fbpx
“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เสียงกระซิบจาก ‘เด็กปีศาจ’

“มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” เสียงกระซิบจาก ‘เด็กปีศาจ’

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

2 ปี 16 วัน กรงขังในบางความหมายก็อาจเปลี่ยนบางคนให้เชื่องและเซื่องซึมได้

แต่กับ ‘กร๊อฟ’ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ดูจากประกายแววตาแล้ว ไม่เข้าข่ายความเชื่องเอาเสียเลย และยิ่งห่างไกลความเซื่องซึมไปอีก เมื่อดูจากท่าทีอันเริงร่า คลับคล้ายว่าจะแกร่งกว่าเดิม

“ตัวเล็ก ใจใหญ่” ใครหลายคนเปรียบเปรยถึงเธอ

ความคิดคนกักขังไม่ได้ ยิ่งเอาเจ้าของความคิดไปขัง ก็ขังได้เพียงร่าง คนติดคุกโดยเฉพาะคดีการเมืองน่าสงสารไหม น่าเห็นใจไหม ก็ใช่ แต่กร๊อฟส่ายหัวปฏิเสธรับความสงสารนี้

‘เจ้าสาวหมาป่า’ ถูกจับและต้องโทษคดี 112 หลังรัฐประหาร 2557 เหตุเพราะละครที่เธอแสดงในวาระ 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีความล่อแหลม เสียดแทงใจผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง

ไม่พอใจเจ้าสาวหมาป่า อยากเอาไปคุมขัง กร๊อฟปล่อยให้เจ้าสาวหมาป่าวิ่งเล่นอยู่ข้างใน หารู้ไม่ว่าพอตอนก้าวขาพ้นคุกคอกออกมากร๊อฟกลายเป็นนักเขียน

‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ หนังสือหนาแปดร้อยกว่าหน้าที่เธอบันทึกไว้ทุกวันตลอดการไร้อิสรภาพคือประจักษ์พยาน

โลกมืดที่ถูกหยิบยื่นใส่มือ กลายเป็นโลกใบใหม่เปี่ยมชีวิตชีวา ถ้า ‘สาย สีมา’ เดินออกมาจากนวนิยายคลาสสิกเรื่อง ‘ปีศาจ’ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แล้วพบกับเธอ ทั้งคู่จะคุยอะไรกัน

ไม่รู้, เป็นไปได้ว่าอาจยักไหล่ให้โลกใบเก่า

คุกคอกของราชทัณฑ์คือเบ้าหลอมให้เธอเป็นนักเขียนก็จริงอยู่ แต่ถ้าต้นทุนของวันเวลาในอดีตอ่อนยวบยาบ อารมณ์แบบ ‘ยักไหล่’ ก็คงอันตรธาน

ก่อนโตมาเป็นเจ้าสาวหมาป่า สร้างความหวาดกลัวให้ผู้มีอำนาจตื่นตระหนกจนต้องเอาไปขัง ก่อนจะออกมายักไหล่และบอกว่ามันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เติบโตมาแบบไหน ถนนเส้นไหนที่เธอเลือกเดิน…

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ

– 1 –

“เราทำงานหาเงินตั้งแต่อายุ 12 เป็นลูกจ้างในโรงไม้ แกะแบบจิวเวลรี่ ขายของ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ถ้าวันธรรมดาไปทำตอนเย็นได้ 80 บาท ถ้าไปทำเสาร์อาทิตย์ก็ได้ประมาณวันละ 200 ชอบหาเงินเพราะเตรียมวางแผนจะหนีออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก ที่อยากหนีไปเพราะอยากโต อยากออกไปใช้ชีวิตแบบเด็กที่ไม่มีผู้ใหญ่ เลยคิดว่าถ้าจะหนีออกจากบ้านได้ต้องมีเงินก่อน ไม่งั้นจะลำบาก แต่พอทำงานได้เงินแล้วก็ไม่คิดจะหนี (หัวเราะ)

