พลิกหน้ากระดาษหนังสือเรียนเท่าที่มี เปิดสมุดที่เคยจดวิชาประวัติศาสตร์ ฉันพยายามย้อนความทรงจำตลอดชีวิตที่อยู่อุบลฯ ว่ามีส่วนไหนบ้างที่พูดถึง ‘ขบวนการผู้มีบุญ’ หรือ ‘กบฏผีบุญ’ ในการเรียนหนังสือ
คำตอบเท่าที่หาได้คือ ไม่มี
ความสนใจที่มีต่อเรื่องนี้ก่อตัวขึ้นหลังจากเรียนจบและเริ่มทำงาน สิ่งที่ทำให้ฉันอยากตามหารายละเอียดของเหตุการณ์รัฐสยามปราบกบฏผีบุญในช่วงปี 2444 จนมีคนเสียชีวิตกว่า 300-400 คน เพราะสถานที่เกิดเหตุนั้น คือบ้านสะพือ ตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ และเป็นสถานที่ที่เราทุกคนในครอบครัววิ่งเล่น เติบโต กินข้าวที่ปลูกอยู่นั่น โดยที่ไม่เคยรับรู้เลยว่ามีคนถูกฆ่าในจำนวนหลักร้อยผ่านมานานกว่าศตวรรษแล้ว
“แม่ก็ไม่รู้ ต้องไปถามคนเฒ่าคนแก่แถวบ้านนู่น” แม่ตอบคำถามที่ฉันสงสัย อันที่จริง ก่อนหน้านั้น เราทำความเข้าใจกันอยู่นานว่า ‘ผู้มีบุญ’ ที่ว่านี้คืออะไร เพราะไม่เคยมีคำนี้ในสารบบความทรงจำของคนในครอบครัวสักคน แต่เมื่อเล่ารายละเอียดของการสู้รบระหว่างรัฐสยามและเครือข่ายผีบุญแล้ว ความทรงจำพวกเขาก็ปะติดปะต่อออกมาเป็น ‘ศึกโนนโพธิ์’
กบฏผีบุญ ผีบ้าผีบุญ กบฏผีบาปผีบุญ หรือขบวนการผีบุญ ล้วนเป็นชื่อเรียกกลุ่มที่ลุกต่อต้านรัฐสยาม ‘ผู้มีบุญ’ สื่อถึงการตั้งองค์ตัวแทนในกลุ่มที่เชื่อว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด และปลดปล่อยให้ชาวบ้านได้มีความหวังว่าจะมีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข ส่วนรัฐสยามเรียกว่า ‘ผีบุญ’ เนื่องจากผู้มีบุญมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา และมีการใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์มาอยู่ในขบวนด้วย ส่วน ‘ผีบ้าผีบุญ’ หรือ ‘ผีบาปผีบุญ’ เป็นคำที่ต่อมาเรียกกันอย่างติดปากและเรียกในลักษณะลดทอนกลุ่มให้เป็นคนไม่ปกติ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้เห็นว่ารัฐมีอำนาจชอบธรรมในการปราบกลุ่มคนเหล่านี้ได้[1]
ในขณะที่ชาวบ้านสะพือส่วนใหญ่จดจำเหตุการณ์ขบวนการผู้มีบุญด้วยชื่อ ‘ศึกโนนโพธิ์’ ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ผู้มีบุญมาตั้งฐานทัพ ก่อนที่จะถูกปราบโดยรัฐสยามใช้ปืนใหญ่ยิงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300-400 คน
และนี่คือเหตุผลที่ฉันและผู้คนมากมายไปรวมตัวกันที่โนนโพธิ์ ในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 121 ปีของการปราบกบฏผู้มีบุญในบ้านสะพือ และเป็นปีแรกที่จะมีการจัดงานทำบุญแด่ผู้ล่วงลับ พร้อมเริ่มต้นโครงการก่อตั้งอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์เพื่อรวบรวมความทรงจำของผู้คนมาสู่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ไม่ควรถูกลืม
1
เราต่างคนต่างสวมเสื้อกันหนาว เดินตามกันไปบนถนนเส้นเล็กของหมู่บ้าน ในช่วงเวลาบ่ายคล้อยของเดือนเมษายน ถ้าว่ากันตามธรรมเนียมปฏิบัติของสภาพอากาศฤดูร้อน แสงแดดแยงตาควรเป็นสิ่งแรกที่เราสัมผัส ไอร้อนของพระอาทิตย์จะต้องระเหยออกมาเกาะกวนใจ แต่เพราะฝนห่าใหญ่เลือกทำงานตลอด 2-3 วันมานี้ จึงเป็นที่มาของอากาศเย็นและลมพัดแรงตลอดการเดินไปจุดหมายปลายทางที่ ‘โนนโพธิ์’
