fbpx

[ความน่าจะอ่าน] ความหวังใน ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’

ครั้งหนึ่งผมเคยตั้งคำถามกับคนรอบตัวว่า “เคยคิดไหมว่าคำตรงข้ามของคำว่า ‘ความหวัง’ คือคำว่าอะไร”

หลังจากอ่าน ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ ของ ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ชีวิตผู้คนต่างๆ ในเล่มที่แม้ไม่ได้เคยเห็นหน้าหรือสัมผัสเนื้อตัว–แต่ผมกลับรู้สึกคุ้นเคยคล้ายผมเจออยู่บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ชวนให้ผมทบทวนถึงคำถามนี้อีกรอบ

แท้จริงแล้ว คำตรงข้ามของคำว่า ‘ความหวัง’ คือคำว่าอะไร ในบ้านเมืองนี้

ผมรู้จักและติดตามผลงานของปาณิสมาตั้งแต่สมัยเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER ไล่มาจนกระทั่งบทบาทปัจจุบัน บรรณาธิการเว็บไซต์ The101.world ผมพอรู้ว่าทักษะและความสนใจของปาณิสจะนำไปสู่เส้นทางใด แต่ก็ประหลาดใจเล็กน้อยเมื่อรู้ว่าสารคดีของเธอได้รับการรวบรวมและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Salmon

ไม่ได้แปลกใจในเชิงคุณภาพ ก่อนหน้านี้ผมเคยชิมผลงานบางชิ้นด้วยตามาแล้วบนเว็บไซต์ The101.world พอจะรู้ว่ามันอร่อยยังไง อิ่มแค่ไหน แต่ที่ว่าแปลกใจคือในยุคสมัยที่อันดับขายดีบนแผงหนังสือส่วนใหญ่ล้วนถูกครองพื้นที่ด้วยหนังสือพัฒนาตัวเองหรือหนังสือหมวดอื่นที่ดึงดูดเงินในกระเป๋ามากกว่า อะไรทำให้หนังสือสารคดีเล่มหนึ่งที่ภายในบรรจุชีวิตของผู้คนธรรมดา เปล่งชื่อมาไม่มีใครรู้จักและไม่น่าจะกระตุ้นยอดขายแต่อย่างใด จึงได้รับการตีพิมพ์

สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดตรงๆ คือ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ ไม่ใช่สิ่งใหม่หรือนวัตกรรมน่าตื่นเต้น งานเขียนสารคดีมีมาเนิ่นนานแล้ว หลายๆ ประเด็นในหนังสือเล่มนี้ก็เคยมีคนเขียนถึงอย่างลงลึก หากแต่สิ่งที่น่าตื่นตาสำหรับผมคือมันเกิดขึ้นในวันเวลาที่เราหาหนังสือสารคดีคุณภาพได้ยากตามร้านหนังสือ และมันไม่ใด้เขียนโดยนักเขียนสารคดีชื่อคุ้นไม่กี่คนที่มีผลงานต่อเนื่อง หากแต่เกิดโดยนักเขียนที่สุ้มเสียงสดใหม่ไร้มาดในแบบที่เคยคุ้น

บางทีนี่อาจเป็นความหวังหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ส่งต่อมายังผู้อ่านและวงการหนังสือ

1.

“ไม่ง่ายหรอกที่จู่ๆ คนแปลกหน้าเดินเข้าไปหาแล้วคนจะอยากคุยด้วย”

อย่างที่บอก ใน ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ เต็มไปด้วยผู้คนธรรมดา เอ่ยชื่อตัวละครมาได้แต่ทำหน้าสงสัย สิ่งดึงดูดของมันจึงไม่ใช่ชื่อเสียงหรือความสามารถของแหล่งข่าว หากแต่คือชะตากรรมของเหล่าคนธรรมดาที่อยู่รายรอบตัวเราในชีวิตประจำวัน

ชะตากรรมที่บางทีก็พาดผ่านกับชีวิตของเรา–ผู้อ่าน อย่างแยกไม่ออก 

นั่นชีวิตเขา หรือชีวิตเรา

คงอย่างที่ปาณิสเขียนไว้ “แม้ต่างพื้นที่แต่ทั้งหมดล้วนมีโครงสร้างเดียวกัน นั่นคือมนุษย์ตัวเล็กตัวน้อยต้องต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง ถ้าไม่ใช่รัฐก็กลุ่มทุน หรือไม่ก็ทั้งรัฐและกลุ่มทุนร่วมมือกันกดเราอีกที

