fbpx

Perfect Days การพัฒนาตนเอง และเป้าหมายของชีวิต

ภาพยนตร์ Perfect Days ของผู้กำกับวิม เวนเดอร์ส ดูเหมือนจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ผู้คนในหลายด้าน แต่ด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือการตั้งคำถามกับ ‘เป้าหมายของชีวิต’ แต่ละคน – ว่ามันจำเป็นต้อง ‘เป็น’ เหมือนจินตนาการที่สังคมกระแสหลัก ‘จัดวาง’ เอาไว้ไหม

ตัวละครอย่างฮิรายามะในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้คิดจะมีชีวิตที่ทะเยอทะยานอะไร เขาเพียงแต่ ‘แค่อยู่’ (จะแปลว่า just be ก็ได้) แต่ ‘แค่อยู่’ ไม่ได้แปลว่าอยู่ไปวันๆ เพราะแม้งานที่เขาต้องรับผิดชอบจะเป็นการล้างส้วมสาธารณะ ทว่าฮิรายามะก็ตั้งใจทำงานนั้นอย่างดีที่สุด แม้ต้องออกเงินซื้ออุปกรณ์บางอย่างเองบ้าง แต่เขาก็ไม่เคยปริปากบ่น

ชีวิตประจำวันของฮิรายามะเป็นไปซ้ำๆ วันทำงานเป็นแบบหนึ่ง วันหยุดเป็นอีกแบบหนึ่ง เขาวนเวียนพบปะกับผู้คนเดิมๆ ในชีวิต ผู้คนที่เขาคุ้นเคย – และอาจหลงรัก, แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ ‘ขีดวง’ ความสัมพันธ์เอาไว้อย่างนั้น รักษาระยะห่างเอาไว้อย่างนั้น ไม่พยายามจะเข้าไปใกล้หรือไกลขึ้น

เป็นไปได้ – ที่เขาจะ ‘พึงพอใจ’ กับชีวิตเช่นนั้น

หลายคนอาจมองว่า วิถีชีวิตแบบฮิรายามะ คือวิถีชีวิตของ ‘ไอ้ขี้แพ้’ หรือ ‘ลูสเซอร์’ ที่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ในชีวิต – แต่ผมเชื่อว่า, เป็นไปได้อย่างสูง ที่ฮิรายามะอาจไม่สนใจด้วยซ้ำ ว่าคำว่า ‘แพ้’ หรือ ‘ชนะ’ ในเกมชีวิตที่ถูกนิยามโดยคนอื่นๆ นั้น มันเป็นอย่างไร

เวลาพูดถึง ‘ความสำเร็จ’ เรามักนึกภาพใหญ่ๆ อยู่สองภาพ คือภาพของ ‘งาน’ และ ‘ชีวิตส่วนตัว’ เช่น “เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ” ก็แปลว่าเขาเป็นเจ้าของกิจการมูลค่าเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือ “เขาประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว” ก็แปลว่ามีครอบครัวที่ดี ไม่มีสภาวะนอกใจ ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ได้หย่าขาด มีลูกมีเต้าที่อยู่ในร่องในรอยตามความต้องการของพ่อแม่ และที่สำคัญก็คือ ลูกเต้านั้นเมื่อเติบโตแล้วก็ต้อง ‘ประสบความสำเร็จ’ ทางด้านการงานการเงินด้วย ถึงจะเรียกได้ว่าทำให้พ่อแม่ประสบความสำเร็จ

การประสบความสำเร็จดังนิยามที่ว่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหมือนเดินไต่ลวด เก็งตลาดพลาดนิดก็ร่วงลงไปในหุบเหวแห่งหนี้สิน เลือกคนรักผิดหรือพยายามบีบบังคับคนรักให้เดินตามกรอบแห่งความสำเร็จมากเกินไปก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในชีวิตคู่ได้ไม่ยากนัก

การประสบความสำเร็จ กับการ ‘อยาก’ ประสบความสำเร็จ – จึงไม่เคยเป็นเรื่องเดียวกัน!