“หลวงพ่อเห็นว่าจะจัดงานทำบุญก็เลยทำทางให้ใหม่เลย” เสียงทุ้มต่ำพูดขึ้น เจ้าของเสียงคือถนอม ชาภักดี อาจารย์และนักปฏิบัติการศิลปะ ผู้หมายมั่นปั้นมือจัดงานทำบุญแจกข้าวแด่ผู้ล่วงลับในศึกโนนโพธิ์ เขาเดินนำหน้าทุกคนไปพร้อมกับพระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบูรพา พาคณะคนติดตามที่สนใจในประวัติศาสตร์ผู้มีบุญเดินจากวัดศรีชมภูไปยังสถานที่เกิดเหตุ
ตามที่เจ้าอาวาสวัดบูรพาและชาวสะพือบอกว่า แต่เดิมถนนเส้นนี้เป็นเพียงถนนซีเมนต์แคบๆ โอบล้อมด้วยต้นตาลขนาดใหญ่สองข้างทาง ปัจจุบันถนนขยายกว้างขึ้นสำหรับการเตรียมโครงการอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ โดยพระอาจารย์แห่งวัดบูรพาเป็นผู้ขอแบ่งพื้นที่และดินจากญาติโยมเจ้าของที่นาบริเวณนี้มาปรับถนนใหม่
เราทุกคนเดินต่อเนื่องไปราว 300-500 เมตร ก็มาหยุดอยู่ตรงกลางทุ่งหน้าที่ข้างหน้าเป็นกอไผ่ต้นสูงตั้งตะหง่านอยู่ ซ้ายมือเป็นโครงสร้างกระท่อมเก่าๆ ที่น่าจะไม่มีใครพักอาศัยเป็นประจำ
“จุดสำคัญตรงนี้เรียกว่าโนนโพธิ์” นักปฏิบัติการศิลปะเริ่มอธิบาย “แต่ก่อนมีต้นโพธิ์อยู่ตรงนี้ ตอนนี้ก็เหลือต้นโพธิ์ตรงนั้นอ้อมต้นอื่นๆ ไว้ ตรงโนนนี้แหละที่เขาเรียกว่าโนนโพธิ์” ถนอมชี้จุดฐานทัพของขบวนการผู้มีบุญ
ย้อนกลับไปก่อนขบวนผู้มีบุญจะตั้งฐานทัพที่นี่ ตามเอกสารวิทยานิพนธ์และงานศึกษาหลายชิ้นระบุตรงกันว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อต้านรัฐสยามมาจากแรงกดดันทางการเมืองระหว่างรัฐสยาม ฝรั่งเศส และลาว ช่วงปี 2411-2453 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง ‘ลาว’ ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามอยู่เรื่อยๆ โดยเจ้านายในท้องถิ่นยังคงมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ด้วยตัวเองอยู่ จนกระทั่งปี 2434 เริ่มมีการจัดสรรพื้นที่อำนาจใหม่ โดยให้เจ้านายจากสยามเข้ามาปกครอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนหลายด้าน เช่น การเรียกเก็บส่วยหรือเงินภาษีในอัตราที่มากขึ้น และส่งตรงถึงเจ้าขุนมูลนายของสยามเท่านั้น จึงเกิดการสะสมความไม่พอใจในวงกว้าง
ต่อมาหลังจากฝรั่งเศสเข้ายึดครองอาณาเขตในลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ในช่วงปี 2436 สยามเริ่มมีการออกกฎให้เรียกคนในฝั่งขวาว่า ‘ชาติลาวบังคับสยาม’ และในปี 2442 มีการยกเลิกเมืองประเทศราชที่จะต้องส่งของบรรณาการ เพื่อควบรวมให้ลาวฝั่งขวากลายเป็นไทยโดยสมบูรณ์ จึงมีคำสั่งห้ามให้เรียก ‘ลาว’ และให้ชนชาติลาวกลายเป็น ‘ไทย’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[2]
