fbpx
อยู่กับความทุกข์ทน วันพรุ่งนี้ที่เงียบงันของเหยื่อทางการเมือง

อยู่กับความทุกข์ทน วันพรุ่งนี้ที่เงียบงันของเหยื่อทางการเมือง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ธิติ มีแต้ม ภาพ

“ก้าวข้ามความขัดแย้ง” กลายเป็นสิ่งที่หลายพรรคการเมืองพูดตรงกันระหว่างฤดูหาเสียง 2562 หลังผ่านความขัดแย้งรุนแรงมาเกินทศวรรษ และต้องทนอยู่กับการรัฐประหารที่หยิบเรื่อง ‘ความปรองดอง’ มาเป็นข้ออ้างจนความหมายของคำนี้ผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น

แม้บรรยากาศสังคมในวันนี้ ทุกคนอยากก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อหลุดพ้นความถดถอยที่ต้องเผชิญมายาวนาน โดยเฉพาะช่วงการปกครองของรัฐบาลทหาร แต่สังคมสามารถลืมอดีตแล้วเริ่มต้นใหม่ในหลักไมล์ที่ศูนย์ได้จริงหรือ

ต่อให้สังคมเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งเก่าและความล้มเหลวของกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถลบลืมแล้วตื่นขึ้นใหม่ในรุ่งเช้าเสมือนไม่เคยมีเมื่อวานได้ เมื่อทุกชีวิตในสังคมมีความทรงจำต่อความขัดแย้งและพร้อมหวนคืนเมื่อระบบการเมืองกลับสู่ภาวะปกติ

ชีวิตที่หล่นหายไปในความรุนแรงไม่อาจเรียกคืน ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมยังต้องอยู่กับความบาดเจ็บพิการทุกลมหายใจ แล้วยังต้องรับมือกับภาวะทางจิตใจที่คุณค่าของตัวเองถูกลดทอนเมื่อเป็นคนที่ถูกประณามจากสังคม ญาติผู้เสียชีวิต ผู้ลี้ภัยทางการเมือง คนเล็กคนน้อยที่ถูกดำเนินคดี ไม่ควรต้องเก็บงำก้มหน้ารับสิ่งที่เกิดขึ้นราวกับว่าเป็นเรื่องของปัจเจก

101 คุยกับ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงงานวิจัยใหม่ของเขา อยู่กับบาดแผล: เสียงจากสามัญชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง (2553-2557) ซึ่งจะตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ อยู่กับบาดแผล โดยสำนักพิมพ์ papyrus

บุญเลิศตั้งต้นจากการพูดคุยกับคนธรรมดา 24 คน เป็นคนที่บาดเจ็บพิการจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมฝั่งเสื้อแดง 8 คน ฝั่งกปปส. และคปท. 8 คน และผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์เผาศาลากลางที่อุบลราชธานี 8 คน

เขามุ่งสำรวจไปที่เรื่องเล่าของผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง การแบกร่างกายที่ไม่เหมือนเดิมไปตลอดชีวิตสร้างความลำบากให้ผู้บาดเจ็บทั้งสองสีเสื้อไม่ต่างกัน แต่บาดแผลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจกลับแตกต่าง เมื่อฝ่ายหนึ่งยืนบนความภาคภูมิ อีกฝ่ายหนึ่งถือครองความรู้สึกผิดพลาดจากความพ่ายแพ้และถูกสังคมประณาม

ทั้งหมดนี้คือผลจากการที่สังคมเดินข้ามเส้นไปถึงความรุนแรง และอาจมีการก้าวพลาดซ้ำ หากสังคมยังไม่ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือความผิดพลาดที่ควรต้องมีการรักษาแผลในใจของเหยื่อ ไม่ให้ถูกกดอยู่กับความโกรธแค้นและความรู้สึกไม่เป็นธรรม

อยู่กับบาดแผล: เสียงจากสามัญชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางการเมือง (2553-2557)

เริ่มต้นสนใจศึกษาเรื่องนี้ได้อย่างไร

ผมเห็นพี่กุ้ย ประชาไท (ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ) เขียนเรื่องคนถูกจำคุก คนถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม จึงสนใจคนเหล่านี้และคิดถึงคนเล็กคนน้อยที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรงทางการเมืองแล้วไม่ค่อยมีคนรับรู้

ตอนแรกเริ่มจากเรื่องคนถูกดำเนินคดี แต่กระบวนการค่อนข้างช้า จึงมาศึกษาเรื่องความเจ็บปวดทางร่างกายของเหยื่อจากความรุนแรงทางการเมือง ที่จริงตั้งใจศึกษาไปถึงยุคเสื้อเหลือง 2549 แต่ค่อนข้างเก่า หาข้อมูลไม่ค่อยได้ จึงมาเริ่มตั้งแต่เสื้อแดงปี 2553 ถึงกปปส. และคปท. ปี 2557

ที่ผ่านมามีคนศึกษาเรื่องกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองมาก่อนไหม หรือมีแค่รายงานเชิงข้อมูล

มีรายงานเก็บข้อมูลชุดที่ ศปช. รวบรวมข้อเท็จจริงไว้ และมีหนังสือรายงานพิเศษ ‘วีรชน 10 เมษา คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต’ สัมภาษณ์ญาติคนที่เสียชีวิต หรือจะมีกลุ่มที่ศึกษาญาติของเหยื่อจากเหตุการณ์ที่ภาคใต้ แต่งานวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองแบบนี้ยังไม่เจอ ที่สำคัญผมศึกษาผู้ได้รับผลกระทบจากทั้งสองฝ่าย โดยวิจัยช่วงปี 2560-2561 สัมภาษณ์กลุ่มเสื้อแดง 8 คน, กปปส.-คปท. 8 คน และกรณีที่อุบลฯ 8 คน

สองกลุ่มแรกจะมีประเด็นที่ค่อนข้างเทียบกันได้ว่าเป็นคนที่ไปชุมนุมแล้วถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนบาดเจ็บพิการ ส่วนที่อุบลฯ สัมภาษณ์คนที่ถูกดำเนินคดีจาก ‘คดีเผาศาลากลาง’ มีหลายคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง แต่โดนคดีเล็กๆ อย่างขัดคำสั่งพรก.ฉุกเฉิน ขัดขวางการจราจร แล้วถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ก็พลอยถูกประณามว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมืองไปด้วย

