fbpx

ความน่าจะอ่าน 2021: ในปีสาหัสยิ่งกว่า เราอาจไม่มีสิทธิ์ที่จะสิ้นหวัง

ไม่รู้ว่าปีนี้ในปอดเราจะมีออกซิเจนหรือความสิ้นหวังมากไปกว่ากัน บรรยากาศหดหู่และน่าเหนื่อยหน่ายดูเหมือนจะล่องลอยในบรรยากาศอย่างที่ถึงเราปัดมันออกไปแล้ว ก็ยังลอยฟุ้งกลับมาอยู่ร่ำไป 

ในปีแสนสาหัส (ยิ่งกว่า) อย่างปี 2021 หลายคนล้าจากผลกระทบโควิด‑19 ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ลากยาวจนยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด สภาพการเมืองที่เห็นว่าทางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังอีกยาวไกล ท่ามกลางความหนักอึ้งของบรรยากาศทางสังคม โปรเจ็กต์ #ความน่าจะอ่าน ในขวบปีที่ 5 จึงขอลิสต์รายชื่อหนังสือน่าอ่านจากการคัดเลือกของเหล่าบรรณาธิการ ร้านหนังสือ และนักวาดภาพประกอบกว่า 60 ชีวิต จนได้ออกมาเป็นรายชื่อหนังสือกว่า 140 เล่ม และมีหนังสือที่ถูก ‘เลือกซ้ำ’ มากที่สุดจนคัดออกมาเป็น ’11 Top Highlights’ ที่อยากชวนอ่านเพื่อปลอบประโลมในห้วงเวลาอันยากลำบาก

ในงานเสวนา ‘ความน่าจะอ่าน 2021 : Final Round’ อ่านอะไรดีในปีแสนสาหัสยิ่งกว่า! 101 ชวนคนในแวดวงหนังสืออย่าง ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารและสำนักพิมพ์อ่าน อำนาจ รัตนมณี เจ้าของ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการ นักเขียน นักแปล จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day เจ้าของนามปากกา jirabell มาร่วมพูดคุยถึงสิ่งที่คนทำหนังสือต้องเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมา สนทนาเกี่ยวกับหนังสือ ‘ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน’ ของรัช ที่ถูกคัดเลือกเป็นหนังสือแนะนำอันดับหนึ่ง และหนังสือ Top Highlights เล่มอื่นๆ ในปีนี้ รวมถึงทิศทางการอ่านในปีแสนสาหัส ซึ่งสะท้อนความสากรรจ์ของสภาพสังคม

อ่านสถานการณ์การอ่านระหว่างปีนี้และปีที่แล้ว

วงสนทนาเริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตของอำนาจ รัตนมณี เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง ที่มองว่าแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่บรรยากาศการอ่านของปีนี้แตกต่างจากการอ่านในปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด

“ผมคิดว่าปีที่แล้วเป็นภาวะที่คนงงว่าโควิดคืออะไร และโควิดจะยาวนานแค่ไหน ช่วงแรกๆ ของการล็อกดาวน์จึงเกิดปรากฏการณ์ที่คนมาร้านเพื่อซื้อหนังสือไปตุน เรียกได้ว่าซื้อเยอะและก็ตั้งใจซื้อไปอ่าน ปีที่แล้วร้านจึงได้รับผลกระทบแต่ไม่หนักมาก พอเข้าสู่ปีที่สอง คนเกิดความไม่มั่นใจว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่ เห็นได้ชัดว่าคนเริ่มกังวลเรื่องเงินในกระเป๋า” อำนาจกล่าวในฐานะเจ้าของร้านหนังสือที่พบปะกับผู้อ่านอย่างใกล้ชิด

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์เสริมในประเด็นใกล้เคียงกันถึงบรรยากาศและความเข้าใจต่อสถานการณ์โควิด ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างสองปี ซึ่งเขาในฐานะของคนทำนิตยสารจำเป็นต้องสังเกตการขยับของสังคม

“การทำนิตยสารเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องอ่านสังคมก่อนที่จะทำนิตยสารให้คนอ่าน”  

จิรเดชให้ข้อมูลเพิ่มว่าเขาจับจุดความสนใจของผู้คนในช่วงปีแรกได้ว่าเป็นมวลของความพยายามหาความรื่นรมย์ในข้อจำกัด เช่น การจัดห้องในช่วง work from home แต่ปัจจุบันมวลอารมณ์ของสังคมเปลี่ยนไป ผู้อ่านหันมาสนใจประเด็นจริงจังเพื่อหาทางออกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นิตยสาร a day จึงต้องปรับตัวตามสังคมและความสนใจของคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังพบความท้าทายในกระบวนการผลิตที่จะต้องคัดเลือกเนื้อหาที่ไม่ได้เรียกร้องการออกพบปะผู้คน เช่น หันมาใช้ภาพประกอบ เพื่อให้ได้เนื้อหาที่ยังได้น้ำได้เนื้อ ส่วนในกระบวนการขายก็จำเป็นต้องปรับรูปแบบ โดยการหันมาขายและโปรโมตผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