“เท่าที่ครูฟังมาจากคุณยายสาย ซึ่งเป็นลูกของญาแม่กิ่งแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าของนาตรงโนนโพธิ์ บอกว่าสมัยก่อนคนไม่อยากลดชนชั้น เพราะเคยเป็นใหญ่มาแล้ว ก็เลยออกมารบ เขารบตั้งแต่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีองค์มั่น องค์ลิ้นกาตั้งตนว่าเป็นผู้วิเศษ แล้วชาวบ้านจากที่ต่างๆ ก็เข้าร่วมด้วย พวกเขาส่วนมากที่มาร่วมจะแต่งตัวแบบมีหมวกใบลาน และรบกันตลอดทางมาเรื่อยๆ” สุวรรณี หารสาร อดีตข้าราชการครูวัย 70 ปี บอกเล่าความทรงจำในฐานะลูกหลานของทวดญาแม่กิ่งแก้วและท้าวสุริยวงศ์ เจ้าของที่นาบริเวณโนนโพธิ์
องค์มั่น หรือ อ้ายมาน เป็นบุคคลที่ได้รับการพูดถึงในฐานะหัวหน้ากลุ่มของผู้มีบุญ ตามการบอกเล่าของสุวรรณี ซึ่งตรงกับงานศึกษาเรื่องความเชื่อที่ปรากฏในขบวนการผู้มีบุญ พ.ศ. 2444-2445 กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น[3] ระบุว่า กลุ่มองค์มั่นถือว่าเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐสยามที่ใหญ่และเด่นที่สุดในขบวนการผู้มีบุญ มีการตั้งข้อสันนิษฐานหลายแนวคิดถึงจุดกำเนิดการรวมตัวขององค์มั่น ทั้งเริ่มต้นมาตั้งแต่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ย้ายมาอยู่ฝั่งทางเมืองโขงเจียม อุบลราชธานี หรือบ้างก็ว่าย้ายมาอยู่เมืองเขมราฐ อีกแนวคิดบอกว่าเป็นทหารที่มาจากสุวรรณเขต โดยทุกข้อสันนิษฐานเห็นตรงกันว่ามีความเชื่อมโยงของกลุ่มองค์มั่นกับขบวนการผู้มีบุญฝั่งลาว ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสยึดครองพื้นที่เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการระบุให้เห็นพื้นที่อย่างแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำโขง แต่กลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องนี้หลายคนก็ยืนยันว่าคนบนฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขงนั้นมีรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตเหมือนกัน และเคยถูกเรียกรวมกันว่าหัวเมืองลาว
กล่าวกันว่าเหตุผลที่ทำให้กลุ่มองค์มั่นเป็นผู้มีบุญที่มีคนเข้าร่วมได้มากที่สุดในยุคนั้น เป็นเพราะแนวคิด ‘พระศรีอริยเมตไตย’ ที่มีตำนานว่าเมื่อพระพุทธศาสนาดำเนินมาถึงอายุ 5,000 ปี จะมีพระศรีอาริย์ มาเป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้อีกองค์หนึ่ง ยุคพระศรีอาริย์จะเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ ผู้คนจะอยู่ดีกินดี จึงเป็นดั่งความหวังให้กับผู้คนได้รอคอย ‘ผู้นำ’ ‘ผู้มีบุญ’ ‘ผู้วิเศษ’ ที่จะพาไปสู่ยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งองค์มั่นได้ตั้งตัวให้เป็นผู้มีบุญในการนี้
“[ก่อนมาถึงโนนโพธิ์] องค์มั่นมีชัยชนะที่บ้านขุหลุ บ้านเสาธงน้อย บ้านเสาธงใหญ่มาแล้ว ละแวกนี้ก็ถือว่าเป็นเขตของผู้มีบุญทั้งหมด ประเด็นสำคัญคือ องค์มั่นประกาศเจตนารมย์ที่ต้นกระเดางอๆ นี้” ถนอมชี้ไปยังพื้นที่ในโนนโพธิ์ เพื่อเล่าถึงจุดสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อ 121 ปีก่อน
นอกไปจากกลุ่มองค์มั่น อีกบุคคลสำคัญที่อาจมีบทบาทในขบวนการผู้มีบุญและมีหลักฐานตัวตนอยู่ในพื้นที่บ้านสะพือ คือ สำเร็จลุน*