ผมเน้นไปที่ผู้บาดเจ็บ เพราะเราจะเห็นข่าวหรือรายงานเกี่ยวกับเรื่องผู้เสียชีวิตบ้าง แต่คนบาดเจ็บพิการที่ต้องอยู่แบบเรื้อรังนั้นแทบจะไม่มีคนรู้จัก การหารายชื่อก็ยากมาก และถ้าเป็นผู้เสียชีวิตเราต้องสัมภาษณ์ญาติ แต่ผู้บาดเจ็บเราสามารถให้เขาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้

ทราบว่างานวิจัยเน้นเรื่อง Social Suffering มีความสำคัญยังไงกับการศึกษาคนกลุ่มนี้

คอนเซ็ปต์ Social Suffering ผมแปลคำว่า suffer คือ ทุกข์ทน ไม่ใช่ทุกข์ธรรมดา รากศัพท์คำนี้มาจาก patero ในภาษาละติน ซึ่งยังเป็นรากศัพท์ของคำว่า patient ในภาษาอังกฤษที่แปลว่าผู้ป่วยและอดทน จึงคิดว่าคำว่า suffer คือการต้องทนกับสิ่งที่ไม่อยากเผชิญ

เดิมคนที่ศึกษาเรื่อง suffer เป็นหมอ เพราะคำว่า patient ที่แปลว่า อดทน คือคำเดียวกันกับ ผู้ป่วย หมอก็จะมองว่าคนป่วยเป็นโรคทุกคนคือคนที่ suffer แต่มานุษยวิทยาบอกว่าไม่ใช่หรอก อาจมีบางคนที่เจ็บป่วยทางกาย แต่ไม่ได้ suffer ในเชิงความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าในตัวเองก็ได้ เช่น ทหารผ่านศึกที่พิการจากการไปรบอาจจะมีความภาคภูมิใจ เจ็บทางกายแต่ได้รับการยกย่อง ขณะที่คนเมาแล้วขับประสบอุบัติเหตุ เจ็บทางกายแล้วสังคมประณามด้วย คุณค่าของตัวเองก็ลดน้อยลง

คอนเซ็ปต์เรื่อง Social Suffering มีคำว่า social เติมเข้ามาให้เข้าใจว่าความทุกข์ทนนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุทางสังคม ไม่ใช่การอธิบายเชิงจิตวิทยาหรือเชิงศาสนาที่ว่ามาจากบาปกรรมแต่ก่อน

Social Suffering มีสองนัย คือ 1.ให้น้ำหนักกับการให้คุณค่าในตัวเอง 2.เข้าใจว่าสาเหตุของความทุกข์นั้นมาจากเหตุการณ์ทางสังคม

งานวิจัยนี้ใช้ Social Suffering มาอธิบายได้ดีมาก ตอนที่เริ่มศึกษาผมยังนึกไม่ถึงเหมือนกัน พอสัมภาษณ์คนที่บาดเจ็บพิการสองกลุ่มแล้วเขาให้ความหมายกับบาดแผลของตัวเองไม่เหมือนกัน

ผมพบว่าคนที่บาดเจ็บจาก กปปส. และคปท. จะมีความภาคภูมิใจมากกว่า ที่อย่างน้อยการบาดเจ็บของเขาสามารถล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สำเร็จ แต่คนที่บาดเจ็บจากการชุมนุมเสื้อแดงจะรู้สึกว่าเจ็บตัวและได้รับความไม่เป็นธรรม แล้วสังคมยังว่าอีกว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลก็บอกว่าคนพวกนี้ใช้ความรุนแรง สมควรถูกปราบปราม

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ผู้บาดเจ็บฝ่ายเสื้อแดงไม่มีความรู้สึกว่าได้เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยบ้างเหรอ

ก็มีนะ มีลุงคนหนึ่งถูกทหารตีจนสมองบวม ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องนั่งวีลแชร์จนถึงทุกวันนี้ เขารู้สึกว่ายังสู้อยู่ แต่สู้ด้วยความรู้สึกเจ็บแค้นจากการถูกกระทำ โดยที่คุณป้าพูดว่า “ไม่คิดว่าคนมีการศึกษาสูงจะทำร้ายกันได้ขนาดนี้ นึกไม่ถึงว่าคนจะจิตใจเหี้ยมขนาดนี้”

อีกคนหนึ่งถูกยิงที่ตา จนตาเสียข้างหนึ่ง แต่ความรู้สึกเรื่องการต่อสู้ยังเข้มข้นอยู่ เขารู้สึกว่ารัฐบาลทำกับเขาอย่างไม่เป็นธรรม คนเสื้อแดงจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมมากกว่า

คนเสื้อเหลือง กปปส. คปท. ก็มีคนที่รู้สึกว่าทำไมใช้ความรุนแรงกับเขา เขายกมือแล้ว ทำไมต้องจับ ทำไมต้องมาตี แต่ความเข้มข้นอาจไม่เท่าคนเสื้อแดงที่รู้สึกว่าถูกประณาม มีความเจ็บแค้นมากกว่า

คนบาดเจ็บจากสองสีมีใครคิดไหมว่าตัวเองตัดสินใจผิด ถ้าย้อนกลับไปได้จะไม่ไปอยู่ที่แนวหน้า

กลุ่มกปปส. 8 คนที่ผมสัมภาษณ์ ไม่มีใครบอกว่าตัวเองคิดผิดเลย ตรงกันข้ามฝั่งเสื้อแดงมีบางคนรู้สึกว่าไม่น่าออกไปต่อสู้เลย คุณแม่คนหนึ่งไปเรียกร้องแล้วลูกชายถูกยิงที่บ่อนไก่ด้วยสไนเปอร์ กระสุนทะลุเบ้าตาแต่ไม่โดนสมอง น้องคนนี้เลยไม่ตาย แต่เสียดวงตาข้างหนึ่ง สมองส่วนที่ควบคุมการพูดถูกทำลาย ฟังเข้าใจแต่พูดไม่ได้ คุณแม่เขาผิดหวังว่าไม่น่าไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองจนทำให้ลูกเดือดร้อน เขาพูดชัดว่ามีลูกสอนลูก มีหลานสอนหลานเลยว่าไม่ไปแล้ว ถึงเวลาก็จะไปเลือกตั้งแค่นั้น แต่ก็มีเสื้อแดงบางคนบอกว่าถ้ามีชุมนุมอีกก็จะไปอีก แต่จะระมัดระวังไม่ไปอยู่แนวหน้า

