fbpx

เบญจ์ อายุ 19 ปี : เรื่องเล่าของคนรุ่นใหม่โดยคนรุ่นใหม่

“เบญจ์ถามไถ่ว่าทำไมฉันและเพื่อนๆ น้องๆ ถึงต้องมาออกทำค่ายอาสากันด้วย ฉันก็ให้เหตุผลไปอย่างที่คิดว่า ‘ก็ที่นี่ยังขาดแคลนไงคะ หนูดูสิ ศาลาริมทางสำหรับคนรอรถเมล์ก็พังแล้ว กันแดดกันฝนได้ที่ไหนกัน หรือการที่พี่มาสอนหนังสือที่นี่ก็เพื่อให้นักเรียนได้ความรู้ จะได้ไปแข่งกับคนอื่นๆ ได้ไงคะ’

‘หน้าที่พี่เหรอครับ’

ในส่วนต้นของรวมเรื่องสั้นชุด ‘เบญจ์ อายุ 19 ปี’ คือ ‘จดหมายจากมาริสา’ ที่พยายามแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับตัวละครสำคัญของเรื่องคือ ‘เบญจ์’ ในความทรงจำของ ‘มาริสา’ ที่เธอเคยเจอเมื่อครั้งที่เธอไปออกค่ายอาสาเมื่อตอนปี 4 และเบญจ์ยังเป็นเพียงเด็กน้อยชั้น ป. 5 ที่มีคำถามสั้นๆ ซื่อๆ ตรงไปตรงมา แต่หนักหน่วงราวกับเอาค้อนปอนด์ทุบหัวนั้นชวนให้ ‘มาริสา’ ตระหนักถึงสิ่งที่ตนกำลังทำ มันชวนให้เธอต้องทบทวนอุดมการณ์อันแรงกล้าของเธอตลอดจนคำถามอื่นๆ อีกมากมาย คำถามสั้นๆ ของเบญจ์ชวนให้มาริสาคิดไปถึงว่า แท้จริงแล้วปัญหาสังคมไทยนั้น ‘ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างแทบทั้งสิ้น’ (ไม่มีเลขหน้า)

ดูเหมือนว่าเบญจ์และคำถามของเขายังคงหลอกหลอนและดำรงอยู่ความทรงจำของมาริสาอยู่ช้านาน ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่ตกตะกอนอยู่ในใจของเธอนั้นมาจากคำถามง่ายๆ ของเบญจ์ แต่สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้นในใจของมาริสาคือ เธอคิดถึงเด็กชายเบญจ์คนนั้น เธอกล่าวว่า ในตอนนี้ เบญจ์น่าจะอายุ 19 ปีพอดี ในวัย 19 นั้นเด็กน้อยคนนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง เธอได้แต่หวังว่า ‘เบญจ์จะเป็นเด็กหนุ่มที่กล้าตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เอะอะก็ทำตามๆ เขาไปอย่างที่ฉันเคยเป็นมาก่อน’ (ไม่มีเลขหน้า) และด้วยความคิดถึงเด็กชายเบญจ์ที่กลายเป็นนายเบญจ์ อายุ 19 ปี นี้จึงได้กลายมาเป็นเรื่องสั้นเรื่องต่างๆ ที่อยู่ภายในหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านจะได้รู้จักเบญจ์มากขึ้น ลึกขึ้น เพียงแต่ว่า เบญจ์ที่เราจะได้อ่านและรู้จักกันนี้ เป็นคนละคนกับที่มาริสาเล่าให้เราฟัง…