วิทยากร โสวัตร นักเขียนชาวอุบลฯ ผู้ศึกษาและสนใจเรื่องพระป่าสายปฏิบัติในแถบลาว-อีสาน หยิบหนังสือชื่อ ‘ประวัติและของดีหลวงปู่สำเร็จลุน’ โดยอาจารย์สวิง บุญเจิม ให้ฉันอ่าน หนังสือเล่มนี้บอกเล่าประวัติชีวิตและประสบการณ์ทางศาสนาของสำเร็จลุนที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับ ‘การกอบกู้ชาติลาว’ เอาไว้
“สำเร็จลุนเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ดังในหมู่พระสายปฏิบัติมาก และวัดในบ้านสะพือก็เป็นวัดที่รวมเกจิอาจารย์ชื่อดังเยอะอยู่แล้ว” นักเขียนชาวอุบลฯ อธิบาย “ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้จะบอกเลยว่าสำเร็จลุนมีความรักชาติรักเผ่าพันธุ์สูงมาก เข้าร่วมกับขบวนการกู้ชาติลาวด้วย และเคยมาที่บ้านสะพือนี้”
ในหนังสือที่วิทยากรพูดถึงนี้ ยังมีเนื้อหาที่ระบุในตอนหนึ่งว่า “สมัยนั้นคนอีสานและฝั่งเมืองลาวถือได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน การที่กรุงเทพฯ ส่งทหารมาปราบกบฏตามที่ผู้ครองเมืองต่างๆ สมัยนั้นร้องขอ ปราบแล้วก็เอาเป็นประเทศราชนั้น ยังความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่คนลาวทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ในจำนวนนั้นก็มีหลวงปู่สำเร็จลุนด้วย“
และในหนังสือยังระบุด้วยว่า สำเร็จลุนเคยเข้าร่วม “ประชุมกู้ชาติวาระด่วนขึ้นที่บ้านสะพือ ต.สะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานีในปัจจุบัน” ร่วมกับเจ้าเมืองต่างๆ เช่น เมืองเขมราฐ เจ้าเมืองฟ้าหยาด เจ้าเมืองเดชอุดม และหลวงปู่จากเมืองยศที่ไม่ทราบชื่อ
แม้ในเอกสารราชการและงานวิชาการส่วนใหญ่จะไม่มีการระบุร่องรอยของสำเร็จลุนมากเท่ากับองค์มั่นเท่าไหร่นัก แต่ภายในโบสถ์ของวัดบูรพาที่บ้านสะพือยังมีการเก็บรักษา ‘ไม้เท้าสมเด็จลุน’ เอาไว้ภายในกล่องแก้ว พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์เล่าว่า ไม้เท้านี้ ‘หลวงปู่โทน’ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของวัดเก็บรักษาเอาไว้ โดยเคยบอกกับพระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์ว่า “ไม้เท้านี้ สำเร็จลุนให้มา”
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเอกสารหรือหลักฐานคำบอกเล่าใดๆ ที่บ่งบอกชัดได้ว่าการเดินทางมายังบ้านสะพือของสำเร็จลุนอยู่ในพื้นที่นานเท่าใด ส่วนการส่งต่อไม้เท่าระหว่างสำเร็จลุนและหลวงปู่โทนนั้นเกิดขึ้นในช่วงไหน แต่มีบันทึกเอาไว้ว่าหลวงปู่โทนได้เดินทางไปฝั่งลาวเพื่อศึกษากับสำเร็จลุนที่วัดบ้านเวินไซ ในนครจําปาศักดิ์ ฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นวัดที่สำเร็จลุนประจำอยู่[4]
เรื่องราวทั้งหมดนี้อาจเป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันได้ว่าศาสนามีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มผู้คนที่ต้องการต่อต้านอำนาจจากสยาม โดยผ่านความเชื่อและความศรัทธาในผู้มีบุญและพระเกจิอาจารย์สายปฏิบัติ
