fbpx

ทั้งรักทั้งชังทั้งหวานและขมขื่น Paddy Clark Ha Ha Ha

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ดูหนังเรื่อง Perfect Days และชื่นชอบประทับใจมาก เป็นเหตุให้นึกถึงนิยายเรื่อง Paddy Clark Ha Ha Ha จนต้องหยิบมาอ่านซ้ำ กระทั่งอดใจไม่ไหวต้องมาบอกเล่าแนะนำกันตรงนี้

โดยไม่ต้องใช้เวลาเทียบเคียงกันให้ยุ่งยาก หนังเรื่อง Perfects Days กับนิยาย Paddy Clark Ha Ha Ha แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ช่วงวัยของตัวละคร ฉากหลัง ประเด็นเนื้อหาที่ตั้งใจนำเสนอ กลวิธีในการบอกเล่า อารมณ์โดยรวมของเรื่องราว แต่สิ่งหนึ่งที่พ้องพานตรงกันคือ หนึ่งหนังและหนึ่งนิยายที่กล่าวมาล้วนเป็นงานแบบ ‘ปราศจากพล็อต’

โดยรสนิยมส่วนตัว ระยะหลังๆ ผมมีใจโน้มเอียงชื่นชอบงานทำนองนี้ มากกว่างานที่เน้นพล็อต ผูกแต่งเรื่องราวจนยอกย้อนพิสดาร เหตุผลง่ายๆ คือหนังหรือนิยายใดๆ ก็ตามที่คิดพล็อตหวือหวาโลดโผน มักจะยากในการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลรองรับให้กับพล็อต รวมถึงสร้างความหนักแน่นสมจริงน่าเชื่อถือ บ่อยครั้งเนื้อเรื่องอันสุดแสนจะพิสดารนั้นกลับกลายเป็นเลอะเทอะเหลวไหล ตัวละครคิดและทำอะไรต่อมิอะไรหลุดกรอบความเป็นไปได้ไปไกลโข

หากอ่านแล้วเชื่อยาก ทำใจยอมรับลำบาก และไม่คล้อยตาม ความรู้สึกต่อต้านก็เกิดขึ้นได้ง่าย ผมควรหมายเหตุกำกับไว้ด้วยว่า ในกรณีที่คิดพล็อตได้ประหลาดล้ำ แล้วประสบความสำเร็จในการสร้างความลึก น่าเชื่อถือ งานชิ้นนั้นก็จะเข้าขั้นยอดเยี่ยมมากๆ แต่เท่าที่ผ่านมา มีน้อยและทำได้ยากเหลือเกิน (ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมไม่นับรวมงานเขียนสกุล magical realism ซึ่งเป็นการเล่นแร่แปรธาตุกับความจริงในอีกลักษณะหนึ่งนะครับ)

พูดอีกแบบ หนังหรือนิยายเน้นพล็อตสนุกๆ นั้น ผมยังดูได้อ่านได้ แต่ก็เป็นการติดตามเพื่อความบันเทิงล้วนๆ เพื่อความเพลิดเพลินหรือผ่อนคลาย มากกว่าจะเป็นการอ่านหรือดูเพื่อมุ่งหวังความดีงามอื่นๆ ในทางลึก

คนที่ปลูกฝังความคิดนี้ให้กับผมเมื่อนานมาแล้ว คือ ยาสึจิโร โอสุ ผู้กำกับหนังชั้นครูชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ (และเป็นฮีโรของวิม เวนเดอร์ส ผู้กำกับหนังเรื่อง Perfect Days) ในหนังสือว่าด้วยชีวิตและผลงานของเขา เขียนโดยโดนัลด์ ริทชี

ผมจำรายละเอียดเป๊ะๆ ไม่ได้แล้วนะครับ แต่ใจความคร่าวๆ ประมาณว่า ยาสึจิโร โอสุ คิดว่าในการเขียนบทหนังสักเรื่อง สำหรับเขาแล้ว พล็อตเป็นส่วนที่ไม่สำคัญ น่าเบื่อ รวมทั้งเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการถ่ายทอดสะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจ หนังของเขาจึงมีเรื่องราวเรียบง่าย (และคล้ายๆ กัน) เต็มไปด้วยรายละเอียดเหมือนเหตุการณ์ชีวิตประจำวันทั่วไป เพื่อเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต อย่างเช่น ความเจ็บป่วย ความตาย และการสูญเสียพลัดพราก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก สามี-ภรรยา

