fbpx

[ความน่าจะอ่าน] บทเรียน ‘วิชารู้รอบ’ ในโลกที่ต้องการคนรอบรู้

ถ้าให้สรุป วิชารู้รอบ โดย เดวิด เอปสตีน (David Epstein) ภายในหนึ่งบรรทัด หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของ ‘เป็ด’ 

แน่นอน เป็ดในบริบทหนึ่งอาจทำให้ทุกคนนึกถึงเจ้าตัวสีขาวน่ารักที่เป็นกระแสสัตว์เลี้ยงในโลกออนไลน์อยู่พักหนึ่ง แต่ในอีกบริบทหนึ่ง และเป็นบริบทที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ‘เป็ด’ เป็นคำเปรียบเปรยคนที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่ได้ลงลึกหรือเจาะจงในด้านใดเป็นพิเศษ เหมือนกับเป็ดที่ทำได้หลายอย่าง บินก็ได้ ว่ายน้ำก็ได้ แต่บินได้ก็ไม่สูง ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่ลึก และเชื่อว่าในชีวิตนี้ คุณต้องเคยเจอมนุษย์เป็ดหลายคน หรือไม่ก็คือตัวคุณเองนั่นแหละที่รู้สึกว่าตนเองมีทักษะแบบเป็ด

แม้ดูๆ ไปแล้ว การเป็นเป็ดดูจะไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายครั้งที่ ‘มนุษย์เป็ด’ รู้สึกว่าทักษะกว้างๆ ของตนเองกลับกลายเป็นปัญหาชวนหนักใจ เพราะโลกใบนี้เหมือนจะเรียกร้องและเน้นเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ค้นพบความสามารถของตัวเองและมุ่งไปได้จนสุดทาง มากกว่าจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ทำได้หลายอย่าง แต่ไม่ได้ลงลึกในด้านใดด้านหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าตนเองเป็นเป็ดเมื่อไร คุณก็อาจจะเจอการเคี่ยวเข็ญจากผู้ใหญ่ว่าให้ไปหาทางเรียนรู้หรือทำอะไรที่ตัวเองจะพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนั้นได้ จึงไม่แปลกที่พอกวาดตาดูชั้นหนังสือส่วนหนึ่ง จะเห็นหนังสือประเภท how to รู้จริงเรื่อง xxx เชี่ยวชาญเรื่อง yyy เต็มไปหมด (เท่าที่โลกนี้จะมีได้) พร้อมกับคอร์สสอนนั่นสอนนี่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

แต่ดังที่ชื่อหนังสือบอกไว้ วิชารู้รอบ ไม่ใช่เรื่องราวของผู้เชี่ยวชาญ และผู้เขียนก็ไม่ได้บอกว่าการเชี่ยวชาญนั้นไม่จำเป็นหรือผิดแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้พยายามแสดงให้เราเห็นว่า หลายครั้งที่การ ‘รู้กว้าง’ อาจจะดีกว่าการ ‘รู้ลึก’ เพราะทักษะทั้งหลายที่เราเก็บเล็กผสมน้อยเข้าไว้ด้วยกันอาจจะถูกร้อยเรียงถักทอ จนกลายเป็นเครื่องมือในการทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

หรือถ้าลองย้อนคิดถึงเรื่อง ‘เป็ด’ ในตอนต้นอีกครั้ง อย่าลืมว่าแม้เป็ดจะบินได้ไม่สูงและว่ายน้ำได้ไม่ลึก แต่ไม่ว่าคุณจะจับเป็ดโยนขึ้นฟ้าหรือดิ่งลงน้ำ เป็ดก็สามารถเอาตัวรอดได้เช่นกัน

-1-

หนังสือเริ่มต้นด้วยเรื่องราวชีวิตของนักกอล์ฟชื่อดังอย่าง ‘ไทเกอร์ วูดส์’ และสามพี่น้องลาสซ์โลซึ่งเป็นนักกีฬาหมากรุก และเช่นเดียวกับเรื่องราวของนักกีฬาชื่อดังหลายคน ทั้งวูดส์และพี่น้องลาสซ์โลฉายแววตั้งแต่ยังเล็ก และต้องฝึกซ้อมอย่างหนักก่อนจะก้าวไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางกีฬาของตนเอง หรือเอปสตีนใช้คำว่า พวกเขาอยู่ใน ‘ลัทธิเริ่มก่อนได้เปรียบ’ 