หลังสำรวจพื้นที่ของเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว ทุกคนเดินกลับมายังศาลาวัดศรีชมภู ซึ่งใกล้กับบริเวณโนนโพธิ์เพื่อร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในงานบุญแจกข้าวให้กับผู้ล่วงลับ ระหว่างรอเริ่มพิธีมีการแสดงสด ‘ผู้มีบุญ’ โดยจักรกริช ฉิมนอก ระหว่างนั้น ฉันชวนชาวบ้านที่มายืนดูงานดังกล่าวคุยเรื่องความทรงจำที่เขามีต่อเรื่องนี้
“ไม่รู้เรื่องอะไรเลย พ่อแม่ก็เล่าบ้างว่ามีคนตายตรงนั้น แต่ผมก็ไม่ได้สนใจอะไรหรอก ถ้าถามคนอื่นน่าจะรู้เรื่องกว่า” เขาตอบกลับพร้อมเสียงหัวเราะ
2
อากาศของเช้าวันที่ 4 เมษายน 2565 ประกอบร่างด้วยท้องฟ้าสีฟ้ากระจ่างกว่าหลายวันที่ผ่านมา แสงแดดค่อยๆ ลอดผ่านเมฆสีขาว อากาศหนาวเบาบางลงไปมาก แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาความอบอุ่นจากเสื้อผ้าหนาๆ อยู่บ้าง
บรรยากาศในวัดศรีชมภูคราคร่ำไปด้วยผู้คน เก้าอี้พลาสติกสีขาวหน้าศาลาเริ่มมีที่ว่างน้อยลง ผู้คนก้าวเท้าเข้าวัดเพิ่มมากขึ้น อาหารการกินละลานตา ชาวบ้านต่างหิ้วตะกร้า สิ่งของคนละไม้คนละมือมาร่วมทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเช้าในพิธี
การทำบุญในวันนี้ถือเป็นพิธีสำคัญ เพราะเป็นวันที่ตรงกับเสียงปืนใหญ่เพื่อปราบผู้มีบุญดังขึ้นตามคำสั่งจากพระที่นั่งวิมานเมฆ ลงวันที่ 3 พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 121 ระบุให้รับทราบจำนวนผีบุญ และ “เหนว่าควรจะประหารชีวิตให้หลายๆ แห่ง ในที่ซึ่งมีผู้นิยมนับถือ เพื่อให้เปนการปรากฏ จะได้สิ้นความนับถือ”[5]
ก่อนคำสั่งประหารขบวนการผู้มีบุญจะเกิดขึ้น แผนขององค์มั่นและพรรคพวกคือ การเดินทัพจากโนนโพธิ์ไปตีเมืองอุบล เพื่อยึดครองพื้นที่กลับมาสู่ความเป็น ‘ลาว’ อย่างไรก็ตาม ในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ชัยชนะที่ได้จากเมืองต่างๆ และวิธีการเรียกให้ผู้คนเข้าร่วมอย่างการส่อต่อจดหมายข่าวลูกโซ่อย่างแพร่หลาย ทำให้เป็นที่จับตาของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และมีการส่งทหารมาต่อสู้อยู่ด้วยหลายครั้ง แต่ฝ่ายทหารก็แพ้กลับมา จนถึงขั้นสุดท้ายจึงมีการปราบปรามขั้นรุนแรงด้วยปืนใหญ่ในวันที่ 4 เมษายน 2444
“ตามคำบอกเล่าของญาแม่กิ่งแก้วบอกว่า พอพวกผีบุญอยู่ที่นี่ ก็มาหยุดอยู่ที่ดอนเผิ่ม ซึ่งเป็นดอน ที่เป็นป่ารบ ปัจจุบันคืออยู่บ้านโรงเรียนบ้านนางิ้ว เดี๋ยวนี้มันเป็นที่นาไปหมดแล้ว ผีบุญก็บุกรุกเข้าไป ตอนนั้นยังไม่มีการรบราฆ่าฟันกันนะ พอถึงตอนกลางวัน พวกองค์มั่น องค์ลิ้นก่าจะหยุดกินข้าวเพล ทีนี้ทางเพียซา (ทหารองครักษ์จากรัฐสยาม) ก็เลยยิงปืนข้ามมา ลูกแรกไม่ถูกใครเลย”
“ทีนี้ฝั่งผีบุญก็เข้าใจว่าตัวเองวิเศษ ปืนไม่สามารถตกใส่ได้ ยกมือสาธุๆ พวกเราปลอดภัย ไม่เป็นอะไร แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เขายิงอีก พวกนี้ก็ถูกทำลาย แต่ว่าเขาจะฆ่าเฉพาะคนที่มีหมวกใบลานนะ เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่ใส่กันมา แต่ก็มีสันนิษฐานว่าองค์มั่น องค์ลิ้นก่าน่าจะหนีเอาตัวรอดไป ซึ่งพอผู้นำหนีไปทุกอย่างก็ยุติ คนที่ตายก็มีหัวกะโหลกฝังแถวนี้” สุวรรณีเล่ามรดกความทรงจำที่เธอได้จากญาแม่กิ่งแก้ว