เมื่อโจทย์ถูกแจกใส่มือนักเขียน

รวมเรื่องสั้นชุด ‘เบญจ์ อายุ 19 ปี’ เป็นหนึ่งในชุดเรื่องสั้นที่อยู่ใน ‘ธีม’ เดียวกันอีกสองเล่ม คือ ‘มาริสา อายุ 27 ปี’ และ ‘สมิทธิ์ อายุ 35 ปี’ โดยที่เล่ม ‘มาริสา อายุ 27 ปี’ นั้นเป็นเล่มที่ออกมาก่อนเมื่อปี 2021 ต่อมาในปี 2022 อีกสองเล่มที่เหลือจึงตีพิมพ์ออกมาพร้อมๆ กัน จุดเริ่มต้นของ ‘โปรเจ็กต์’ นี้ถูกอธิบายเอาไว้ใน ‘คำนำสำนักพิมพ์’ ของเล่ม ‘มาริสา อายุ 27 ปี’ ว่า มาริสานั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงและเป็นเพื่อนกับบรรณาธิการคือ สมิทธิ์ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ในความเป็นไปของชีวิตมาริสา บรรณาธิการจึงพยายามตามหาเพื่อนคนนี้แต่ก็พบกับ ‘เรื่องเล่า’ ของมาริสาที่แตกต่างกันมาก ราวกับมีมาริสาอยู่สิบคน จากนั้นบรรณาธิการสมิทธิ์จึงชวนเพื่อนนักเขียนมาร่วมเล่าเรื่องของมาริสาที่มีอายุ 27 ปี ในมุมมองที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่าเป็นคนละคนกันอีกด้วย มาริสาจึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเล่าเรื่องของนักเขียนแต่ละคนนั่นเอง

วิธีการทำงานเช่นนี้ถูกนำเอามาใช้กับรวมเรื่องสั้นอีกสองชุด นั่นคือ ‘เบญจ์ อายุ 19 ปี’ กับ ‘สมิทธิ์ อายุ 35 ปี’ รวมเรื่องสั้นทั้งสามชุดนี้จึงเป็นการทำงานภายใต้ธีมแบบเดียวกัน นั่นคือออกแบบและเล่าเรื่องตัวละครที่ถูกกำหนดโดยบรรณาธิการ ตัวละครหลักของเรื่องสั้นแต่ละชุดคือคนในสามช่วงวัยที่แตกต่างกันคือ 19, 27 และ 35 ปี สิ่งที่น่าสนใจก็คือแต่ละชุดนั้นมีนักเขียนทั้งหน้าเก่า หน้าใหม่ หรือบางคนไม่ใช่นักเขียนโดยอาชีพ เป็น ‘นัก’ อย่างอื่นเสียมากกว่า การเล่าเรื่องของแต่ละคนจึงแตกต่างกันทั้งในด้านโลกทัศน์ มุมมองและวิธีการในการนำเสนอ

สาเหตุที่สำคัญสำหรับผมในการเลือกเรื่องสั้นชุด ‘เบญจ์ อายุ 19 ปี’ มาเขียนถึงนั้นมีไม่มากนัก นั่นคือ รายชื่อของนักเขียนที่ปรากฏในเล่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นนักเขียนรุ่นใหม่เกือบทั้งหมด มีเพียง นทธี ศศิวิมล ที่เป็นนักเขียนรุ่นเก๋า มีผลงานน่าสนใจสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเรื่องผี (ในเล่มนี้ ‘ผีสาวปากฉีก’ ก็ยังคงเป็นเรื่องผีที่เธอถนัดอีกนั่นเอง) บางคนก็ไม่ใช่นักเขียน ไม่มีผลงานด้านวรรณกรรมมาก่อน เช่น ยศสินี ณ นคร, อนุโรจน์ เกตุเลขา นักเขียนนอกเหนือจากนี้ยังเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายคนสำหรับผมอีกด้วย ด้วยความใหม่นี้เองเป็นสิ่งที่ดึงดูดผมได้มากกว่าอีกสองเล่มที่มีแต่นักเขียนมากฝีมือสั่งสมประสบการณ์ในวงการวรรณกรรมมายาวนาน

