‘ไม่เรียน ไม่ทำงาน ไม่มีความฝัน(?)’ ชีวิตที่ผ่านพ้นแบบวันต่อวันของเด็ก NEET

เด็ก NEET

พื้นที่ของกรุงเทพมหานครไม่ได้มีขนาดใหญ่ ออกจะเล็กเกินไปด้วยซ้ำเมื่อต้องรองรับประชากรจำนวน 5 ล้านกว่าคน แต่หนึ่งสิ่งที่ทำให้เมืองหลวงเล็กๆ แห่งนี้ดูโอ่โถงโอ่อ่ากว่าที่อื่น คือความชุกชุมของตึกสูงระฟ้า ซึ่งนับวันจะสูงยิ่งขึ้น เพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามหานครของเราไม่มีพื้นที่แนวระนาบเพียงพอต่อการขยับขยายให้ทันความเจริญและความต้องการของผู้คนอีกแล้ว การแข่งขันกันเติบโตในแนวดิ่งจึงทวีเข้มข้นดุเดือดต่อเนื่องมาหลายปี ยิ่งเป็นที่ดินใจกลางเมือง ยิ่งมีค่าดุจทองคำ และขณะเดียวกัน มันก็ขับไล่คนไร้กำลังทรัพย์มากพอจะครอบครองออกไป

ย่านสุขุมวิท 50 แถบคลองเตยก็หนีไม่พ้นกฎข้อนั้น กระทั่งในซอยเล็กๆ เข้าออกทางเดียวอย่าง ‘ซอยเริ่มเจริญ’ และชุมชนที่อยู่สุดซอยลึกอย่าง ‘ชุมชนเปรมฤทัย’ ยังมีเจ้าของอสังหาฯ บุกเข้ามาจับจอง อ้างกรรมสิทธิ์ของผืนดินที่ตั้งชุมชนจนถึงละแวกใกล้เคียง คนที่มีเงินพอซื้อผ่อนก็อาจจะอยู่ต่อได้ แต่อีกหลายคนที่หาเช้ากินค่ำก็คงสุดปัญญาจะต้านทานไหว คนพวกหลัง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จึงพากันย้ายออกไปอยู่ที่ใหม่อย่างกระจัดกระจาย แล้วค่อยกลับมาเยือนถิ่นฐานเดิมเฉพาะตอนทำงาน ในฐานะพ่อค้าแม่ค้าบ้าง วินมอเตอร์ไซค์บ้าง ยามรักษาความปลอดภัยบ้าง

ใต้เงาของตึกสูง พ้นไปจากใบหน้าของผู้ใหญ่วัยทำงาน ยังมีเด็กวัยรุ่นอีกหลายคนพยายามใช้ชีวิตอยู่บนพื้นระนาบ อย่างไม่ราบรื่น บ้างหลุดออกจากระบบการศึกษา บ้างไม่สามารถหางานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง บ้างก็เป็นทั้งคู่

และ ‘วินนิ่ง’ ก็คือหนึ่งในนั้น


1.


วินนิ่งรู้รายละเอียดเหตุการณ์ ‘ถูกไล่ที่’ ไม่มากนัก แต่เขายังจดจำได้ดีตอนที่ปู่บอกว่าต้องย้ายออกจากบ้านในซอยเริ่มเจริญ มันเกิดขึ้นตอนเขายังอยู่ในระบบการศึกษา สักปี 2558-2559 วินนิ่งเป็นแค่เด็กประถมคนหนึ่ง สนุกกับการเล่นในรั้วโรงเรียนและการเรียนให้ผ่านแต่ละวิชา ไม่มีใครรู้ว่าคล้อยหลังถัดมาเพียงไม่กี่ปี เมื่อเขาจบชั้น ม.3 จะตัดสินใจไม่เรียนต่อ เดินออกจากการศึกษาเหมือนที่ทำกับบ้านหลังเก่า – ยากจะหวนกลับไปได้อีก



ปัจจุบัน วินนิ่งเป็นเด็กหนุ่มอายุ 19 ปี เขาเดินตายิบหยีขณะก้าวผ่านประตูบ้านใหม่ ท่าทางเหมือนคนเพิ่งตื่นนอนในตอนที่เราไปถึง ซึ่งนั่นเป็นเวลาเกือบเที่ยงตรง

“ปกติ 8-9 โมงผมก็ตื่นแล้ว” เขาแก้ต่างเสียงเบาหลังเราหาที่หลบแดดร้อนนั่งคุยกัน “ตื่นมาล้างหน้าแปรงฟันแล้วก็หาอะไรทำ ตากผ้า ล้างจาน อะไรที่ช่วยปู่ได้ก็ทำ”