“อีกประเด็นที่พี่หนุ่ม (อำนาจ) ร้านหนังสือเดินทางพูดน่าสนใจมากที่บอกว่าคนเริ่มคำนึงถึงเรื่องเงินในกระเป๋า ถ้าสังเกตช่วงหลังๆ หัวข้อที่ a day เลือกทำหรือแม้กระทั่งหนังสือที่ขายดีที่เราเห็น มักเป็นหนังสือที่มีฟังก์ชันบางอย่าง คนซื้อไปแล้วรู้ว่ามันทำหน้าที่อะไรในชีวิตของคนอ่าน ซึ่งหน้าที่ก็แล้วแต่เล่มไป บางเล่มทำหน้าที่เยียวยาให้กำลังใจ หรือเติมความรู้บางอย่าง ทุกวันนี้รู้สึกว่าคนซื้อหนังสือด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์” จิรเดชกล่าว

หมดไฟฝัน ชีวิตไร้น้ำมันเชื้อเพลิง

สำหรับนักอ่านในวัย 20 ปลายๆ ถึง 30 ต้นๆ ที่ร้านเจอคำถามในลักษณะที่ว่ามีหนังสือให้กำลังใจบ้างไหมคะ และอีกคำถามมาจากคนที่มีงานและครอบครัว คือมีหนังสือที่สามารถปลุกไฟให้กลับคืนมาอีกได้ไหมคะ ผมรู้สึกว่าแปลกจังเลยทำไมสองคำถามนี้มีบ่อยจัง” อำนาจชวนตั้งข้อสังเกตถึงคำถามจากผู้อ่านที่แวะเวียนมาด้วยคำถามคล้ายคลึงกันในช่วงหลัง

โตมร ศุขปรีชาสะท้อนว่าสภาพสังคมที่ย่ำแย่ส่งผลให้ผู้คนต้องหากำลังใจจากในหนังสือ และตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่รองรับผู้คนในสังคม โดยยกตัวอย่างว่าบางประเทศในแถบยุโรปเปิดโอกาสให้คนอายุ 40-50 ที่หมดไฟในงานเดิม ได้มีทางเลือกทางรอดในการเริ่มชีวิตใหม่ผ่านการเปลี่ยนอาชีพ หรือในสิงคโปร์ที่เปิดโอกาสให้เรียนรู้ปริญญาตรีอีกใบในสาขาที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ขณะที่ประเทศไทย คนทำงานอาจจะต้องทนกับอาการหมดไฟ โดยไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลาออก หรือคนรุ่นใหม่เองที่เผชิญสภาพสังคมตอนนี้ในช่วงเริ่มต้นของการทำงานก็ประจันหน้ากับความสิ้นหวัง

โตมรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าในหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher, โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์ อธิบายถึงการเกิดภาวะซึมเศร้าในคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้นอย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกับอาการ imposter syndrome ที่ทำอะไรก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนต้องปลุกปลอบตัวเองด้วยหนังสือให้กำลังใจ อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าเศร้าที่การหาหนังสือเหล่านี้เป็นการหาทางออกที่มีสภาวะความเป็นปัจเจกสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐและสังคมไม่พร้อมจะโอบรับคน นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงหนังสือ วิชารู้รอบ (RANGE: Why Generalists Triumph in a Specialized World) ที่ติดลิสต์รายชื่อท็อปไฮไลต์ความน่าจะอ่านในปีนี้ว่า เป็นหนึ่งในหนังสือของสำนักพิมพ์ซอลต์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้อ่านอาจเพราะช่วยตอบปัญหาของคนอ่านได้

“คิดว่าหนังสือสะท้อนความรู้สึกร่วมของคน เช่น ‘ฉันก็รู้สึกว่าฉันเป็นเป็ด’ ซึ่งความเป็นเป็ดไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่งนะ แต่เหมือนเขาไม่สามารถเห็นว่าเขาจะเก่งไปในเรื่องอะไร ซึ่งจะโยงไปหา imposter syndrome ด้วย การที่หนังสืออย่าง RANGE ขายดีอาจเป็นเพราะคนพยายามหาคำตอบหรือทางออกเกี่ยวกับความเป็นเป็ดในตัวเอง”

บทสนทนาขยับมาที่ไอดา อรุณวงศ์ ที่สะท้อนความรู้สึกของตัวเองว่าไม่ใช่แค่อาการหมดหวังของนักอ่าน แต่เธอในฐานะคนทำงานหนังสือที่เกี่ยวพันกับสภาพสังคมการเมืองก็รู้สึกเหมือนตกอยู่ในหลุมดำของกาลเวลา