ประการที่สอง เรื่องสั้นชุดนี้เป็นเรื่องของคนหนุ่ม เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ และถูกนำเสนอโดยนักเขียนหน้าใหม่ ดังนั้นผมคาดหวังว่ามันน่าจะมีความ ‘สด’ บางอย่างในการเล่าเรื่องและเรื่องที่ถูกเล่า รวมถึงความเร่าร้อนของคนวัย 19 นั้นเป็นสิ่งที่ผมสนใจอย่างที่สุด ผมเชื่อว่ามันคือวัยที่ห้าวหาญที่สุดช่วงหนึ่งในความเป็นคนรุ่นใหม่

เบญจ์ที่ตายสิบเกิดร้อยเกิดแสน

เรื่องสั้นจำนวนหนึ่งในชุดนี้ พยายามเล่าเรื่องเบญจ์ในฐานะเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการต่อสู้ททางการเมือง เช่นในเรื่อง ‘เบญจ์( )’ ที่เล่าถึงเบญจ์ในฐานะที่เป็นแกนนำในการต่อสู้ทางการเมืองแต่ถูกจับมาและพยายามจะ ‘ล้างสมอง’ ด้วยการกำหนดกิจวัตรประจำวันให้ “…ตื่นมาคุยกับหมอ นั่งดูหนังที่ตัวเอกเหมือนกันในทุกเรื่อง อ่านหนังสือที่มีเรื่องราวคล้ายๆ เดิม ออกไปเดินเล่นรอบๆ โรงพยาบาลและทุกครั้งจะจบด้วยการเดินมายังรูปปั้นขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างเพียงหนึ่งเดียวนอกจากอาคารที่ผมอาศัยอยู่” (หน้า 17) แน่นอนว่ากิจวัตรเช่นนี้มันคือการโฆษณาชวนเชื่อย่างชัดเจน และแน่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือในโลกของความเป็นจริงนี่อาจหมายถึงสิ่งที่คนไทยต้องประสบมาอย่างยาวนาน

เรื่อง ‘ฟ้าสีทอง’ ก็เช่นกัน ‘ฟ้าสีทอง’ ในที่นี้คือส่วนหนึ่งของบทกวีนิพนธ์ ‘สิบสี่ตุลา’ ของวิสา คัญทัพ บทกวีชิ้นนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยของขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา เพราะเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองให้กับชัยชนะของประชาชนเหนือเผด็จการ ในเรื่องสั้น ‘ฟ้าสีทอง’ นี้เล่าถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ยังคงดำเนินอยู่ ขบวนการประชาชนมีเบญจ์เป็นแกนนำคนสำคัญ แต่เบญจ์ดูเหมือนจะเป็นรหัสเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีเบญจ์อยู่หลายคน การต่อสู้ของขบวนการประชาชนที่มีเบญจ์ในฐานะคนรุ่นใหม่เป็นแกนนำนั้นดูจะเป็นฉากที่โหดร้าย อำมหิตอยู่มาก เช่น การฆ่าหัวหน้าฝ่ายตรงข้ามได้แล้วเอาศพไปเสียบประจานที่เสาชิงช้า การลักพาตัวเจ้าหญิงที่ฝรั่งเศส การฆ่าปาดคอแล้วควักเอาลูกกระเดือกของคนที่เคยทำสนับสนุนและศรัทธาฝ่ายตรงข้าม ในตอนจบของเรื่อง เบญจ์ใช้วิธีการระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในกลุ่ม ‘ขบวนรถ’ และผู้คนที่กำลังเฉลิมฉลองอะไรสักอย่างที่ ‘ไร้เหตุผล’