คิดว่าเพราะอะไรที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลงความคิด แต่เสื้อแดงที่บาดเจ็บรู้สึกว่าการออกไปเคลื่อนไหวเป็นความผิดพลาด

ผมคิดว่ามี 2-3 ประเด็น หนึ่งคือ การให้คุณค่าความหมายของสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น สังคมยังรู้สึกว่า กปปส. เรียกร้องขับไล่รัฐบาลที่ไม่ดีในสายตาของเขาออกไป เขาก็จะรู้สึกภูมิใจ ช่วงที่ผมสัมภาษณ์เป็นช่วงที่รัฐบาลจากการยึดอำนาจยังคงอำนาจอยู่ การเรียกร้องของเขาประสบความสำเร็จ กระแสสังคมก็ยังไม่ได้ต่อว่าประณามรัฐบาลชุดนี้มาก เขาพูดว่าอย่างน้อยก็เอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกไปได้ แม้ว่าการปฏิรูปอาจจะไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ยังดีกว่ารัฐบาลที่แล้วแน่ๆ ส่วนคนเสื้อแดงจะรู้สึกว่า เรียกร้องไม่สำเร็จ เจ็บตัวแล้วบางครั้งยังถูกกระแสสังคมต่อว่าอีก

ประเด็นที่สอง ต้องยอมรับว่าฝั่ง กปปส. และ คปท. มีระบบการจัดการในการช่วยเหลือเหยื่อดีกว่า คนที่ผมไปสัมภาษณ์บางคนได้รับการช่วยเหลือรายเดือนจากกองทุน หรือทันทีที่บนเวทีประกาศว่าเขาถูกยิงจนพิการ ก็มีคนมามอบเงินให้ถึงบ้านเลย 1 ล้านบาท อย่างน้อยขบวนการก็ดูแลเขาและมีกองทุนช่วยเหลือระยะยาว ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง

ส่วนเสื้อแดงนี่ผมพูดด้วยความเข้าใจนะ คนเสื้อแดงสู้แล้วแพ้ เจ็บตัวแล้วยังถูกว่าอีก กระบวนการเยียวยาดูแลกันก็มี แต่การจัดการอาจไม่เป็นระบบนัก มีคนเข้าถึงการช่วยเหลือ แต่คนที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือก็บ่นว่าเขาเคยไปหาแกนนำหลังเวที แต่แกนนำเฉยๆ กับเขา ทำให้เขารู้สึกผิดหวังนิดหน่อยกับเรื่องนี้ ถ้ามีการจัดการช่วยเหลือที่ดีอย่างกรณีอุบลฯ ที่มีกลุ่มคณาจารย์ที่อุบลฯ คอยช่วยเหลือ คนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีก็คงไม่รู้สึกแย่กับขบวนการ

การศึกษาผ่านเรื่องเล่าของคนมีความสำคัญยังไง ต้องตรวจสอบข้อมูลไหมว่าเขาพูดเรื่องจริงหรือปกปิดอะไรหรือเปล่า

เราไม่ซีเรียสถึงขนาดว่าจะเอาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่อยากให้เขาเล่าความรู้สึกตัวเองเป็นสำคัญมากกว่า สิ่งที่เขาเล่าบ่งบอกว่าเขาอยากให้ความหมายกับสิ่งที่เขาทำเมื่อก่อนยังไง บางทีผมจะวิเคราะห์ซ้อน เช่น พี่คนหนึ่งบอกว่าเขาเป็นคนเสื้อแดง ไม่ได้ตั้งใจไปชุมนุมแต่ตั้งใจจะไปถ่ายรูป เราไม่รู้จริงๆ หรอกว่าตอนนั้นเขาอยากไปถ่ายรูปหรือไปร่วมชุมนุม แต่ ณ วันนี้เขาไม่ภูมิใจกับการเป็นคนเสื้อแดงแล้ว เลยไม่อยากพูดว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดง โดยบริบทผมวิเคราะห์ว่าฟังดูแล้วไม่น่าจะใช่ ผมขอดูรูปแล้วคิดว่าเขาไม่น่าใช่คนชอบถ่ายรูปแล้วไปอยู่แถวหน้า เพราะดูแล้วไม่เห็นมีรูปสวยๆ แต่กลับมีรูปเก่าที่พี่น้องใส่เสื้อแดงกันทั้งบ้าน

พี่อีกคนหนึ่งมาจากนครราชสีมา บอกว่าไปดูเฉยๆ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม กะจะมา 3 วัน 9-11 เม.ย. 2553 เป็นคนดูนะ แต่มาถึงวันแรกก็ไปยึดไทยคมด้วย วันที่ 10 เม.ย. ก็ดูอยู่ใกล้ๆ แล้วถูกสะเก็ด M79 เข้าที่แขน ทำให้พิการ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการสร้างระยะห่าง เราวิเคราะห์เรื่องราวของเขาอีกชั้นหนึ่งว่าวันนี้เขาให้ความหมายกับการไปเข้าร่วมยังไง ผมตีความว่าเขาไม่ได้อยากแสดงออกว่าภูมิใจกับการเป็นคนเสื้อแดงเท่าไหร่ ร่างกายพิการแล้วก็พ่ายแพ้ อีกเหตุผลหนึ่งอาจเพราะเขาไม่ไว้ใจผมก็เป็นไปได้

การฟังเขาเล่าเรื่องคือการฟังว่าเขาอยากจะบอกอะไร สิ่งที่เขาคิดตอนคุยกับเราอาจไม่ตรงกับความรู้สึกของเขาเมื่อก่อนก็ได้ แต่เราอยากรู้ว่าเขาอยากพูดถึงมันยังไง พูดด้วยความภูมิใจหรือไม่

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ตอนติดต่อผู้บาดเจ็บ สองฝั่งมีท่าทีแตกต่างกันไหม เขาเต็มใจจะพูดเรื่องของตัวเองหรือเปล่า