“เหมือนว่านาฬิกาหยุดเดินตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 สิ่งที่ทำนับจากนั้นมายังเป็นผลสืบเนื่องเป็นลูกโซ่ตามมา อันนี้ไม่นับฐานะนายประกันคดีต่างๆ นะ เหมือนกับว่าการทำงานของสำนักพิมพ์อ่านยังถูกอดีตหลอนอยู่ ยังไม่ขยับไปไหน ที่ผ่านมาได้รับการตอบสนองจากคนอ่านบ้าง เพราะคนรุ่นใหม่เขาสนใจอยากจะรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต กลายเป็นว่าอดีตที่หลอนเราอยู่และยังสลัดไม่หลุดเผอิญมาบรรจบกับอนาคต”

ไอดาเล่าว่าหนังสือหลายเล่มของสำนักพิมพ์อ่านอย่าง ในฝันอันเหลือจะกล่าว ของเดือนวาด พิมวนา, รักสามัญ ของรสมาลิน ตั้งนพกุล ต่างก็มีจุดเริ่มต้นในปี 2557 หรือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ของภรณ์ทิพย์ มั่นคงก็เป็นงานเขียนที่มีจุดเริ่มต้นหลังรัฐประหาร งานที่ผ่านมาหลายชิ้นจึงเป็นการสะสางสิ่งที่ค้างคาในเวลาก่อนหน้าเป็นเครื่องยึดให้กับผู้ประสบภัยทางการเมืองและเป็นเรื่องราวอันมีเสน่ห์ของคนที่ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ หนังสือของสำนักพิมพ์อ่านจึงทำงานทั้งในฟังก์ชันทางสังคมการเมือง หรือในแง่เครื่องเยียวยาของตัวคนเขียน ขณะเดียวกันก็ยังหวังว่าหนังสือจะทำหน้าที่เป็นศิลปะบันเทิง ผูกกับเรื่องการเป็นแหล่งพักพิงทางอารมณ์ไม่มากก็น้อย

แปดขุนเขา’ วรรณกรรมหนึ่งเดียวในลิสต์ปีนี้

หากพลิกดูรายชื่อหนังสือท็อปไฮไลต์ในปีนี้จะพบว่า ใน 11 เล่มมีหลายเล่มที่ได้รับการแปลจากภาษาต่างประเทศ และพบว่ามีวรรณกรรมแปลอย่าง แปดขุนเขา (Le otto montagne) จากสำนักพิมพ์อ่านอิตาลีติดลิสต์เพียงเล่มเดียว

อำนาจตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้สะท้อนว่านักเขียนไทยกำลังแข่งขันกับการผลิตเนื้อหากับนักเขียนทั่วโลก และกล่าวถึงความสำคัญของวรรณกรรม โดยหยิบยกคำพูดของนีล ไกแมน (Neil Gaiman) นักเขียนอังกฤษที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านกับจำนวนนักโทษ ซึ่งนักเขียนชื่อดังอธิบายว่าการอ่านวรรณกรรมจะทำให้นักอ่านรักการอ่าน คอยติดตามการเติบโตของตัวละคร และนั่นจะหล่อหลอมทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตทำให้เดินพ้นจากเส้นทางชีวิตในคุก

“Non- fiction ตอบโจทย์เฉพาะหน้าได้มากกว่า อาจจะหยิบมาใช้ได้ทันทีในภาวะแบบนี้ แต่ fiction ตอบโจทย์ในเชิงจิตใจได้ดีกว่าในระยะยาว ตัวละครจากหนังสือแต่ละเล่ม แต่ละเรื่องก็เหมือนคนคนหนึ่งที่เติบโตไปเจอเรื่องราวมากมาย ต้องต่อสู้และแบกรับปัญหามากมาย ถามว่าสิ่งเหล่านั้นช่วยปลอบประโลมเราได้ไหม ผมคิดว่ามันก็ทำให้เรามองเห็นมิติการใช้ชีวิตเหมือนกัน” อำนาจกล่าว

โตมรเสริมในประเด็นความสำคัญของวรรณกรรม โดยหยิบยกงานวิจัยทาง neuroscience ในวัยรุ่นมาเสริมว่า การอ่านวรรณกรรมหลากหลายรูปแบบจะทำให้ผู้อ่านมีความฉลาดทางอารมณ์และมีทักษะความเข้าใจคนอื่นสูงกว่าคนในวัยเดียวกันที่ไม่ได้อ่านวรรณกรรม โดยมีคำอธิบายว่าช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่กำลังปฏิสัมพันธ์กับโลกและการอ่านวรรณกรรมจะช่วยทำให้เกิดเซลล์ประสาทกระจก (mirror neuron) ผ่านการแทนภาพตัวเองเป็นตัวละครในหนังสือ จนทำให้เกิดความเข้าใจในผู้อื่นและโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เขายังสะท้อนถึงความประทับใจในหนังสือ แปดขุนเขา (Le otto montagne) ว่า