ยิ่งในกรณีของพี่น้องลาสซ์โลที่ถูกพ่อ (โพลการ์) ฝึกอย่างละเอียดและรอบคอบถึงขั้นที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘การทดลอง’ แล้ว วิธีการของโพลการ์ถึงกับถูกยกเป็นตัวอย่างของ “พลังแห่งการจัดการชีวิตด้วยวิธีเริ่มต้นแต่เนิ่นๆ” และ “ทำให้คุณวางแผนอัจฉริยภาพในตัวเองได้” ขณะที่หนังสือขายดีเล่มหนึ่งก็ยกกรณีของวูดส์และพี่น้องลาสซ์โลเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การเริ่มต้นซ้อมแต่เนิ่นๆ และซ้อมอย่างตั้งมั่นเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในกิจกรรมทุกประเภท

ควรกล่าวเพิ่มเติมไว้ตรงนี้ด้วยว่า การ ‘ซ้อมอย่างตั้งมั่น’ ถือเป็นการซ้อมประเภทเดียวที่ได้ผลในกฎ 10,000 ชั่วโมง หรือกฎที่บอกว่าปัจจัยเดียวที่กำหนดอัตราการพัฒนาทุกแขนงคือ จำนวนชั่วโมงที่ใช้ฝึกฝนทักษะนั้นๆ

ไทเกอร์ วูดส์ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความคิดที่ว่า การซ้อมอย่างตั้งมั่นเป็นเวลายาวนานคือเครื่องกำหนดความสำเร็จ พ่วงมาด้วยอีกความคิดคือเราต้องเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และความคิดข้างต้นก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในแวดวงกีฬาเท่านั้น แต่ยังขยายวงออกมาในทักษะเฉพาะทางด้านอื่นๆ เช่น ดนตรี การแพทย์ ด้วย

“ผู้คนมักพูดว่ายิ่งโลกซับซ้อนและแข่งขันเข้มข้นขึ้นเท่าไร เรายิ่งต้องพัฒนาทักษะที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษขึ้นเท่านั้น และยิ่งเริ่มฝึกเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี […] สมัยนี้ แพทย์มะเร็งวิทยาไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องมะเร็งทั่วไป แต่ต้องเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งโดยเฉพาะ และแนวโน้มดังกล่าวก็ยิ่งชัดเจนขึ้นทุกปี” 

ทว่าสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามชี้ให้เราเห็นคือ กอล์ฟและหมากรุกไม่ใช่ภาพแทนของกิจกรรมทุกประเภท หรือถ้าจะพูดให้ถูก มันไม่สามารถเป็นภาพแทนของโลกใบนี้ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะในบางสาขา เช่น หมากรุกหรือการผจญเพลิง ประสบการณ์ในวงแคบอาจช่วยให้เราสร้างความชำนาญขึ้นได้ หรือที่นักจิตวิทยา โรบิน โฮการ์ท เรียกว่าเป็นสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ ‘อ่อนโยน’ (kind) ที่กฎ 10,000 ชั่วโมงและการฝึกเทคนิคเฉพาะทางจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่คุณ

ในทางกลับกัน ถ้าเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย (wicked) ที่กฎเกณฑ์ต่างๆ คลุมเครือ ไม่มีรูปแบบชัดเจน ประสบการณ์กลับอาจจะยิ่งสอนบทเรียนผิดๆ ให้กับมนุษย์ด้วย และโชคร้าย (อีกแล้ว) ที่หลายครั้งโลกใบนี้ก็ไม่อ่อนโยนเท่าไร ความเชี่ยวชาญในวงแคบของนักผจญเพลิงคนหนึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดเมื่อเจออัคคีภัยที่ไม่คุ้นเคย หรือหากแชมป์หมากรุกชื่อดังคนหนึ่งเอาแต่จดจำยุทธวิธีมากกว่าเรียนรู้กลยุทธ์ในการเล่น เขาก็อาจจะถูกซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทดแทนอย่างง่ายดาย