ส่วนคนที่ร่วมขบวนบางคนที่รอดชีวิตแต่หนีไม่ทันก็ถูกจับไปคุมขังในเมืองอุบล และมีการจับประหารบริเวณพื้นที่สาธารณะอย่างทุ่งศรีเมืองในปัจจุบันด้วย
ระหว่างฟังเรื่องราวจากสุวรรณี พิธีทางศาสนากำลังเริ่ม เสียงพระสวดมนต์ดังขึ้นเป็นสัญญาณที่ผู้มาร่วมงานทุกคนพนมมือขึ้น จากนั้นจึงเริ่มพิธีตักบาตรที่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมตั้งใจอุทิศส่วนกุศลเหล่านี้ให้กับผู้ล่วงลับในเหตุการณ์
“หลังจากมีคนตาย เขาก็ขุดหลุมใหญ่มากเพื่อเอาคนไปฝัง แล้วก็ปลูกกอไผ่อ้อมไว้ ทีนี้เอาส่วนหัวของคนมาเสียบประจาน แต่บางคนก็ว่ากอไผ่ไม่ได้ปลูก แต่ตัดมาเสียบหัวคน แล้วมันก็เกิดขึ้นเอง ตอนเราเดินไปดูจะเห็นนะว่าหลุมพวกนี้มันใหญ่กว่าเพื่อน มันมีหลุม มีรอยที่ชัดเจน” พินิจ ประชุมรักษ์ ข้าราชการครูผูู้เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมจัดงานบุญครั้งนี้เล่าให้ฟัง ทำให้เรานึกถึงภาพกอไผ่ขนาดสูงใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางโนนโพธิ์
“ลูกหลานเจ้าของที่นาแถวนั้น เคยไถนาไปเจอหัวกะโหลกคนด้วย มีหลานตาใบที่แกอายุเยอะๆ เขาเรียกตรงนี้ว่า ‘ไฮผีหัวหลอน’ (นาผีหัวหลอน) เท่าที่รู้พ่อก็รู้เรื่องแค่นี้แหละ” เสือน้อยว่า
“พ่อเสือน้อยคิดว่าถ้าเราขุดตอนนี้จะเจอกระดูกไหม” ฉันถาม
“ตอนนี้เหรอ ถ้าขุดลงอาจจะเจออยู่ ตอนนี้ไม่มีใครขุด มีแค่ไถไปเฉยๆ แต่ก่อนไถไปเท่าไหร่ก็เจอ แต่พ่อว่าถ้าลองขุดลึกๆ กว่านี้ อาจจะมีกระดูกก็ได้”
“แล้วพ่อเสือน้อยคิดว่ามีคนในหมู่บ้านเราร่วมด้วยกับชาวบ้านไหม” ฉันรีบถามต่อ
“ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด ไม่มีใครบอกได้ แต่สันนิษฐานกันว่าไม่มี เพราะยายเนยบอกว่า มีคนไปขุดหลุมอยู่ใต้ถุนบ้านเพื่อหลบ เขาว่าถ้าข้าศึกเห็นจะจับมาเป็นทหารกับเขา ถ้าไม่ร่วมรบก็จะถูกตัดคอ ประหารชีวิต พวกนี้ไม่อยากไปเลยเสื่อพันไว้บนขื่อ ถ้าจะกินข้าวก็ต้องแอบมามองดูก่อนว่ามีคนไหม กินแล้วก็ห่อตัวนอนบนขื่อ” เสือน้อยอ้างอิงข้อมูลจากยายเนย หมอลำเก่าแก่ประจำหมู่บ้าน
ในขณะที่สุวรรณีเห็นไปในทางเดียวกันว่าชาวบ้านสะพือไม่ได้เข้าร่วม แต่เป็นคน ‘แจ้ง’ ทางการสยามว่ามีกบฏตรงนี้ให้รีบมีการปราบปราม
“แต่ก่อนคุณครูให้เด็กในโรงเรียนไปสัมภาษณ์พวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเล่าเรื่องผีบุญ ซึ่งก็นานมาแล้ว ทุกวันนี้ผู้ใหญ่เหล่านี้เสียชีวิตไปแล้ว เราเลยได้รู้ข้อมูลว่า ในหมู่บ้านเราจะมีผู้นำแต่ละคุ้มคอยดูแลว่าอย่าไปยุ่งวุ่นวายกับกลุ่มนั้น มันอันตราย ทีนี้คนก็กลัวเหมือนกัน มีทรัพย์สมบัติก็ไปฝังดินไว้ พอเขาเลิกไปแล้ว ก็ไม่รู้ตัวเองไปฝังไว้ที่ไหน มีคนไถนายังไปเจอพวกทรัพย์สมบัติสำคัญๆ”