“จริงๆ เนื้อหาไม่มีอะไรเลย เป็นแค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน กับระหว่างคนกับสถานที่ เป็นเรื่องที่ซ้ำๆ แต่มีความสดอะไรบางอย่าง ตอนอ่านทำให้นึกถึง ปีเตอร์ คาเมนซินด์ หนังสือเล่มแรกของเฮอร์มานน์ เฮสเส ซึ่งเป็นเรื่องของคนกับธรรมชาติ เป็นเรื่องของคนกับขุนเขา และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยเหมือนกัน ตอนอ่านเล่มนั้นรู้สึกว่าหนังสืออะไรทำให้เราหลงรักมันได้ และพอมาอ่านเล่มนี้ก็เหมือนไปรื้อฟื้นความรู้สึกแบบนั้นกลับมาอีกครั้ง ก็เลยชอบมากเลย” โตมรเสริมว่าในเรื่องกล่าวถึงภูเขาในอิตาลีทางตอนเหนือที่เขาสนใจอยู่แล้ว และทำให้เห็นภาพวิถีชีวิตบนนั้นจึงยิ่งประทับใจหนังสือเล่มนี้

ขณะที่จิรเดชให้ข้อสังเกตว่าการมีวรรณกรรมเพียงเล่มเดียวในรายชื่อหนังสือ อาจจะไม่ได้สะท้อนภาพจริงของความนิยมของวรรณกรรม 

 “ถ้าเราไม่ได้คล้อยตามลิสต์นี้ และไปเดินตามร้านหนังสืออยู่บ้าง เราจะเห็นว่าหนังสือขายดีไม่ได้มีแต่ non-fiction แต่หนังสือ fiction หลายๆ เล่มก็ขายดีและยืนระยะได้ดีมาก เพียงแต่ลิสต์ที่เราเห็นอาจจะถูกเลือกด้วยวิธีการคิดแบบหนึ่งที่อาจไม่ได้สะท้อนยอดขาย สิ่งที่เราเห็นสะท้อนว่าคนในวงการหรือเหล่าบรรณาธิการแต่ละสำนักพิมพ์สนใจหนังสืออะไร ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าสอดคล้องกับยอดขายจริงไหม” 

จิรเดชเสริมพร้อมตั้งข้อสังเกตอีกประเด็นเพิ่มเติมว่า หนังสือที่ติดท็อปไฮไลต์และได้รับความสนใจจากนักอ่านอย่าง ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว ของปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย จากสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ หรือในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน ของรัช จากสำนักพิมพ์พารากราฟ เป็นหนังสือที่ไม่ได้เน้นขายชื่อผู้เขียน แต่บอกเล่าถึงประเด็นสำคัญในบ้านเมืองและทำความเข้าใจสถานการณ์ในสังคม สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือที่ตอบโจทย์อุดมการณ์เหล่านี้เริ่มตอบโจทย์ธุรกิจด้วย

ชีวิตวิปริตในแดนวิปลาส

วงเสวนามาถึงการพูดคุยถึงหนังสือที่ได้รับการเลือกมากที่สุดอย่าง ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน ของรัช จากสำนักพิมพ์พารากราฟ ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง โดยไอดาในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่านที่ตีพิมพ์หนังสือของผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองเช่นกัน ให้ความเห็นถึงความประทับใจที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างสนใจ

หลายคนประทับใจหนังสือเล่มนี้ในความกระชับ บางคนก็รู้สึกว่าการกระชับหรือการพูดน้อยนั้นดีสำหรับเขา ตรงที่เขาไม่รู้สึกว่ามันท่วมท้น ไม่ต้องเยอะ แต่ในความน้อยนั้นสะเทือนใจเขา” ไอดายังตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะการเขียนหนังสือเล่มนี้ที่ใช้การลบใบหน้าของตัวละคนนั้น ไม่แน่ใจว่าอาจจะเพราะความไม่สบายใจของผู้เขียนที่ไม่อยากเปิดเผยทั้งหมด หรือเป็นความตั้งใจที่อยากลบเลือนตัวบุคคล เพื่อให้เหลือแค่ความเป็นมนุษย์ เป็นพ่อ หรือเป็นลูกของใครสักคน เพื่อที่จะสื่อสารถึงคนที่มีกำแพงในประเด็นทางการเมือง