“พออายุ 16 ไปค่าย สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) มีพวกลุงๆ ป้าๆ แนะนำ เพราะเขารู้จักกับนักกิจกรรม พอไปแล้วก็โอ้… (ลากเสียงยาว) ไม่เคยได้ยินมาก่อน ประเทศไทยมีแบบนี้ด้วยหรือ เราก็ค่อยๆ ได้รู้จักประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ได้คุยกับชาวม้งที่ภูหินร่องกล้า ไปเจอสหายเก่า แล้วก็ได้ร้องเพลงอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เคยได้ยินในชีวิตประจำวัน ไปๆ มาๆ ติดใจอยากไปค่ายอื่นๆ อีก ลองเข้าไปหาในเว็บ ‘เด็กดี’ ลองสมัครไป เขาไม่รับ โมโห เลยชวนเพื่อนจัดค่ายกันเอง แล้วให้พี่ๆ สนนท. มาจัดกระบวนการให้

“ค่ายที่จัดเอง จัดที่หาดวนกร ทำตั้งแต่เขียนโครงการของเงิน รับสมัครคน ประสานสถานที่ แล้วก็ไปให้อาจารย์ฝ่ายปกครองที่โรงเรียนมัธยมทำหนังสือขอนั่งรถไฟฟรี คนที่สมัครมาก็มาจากเว็บเด็กดี 20 คน ตั๊กแตน ลูกลุงวัฒน์ (วรรลยางกูร) ก็เจอกันที่ค่ายนี้”

– 2 –

“พอขึ้น ม.6 ก็สมัครเป็นประธานนักเรียน มีนโยบายว่าเราเป็นประธานนักเรียน ทำเพื่อประโยชน์นักเรียน ไม่ใช่เป็นขี้ข้าครู ครูที่เคยซัพพอร์ตเรา ก็ยังซัพพอร์ตเราเต็มที่เหมือนเดิม แต่ว่าเขาขออย่างเดียวคืออย่าฆ่าหมา ตอนนั้นมันมีหมาขี้เรื้อนที่โรงเรียนเยอะมาก เราก็ไปยื่นคำขาดแข็งกร้าวกับโรงเรียนว่าถ้าไม่รักษาหมาพวกนี้ ก็ต้องฆ่า ยื่นคำขาดกับครูว่าถ้าไม่พาไปรักษา เราจะวางยาเบื่อหมา จนพวกครูต้องเอาหมาไปซ่อน (หัวเราะ)

“ขู่เฉยๆ ไม่ทำจริงหรอก สงสารมัน ก็เจรจาต่อรองกันไป อีกเรื่องที่ทำตอนเป็นประธานนักเรียนคือการจัดระเบียบโรงอาหาร เพราะพวกนักเรียนที่ทำตัวเป็นนักเลงมันกินข้าวแล้วไม่ค่อยเก็บจาน เราเลยคิดว่าน่าจะต้องสร้างวินัยในการเก็บจาน ก็เลยทำบัตรรับประทานอาหาร เวลาซื้อข้าวต้องมีบัตร พอกินเสร็จถ้าเอาจานไปคืนถึงจะได้บัตรคืน อาจารย์ก็เห็นด้วย อนุมัติให้ทำ ซึ่งตอนนี้โรงเรียนยังใช้อยู่

“จริงๆ เพื่อนมัธยมจะบอกว่าเราเป็นประธานนักเรียนที่เส็งเคร็งที่สุด ไม่ชอบเข้าเรียน เราปลอมลายเซ็นอาจารย์ ทำอะไรที่ไม่ปกติเท่าไหร่ จนพี่ที่ สนนท. เรียกเราว่าเด็กปีศาจ เพราะหนึ่งคือเราขี้วีน เป็นคนวินัยจัด แล้วก็เรียกร้อง perfectionist มาก

“พวกเด็กกิจกรรมมันก็มีแต่คนขี้เหล้า เราก็จะไม่ให้แดกเหล้า หรือถ้ามีประชุมตอนเช้า เราก็จะไปปลุกทุกคนถึงที่นอนเพื่อให้นั่งประชุม เพราะเราไม่ชอบรอ รู้สึกว่ามันเสียเวลา นั่นแหละ เราเลยกลายมาเป็นปีศาจของทุกๆ คน (หัวเราะ)”