เรื่องสั้น ‘ฟ้าสีทอง’ ชวนให้ผมคิดถึงความคับแค้นใจของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อสังคมการเมืองไทย คนกลุ่มหนึ่งกดขี่ ทำร้ายและไร้ความเป็นธรรมต่อคนอีกกลุ่มหนึ่งมาอย่างยาวนาน ความรุนแรงในฐานะการล้างแค้นและการตอบโต้ที่ถูกนำเสนอในเรื่องสั้นเรื่องนี้เราอาจอธิบายได้ว่ามันคือการปลดปล่อยความรู้สึกรุนแรงที่แฝงฝังอยู่ในจิตใจในระดับของจิตไร้สำนึก (unconsciousness) ซึ่งเป็นส่วนที่ลึกที่สุดของจิตเป็นสถานที่ที่กักเก็บอาความรุนแรง สัญชาตญาณดิบเถื่อนของมนุษย์อันเนื่องมาจากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการถูกห้าม การขัดขวางความปรารถนาในชีวิตประจำวันจะถูกนำมาเก็บเอาไว้ที่จิตส่วนนี้นั่นเอง หรือในอีกแง่หนึ่ง เราอาจได้เห็นว่า สิ่งที่ ‘คนอย่างเบญจ์’ ปรารถนานั้น คือเป้าหมายที่สมบูรณ์โดยไม่กังวลกับวิธีการ ความปรารถนาดังกล่าวนี้ก็อาจเกิดขึ้นจากความคับแค้นใจที่ถูกกดขี่มาเป็นเวลายาวนานโดยที่คน ‘รุ่นก่อนหน้านี้’ ไม่สามารถทำอะไรได้สักที

สิ่งที่ผมสนใจในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ แม้โทนเรื่องของทั้งสองจะดูแตกต่างกัน แต่จุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ ‘คนอย่างเบญจ์’ ในการต่อสู้ทางการสังคมและการเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเอาไปล้างสมองได้อย่างง่ายดายหรือฆ่าให้ตายแล้วก็จบ ‘คนอย่างเบญจ์’ เป็นเหมือนโครงการที่ไม่สิ้นสุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยจะมีคนแบบ ‘เบญจ์’ ที่คล้าย/เหมือน/เป็นอย่างในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ และอาจมีแนวโน้มที่จะ ‘รุนแรง’ มากขึ้นอีกด้วย คนอย่างเบญจ์เช่นนี้เองคือหนามยอกอกของคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมล้มหายตายจากไปสังคมไทยเสียที….

“คนรุ่นใหม่” และสังคมไทย

ด้วยความที่ธีมหลักของเล่มคือเด็กหนุ่มวัย 19 ปี ซึ่งก็อยู่ในวัยที่ห้าวหาญที่สุด เป็นวัยที่ท้าทายต่อโลกมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต สิ่งที่ผมเห็นได้จากรวมเรื่องสั้นชุดนี้ประการหนึ่งก็คือความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์และยังแสดงให้เห็นทัศนคติที่คนวัย 19 มีต่อโลกและสังคมไทยอีกด้วย ในเรื่อง ‘Welcome to America’ เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจในประเด็นนี้ เพราะเรื่องราวของเบญจ์ถูกเล่าในฐานะเด็กหนุ่มจากต่างจังหวัดที่ชีวิตค่อนข้างปากกัดตีนถีบสอบติดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ย่านสามย่าน เบญจ์มีโอกาสได้ไปโครงการ work and travel ที่สหรัฐอเมริกา โครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการยอดนิยมที่นิสิตนักศึกษาไทยมักจะไปกันในช่วงปิดเทอมเพื่อหาโอกาสในการทำงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานที่สหรัฐอเมริกา ตลอดจนได้ท่องเที่ยวพบเห็นโลกใหม่ๆ ได้พร้อมๆ กัน ตัวเรื่อง ‘Welcome to America’ นั้นมีท่าทีและการวิพากษ์สังคมไทยเป็นระยะๆ ผ่านการเปรียบเทียบกับสังคมในสหรัฐอเมริกา เช่น ประเด็นการรับวัคซีน

“ผมได้รับวัคซีนคุณภาพภายในสิบห้านาทีโดยที่ไม่ต้องไปเข้าแอปนี้ออกแอปนั้น ไม่ต้องลงทะเบียนไปล่วงหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อไร ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะได้ฉีดวัคซีนอะไร ที่นี่ผมมั่นใจในคุณภาพโดยไม่ต้องเสียสตางค์แม้แต่เซนต์เดียว” (หน้า 40)