ครอบครัวของวินนิ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 7 ชีวิต ได้แก่ ปู่ พ่อ ตัวเขา น้องสาววัยมัธยมอีก 2 คน และแมวอีก 2 ตัว อาศัยร่วมกันในพื้นที่จำกัดเพียงห้อง 3 ห้องของบ้านทรงตึกแถว เลขที่ 605/2 ลึกเข้าไปในซอยสวัสดี 4 หรือฝั่งตรงข้ามซอยเริ่มเจริญ บ้านเดิมของพวกเขา สนนราคาเช่าเดือนละประมาณ 3,000 กว่าบาท

“บ้านที่ผมเคยอยู่ในซอยเริ่มฯ ใหญ่กว่าที่นี่ มันเป็นบ้านเหมือนบ้านสมัยก่อน ที่มีใต้ถุน มีบันไดขึ้น คือใหญ่เลย แต่ก็เป็นบ้านที่เช่าที่เขาอยู่” เด็กหนุ่มพยายามอธิบายให้เห็นภาพด้วยการวาดมือกลางอากาศ “ตอนเขาไล่ที่มา ผมต้องย้ายไปอยู่ซอยเพชรรัตน์ก่อน แล้วถึงมาเช่าบ้านที่นี่”

อันที่จริง ‘บ้านที่นี่’ ของวินนิ่งไม่ได้ใหญ่โตหรือสวยงามอะไรนัก แต่ความใหญ่โตและสวยงามคงไม่สำคัญสำหรับครอบครัวของเขาเท่าผนังสีลอกล่อนข้างนอกยังกันลมฝนได้เป็นอย่างดี มีพื้นที่ให้จอดรถมอเตอร์ไซค์ได้หนึ่งคันหน้าบ้าน วางราวตากผ้า โต๊ะ เก้าอี้ รวมถึงทีวีที่ไม่รู้ว่าใช้งานตอนไหน และแม้ว่าท่ามกลางข้าวของกองรอบห้องด้านในจะไร้วี่แววของเครื่องปรับอากาศไว้คลายร้อน แต่ลำพังพัดลมสองตัวและเสื่อน้ำมันก็ยังพอทำให้คนอาศัยหลับลง — ในยามที่ต้องหลับตา



ชายชราวัยกว่า 80 ปีผงกหัวขึ้นมามองครู่หนึ่งเมื่อเราแวะเวียนเข้าไปสำรวจภายในบ้าน ก่อนจมกลับสู่ห้วงนิทราอย่างรวดเร็วทันใจ คงเป็นเพราะปู่ของวินนิ่งทำงานเป็นยามรักษาความปลอดภัยในคอนโดใกล้บ้านตั้งแต่บ่ายสามโมงถึงดึกดื่น ขณะที่พ่อ -ซึ่งกำลังนอนหลับเช่นกันในอีกห้อง- เป็นวินมอเตอร์ไซค์ขับรับส่งในซอยเริ่มเจริญตั้งแต่เช้ามืดถึงช่วงสาย และอีกครั้งตอนเย็นย่ำหลังคนเลิกงาน จึงดูเหมือนว่าเวลากลางวันจะเป็นช่วงเวลาเดียวที่พวกเขาได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม

กระนั้น จากคำบอกเล่าของวินนิ่ง เงินเดือนราวหนึ่งหมื่นบาทของปู่ บวกกับรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอนของพ่อ ก็ยังไม่อาจทำให้ครอบครัวพ้นสภาพ ‘เดือนชนเดือน’ ไปได้ตลอด ยิ่งต้องส่งเสียลูกหลานทั้งสามคนเข้าเรียน ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมาย

แม้ฐานะทางบ้านจะไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้วินนิ่งตัดสินใจเลิกเรียน แต่ก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พ่อของเขาไม่ว่าอะไร ถ้าวินนิ่งไม่อยากเรียน

“พ่อเขาไม่ได้ว่าอะไรถ้าอยากเลิก เขาแค่ให้บอกเฉยๆ จะได้ส่งน้องเรียนแทน” วินนิ่งเล่า “ผมเรียนมาตลอดจนค่อยเลิกเรียนตอน ม.3 เพราะไม่ได้ตามแก้ที่ติดศูนย์ ติด ร. (รอการตัดสินเกรด) ผมติดอยู่เยอะ ติดอยู่เกือบ 20 กว่าตัว ครูหลายคนก็ไม่ให้แก้ พอครูไม่ให้แก้ ผมเลยรู้สึกว่าเรียนไปแล้วมันก็เหนื่อย เลยไปทำงานแทนเลย”

เขายอมรับตามตรงว่าผลการเรียนที่ไม่เข้าตาทั้งครูและพ่อ (“ตอนอยู่ม.1 ม.2 ติดศูนย์ไม่กี่ตัวก็โดนพ่อด่าตลอด” วินนิ่งว่า) มาจากการติดเพื่อน ติดเล่น โดยเฉพาะเล่นฟุตบอลและฟุตซอลที่เขาหลงใหล ทุ่มเทจนได้เป็นหนึ่งในนักกีฬาฟุตซอลตัวแทนโรงเรียนไปแข่งชิงถ้วยพระราชทานอยู่ครั้งหนึ่ง แข่งภายในโรงเรียนอีกหลายครั้ง รวมทั้งตั้งทีมร่วมกับเพื่อนและรุ่นพี่นอกโรงเรียนเพื่อไปแข่งตามรายการต่างๆ กันเอาเอง