ที่น่าสนใจก็คือ ‘การประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว’ มักพึ่งพิงหรือ ‘วางตัว’ อยู่บนการประสบความสำเร็จทางด้านการเงินด้วย คือมีฐานะที่ดีเป็นฐานก่อน ส่วนครอบครัวดีหรือไม่เป็นส่วนเติมเต็มชีวิตอีกทีหนึ่ง ดังนั้น นักธุรกิจใหญ่ที่ประสบความสำเร็จด้วยและมีชีวิตส่วนตัวที่ดีด้วย จึงมักได้รับคำยกย่องอย่างสูงจากสังคมว่า ‘ประสบความสำเร็จ’

แต่ฮิรายามะ ‘ไม่มี’ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ ‘ไม่ได้เลือกที่จะมี’) อะไรพวกนั้นเลย ไม่ว่าจะงาน, เงิน หรือชีวิตครอบครัว!

ในสายตาของคนที่ประสบความสำเร็จทางโลกย์ทั้งหลาย ชีวิตของตัวละครอย่างฮิรายามะจึงคือชีวิตที่นอกจากจะไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังเข้าข่าย ‘จมปลัก’ โดยไม่คิดจะ ‘พัฒนาตัวเอง’ ด้วยการ ‘ทำงานหนัก’ เพื่อ ‘ยกระดับชีวิตตัวเอง’ อีกด้วย

เคยมีบทความชื่อ ‘Workism is Making Americans Miserable’ เขียนโดย Derek Thompson แม้บทความจะพูดถึงคนอเมริกัน แต่ผมพบว่ามีบางเรื่องที่สอดคล้องกับคนไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องที่ ‘ผู้บริหารระดับสูง’ หรือเจ้าของบริษัท ต้อง ‘ทำงานหนัก’ และมักกระตุ้นให้คนอื่นๆ ทั้งที่เป็นลูกน้อง บริวาร และที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย หันมามี ‘วิธีคิด’ หรือ ‘สำนึก’ แบบ ‘ทำงานหนัก’ ตามเขาไปด้วย

คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นอย่างน้ัน?

บทความนี้ย้อนกลับไปในปี 1980 กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด (คือเหล่าผู้บริหารทั้งหลาย) จะทำงาน ‘น้อยกว่า’ คนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ (เช่น ลูกน้องหรือบริวารของตัวเอง)

เรื่องนี้ฟังดู make sense สำหรับสังคมยุคก่อนมากนะครับ เพราะถ้าเราเป็นพระยานาหมื่น เราก็ไม่ควรต้อง ‘ทำงาน’ หนักหนาสาหัสเหมือนพวกไพร่ทาสในบ้าน หรือถ้าเราเป็นระดับผู้บริหาร เป็นประธานบริษัท เราก็ไม่จำเป็นต้อง ‘ลง’ ไปดูรายละเอียดยิบย่อยของงานต่างๆ เหมือนเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ

สมัยหนึ่ง เลยมีคำพูดติดปากที่มาจากเพลง ‘ลิ้นมหาเสน่ห์’ ของยอดรัก สลักใจ – ว่า ‘ทำงานทั้งวันได้พันห้า – เดินไปเดินมารับห้าพัน’ แล้วก็มีคนมาต่อท้ายอีกว่า ‘นั่งๆ ยืนๆ ได้หมื่นห้า’ ซึ่งเป็นคำพูดประชดประชันในทำนองที่ว่า คนทำงานในระดับปฏิบัติการทำงานหนัก ส่วนคนทำงานในระดับบริหารนั้นทำงานน้อยกว่า แต่มีรายได้มากกว่า