ในขณะที่งานศึกษาของรัตนากร ฉัตรวิไล เรื่องความเชื่อที่ปรากฏในขบวนการผู้มีบุญ พ.ศ. 2444-2445 กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น ระบุว่า วัฒนธรรมของลาวทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แนวคิดของพระศรีอริยเมตไตยทำให้ชาวบ้านที่ได้ยินและรู้จักกับองค์มั่นยินยอมเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องบังคับ รวมถึงความเชื่อเรื่อง ‘ผี’ ที่เป็นรากฐานความคิดของคนลาวและอีสาน เพราะมีความเชื่อมโยงกับความผูกพันกับธรรมชาติ เมื่อเกิดข่าวลือในช่วงนั้นแล้ว การมี ‘ผู้มีบุญ’ มาช่วยปลดปล่อยจึงดึงให้คนในท้องถิ่นเข้าร่วมได้ง่าย ทั้งจากเมืองเขมราฐ เกษมสีมา และตระการพืชผล
หลังพิธีทางศาสนาเสร็จสิ้น ชาวบ้านเริ่มทานอาหารเช้ากันที่วัด ฉันเดินไปคุยกับยายวัย 70 ปี สองคนที่มาทำบุญด้วยกัน เพื่อถามถึงความทรงจำที่มีต่อผู้มีบุญ ดูเหมือนว่าทุกคนจะมีอยู่ในสถานะความทรงจำคล้ายๆ กัน
“ยายไม่รู้อะไรเลย มีแต่คนเฒ่าคนแก่บอกว่าอย่าไปกินแมงกุดจี่ตรงนั้นนะ เพราะว่าแมงกุดจี่มันไปกินซากศพ คนแก่สมัยนั้นไม่ยอมกินกันเลย” เธอตอบกลับมา “แต่พวกประวัติศาสตร์อะไรลึกๆ ยายไม่รู้เรื่อง ยายไม่ได้ศึกษา ถ้าหนูอยากได้ลึกๆ ต้องไปถามครูสุวรรณีนะลูก ครูศึกษามามากกว่า” เธอแนะนำฉัน
“แต่ก่อนก็ไม่ได้คิดว่ามันสำคัญหรอกเรื่องพวกนี้ ก็ใช้ชีวิตไป ใครว่าอะไรก็ฟังอย่างเดียว” ยายอีกคนช่วยเสริม
3
“คิดดูว่า 120 ปี เราถึงได้มาเรียกขวัญเขาขึ้นมา เรียกเอาวิญญาณที่ล่องลอยอยู่ไม่รู้บ้าง เพื่อมาบอก มากล่าวให้เขาไปเกิด ลูกหลานรุ่นต่อๆ มาก็จะได้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เป็นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์” ถนอมพูดขึ้นที่โนนโพธิ์ ท่ามกลางเสียงกลองทุ้มหนักของคณะราษฎร์ดรัมที่กำลังเตรียมปฏิบัติการศิลปะขบวนการผู้มีบุญอยู่บริเวณใกล้กัน
“พระอาจารย์ก็เคยคิดจะทำอนุสรณ์สถานเมื่อ 20 ปีที่แล้วเหมือนกัน เพราะว่ามีคนมาถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมาก อาจารย์จากมหา’ลัยต่างๆ มาถามว่ารู้จักโนนโพธิ์ไหมๆ [พระอาจารย์ตอบว่า] ไม่รู้สิ อาจด้วยเพราะไม่ใช่คนที่เกิดที่นี่ตั้งแต่แรก” พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์เล่า
“ช่วงหนึ่งตาใบที่เป็นผู้เฒ่าอายุเยอะของที่บ้านเราก็เล่าให้ฟังบ่อย แต่ตอนนั้นพระอาจารย์ก็ไม่ได้ถามเยอะ ถ้าสนใจแบบทุกวันนี้ก็จะถามมาเยอะอยู่ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านพอจะเล่าได้ เขาก็เล่าให้ฟังว่ามีการปราบผีบาปผีบุญ พระอาจารย์ก็เลยให้เขาไปจินตนาการวาดรูปฝาผนังบันทึกเอาไว้ตรงนั้น” เจ้าอาวาสวัดบูรพาชี้ไปที่ศาลาด้านหลังวัดบูรพา ซึ่งมีภาพการสู้รบของรัฐสยาม ขบวนการผู้มีบุญ และภาพปืนใหญ่อยู่
“พระอาจารย์คิดว่าเรื่องประวัติศาสตร์น่าจะให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา การสร้างอนุสรณ์สถานก็เป็นการสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกไว้ว่าเคยเกิดประวัติศาสตร์นี้ที่บ้านสะพือ อาจารย์ก็ไปคุยเรื่องที่ดินตรงโนนโพธิ์กับโยมประดับ ลูกเขาเป็นเจ้าของที่นาตรงนั้นพอดี เขาก็ขอเปลี่ยนที่นากับลูกเพื่อที่จะยกตรงนั้นให้เป็นที่สร้างอนุสรณ์สถานไว้” เจ้าอาวาสวัดบูรพาเล่าที่มา