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด “โลกนี้ไม่ใช่กอล์ฟ และมันก็ไม่ใช่เทนนิสด้วยซ้ำ […] ส่วนใหญ่แล้วโลกนี้เป็นเหมือน เทนนิสต่างดาว เราอาจเห็นผู้เล่นบนสนาม มีลูกบอลและไม้แร็กเกต แต่กลับไม่มีใครรู้กฎเกณฑ์แน่ชัด เราต่างต้องค้นหากฎด้วยตนเอง และมันก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ โดยไม่บอกล่วงหน้า”

ภาพโลกที่มี ‘เทนนิสต่างดาว’ ถูกแสดงให้เห็นในผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ เจมส์ ฟลินน์ ที่นำเกรดเฉลี่ยของนักศึกษาปีสี่จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาหลายสาขา ตั้งแต่ประสาทวิทยาศาสตร์ไปจนถึงภาษาอังกฤษ มาเทียบกับผลจากแบบทดสอบการคิดเชิงวิเคราะห์ที่วัดความสามารถในการประยุกต์ใช้แนวคิดนามธรรมในหลายสาขากับสถานการณ์จริง

ผลที่ได้ปรากฏว่า เมื่อถึงคำถามส่วนที่ควรต้องนำทักษะการให้เหตุผลเชิงมโนทัศน์ออกมาใช้มากที่สุด นักศึกษาส่วนใหญ่ทำคะแนนได้แย่มากในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน บางสาขาทำคะแนนได้แย่ไปหมด ประเด็นที่น่าสนใจคือ นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ทำคะแนนได้ดี เพราะ “เศรษฐศาสตร์มีธรรมชาติเป็นสาขากว้างๆ อยู่แล้ว และศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ก็มักนำหลักการใช้เหตุผลที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้กับปัญหาอื่นนอกแขนง” แต่ในกรณีของสาขาเฉพาะทางอย่างเคมี นักศึกษากลับ ไม่อาจใช้กระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์กับปัญหาอื่นนอกแวดวงเคมีได้เลย”

ถ้าดูจากทรรศนะของเอปสตีน ผลจากการทดลองข้างต้นดูจะเป็นปัญหาไม่น้อย เพราะสำหรับเขาแล้ว สิ่งที่โลกอันโหดร้ายและแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วต้องการจากมนุษย์คือการใช้เหตุผลเชิงมโนทัศน์ที่เชื่อมโยงความคิดใหม่ๆ และประยุกต์ใช้ข้ามบริบทได้ เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน

“ยิ่งปัญหาหนึ่งๆ มีบริบทจำกัดและซ้ำซากมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่มันจะถูกทดแทนโดยระบบอัตโนมัติมากเท่านั้น และผลรางวัลจะตกอยู่กับคนที่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เชิงมโนทัศน์จากสาขาหนึ่งเข้ากับอีกสาขาหนึ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง” เอปสตีนกล่าวไว้เช่นนี้

-2-

ย้อนกลับไปที่เรื่องราวของ ไทเกอร์ วูดส์ อีกครั้ง ที่นอกจากจะพูดถึงเรื่องการซ้อมอย่างตั้งมั่นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันคือ การเริ่มต้นให้เร็วที่สุด เช่นที่วูดส์เริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และลาสซ์โลเริ่มสอนให้ลูกสาวคนแรกเล่นหมากรุกตอนที่อายุพอๆ กันกับวูดส์