บทความที่ว่านี้ ขึ้นต้นเรื่องได้น่าสนใจมาก เพราะเล่าถึงนักปรัชญาเศรษฐศาสตร์ตัวพ่ออย่าง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ว่าเคนส์เคยเขียนทำนายเอาไว้ในความเรียงปี 1930 ชื่อ ‘Economic Possibilities for Our Grandchildren’ (ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจสำหรับคนรุ่นหลานของเรา) ว่าเมื่อถึงศตวรรษที่ 21 มนุษย์จะทำงานน้อยลงมาก นั่นคือเราจะทำงานกันแค่สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง เท่านั้นเอง

เฮ้ย! เป็นไปได้ยังไงกัน!เคนส์บอกด้วยว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ ที่มนุษย์จะต้องเผชิญหน้ากับ ‘ปัญหาที่แท้จริงและถาวร’ (real and permanent problem) – นั่นก็คือปัญหาที่ว่า, เราจะใช้เวลาว่างที่เหลืออยู่ไปทำอะไร!

แต่ทุกวันนี้เราก็เห็นนะครับ ว่าคำทำนายของเคนส์ไม่เป็นจริง หลายคนบอกว่า – เข้าศตวรรษที่ 21 แล้ว กรูก็ยังทำงานหนักจะตาย (-่า) ไม่เห็นจะทำงานน้อยลงตรงไหนเลย ยิ่งมีเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยทำงาน มนุษย์ก็ย่ิงวิ่งถีบจักรกันเร็วจี๋ยิ่งขึ้น ไม่ได้ลดราวาศอกลงเลย

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ใช่แค่ ‘คนทำงาน’ ในระดับปฏิบัติการเท่านั้นนะครับที่ทำงานหนักขึ้น แม้แต่พวกผู้บริหารประธานบริษัทหรือซีอีโอทั้งหลาย ที่อาจทาบเทียบได้เท่ากับเหล่าพระยานาหมื่นในอดีต – ก็ทำงานหนักขึ้นด้วย!

บทความของคุณดีเร็ค ธอมป์สัน บอกไว้ว่า มีการสำรวจในปี 1980 พบว่าคนที่ทำรายได้สูงสุด (คือพวกผู้บริหาร) ทำงานน้อยกว่าคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ แต่พอมาถึงปี 2005 ตัว ‘ค่านิยม’ ในการทำงานมันเปลี่ยนไป กลายเป็นว่าคนที่ ‘ทำงานหนักที่สุด’ ก็คือกลุ่มคนที่ ‘รวยที่สุด’ 10 เปอร์เซ็นต์แรก

ที่สำคัญยังพบด้วยว่า กลุ่มคน ‘ชั้นสูง’ (elite) ของอเมริกา เป็นกลุ่มที่ ‘มีเวลาว่าง’ น้อยลง’ มากที่สุดด้วย!

บทความนี้เรียกวิธีคิดแบบ ‘คลั่งงาน’ นี้ว่า workism คือ ไม่ได้ทำงานเพื่อทำงาน แต่ทำงานเพราะเห็นว่า ‘งาน’ คือ ‘ตัวตน’ หรือ ‘อัตลักษณ์’ ของตัวเองไปเลย แล้วเลยมีชื่อเรียก ‘มนุษย์พันธุ์นี้’ แบบขำๆ ว่าเป็นมนุษย์สายพันธุ์ ‘Homo industrious

เราจะเห็นว่า บรรดาซีอีโอ ผู้บริหาร นักธุรกิจ หรือคนที่สังคมนิยามว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ ในด้านการงานและการเงิน มักจะได้รับเชิญไปพูด ไปสอน ไปแสดงความคิดเห็น ไปเป็น ‘ต้นแบบ’ ว่าทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาก็คือ คนเหล่านี้ (จำนวนหนึ่ง – ไม่ใช่ทุกคน) มักจะมีอาการแบบ ‘สีลัพพตปรามาส’ คือ ยึดมั่นในวัตรปฏิบัติและ ‘ศีล’ ทางธุรกิจของตัวเองว่าถูกต้องที่สุดแล้ว คนเหล่านี้จึงมักจะข้ามพรมแดนมา ‘เทศนาสั่งสอน’ ในมิติอื่นๆ ด้วย เช่น สอนว่าควรมี ‘ชีวิต’ อย่างไร