พูดถึงเรื่องที่เขารัก รอยยิ้มเริ่มระบายบนหน้าเด็กหนุ่มอย่างเห็นได้ชัด แม้วินนิ่งจะกล่าวว่าตนและเพื่อนๆ ยอมลงเงินสมัครไปแต่ละครั้งโดยไม่คาดหวังรางวัลจากการแข่ง “ขอให้ได้เล่นกันสนุกก็พอ” แต่พวกเขาก็เคยชนะเงินรางวัลสูงสุดถึง 5,000 บาท กระทั่งบ้านวินนิ่งเองยังมีถ้วยรางวัลเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยในชัยชนะของเขาเท่านั้น



“พวกนี้นานแล้ว ตั้งแต่ผมอายุ 15 เลยพี่” วินนิ่งเดินไปหยิบถ้วยรางวัลเล็กและใหญ่ในห้องนอนมาถือไว้คนละข้าง ฝุ่นอาจเกรอะกรัง แต่ไม่บดบังความภาคภูมิใจ “รวมๆ แล้วผมมีประมาณ 12 ถ้วยได้”

ทุกวันนี้ การเล่นฟุตซอลยังเป็นสิ่งเดียวที่เขากกกอดไว้ไม่ต่างจากตอนใช้ชีวิตในโรงเรียน พ้นจากการทำงานบ้านช่วงสาย และพักผ่อนช่วงบ่าย ตกเย็นวินนิ่งยังคงนั่งรถออกไปเตะบอลร่วมกับเพื่อนๆ ย่านถนนสรรพาวุธแทบทุกวัน ความสม่ำเสมอปรากฏให้เห็นผ่านร่องรอยการใช้งานและฉีกขาดบนรองเท้าผ้าใบที่เขาเรียกว่า ‘คู่ใส่ซ้อม’ ขณะที่ ‘คู่ใส่แข่ง’ วินนิ่งบอกว่านำไปเก็บไว้บ้านรุ่นพี่ในทีม “ไม่อยากใส่บ่อย เดี๋ยวมันดำ” เขาหัวเราะเบาๆ

มีเพียงช่วงเดียวที่เด็กหนุ่มเหินห่างจากการเล่นกีฬา คือไม่กี่ปีก่อนที่วินนิ่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปซื้อบุหรี่กับเพื่อนแถวสุขุมวิท 62 แล้วประสบอุบัติเหตุรถชน กระดูกขาร้าวจนต้องพักรักษาตัวเกือบสามเดือนกว่าจะกลับมาเดินเหินวิ่งเล่นเป็นปกติ เหตุไม่คาดฝันครั้งนั้นทิ้งรอยแผล 2 แห่งในตัวเขา แห่งแรกเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือแผลเป็นยาวบนหน้าแข้ง แต่อีกแห่ง คือโอกาสการทำงานที่หลุดลอยไป และทำให้เขาหมดไฟจวบจนตอนนี้



ย้อนกลับไปก่อนเกิดอุบัติเหตุราวสองเดือน หลังออกจากโรงเรียน วินนิ่งได้เข้าทำงานพาร์ตไทม์ในเซเว่น อีเลฟเว่นแถวซอยเริ่มเจริญตามคำชักชวนของเพื่อน เข้ากะตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เสร็จแล้วจะได้เงิน 420 บาทกลับมาฝากครอบครัวเมื่อหมดวัน

“ผมทำงานอยู่แต่ข้างหลัง คอยจัดเชลฟ์ เติมของ ยกของ งานแคชเชียร์นี่ทำไม่ไหว รายละเอียดเยอะ งง เขาเลยไม่ให้ทำ” วินนิ่งเล่าประสบการณ์ ก่อนออกความเห็นสรุปว่า “งานมันก็หนักพอตัวเลย” – นั่นคงเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงเลือกไม่กลับไปทำต่อ และใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน คอยแบ่งเบาภาระเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวัน จนรู้ตัวอีกทีก็อายุย่างเข้า 19 ปี

“อยู่บ้านผมก็ไม่ค่อยเบื่อนะ แต่อยากกลับไปเรียนมากกว่า” วินนิ่งเปิดใจ “ช่วงปีสองปีที่แล้ว ผมเริ่มรู้สึกอยากกลับ แต่มันก็.. ยังไงไม่รู้” เด็กหนุ่มนั่งก้มหัวลงมองต่ำ ยกสองมือลูบผมตัวเองรอบหนึ่งเหมือนจนปัญญา “หัวมันไม่ไปแล้ว”