วิธีการเข้าถึงไม่เหมือนกัน ผมถามหลายคนที่ช่วยเหลือคนเสื้อแดง ส่วนใหญ่จะรู้จักแต่คนเสียชีวิต ไม่ค่อยรู้จักคนพิการ แต่มีพยาบาลอาสาช่วยหาให้ ถ้ามีคนรู้จักช่วยแนะนำให้ก็จะคุยได้ แต่มีคนที่เข้าถึงค่อนข้างยาก ผมเจอลิสต์ของคณะกรรมการเยียวยาแล้วโทรไป หลายคนไม่อยากให้สัมภาษณ์ มีทั้งที่ไม่อยากพูดถึง ไม่รู้ว่าคุยไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร บางคนบอกว่ายุคนี้เป็นยุคเผด็จการ พูดอะไรได้ไม่เต็มที่ แต่ก็มี 2-3 คนที่ผมอธิบายวัตถุประสงค์แล้วเขายินดีคุยด้วย

ส่วน กปปส. คปท. ผมเข้าถึงผ่านคนที่ทำงานกองทุนเยียวยาคนเจ็บป่วย คนเหล่านี้อยู่ในขบวนการที่ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนเคสอุบลฯ เข้าถึงจากกลุ่มคณาจารย์ที่ช่วยเหลือพวกเขา จึงได้ความไว้วางใจและแสดงความคิดออกมาพอสมควร

 

ติดต่อเคส กปปส. ไปแล้วเขารู้สึกอยากเล่าเรื่องของตัวเอง

เขาอยากเล่าเรื่อง เพราะผมติดต่อผ่านคนทำงานในกองทุนเยียวยา คนเหล่านี้ก็จะพูดในความรู้สึกว่าอย่างน้อยขบวนการดูแลเขา และมีผลสำเร็จของการเคลื่อนไหว

ส่วนคนเสื้อแดงมีคนหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นคนที่ผมไม่รู้จักมาก่อน แต่เขาพูดกับผมอย่างเปิดเผยว่าเขาเป็นอดีตทหารมาถูกยิงที่ราชดำเนิน เขาบอกว่าเมื่อก่อนเคยภูมิใจ แต่ตอนนี้ไม่ภูมิใจแล้ว เพราะถูกมองด้วยภาพที่ไม่ดี เขาทำงานที่ชลบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เสื้อเหลือง แล้วเคยพูดด้วยความภูมิใจว่าถูกยิงมา ก็ถูกโต๊ะข้างๆ เขวี้ยงขวดใส่ว่าพวกเผาบ้านเผาเมือง ตั้งแต่นั้นมาก็ปิดปากไม่พูดอะไรที่ชลบุรีอีกเลย และไม่มีความภูมิใจ เขาพูดภาษาทหารว่ามันเป็นเหมือนสงคราม ใครๆ ก็อยากอยู่ข้างผู้ชนะ ผมมันพวกผู้แพ้ก็เลยต้องหยุด ต้องเงียบๆ

งานชิ้นนี้บอกเล่าความรู้สึกของคนที่มีแผลเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหว บางคนพยายามกดตัวเองด้วยการบอกว่าไม่เอาก็ได้ ไม่ร่วมแล้ว แต่มีบางคนที่ยังไม่พอใจอยู่ลึกๆ นี่คือสิ่งที่เราต้องสนใจถ้าคิดจะคุยกันเพื่อเดินไปข้างหน้า ความรู้สึกของคนเหล่านี้ต้องได้รับความสนใจบ้าง ให้เขามีพื้นที่ได้ถูกพูดถึงและให้ความเป็นธรรมกับเขาในแง่ข้อเท็จจริงบ้าง เช่นเรื่องเผาบ้านเผาเมือง หรือเรื่องเผาศาลากลาง

คนบาดเจ็บที่ได้ไปสัมภาษณ์ส่วนใหญ่เป็นแนวหน้าในม็อบใช่ไหม

ส่วนใหญ่เป็นแนวหน้า คำถามหนึ่งในงานวิจัยผมถามว่าภูมิหลังเขาเป็นยังไง ทำไมถึงไปอยู่แนวหน้า เขาเป็นพวกบ้าบิ่น ถูกชักจูง หัวอ่อน หรือถูกจ้างมาอย่างที่สังคมมักเข้าใจใช่หรือไม่

น่าสนใจว่ามีคำตอบที่คล้ายกันทั้งสองกลุ่ม ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็คือ ไปอยู่แนวหน้าเมื่อพบว่ามิตรสหายร่วมการชุมนุมกำลังจะเพลี่ยงพล้ำ ทำให้ดูเฉยๆ ไม่ได้ ฝ่ายเสื้อแดงมีคุณลุงที่ถูกตีบอกว่าแกอยู่ด้านในการชุมนุม แต่พอเขาประกาศขออาสาสมัครแกก็เลยไปอยู่ข้างหน้า น้องคนที่ถูกยิงที่ตาเขาก็อยู่ด้านในม็อบ พอมีการขออาสาสมัครเขาคิดว่าตัวเองเป็นคนหนุ่ม ควรจะไปอยู่ข้างหน้า คนเสื้อเหลืองมีสองคนพูดคล้ายกันว่าตอนแรกจะไม่ไป เพราะรู้ว่ามีอันตรายแน่ แต่พอดูทีวีแล้วเห็นตำรวจกำลังจะเข้าสลาย ด้วยความเป็นห่วงเลยขับมอเตอร์ไซค์ไปชุมนุมอยู่แนวหน้า ความรักพวกพ้องในขบวนการมีทั้งสองกลุ่ม

ส่วนความต่าง คนกปปส. จะรู้ว่าเขาไปอยู่ในสถานที่อันตรายแต่มีความกล้า บางคนพูดว่าเสียสละได้เพื่อพระเจ้าอยู่หัว เจ็บก็ไม่เป็นไร แต่คนเสื้อแดงจะตรงกันข้าม คนเสื้อแดงพูดว่า นึกไม่ถึงว่าจะใช้ความรุนแรงขนาดนี้ เนื่องจากปี 2553 เกิดขึ้นก่อน กปปส. ที่ผ่านมามีการล้อมปราบ แต่นึกไม่ถึงว่าจะใช้กระสุนจริง นึกไม่ถึงว่าจะตีกันจนสมองกระทบกระเทือน ความนึกไม่ถึงในที่นี้คือเขานึกว่ารัฐจะมีอารยะกว่านี้