ที่เห็นได้บ่อยๆ และเพิ่งมีประเด็นกันไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือการ ‘เทศนาสั่งสอน’ แบบสาธารณะว่าไม่ควรปล่อย ‘เวลาว่าง’ ให้เปล่าประโยชน์ เช่น เผาเวลาว่างไปกับการดูสตรีมมิ่ง แต่ควรเอาเวลาว่างนั้นมา ‘พัฒนาตัวเอง’ มากกว่า ประมาณว่าเมื่อตัวเอง ‘พัฒนาแล้ว’ ก็จะได้เอาทักษะที่ได้จากการพัฒนาไป ‘หารายได้’ เพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะได้ประสบความสำเร็จ

ที่จริงแล้ว คำว่า ‘พัฒนา’ เป็นคำที่มีปัญหา (problematic) ในตัวของมันเองนะครับ คำนี้ ‘ฮิต’ มากในยุคสงครามเย็น กับคอนเซ็ปต์แบ่งโลกออกเป็นสามส่วน คือ โลกที่หนึ่ง ได้แก่ประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ ทั้งหลาย, โลกที่สองคือโลกคอมมิวนิสต์ กับโลกที่สาม คือ โลกของประเทศที่ ‘ด้อยพัฒนา’ (ต่อมาถึงได้เกิดคำว่า ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ขึ้นเพื่อไม่ให้ฟังดูรุนแรงเกินไป)

จากประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้เลยว่าการ ‘เร่งพัฒนา’ เพื่อให้หลุดจากประเทศโลกที่สามไปเป็นโลกที่หนึ่งนั้นก่อปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาทางสังคม เช่น การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าไล่ที่ชาวบ้านและสัตว์ป่า หรือแม้แต่การสร้างย่านผู้ดีให้เมืองงาม หรือ gentrification โดยละเลยประเด็นทางสังคมก็มีที่มาจากแนวคิดการพัฒนาแบบนี้ด้วย

ดังนั้น เมื่อมาถึงยุคเก้าศูนย์ไล่เลยมาจนเปลี่ยนสหัสวรรษ คำว่า ‘พัฒนา’ จึงไม่เซ็กซี่อีกต่อไป แต่มีสัญญะที่ออกจะเร่อร่า เชย ไม่เข้ายุคเข้าสมัย จนต้องหาสร้อยมาขยายหลายแบบ แต่ที่ฮิตที่สุดก็คือคำว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (sustainable development) ซึ่งย้อนแย้งในตัวมาก เพราะการพัฒนาที่มีรากมาจากยุคสงครามเย็นนั้น ไม่ได้ใส่ใจความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่

ที่สำคัญก็คือ การ ‘มุ่ง’ พัฒนาถ่ายเดียวในประเทศด้อยพัฒนานั้น มักก่อให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจล้นเกินภายใต้คาถานำพาประเทศให้พัฒนาไปสู่ความเจริญ และอาจนำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วย อย่างที่เราเห็นปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่โครงการเงินผันที่กลายเป็นโครงการเงินผลาญเมื่อหลายสิบปีก่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

น่าสนใจว่า ‘คำสอน’ ของนักธุรกิจที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ หลายคน แม้ใช้คำในระดับของการ ‘พัฒนาตนเอง’ แต่คอนเซ็ปต์กับเหมือนการพัฒนาประเทศในยุคสงครามเย็นเลย นั่นคือต้องลุกขึ้นมาทำงานหนัก (จะบอกว่ายึดถือลัทธิ Workism ก็เห็นจะได้) และถ้ามี ‘เวลาว่าง’ เหลือในชีวิต ก็ต้องเอาเวลาว่างพวกนั้นไป ‘พัฒนาตนเอง’ เพื่อจะได้นำมาทำมาหากิน