ในฐานะคนอ่านหรือคนดูหนัง ผมเติบโตและคุ้นเคยกับเรื่องเล่าที่เน้นพล็อตตามปกติทั่วไป หนังของโอสุหรือนิยายที่ไม่เน้นเรื่องราวจึงเป็นของแปลก ต้องใช้เวลาทำความรู้จักอยู่พอสมควร กว่าจะเข้าถึงหรือรู้สึกซาบซึ้งประทับใจ

นิยายเรื่อง Paddy Clark Ha Ha Ha ก็เข้าข่ายนี้ ตอนที่อ่านครั้งแรกเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ผมเกิดอาการมึนงง จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่เข้าใจว่าดีงามอย่างไร กลายเป็นความผิดหวังอย่างรุนแรง

แตกต่างตรงข้ามกับการอ่านครั้งล่าสุดในวัยที่มีภูมิต้านทาน มีชั่วโมงบินในการอ่าน ‘ของแปลก’ เพิ่มขึ้น การติดตามจึงเป็นไปด้วยความเพลิดเพลิน และเห็นชัดถนัดถนี่ถึงคุณค่าความดีงามต่างๆ ของนิยายเรื่องนี้

ได้เวลาสารภาพบาปแล้วนะครับ สำหรับการแนะนำหนังสือที่ไม่รู้ว่าจะหาอ่านได้จากไหน และทำให้ท่านที่สนใจต้องออกแรงอยู่สักหน่อย ผมต้องขออภัยไว้ตรงนี้ด้วย

Paddy Clark Ha Ha Ha เป็นนิยายปี 1993 ฉบับแปลภาษาไทย ใช้ชื่อ ‘แพดดี้ คลาร์ก ฮา ฮา ฮา’ ตีพิมพ์หลังจากนั้นใน พ.ศ.2545 โดยสำนักพิมพ์มติชน ปัจจุบันน่าจะหาอ่านได้จากห้องสมุดบางแห่ง และร้านขายหนังสือเก่า

นิยายเรื่องนี้เขียนโดยร็อดดี ดอยล์ นักดูหนังอาจคุ้นชื่อเขาขึ้นมาอีกนิด จากนิยายปี 1987 เรื่อง The Commitments ซึ่งได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นหนังในชื่อเดียวกันเมื่อปี 1991 โดยอลัน พาร์คเกอร์

ร็อดดี ดอยล์ เป็นนักเขียนชาวไอริช งานส่วนใหญ่ของเขากล่าวถึงชีวิตผู้คนชนชั้นแรงงาน โดยใช้ฉากหลังเป็นเมืองดับลิน ในถิ่นย่านสมมติชื่อแบร์รีทาวน์ ซึ่งเป็นฉากในหลายๆ เรื่อง แบบเดียวกับที่แดนอรัญ แสงทอง สร้างจินตนาการ ‘แพรกหนามแดง’ มาเป็นฉากหลังในนิยายและเรื่องสั้นจำนวนมาก

Paddy Clark Ha Ha Ha เป็นหนึ่งใน 5 เรื่องที่ใช้แบรีทาวน์เป็นฉากหลัง ซึ่งนิยายอื่นชุดนี้ประกอบไปด้วย The Commitments (1987), The Snapper (1990), The Van (1991) และ The Guts (2013) 3 เรื่องแรกเกี่ยวโยงเป็นไตรภาคโดยตรง ขณะที่ Paddy Clark Ha Ha Ha และ The Guts เพียงแค่ใช้ฉากหลังร่วมกัน

นิยายเรื่องนี้ประสบความสำเร็จได้ Booker Prize ในปีเดียวกับที่ตีพิมพ์ (จำได้ว่าผมอ่านเพราะมีรางวัลเป็นเครื่องการันตี จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อกหักหลังจากอ่านจบ)