เขาสารภาพว่าตนไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินอะไร นอกจากรอให้ตัวเองรู้สึกพร้อมกลับเข้าไปสู่การศึกษาอีกครั้ง และการได้มองเห็นลู่ทางทำตามความฝัน คือเรียนสายอาชีพเพื่อเป็นช่างยนต์

“ถ้าผมมีรถจะได้ไม่ต้องไปหาช่างคนอื่น อย่างพ่อผมมีมอเตอร์ไซค์ พอมันพังจะได้ไม่ต้องเรียกช่าง จะได้ซ่อมเองเป็น เพื่อนผมก็ซ่อมรถกันเป็นหลายคน”

ความฝันของวินนิ่งเรียบง่ายแค่นั้น แต่สิ่งที่ยากคือเขาไม่รู้ว่ามันจะเริ่มต้นได้จากตรงไหน



2.


พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัชเป็นอะไรได้มากกว่าการทิ้งให้รกร้าง มันสามารถเป็นที่ตั้งของเต็นท์ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่สักเจ้า เป็นสนามบอลเล็กๆ พอให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นที่ที่เราใช้นั่งคุยกับ ‘นีโม่’ เด็กชายวัย 12 ปีที่หลุดออกจากระบบการศึกษามาตั้งแต่ชั้นประถม 4 เพราะตอนนี้ลุงของเขากำลังนอนหลับอยู่ในบ้าน ไม่สะดวกต้อนรับแขกแปลกหน้าเสียเท่าไหร่

“ที่บ้านมีลุงกับยายครับ ลุงขับวินมอเตอร์ไซค์ ขับตอนเช้าแล้วกลับมานอน จะออกไปอีกทีตอนเย็น ส่วนตอนนี้ยายไม่อยู่บ้าน ออกไปซื้อของ” เด็กชายเล่าถึงสมาชิกในบ้านซึ่งตั้งอยู่สุดซอยเล็กๆ ถัดจากซอยเริ่มเจริญมาสองซอย คนแถวนี้เรียกกันว่า ‘ซอยโรงยา’ เพราะมีโรงงานผลิตยาตั้งอยู่ปากทาง

“ยายเขาขายของในซอยเริ่มฯ ขายไก่ย่างตอนเช้า หมูย่างตอนเย็น ทุกวันนี้ผมก็ไปช่วยเขาขายนะ เพราะยังไม่ได้ไปเรียน”

กิจวัตรของนีโม่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตีห้า เพื่อมาช่วยยายอายุ 50 กว่าเตรียมของออกขาย ทั้งติดถ่านย่างไก่ ช่วยขนของใส่รถจักรยาน แล้วปั่นกันไปตั้งร้านขายจนถึงช่วงเที่ยง เด็กชายจะได้พักผ่อนช่วงบ่ายสั้นๆ ก่อนแวะออกไปอีกครั้งเพื่อขายของกับยายตอนเย็น

“ยายขายของทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ พอยายว่าง ผมก็ว่าง วันอาทิตย์ตื่นมาผมก็ทำงานบ้าน กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ทิ้งขยะ เก็บห้อง ทั้งหมดนี่ผมทำเองเลย” เขาพูดเจื้อยแจ้วให้ฟัง แถมยังเสริมอีกว่าไปขายของกับยายทำให้เขาไม่เบื่อ ได้เจอลูกค้ามากมาย ได้เจอเพื่อน ชวนให้นึกสงสัยว่าคงเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้เด็กวัยประถมคนหนึ่งพูดจาฉะฉาน กล้าถาม กล้าตอบ ทั้งยังบวกลบเลขได้ไว ไม่ต่างจากพ่อค้าที่เชี่ยวชาญคนหนึ่ง

“ถ้าทำงานบ้านเสร็จก็นั่งเล่นโทรศัพท์ เล่นเกม ดูยูทูบ” บางทียายก็พาไปเที่ยวแถวสำโรง หรือไม่เขาก็ขอเงินยายแล้วปั่นจักรยานไปเที่ยวโลตัสสุขุมวิท 50 ตัวคนเดียว “ไปโลตัสก็ไม่ได้ขอมาก ขอสัก 60 บาทก็พอ”



ชีวิตของนีโม่วนเวียนอยู่แค่นี้ – ชีวิตที่มีการช่วยงานยายเป็นเหมือนโลกทั้งใบ ทุกการตัดสินใจของเด็กชายแลคล้ายจะมียายเป็นปัจจัยหลักตลอดมา ตั้งแต่การย้ายบ้าน ออกจากโรงเรียน กระทั่งรอเข้าโรงเรียนใหม่ (เขาบอกว่าโตไปก็ยังอยากขายของแบบยายด้วย)