พอดูเคสที่สัมภาษณ์มาปรากฏว่าคนที่ไปอยู่แนวหน้าทั้งสองสีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรากหญ้า

ข้อค้นพบของผมก็คือ คนบาดเจ็บพิการไม่ว่าจะเสื้อสีไหน ก็เป็นคนระดับล่างหรือคนชั้นกลางระดับล่าง ส่วนใหญ่จบมัธยม สำหรับเสื้อแดงเราจะเข้าใจได้เพราะคนส่วนใหญ่เป็นรากหญ้า แต่น่าสนใจว่า กปปส. และคปท. ที่เราเห็นส่วนใหญ่คือคนชนชั้นกลาง อาจเป็นไปได้ว่าคนชนชั้นกลางที่เราเห็นส่วนใหญ่ไม่ได้ไปอยู่แนวหน้า แต่คนที่ไปอยู่แนวหน้าคือคนระดับล่างเหมือนกันแต่มีทัศนะทางการเมืองไม่เหมือนกัน

ชาวบ้านที่บาดเจ็บมองปัญญาชนในขบวนการตัวเองยังไง

ผมไม่ได้ถามเขาชัดๆ แต่คนกปปส. และคปท. สะท้อนว่าคนในขบวนการเขามีการดูแลกันมากกว่า มีคนไม่รู้จักมาเยี่ยม เขาพูดด้วยความภูมิใจว่าได้รับการดูแล ไม่ทอดทิ้งกัน มีป้าคนหนึ่งพูดด้วยความภูมิใจว่า ตอนอยู่โรงพยาบาลหมอก็บอกว่าเตียงนี้มีคนมาเยี่ยมเยอะที่สุด ผมก็ทำความเข้าใจว่าอาจเป็นไปได้ว่าเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีรายได้เยอะ จะเจียดกันได้เท่าไหร่ที่จะช่วยกันได้ ส่วนกปปส. ประกาศระดมเงินก็ได้หนึ่งล้านแล้ว

คนบาดเจ็บรู้สึกโกรธเคืองแกนนำหรือคนอื่นในขบวนการที่ไม่ได้ไปอยู่แนวหน้าเหมือนเขาไหม

เสื้อเหลืองไม่มีเลย เขาบอกว่ายอมรับได้ ไม่โทษพวกตัวเอง มีพี่คนหนึ่งไปชุมนุมแล้วสันนิษฐานว่าถูกยิงด้วยกระป๋องแก๊สน้ำตา ทุกวันนี้แกติดเตียงช่วยตัวเองไม่ได้ พี่สาวและคุณแม่เป็นคนดูแล ไปโรงพยาบาลก็ลำบาก ต้องอุ้มขึ้นแท็กซี่เสียเงินเดือนนึงไม่รู้เท่าไหร่ พี่สาวก็ไปไหนไม่ได้ ขายของที่ตลาดแล้วต้องกลับมาดูน้องชาย แต่สุดท้ายเขาบอกว่าลำบากแต่ยอมรับได้ เพราะตัดสินใจไปเอง ไม่ได้ถูกจ้างไป ตอนนั้นไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ว่าพอเกิดแล้วก็ยอมรับได้ว่าอย่างน้อยก็ไปทำประโยชน์ให้ประเทศ

เสื้อเหลืองอีกคนที่ถูกยิงจนต้องนั่งวีลแชร์ ก็พูดว่า “ถ้าผมถูกจ้างไป ผมจะเรียกร้องเหมือนการเจ็บป่วยจากการทำงาน แต่นี่ผมไม่ได้ถูกจ้าง ผมไปด้วยตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นผมต้องยอมรับได้” แต่คนเสื้อแดงจะพูดในโทนว่า ถ้าคิดได้ไม่อยากไป คุณแม่ของน้องที่ถูกยิงที่ตาพูดว่าลูกเราเป็นอย่างนี้ แต่แกนนำไม่เห็นเป็นอะไรสักคนเลย

จากการคุยกับเหยื่อทั้งสองฝ่าย พอจะสะท้อนได้ไหมว่าการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาตกผลึกหรือยัง กับการผลิตเหยื่อจากความรุนแรงของรัฐมากขึ้น

นั่นคือวัตถุประสงค์ที่ผมอยากทำงานชิ้นนี้ คือให้คนรู้สึกว่าไม่ควรเกิดความรุนแรงแบบนี้ ผมเรียกร้องทั้งคนจัดการชุมนุมที่ต้องหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง และฝ่ายรัฐไม่ควรใช้มาตรการความรุนแรงแบบนี้ที่มีกำลังรบเต็มรูปแบบ คนจัดการชุมนุมไม่ควรเสี่ยง อย่างการจะให้กองหน้าบุกให้ได้ มันก็ต้องมีคนเจ็บคนเดือดร้อน แม้การศึกษา​นี้จะมีบางคนที่เจ็บปวดอย่างภาคภูมิใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือมันไม่ควรจะต้องมีคนเจ็บคนตายขนาดนี้ เพราะมันกระทบชีวิตของเขาตลอดชีวิต

การอธิบายแบบนี้ สายฮาร์ดคอร์อาจจะรู้สึกว่าถ้าไม่สู้ รัฐก็ลอยตัว ไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร

ผมขอโควทคำพูดอาจารย์เกษียร เตชะพีระ “ไม่มีอุดมการณ์ใดที่มีค่าพอที่จะต้องเอาชีวิตคนไปแลก” ผมไม่ฮาร์ดคอร์พอที่จะเรียกร้องให้ใครต้องเจ็บ ถึงแม้จะบอกว่าเพื่อได้สังคมอุดมคติที่ดีงามก็ตาม

อาจารย์เกษียรบอกว่าความคิดคนยังเปลี่ยนเลย คุณรู้ได้ไงว่าสิ่งที่คุณเสียสละในวันนี้ วันหน้ามันอาจไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากให้คุณค่าถึงขนาดว่ายอมพลีชีพก็ได้ ฉะนั้นยังไม่มีอะไรเป็นคำตอบหรอก เก็บชีวิตตัวเองไว้ต่อสู้ในระยะยาวดีกว่า