การ ‘พัฒนาตนเอง’ ด้านหนึ่งที่นิยมกันมากในปัจจุบัน ก็คือการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับ financial literacy หรือ ‘ความรอบรู้ทางการเงิน’ ซึ่งมีสองสามเรื่องใหญ่ๆ เช่น การออม การลงทุน หรือการ ‘ป้องกันตัว’ จากมิจฉาชีพทางการเงินทั้งหลาย

แต่สังเกตไหมครับ – ว่าความรู้ทางการเงินที่ ‘กูรู’ ผู้ประสบความสำเร็จนำมาสอนนั้น มักเป็น ‘แค่’ ความรู้เชิง ‘ปัจเจก’ ที่เป็นไปเพื่อ ‘ความรวยเฉพาะตัว’ เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ ‘สังคม’ โดยรวมเลย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – มักเป็นการสอนเพื่อให้ ‘กูรวย’ คนเดียวเท่านั้น!

ที่จริงแล้ว ความรอบรู้ทางการเงินเป็นเรื่องจำเป็นมากนะครับ เพราะในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นคนในสังคมไทยมีคติแบบ ‘ของมันต้องมี’ คือ คิดจะสร้าง Perfect Days ผ่านการบริโภคที่มีความรอบรู้ทางการเงินต่ำ ผลจึงเป็นการไม่ออม ลงทุนไม่เป็น หรืออยากรวยเร็วจนถูกหลอก ก่อให้เกิด Perfect Days ปลอมๆ ที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น การมีความรอบรู้เรื่องการเงิน จึงเป็นอีกด้านของเหรียญที่จำเป็น เพราะมันจะทำให้เราสามารถ ‘อยู่ได้’ ด้วยตัวของเราเอง รู้วิธีออม รู้วิธีแบ่งเงินไว้ลงทุน รู้วิธีสร้างรายได้

แต่ก็อีกนั่นแหละ การมีความรอบรู้ทางการเงินไม่ได้แปลว่าเราจะต้อง ‘รวย’ แบบ ‘เฉพาะตัว’ เท่านั้น!

เพราะการตั้งเป้าเอาไว้ที่ความรวย ‘เฉพาะตัว’ จะไม่ก่อให้เกิดการปลูกฝังเรื่อง ‘สำนึก’ ในการเป็นพลเมืองร่วมในสังคม โดยมากเราจึงมักเห็นแต่การสอนกันแค่ให้รวยเร็วที่สุด เอาตัวรอดให้ ‘พ้นน้ำ’ ให้ได้มากที่สุด แต่ลืมเงยหน้าขึ้นมามองสังคม ว่าถ้าอยู่ในสภาพที่น้ำเน่าเหม็นเส็งเคร็ง ต่อให้รวยขนาดไหน ก็ไม่พ้นต้องอยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความเน่าเหม็นเส็งเคร็งอยู่ดี เพราะแม้จะรวยเป็นร้อยล้านพันล้าน แต่ ‘บ้าน’ ของคนรวย ก็ยัง ‘ถูกแวดล้อม’ อยู่ด้วย ‘เมือง’ ที่มีอัปลักษณะหลากมิติ

คำถามก็คือ สังคมที่เป็นแบบนี้จะถือว่าเป็นสังคมที่ ‘ดี’ ไปได้อย่างไร?