“เมื่อก่อนผมอยู่กับพ่อแม่แถวสำโรง แต่พอเขาต้องย้ายไปทำงานแถวรามคำแหง ผมเลยต้องมาอยู่กับลุงและยาย เขาบอกว่ารามฯ มันไกล อีกอย่างไม่มีใครช่วยงานยาย ลุงก็ไม่ว่างเหมือนกัน เขาก็ห่วงว่าถ้ายายขายของคนเดียว ต้องขนของตั้งแต่ตีห้าแล้วจะเหนื่อย เขาเลยให้ผมมาอยู่ช่วย

“ตอนแรกผมก็ไปเรียนครับ แต่พอสิงหาฯ ปี ’65 ผมก็ย้ายตามยายกับลุงจากสรรพาวุธมาอยู่ตรงนี้ (สุขุมวิท 50) ต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่กับเขา แล้วก็เลยยังไม่ได้เข้าโรงเรียน”

ครั้นถามว่าจริงๆ แล้วนีโม่อยากเรียนไหม เด็กชายตอบเสียงดังฟังชัดว่า ใช่ เขาอยากเรียน และเคยบอกทั้งลุงทั้งยายแล้วว่าเขาอยากกลับไปเรียน

“เขาทำเรื่องลาออกจากโรงเรียนเก่าให้ผมแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำเรื่องเข้าโรงเรียนใหม่ เพราะเขาไม่ว่าง ต้องขายของทุกวัน พอวันอาทิตย์โรงเรียนก็ปิด” นีโม่กล่าวอย่างเข้าอกเข้าใจว่าร้านขายไก่ย่าง-หมูย่างของยายเองก็ขายดีไม่ใช่น้อย ลูกค้าประจำแวะเวียนกันมาตลอด หากวันหนึ่งขายหมดเกลี้ยง ก็จะได้เงินราวๆ 2,000 กว่าบาท ขณะที่ลุงเอง ขับมอเตอร์ไซค์ได้วันละหลายร้อย จะให้หยุดงานก็เท่ากับว่าขาดรายได้เหล่านี้ไปโดยสิ้นเชิง

“พ่อแม่เขาก็รู้ว่าผมย้ายมานานแล้วแต่ยังไม่ได้เข้าเรียน แต่เขาก็ไม่ค่อยสะดวกเหมือนกัน เขาอยู่ไกลด้วยละพี่”

“ผมอยากได้เวลา ให้เขาไปทำเอกสาร เพราะใบเกิดผมน่ะมี ใบจบมี เหลือแต่เอกสารเข้าโรงเรียนที่ไม่ได้ไปทำ” นีโม่กล่าว “จริงๆ ให้คนอื่นไปทำแทนก็ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครสะดวก ถ้าเขาสะดวก เขาก็คงบอกผมเอง”

อันที่จริง นีโม่ไม่ได้มองว่าตนเองจำเป็นต้องเรียนสูงอะไร เขาแค่อยากไปเรียนให้จบสักชั้นประถม 6 หรืออย่างน้อย ขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็ยังดี “เพราะจริงๆ จบ ป.6 ก็ออกมาทำงานได้แล้ว ผมเลยว่าเรียนให้จบ ม.1 ก็พอ แล้วจะออกมาช่วยยาย

“ถ้าได้เรียน จันทร์ถึงศุกร์เรียนเสร็จ ผมว่างตอนเย็นก็จะไปช่วยขายของ วันเสาร์ว่างทั้งวันก็จะไปช่วย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามนีโม่ว่าหากเลือกระหว่างเรียนและอยู่บ้านช่วยยายขายของ จะเลือกอะไร – เด็กชายตอบอย่างไม่ลังเลว่าเลือกอย่างหลังมากกว่า แม้ว่านั่นอาจหมายถึงการหลุดจากระบบการศึกษา ไม่จบกระทั่งวุฒิประถมฯ และคงยากจะหวนกลับมาเรียนได้อีกหากนีโม่เติบโตเป็นวัยรุ่นหนุ่มเต็มตัว ซึ่งกำลังจะเป็นในอีกไม่นาน

จะเรียกว่าเป็นความรัก หรือความกตัญญูก็สุดแท้แล้วแต่ แค่ถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสำหรับเด็กวัยเดียวกันกับนีโม่ สิ่งสำคัญคือการให้เขาได้ลองออกไปสัมผัสสังคมใหม่ แตกต่างและหลากหลาย เข้าสู่ระบบการศึกษาที่จะเติมเต็มทักษะชีวิตและโลกทัศน์ให้กว้างไกล เพื่อให้เขาได้ค้นพบ ค้นหาตัวตน และทางเลือกในอนาคตที่เขาต้องการอย่างแท้จริง


3.