การวิพากษ์สังคมไทยในเรื่อง “Welcome to America” นั้น ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า การเปรียบเทียบในเชิงโครงสร้างทางกายภาพระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกานั้นทำให้เราเห็นปัญหาต่างๆ ‘ง่ายเกินไป’ กล่าวคือ ถ้าเราเอาประเทศไทยไปวางคู่กับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไหนๆ ในโลกเราก็จะได้ภาพและอารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกัน และแม้สุดท้ายเราอาจจะได้เห็นว่าความตายของเบญจ์ในเรื่องก็เป็นผลมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกที่พัฒนาแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่กระแสความเกลียดชังชาวเอเชียมีมากขึ้นหลังจากกรณีโรคระบาดทั่วโลก ในจุดนี้ ผมออกจะรู้สึกไปด้วยซ้ำว่าเบญจ์นั้นช่างไร้เดียงสาต่อโลกนี้เสียเหลือเกิน แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจนักว่าแท้จริงแล้วเป็นความไร้เดียงสาของเบญจ์หรือของผู้เล่าเรื่องกันแน่

จริงอยู่ที่ความตายของเบญจ์ในเรื่องนี้คือโศกนาฏกรรม และวัยรุ่นอายุ 19 ปีที่ออกไปเห็นโลกภายนอกประเทศไทยนั้นก็เต็มไปด้วยความตื่นเต้น แต่พวกเขาย่อมติดตามข่าวสารที่เกิดขึ้นโลกนี้อย่างแน่นอน ถ้าผู้เล่าเรื่องตระหนักสักนิดว่าคนอายุ 19 สมัยนี้ไม่ได้ไร้เดียงสาต่อโลกเช่นนั้น ผมคิดว่าเบญจ์ที่ไปอเมริกาจะมีโอกาสได้เรียนรู้ความซับซ้อนของโลกใบนี้อีกมากเลยทีเดียว

เรื่องราวอื่นๆ ของ เบญจ์

เรื่องที่ผมประทับใจนั้นคงเป็นงานของ นทธี ศศิวิมล ในเรื่อง ‘ผีสาวปากฉีก’ ผมสนใจ ‘ผี’ ในฐานะ ‘อดีต’ หรือเหตุการณ์ คน ที่เคยดำรงอยู่ในห้วงเวลาของอดีต โดยทั่วไป อดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว แต่ ‘ผี’ คือการดำรงอยู่ของอดีตจนถึงปัจจุบัน คุณสมบัติของผีอย่างหนึ่งคือความสามารถในการดำรงอยู่เหนือกาลเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ผีสำหรับผมจึงหมายถึงประวัติศาสตร์ที่ยังไม่จบสิ้นเนื่องจากเกิดปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้หรืออาจหมายถึงความปรารถนาในอดีตที่ยังไม่บรรลุผลแต่ต้องถูกทำให้จบลงด้วยเงื่อนไขของเวลา ในเรื่องสั้น ‘ผีสาวปากฉีก’ นี้ เบญจ์เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเห็น ‘สี’ และ ‘ผี’ ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่เด็กจนโต เขาพบเจอกับผีหลากหลายประเภทจากความกลัวจนกลายเป็นความชินชาและมองเห็นผีเป็นเหมือนกับเพื่อนๆ ผู้คนที่มีชีวิตอยู่จริงๆ ที่เราเดินผ่านกันไปมาในทุกวัน