การเล่าเรื่องคนธรรมดาฟังเผินๆ อาจดูง่าย หากแต่ความจริงนั้นยากแสนยาก กับคนที่ไม่ได้หิวโหยแสงไฟ ไม่ได้อยากจับไมโครโฟนตะโกนให้สังคมได้ยิน มันจึงเรียกร้องศิลปะจากผู้เขียนในการเข้าหา

กิจกรรมหรือการงานอื่นเป็นเช่นไรผมไม่รู้รายละเอียด หากแต่งานสัมภาษณ์หรืองานสารคดี เขาหรือเธอต้องทำสิ่งที่ยากที่สุดในขั้นตอนแรก นั่นคือการทำให้แหล่งข่าวเปิดใจ

ที่ว่ายากที่สุดเพราะมันคืองานระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ไม่มีสูตรสำเร็จ วิธีการหนึ่งอาจใช้สำเร็จกับคนนี้ แต่กับอีกคนอาจล้มเหลวไม่เป็นท่า 

ถามว่าการทำให้อีกฝั่งเปิดใจสำคัญยังไง ทำไมต้องทำสิ่งนี้ คำถามในกระดาษก็มีไม่ใช่เหรอ เตรียมตัวมาทั้งวันทั้งคืนก็รู้ประเด็นนี่ ถามออกไปสิ รีบเอาคำตอบ รีบแยกย้าย 

แต่แม้ไม่เคยทำงานสารคดี ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมรู้ว่าการไปขอให้อีกฝั่งบอกเล่าสิ่งที่สั่งสมอยู่ในสมองและหัวใจไม่เหมือนการจี้ปล้น ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปควักคำถามออกมาแล้วขู่ฝั่งตรงข้ามให้ส่งคำตอบมาดีๆ หากแต่มันอาศัยกระบวนการที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น งดงามกว่านั้น

บางประโยคที่ผู้อยู่ตรงหน้าไม่เคยบอกเล่าแม้แต่กับคนรักหรือครอบครัว อะไรล่ะทำให้เรื่องเล่าเหล่านั้นหลุดรอดออกมาถ้าไม่ใช่ความไว้เนื้อเชื่อใจ

กระบวนการในการทำให้แหล่งข่าวเปิดใจของแต่ละคนก็ต่างกันออกไป ไม่มีระบุอยู่ในตำรา ที่แน่ๆ ในสถานศึกษาคงไม่มีระบุไว้ว่าต้องไปยืนแจกถุงยางอนามัยในขั้นตอนการทำสารคดี อย่างที่ปาณิสทำในตอน เปิดตา ‘ตีหม้อ’ สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด ที่บอกเล่าชีวิตของเหล่า sex worker

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจไม่ได้ส่งผลต่อเส้นเรื่องในการเล่ามากนัก หากแต่ส่งผลมหาศาลต่อเรื่องเล่าของแหล่งข่าว คำถามเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่ความไว้ใจต่างกัน บางทีคำตอบก็พลิกไปคนละทาง

คุณสมบัติในการทำให้แหล่งข่าวเปิดใจนี้ของปาณิสสะท้อนผ่านงานสารคดีแทบทุกชิ้น และอาวุธสำคัญของเธอคือการฟัง กิจกรรมเรียบง่ายที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าทำยังไง แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำมันได้ดี

นอกเหนือจากคำนิยามของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่บอกว่า “ปาณิสเป็นนักฟังหูเหล็ก” งานสารคดีทุกชิ้นในเล่มก็สะท้อนว่าปาณิสเป็นนักฟังชั้นเลิศ

ประโยคคำพูดที่ยกมา บรรยากาศที่บรรยาย มุกตลกหน้าตายที่สอดแทรก บอกผู้อ่านว่าปาณิสเป็นคนฟังเก่ง ฟังจนได้ยินบางประโยคสำคัญที่คนทั่วไปอาจมองข้าม ฟังจนได้ยินสิ่งที่แหล่งข่าวไม่ได้พูด ฟังบรรยากาศจนรับมือกับมันถูก ฟังสิ่งแวดล้อม ณ ตรงนั้นว่ามีอะไรที่ส่งเสริมหรือคัดง้างกับสิ่งที่ได้ยิน

นั่นเองทำให้งานเขียนของปาณิสมีชีวิตและลมหายใจ ไม่ใช่แค่เครื่องอัดเสียงเดินได้เครื่องหนึ่ง

2.