“ในทางศิลปะการเขียนที่เขาจัดระยะกันตัวเองกับคนเหล่านั้น ลึกๆ คิดว่ามาจากบุคลิกของคนเขียนด้วย ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนที่รู้สึกกับมันน้อย แต่เป็นเพราะว่าเขารู้สึกกับมันเยอะ เยอะจนต้องจัดระยะ ไม่อย่างนั้นคุณจะยืนอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเขาเป็นนักข่าว แต่เราเห็นชัดจากภาษาที่เขาเขียน ซึ่งระยะนั้นก็มาช่วยคนอ่านในแง่ที่คนอ่านก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันท่วมทะลักใส่ตัวเขา เล่มนี้เลยอาจจะตอบโจทย์ได้หลายอย่างด้วยการจัดระยะของเขาเอง รูปเล่มที่เล็กๆ ไม่น่ากลัวมาก และเป็นบรรยากาศใหม่สำหรับคนอ่าน ไม่มีชื่อคน ไม่มีรายละเอียด แต่สะเทือนใจเราได้” ไอดายังทิ้งท้ายถึงความน่าสนใจของการข้ามเส้นกันไปมาระหว่างนักเขียน นักข่าว และนักมานุษยวิทยาที่ทำงานเหลื่อมกันในแง่งานเขียน โดยยกตัวอย่าง หนังสืออีกเล่มอย่าง บ้านที่กลับไม่ได้ ของบุญเลิศ วิเศษปรีชา

“ความรู้สึกแรกหลังผมอ่านจบคือผะอืดผะอม การผะอืดผะอมไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดี แต่สาระที่ได้รับทำให้รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเสน่ห์หรือเป็นจุดแข็งของหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำไป มันกำลังดี ปิดซ่อนไว้เยอะ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้เราเห็นอารมณ์รวมทั้งหมด รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้กระทั่งความรู้สึกของคนเหล่านั้น ผมคิดว่าสิ่งที่รู้สึกชัดจากหนังสือเล่มนี้คือมันน่าจะเป็นเชื้อหนึ่งที่นำไปสู่การขับเคลื่อนหรือขยับขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านี้” อำนาจกล่าวถึงความประทับใจต่อ ‘ในแดนวิปลาส’

“เวลาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ใช้ภาษาง่ายๆ เล่าอย่างเรียบง่าย แต่ถ้าคนทำหนังสือหรือเขียนหนังสือก็จะรู้ว่าสิ่งนี้มันไม่ง่าย เป็นเรื่องยากมาก เต็มไปด้วยการเลือกที่ต้องแม่นยำมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคำ เลือกที่จะเปิดเผย ไม่เปิดเผย เลือกระยะระหว่างผู้เล่ากับแหล่งข่าว ซึ่งผมรู้สึกว่าในแดนวิปลาส ผู้เลือกเลือกอย่างแม่นยำ หรืออย่างที่หลายๆ คนอาจจะใช้คำว่า ‘เก๋า’ ผมคิดว่าเขาออกแบบมาแล้ว ทุกอย่างคิดมาอย่างดี ” จิรเดชกล่าว และให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ระบุข้อมูลบรรณานุกรมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายไทย แต่จิรเดชกลับรู้สึกว่าเมื่ออ่านแล้วรู้ว่ามันเกิดขึ้นจริงเกิดความรู้สึกที่อธิบายยาก การอ่านเล่มนี้จึงทรงพลังมากที่ทำให้ผู้อ่านสามารถทาบทับบทบาทในตัวละครและสะท้อนสังคมที่เป็นอยู่

“หนังสือเล่มนี้ทรงพลังมากๆ ในแบบที่จะฉีกกระชากเราออกไปได้เลย โดยใช้คำน้อย มีตัวหนังสือน้อยมาก อ่านแป้บเดียวก็จบ แต่พออ่านจบแล้วเหมือนทำงานต่ออยู่ข้างใน” โตมรกล่าว และเผยว่าคำถามที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ซึ่งสะท้อนก้องอยู่ในตัวผู้อ่านคือความรักนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงอยู่ได้ ทั้งที่มันทำร้ายผู้คนได้มากมาย โดยเขาเชื่อมโยงไปถึงหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ และเกิดถามต่อไปว่าจะมีวิธีรับมือหรือเดินหน้ากับสถานการณ์ต่อไปอย่างไร

เมื่อคำถามที่ว่าในในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน เป็นงานเขียนที่ส่องให้เห็นสภาพสังคมที่เกิดขึ้นอย่างไร ไอดาเป็นคนแรกที่ตอบคำถามนี้

”สิ่งที่สะเทือนใจมากที่สุดเวลาอ่านสิ่งที่อยู่ในแดนวิปลาส คืออยู่ในภาษาที่เรารู้ว่าเป็นคนแก่เหมือนกัน เป็นคนที่ผ่านอะไรมาเหมือนกัน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย คุ้มดีคุ้มร้าย และจะต้องพยายามประคับประคองต่อไป จริงๆ แล้วเราหมดหวังแล้ว หมดแรงแล้ว แต่เราหยุดไม่ได้ สถานการณ์มันลากไป และคนรุ่นใหม่เขาออกมาเป็นแนวหน้าอย่างนี้ เราหยุดไม่ได้ เราไปด้วยกัน แต่เราก็ไปอย่างคนที่ล้า” 