แน่นอน การเริ่มต้นเร็วไม่ใช่ปัญหาอะไรอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่หลายคนมักมองว่าการเริ่มต้นทำอะไรด้วย ‘ความเชื่องช้า’ ก่อน หมายถึงการต้องยอมเสียสละช่วงเริ่มต้นไป และนั่นคือจุดอ่อนที่ทำให้ยากจะยอมรับได้ โดยเฉพาะถ้าคุณเชื่อใน ‘ลัทธิเริ่มก่อนได้เปรียบ’ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ วิชารู้รอบ ชี้ให้เราเห็นต่อมาคือ การเริ่มต้นด้วยความเชื่องช้าจะช่วยบ่มเพาะความรู้สำคัญประเภทหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นความรู้ที่จะช่วยให้คุณสามารถจับคู่ตัวเองกับความท้าทายที่เหมาะสมได้

ดังเช่นเรื่องราวของศิลปินชื่อก้องโลก ‘วินเซนต์ แวนโก๊ะ’ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามอย่างถึงที่สุดของวูดส์ เพราะขณะที่วูดส์เริ่มต้นเส้นทางโปรกอล์ฟอย่างว่องไว แวนโก๊ะกลับต้องใช้ทั้งชีวิต ‘เร่ร่อน’ ทั้งในแง่สถานที่และความคิด ทว่าผลงานในช่วงโมงยามสุดท้ายของชีวิตแวนโก๊ะกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งยุคสมัยใหม่ของงานศิลปะที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

หรือตัวอย่างร่วมสมัยอย่าง ‘เจ.เค. โรว์ลิ่ง’ ผู้ที่นิยามชีวิตตัวเองว่าล้มเหลวไม่มีชิ้นดี ทั้งในเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ว่างงานที่ต้องอาศัยสวัสดิการจากรัฐ ก่อนจะถูกปลดเปลื้องจากโซ่ตรวนของความล้มเหลวด้วยวรรณกรรมชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์

ที่เอปสตีนกล่าวไว้ว่า “การเริ่มต้นช้าคือองค์ประกอบที่จะขาดเสียมิได้ของความสำเร็จท้ายสุดต่างหาก” จึงฟังดูไม่ผิดแต่ประการใด

ขณะที่ในกรณีทั่วๆ ไปของ ‘เริ่มเร็ว’ หรือ ‘เริ่มช้า’ อย่างการเลือกศึกษาต่อ โอเฟอร์ มาลามัต นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ได้ทำการศึกษาระบบโรงเรียนของสหราชอาณาจักร ซึ่งในอังกฤษและเวลส์ นักเรียนต้องเลือกความเชี่ยวชาญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่สกอตแลนด์ นักเรียนต้องเรียนศาสตร์หลากหลายก่อนในช่วงสองปีแรก และยังเลือกต่อไปได้อีกหลังจากนั้น 

ผลที่มาลามัตได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลอดีตนักศึกษานับพันคนคือ คนที่จบจากอังกฤษและเวลส์ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนสายอาชีพไปโดยสิ้นเชิง คิดเป็นจำนวนที่มากกว่าชาวสก็อตซึ่งสามารถเลือกสายอาชีพได้ทีหลัง และถึงแม้รายได้ของชาวสก็อตในช่วงแรกจะน้อยกว่าเพื่อนชาวอังกฤษและเวลส์เพราะทักษะไม่มากเท่า แต่รายได้จะตามทันในไม่ช้า 

หากใช้คำของนักเศรษฐศาสตร์ นี่คือเรื่องของ ‘คุณภาพการเข้าคู่’ (match quality) ซึ่งหมายถึงความเข้ากันได้ระหว่างงานที่คนๆ หนึ่งทำกับสิ่งที่เขาเป็น หรือความสามารถและความปรารถนา – คนที่เลือกสายได้ช้ากว่า ซึ่งในที่นี้คือนักศึกษาสก็อต มีโอกาสจะเจอคุณภาพเข้าคู่ได้มากกว่านักศึกษาอังกฤษและเวลส์ ที่ถูกบังคับให้เลือกสายความเชี่ยวชาญก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ตัวเอง หรือมาเปลี่ยนใจในภายหลัง

จึงคงไม่ผิดนัก ถ้าจะบอกว่า การเริ่มเร็วไม่ได้ช่วยให้ได้เปรียบหรือก่อให้เกิดแต่ผลดีเสมอไป และในบางครั้ง การทำอะไรช้าๆ ทว่าละเอียดและลุ่มลึกก็อาจจะเป็นการให้รางวัลกับชีวิตตนเองแบบหนึ่งเช่นกัน

