลุกต่อต้านสยามที่ใหญ่ที่สุดและมีการปราบปรามรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสยามสู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เงื่อนไขสำคัญของการปราบปรามครั้งใหญ่อยู่บนบริบทที่ว่าสยามกำลังสร้างกองทัพสมัยใหม่อยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์ จากเดิมที่กำลังไพร่พลกระจายตัวอยู่ใต้การดูแลของเจ้านายชนชั้นสูง ทำให้วิธีทางการทหารและใช้อาวุธมีพละกำลังมากกว่าการรวมตัวของ ‘กองทัพชาวนา’ อย่างสิ้นเชิง

ในที่สุดการปราบปราม ‘กบฏ’ ในลุ่มน้ำโขงนี้ ยังเป็นรูปแบบเดียวกันกับการปราบ ‘กบฏเงี้ยว’ ในมณฑลพายัพ (ภาคเหนือ) และพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง (ภาคใต้) เหตุการณ์เหล่านี้เองที่นำไปสู่การเริ่มต้นจัด พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารฯ ครั้งแรกในราชอาณาจักรสยามด้วย

2

การกระชับอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองพื้นที่ลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นทางการเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2435 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่ว่าด้วยข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศส และสยามจำยอมให้นักล่าอาณานิคมจากตะวันตกครองพื้นที่ลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เนื่องจากไม่มีกำลังทางการทหารที่จะทัดทานฝรั่งเศสได้ รวมทั้งอังกฤษที่คอยหนุนราชสำนักกรุงเทพฯ อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เข้ามาช่วยในเหตุการณ์นี้

การเข้ามาในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (หรือภาคอีสานในปัจจุบัน) ของสยามจึงประกอบด้วยความเกรงกลัวจะสูญเสียอำนาจต่อพื้นที่ประเทศราช โดยเฉพาะความกลัวสูญเสียประเด็นทางทรัพยากรและเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ระบบตลาดเต็มตัว[1] การเข้ามามีบทบาทปกครองและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จจึงเกิดภาวะกดดันต่อคนในท้องถิ่นเป็นวงกว้าง ระหว่างนั้น ข่าวลือเรื่องผู้มีบุญและการรวมตัวต่อต้านทั้งสยามและฝรั่งเศสในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ปะทุขึ้นเป็นระยะ มีการส่งข่าวเรื่องการปล้นหมู่บ้านและยึดครองพื้นที่ไปยังกรมการเมืองที่สยามแต่งตั้งคนท้องถิ่นให้กำกับดูแลบ้านเมือง รวมไปถึงข้าราชการจากสยามที่เข้ามาทำงานที่นี่ แต่ข้าหลวงต่างพระองค์จากราชสำนักกรุงเทพฯ ผู้ดูแลพื้นที่ลุ่มน้ำโขงยังเชื่อว่าเป็นเพียง ‘โจร’ ทั่วไปที่มักเข้ามา ‘ก่อกวน’ และเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางการค้าในแถบนั้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ในมณฑลอีสานสั่งให้กรมการเมืองในอุบลฯ เข้าไปห้ามปรามการรวมตัวของผู้คนเหมือนที่เคยปราบปรามโจรปล้นสะดมหรือรบกวนชาวบ้านเท่านั้น แต่ครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้คือกรมการเมืองบางคนถูกทำร้าย หรือบางรายเลือกเข้าร่วมขบวนการด้วยในที่สุด ทหารที่ส่งไปจัดการก็อยู่ในจำนวนหลักสิบ ซึ่งไม่อาจสู้กลุ่มผู้มีบุญที่มีผู้เข้าร่วมกว่าหลักร้อยถึงหลักพันคนได้ เมื่อคนเข้าร่วมขบวนการดูจะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ และมีข่าวการโจมตีเมืองเขมราฐของกลุ่มองค์มั่นที่รวมสมาชิกได้ราวพันคนแล้ว ข้าหลวงต่างพระองค์จึงเร่งส่งสำเนาโทรเลขแจ้งส่วนกลางให้จัดหากำลังทหารขึ้นมาช่วยปราบปรามโดยเร่งด่วน

สำเนาโทรเลข กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์

๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๐                                                    

กรมหลวงดำรง กรุงเทพฯ

ด้วยเวลานี้มณฑลอิสาณกำลังตื่นผู้มีบุญทุกแห่งทุกตำบล มีทำนายต่างๆ ก็ได้แก้ไขโดยความเห็นหม่อมฉันก็ช้า แลลางแห่งข้าหลวงแก้บ้างผู้รักษาเมืองบ้างก็ดูจะไม่พอดับได้ น่ากลัวจะเปนข้างโจรขึ้นใหญ่โต แต่ทางฝ่ายลาวก็จะไม่กะไรนักแต่ทางฝ่ายเขมรนั้นตัวอ้ายบ้าผู้มีบุญนั้นเปนลูกพระยาขุขันที่ตาย พระยา (เทยิ่ง) พระยาขุขันก็ครั้งคร้ามเสียแล้ว คนบ้านทั้งปวงก็ตื่นเข้าผู้มีบุญ ก็ไม่ได้ น่ากลัวจะเปนอกตัญญูปล้นเมืองขึ้นในสองวันนี้ ถ้าโปรดให้ทหารโคราชไปสุรินทร์ ช่วยปราบเข้าทางสุรินทร์สังขบุรีสัก ๑๐๐ คนโดยเร็วที่สุดได้จะดี ได้รับโทรเลขบ่ายนี้ว่าอ้ายบุญจันมีกำลัง ๒๐๐๐ เศษแล้ว ความนี้เหนจะไม่ต้องทำเพราะชาวบ้านทั้งปวงตื่นบุญทุกแห่งคงจะถึงจึงแต่อาวุธสั้นมากเท่านั้น การที่จะไปนั้นควรแบ่งไปสุรินทร์บ้าง รัตนบุรีบ้างแล้วไปสังขบุรีบ้าง ศรีสะเกษบ้างเปนสี่หรือห้าหกพวกจะดี ครั้งจะแยกอุบลราชธานีเงินยังคงอยู่มากลางทีร้อยเอดจะแรงขึ้นอิก