การ ‘พัฒนาตนเอง’ ก็เหมือนกัน เรามักคิดถึงการพัฒนาตนเองด้วยการ ‘อัพสกิล-รีสกิล’ เพื่อให้มีทักษะนำไปหารายได้เพิ่มแบบ ‘เฉพาะตัว’ เท่านั้น นั่นแปลว่า – ถ้าใครมีทักษะเยี่ยมๆ เก่งๆ ก็จะสามารถใช้ทักษะพวกนั้นเพื่อ ‘ถีบตัว’ ออกไปจากชนชั้นทางสังคมที่ตัวเองสังกัดอยู่ได้ง่ายขึ้น โดยไม่ได้พิจารณาเลยว่า การ ‘ถีบตัว’ นั้นเป็นเรื่องสัมพัทธ์กับการ ‘ถีบหน้า’ คนอื่นไปด้วยพร้อมกัน

ดังนั้น คำว่า ‘พัฒนาตัวเอง’ ในที่นี้ จึงเป็นคำใหญ่ที่มีความหมายแคบมาก เพราะมันไม่ได้หมายถึงการพัฒนาตัวเองจริงๆ ที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ใครอยากพัฒนาอะไรก็ทำได้ แต่มันคือการพัฒนาตัวเองใน ‘กรอบ’ ที่ถูกขีดเอาไว้แล้วว่ามีมูลค่าและนำไปสู่ความสำเร็จในนิยามของสังคมกระแสหลัก (ซึ่งก็คือเรื่องของ ‘งาน’ และ ‘เงิน’) เท่านั้น เราจึงไม่ค่อยมี ‘จินตนาการ’ ถึงการพัฒนาตัวเองในรูปแบบที่หลากหลายและเป็นไปตามความต้องการของเราจริงๆ เช่น พัฒนาทักษะการสังเกตระบบนิเวศด้วยการไปเดินเท้าตระเวนตามลุ่มน้ำโขงสักสามเดือน, พัฒนาทักษะด้านดนตรีด้วยการเรียนตีกลองอย่างจริงจังตอนอายุสี่สิบปี ฯลฯ

แต่คำว่า ‘พัฒนาตนเอง’ ในความหมายนี้ คือการพัฒนาเพื่อให้ ‘ตนเอง’ กลายเป็น ‘สินค้า’ ที่น่าจะขายได้ดีขึ้น

มันจึงไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก self commoditization!

แต่ฮิรายามะใน Perfect Days ไม่ได้เลือกเส้นทางแบบนี้ เขากล้าพอที่จะลุกขึ้นมา ‘เป็น’ ในแบบที่เขาต้องการจะเป็น ซื่อตรงต่อตัวเองและวิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการจะเป็น แต่ในเวลาเดียวกัน สังคมที่เขาอยู่ก็น่าจะ ‘ให้คุณค่า’ กับชีวิตที่หลากหลายมากพอจะทำให้เขาได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอจะมีชีวิตอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วย เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองมากพอจนเขาสามารถไปนั่งพักกินอาหารกลางวันในสวน ถ่ายรูป และเก็บความรื่นรมย์ของแสงเงาของแดดและใบไม้ไว้ในภาพถ่ายได้ และทำให้ Perfect Days ของเขา เป็นวันอันสมบูรณ์แบบท่ี่ยั่งยืน ฝังอยู่ในโครงสร้างสังคมพื้นฐานที่พยายามโอบรับทุกคน

 คำถามที่เกิดขึ้นในที่นี้จึงคือ – เราซ่อน ‘ความด้อยพัฒนา’ ทั้งทางความคิดและทางมนุษยนิยม – ไว้ใต้คำว่า ‘พัฒนา’ และ ‘ทำงานหนัก’ โดยโยนภาระนี้ไว้บนบ่าของปัจเจก, มากน้อยแค่ไหน

 โปรดอย่าลืมว่า Perfect Days ของแต่ละคนไม่เคยเหมือนกัน และจะทำอย่างไรเพื่อให้สังคมที่เราอยู่ – โอบอุ้ม Perfect Days ที่ของผู้คนได้หลากหลายมากขึ้น และสร้างวันอันสมบูรณ์แบบที่ยั่งยืนขึ้นมาได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save