แล้วเหยื่อฝ่ายกปปส.-คปท.ที่รู้สึกว่าสู้เพื่อรัฐแล้วภาคภูมิใจเขาจะเห็นบทเรียนร่วมกันของสังคมได้จริงหรือ ว่านี่เป็นเรื่องที่ควรจะหยุด

ต่อให้ภูมิใจก็เถอะ แต่ลึกๆ แล้วมันลำบาก ต่อให้คุณภูมิใจว่าได้ขับไล่รัฐบาลที่ไม่ดี แต่แลกกับความลำบากตลอดชีวิตผมคิดว่ามันไม่คุ้ม ช่วยกันหาวิธีการอื่นดีกว่า ตอนนี้คล้ายเป็นเงื่อนไขว่าต้องเอาชีวิตคนไปแลก พอมีคนเจ็บคนตายแล้วก็ด่ารัฐบาลเป็นทรราช ต้องลาออก อาจจะคิดว่าผมแก่แล้วไม่บู๊ก็ได้ แต่จากการคุยกับคนเหล่านี้ ผมไม่คิดว่ามันควรเป็นอย่างนั้น

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

ฝ่ายกปปส.-คปท. มีไหมที่รู้สึกภูมิใจ แต่จะบอกลูกหลานในอนาคตที่อยากต่อสู้ขับไล่รัฐบาลว่าอย่าเอาชีวิตไปแลก

ผมว่าครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงที่มีพี่สาวกับแม่ดูแล ก็สะท้อนว่าคุณแม่เขาขมขื่นอยู่ลึกๆ คุณแม่พูดว่า “จากที่ลูกต้องดูแลแม่ แต่กลายเป็นคนแก่ต้องมาคอยดูแลลูก ตอนไปชุมนุมเราอยากไปฟังวิทยากรให้ข้อมูล แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวเรา ไม่คิดว่าจะลำบากเดือดร้อนขนาดนี้” ผมคิดว่าถ้าเลือกได้คงมีไม่กี่คนที่จะบอกว่า ถ้าย้อนกลับไป ขออีกครั้ง เอาชีวิตฉันไปแล้วได้ขับไล่รัฐบาลนั้นออกไป

เป็นต้นทุนในการแบกความรู้สึกว่าได้รับชัยชนะ

จริงๆ แล้วคงมาช่วยพยุงความรู้สึกไม่ให้แย่ลง ความรู้สึกภาคภูมิใจช่วยชดเชยความเจ็บป่วย แต่ถามว่ามันชดเชยได้แค่ไหน ผมคิดว่าไม่มาก สำหรับชีวิตที่ลำบากลง มีสองคนอยู่แถวห้วยขวาง-ดินแดง ไปร่วมชุมนุมใกล้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เคยมีงานรับเหมาตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ทุกวันนี้ไม่มีรายได้ ภรรยาต้องคอยดูแลเอาของไปขายตลาดนัด พี่เขาก็เก่งในการพยายามต่อสู้ทางความรู้สึกว่าชีวิตเราอยู่ได้ ข้ามพ้นภาวะความ suffer มาได้ แต่ถามว่าลำบากไหม เขาก็ลำบาก

มุมมองการให้คุณค่าตัวเองที่แตกต่างระหว่างคนสองฝั่ง สร้างผลที่แตกต่างกันไหม เช่น คนเสื้อแดงที่รู้สึกพ่ายแพ้ ยิ่งสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจมากขึ้นหรือเปล่า

ใช่ ผมคิดว่าเจ็บปวดเพราะต้องเก็บกดตัวเอง แม้แต่จะบอกใครว่าชอบอะไรยังไม่กล้าแสดงออก เพราะเกรงว่าคนรอบข้างจะแสดงปฏิกิริยาไม่ชอบเรา ผมว่านี่คืออาการของความทุกข์ทนอย่างหนึ่ง หรือคนที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่เก็บกดแต่โกรธแค้น อย่างคนที่ถูกยิงที่ตาเขารู้สึกโกรธ อยากจะฟ้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ถ้าได้รับเงินเยียวยาแล้วต้องเซ็นไม่ฟ้อง มันรู้สึกถูกบีบ ความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มเสื้อแดง

การได้เงินเยียวยาไม่ได้ตอบสนองความรู้สึกของเขา

เงินเยียวยาจำเป็นนะ ไม่ปฏิเสธ เทียบกันแล้วคนเสื้อแดงจะได้เงินเยียวยามากกว่า คนเสื้อแดงที่พิการได้สูงสุด 7.5 ล้าน ส่วน กปปส. จะได้จากกองทุนของเขาเอง ได้เงินจากรัฐบาลหลักแสน เงินเยียวยาจำเป็นที่จะทำให้คนเดือดร้อนพอจะตั้งตัวได้ แต่มากกว่านั้นเขาต้องการศักดิ์ศรีว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ร้าย เขาไม่ได้เป็นคนเผาบ้านเผาเมือง การกระทำที่รุนแรงกับเขาต่างหากคือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

กรณีที่อุบลฯ น่าจะได้รับผลกระทบจากสังคมค่อนข้างชัดเจนกว่า

ใช่ บางคนเดินตลาดก็โดนคนถามว่า ทำไมถึงไปเผา? รับจ้างเขามาเท่าไหร่? เผาบ้านเผาเมืองกลายเป็นวาทกรรมที่พูดง่าย คนโดนถามก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ตอนแรกพวกเขาถูกจำคุกกันไป 15 เดือน แล้วศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่พอศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า ให้จำคุก 2 ปี ต้องกลับไปขังต่อให้ครบ ทั้งที่เป็นความผิดคดีขัดคำสั่งห้ามชุมนุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่คดีเผาศาลากลาง ส่วนคนที่ไม่ผิดแล้วถูกขังฟรีก็มี เพราะโดนถ่ายรูปแล้วประกาศจับทั้งที่เขาไม่ได้เข้าไปในศาลากลาง