(ลายมือชื่อ) สรรพสิทธิ

ความจำเป็นในการเรียก ‘กองทัพทหาร’ และ ‘กำลังอาวุธ’ เกิดขึ้นในบริบทที่สยามกำลังปรับกองกำลังทหารและการฝึกให้เป็นแบบตะวันตกตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 โดยตามระบบนั้นการควบคุมทหารจะรวมอยู่ที่จอมทัพ ซึ่งคือพระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ทำให้สยามมีกำลังรบเป็นทหารมืออาชีพที่อยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ครั้งแรก จากเดิมทีการรวบรวมไพร่พลอยู่ในอำนาจเจ้าขุนมูลนาย อันส่งผลให้อำนาจควบคุมกองกำลังกระจายตัว

รูปแบบของระบบทหารใหม่เกิดขึ้นจากทั้งปัจจัยการรวมศูนย์อำนาจในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และด้วยลักษณะกองกำลังทหารแบบเดิมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ในยุคอาณานิคมของชาติตะวันตก ประเทศมหาอำนาจต่างแสดงแสนยานุภาพด้านการทหารอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้รัฐต่างๆ ต้องรีบปรับตัว อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของการจัดตั้งกองทัพสยามเกี่ยวข้องกับการสร้างความมั่นคงในราชอาณาจักรมากกว่าการสร้างกองกำลังเพื่อเอาชนะกับการล่าอาณานิคม[2])

ในช่วงแรก การฝึกต้นแบบกองทหารเป็นเรื่องของชนชั้นสูงในราชสำนัก โดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ต้องการทหารแบบยุโรป จึงมีการว่าจ้างนายทหารยุโรปมาสอน ‘มหาดเล็ก’ หลังจากนั้นได้มีการส่งสมาชิกเชื้อพระวงศ์ศึกษาด้านการทหารในยุโรป เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุริยเดช เรียนด้านการทหารในโรงเรียนนายร้อยประเทศเดนมาร์ก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยของจักรวรรดิเยอรมนี สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เข้าเรียนโรงเรียนมหาดเล็กรัสเซีย และพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เข้าเรียนวิชาทหารเรืออังกฤษ

ต่อมา มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกเพื่ออบรมนายทหารชั้นสัญญาบัตร, ปี 2430 จัดตั้งกรมยุทธนาธิการตามแบบกองทัพสมัยใหม่ โดยมีอำนาจในการบัญชาการทหารบกและทหารเรือ, เปลี่ยนวิธีการสู้รบจากการใช้หอกดาบมาเป็นอาวุธสมัยใหม่ และมีการรับเงินเดือนแทนระบบศักดินาแบบเดิม ทำให้มีทหารอาชีพประจำการอยู่เสมอ หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 มีการเปิดให้สามัญชนสอบเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยได้ ทำให้กองทัพสยามขยายตัวรวดเร็ว รวมถึงมีการขยายการตั้งหน่วยบัญชาการในมณฑลต่างๆ

แม้การก่อร่างสร้างกองทัพให้เป็นสมัยใหม่จะเห็นเป็นรูปธรรมเพียงแค่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ก่อนจะขยายมายังมณฑลอื่นๆ แต่ก็ยังไม่เป็นวงกว้างมากนัก แต่ในฟากฝั่งพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง มีการเริ่มต้นคำสั่งเกณฑ์ชายฉกรรจ์มาฝึกทหารปีละ 800 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เนื่องจากก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์แรกเสด็จมาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ในมณฑลลาวกาว ทรงให้เหตุผลว่าพื้นที่อุบลราชธานีอยู่ใกล้กับอาณาเขตข้อพิพาทกับฝรั่งเศส เพื่อให้มีกองกำลังเตรียมรับมือกับสงคราม จึงจัดตั้งกองทหารศูนย์กลางมณฑลลาวกาวที่เมืองอุบลราชธานี

ในความเป็นจริง ทหารกองนี้ไม่ได้นำรบกับฝรั่งเศสแต่อย่างใด แต่มีข้อสังเกตว่า การฝึกทหารของมณฑลลาวกาวนี้เป็นช่วงเวลาใกล้กันกับการปราบปราม ‘กองโจร’ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าในแถบนั้น จึงมีการนำกองทหารไปปราบปรามโจร อย่างเช่นในปี 2436 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรได้ให้ทหารออกไปจับกุมอ้ายตังแกโบที่เข้าไปคุมบ่อทองคำของชาวบ้าน และจับมาตัดสินประหารชีวิตอ้ายตังแกโบกับพวก