“จริงๆ ก็มีบ้างนะที่มีเสียงคนถามว่าการสร้างอนุสรณ์สถาน หรือการพูดประวัติศาสตร์เรื่องนี้จะเป็นการไปฟื้นความขัดแย้ง หรือปลุกระดมอะไรหรือเปล่า แต่พระอาจารย์คิดว่าเราทำบุญ ใครผิดก็ว่าไปตามผิด เขาตายไปแล้วก็ทำบุญให้เขา” พระครูสถิตบูรพาภิวัฒน์มองว่าเมื่อมีโอกาสที่ถนอม ชาภักดี รวมถึงคณะอาจารย์ นักวิชาการ และผู้รู้คนอื่นๆ เดินทางมาสนับสนุน มีข้อมูลช่วยเหลือเพื่อก่อตั้งโครงการอนุสรณ์สถานผู้มีบุญเพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ของบ้านสะพือชัดขึ้น
ในขณะที่ถนอมย้ำระหว่างการสำรวจโนนโพธิ์ว่า “เรามาครั้งนี้ไม่ได้ต้องการรื้อฟื้นฝอยหาตะเข็บอะไร แต่คิดว่าประวัติศาสตร์หน้านี้ไม่ควรจะทิ้ง มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของคนลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล”
“สำหรับพ่อเสือน้อย คิดว่ามันดีนะ มันก็เป็นประวัติศาสตร์ ดีใจที่ว่าบ้านเราจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นบ้านโบราณ เป็นแหล่งที่มีข้าศึกมาพัก เป็นแหล่งของศึกโนนโพธิ์ พวกชาวบ้านเขาก็ดีใจนะ” ข้าราชการครูชายวัย 72 ปีกล่าว ทำให้ฉันนึกถึงบทสนทนากับชาวบ้านที่มาร่วมงานบุญตลอด 2 วันนี้ แม้ว่าจะไม่ได้มีเรื่องผู้มีบุญในความทรงจำให้ได้จำมากนัก เรื่องเล่ายังคงกระจัดกระจายและต้องตามหาข้อเท็จจริงกันอยู่ แต่การสร้างอนุสรณ์สถานก็สำคัญต่อการรำลึกว่าที่นี่มีประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านอยู่
“สุดท้ายใครจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้มีบุญยังไง เอามาคุยกัน หยิบขึ้นมาถกเถียงกันอย่างเปิดเผย พูดคุยกันอย่างกว้างขวาง จะได้ไม่ต้องให้เรื่องนี้มันเงียบอีก ผมว่าขั้นต้นตอนนี้สำหรับเรื่องนี้ มันดีมากที่ชาวบ้านเริ่มคุยกันเรื่องนี้มากขึ้น” ถนอมอธิบายให้ฉันฟังในฐานะที่ได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้
*โดยส่วนใหญ่คนมักเรียก ‘สำเร็จลุน’ ว่า ‘สมเด็จลุน’ แต่ในยศของพระลาวสมัยนั้นไม่มีคำว่า ‘สมเด็จ’ แต่จะมีฐานันดรศักดิ์แบ่งเป็นฝ่ายปริยัติกับฝ่ายการปกครอง ฝ่ายปริยัติ คือ สำเร็จ ซา คู ราชคู ส่วนฝ่ายปกครองคือ คูฝ่าย คูด้าน คูหลักคำ คูลูกแก้ว และคูยอดแก้ว
↑1 | โดม ไกรปกรณ์, จิตเวชศาสตร์กับการสร้างอำนาจของรัฐบาลสยามในช่วงปลายทศวรรษ 2440 – ทศวรรษ 2460 : ข้อเสนอเบื้องต้น, รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 8 |
---|---|
↑2 | สุจิตต์ วงษ์เทศ, “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2549, อ้างถึงใน https://www.silpa-mag.com/history/article_36045 |
↑3 | รัตนากร ฉัตรวิไล, ความเชื่อที่ปรากฏในขบวนการผู้มีบุญ พ.ศ. 2444-2445 กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น, รัฐศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา |
↑4 | เฉลิมชัย จารุพัฒนเดช, https://www.facebook.com/thindham/posts/pfbid0USNKhrpstcKCvCqeYya862pMsSRf7Gg1jEPQdvb3NkCpAwNFcUuUr7mneRw9J3kVl |
↑5 | วิทยากร โสวัตร, คำสั่งประหารผีบุญ, https://theisaanrecord.co/2021/12/03/the-killing-letter/ |