ดังที่กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่า Paddy Clark Ha Ha Ha เป็นนิยายที่ปราศจากพล็อต ทำให้ฟังดูเผินๆ อาจจะเป็นงานที่น่ายำเกรง ทว่าเอาเข้าจริงงานเขียนชิ้นนี้ อ่านง่าย เข้าใจง่าย อาการเสียขวัญของผมสมัยหยิบอ่านครั้งแรกเมื่อชาติปางก่อน เป็นเรื่องของความไม่คุ้นเคย และยังยึดติดกับเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องมีพล็อตชัดเจนนะครับ

เรื่องราวในหนังสือเล่าผ่านมุมมองของตัวเอกเป็นเด็กชายวัยสิบขวบชื่อ แพทริค คลาร์ก หรือชื่อเล่นว่า แพดดี้ (ผมเข้าใจว่าเรื่องทั้งหมดเป็นการเล่าย้อนทบทวนความหลังของตัวละครในช่วงวัยที่โตกว่านั้น แต่ไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าอยู่ในช่วงใด)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องเล่าระลึกนึกย้อนความหลังของแพดดี้ยังคงเต็มไปด้วยทัศนะความคิดและอารมณ์ความรู้สึกเช่นเดียวกับช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ กล่าวคือ แพดดี้เล่าเรื่องในวัยเด็ก โดยที่ยังเปี่ยมไปด้วยมุมมองความคิดและความเข้าใจแบบเด็กๆ หลายๆ เหตุการณ์จึงบอกเล่าด้วยความเข้าใจต่อโลกอันจำกัดตามช่วงวัย เต็มไปด้วยความซื่อใสไร้เดียงสา

เรื่องที่เล่ามีลักษณะกระจัดกระจาย คล้ายว่าสุดแท้แต่จะนึกอะไรขึ้นมาได้ เหตุการณ์ต่างๆ จึงผุดขึ้นโดยไม่เรียงลำดับก่อนหลังตามช่วงเวลาเกิดเหตุ ไม่เชื่อมโยงปะติดปะต่อ เมื่อเล่าเรื่องหนึ่งจบ (บางครั้งก็ไม่จบ และค้างคา) ก็ตัดข้ามสู่อีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย ยิ่งไปกว่านั้น บางเรื่องเริ่มต้นไปได้สักพักหรือเกริ่นนำเพียงเล็กน้อย ต่อมาพลันก็เฉไฉออกนอกเรื่องไปเล่าสิ่งอื่น

รวมความแล้ว คลับคล้ายกับผู้อ่านกำลังนั่งฟังเด็กคนหนึ่งเล่าเรื่องรำลึกความหลังสิ่งละอันพันละน้อย ในลักษณะเหมือนผู้เล่านึกอะไรขึ้นได้ก็เล่าไปตามนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามอ่าน (หรือรับฟัง) ไปจนถึงจุดสิ้นสุดปลายทาง เราท่านก็พอจะสามารถประกอบรวมผูกเรื่องขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง

พล็อตหรือเนื้อเรื่องคร่าว ๆ ที่ผมจับความได้ มีดังนี้

แพดดี้ในวัยสิบขวบ เติบโตในแบร์รีทาวน์ เป็นถิ่นย่านชานเมืองทางตอนเหนือของดับลิน ครอบครัวของเขาประกอบไปด้วย พ่อ (ซึ่งไม่ระบุชัดว่าประกอบอาชีพอะไร แต่อ่านแล้วชวนให้เข้าใจไปว่าน่าจะเป็นคนงานมีรายได้ไม่สูงนัก) แม่ซึ่งรับภาระดูแลงานบ้านและลูกสาวสองคน (คนหนึ่งยังไม่ประสีประสา อีกคนเป็นทารกแบเบาะเพิ่งคลอดไม่นาน) และน้องชายคนรองชื่อฟรานซิส (ชื่อเล่นซินแบด) ซึ่งตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งของแพดดี้และเพื่อนๆ (เข้าลักษณะบูลลีอย่างโหดร้าย)

เรื่องปลีกย่อยที่เล่าส่วนใหญ่จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือชีวิตนอกบ้านของแพดดี้ (ประกอบด้วยเหตุการณ์ในชั้นเรียน และการเล่นสนุกหลังเลิกเรียน) กับชีวิตภายในบ้าน