อีกทั้งพื้นที่ฝึกทหารนั้นเกิดขึ้นบนบริเวณพื้นที่ทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นที่ศูนย์กลางเมืองของเจ้านายอุบลฯ ที่ให้ชาวบ้านเข้ามาทำนา แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ฝึกทหารสยามแล้ว ย่อมสร้างความรู้สึกที่แตกต่างให้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับรู้ถึงความก้าวหน้าและพละกำลังของสยาม[3]

อย่างไรก็ตาม การทหารของสยามก็ไม่อาจต้านทานการรวมตัวของผู้มีบุญได้ และจำนวนทหารเกณฑ์เพียงปีละ 800 ย่อมไม่สามารถจัดกองกำลังสำหรับการเผชิญหน้ากับคนที่นับถือศรัทธาผู้มีบุญได้ เมื่อเหตุการณ์เริ่มปะทุมากขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงต้องส่งโทรเลขขอให้กระทรวงมหาดไทยและกรมยุทธนาธิการส่งข้าราชการทหารตำแหน่งใหญ่พร้อมด้วยกองกำลังทหารเข้ามาช่วยปราบปราม

สำเนาโทรเลข กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์

๔ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

กรมหลวงดำรง กรุงเทพฯ

เรื่องผู้วิเศษที่ทูลว่าเห็นจะน้อยลงนั้นเห็นจะเป็นตามทูลไม่ได้ มาครองเห็นเป็นแน่ใจว่าไม่น้อยลงได้ เพราะมันแทนกันอยู่เสมอ ด้วยพื้นคนมันเชื่อผี (…) เลวมากเป็นพื้น แก้ไม่หาย ถ้าไม่โปรดให้มีข้าหลวงดีๆ เอากำลังอาวุธดีๆ ไปตั้งอยู่ยะโสธร ศีศะเกษ เดชอุดม อุบลราชธานี ร้อยเอ็จ อีกทันท่วงที น่ากลัวจะเป็นการใหญ่มาก ด้วยเชื่อพลเมืองไม่ได้ ขอทรงพระดำริห์จงมาก

                                                                                                (ลายมือชื่อ) สรรพสิทธิ  

 

3

Telegram from Krommun Nakonchaisri to H.M. the King

13 April 121

I am acting according to your wishes expressed in your last private letter. Reserve men quickly join a great many more than was expected so that the number of troops in reserve at Nakon Rajasima now much exceed 1000 and still increase every day. Though the number of troops here will be much beyond the demand I do not consider that advisable to step mobilisation. Pending further developments as it will give opportunity for the troops to practice the new mannlicher rifles troops on the March rather hampered on account of the rain but make satisfactory progress. I am in communication with Muang Ubon but I have received no news as yet.

(Signed) Chira

การจะเรียกทหารมาออกลาดตระเวณควบคุมขบวนการลุกฮือต้องอาศัยการดึงทหารมาจากศูนย์ฝึกขนาดใหญ่ โดยระบบการฝึกทหารนั้นมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (พระนามใหม่-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุริเดช) เข้ามารับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และพัฒนากองทัพครั้งสำคัญ โดยเพิ่มวิชาวิชาปืนใหญ่ วิชาสรรพาวุธวิธี วิชาป้อมค่ายสนาม และวิชาประวัติศาสตร์สากลเข้ามาฝึกทหาร[4]

สำเนาโทรเลขที่ทรงตอบกลับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการรายงานความพร้อมในการเตรียมทหารฝึกเพื่อส่งไปปราบปรามการลุกฮือในมณฑลลาวกาว โดยทรงรายงานการเข้าร่วมฝึกทหารของชายฉกรรจ์ที่อาจจะมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจำนวนที่มากขึ้นทุกวันอาจทำให้มีปริมาณทหารมากกว่าความจำเป็นที่จะต้องระดมพลส่งไป อย่างไรก็ตาม การฝึกนั้นจะทำให้ทหารได้ฝึกการใช้ปืนแมนลิเคอร์ อาวุธสมัยใหม่ที่กองทัพสยามได้ต้นแบบมาจากตะวันตก

การหาชายฉกรรจ์เข้ามาฝึกทหารนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบใหม่ของระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เดิมทีทหารจะมาจากกำลังไพร่พลของขุนนางชั้นต่างๆ กำลังไพร่พลเหล่านั้นไม่เคยผ่านการฝึกปรือเรื่องอาวุธสมัยใหม่มาก่อน และที่สำคัญคือการ ‘ทำงานอย่างสอดประสานกัน’

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญ ระบุในบทความ จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่ ว่า เดิมทีการรบของชาวบ้านคือนักรบชาวนาที่เคยฝึกจับมีดและดาบต่อสู้กันมาแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ยุคกองทัพสมัยใหม่ สิ่งสำคัญของการทำให้ความรู้สึกแบบปัจเจกกลายเป็นการรวมกลุ่มเพื่อเป็นเอกภาพในกองทัพต้องอาศัยกฎระเบียบและการวางรากฐานในกระบวนการ นับตั้งแต่การแต่งกาย การฝึกวินัย เพราะข้อแตกต่างของกองทัพชาวนาและกองทัพสมัยใหม่คือ การฝึกให้ทำงานประสานกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน[5]  