เราต้องหาจิ๊กซอว์ให้ครบเพื่อสร้างงานเขียน

ขณะอ่าน ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว ผมนึกถึงคำเปรียบเปรยหนึ่งของ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีชาวไทย เจ้าของผลงานภาพยนตร์สารคดี เอหิปัสสิโก ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ BrandThink เอาไว้

“ถ้าเปรียบเทียบให้ง่ายที่สุดมันก็เหมือนคนทำสารคดีคือทนายความ การสู้คดีในชั้นศาลแน่นอนว่าทนายต้องเอาหลักฐานมางัดกัน แล้วก็มีเรื่องเล่าของตัวเองเพื่อ convince ผู้พิพากษา”

ผมเห็นด้วยว่าตัวสารคดีเองในแง่หนึ่งมันคือการเลือกนำเสนอบางสิ่งเพื่อซัพพอร์ตความคิดความเชื่อบางอย่างที่อยากสื่อออกไป ซึ่งคุณภาพในการเลือกของคนทำสารคดีแต่ละคนย่อมส่งผลคุณภาพของงานโดยตรง และหากคนทำสารคดีคือทนายความอย่างที่ว่า ปาณิสถือเป็นทนายที่ทำหน้าที่ได้ดี

เธอลงพื้นที่และใช้เวลากับมัน ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศอย่างการไปร่วมเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง หรือตอนที่ลงไปทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศพม่า เพื่อจะได้วัตถุดิบมากเพียงพอมาใช้

ปาณิสเขียนอธิบายวิธีการทำงานเก็บข้อมูลไว้ในคำนำผู้เขียนว่า “ไม่ใช่ครั้งเดียวที่ฉันลงพื้นที่ด้วยการไปนั่งเฉยๆ ซื้อชามะนาวกินสักแก้ว ซื้อกาแฟกินสักแก้ว แล้วนั่งมองในฐานะผู้สังเกตการณ์ กลับบ้านมือเปล่า ไม่ใช่เรื่องผิดบาป อย่างน้อยเราก็ได้เอาผิวไปสัมผัสลมของพื้นที่นั้นแล้ว จะเอาไงต่อก็ค่อยว่ากัน

ในบางประโยคของบางชิ้นงานอาจใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้มา แต่ก็เหมือนเล่นจิ๊กซอว์นั่นแหละ เราต้องหาจิ๊กซอว์ให้ครบเพื่อสร้างงานเขียน ออกมาเป็นภาพใหญ่

เหนืออื่นใด ที่ผมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นทนายที่ดี ผมหมายถึงมันเลือกสู้คดีให้คนถูกฝั่ง เป็นปากเสียงให้คนตัวเล็กๆ ที่บางชีวิตถูกสังคมพิพากษาให้เป็นฝ่ายผิดมาตลอด ทำให้เสียงที่เบามากในสังคมดังขึ้นมาอีกหน่อย

หญิงขายบริการต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งทางอาชญากรรม โรคติดต่อ การถูกเอาเปรียบทางการค้า ฯลฯ โดยที่ไม่มีใครเข้ามาดูแล แน่นอนว่า ตอนนี้อาชีพโสเภณีผิดกฎหมาย แต่เมื่อเปิดตาให้ครบทั้งสองข้าง จะพบว่า มีผู้หญิงกว่าพันคนในคลองหลอดที่อยู่ในวงจรการขายบริการทางเพศ ไม่นับบริเวณอื่นในกรุงเทพฯ ที่มีอีกหลายหมื่นคน เราจะทำอย่างไรให้การขายบริการที่ไม่มีทางปราบปรามได้เข้าสู่การจัดการอย่างเป็นระบบ”

“ณ วันนี้ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายยังไม่สำเร็จ และถ้าวันหนึ่งจะมีการนิยามความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ คำถามก็คือ ความสำเร็จนี้นิยามโดยใคร เสียงของผู้ที่เสียผลประโยชน์นั้นถูกนับด้วยไหม

“เวลามีคำอธิบายถึงความสำคัญในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษมักมีคำกล่าวอ้างถึง ‘การสร้างงาน’ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงสิทธิด้านแรงงานกับสวัสดิการที่เป็นธรรม และเวลาคิดต้นทุนของเขตเศรษฐกิจพิเศษก็มักไม่คำนวณต้นทุนการสูญเสียทรัพยากรที่แท้จริง”