– 3 –

“ที่ว่าไม่ชอบเข้าเรียน เพราะช่วง ม.6 ไปม็อบพันธมิตรฯ ไปกับพี่ๆ สนนท. นั่นแหละ รู้สึกรับไม่ได้กับการคอร์รัปชั่น แต่ตอนนั้นไม่ได้รู้จักการเมืองมาก ไปเพราะว่ามันสนุก ไปร้องเพลง หลังๆ มาก็ชวนเพื่อนที่โรงเรียนไป ถ้าวันไหนครูรู้สึกว่าไม่อยากให้ไป ก็จะปีนรั้วหนีไป การไปม็อบนี่เป็นความบันเทิงของชีวิต จนกระทั่งสอบติด ม.ศิลปากร จ่ายค่าเทอมไปแล้ว แต่ไม่ได้เรียน เพราะติดม็อบ (หัวเราะ)

“รู้สึกว่าถ้าต้องทุ่มเทให้กับการวาดรูปมากมายขนาดนั้น จะเอาเวลาที่ไหนมาม็อบล่ะ ตอนนั้นบ้านเมืองมันสำคัญกว่าไง เลยโทรบอกแม่ว่าไม่เรียนศิลปากรแล้วนะ แม่ก็ถามว่าแล้วจะเรียนอะไร ตอนเช้าก็โทรกลับไปบอกแม่ว่าเรียนรามฯ ก็ได้ เดี๋ยวดูแลตัวเอง เราก็ใช้เงินเก็บที่เรามีส่งตัวเองเรียน

“พอม็อบพันธมิตรฯ ชูมาตรา 7 เรียกร้องนายกฯ พระราชทาน พี่ๆ สนนท. ก็ไม่ไปม็อบอีก แล้วก็ไม่มีใครอธิบายให้ฟังว่าเพราะอะไร เพราะพวกเขาเริ่มไม่คุยกัน คงเพราะขัดแย้งกันเอง เราก็ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร จนกระทั่งมีรัฐประหาร 2549 และประจวบเหมาะว่าตอนนั้นก็มีเรื่องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาด้วย ก็เลยลองลงไปดู เพราะอยากรู้”

– 4 –

“เป็นครั้งแรกที่ลงไปที่นั่น ไปเพราะเห็นข่าว อยากรู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างในข่าวจริงไหม ตอนนั้นมีเงินอยู่ 300 บาท นั่งรถไฟไปคนเดียว ลงสถานีตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ตอนแรกเพื่อนจะเอาโน้ตบุ๊คไปจำนำเพื่อให้เรามีค่ารถขากลับ แต่เขาไม่รับจำนำ เราก็ลงไปแบบไม่รู้จักใครเลย แล้วก็ไปหาเพื่อนที่รู้จักกันผ่านเว็บเด็กดี บอกให้เขาไปเจอกันที่สถานีตันหยงมัส

“จากนั้นก็ทำกิจกรรมที่สามจังหวัดชายแดนใต้บ่อยขึ้น จนตั้งชื่อกลุ่ม ‘บุหงาศานติ’ แต่ก็นั่นแหละ สามจังหวัดไม่ใช่บ้านเรา กิจกรรมในพื้นที่ต้องให้เขาทำกันเอง เราแค่ทำหน้าที่ประสาน เคยพาคนจากสามจังหวัดไปอยู่กับปกาเกอะญอบนดอยบ้าง พาไปเจอคนอีสานบ้าง ตอนนั้นปี 2552-2553 ภาคอีสาน เจอ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนกันกับที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เลยพาคนในพื้นที่ชายแดนใต้มาเล่าประสบการณ์ให้คนอีสานฟัง พวกเขาก็แชร์ความเจ็บปวดกัน

“ตอนแรกคนเสื้อแดงบางส่วนเขาเกลียดคนสามจังหวัดชายแดนใต้นะ แต่พอได้คุยกันจริงๆ มีปฏิสัมพันธ์แบบมนุษย์ ยิ่งเจอกดขี่ในรูปแบบเดียวกัน มันก็เข้าใจกัน”

– 5 –

“ปี 2553 เราเริ่มตัดสินใจทำละครจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะเคยเรียนสายศิลป์มา เรียนวาดรูป เรียนดนตรี เรียนการละครมาบ้าง พอมาทำกิจกรรม พี่ๆ สนนท. ก็ส่งไปเวิร์คช้อปกับกลุ่มละครมะขามป้อม แล้วเราก็ชอบ รู้สึกว่าเป็นความถนัดอย่างหนึ่ง ก็เลยใช้ละครเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมมาตลอด

“เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาฯ 53 มีคนตาย เราไม่อยากให้มีคนตายเพิ่ม เพราะเราเห็นความแค้นของคนมาก ตอนนั้นเราอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เราสบตาคนแล้วเห็นแต่ความแค้น ทุกคนพร้อมจะเดินไปที่กองไฟ แต่ความรู้สึกข้างในเราบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ ตายเปล่า

“ในการสื่อสารทางการเมือง เราเชื่อว่าละครช่วยได้ มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง และอำนาจรัฐคงไม่สนใจละครเวทีหรอก ตอนนั้นเชื่อแบบนั้น เลยเริ่มทดลองเล่นเรื่องแรกเดือนสิงหาฯ 53 เล่นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ห้องใต้ดิน เล่นเรื่องหนูน้อยหมวกแดง เล่นแค่ 15 นาที นอกนั้นคุยกับคน

“เราไม่ได้คาดหวังอะไรนอกจากให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาเฉยๆ ให้มันคลายความเจ็บปวดออกมา ก็ทำละครเรื่อยมากระทั่งเกิดรัฐประหาร 2557 เราอยากจะพาตัวเองออกจากพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองแบบเดิมแล้ว ไม่อยากทำละครแล้ว เบื่อ รู้สึกว่าถ้าทำต่อไปมันจะไม่โต”

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เล่นละครเรื่อง 'เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ' ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เล่นละครเรื่อง ‘เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ’ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษคดีการเมือง ปี 2556

– 6 –

“พอมีรัฐประหาร ก็ยิ่งเบื่อ อยากไปต่างประเทศ มองออสเตรเลียเป็นตัวเลือกหนึ่ง เพราะมีโครงการ work and holiday อยากพาตัวเองไปเจอโลกใหม่ๆ บ้าง แล้วค่อยทบทวนใหม่ว่าเราอยากอยู่ตรงไหนของขบวนการต่อสู้นี้ เพราะอย่างน้อยตอนเด็กเราไม่เคยรู้จักมัน เราเดินเข้ามาเพื่อที่จะรู้จักมัน พอได้รู้จักมันระดับหนึ่งแล้วก็ถอย ทบทวนสักหน่อยดีกว่า แต่ก็ไม่ทันได้มีโอกาสทำแบบนั้น การติดคุกก็ดี ตรงที่ว่าเราได้ทบทวนเหมือนกัน เพียงแต่ยืนกันคนละที่

“จริงๆ มันก็เหมือนจะเห็นผลที่ปลายทางอยู่บ้าง ช่วงเรียนปี 1 ไปปีนรัฐสภาเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ประมาณ 8 ฉบับ หนึ่งในนั้นมี พ.ร.บ.ความมั่นคง เราถูกบอกมาตลอดว่าถ้ามึงไป มึงมีโอกาสติดคุกนะ มึงจะไปก็ตัดสินใจเอง ฉะนั้นเรารู้ว่าการที่เราก้าวขามาตรงนี้ มีปลายทางอยู่ไม่กี่ทางหรอก ก.ตาย ข.ลี้ภัย ค.ติดคุก แค่นี้แหละ สรุปได้ข้อ ค. ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตจะต้องมาถึงขนาดนี้ได้ยังไง”

แม้จะเห็นปลายทาง แต่ไม่ได้แปลว่าเธออยากจะพาตัวเองไปแบกรับข้อ ก.-ค. ถ้าให้เลือกได้ ชีวิตควรเบิกบานอยู่กลางภูเขาหรือทะเล เบิกบานท่ามกลางเมืองศิวิไลซ์ หาใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน

ก็อย่างที่เธอว่า “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ”

เมื่อเจ้าสาวหมาป่าถูกต้อนเข้าคอก เธอขอเพียงปากกาหนึ่งด้ามแลกกันเท่านั้น

– 7 –

“อยู่ไปราวๆ อาทิตย์นึง ทันทีที่หาปากกาได้ก็เริ่มเขียน เรารู้ตัวเองว่าไม่ใช่นักกิจกรรมแบบที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงคุก หรือเข้าไปเพื่อทลายคุกบาสตีล ไม่ใช่อย่างนั้น เปลืองพลังงานเกินไป เราแค่คลุกอยู่กับมัน เรียนรู้จากมันให้มากที่สุด และให้ตัวเอง survive ก็พอแล้ว