มีลุงสูงวัยคนหนึ่งไปร่วมชุมนุม แล้วเป็นคนคอยระวังคนที่เผายางรถยนต์บนถนนว่าอย่าให้โดนสายไฟ ซึ่งเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ แต่รูปที่ถูกถ่ายออกมากลายเป็นว่าแกเป็นแกนนำเอง ต่อมาศาลยกฟ้อง ได้เงินชดเชย แต่ถูกขังฟรี ลูกสาวแกให้สัมภาษณ์ว่าเสียใจมากที่พ่อโดนขังฟรีแบบนี้

ผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเผาศาลากลาง มีผลต่อทัศนคติทางการเมืองปัจจุบันของเขาไหม

กรณีที่อุบลฯ น่าสนใจว่ามีกลุ่มอาจารย์ที่ม.อุบลฯ คอยช่วยเหลือด้วยการระดมเงินบริจาคไปช่วยระหว่างที่ต้องโทษในเรือนจำ คนเหล่านี้จึงมีทัศนคติที่ดีว่าขบวนการไม่ทอดทิ้งเขา และจะมีความรู้สึกที่เข้มข้นว่ารัฐทำกับเขาอย่างไม่เป็นธรรม สามารถเปรียบเทียบได้ว่าถ้ากลุ่มช่วยเหลือเขา ความภักดีก็จะเข้มข้นอยู่ ถึงแม้จะได้รับเงินช่วยเหลือไม่มาก

มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกระทำจนน่าจะรู้สึกแย่มาก ตอนไปร่วมชุมนุม แกนนำประกาศว่าจะบุกเข้าไปในศาลากลาง เธอเดินเข้าไปแล้วมีการยิงสวนออกมาจากศาลากลาง ผู้หญิงคนนี้ถูกยิงล้มลงแล้วไปโรงพยาบาล ตอนหลังตำรวจตามมาขอให้มาให้ปากคำเพื่อจะไปหาคนผิด สุดท้ายกลับถูกตำรวจจับข้อหาเผาศาลากลาง เธอบอกว่าก็ถูกยิงอยู่เนี่ยจะไปเผาอะไร ตอนหลังตำรวจลดข้อหาเป็นขัดคำสั่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชุมนุมกีดขวางการจราจร บุกรุกสถานที่ราชการ เธอติดคุกทั้งที่มีแผลอยู่ จนรู้สึกว่าทำไมทำกับเราขนาดนี้ ถูกยิงแล้วยังถูกดำเนินคดีอีก

รัฐพยายามกดให้หนัก เพื่อให้เหยื่อทำอะไรไม่ได้จนเลยจุดที่จะแบกความแค้นหรือเปล่า เพราะถ้ากดน้อยกว่านี้อาจอยู่ในระดับที่ความแค้นจะปะทุได้อีก

การที่รัฐพยายามกด มันจะออกไป 2 ทาง หนึ่งคนที่ถูกกดขนาดนี้ก็จะยอมเลย แต่อีกทางคือคนรอว่าวันหนึ่งความจริงต้องเผย วันหนึ่งฉันจะต้องต่อสู้กลับ เช่น 2-3 คนที่ผมสัมภาษณ์ เขาพูดด้วยคำที่ค่อนข้างเข้มข้นว่า “ทำไมทำกับเราขนาดนี้” “ได้เห็นความไม่เป็นธรรม ได้เห็นว่าทำไมคนมีการศึกษาสูงสั่งการฆ่าประชาชนได้ขนาดนี้” เขาไม่ลืม คุณอาจกดได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีคนรู้สึกเสมอว่าต้องต่อสู้กลับ เมื่อไหร่ที่รัฐอ่อนลง เรื่องพวกนี้จะกลับมา

เพราะฉะนั้นแทนที่จะให้มันระเบิดในวันหนึ่ง คุณก็ต้องค่อยๆ มาจัดเวทีสานเสวนา เรียนรู้ผ่าน 2 มุมมองจากคนบาดเจ็บ ผมว่าบางเรื่องเขามีมุมมองร่วมกัน เช่นความรู้สึกว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ คนเสื้อเหลืองก็รู้สึกว่าทำไมต้องตีเขาจนหน้าผากร้าว ดั้งจมูกหัก ทั้งที่เขายอมแล้วก็จับตัวไปสิ ทำไมต้องกระทืบเขาขนาดนี้ ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วมกันว่ากลไกการจัดการความรุนแรงหรือการควบคุมการชุมนุมของรัฐมันไม่อารยะ ไม่มีประสิทธิภาพ

ถ้าหลังเลือกตั้งเรามาคุยเรื่องนี้กันแบบที่ไม่เก็บกด สังคมจะกลับมามั่นคงได้ ไม่ใช่ด้วยการกลบเกลื่อนบาดแผลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วลืม ญาติเขาไม่ลืมหรอก คนที่เจ็บปวดเขาไม่ลืมหรอก การเยียวยาความรู้สึกคือเราต้องตระหนักและขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในสังคมไทยที่ผ่านมา

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมีความหวังเรื่องกระบวนการปรองดองไหม

คนเสื้อแดงจะรู้สึกว่าแทบไม่ให้พื้นที่เขาเลย คนเสื้อแดงที่ถูกจับกรณีอุบลฯ พูดเลยว่า “ปรองดองเหรอ ฝันไปเหอะ ทำแบบนี้ใครจะปรองดองได้”

ที่สำคัญคือเรื่องสองมาตรฐาน ทำให้คนรู้สึกมากว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ฝ่ายหนึ่งทำอะไรไม่ผิด อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิด คนเสื้อแดงจะมีเซนส์แบบนี้ค่อนข้างสูง ต่อให้ได้เงินเยียวยาแต่เขายังรู้สึกไม่เป็นธรรม บางคนโกรธที่อภิสิทธิ์พูดตลอดเวลาว่าเราใช้ความรุนแรงเท่าที่จำเป็น “ที่จำเป็นอะไร ผมถูกยิงเข้าเบ้าตา เสียลูกตาข้างนึง” คนเสื้อแดงรู้สึกว่าสังคมไม่ได้เข้าใจถึงความจริงที่เกิดขึ้น ความจริงที่ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่เป็นผู้ถูกกระทำ เขาบอกว่า “ให้สังคมได้รู้ความจริงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นยังไง ศอฉ.ประกาศว่าใช้ความรุนแรงที่จำเป็น เพื่อป้องกันทหารไม่ให้ถูกทำร้ายโดยคนเสื้อแดง จะมีการยิงกระสุนยางระดับหัวเข่าเพื่อป้องกันตัวทหาร แต่ผมสูง 180 และผมถูกยิงเข้าที่ตา มันเป็นการยิงระดับหัวคน” นี่คือสิ่งที่เขาอยากบอกให้รู้ว่า การพูดว่าคนเสื้อแดงเป็นคนใช้ความรุนแรง คือความไม่เป็นธรรมที่ประทับตราเขา