ทหารจำนวนหนึ่งที่ผ่านการฝึกตามที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดชเห็นสมควรแล้วนั้น จะมีการจัดกำลังพลเอาไว้เพื่อรอคำสั่งจากกระทรวงยุทธนาธิการในกรุงเทพฯ ซึ่งการประชุมเสนาบดีลงความเห็นว่าต้องการให้มณฑลนครราชสีมาเตรียมกำลังทหารสำหรับการตรวจตรามณฑลอีสาณ โดยมีการจัดส่งกองทหารมาช่วยสองครั้ง[6]

ครั้งที่หนึ่ง-รูปแบบกองทหารแบบลาดตระเวน พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา เป็นข้าหลวงพิเศษระงับปราบปรามผู้มีบุญในเขตมณฑลอีสาณและมณฑลอุดร โดยให้มีการบอกกล่าวตักเตือนกับชาวบ้านเรื่องผู้วิเศษ หากมีการใช้กำลังให้ร่วมมือกับเจ้าเมืองท้องถิ่นเพื่อปราบปราม

ระหว่างการเดินลาดตระเวนของพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชย ที่อุบลราชธานีกำลังเตรียมกองกำลังรับมือกับผู้มีบุญกลุ่มที่แข็งแรงที่สุดและมีกำลังคนมากที่สุด นั่นคือกลุ่มองค์มั่น ซึ่งมีการรวมตัวมาตั้งแต่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เดินทางข้ามเมืองเขมราฐ ไล่ต่อสู้ ยึดพื้นที่เมืองต่างๆ ในฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านสะพือ อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายสู้รบกับสยามเพื่อยึดเมืองอุบลฯ ให้คนชาติพันธุ์ลาวได้ปกครอง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ทรงส่งโทรเลขขอให้พระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศทิศวิไชยเข้ามาช่วยเหลือปราบปรามจุดนี้ก่อน แต่ยังไม่ทันที่จะมาถึง ชนชั้นนำสยามในอุบลราชธานีตัดสินใจส่งหลวงชิตสรกิจ ข้าราชการในกรมยุทธนาธิการพร้อมกองทหารนำปืนใหญ่มุ่งหน้าสู่พื้นที่บ้านสะพือในช่วงเมษายน ร.ศ.121 (ประมาณ พ.ศ.2444)

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดของการรับมือกลุ่มองค์มั่น ทำให้เกิดการส่งกองกำลังทหารครั้งที่สองมาเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการรวมตัวเกิดขึ้นอีก ดังสำเนาโทรเลขที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ส่งถึงราชสำนักกรุงเทพฯ

สำเนาโทรเลข

๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

กรมหลวงดำรง กรุงเทพฯ

เมษายนที่ ๔ บ่าย หลวงชิตสรการ ร้อยตรีอิน ทหาร ๒๔ พลเกณฑ์ ๒๗๐ กรมการ ๔ คน ปืน ๑๐๐ ดาบ ๑๐๐ ได้รบพวกประทุษฐร้ายที่บ้านกระพือ ๔ ชั่วโมง พวกประทุษฐร้ายแตกตาย ๒๐๐ เศษ จับได้ ๑๐๐ เศษ ถูกบาดเจ็บไปมาก ฝ่ายพวกเราเจ็บบ้างคนสองคน แลในกองนี้กรมการเมืองจัดพระสุนทรกิจวิล กรมการ ๑๒ พลเกณฑ์ ๑๓๐๐ ปืน ๑๐๐ ดาบพลองครบมือหนุนกองหลวงชินด้วย การนี้ยังไว้ใจไม่ได้ว่าจะสงบ คงจะเที่ยวเกิดขึ้นอีกในที่ยากๆ อีกเปนแน่ ได้แต่กองอาษามีปืนกองละ ๑๐-๒๐-๓๐ บ้าง เที่ยวตรวจอยู่แล้ว

                                                                                                (ลายมือชื่อ) สรรพสิทธิ

การเตรียมกองทหารกำลังใหญ่ครั้งที่สอง มีกำหนดให้ประจำการตามจุดต่างๆ ในพื้นที่มณฑลลาวกาว เช่น กองร้อยที่ 1 (124 นาย ปืน 11,600 นัด) เดินทางสุวรรณภูมิ ยโสธร เกษมสีมา กองร้อยที่ 2 (124 นาย ปืน 11,600 นัด) เดินทางรัตนบุรี ศรีสะเกษ ไปอุบล กองร้อยที่ 3 (174 นาย ปืน 16,600) ไปทางสุวรรณภูมิ ยโสธร สืบตรวจถึงร้อยเอ็จ ถ้าไม่มีเหตุใดเกิดขึ้นให้ไปสมทบกองร้อยที่ 1 ส่วนกองร้อยที่ 4 (กองร้อยที่ 4 124 นาย ปืน 11,600 นัด) ไปทางรัตนบุรี พักที่ศรีสะเกษ และคุมอาวุธสิ่งของต่างๆ ไปบุรีรัมย์ด้วย โดยทหารที่ยกไป ได้จ่ายกระสุนปืนคนละ 100 นัด เสบียงไปกับตัวได้ 5 วันมีสำรองไปอีก 5 วัน

จุดสำคัญของกองทหารเหล่านี้คือการฝึกใช้อาวุธสมัยใหม่ ซึ่งผลิตโดยชาติตะวันตก ในขณะที่คนในพื้นที่ยังคงใช้อาวุธจากดาบยาว มีดสั้น และอื่นๆ ซึ่งทำให้สยามเชื่อมั่นได้ว่าจะต้องแสดงพลานุภาพเพื่อให้คนในพื้นที่ยอมศิโรราบกับอำนาจใหม่

ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการส่งจดหมายทูลแจ้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในวันที่ 11 เมษายน ร.ศ.121 เกี่ยวกับจำนวนทหาร พร้อมอาวุธปืนและกระสุนหมื่นนัด

“ในการที่จัดส่งกองทหารมากเกินไปบ้างดังนี้ โดยเห็นด้วยเกล้าฯ ว่ามากดีกว่าน้อย จะไม่ต้องถึงกับเสียเลือดเสียเนื้อเพราะกระทำให้เป็นที่หวาดเสียวที่คงจะต้องกระจายไปเอง แลทั้งจะต้องแยกไปหลายแห่งด้วย กับจะได้ประจักษ์แก่คนว่าสามารถจะยกได้มากแลเร็ว โดยพระบรมราชานุภาพ”[7]

อย่างไรก็ตาม ในสำเนาโทรเลขหลายฉบับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และชนชั้นนำสยามระบุว่า ไม่ต้องการให้เกิดการ ‘ทำร้ายราษฎร’ แต่กองกำลังเหล่านี้มีเพื่อการ ‘ขู่’ เท่านั้น

ศาลายุทธนาธิการ

๑๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ

…ในการที่ตรวจสอบระงับปราบปรามพวกเหล่าร้าย ทั้งการส่งข่าวแลฟังบังคับ ได้รับพระราชทานสั่งการตามพระราชกระแสพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทุกประการ แลทั้งได้สั่งกำชับให้ระวัง อย่าให้ทหารกระทำการข่มเหงราษฎร

ผู้บัญชาการยุทธนาธิการ

ถึง กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช

๑๒ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

…ตามจำนวนกระสุนแลปัศตันที่ขอมาก็เล็กน้อย ความตามทางความคิดของกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ที่เคยใช้ๆ เหมือนจะไปขู่พวกลาว ไม่ใช่จะไปใช้จริงๆ ให้จัดส่งออกไป

พระปรมาภิไธย

จริงอยู่ที่เป้าหมายภายใต้กองกำลังทหารหลักหมื่นคนนั้นเพื่อต้องการขู่ และจากพระราชหัตถเลขาที่ว่าไม่ต้องการส่งผลถึงราษฎรกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีสำเนาโทรเลขหลายฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ในขณะนั้นทูลว่า ราษฎรบางกลุ่มที่เจ้าหน้าที่ทางการของสยามเข้าไปคุยได้ทันจึงร่วมมือจับผู้วิเศษด้วย หรือบางกลุ่มก็จำเป็นต้องยอมเข้าร่วมกับผู้มีบุญอย่างไม่เต็มใจนัก เนื่องจากมีการขู่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นการตั้งข้อสังเกตได้ว่า กลุ่มผู้มีบุญมีหลากหลายกลุ่ม และมีกลุ่มชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับทางการของสยาม ชนชั้นนำสยามจึงเชื่อว่ากลุ่มผู้มีบุญแยกตัวกับกลุ่มราษฎร และหลายกลุ่มมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเพื่อเข้ามาลวงชาวบ้านฝั่งขวาให้เข้าร่วมต่อต้านสยาม

ตามสำเนาโทรเลขรายงานกระทรวงมหาดไทย วันที่ 15 เมษายน กรมหลวงสรรพสิทธิทูลว่า ‘ได้รับรายงานอำเภอวารินชำราบเปนแน่ว่าที่ 13 เมษายนบ่าย กรมการที่บ้านสมดีวารินชำราบ กับกรมการวารินชำราบ ขงเจียม และราษฎรได้ช่วยกันจับพวกผีบุญต่อสู้กันที่ริมฝั่ง…’ 

และสำเนาโทรเลขรายงานกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเวลาใกล้กัน กรมหลวงสรรพสิทธิ ทูลกรมหลวงดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตอนหนึ่งว่า ‘…การที่ผีบุญเปนอะไร เพราะพลเมืองเปนใจช่วยกันระงับทั้งนี้ ก็เปนความสุจิรตของโลกขะนะความทุจิรตของผีบุญ หาใช่เปนเกรียติยศแลเปนความคิดของหม่อมฉันไม่’

4

แม้การจัดกองทหารเข้าปราบปรามผู้มีบุญนี้จะระดมสรรพกำลังทางการทหารครั้งใหญ่เพื่อให้การปราบคนลุกต่อต้านราบคาบแล้ว อย่างไรก็ตาม สยามยังคงระแวดระวังในการยกกองทหารจำนวนมากเข้าพื้นที่ใกล้อาณาเขตข้อพิพาทกับฝรั่งเศสอยู่ หลังสนธิสัญญา ร.ศ.112 กำหนดเอาไว้ว่าทั้งสยามและฝรั่งเศสจะไม่เข้าใกล้พื้นที่ 25 กิโลเมตรระหว่างเขตแดน และมีการกำชับไม่ให้มีทหารไปประจำการในพื้นที่ดังกล่าว