ชีวิตนอกบ้านของแพดดี้ เต็มไปด้วยพฤติกรรมซุกซน เกกมะเหรกเกเร การกลั่นแกล้งเล่นพิเรนทร์ต่างๆ นานา (หลายอย่างก็โหดร้ายรุนแรงจนเกินวัย เช่น การเผาโรงนาร้าง การทรมานสัตว์ ชกต่อยทำร้ายร่างกายกัน ฯลฯ) เป็นความขัดแย้งซึ่งให้ความรู้สึกประหลาด ระหว่างพฤติกรรมเหลือรับของตัวละคร กับมุมมองความเข้าใจอันบริสุทธิไร้เดียงสาของตัวละครต่อพฤติกรรมเลวร้ายของตน

เมื่อติดตามอ่านไปเรื่อยๆ ผู้อ่านจะหยั่งทราบได้ว่า ความเป็นเด็กเปรตของแพดดี้ไม่ได้เกิดจากนิสัยชั่วร้าย แต่เป็นเพราะเขายังเด็ก ไม่เข้าใจว่าสิ่งใดผิดชอบชั่วดี และทำสิ่งต่างๆ ลงไปเพียงเพื่อให้แก๊งเพื่อนยอมรับเป็นพวกเดียวกัน ทำตามเหมือนๆ กัน ไม่กล้าแหกคอกฝืนประพฤติเป็นอื่น

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ของแพดดี้กับซินแบดน้องชาย ซึ่งข่มเหงรังแกกันอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเกลียดชัง แต่ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เพราะเป็นน้องชาย (ตามความเข้าใจของแพดดี้และกลุ่มเพื่อน ‘น้องชาย’ เป็นตำแหน่งที่มีไว้สำหรับโดนกลั่นแกล้งแรงๆ)

พฤติกรรมซุกซนของแพดดี้เจือปนไปด้วยความโหดร้าย ดิบห่าม ขบขัน รื่นรมย์ตามแบบความสุขในวัยเยาว์ แต่อีกด้านก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ และค่านิยมในถิ่นย่านเสื่อมโทรม

ขณะเดียวกัน ชีวิตในบ้าน ก็บอกเล่าถึงอีกซีกด้านของแพดดี้ คือความเป็นเด็กฉลาดช่างคิดและอ่อนไหว (แพดดี้เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ไม่ตั้งใจเรียน)

เรื่องราวภายในครอบครัวเล่าถึงบรรยากาศอบอุ่นเป็นสุขในระยะแรก ทุกคนรักใคร่ปรองดองกลมเกลียว (ยกเว้นแพดดี้กับซินแบด ซึ่งฝ่ายพี่ชายกระทำเลวร้ายต่อน้องชายตลอดเวลา) แล้วต่อมาปัญหาก็ค่อยๆ เผยแสดง พ่อกับแม่ทะเลาะกัน เริ่มแรกก็มีปากมีเสียงเล็กน้อย ถัดมาก็รุนแรงหนักหน่วงมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งชีวิตนอกบ้านและในบ้านเล่าสลับไปมาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนช่วงเวลาในนิยาย น่าจะตกราวๆ ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ระยะเวลาจากต้นเรื่องสู่ท้ายเรื่องครอบคลุมราวๆ หนึ่งปี

จากจุดเริ่มต้นจนสู่บทสรุปทิ้งท้าย กล่าวได้ว่า Paddy Clark Ha Ha Ha เป็นงานในแนวทาง coming of age หรือการเรียนรู้เพื่อเติบโตจากช่วงวัยหนึ่งสู่วัยหนึ่งของตัวละคร สิ่งที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตของแพดดี้ ก็มีลักษณะคล้ายๆ กับตัวเหตุการณ์ คือปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายนอก คือความเปลี่ยนแปลงของแบร์รีทาวน์ เกิดการตัดถนนหนทางขึ้นใหม่ มีการสร้างบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น บริเวณทุ่งกว้างที่เด็กชายและผองเพื่อนเคยเที่ยวเล่นซุกซนเริ่มหดหายไป มีผู้คนแปลกหน้าย้ายมาพำนักอาศัย โลกรอบๆ ตัวของแพดดี้เริ่มไม่เหมือนเดิม ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่งผลให้การเที่ยวเล่นซุกซนผจญภัยของเขากับเพื่อนๆ เริ่มผิดแปลกแตกต่างไป