ถกเถียงกันเรื่องอุดมการณ์ได้ มองชีวิตในมุมมองของตัวเองได้ แต่การใช้ความรุ่นแรงกับประชาชนไม่อาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

 ไม่ใช่แค่ที่ฮ่องกง แต่คือทุกที่บนโลก

“ทุกคนล้วนออกมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่กดทับในทุกอณูของสังคม แต่ในสายตาของคนที่เห็นต่าง ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นเด็กเมื่อวานซืน ที่โดนหลอกมา ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ทั้งที่หากมองในมุมของคนหนุ่มสาวเขาอาจตอบว่า ก็เพราะเข้าใจประวัติศาสตร์นี่แหละ เลยออกมาเรียกร้อง”

หลายประโยคจากหลายตอนสะท้อนชัดเจนว่าเธอยืนอยู่เคียงข้างฝั่งใด เลือกว่าความให้ฝั่งไหน

ส่วนจะว่าความชนะหรือไม่ ผู้อ่านจะพิพากษาอย่างไร นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่คนทำสารคดีต้องกังวล

3.

“หลายต่อหลายครั้งที่ฉันต้องกลั้นน้ำตาระหว่างทำงาน”

ความสัมพันธ์ระหว่างคนทำสารคดีหรือสื่อมวลชนกับแหล่งข่าวเป็นความสัมพันธ์ที่ประหลาด

บางครั้งเราพบกันด้วยความรู้สึกแปลกหน้า แต่ต้องสนทนาในเรื่องละเอียดอ่อน เรื่องเล่าที่บางครั้งไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน

เรื่องเล่าที่ผ่านนาทีชั่วโมงบางครั้งทำให้เรารู้สึกผูกพัน เห็นอกเห็นใจ แต่สุดท้ายเราต่างก็ต้องแยกย้ายกันไปเมื่อบทสนทนาจบลง

ผมจึงเข้าใจประโยคหนึ่งที่ปาณิสว่าไว้ในหน้าแรกๆ ของหนังสือ

ในฐานะคนทำสารคดี การแยกแหล่งข่าวออกจากความเป็นเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องลำบาก การเข้าหาคนเพราะอยากได้ข้อมูลกับการพูดคุยด้วยมิตรภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันในบางที แต่ก็นั่นแหละ ความจริงใจ’ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ฉันใช้ในการทำงานทุกครั้ง”

หากจะสรุปอย่างรวบรัด ผมคิดว่าชะตากรรมส่วนใหญ่ของตัวละครต่างๆ ในสารคดีทั้ง 13 ตอนค่อนข้างหนักหนา น่าสะเทือนใจ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึก ‘เป็นเพื่อน’ ไปแล้ว ผูกพันไปแล้ว มันจึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่ต้องจัดการความรู้สึกตัวเอง ซึ่งในแง่มุมนี้ผมคิดว่าปาณิสจัดการมันได้อยู่มือ แม้จะออกตัวว่า “หลายต่อหลายครั้งที่ฉันต้องกลั้นน้ำตาระหว่างทำงาน

เมื่อไล่สายตาอ่านจนบรรทัดสุดท้าย ผมพบว่าตัวอักษรของปาณิสไม่ได้มุ่งเน้นสร้างดราม่าหรือสรุปอย่างตื้นเขินเพียงว่าคนเหล่านี้น่าเห็นใจหรือชวนใครมาสงสาร ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากหากจะนำพาวัตถุดิบในมือไปทางนั้น หากแต่พยายามสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

ไม่ว่าเรื่องเล่าจะส่วนตัวแค่ไหน ปัญหาดูปัจเจกเพียงใด ปาณิสจะพยายามสะท้อนกลับไปยังปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราต่างเผชิญร่วมกัน ปัญหาที่ลิดรอนความหวังของผู้คน ปัญหาที่ทำให้คำตรงข้ามของความหวังคือคำว่า ‘สิ้นหวัง’ ทั้งที่คำตรงข้ามของมันควรเป็นคำว่า ‘ความจริง’

เมื่อปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมถูกหยิบยกมาพูดในที่แจ้งความหวังจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงบอกเล่าความหวังของมนุษย์ผู้มีหวังเท่านั้น 

หากแต่ตัวมันเองก็ทำหน้าที่สร้าง ‘ความหวัง’ ด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save