-3-

ไม่ใช่แค่เรื่องราวของวูดส์และพี่น้องลาสซ์โล แวนโก๊ะ และเจ.เค. โรว์ลิ่งเท่านั้นที่ถูกยกตัวอย่าง แต่ วิชารู้รอบ ยังอัดแน่นไปด้วยงานวิจัยและเรื่องราวน่าสนใจเต็มไปหมด

ไล่เรียงตั้งแต่บทเรียนของผู้เชี่ยวชาญในความผิดพลาดของนาซา (NASA) ในการปล่อยกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ ที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทิ้งเครื่องมือที่ตัวเองคุ้นเคยได้จนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

หรือจะเป็นชีวิตของนักทำขนมและคนรักอาหารชาวปารีสอย่างนีโกลา อาร์แปร์ ที่ “เก่งแบบเป็ด” จนก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านอาหารมากมาย 

และพลาดไม่ได้กับเรื่องราวการพลิกฟื้นยอดขายของบริษัทนินเทนโดด้วยเทคโนโลยีขาลง โดยกุนเป โยโกอิ – แน่นอนว่าเขาเป็นผู้มีงานอดิเรกหลากหลายอีกเช่นเคย แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นเช่นเดียวกันว่า หลายครั้งที่งานจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งคนที่รู้กว้างและรู้ลึก จะขาดใครไปเสียมิได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบนฟ้าไกลโพ้นอย่างกระสวยอวกาศ เรื่องบนโต๊ะอาหารของนีโกลา อาร์แปร์ หรือความเป็นมาของเกมฮิตขวัญใจใครหลายคนอย่างนินเทนโด ทั้งหมดนี้มีแก่นหนึ่งเดียวที่เชื่อมโยงเรื่องราวทุกเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือการอธิบายว่า ‘การเป็นเป็ด’ มีข้อดีอย่างไรในโลกปัจจุบัน หรือถ้าจะพูดแบบไม่ถ่อมตัว ทำไมเป็ดจึงมีแนวโน้มจะยิ่งใหญ่ขึ้นในโลกปัจจุบัน และเราจะรู้กว้างอย่างไรให้มีชัยเหนือคนที่รู้ลึก

อย่าลืมว่าหากปีที่แล้วเป็นปีที่แสนสาหัส ปีนี้ก็ดูจะเป็นปีที่แสนสาหัสยิ่งกว่าตามที่กองบรรณาธิการ The101.world ได้นิยามไว้ ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดที่ส่งผลต่อความป่วยไข้ของร่างกายและซาบซึมจนเกิดเป็นความด้านชาในจิตใจ หรือจะด้วยสภาวะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงเกินคาดการณ์ และหากการได้เลือกอ่านหนังสือสักเล่มถือเป็นหนึ่งเครื่องปลอบประโลมจิตใจชั้นดีแล้ว วิชารู้รอบเองย่อมเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งเป็นคู่มือเพื่อรองรับปรับตัวกับปีแสนสาหัส เป็นหนังสือสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่อยากมองหาความหลากหลาย หรือเป็นหนังสือที่อาจจะช่วยตอบคำถามหลายข้อที่ติดอยู่ในใจมนุษย์ ‘เป็ด’ มาได้ตลอด

แน่นอน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปกี่ยุคกี่สมัย ความรู้แบบลงลึกของผู้เชี่ยวชาญยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าด้วยความที่โลกปัจจุบันแสนจะซับซ้อน การรู้กว้างและรู้รอบกลายเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปัญหาหนึ่งอาจไม่สามารถถูกแก้ได้ด้วยการใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง หรือนวัตกรรมอาจจะไม่สามารถถูกคิดค้นได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องการการถักทอเครื่องมือและทักษะหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน จนกลายเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่มีประสิทธิภาพในที่สุด

เพราะหลายครั้ง ความลุ่มลึกเริ่มต้นจากความหลากหลายและการรู้รอบก่อนเสมอ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save