ตัวตนของวินนิ่งและนีโม่เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า แม้แต่ย่านใจกลางเมืองอย่างสุขุมวิท 50 ก็ยังคงมีเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสและแรงจูงใจในการเข้าเรียน เข้าทำงาน โดยจากปากคำผู้นำชุมชนเปรมฤทัยที่ดูแลครอบคลุมถึงย่านใกล้เคียงกันอย่าง ‘พี่เปิ้ล’ – ศิริวรรณ เมธีธรรยาพงษ์ ระบุว่าปัญหานี้มีมานานจนน่าตกใจ

“นอกจากสองคนนี้ก็ยังมีคนอื่นอีกค่ะ ถ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เรียน ส่วนใหญ่จะเป็นคุณแม่วัยใส แยกทางกับพ่อเด็กแล้วไม่มีใครช่วยเลี้ยงลูก เลยต้องออกมาเลี้ยงเอง ไม่ก็ให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงแล้วตัวเองพยายามออกไปหางาน” หากเป็นเด็กผู้ชาย หรือเด็กสาวอีกหลายรายที่ไม่มีภาระเลี้ยงดูใคร พี่เปิ้ลเล่าว่าส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ไม่เห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือเท่าไหร่นัก และมักคิดว่าให้เด็กลาออกมาทำงานหาเงินเสียดีกว่า

“เราอยู่ในสังคมเมือง มันยากกว่าชนบทตรงที่ไม่มีวิถีชีวิตแบบเก็บผักกินตามท้องร่อง เลี้ยงสัตว์ หาปลามากินเองได้ โดยเฉพาะอยู่ในย่านสุขุมวิทแบบนี้ยิ่งลำบาก ของแพงมาก คนต้องออกไปทำงานหาเช้ากินค่ำแล้วไม่ต้องให้ลูกเรียนสูง” พี่เปิ้ลกล่าว

“อย่าว่าแต่เป็นคนอายุเยอะ รุ่น 60-70 ปีเลย อายุ 40 กว่า พอมีลูก เขายังคิดเลยว่าให้เรียนทำไม ตัวพ่อแม่เองก็เรียนน้อย เลยมองไม่เห็นความสำคัญ ถ้าลูกอยากออกก็ออก ก็ตามใจ”



แม้ย่านสุขุมวิท 50 โดยเฉพาะแถบซอยเริ่มเจริญ จะมีงานประเภทแบกหาม ขนของในโรงงาน ไปขายของที่ห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ หรือพาร์ตไทม์ในเซเว่นฯ ให้เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือจบวุฒิการศึกษาแค่ชั้นประถมพอมีลู่ทางหาเงินได้บ้าง โดยอาศัยคนที่รู้จักกันช่วยฝากฝังรับรองเข้าทำงานให้ แต่แน่นอนว่างานเหล่านี้ย่อมไม่ใช่งานที่มั่นคงในระยะยาว เพราะส่วนมากเป็นการจ้างงานวันต่อวัน ได้ค่าแรงครั้งละไม่เกิน 300 บาท (“แต่เพราะได้เงิน เขาถึงไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา สำหรับเด็กพวกนี้ เงิน 300 บาทถือว่าเยอะนะ ไปซื้อบุหรี่ดูดบ้าง ซื้อของกิน แบ่งให้ที่บ้านบ้าง ใช้หมดเป็นวันๆ ไป” พี่เปิ้ลให้ข้อมูล)

และแน่นอนว่าชีวิตในโลกการทำงานจริงไม่ได้เต็มไปด้วยโอกาสสำหรับเยาวชนทุกคน

“เด็กผู้หญิงจะหางานทำง่ายกว่าเด็กผู้ชาย ส่วนใหญ่ก็ไปขายของตามห้าง บางคนไปเป็นแม่บ้าน ถ้าเป็นเด็กผู้ชายจะหางานยากนิดนึง ทำได้แต่งานแบกหาม บางคนติดปัญหาเรื่องเกณฑ์ทหาร นายจ้างมักอ้างว่ารออีกหน่อย รอให้มีใบผ่านทหารก่อน” บางคนอับจนทางเลือก จนเลือกไปขายยาเสพติดและถูกจับกุมติดคุกก็มี – พี่เปิ้ลเสริม

เธอเพิ่มเติมถึงกรณีวินนิ่งอีกว่านอกจากการประสบอุบัติเหตุจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน หลายครั้งนายจ้างยังพิจารณาเด็กจาก ‘หน่วยก้าน’ อันหมายถึงดูรูปร่างว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีเรี่ยวแรงพอจะทำงานได้ดีหรือไม่ “วินนิ่งนี่ตัวผอม เล็ก ดูหน่วยก้านยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ทำให้เขาไม่กล้ารับ กลัวรับไปแล้วโดนว่าใช้แรงงานเด็ก ไปแบกหามในโรงงานก็คงไม่ไหว นายจ้างไม่เชื่อว่าทำได้ เพื่อนเขาดูตัวสูงใหญ่กว่า เขาก็รับไปเป็นคนขายเสื้อผ้า ขายของในห้าง เพราะมองผ่านๆ คนก็นึกว่าเด็กโตแล้ว”

ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับชุมชนอื่นที่ประสบปัญหาเด็กออกนอกการศึกษาใกล้เคียงกัน พี่เปิ้ลมองว่าบางแห่งยังมีข้อได้เปรียบตรงที่มักมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามารับเด็กนอกระบบการศึกษาไปทำงาน หรือเปิดช่องทางให้เข้าถึงแหล่งงานได้โดยสะดวก ต่างกับชุมชนเปรมฤทัยและย่านใกล้เคียง ที่อาจจะมีบ้าง แต่ก็นับว่าน้อย

“ชุมชนเราเข้าไปในซอยลึกสุดด้วย คนเขาก็ไม่รู้ว่าในที่ซอยเล็กๆ มีคนอยู่ เหมือนเราเป็นตะเข็บชายแดนของคลองเตย เราเจอปัญหาถูกคอนโดไล่ที่ คนมองเข้ามาก็มีแต่ภาพคอนโด และมีลักษณะเป็นชุมชนเมือง ซึ่งมันคงดูไม่น่าเชื่อว่าจะมีปัญหาเด็กเหล่านี้อยู่”



โอกาสเข้าถึงการศึกษาและแหล่งงานที่มีน้อยแต่เดิม เมื่อเติมข้อจำกัดส่วนตัวของเด็กแต่ละบ้านเข้าไป ทำให้เกิดกลุ่มเด็กที่พี่เปิ้ลนิยามว่า ‘ใช้ชีวิตแบบพยายามหาความสุขให้ตัวเองไปวันๆ’

“ตื่นสาย ทำงานบ้าน ช่วยคนบ้าง นอนเล่น ก็หมดแล้วหนึ่งวัน” เธอกล่าว “ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ไปเที่ยวหาเพื่อน หารุ่นพี่ ถ้าได้กลุ่มเพื่อนดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็น่าเป็นห่วง”

จุดร่วมกันของเด็กไม่เรียน-ไม่ทำงานอย่างหนึ่งที่ผู้นำชุมชนเห็น คือพวกเขาไม่ค่อยรับรู้ความยากลำบากที่ครอบครัวกำลังเผชิญสักเท่าใดนัก

“เขาไม่รู้หรอกว่าผู้ใหญ่ที่บ้านมีภาระค่าใช้จ่ายยังไง ค่าเช่าบ้าน ค่ากินอยู่ต่างๆ เวลาเราไปคุยด้วย เขาก็บอกว่าหนูไม่มีหนี้สิน อยู่สบาย นี่ก็เป็นความใสๆ ของเขา เพราะจริงๆ เขาก็ยังเด็ก ยังคิดไม่ได้ไกล ไม่ได้เรียนไม่ได้มีสังคมให้เห็นเท่าไหร่ ถือว่าดีแล้วละมั้งที่เขามองตัวเองไม่ลำบาก” พี่เปิ้ลหัวเราะเสียงแผ่ว สำทับด้วยหนึ่งตัวอย่างว่ามีเด็กวัยมัธยมคนหนึ่งในชุมชน ไม่ได้เรียนหนังสือ เอาแต่เล่นเกมอยู่ในบ้าน แต่มีร่างกายสูงใหญ่กว่าพ่อผู้ทำงานก่อสร้างเสียอีก ครั้นคนเป็นพ่อชวนไปทำงานด้วยกัน เด็กคนนั้นกลับอ้างว่ายังเด็กอยู่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้จะโต้แย้งอย่างไร

อันที่จริง ใช่ว่าจะไม่มีเด็กอยากกลับไปเรียนเลยเสียทีเดียว สำหรับเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะคุณแม่วัยใส เท่าที่ได้ยินได้ฟังมา พี่เปิ้ลกล่าวว่า “เด็กผู้หญิงไม่ค่อยพูดถึงเรื่องเรียนเท่าไหร่ เหมือนใจเขาเป็นแม่ของลูกไปแล้ว เขาอยากหาเงินมาซื้อของให้ลูก ซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ ถ้ากลับไปเรียนต้องไปเรียนกับรุ่นน้อง ต้องปรับตัว ไหนจะต้องเลี้ยงลูกอีก ทำให้เด็กกลุ่มนี้ขาดหายจากการศึกษาไปเลย

“แต่เด็กผู้ชายเขามักจะบอกว่าอยากกลับไปเรียน เพราะเขารู้ว่าตัวเองหางานยากกว่า นอกจากแบกหามแล้วก็ไม่ค่อยมีที่ไป ถ้ามีปัญหาจากที่ทำงานเดิม ที่ใหม่ก็ไม่รับแล้ว เพราะไม่มีวุฒิฯ ก็ต้องดิ้นรนไปหาที่เรียน”