การจะสลายความรู้สึกโกรธแค้นผิดหวังได้ ต้องถึงระดับเอาคนสั่งการมาลงโทษไหม

มีหลายระดับ แรกที่สุดผมคิดว่าคือการค้นหาความจริงอย่างอิสระ เรามีคณะกรรมการอิสระที่ทำเรื่องสมานฉันท์ เสื้อแดงบางคนก็บอกว่าเขาเอาแต่พวกตัวเอง แต่เสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกฟัง ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากมุมมองคนที่ถูกกระทำ ไม่ใช่ว่าตรวจสอบแล้วบอกว่ารัฐจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เพราะคนพวกนี้ใช้ความรุนแรงก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก ความยอมรับจึงไม่เกิด

ส่วนเรื่องการลงโทษ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงทางการศึกษาในต่างประเทศ ถ้าจะเอาทุกคนที่เกี่ยวข้องมาลงโทษ ก็มีข้อขัดแย้งว่าทหารที่ได้รับคำสั่งควรจะโดนไหม ระดับสั่งการจะโดนแค่ไหน ข้อนี้ผมตอบเองไม่ได้ แต่กระบวนการที่มีการสานเสวนาจะบอกเองว่าต้องเอาแค่ไหน

ตอนเรียนที่อเมริกา ผมอ่านเรื่อง suffering พอสมควร บางครั้งสังคมรู้ว่าทุกคนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทั้งหมด จนต้องรู้แล้วว่าเป็นบทเรียนและไม่อยากจะลงโทษใคร เพราะลงโทษแล้วจะไม่เหลือใครที่ไม่เกี่ยวข้องเลย ผมคิดว่าเบื้องต้นที่สุดคือเรื่องข้อเท็จจริง พวกเขากำลังเรียกร้องเรื่องความจริง ส่วนยอมรับผิดแล้วจะอภัยได้แค่ไหน มันเป็นอีกหลายระดับ

 

สิ่งที่ตั้งไว้ก่อนการวิจัยกับสิ่งที่พบภายหลังตรงกันไหม

เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย งานวิจัยทำให้เราได้ความรู้ใหม่ในสิ่งที่เราเองก็ไม่ได้คาดมาก่อน ตอนแรกผมนึกไม่ถึงว่าความรู้สึกเกี่ยวกับบาดแผลของคนแต่ละสีจะต่างกันขนาดนี้ ตอนแรกผมเขียนในโครงการว่า “ไม่ว่าเขาจะเป็นสีใด แต่เขาเป็นเหยื่อจากความรุนแรงเหมือนกัน” แต่พอมาศึกษาจริง ความรู้สึกที่สะท้อนออกมามันไม่เหมือนกัน ค่อนข้างเหนือจากที่ผมคาดไว้ระดับหนึ่งเลย

คิดว่าเหยื่อทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้อีกไหม ถ้าสังคมได้ทบทวนความ suffer ของเหยื่อทางการเมือง

ผมหวังว่าในอนาคตเราจะไปร่วมชุมนุมด้วยความระมัดระวังกันมากขึ้น ที่ผ่านมาเจ็บตัวกันทั้งสองฝ่าย แล้วไม่มีใครได้ชัยชนะอย่างที่ตัวเองต้องการ สังคมต้องการการประนีประนอมทางการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ปะทะกันอย่างเดียวหรือแบบทุกวันนี้ที่รัฐบาลคิดว่ากดได้หมดจนคนเสื้อแดงไม่เหลือพื้นที่

หวังว่าสังคมจะได้เรียนรู้ ไม่ว่าคุณไปอยู่ตรงไหนของสังคม ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุม แกนนำการชุมนุม ฝ่ายมุมมองของรัฐ เราต้องมีเส้นขอบว่าจะไม่พาสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรงขนาดนั้น นักวิชาการ นักมานุษยวิทยา หวังว่าความจริงจะให้บทเรียนกับสังคม เราไม่ได้มีอำนาจที่จะบอกให้คนทำตามที่เราสั่งได้

จากการศึกษาเรื่องคนไร้บ้านมาจนถึงเหยื่อทางการเมือง เห็นจุดร่วมอย่างไรในสองเรื่องนี้

ผมเห็นชีวิตของสามัญชนคนธรรมดาที่คนไม่ค่อยสนใจ คนเห็นคนไร้บ้านแต่ไม่คิดว่าต้องแคร์ ผมอยากทำเรื่องที่คนมองข้าม ให้คนตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเขา เขามีครอบครัว มีคนดูแล มีคนที่รัก เขาไม่ใช่ควายแดง ไม่ใช่คนโง่ที่เชื่อใจสุเทพแบบไม่ลืมหูลืมตา อย่างน้อยเขามีความปรารถนาดีต่อสังคม ถึงไปร่วมชุมนุม ลำบากอดนอน ผมเห็นความเป็นมนุษย์ที่เราอาจจะไม่คิดถึงเขาเท่าไหร่

 

เชื่อว่าเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อยสามารถส่งผลสะเทือนถึงระดับนโยบาย หรือความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ไหม

นักมานุษยวิทยาเราเชื่อมั่นในพลังของเรื่องเล่า ถ้าถามว่าการสัมภาษณ์คน 24 คน เทียบกับคนบาดเจ็บนับพันคนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ก็คงไม่มาก แต่ผมคิดว่าตัวเลขอาจไม่สามารถสัมผัสหัวใจและความรู้สึกของคน ตอนผมนำเสนองานวิจัยเรื่องนี้แล้วเห็นสีหน้าคนฟังแต่ละคน ผมก็คิดว่านี่คืออานุภาพของเรื่องเล่าที่จะสะกิดเตือนหัวใจและความรู้สึกของคน…หวังว่าเขาคงจะมีความรู้สึก

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save