ไอดาให้ข้อมูลว่าสิ่งที่ผู้เขียนอย่างรัชรู้คือมีมุมมองและสีสันจากการผจญภัยแบบแปลกๆ ในระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง แต่สิ่งที่เขาเลือกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ ต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารกับมนุษย์ผู้จงรักที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ซึ่งเธอหวังว่าสักวันจะได้นำเสนอรายละเอียดด้านอื่น

ด้านอำนาจให้ความเห็นว่า “ในมุมหนึ่งการที่คนในแวดวงหนังสือจำนวนมากมายเลือกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แสดงว่าสิ่งที่เขาเลือกก็ต้องใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา แน่นอน ในแดนวิปลาสเป็นหนังสือ อย่างไรในโลกภายนอกก็คงมีความผิดฝาผิดฝั่ง ผิดปกติอย่างที่หนังสือบอก แต่เพียงมุมหนึ่งที่ผมได้แต่ยืนยันกับตัวเองและบอกกับใครหลายคนว่าเราจำเป็นต้องหวัง แม้ว่าอาจจะดูไม่ค่อยมีหวังก็ตาม ความหวังที่ผมพูดถึงคงไม่ได้เกิดขึ้นว่าทุกอย่างจะคลี่คลายภายใน 10-20 ปีนี้ อาจใช้เวลาเป็นเจเนอเรชันก็ได้” 

จดหมายขอบคุณจากผู้เขียนในแดนวิปลาส

เมื่อพ้นจากการพูดคุยเนื้อหาจากหนังสือ ในแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลสามัญชนบนโลกคู่ขนาน ทางวงเสวนาได้เชิญไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารและสำนักพิมพ์อ่านอ่านจดหมายขอบคุณผู้อ่านจากรัช ผู้เขียนหนังสือดังกล่าว โดยเนื้อหาในจดหมายมีความว่า

ขอบคุณ

รัช เป็นนามปากกาที่เท่าไหร่จำไม่ได้ คนรู้จักแทบทุกคนเห็นแล้วล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “อะไรของมึงเนี่ย” 

มันเป็นคำพยางค์เดียวที่มี 2 ความหมาย ความหมายหนึ่งคือ ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ อีกความหมายหนึ่งคือ ฝุ่น, ผง, ละออง, ธุลี มิตรสหายคนหนึ่งเปิดพจนานุกรมแล้วพูดถึงคำนี้ คนเขียนเลือกได้ในทันที โดยไม่ฟังคำอื่นๆ ที่เขานำเสนออีก

การใช้นามปากกา คือการซ่อนตัวตน เช่นกันกับการไม่ได้มาร่วมงานเพื่อกล่าวขอบคุณด้วยตนเองสำหรับการมอบตำแหน่งแห่งที่ในจิตใจผู้อ่าน ตำแหน่งแห่งที่นี้เป็นเรื่องเซอร์ไพร์สและน่ายินดีมาก สำหรับ ‘ลูกครึ่ง’ นักข่าวก็ไม่เชิง นักเขียนก็ไม่ใช่

มันอาจดูยโสโอหังหรือพิลึกคน แต่การหลบๆ ซ่อนๆ คืออัตลักษณ์หนึ่งในแดนวิปลาส ตลอดการทำงานเป็นสิบปีก็อยู่ในสภาพเช่นนี้ จะเยี่ยมนักโทษทีก็เดี๋ยวเป็นน้อง เป็นเพื่อน กระทั่งเป็นเมีย จะคุยกับผู้ต้องหาก็ต้องบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นหลาน เป็นญาติ เป็นผู้ช่วยทนาย ฯลฯ จะเขียนอะไรตรงๆ ไต่เส้น ทดลองขยับเพดานนิดๆ แต่ละที ทั้งตนเองและคณะก็ต้องทำตัวเป็นคนซื่อบื้อ หน้ามึน “มันผิดตรงไหนล่ะ” และที่สำคัญคือ ไร้ชื่อ สำหรับฝ่ายความมั่นคง จะฟ้องก็ฟ้ององค์กรนู่น แม้ปัจจุบันกระแสสำนึกของสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนล้วนกล้าหาญจับมือกันฝ่าการกดขี่ ยิ่งกดก็ยิ่งต้าน ยิ่งฟ้องก็ยิ่งทำ อีกทั้งงานเขียนชิ้นนี้ก็ไม่ได้มีอะไรล่อแหลม แต่มันติดนิสัยไปแล้ว แก้ไม่หาย 