เมื่อเบญจ์สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้และต้องมาเช่าหอพักอยู่ โดยเพื่อนเขาเตือนว่าหอพักแห่งนั้นเป็นหอพักผีสิง แน่นอนว่าห้องของเขามีผีอยู่แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าเขาจะได้กลายเป็นเพื่อนกับผีในห้อง นอกจากนี้เขายังมีโอกาสได้รู้จักกับผีสาวปากฉีก ได้พบปะได้พูดคุยกันมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ผีสาวปากฉีกนี้เราอาจเข้าใจได้ว่าเป็นอุปมาถึงความแปลกแยก ความไม่เข้าพวกกับคนอื่น  ผีสาวตนนี้เล่าให้เบญจ์ฟังว่าตลอดชีวิตของเธอ เธอพยายามเป็นที่ยอมรับในสายตาของคนอื่นเสมอแต่ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พออยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเธอได้เจอกับเบญจ์และเบญจ์ก็ยอมรับในตัวตนของเธอ

ผมคิดว่าแก่นเรื่องของเรื่องสั้นนี้น่าสนใจในแง่ที่ว่าการเปิดใจโอบกอด ยอมรับความแปลกแยก ความไม่เป็นที่รักนั้นคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาอดีตอันโศกเศร้าที่ยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบันได้ แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่านั้นก็คือ ในตัวเรื่องเล่าเบญจ์ประสบอุบัติเหตุที่ทำให้สูญเสียความสามารถในการเห็นสีและผีไป มันได้ทำให้เขา “รู้สึกบอดใบ้ จู่ๆ โลกที่เคยมีพวกผีพากันเดินไปมา พร่ำบ่น กรีดร้อง กระซิบกระซาบลอยล่องไปมารอบตัว กลับเงียบสงัดจนน่าใจหาย” (หน้า 105) จากข้อความนี้ ผมรู้สึกว่า ความพิเศษของเบญจ์ในเรื่องสั้นนี้คือการเชื่อมโยงตัวเองกับอดีตและมันทำให้เราเห็นว่าผีในฐานะอดีตนั้นเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แต่ไม่ปรากฏเป็นรูปร่างให้เราเห็น ดังนั้นความสามารถในการเห็นผีของเบญจ์จึงหมายถึงความสามารถในการเข้าถึงอดีตอันไพศาลได้อีกด้วย

ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น ‘การผจญภัยของเบญจ์ในยุคทองผ่องอำไพ’ ที่เล่าถึงเรื่องในอนาคตและอาจเป็นเรื่องของเบญจ์ที่ล้ำสมัยที่สุดก็ว่าได้ เพราะเบญจ์คือหุ่นยนต์ในอนาคตที่มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ทุกประการแต่ก็ไม่ใช่มนุษย์อยู่ดี หรือจะเป็นเรื่อง ‘เซเลบน’ ที่พยายามเอาโครงเรื่องของข่าว ‘ลุงพล’ (ไชย์พล วิภา -ผู้ข้องเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่กลายมาเป็นคนดังชั่วข้ามคืน) มาเล่าเป็นเรื่องของเบญจ์ เรื่อง ‘จันทร์ผา’ ที่เอาตำนานนิทานเรื่องเมืองลับแลหรือเมืองที่มีแต่ผู้หญิงมาเล่าในรูปแบบใหม่ที่มีเบญจ์เป็นตัวเชื่อมโยงหญิงสาวให้เข้ามายังหมู่บ้านลับแลแห่งนี้ สำหรับผมความน่าสนใจของเรื่องนี้ก็คือเบญจ์ไม่ใช่ตัวละครหลักของเรื่องแต่เป็นหญิงสาวที่ท้องกับเบญจ์ เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงแตกต่างไปจากเรื่องอื่นๆ อย่างน่าสนใจ หรือเรื่อง ‘เด็กชายคลุมโปงในโรงเบียร์เยอรมัน’ ที่เล่าถึงความวิปลาสที่เกิดระหว่างคน สัตว์ จนนำไปสู่การสารภาพเพื่อปลดเปลื้องความรู้สึกผิดภายในจิตใจ