แต่การณ์ก็ไม่ได้ง่ายเพียงแค่งดการส่งทหารไปบริเวณ 25 กิโลเมตรระหว่างเขตแดน เนื่องจากขบวนการผู้มีบุญเกิดขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง กลุ่มองค์มั่นที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมใหญ่ที่สุดก็เริ่มต้นมาจากฝั่งซ้าย และในกรณีที่สยามปราบด้วยปืนใหญ่แล้ว มีผู้รอดชีวิตหลายคนที่หนีข้ามกลับไปฝั่งเดิม หรือบางกลุ่มก็เฝ้าระวังภัยอยู่ในบริเวณ 25 กิโลเมตรระหว่างเขตแดน เนื่องจากรู้ว่าไม่มีทหารจากทั่งสยามและฝรั่งเศสเข้าถึงได้

การเกิดขึ้นของขบวนการผู้มีบุญจึงทำให้เกิดปัจจัยความน่ากังวลของสยามอยู่สองประการ คือ หนึ่ง – หากสยามไม่สามารถปราบได้สำเร็จ อาจส่งผลให้ต้องยอมต่ออำนาจคนท้องถิ่นในการจัดการพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง สอง – แต่การส่งทหารในจำนวนมากเท่านี้ก็น่าเป็นกังวลว่าฝรั่งเศสจะเข้าใจผิดว่าสยามกำลังเตรียมกำลังรบกลับคืนหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 สาม – แต่หากไม่ส่งทหารเข้าไปปราบจำนวนมาก ก็เกิดความหวาดระแวงว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาจัดการเอง เนื่องจากกลุ่มใหญ่อย่างองค์มั่นและองค์แก้ว ซึ่งมาจากฝั่งซ้าย มีความเกี่ยวพันกับการดูแลของฝรั่งเศส หากสยามจัดการไม่สำเร็จ ฝรั่งเศสอาจเข้ามาจัดการแทน ทำให้เกิดความทับซ้อนทางอำนาจอธิปไตย หากมองจากภายนอก สยามจะ ‘ดูยอม’ ให้กับกองกำลังของฝรั่งเศสได้ และสยามระแวงว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสอ้างการยึดครองพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้

ศาลาว่าการมหาดไทย

๑๐ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ

            (…) ข้าพระพุทธเจ้าได้มีโทรเลขตอบไปว่า ให้ตอบขอบใจในการที่ฝ่ายฝรั่งเสศจะช่วยนั้นแต่ขอให้เขาช่วยรักษาอยู่แต่เพียงลำน้ำ ขออย่าให้ยกทหารเข้ามา เพราะประการที่หนึ่ง เรามีกำลังภอที่จะระงับปราบปรามได้ ประการที่สอง ที่เขาจะยกกำลังเข้ามาในพระราชอาณาเขตรนั้นจะเปนเหตุให้คนทั้งปวงตกใจแลเข้าใจผิดเกิดขึ้น มีข้อความในโทรเลขหลายประการ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายสำเนาโทรเลขมีมาแลที่มีตอบไปรวม 2 ฉบับมาในซองจดหมายนี้ แลข้าพระพุทธเจ้าได้แจ้งความให้กระทรวงต่างประเทศทราบแล้วด้วย

                                                                                    ดำรงราชานุภาพ

สยามจึงเจรจาเรื่องการปราบผู้มีบุญกับฝรั่งเศสอยู่หลายครั้ง ผ่านกงสุลฝรั่งเศสในอุบลราชธานี และการประสานงานของกระทรวงต่างประเทศ ในตอนแรกสยามพยายามเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อร่วมมือปราบผู้มีบุญ ท้ายที่สุดเมื่อมีการใช้อาวุธและกำลังทหารจำนวนมาก สยามพยายามยืนยันกับฝรั่งเศสว่าเหตุครั้งนี้อยู่ในกำลังที่สยามรับมือได้ และจะไม่มีการส่งทหารไปยังบริเวณ 25 กิโลเมตรระหว่างเขตแดนเด็ดขาด โดยเฉพาะปืนใหญ่ที่นำไปใช้ปราบปรามผู้มีบุญที่บ้านสะพือ

สำเนาโทรเลข กระทรวงมหาดไทย

๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๑

กราบทูล กรมขุนสรรพสิทธิ อุบล

ปืนใหญ่ที่ให้หลวงสารกิจคุมไปนั้น ขออย่าให้เอาไปในที่ ๒๕ กิโลเมเตอร์

ดำรงราชานุภาพ

หลังการเจรจาอยู่หลายครั้ง ทูตฝรั่งเศสได้ตอบรับการจัดการของสยาม โดยส่งหนังสือสื่อสารมายังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ โดยทรงแปลข้อความเป็นภาษาไทยและจัดส่งให้กับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า

‘มองซิเออร์ อา โคลบูเกาสกี ราชทูตริปับลิกฝรั่งเศส ทูลมายัง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

ด้วยข้าพเจ้าได้รับหนังสือลงวันที่ ๑๓ เดือนนี้ ที่พระองค์ท่านแจ้งความให้ข้าพเจ้าทราบว่า เหตุการลำบากไม่เรียบร้อย ที่ว่าได้เปนขึ้นในระหว่างเร็วๆ นี้ ที่เขตรแดนเมืองเขมราษฐ แลเมืองอุบล อันติดต่อกับเขตรแดนของฝรั่งเศสนั้น รงับลงได้จริงแล้ว แลไม่มีเหตุที่จะวิตกกว่าจะกลับคืนเปนขึ้นได้อิกด้วย

ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ได้ทราบข่าวนี้ อันเปนเรื่องที่หนังสือฉบับแรกของพระองค์ท่าน ลงวันที่ ๖ เมษายนนั้น ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าคิดเห็นล่วงหน้าไปก่อน ว่าจะเรียบร้อยได้เร็วถึงเพียงนี้ แลอิกฝ่ายหนึ่งตามข้อความที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาเอ็งนั้น ก็ยังทำให้เห็นไปว่า อยู่ในถานน่าจะก่อเหตุวุ่นวายขึ้นได้…’

ความพยายามในการจัดกองกำลังปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญและการเจรจากับฝรั่งเศสจึงสะท้อนว่า กองทัพสมัยใหม่ของสยามนั้นพร้อมจัดการเพื่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มากกว่าการจัดกองทัพสมัยใหม่เพื่อต่อสู้กับรัฐล่าอาณานิคม

5

การปราบปรามผู้มีบุญในมณฑลอีสานได้สำเร็จ จึงเป็นต้นแบบให้ชนชั้นนำสยามนำมาใช้ปราบปรามขบวนการรวมตัวต่อต้านสยามในมณฑลอื่นๆ อย่างที่ราชสำนักกรุงเทพฯ มีโทรเลขในอีกสองเดือนต่อมา เพื่อตักเตือนข้าหลวงต่างพระองค์ในมณฑลอุดรให้มีการใช้กำลังทหารในปริมาณมากเพื่อให้เหตุการณ์สงบลงได้เร็วอย่างที่ข้าหลวงต่างพระองค์ในมณฑลอีสานใช้เป็นวิธีปราบปราม

๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๑

ถึงกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช

ด้วยเวลาค่ำนี้ พระยาศรีมาพูดเรื่องอยากจะให้มีทหารขึ้นไปทางมณฑลอุดรอีก พ่อได้บอกตามความเหนเจ้า ที่อยากจะส่งทหารแต่ทางมณฑลอิสาณทางเดียวแลทหารที่จะให้ขึ้นไปนั้นเล่าถ้าไปจากสกลนคร จะเร็วกว่าเดินออกจากโคราชไปหมากแข้ง

พระยาศรียังมีความปรารถนาที่จะให้กองทหารออกอีก เพราะไม่ไว้ใจการในมณฑลอุดร สงไสยว่าพระองเจ้าวัฒนาจะไม่อาจส่งทหาร ซึ่งมีอยู่ที่หมากแข้งไปให้ไกล เพราะไม่ไว้ใจในที่ใกล้เคียงตำบลหมากแข้งนั้นเอง แลตัวนายทหารซึ่งมีอยู่ตำบลหมากแข้งก็ไม่เปนคนซึ่งไว้ใจได้ กรมหลวงดำรงคิดว่าควรที่จะปราบปรามให้แขงแรงตลอดไป

พ่อจึงได้ว่าทหารที่จะส่งไปอีกนั้นมีพอที่จะส่งได้ แต่พระองค์เจ้าวัฒนาบอกมาในเรื่องที่เมืองสกลนครรายนั้น ทหารที่เมืองกาลสินไปใกล้กว่า ถ้าจะให้ขึ้นไปอีกขอให้บอกให้รู้ว่าจะไปแห่งใด พระยาศรีคงจะกลับไปหารือกรมหลวงดำรง

การซึ่งปราบผีบุญนี้ น่าจะเปนการใหญ่เสียแล้ว พระองค์เจ้าวัฒนาดูเหมือนยังจะเฉยๆ อยู่ ไม่สู้ร้อนรนอันใด การที่จะคิดปราบปรามก็คงปราบปรามอย่างทหาร ๑๒ คน ๑๓ คนอย่างเก่าๆ ต่อเมื่อไรมันกระโชกกระชากอย่างเช่นเมืองเกษมสิมาครั้งนี้ จึงจะขอทหารก็เร่งแจทีเดียว ที่มหาดไทยคิดจะส่งทหารขึ้นไปก็เหนจะด้วยความคิดอันนี้ ขอให้หารือดูกับกระทรวงมหาดไทยการที่จะส่งเวลานี้

ก็มีแต่จะลำบากมากขึ้นทุกที ด้วยฝนก็ชุกหนักเสียแล้ว จำจะต้องคิดเปนการแรมมีค้างฝน ขอให้คิดอ่านการให้ยาวออกไป หรืออีกในหนึ่งข้างมณฑลอุดรจะให้กองตำรวจภูธร ซึ่งกรมหลวงดำรงได้กะไว้แต่ก่อนจะได้กระมัง จะได้หารือไปทางมหาดไทย

ต่อมา ในปี 2445 หลังการปราบปรามขบวนการผู้มีบุญอีสานได้หนึ่งปี เกิดการรวมตัวต่อต้านสยามโดย ‘กบฏเงี้ยว’ ในมณฑลพายัพ แต่เนื่องจากไม่มีกองกำลังทหารในพื้นที่ใกล้เคียง การส่งทหารจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปปราบก็ไม่เพียงพอ ทำให้การเกณฑ์ไพร่พลมาฝึกทหารทุกสามเดือนเริ่มไม่ได้ผล พ.ศ. 2446 จึงมีวาระสำคัญที่จะต้องขยายกองทัพให้สามารถรองรับกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักรให้ได้ กรมหมื่นนครไชยศรีฯ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศ ‘ข้อบังคับลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 122’ โดยใช้ระบบเกณฑ์ทหารแบบยุโรป คือเรียกชายฉกรรจ์เข้ามาฝึกทหารเป็นกองกำลังในพระราชอำนาจของกษัตริย์[8] จึงเป็นครั้งแรกที่มีการตราประกาศกฎหมายขึ้นอย่างเป็นทางการมีการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร รูปแบบการฝึกทหาร และการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารเหมือนอย่างที่กรมยุทธนาธิการเคยทูลขอพระราชอนุญาตจำหน่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือรางวัลเกียรติยศให้กับทหารที่ได้เข้าร่วมปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญเช่นกัน