อีกเหตุผลหนึ่งที่จำคำของคนในแวดวงวรรณกรรมมา ก็คือ ตัวบทมีชีวิตของมันเอง และแยกขาดจากคนเขียน คนเขียนไม่ต้องไปยุ่มย่ามมีอิทธิพลใดๆ ต่อการตีความน่าจะดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตั้งใจแต่แรกว่าเขียนเสร็จแล้วจะหายตัวไปเลย (หลังรับเงินจากสำนักพิมพ์) ไม่ต้องแปะป้ายว่าใครเขียน มาจากองค์กรไหน กระทั่งเขียนถึงใคร แค่เล่าชะตากรรมของบางชีวิตที่ตัวเองพบเจออย่างจริงใจ เปลือยเปล่า เพราะในเบื้องลึก ผู้อ่านที่อยากให้อ่านมากที่สุด คือ ผู้จงรักที่เปี่ยมความเกลียดชัง แต่ว่าก็ว่า จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาว่าภารกิจในการเชื่อมสายใยความเป็นมนุษย์นี้สำเร็จกี่มากน้อย หรือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง 

สไตล์ ‘เปลือยเปล่า’ นี้ก็มีเรื่องน่าขำที่อยากบอกเล่า หลังออกจากงานประจำก็ตั้งใจจะเอาประสบการณ์บัดซบที่พบเจอมารังสรรค์นิยายสักเล่ม ตั้งความหวังไว้สูง อยากสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาใหม่อย่างวิจิตรซับซ้อน แล้วให้ผู้อ่านรู้สึกด้วยตัวเอง ไม่ต้องชี้นำแม้ซักประโยค 2ปีผ่านไป คิดไม่ตก ไม่ได้ซักบรรทัด เพิ่งตระหนักว่าวรรณกรรมเป็นงานที่หนักหน่วงและปราณีตขนาดไหน ต้องหมกมุ่นขั้นสุด ทุ่มเทพลังกาย สติปัญญา และความอุตสาหะอันยาวนาน ซึ่งล้วนไม่ใช่คุณสมบัติของผู้เขียน สุดท้ายงานที่ออกมาได้กลับตาลปัตร (ต้องขอบคุณมิตรสหายหลายคนที่ทั้งผลักทั้งดัน) เขียนแบบไม่ต้องกะเกณฑ์วางแผนอะไรนัก ไม่ต้องพยายาม สิ่งที่ภูมิใจมากคือ ‘ความสั้น’ แต่ละเรื่องมันสั้นจนคนเขียนเองยังตกใจ

เรื่องราวที่คัดสรรมาเป็นเพียงกระผีกเดียวในมหาสมุทรชีวิตผู้ประสบภัยทางการเมือง ผู้บุกเบิกถางเส้นทาง ‘เสรีภาพ’ อันเป็นแก่นสารสำคัญของมนุษย์และอารยธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงเส้นทางประชาธิปไตยที่ซับซ้อนและวกวนเป็นเขาวงกต พวกเขาคือคนที่อยู่รายล้อมตัวเรา อยู่ร่วมสังคมกับเรา ยิ่งในยุคนี้ หยิบจับไปตรงไหนก็เจอ เพียงใช้เวลาเพ่งมองยาวนานพอก็จะเห็นรายละเอียด ที่มาที่ไปที่ล้วนน่าสนใจ เป็นวัตถุดิบอันไพศาลสำหรับ ‘หัวขโมย’ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนง ส่วนที่จะยากหน่อยคือ หลายเรื่องราวมันก็แอบเสิร์ดเสียจนไม่รู้จะปั้นแต่งยังไงให้มากไปกว่านั้น 

เมื่อหนังสือจัดพิมพ์ออกมาโดยทีมงานเพี้ยนๆ 5 ชีวิตที่ล้วนตั้งชื่อที่มีความหมายว่า ‘ฝุ่น’ ยกเว้น บก.สำนักพิมพ์ที่จำเป็นต้องใส่ชื่อจริง สถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงอีก กราฟขาขึ้นสั้นๆ ก็ดูรีบร้อนเป็นขาลง ลง ลงและลง จึงชักไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คนอ่านมีพลัง หนักแน่นในเส้นทางวิบากตามที่แอบหวัง หรือหมดพลังเพราะความหดหู่นานารูปแบบจากทั้งในและนอกหนังสือ แต่นั่นมันก็เหนือการควบคุมและเกินสติปัญญาของผู้เขียนไปแล้ว 

ไม่ว่าจะอย่างไร ลึกๆ ก็ยังเชื่อมั่นว่า ‘ความเจ็บปวดคือพลัง’ เมื่อเราเชื่อมโยงชีวิตของตนเองเข้ากับชีวิตของผู้อื่นเสียแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย มันไม่มีทางเลยที่เราจะหยุดพยายามต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าความเหนื่อยล้า โศกเศร้า อึดอัด โกรธแค้น หวาดกลัว จะถมทับเราหนักหน่วงแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีหวังหรือสิ้นหวังระหว่างทาง ไม่ว่าจะเราจะมองเห็นเส้นทางแจ่มชัดหรือคลำอยู่ในความขมุกขมัว 