ส่วนปัจจัยภายในอย่างความร้าวฉานภายในครอบครัว ก็สั่นคลอนความสุขความรื่นรมย์ในวัยเยาว์ ทำให้แพดดี้หวั่นกลัว เป็นทุกข์เศร้าใจ ถึงขั้นไม่ยอมหลับยอมนอน ด้วยความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจประสาเด็ก ว่าตราบใดที่เขายังตื่น คอยเฝ้าระวังจับจ้องพ่อกับแม่ ทั้งคู่ก็จะไม่ทะเลาะกัน หรือหากมีปากมีเสียงขึ้นมา แพดดี้เชื่อว่าตัวเขาจะสามารถเข้าไปแทรกแซงหยุดยั้งการวิวาทบาดหมางนั้นได้ (อย่างไรก็ตาม แม้เด็กชายเชื่อและคิดว่าเขาสามารถระงับการทะเลาะกันของพ่อแม่ แต่ก็อับจนปัญญาในการป้องกันไม่ให้ทั้งสองขัดแย้งกัน)

ที่น่าสะเทือนใจมาก คือการทะเลาะกันระหว่างพ่อกับแม่เกิดขึ้นโดยผู้อ่านไม่ทราบถึงต้นตอสาเหตุที่แท้จริงเลยสักนิดเช่นเดียวกับแพดดี้ ไม่นับรวมว่าแต่ละครั้งที่ทะเลาะกัน ยังบอกเล่าผ่านๆ อย่างคลุมเครือผ่านการรับรู้ของแพดดี้ (ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงไม่เข้าไปรู้เห็นด้วยความกลัวแบบเด็กๆ)

วิธีเล่าอ้อมๆ หลบเลี่ยงไม่แสดงออกจะแจ้งดังกล่าว ยิ่งส่งผลให้นิยายเรื่องนี้เปี่ยมไปด้วยรสขมร้าวลึก มากกว่าการเร้าอารมณ์ตรงไปตรงมา

ที่สำคัญคือ จากมุมมองและการรับรู้ของแพดดี้ ความแตกร้าวภายในครอบครัวนี้ค่อยๆ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามไปกับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตภายในของตัวละคร

ความเป็น coming of age ของนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ปรากฏเป็นบทเรียนเด่นชัดเหมือนงานตามขนบอย่าง Stand By Me แต่แสดงตนในท่วงทีซึมลึกทีละน้อย ทั้งการชกต่อยระหว่างแพดดี้กับเพื่อนคู่หู จนบานปลายไปสู่จุดจบของมิตรภาพ ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงระหว่างแพดดี้กับซินแบดน้องชาย ด้วยการกลับมาเรียกชื่อจริง (พร้อมๆ กับที่น้องชายเริ่มโตขึ้น และขัดขืนต่อต้าน) พูดอีกแบบ แพดดี้ได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วเขารักน้องชายมาตลอด แต่กว่าจะค้นพบความรู้สึกดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองก็เลวร้ายเลยจุดกอบกู้เยียวยา และที่สำคัญคือความร้าวฉานระหว่างพ่อกับแม่จนถึงจุดแตกหัก ก็ผลักไสให้แพดดี้ต้องเติบโต เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัวก่อนวัยและวุฒิภาวะของเขาจะถึงพร้อม

พูดแบบเจ็บปวด ตัวละครจำเป็นต้องเติบโต ขณะที่ยังไม่เติบโตอย่างแท้จริง

นอกจากเล่าเรื่องได้ลื่นไหลชวนติดตามมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยรสและอารมณ์สารพัดสารพันอันน่าทึ่งแล้ว อีกหนึ่งความยอดเยี่ยมของนิยายเรื่องนี้ก็คือความหนักแน่นสมจริง ด้วยโครงสร้างการเล่าเรื่องสุดแสนวิเศษ และลีลาทางภาษา ซื่อใส คมคาย

เหนือสิ่งอื่นใด คือวิธีเขียนชนิดเข้าไปนั่งอยู่ในใจของตัวละคร และยอดเยี่ยมในระดับชักจูงผู้อ่านเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในนั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save