ส่วนเรื่อง ‘จักรเบญจ์นฤมิต’ ก็เป็นสูตรสำเร็จของเรื่องสั้นที่พยายามนำเสนอเรื่องราวของการ ‘ค้นหาตัวตน’ ของปัจเจกบุคคล การหลงทางในชีวิต การไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครหรือควรจะเป็นและทำอะไร จนกระทั่งต้องให้ใครสักคนเดินมาบอกว่าเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นนั้นดีอยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่นั้นเหนื่อย ยาก ฯลฯ สำหรับผมมัน ‘คลิเช่’ มากๆ และรู้สึกว่าน่าจะมีเรื่องในลักษณะนี้จำนวนนับไม่ถ้วนแล้วในวรรณกรรมไทย กับอีกเรื่องหนึ่งคือ ‘ชักจะว้าว’ ที่หล่นรายชื่อหนังในยุค 90s มาเป็นกระบุง ผมเข้าใจว่าตัวเรื่องอาจพยายามนำเสนออดีตในลักษณะของ nostalgia แต่มันคือการหวนไห้อดีตที่ไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายของมันคืออะไร เหมือนกับเป็นการทบทวนตัวเองเกี่ยวกับยุค 90s ซึ่งผมก็พยายามนึกอยู่ว่า มันจะพาเราไปไหนได้บ้างในการระลึกถึงยุค 90s จนบัดนี้ผมก็ยังนึกไม่ออก

ส่งท้าย

สำหรับผมแล้ว รวมเรื่องสั้นเล่มนี้แม้จะมีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ที่เขียนถึงเรื่องราวของคนรุ่นใหม่และมีนักเขียนมือสมัครเล่นมาร่วมเขียนในเล่มนี้ แต่ผมมีข้อสังเกตในเรื่องของวิธีการเล่าที่นักเขียนแต่ละคนใช้ในเรื่องของตัวเอง ผมสังเกตว่านักเขียนส่วนใหญ่เลือกใช้มุมมองจากตัวละครหลักคือเบญจ์ เรื่องสั้นส่วนใหญ่จึงเต็มไปด้วยมุมมองแบบเบญจ์ซ้ำๆ กัน จึงน่าเบื่ออย่างเลี่ยงไม่ได้ มีเรื่องที่น่าสนใจอย่าง ‘การผจญภัยของเบญจน์ในยุคผ่องอำไพ’, ‘ผีสาวปากฉีก’, ‘จันทร์ผา’ ที่มีผู้เล่าเรื่องชัดเจน สร้างระยะห่างที่พอเหมาะพอดีกับผู้อ่านในการทำความเข้าใจเรื่องราวของเบญจ์

อย่างไรก็ตามนี่อาจเป็นธรรมชาติของรวมเรื่องสั้นที่มีนักเขียนหลายคน ที่แม้จะมีเอกภาพอยู่ในจุดหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็คือธีมของเล่มแต่ในวิธีการเล่านั้น นักเขียนแต่ละคนก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน ในแง่หนึ่งเราอาจต้องพึ่งพาการทำงานอย่างหนักของบรรณาธิการที่จะช่วยในการออกแบบและกำกับทิศทางของนักเขียนแต่ละคนทั้งในแง่ของตัวเรื่องและวิธีการเล่าเรื่อง เพราะในการรวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายๆ คนเช่นนี้ บรรณาธิการจะต้องเป็นคนที่ทำงานหนักที่สุด เหนื่อยที่สุด มิเช่นนั้นแล้ว ตัวเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็อาจไปกันคนละทิศทางหรือหาจุดร่วมกันได้ยากมากขึ้นแม้ว่าจะพยายามกำหนดธีมที่ชัดเจนแล้วก็ตาม

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

Thai Politics

16 Aug 2022

“ถ้าเรากลัวก็ต้องหนีไปตลอด” 4 ปีแห่งการเปิดโปงทุจริต ‘จำนำข้าว’ และชีวิตที่เปลี่ยนไปของชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์

101 พูดคุยกับ ชญาดา ตระกูลรุ่งโรจน์ อดีตพนักงานธนาคารที่ออกมาเปิดเผยความผิดปกติในโครงการรับจำนำข้าว ในวันนี้ที่เธอเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบาย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

16 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save