… มันไม่มีทางเลือกอื่น เป็นชะตากรรมของ ‘ประชาชน’ ในแดนวิปลาส  

บทส่งท้าย: ไม่มีสิทธิ์ที่จะสิ้นหวัง

“ไม่รู้จะเห็นความหวังจากอะไรเลย แต่อย่างไรก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลง เรายังเชื่ออย่างนั้น” ไอดาพูดถึงความหวังในอนาคต พร้อมให้ความเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีวัฒนธรรมการอ่านแบบใหม่ เสพรับสื่อรูปแบบอื่นอย่างในทวิตเตอร์หรือติ๊กต็อกที่มีความสั้น ซึ่งการเสพสื่อแบบนี้เชื่อมโยงกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ที่ปฏิสัมพันธ์กับโลกในรูปแบบนี้ จึงไม่เอื้อให้ละเลียดเสพแบบคนรุ่นก่อนหน้า

“สิ่งที่คนรุ่นปัจจุบันต่อสู้อยู่ก็คือสู้กับสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้ายอมรับ เชิดชู ยกย่อง หรือทนกับมันมา แต่เขาไม่ทนและยอมรับแล้ว พอวิธีคิดเปลี่ยนก็เปลี่ยนวิธีเสพรับ เปลี่ยนสุนทรียะ และเปลี่ยนผัสสะของเขา” ไอดาคิดว่าหากบ้านเมืองเข้าที่มากขึ้น คนรุ่นใหม่อาจมีใจเปิดรับสื่อในรูปแบบอื่นๆ ได้มากขึ้น ส่วนทิศทางการเมืองเธอกล่าวว่า 

“เราไม่มีความหวังไม่ได้ จำเป็นต้องมีความหวัง ถ้าเราบอกว่าเราไม่มีหวัง ก็จะเป็นข้ออ้างที่เราจะไม่ยอมทำอะไร ถ้าเราคิดว่าเรามีหน้าที่ต้องทำ เราก็ต้องมีหวัง เราไม่มีหวังไม่ได้นะ เพราะว่ามีคนที่สู้และยอมแลกจนเราไม่มีสิทธิ์ไม่มีหวัง”

“โดยส่วนตัวผมค่อนข้างเชื่อว่าสังคมเรากำลังเดินไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าระยะทางที่เราต้องใช้เดินนั้นใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ถ้ากลับไปสู่ประเด็นเรื่องหนังสือ ปรากฏการณ์ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาที่เยาวชน นักข่าวรุ่นเยาว์สนใจอ่านหนังสือที่เมื่อก่อนขายยากมากๆ ตัวอย่างที่เห็นก็คือหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ก็เป็นตัวแสดงให้เห็นว่ายังมีความหวังนะ มีคนอีกกลุ่มที่สนใจอ่านสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา มองแล้วน่าชื่นใจ มีหวัง น่าสนใจ น่าติดตาม” อำนาจให้ความเห็น

“เป็นคำถามเรียบง่ายที่ตอบยากมาก วงการหนังสือมีบทบาทที่สำคัญคือการทำงานด้านความคิด ซึ่งเป็นการทำงานที่แข็งแรง และแน่นอนว่าการต่อสู้ที่เรากำลังสู้อยู่นั้นเรียกร้องระยะเวลายาวนานแน่ๆ ตราบใดที่ยังมีคนทำงานด้านความคิดควบคู่ไปกับการทำงานต่อสู้ทางสังคมการเมือง ผมว่าเราสร้างความหวังได้จริงๆ” จิรเดชเปรยว่าเขาชอบประโยค ‘เวลาอยู่ข้างเรา’ เมื่อทำงานด้านความคิดให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ปัจจัยต่างๆ เคลื่อนไปเรื่อยๆ จนเกิดอะไรบางอย่างที่ ณ วันนี้ยังคาดเดาไม่ได้

ด้านโตมรทิ้งท้ายว่า “ไม่ค่อยจะเห็นความหวังเท่าไหร่ แต่อยู่ในภาวะที่ไม่หวังไม่ได้ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่หวังด้วยซ้ำ แต่การที่จะนั่งเฉยๆ แล้วบอกว่ามันพ้นไปแล้ว ไม่ใช่รุ่นของเราแล้ว คงไม่ใช่ แต่คำถามคือว่าแล้วต้องทำอย่างไรกันต่อไป อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังตอบได้ยากอยู่ โดยส่วนตัวก็พยายามทำในขอบเขตที่ตัวเองทำได้ เรื่องสำคัญอันหนึ่งก็คือก็ยังพยายามสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกันอยู่ ผมชอบที่คุณไอดาบอกว่าไม่มีหวังไม่ได้ และก็อาจจะต้องทำสิ่งที่เราทำได้เพื่อช่วยให้มีความหวังเหล่านั้นต่อ และช่วยให้คนได้เห็นความหวังเหล่านั้นต่อไปด้วยในอนาคต” 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save