การเกณฑ์ทหารนี้เริ่มจากสี่มณฑลที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ล้อมกรุงเทพฯ ก่อน คือ มณฑลนครราชสีมา มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลราชบุรี จากนั้นประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารทั่วทุกพื้นที่ใน พ.ศ. 2448 (ร.ศ.124) กำหนดให้ชายในประเทศต้องฝึกทหารประจำการ 2 ปี ก่อนปลดเป็นกองหนุนชั้นหนึ่ง 5 ปี ฝึกปีละ 2 เดือน เมื่อครบแล้วปลดเป็นกองหนุนชั้นสอง 10 ปี ฝึกปีละ 15 วัน หลังจากนั้นจึงพ้นราชการ[9] 

การก่อร่างสร้างลักษณะกองทัพสมัยใหม่ของไทยนั้น จึงผูกโยงอยู่กับการสร้างความมั่นคงในราชอาณาจักร และที่สำคัญคือการปราบปรามการลุกฮือในหัวเมืองต่างๆ ทำให้ชนชั้นนำไทยมองเห็นการพัฒนากองทัพสมัยใหม่ของไทยมากขึ้น จนทำให้เกิดการเกณฑ์ทหารในครั้งนั้น

ตามความเห็นของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่าจุดประสงค์ของการเกิดขึ้นของกองทัพไทยมีไว้เพื่อควบคุมประชาชนภายในมากกว่าการพร้อมรบกับภายนอก การจัดสรรอำนาจและจัดองค์กรจึงไม่ได้มีเพื่อรบกับศัตรูภายนอกมาตั้งแต่แรก

‘รัฐไทยสร้างกองทัพประจำการแบบใหม่ขึ้น และใช้กำลังส่วนนี้ (ในรูปตำรวจหรือทหาร) เข้าปราบปราม หลังจากนั้นก็บรรยายถึงการลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านเป็น “กบฏ” หมด ทำให้ไทยไม่มีประเพณีการต่อต้านอำนาจต่างชาติที่ฝังลึกอย่างพม่าหรือเวียดนาม เพราะแยกไม่ออกระหว่างอำนาจต่างชาติกับอำนาจของรัฐตัวเอง กองทัพประจำการไทยสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เหมือนกองทัพอาณานิคมทุกประการ คือเพื่อควบคุมประชาชนภายใน ไม่ใช่เพื่อต่อสู้กับอริราชศัตรู

‘เม็ดเลือดไทยนั้นเป็น “ชาตินักรบ” หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ความพร้อมรบของสังคมใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเม็ดเลือด แต่ขึ้นอยู่กับการจัดสรรอำนาจและการจัดองค์กรรองรับอำนาจเหล่านั้นต่างหาก เราจัดสรรอำนาจและจัดองค์กรไม่ใช่เพื่อรบกับคนอื่น แต่เพื่อรบกับคนไทยด้วยกันเองมาแต่ต้น ความเป็น ‘ชาตินักรบ’ ของเราจึงน่ากลัว’[10] 

References
1 สภาพเศรษฐกิจเมืองอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยศิลปากร.
2 การศึกษาเพื่อสร้างกองทัพสมัยใหม่ กับอุดมการณ์ทางการเมืองของนายทหาร พ.ศ.2430-2475, ธรรมธวัช ธีระศิลป์, (2562
3 ที่ว่าง สร้าง รัฐ, ตะวัน เล, The Isaan Record, 12 พฤษภาคม 2022
4 การศึกษาเพื่อสร้างกองทัพสมัยใหม่ กับอุดมการณ์ทางการเมืองของนายทหาร พ.ศ.2430-2475, ธรรมธวัช ธีระศิลป์, (2562
5 จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่ (2), นิธิ เอียวศรีวงศ์, มติชนสุดสัปดาห์, https://www.matichonweekly.com/column/article_232199
6 การสร้างความปรองดองระหว่างสยามและท้องถิ่นหลังความขัดแย้งกรณีกบฏผู้มีบุญอีสาน พุทธศักราช 2444-2455, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, (2555)
7 หอจดหมายเหตุ สำเนาโทรเลข เรื่อง จดหมายมีไป-มา กรมยุทธนาธิการ เรื่อง ผีบุญ
8 ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย, ธนัย เกตวงกต, (2560), มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
9 การศึกษาเพื่อสร้างกองทัพสมัยใหม่ กับอุดมการณ์ทางการเมืองของนายทหาร พ.ศ.2430-2475, ธรรมธวัช ธีระศิลป์, (2562), หน้า 31
10 นิธิ เอียวศรีวงศ์ – ชาตินักรบ, มติชนสุดสัปดาห์, วันที่ 5 เมษายน 2560, https://www.matichonweekly.com/column/article_30606

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save