กระนั้น การพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษา แม้จะเป็นการศึกษานอกระบบ (กศน.) ก็ยังประสบความยากลำบากจากทัศนคติของผู้ปกครอง ตามที่พี่เปิ้ลเล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมา เธอพยายามประสานกับครูใน กศน. เพื่อพาเด็กมาเรียน โดยใช้เวลาเรียนช่วงวันหยุดเพียงวันเดียว ไม่มีกฎระเบียบอื่นใดนอกจากกำหนดให้ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาวเมื่อถึงเวลาเข้าห้องสอบ

“แค่เรียนวันเดียว ต้องการแค่ชุดเดียว ญาติพี่น้องก็ไม่ส่งเสริม” เธอยิ้มอ่อนใจ “เขาไม่แม้แต่จะซื้อเสื้อให้ไปเรียนสักชุด เราต้องพาเด็กไปซื้อชุดเอง แต่เราก็ช่วยได้แค่ครั้งสองครั้ง มันยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ด้วย ตรงนี้เองที่บ้านเขาไม่มีให้ ไม่ดิ้นรนหาให้ กลายเป็นว่าเด็กเหล่านั้นที่มีโอกาสได้เรียน เราพยายามช่วยให้เขากลับเข้าไปได้แล้ว ก็ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาอีก”



ฉะนั้น จึงขมวดมาสู่ข้อสรุปของพี่เปิ้ลว่าการจะดูแลเด็กที่มี ‘ชีวิตไปวันๆ’ เหล่านี้ บางทีต้องเริ่มต้นที่ครอบครัว

“เราต้องทำให้บ้านเขาเห็นความสำคัญของการศึกษา เขายังไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ยังถามพี่อยู่เลยตอนพี่ไปชวนลูกเขาเรียน กศน. ว่า เรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วได้เงินไหม มันไม่มีจะกินเนี่ย เรียนแล้วกินได้เหรอ

“เราจะแก้ที่เด็กอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูถึงผู้ใหญ่ คนเป็นพ่อเป็นแม่ ปู่ย่าตายาย ทำให้เขารู้และเข้าใจว่าการเรียนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นและมั่นคงกว่า การเรียนน้อย ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายก็ลำบากทั้งนั้น”


4.


จากงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในการทำงาน การศึกษา หรือการฝึกอบรม (Youth Not in Employment, Education, or Training: NEET) ในประเทศไทย จัดทำโดย รศ.ดร.รัตติยา ภูละออ และทีมวิจัยจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเยาวชน NEET ถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

ยิ่งเมื่อสังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว แต่จำนวนเยาวชนในตลาดแรงงานกลับลดลง (จาก 4.8 ล้านคนในปี 2554 เหลือ 3.7 ล้านคนในปี 2564) ผกผันกับอัตราการว่างงานของทั้งเยาวชนและผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งชวนให้ครุ่นคิดถึงอนาคตของประเทศว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลายประการที่สามารถทำให้เด็กและเยาวชนคนหนึ่งจะหลุดจากระบบการศึกษาและตลาดแรงงานได้ ตัวอย่างเช่น ปัญหาคุณแม่วัยใสทำให้เยาวชนหญิงเสี่ยงต่อการเป็น NEET มากกว่าชาย, ปัญหาความยากจนทำให้เยาวชนจากครัวเรือนรายได้น้อยมีโอกาสเป็น NEET สูง เพราะต้องออกจากการศึกษาและมีแค่ทักษะการทำงานที่อาจจะล้าสมัย ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด, ทัศนคติของผู้ปกครอง ชุมชน และคนรอบข้างเยาวชน ว่ากระตือรือร้นในการช่วยเหลือหรือป้องกันไม่ให้เยาวชนเป็น NEET มากน้อยเพียงไร

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับความพิการ ชาติพันธุ์ ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ รวมถึงการทำงานของภาครัฐที่ยังไม่เข้าใจคำว่า ‘NEET’ ในวงกว้าง ขาดการวางนโยบายที่ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนความช่วยเหลือที่ผ่านมาไม่อาจเข้าถึงกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง

เบื้องต้น งานวิจัยชิ้นนี้เสนอแนวทางแก้ไขไว้ว่า รัฐควรจัดทำแผนดูแลกลุ่ม NEET แบบบูรณาการในระดับชาติ เพื่อให้แต่ละกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหา เข้ามาวางนโยบายทำงานให้สอดคล้องกัน สร้างระบบติดตามการเปลี่ยนผ่านของเยาวชนธรรมดาและเยาวชนกลุ่ม NEET ตั้งแต่ช่วงอยู่ในระบบการศึกษาถึงเข้าทำงาน ส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งในระบบและนอกระบบ และปรับเปลี่ยนการศึกษาให้สามารถสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่

ยังมีรายละเอียดอีกหลายด้านที่รอการปรับปรุงแก้ไข แต่ทั้งหมดทั้งมวลคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากเงื่อนไขตั้งต้นเพียงข้อเดียว

คือการมองเห็น – ใส่ใจเพ่งพินิจชีวิตและปัญหาของเด็กเหล่านี้




ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save