“เหมือนการไปปลูกดอกไม้มั้ง สิ่งที่เราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยคือคนข้างใน เราไม่จำเป็นต้องเร่งรัดให้เขารีบทำอะไร สภาพในคุกมันไม่สามารถให้เราออกมาเรียกร้องได้เหมือนคนข้างนอกอยู่แล้ว เราไม่สามารถการันตีชีวิตความเป็นอยู่ของใคร เราปกป้องใครไม่ได้ เท่าที่เราทำได้คือเล่าให้เขาฟังว่าเราคิดอะไร ฝันอะไร แค่นี้พวกผู้คุมก็เรียกเราว่าไอ้เด็กปีศาจแล้ว (หัวเราะ)

“ในคุก มีคนที่เจ็บปวดกว่าเรา มีความแค้นกว่าเรา เขาถูกกระทำจากโลกข้างนอก โดนมามากกว่าเรา เขาตกลงมาจากที่สูงกว่าเรา เราก็ทำได้แค่ให้กำลังใจกัน แล้วเขาก็ให้กำลังใจเรากลับมา แล้วคำว่า ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ก็เป็นคำที่พวกเขาพูดกับเรา

“จริงๆ สำหรับเรา คุกมันเหมือนแดนมหัศจรรย์นะ เป็นตลอดเวลา ตลอดมา แล้วก็จะเป็นตลอดไป มันเหมือนเราหลุดเข้าไปผจญภัยในโพรงกระต่ายของอลิซ (Alice in wonderland) เราเจอมนุษย์ประหลาดๆ เยอะมาก แล้วเราก็เอาเรื่องทั้งหมดออกมาทางโพรงกระต่าย จริงๆ ยังมีพาร์ทที่เป็นนิยายด้วย แต่ยังไม่ได้เขียน พาร์ทนี้เขียนเรื่องจริงไปก่อน

“พอหนังสือเสร็จ ส่วนหนึ่งมันเป็นการเยียวยาตัวเองด้วย เป็นการปลดตัวเองจากความทรงจำตรงนั้น พอเราเขียนไปหมดแล้ว เราก็ไปเขียนอย่างอื่นได้ ไม่งั้นมันจะแบกไปเรื่อยๆ”

– 8 –

“เราเห็นตัวเองจากการเขียน คือเราไม่ใช่เหยื่อ แม้ต้องเผชิญกับความคิดของคนบางส่วนที่มองเราเป็นเหยื่อแน่ๆ แต่เราไม่รู้สึกว่าการเป็นนักโทษการเมืองมันพิเศษกว่าคนอื่นตรงไหน ไม่เห็นรู้สึกว่าการเป็นนักโทษการเมืองต้องถูกเชิดชูมากกว่าคนอื่นตรงไหน

“เอาเข้าจริง บนเส้นทางการต่อสู้ เราวางแผนให้มันรัดกุมได้ แต่ถ้ามันพลาดก็คือผิดแผน อย่าฟูมฟาย กูแค่พลาด ขึ้นไปชกแล้วโดนน็อคแค่นั้นเอง มันไม่ใช่กูอยู่นอกเวที แล้วอยู่ดีๆ มีคนเอาเก้าอี้มาฟาดใส่ เพราะว่าเราเลือกแล้ว เราเลือกที่จะเดินไปบนถนนเส้นนี้ เราเลือกที่จะเล่นกับมัน

“เลือกทั้งๆ ที่รู้ว่ามันเป็นกติกาของเขา เลือกทั้งๆ ที่รู้ว่าวันหนึ่งเราอาจจะแพ้ เพราะฉะนั้นหนังสือเล่มนี้มันจะบันเทิงนะ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเศร้าอะไรขนาดนั้น แค่อยากให้คนอ่านมีกำลังใจ คนชอบพูดว่าผ่านคุกมาได้ก็ดีแล้ว จริงๆ ก็ไม่เสมอไปหรอก กำลังใจบางอย่างใช้ได้แค่กับบางเรื่อง ยังมีความยากอีกเยอะในชีวิตนี้”

2 ปี 16 วัน กรงขังในบางความหมายก็อาจเปลี่ยนบางคนให้เชื่องและเซื่องซึมได้

แต่กับเด็กปีศาจแล้ว เป็นไปได้ว่ามันทำร้ายเธอได้แค่นี้แหละ

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save